เลือกตั้ง66: “ถ่ายรูปได้” กกต. ยืนยัน ผู้สังเกตการณ์สามารถบันทึกภาพการนับคะแนนได้ ไม่ผิด

สรุปหากไม่มีเวลาอ่าน: เลขาฯ กกต. และรองเลขาฯ กกต. ยืนยัน ประชาชนและผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกคน สามารถถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอการนับคะแนนหรือกระดานรวมคะแนนได้ หากไม่ขัดขวางการทำงานของ จนท.

ขณะเดียวกัน การทักท้วงหากนับคะแนนผิดพลาดหลังปิดหีบเวลา 17.00 น. ทำได้เช่นกัน

 

ประชาชนถ่ายรูปและวิดีโอนับคะแนนได้

“ผู้สมัคร พรรคการเมือง ผู้สื่อข่าว ท่านสามารถถ่ายรูปได้ ตั้งกล้องวิดีโอได้ แต่อย่าไปรบกวนการทำงานของ กปน.”

แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อธิบายถึงหลักความโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง 2566 โดยระบุว่าทุกๆ คนสามารถร่วมกันถ่ายรูปหรือวิดีโอการนับคะแนนหรือกระดานรวมผลคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่รบกวนการทำงานของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และไม่ถ่ายรูปบัตรลงคะแนนที่ทำเครื่องหมายแล้ว

“พี่น้องประชาชนที่ไปสังเกตการเลือกตั้ง สามารถถ่ายภาพได้ ถ่ายบรรยากาศในเรื่องของการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งได้… สิ่งนั้นเราปลดล็อกออกจากระเบียบไปแล้ว”

กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ได้ยืนยันอีกหนึ่งเสียง โดยอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงในการ #เลือกตั้ง66 ว่า ระเบียบเดิมอาจห้ามมีการบันทึกภาพหรือวิดีโอการจัดการเลือกตั้ง แต่ระเบียบใหม่ไม่มีข้อห้ามนี้อีกต่อไป ประชาชนและผู้สังเกตการณ์ทุกคนจึงสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่ถ่ายบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายแล้ว เพื่อรักษาหลักการที่ว่า การลงคะแนนของประชาชนแต่ละคนต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับ

 

 

นับคะแนนมีปัญหา ทักท้วงได้ทันที

นอกเหนือจากการยืนยันเรื่องการถ่ายรูปแล้ว ยังมีการกล่าวเพิ่มเติมไปถึงเรื่องของการนับคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม ช่วงหลังการปิดหีบเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยแสวงกล่าวว่า

“การนับคะแนนในระยะที่ท่านเห็น ท่านสามารถทักท้วงการนับคะแนน การขานคะแนน การขีดคะแนนได้”

ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นการนับคะแนน การขานคะแนน การขีดคะแนน หรือการรวมคะแนนที่ผิดพลาด สามารถมีส่วนร่วมแก้ไขได้โดยการทักท้วงทันที เพื่อรักษาความถูกต้องของผลการเลือกตั้ง

หากพบว่าการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นไม่ถูกนับอย่างถูกกฎหมายหรือมีการนับที่ผิดระเบียบการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำท้วงกับ กปน. โดนต้องบันทึกคำทักท้วงและการวินิจฉัยลงไปใน ‘บันทึกเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง’ หรือ ‘ใบ ส.ส. 5/6’ พร้อมลงชื่อผู้ทักท้วง ลงชื่อ กปน. ไม่น้อยกว่า 5 คน และลงชื่อพยานอีกอย่างน้อย 2 คน

หากไม่มีบุคคลเป็นพยาน ต้องเขียนเป็นหมายเหตุไว้ในใบดังกล่าวด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้การทักท้วงทุกอย่างมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริง และสามารถนำไปใช้ยืนยันในกระบวนการทางกฎหมายภายหลัง

 

ร่วมเป็นอาสาจับตาเลือกตั้ง

ดังนั้น ไอลอว์จึงอยากเชิญทุกคนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งกับ @Vote62 เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยร่วมกันสังเกตการณ์การนับคะแนนหลังปิดคูหาเวลา 17.00 น. ทักท้วงความผิดปกติหากพบเห็นเพื่อรักษาความถูกต้อง และถ่ายรูปใบผลคะแนนรวมของแต่ละหน่วยเลือกตั้งกลับมาให้เราช่วยกันนับคะแนน

รูปถ่ายที่เราต้องการ

1. ป้ายไวนิลที่ระบุสถานที่ตั้งของหน่วยและเขตเลือกตั้ง (ป้ายประจำหน่วย)

2. กระดาษขีดคะแนนทุกใบของหน่วยนั้น

3. ใบรวมผลการนับคะแนน จะถูกแปะบนหน้าหน่วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งนี้สำคัญมาก เพราะหากผลคะแนนรวมของ กกต. ไม่ตรงกับผลคะแนนรวมรายหน่วยจากประชาชน รูปถ่ายของทุกๆ คนจะมีคุณค่าเป็นหลักฐานเอาไว้ยืนยันหลังการเลือกตั้งต่อไป

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย