3ปี ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน: อยุติธรรม ความรุนแรง และการลอยนวล

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00-15.30 น. ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดกิจกรรม “3ปี ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน: อยุติธรรม ความรุนแรง และการลอยนวล” โดยมีการกล่าวสรุปงานและเสวนาแลกเปลี่ยนกันในสองวง ได้แก่ “บทบาทหน้าที่พลเมืองและสื่อมวลชนกับการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉินไปสู่สถานการณ์ปกติ” และ “น้ำ แก๊ส กระสุนยาง ประชาชนได้อะไร สู่ขอบเขตการตีความในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จากการดำเนินคดีของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” 

ชล คีรีกูณฑ์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรและงานข้อมูล สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นเพื่อดำเนินคดียุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติ หรือนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐให้ดีขึ้น รวมขึ้นป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน  การดำเนินคดีแต่ละคดีคือ คดียุทธศาสตร์ที่พิจารณาแล้วว่า จะสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง ที่ผ่านมาแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐมีการปรับเปลี่ยนระเบียบ การแจ้งเตือนระหว่างการชุมนุมที่มีพัฒนาการมากขึ้น อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการดำเนินของภาคีฯ สามปีที่ผ่านมาภาคีฯให้ความช่วยเหลือทางคดีไปทั้งหมด 58 เรื่องแบ่งเป็นความช่วยเหลือในการดำเนินคดีรวม 38 คดีและการใช้กลไกทางกฎหมายอื่นๆ เช่น การแจ้งความกับพนักงานสอบสวนหรือการร้องเรียนกับรัฐรวม 20 เรื่อง 

ในส่วนของการดำเนินคดีแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ คดีเพิกถอนข้อกำหนดหรือประกาศที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ และคดีอื่นๆ คดีแรกของภาคีฯ เกี่ยวเนื่องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคม 2563 หลังจากที่ภาคีฯฟ้องคดีแรกๆและตามด้วยการฟ้องเพิกถอนข้อกำหนดและประกาศต่างๆ ทั้งหมดหกคดี แต่มีคดีที่ชนะเพียงคดีเดียวแต่ไม่ได้มีคำพิพากษาที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพเนื่องจากนายกรัฐมนตรียกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวไปเอง ในคดีอื่นทีมีคำพิพากษา ทิศทางคือ ศาลมักจะรับรองอำนาจของรัฐ สืบเนื่องจากในชั้นพิจารณาคดีภาคีฯ ไม่สามารถนำพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีตำแหน่งเป็นข้าราชการหรือมีความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับรัฐ ซึ่งกลายเป็นปัญหาเมื่อผู้พิพากษามักให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือพยานที่มีตำแหน่งทางราชการ ขณะที่ฝ่ายจำเลยหรือรัฐสามารถยกพยานที่มีตำแหน่งดังกล่าวขึ้นสืบได้โดยง่ายด้วยสถานะความเป็นรัฐบาล 

ทำให้ในคำพิพากษาของแต่ละคดีจะรับรองโดยอ้างอิงปากคำพยานที่จำเลยยกขึ้นมาเหล่านั้น มีการออกตามขั้นตอนโดยชอบแล้ว แต่ศาลขาดการพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า มันมีความเหมาะสมจำเป็นได้สัดส่วนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ศาลมักจะไม่หยิบประเด็นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการชุมนุม การแสดงออกของประชาชนมาใช้ในการวินิจฉัย ศาลมักจะหยิบเพียงแค่ความจำเป็นในการออกกฎหมาย ความถูกต้องในการออกกฎหมาย เป็นฐานในการรับรองความชอบธรรมการใช้อำนาจ ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องกลับนั้นถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  อัยการในฐานะทนายของรัฐ หรือทนายของฝ่ายจำเลยมักจะอ้างถึงคดี 112 ของโจทก์ว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบอ้างอิงไปถึงคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญที่ว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง

ส่วนคดีของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของรัฐ ยกตัวอย่างในคดีของไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอกและเพื่อนชูป้ายประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ที่จังหวัดระยอง เวลานั้นเขาถูกตำรวจจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและการแจ้งสิทธิระหว่างการจับกุม แต่ในคำพิพากษาศาลกลับรับรองการกระทำที่มิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะที่อะลุ้มอะล่วย ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นกระชั้นชิด ไม่จำเป็นจะต้องแจ้งสิทธิทันที สามารถแจ้งได้ในภายหลัง การต่อสู้คดีหลายอย่างของภาคีฯ จะเห็นทิศทางคำพิพากษาที่รับรองการขยายขอบเขตการกระทำที่ไม่มีอำนาจรองรับของรัฐ ในคดีที่สื่อมวลชนฟ้องกลับรัฐ แนวทางการต่อสู้ของรัฐ ในที่นี้คือ ตำรวจมักจะปฏิเสธการเกิดขึ้นของการละเมิด เช่น ไม่ยอมรับว่า มีการยิงสื่อมวลชนจริง อ้างว่า ไม่ใช่ลูกแก้ว อย่างไรก็ตามในคำพิพากษาคดีสื่อมวลชนจาก Plus Seven และ The Matter ถูกยิงด้วยกระสุนยาง หลักฐานเป็นที่ชัดเจนว่า โจทก์ถูกยิงจริงและสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย

ย้อนฟังไลฟ์จากประชาไท