สมัคร สว. 67 ในอำเภอที่เกิดต้องใช้เอกสารอะไรยืนยัน

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่หลัง สว.ชุดพิเศษ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่จะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567 เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายสามารถเลือกลงสมัครที่อำเภอหรือเขตที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกำหนดลักษณะความเกี่ยวข้องไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 13 (4) ไว้ด้วยกันสี่ประกอบ หนึ่งในนั้นคือ “เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก”

อย่างไรก็ตามก็มีคำถามว่า คำว่า “เกิดในอำเภอ” หรือ “อำเภอเกิด” นั้นหมายความว่าอย่างไร และต้องใช้อะไรในการยืนยันตอนสมัครบ้าง

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 51 (8) (ก)  ระบุให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะลงสมัครในอำเภอที่เกิดต้องมี “หลักฐานซึ่งแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก” ซึ่งในกรณีที่ต้องการจะสมัครในอำเภอที่เกิด หลักฐานที่สำคัญที่สุดจึงเป็น “ใบสูติบัตร” ที่ออกโดยนายทะเบียนท้องที่ที่ผู้สมัครเกิด

ใบสูติบัตรหายเป็นเอกสารสำคัญที่หากทำหายแล้วจะไม่สามารถขอเอกสารตัวจริงใหม่อีกครั้งได้ อย่างไรก็ตามยังสามารถไปยื่นคำร้องขอคัดเอกสารสำเนาสูติบัตรได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตที่แจ้งเกิด โดยใช้หลักฐานดังนี้

  1. บัตรประชาชน
  2. ทะเบียนบ้าน
  3. วุฒิการศึกษา
  4. ใบแจ้งความ หากประสงค์จะแจ้งความว่าใบสูติบัตรหาย
  5. หลักฐานแสดงตัวว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  6. หนังสือมอบอำนาจ หากไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้

หากที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตนั้นๆ ไม่มีใบต้นขั้วสูติบัตรแล้วจะต้องเปลี่ยนไปขอ “หนังสือรับรองการเกิด” แทนสูติบัตร โดยต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานอำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพร้อมพยานบุคคลอีกสองคนเท่านั้น พร้อมด้วยหลักฐานเดียวกันกับการขอใบสูติบัตร

สำหรับผู้ที่ต้องการจะสมัครในอำเภอที่เกิด “ใบสูติบัตร” หรือ “หนังสือรับรองการเกิด” จึงเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญในการลงสมัคร สว. ในอำเภอที่เกิด