คุณสมบัติสมาชิกพรรคต้องมีอะไรบ้าง?

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) ทำให้การที่ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีความสำคัญมาก เนื่องจาก สมาชิกพรรคการเมืองมีภารกิจต่อพรรคการเมืองหลายอย่าง เช่น เข้าร่วมประชุมเพื่อตั้งพรรค จัดตั้งสาขาพรรค และลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ขั้นต้น (primary vote) เป็นต้น 
โดย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้การจัดตั้งพรรคให้เสร็จสมบูรณ์จะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน และต้องให้สมาชิกออกเงินคนละ 1,000 – 50,000 บาท เป็นเงินประทุนเดิมซึ่งรวมแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ภายในเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน หลังจากได้ไปจดจองชื่อพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ก็เท่ากับตั้งเป็นพรรคการเมืองไม่สำเร็จ 
อีกทั้ง เมื่อตั้งพรรคเสร็จแล้วก็ต้องหาสมาชิกเพิ่มอีกให้ครบ 5,000 คน ภายใน 1 ปี และ 10,000 คน ภายใน 4 ปี โดยสมาชิกแต่ละคนต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 100 บาท ต่อปี หรือ พรรคอาจกำหนดจ่ายค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกแบบตลอดชีพก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่สำหรับปีแรกพรรคจะเรียกเก็บต่ำกว่า 100 บาท ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท
หากพรรคการเมืองใดไม่สามารถปฏิบัติตามได้ สามารถขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 ปี แต่เมื่อครบระยะเวลานี้แล้ว ยังทำไม่สำเร็จ บทลงโทษก็คือพรรคการเมืองนั้นก็จะสิ้นสภาพไป
แต่ทว่าการจะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบุคคลที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ (และรัฐธรรมนูญ) กำหนดด้วย ดังนี้
คุณสมบัติทั่วไป
  • สัญชาติไทยโดยกำเนิด 
  • กรณีแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี 
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี 
  • ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
  • ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น
  • ไม่เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือ ผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น
คุณสมบัติต้องห้ามในกรณีดำรงตำแหน่งทางสาธารณะ
  • เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดยังไม่เกิน 2 ปี
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  • อยู่ระหว่างห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • อยู่ระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพ.ร.ป. พรรคการเมือง
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ กรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คุณสมบัติต้องห้ามในกรณีโดนคดีความ
  • เป็นบุคคลล้มละลาย
  • เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยได้รับโทษจำคุก โดยพ้นโทษมาไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือหรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะรำ่รวยผิดปกติ 
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป้องกันและปราบปราบการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดเพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือหน้าที่ในการยุติธรรม 
ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดเพราะกระทำความผิดดังต่อไปนี้
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
  • ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา 
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
  • ความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น