นี่เป็นภารกิจของคนรุ่นใหญ่ ที่คนรุ่นใหม่ทำไม่ได้ สว.67 ประชาชนทำอะไรได้บ้าง

10 เมษายน 2567 เวลา 14.55 น. ที่ร้าน D Kommune จัดเวทีสาธารณะพูดคุยในหัวข้อ “เลือก สว.ใหม่ ประชาชนทำอะไรได้บ้าง” แบ่งปันวิธีการการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ใครสมัครได้ ให้ไปสมัคร

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ เกริ่นถึงความสำคัญในการที่ทุกคนจะต้องสนใจในกระบวนการเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2567 นี้ ที่ต่อให้ สว.ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกแล้ว แต่ยังคงมีอำนาจในการคัดเลือกองค์กรอิสระ และเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อจำกัดสำหรับคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ไม่สามารถสมัครเข้าไปมีส่วนร่วมได้ จึงชี้ชวนให้เห็นความสำคัญสามประการในการลงสมัคร สว.ในครั้งนี้

“อย่างแรกคือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ใครๆ ก็อยากแก้ แต่เราจะแก้ยังไงถ้าเสียงไม่ถึง อย่างที่บอกไปว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ได้ถ้ามีเสียง สว.หนึ่งในสามในการเห็นด้วยเพื่อแก้ไข อย่างแรกเลย ถ้าหากว่าเรามีฝันร่วมกันว่าเราอยากแก้รัฐธรรมนูญเราจำเป็นต้องมีพื้นที่ในสภาเยอะๆ เพื่อประกันให้ได้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเกินขึ้นได้จริง”

“อย่างที่สองคือเมื่อเป็นระบบการเลือกกันเองตามกลุ่มสาขาอาชีพและคนที่สมัครได้ต้องมีคุณสมบัติที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีค่าสมัคร 2,500 บาท คุณจำเป็นต้องสมัครเท่านั้นถึงจะมีสิทธิโหวตได้ เมื่อมันเป็นการเลือกกันเองแบบนี้ แน่นอนว่ามันตัดโอกาสของคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมาที่จะไปเลือก สว.ได้ ”

“อย่างที่สามคือด้วยความที่มันเป็นการเลือกกันเองลักษณะนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องให้คนที่สมัครเข้าไปโหวตทำหน้าที่ในการสังเกตการกระบวนการในการเลือกกันเองด้วย ว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง เพราะว่าคนที่อายุต่ำกว่า 40 ไม่สามารถเข้าไปดูในกระบวนการนั้นได้เลย นอกจากพวกเราจะไม่มีสิทธิที่จะเข้าเลือกแล้ว เรายังไม่สามารถที่จะเข้าไปสังเกตกระบวนการได้เลย มีเพียงแค่คนที่สมัครเข้าไปเท่านั้นถึงจะเห็นกระบวนการทั้งหมดว่าในห้องนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

ส่งตัวแทนหนึ่งบ้าน หนึ่งผู้สมัคร

ณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ย้ำว่ากระบวนการเลือก สว.ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ต้องเข้าไปสมัครจึงมีสิทธิเลือก อีกทั้งยังมีระเบียบข้อจำกัดที่ว่า พ่อ-แม่-ลูก หรือคู่สมรส จะไม่สามารถสมัครพร้อมกันได้ จึงเชิญชวนประชาชนให้ส่งหนึ่งบ้าน หนึ่งผู้สมัคร ถ้าวันนี้ลูกหลานทุกคนชวนพ่อ แม่ ส่งตัวแทนของบ้านเข้าไปเลือก สว. ก็จะยิ่งเป็นผลดีเพราะกระบวนการเลือกกันเองซับซ้อนมาก อาจจะต้องอ่านใบสมัครของผู้สมัครจำนวนมาก ซึ่งถ้าคนในบ้านช่วยกันคุยช่วยกันวางแผน ช่วยตรวจคุณสมบัติผู้สมัครคนอื่น ก็จะทำให้ผู้สมัครมีความพร้อมและได้เลือก สว.คนที่ต้องการได้

และเงื่อนไขหนึ่งในการสมัครครั้งนี้คือการเขียนประวัติแนะนำตัว ห้ามหาเสียง ทั้งนี้ห้าวันก่อนเลือก สว. กกต.จะส่งรายชื่อผู้สมัครมาให้อ่าน แต่หากท่านสนใจอยากดูว่าใครประสงค์จะสมัครเป็น สว. สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ senate67.com เพื่อดูรายชื่อผู้ประกาศตัวว่าจะลงสมัคร สว.ได้

อัตลักษณ์หลากหลายที่ต้องแข่งกันในกลุ่มเดียว

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการจากศูนย์การดำรงค์ชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ว่าที่ผู้สมัคร สว.กลุ่มอัตลักษณ์ เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญในระบบการเมืองนี้ที่จะพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการการคัดเลือกหากมีโอกาสจึงตัดสินใจจะลงสมัคร เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเห็นสว.ชุดที่มาจากคสช. ไม่ยึดโยงกับประชาชน หากไม่อยากเห็น สว.แบบนี้ก็ขอลองลงมาในพื้นที่นี้เพื่อเป็นผู้สมัคร ต่อให้เป็นโอกาสที่น้อยแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีโอกาส

อรรถพล เล่าถึงความแปลกในกลุ่มที่ตนต้องการจะลงสมัครคือกลุ่มอัตลักษณ์ที่รวมหลายกลุ่มเช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ตนกังวลว่าสุดท้ายหากกลุ่มอัตลักษณ์ต้องแข่งขันเลือกกันเองแล้วสุดท้ายจะมี สว.ที่แตกต่างหลายหลายที่เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ต่างๆ ได้จริงหรือไม่

“ใน 20 กลุ่มอาชีพ มันก็จะมีหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยีก็ดี กลุ่มข้าราชการก็ดี กลุ่มผมจะเป็นกลุ่มที่มีความเฉพาะหรือกลุ่มที่มีลักษณะพิเศษคือกลุ่มของคนพิการ ที่นี้กลุ่มคนพิการเนี่ย ความแปลกอย่างหนึ่งที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าเขาไม่น่าเอามารวมกัน คือในกลุ่มผมเนี่ยจะมีตัวแทนสามประชากรประกอบด้วยกัน ประชากรแรกคือคนพิการ สองมีผู้สูงอายุ และสามมีกลุ่มชาติพันธ์ุ สามอัตลักษณ์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

อันนี้เป็นความกังวลใจว่าถ้าเราไปลงอยู่พื้นที่นึงที่มีผู้สมัครเยอะมากๆ เลยแล้วก็คาดการณ์ว่าผู้สูงอายุจะเยอะด้วยเพราะว่าปัจจุบันประชากรเราเข้าวัยสูงอายุ แล้วก็มันมีกลุ่มอื่นๆ กลุ่มอะไรอีก แค่คุณนิยามว่าคุณอายุเกิน 60 ปี คุณจะเป็นผู้สูงอายุก็ได้มารวมอยู่ในกลุ่มนี้หมด แล้วถามว่าสุดท้ายแล้วพอไปถึงรอบโหวตกันจริงๆ จังๆ แล้ว สามอัตลักษณ์นี้มันจะได้เข้าไปโดยมีความสมดุลกันไหม ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วจะมีผู้สูงอายุอย่างเดียวเลย 20 คนหรือคนพิการ 20 คน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดเลย 20 คน ซึ่งผมคิดว่าความหลากหลายในนี้มันจะไม่เห็น”