สถิติคดี 112 ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2557- 2560

คดี 112 หรือคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ยังเป็นคดีที่คงเส้นคงวาในความลี้ลับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องหาที่ยังคงเป็นสิทธิที่เข้าถึงยาก หรือจำนวนโทษที่ในปี 2560 เคยมีจำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุกสูงถึงเจ็ดสิบปี จากปี 2557 ที่มีการยึดอำนาจและเร่งรัดดำเนินคดี 112 จนถึงสิ้นปี 2560 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีไปแล้วอย่างน้อย 94 ราย ในจำนวนนี้บางส่วนตัดสินใจรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวนเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว บางส่วนตั้งใจพิสูจน์ความบริสุทธิของตัวเองในช่วงต้นแต่เมื่อต้องเผชิญกับเงื่อนไขเช่นการไม่ได้ประกันตัวและการถูกพิจารณาคดีแบบปิดลับซึ่งเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจรับสารภาพ 
ก่อนจะติดตามสถานการณ์ต่อในปี 2561 ไอลอว์ชวนย้อนดูสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินคดีนี้ในรอบสามปีหกเดือนที่ผ่านมา
1) หลังรัฐประหารมีคนที่ถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 94 ราย
ข้อมูลตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2560 พบว่ามีจำเลยคดี 112 อย่างน้อย 43 คนที่ถูกศาลพิพากษาแล้ว ในจำนวนนี้ 39 คนให้การรับสารภาพ 2 คนสู้คดีแล้วศาลพิพากษายกฟ้อง อีก 2 คนสู้คดีแต่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด จำเลยอีก 36 คนคดียังอยู่ในชั้นศาล มีอีก 10 คนที่คดียังไม่มีความเคลื่อนไหวหรืออัยการสั่งไม่ฟ้องและมีอีก 5 รายที่ไม่มีข้อมูลว่าคดีอยู่ชั้นใดหรือสถานะปัจจุบันของพวกเขาเป็นอย่างไร 
2) มีแค่ 16 เปอร์เซ็นของผู้ต้องหาคดี 112 ที่ได้รับการประกันตัว
ข้อมูลตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2560 พบว่า ในบรรดาผู้ต้องหาหรือจำเลย 94 คน มีเพียง 15 คนเท่านั้นที่ได้ประกันตัวหรือคิดเป็นเพียง 16 เปอร์เซ็นเท่านั้น ส่วนที่เหลือบางรายไม่มีหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวแต่บางรายก็พยายามยื่นประกันแล้ว บางคนยื่นมากกว่าหนึ่งครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต โดยเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจะมีลักษณะเหมือนกันคือ คดี 112 คดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
แต่ก็มีบางกรณีที่ศาลให้เหตุผลที่แตกต่างออกไป เช่นกรณี จตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ตอนแรกได้รับการประกันตัว แต่เมื่อ จตุภัทร์ แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ว่า “เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน” พนักงานสอบสวนสภ.ขอนแก่นจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกันจตุภัทร์ซึ่งศาลก็อนุญาตตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและนับจากนั้นจตุภัทร์ก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลยจนกระทั่งศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือนในวันที่ 15 สิงหาคม 2560
ศาลให้เหตุผลในการถอนประกันจตุภัทร์ว่า จตุภัทร์ยังไม่ลบข้อความที่เป็นประเด็นแห่งคดีออกจากเฟซบุ๊ก ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมบนสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ย อำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และจตุภัทร์ก็มีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก จึงให้ถอนการประกันตัว
3) วงเงินประกันตัวขั้นต่ำ 100,000 บาท สูงสุด 500,000 บาท 
สำหรับวงเงินประกันตัวคดีมาตรา 112 จากการสำรวจตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงสิ้นปี 2560 พบว่า วงเงินขั้นต่ำที่ใช้ในการยื่นขอประกันตัวอยู่ที่ 100,000 บาท โดยมีผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้รับการประกันตัวภายใต้วงเงินนี้ และวงเงินประกันสูงสุดเท่าที่ศาลเคยให้ประกันอยู่ที่ 500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เคยมีกรณีของโอภาส จำเลยสูงวัยจากคดีเขียนฝาผนังห้องน้ำ ที่มีปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งความดันและโรคตา ที่เคยวางโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทพร้อมหลักฐานทางการแพทย์ประกอบการประกันตัวต่อศาลทหารกรุงเทพถึง 4 ครั้งแต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว
4) 92 เปอร์เซ็นของคดี 112 ที่ศาลพิพากษา มาจากจำเลยรับสารภาพ 
จากข้อมูลตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2560 พบว่า จำเลยทั้ง 43 คนที่ถูกศาลพิพากษาแล้ว มีจำเลย 39 คน ซึ่งคิดเป็น 92 เปอร์เซ็น ที่ตัดสินใจรับสารภาพ เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่ทำให้ได้รับโอกาสปล่อยตัวได้เร็วกว่า เพราะมีการลดโทษทันทีครึ่งหนึ่ง รวมถึงระหว่างการคุมขังยังอาจได้รับการลดหย่อนโทษ หรืออภัยโทษในวาระสำคัญๆ ทำให้จำเลยที่ไม่ได้รับอีกทั้งการไม่ได้ประกันตัวและถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหารซึ่งมีระบบการพิจารณาคดีที่ล่าช้า มองว่าการรับสารภาพเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ที่ผ่านมามีจำเลยส่วนหนึ่งที่เบื้องต้นให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีแต่มาตัดสินใจรับสารภาพในภายหลัง เช่น วิชัย ซึ่งถูกฟ้องว่า ปลอมเฟซบุ๊กของคนอื่น และโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 10 ครั้ง เดิมวิชัยต่อสู้ว่า เฟซบุ๊กนั้นไม่ใช่ของเขา และเขาไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง วิชัยถูกควบคุมตัวมาประมาณหนึ่งปีสองเดือนศาลทหารจึงนัดสืบพยานเป็นครั้งแรกแต่ก็ต้องเลื่อนเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 เพราะพยานติดราชการและในวันนัดใหม่พยานก็ไม่มาอีกครั้งเพราะไม่ได้รับหมายศาล วิชัยจึงแถลงต่อศาลว่า ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ
5) 70 ปีคือโทษจำคุกสูงสุดเท่าที่ศาลเคยวางสำหรับคดี 112
ข้อมูลตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2560 พบว่า คดีของ วิชัย เป็นคดีที่ทำสถิติใหม่ วิชัย ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวม 10 กรรม ศาลทหารกรุงเทพสั่งลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี รวมเป็น 70 ปี แต่ทว่า วิชัยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมเป็น 30 ปี 60 เดือน 
ก่อนหน้านี้ในปี 2558 ศาลทหารกรุงเทพเคยพิพากษาจำคุกพงศักดิ์ จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพและข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้รวม 6 ครั้งเป็นเวลา 60 ปี โดยวางโทษต่อการกระทำหนึ่งกรรมเป็นเวลา 10 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี