88 ปีอภิวัฒน์สยาม: หลักการจากรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ยังเหลือสู่ฉบับปัจจุบัน

24 มิถุนายน 2563 เป็นวันครบรอบ 88 ปีการอภิวัฒน์สยาม จากจุดเริ่มต้นที่คณะราษฎรได้ใช้อำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รื้อถอนระบอบเก่า คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และก่อตั้งระบอบใหม่ที่มีอำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน คือระบอบประชาธิปไตย ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” เปรียบได้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าของสถาบันจากกษัตริย์ผู้มีอำนาจสูงสุดมาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) และก่อตั้งสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยและให้ราษฎรทั้งหลายมีส่วนร่วมในทางการเมืองกับประเทศชาติ

แม้จะใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติ ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน’ สยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” แต่ก็มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการบัญญัติคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เพื่อใช้แทนคำว่า ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน’ โดยพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ 

เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้ว จะพบความพยายามวางรากฐานบางอย่างไว้ เช่น การกำหนดรูปแบบของสภาและวางแผนวิธีการเลือกตั้งเป็นขั้นตอนตามระยะเวลา ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความมุ่งหมายว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่าง ‘ชั่วคราว’ ดังที่ปรากฏในชื่อเลยแม้แต่น้อย อาจกล่าวได้ว่า แม้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 จะถูกบังคับใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยหลักคิดที่นำเสนอกลไกรับรองอำนาจของประชาชนที่น่าพิจารณาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เห็นระบอบการเมืองในฝันเมื่อวันนั้นที่ยังพอหลงเหลือหรือถูกทำลายไปแล้วในวันนี้

ข้อพิจารณาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับแรกและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

โดยเหตุที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและเป็นช่วงริเริ่มการก่อตั้งระบอบใหม่ จึงมีทั้งสิ้นเพียง 39 มาตราเท่านั้น และในคำปรารภก็มีเพียงถ้อยคำสั้นๆ แต่ย้ำชัดถึงเจตนารมณ์ว่า “…โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ‘เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น’ และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้…”

ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกอบไปด้วยบทบัญญัติทั้งสิ้น 279 มาตรา คำปรารภก็มีเนื้อหาที่ยืดยาวไปตามสภาพบริบทของสังคม โดยมุ่งเน้นไปถึงการอธิบายสถานการณ์ในอดีตที่ส่งผลให้มีการรัฐประหารจนต้องทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น

“…การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้…”

“…การที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ…”

อีกทั้งยังสาธยายถึงโครงสร้างของตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้แก่

“…กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่…”

“…การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรม…”

“…การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ…”

จะได้เห็นว่า คำปรารภของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ร่างและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับแรกและรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เป็นเครื่องมือสะท้อนเจตนารมณ์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ บริบททางสังคม การวางโครงสร้างทางการเมืองผ่านการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนี้

บทบัญญัติแรกของรัฐธรรมนูญ

ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ได้กำหนดให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับมุ่งเน้นไปที่การกำหนดให้ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องอำนาจสูงสุดเสียทีเดียว โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

คุ้มครองกษัตริย์ห้ามฟ้องร้องเหมือนเดิม ไม่ให้อำนาจสภาวินิจฉัย

ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกค่อนข้างจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจในการยับยั้งการออกกฎหมายที่ผ่านความเป็นชอบของสภาได้ โดยการไม่ลงพระนามเพื่อประกาศใช้กฎหมายนั้น แต่ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม และสามารถส่งกฎหมายนั้นคืนมายังสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี อำนาจนั้นมีลักษณะที่ไม่เด็ดขาด ถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม แม้พระมหากษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภาก็ยังมีอำนาจผ่านร่างกฎหมายนั้นออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ 

และพระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจในการประกาศสงคราม แต่ต้องใช้พระราชอำนาจนี้ตาม ‘คำแนะนำ’ ของกรรมการราษฎร ซึ่งทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับแรกยังกำหนดให้ ‘การกระทำของกษัตริย์’ ต้องมีกรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งลงนาม โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรทั้งหมด 15 คน หากพระมหากษัตริย์กระทำการใดไปโดยลำพังก็อาจส่งผลให้การกระทำนั้นตกเป็นโมฆะ (สิ้นผลไป) และยังกำหนดให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทนในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร

แม้จะจำกัดอำนาจไว้อย่างเข้มข้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีการคุ้มครองพระมหากษัตริย์เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ได้วางหลักการให้พระมหากษัตริย์จะถูกฟ้องคดีในชั้นศาลไม่ได้ แต่คงไว้ซึ่งข้อยกเว้นที่ให้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัยกรณีที่พระมหากษัตริย์ทำผิด

ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ว่า “…ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ยังคงมีอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ยังไม่ผ่านสภา แต่เปลี่ยนแปลงไปในขั้นตอนและกระบวนการ โดยการยับยั้งกฎหมายสามารถทำได้ทั้งโดยตรง คือ ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา และโดยปริยาย คือปล่อยให้พ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

พระมหากษัตริย์ยังคงมีอำนาจในการประกาศสงคราม ด้วย ‘ความเห็นชอบจากรัฐสภา’ อันเป็นผู้แทนประชาชนเสียก่อน โดยอาศัยมติไม่น้อยกว่าสองในสาม แต่การกระทำของพระมหากษัตริย์บางประการยังไม่ต้องมีผู้แทนประชาชนเป็นผู้ลงนามรับสนองตามหลักการที่ได้กำหนดไว้ เช่น การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์

และข้อแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในประเทศไทย หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ‘หรือไม่ก็ได้’ ซึ่งมิได้บังคับอย่างชัดเจนเหมือนในรัฐธรรมนูญฉบับแรกว่าให้ผู้ใดหรือองค์กรใดปฏิบัติหน้าที่แทน

ส่วนในหลักการคุ้มครองพระมหากษัตริย์นั้นยังคงดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยห้ามไม่ให้กล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะในทางใดๆ ก็ตาม กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยกรณีที่พระมหากษัตริย์ทำผิด เหมือนในรัฐธรรมนูญฉบับแรก

ไอเดียสภาเดี่ยว ไม่มี ส.ว. ให้เลือกตั้งเมื่อประชาชนจบประถมศึกษา

รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ให้บุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของผู้แทนคณะราษฎรเป็นสมาชิกในสภา และค่อยๆ เพิ่มบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไปทีละขั้น โดยแบ่งรูปแบบของฝ่ายนิติบัญญัติออกเป็นสามสมัย ดังนี้

สมัยที่หนึ่ง ผู้แทนราษฎร 70 คนมาจากการ ‘แต่งตั้ง’ ของคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจแทนคณะราษฎร

สมัยที่สอง ภายในหกเดือนนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือจนกว่าประเทศจะสงบเรียบร้อย สภามีบุคคลสองประเภท ประเภทแรกคือผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการ ‘เลือกตั้ง’ จังหวัดละหนึ่งคน และประเภทที่สองคือสมาชิกที่มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ ในสมัยที่หนึ่ง 70 คน ถ้าหากขาดก็ให้ใช้วิธีเลือกตั้ง

สมัยที่สาม ได้กำหนดเงื่อนไขให้เมื่อราษฎรทั่วประเทศสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมาจากการ ‘เลือกตั้ง’ โดยราษฎรทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับแรกได้วางโครงสร้างให้สภาของประเทศไทยเป็นสภาเดี่ยว คือมีแต่สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดโครงสร้างเป็นสภาคู่ คือ วุฒิสภา ซึ่งชุดแรกจำนวน 250 คนตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย คสช. มีอายุห้าปี และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

สำหรับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกคือการออกกฎหมาย ดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาล

ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจและหน้าที่กว้างขวางกว่าผู้แทนราษฎรในรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยมีอำนาจหลักๆ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง เสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ

สอง การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านการตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไป ตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อกระทํากิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ

สาม การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี

สี่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

สำหรับวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่หลัก คือ การประชุมวุฒิสภา ตรวจสอบฝ่ายบริหาร พิจารณากฎหมาย และยังมีอำนาจหน้าที่พิเศษ คือ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย

สำหรับเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้สมาชิกไม่ต้องรับผิดในการพูด การแสดงความคิดเห็น หรือในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม และไม่อาจถูกฟ้องร้องเพราะเหตุดังกล่าวได้ อีกทั้งการฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาญาจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อนศาลจึงจะรับฟ้องได้

ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ยังคงหลักการดังกล่าวไว้  โดยการกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด จะนำไปฟ้องร้องไม่ได้ แต่ไม่คุ้มครองในกรณีที่การประชุมนั้นมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่น แล้วถ้อยคำที่กล่าวไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภา และได้ห้ามไม่ให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ในระหว่างสมัยประชุมสภา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาหรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด

เลือกตั้ง ส.ส. ทางอ้อม ข้อเสนอตั้งต้นที่ไม่เคยได้ใช้

ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นได้กำหนดวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับสมัยที่สองไว้ โดยให้ราษฎรเลือกผู้แทน เพื่อให้ผู้แทนไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่ง เป็นลำดับดังนี้

หนึ่ง ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล

สอง ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล

สาม ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร

การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่สาม รัฐธรรมนูญฉบับแรกไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ แต่ได้เปิดช่องให้มีการบัญญัติกฎหมายออกมาภายหลัง เพื่อกำหนดวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาโดยตรง

ส่วนผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอยู่สองรูปแบบ คือ ผู้แทนราษฎรแบบเขตที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจำนวน 350 คน และอีกประเภทคือผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ซึ่งมาจากการคำนวณโดยอาศัยระบบจัดสรรปันส่วนผสม อันเป็นวิธีการใหม่ที่ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น