สิทธิโชค : เทน้ำมันใส่ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์

อัปเดตล่าสุด: 03/04/2566

ผู้ต้องหา

สิทธิโชค

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ผู้ชุมนุมต้องการเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลผ่านแยกผ่านฟ้า แต่ตำรวจตั้งแถวปิดและใช้กำลังให้ผู้ชุมนุมถอยไปทางถนนนครสวรรค์ ช่วงเย็นมีเหตุเพลิงไหม้บริเวณใกล้กับแยกผ่านฟ้าอย่างน้อยสามจุด หนึ่งในนั้นคือ ใต้ฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ สิทธิโชค ไรเดอร์วัย 25 ปีเห็นไฟลุกไหม้จึงคว้าน้ำดื่มไปพรมดับเพลิง แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า เขาวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ต้องโทษหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ให้สิทธิโชคมีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 3 ปี 6 เดือน และส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งเรื่องการประกันตัว 

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไม่มีข้อมูล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, อื่นๆ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217, 358

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องแบ่งการกระทำความเป็นสองส่วนคือ ความผิดจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการวางเพลิงซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ที่เกาะกลางถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 คือ วันเกิดเหตุมีการชุมนุมของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน จำเลยได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ฝ่าฝืนกฎหมายจำเลยบังอาจวางเพลิงเผาทรัพย์จุดไฟเผาหุ่นฟางที่ห่อหุ้มด้วยผ้าขาว ลักษณะคล้ายผ้าห่อศพและใช้ขวดพลาสติกภายในบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงพ่นใส่ผ้าประดิษฐานซุ้มเฉลิมฯ ที่บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนไฟไหม้ลุกลามผ้าและกำลังจะลุกลามไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเห็นเหตุการณ์ใช้น้ำดับได้ทัน เพลิงจึงไม่ลุกลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์แต่เป็นเหตุให้ผ้าประดิษฐานได้รับความเสียหายเป็นรอยไหม้หนึ่งซุ้มคิดมูลค่าเสียหายรวม 28,000 บาท
 
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบและพระราชินี ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์ เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ทำให้ระคายเบื้องพระยุคลบาท และเสื่อมเสียพระเกียรติของรัชกาลที่สิบและพระราชินี 
 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 21.50 น. สิทธิโชคถูกจับกุมที่บ้านพัก และพาตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และส่งตัวมาที่ สน.ห้วยขวาง
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ. 2528/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
18 กรกฎาคม 2564
 
มีการเผยแพร่วิดีโอชายสวมเสื้อแจ็คเก็ตสีดำใช้ขวดบรรจุสสารไม่ทราบชนิดราดไปที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ที่กำลังมีเพลิงลุกไหม้และภาพขณะขึ้นรถจักรยานยนต์ที่ท้ายรถมีกล่องส่งอาหารสีชมพูของ Foodpanda แอดมินทวิตเตอร์ของ Foodpanda ประเทศไทยทวีตตอบเรื่องดังกล่าวว่า “ทางเราจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันทีขอเรียนให้ทราบว่า ทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ค่ะ”
 
 
19 กรกฎาคม 2564
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า  ตำรวจสน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ออกหมายจับสิทธิโชค เศรษฐเศวต ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี, วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ของผู้อื่นและทำให้เสียทรัพย์ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 
สำหรับพฤติการณ์การกระทำผิดโดยย่อของสิทธิโชค พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รอง ผกก.(สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ผู้ออกหมายระบุว่า “ตามวันเวลาเกิดเหตุ ได้มีกลุ่มมวลชนหลายร้อยคน ซึ่งเรียกกลุ่มของตนเองว่า “เยาวชนปลดแอก” เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.40 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ได้มี นายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องหา (ทราบชื่อภายหลัง) ใช้ขวดพลาสติกบีบของเหลวคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิง พ่นใส่กองเพลิงซึ่งลุกไหม้อยู่บริเวณผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทำให้กองเพลิงดังกล่าว เริ่มลุกไหม้มากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ได้ฉีดน้ำดับเพลิงดังกล่าวได้ทัน เพลิงจึงไม่ลุกลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี จึงได้มาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด”
 
ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เวลา 21.50 น. สิทธิโชคถูกจับกุมที่บ้านพักและพาตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และส่งตัวมาที่สน.ห้วยขวาง ขณะที่ Foodpanda ออกแถลงการณ์หลังจากมีกระแสแฮชแท็ก #แบนfoodpanda ในทวิตเตอร์ยืนยันในสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกส่วนบุคคล และไม่มีนโยบายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพดังกล่าว รวมทั้งกล่าวขออภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ในฐานะแพลตฟอร์ม Foodpanda มีพันธกิจในการให้บริการพี่น้องชาวไทย และบริหารระบบนิเวศทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพให้กับร้านค้าพันธมิตรและไรเดอร์ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
 
 
20 กรกฎาคม 2564 
 
ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวสิทธิโชค โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์
 
 
11 ตุลาคม 2564
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี
 
 
1 พฤศจิกายน 2565 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
2 พฤศจิกายน 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 9.09 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 สิทธิโชคมาถึงห้องพิจารณาคดี จากนั้นเวลาประมาณ 9.20 น. คู่ความพร้อม ศาลออกนั่งพิจารณาคดี สืบพยานโจทก์สองปากในช่วงเช้า คือ ตำรวจสันติบาลที่สืบสวนและจับกุมจำเลย และตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง
 
พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.ท.ณพอนนต์ ส่องแสงจันทร์ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1
 
พ.ต.ท.ณพอนนต์ เบิกความโดยสรุปว่า เขามีความเกี่ยวข้องคดีนี้เนื่องจากเป็นผู้จับกุมจำเลย วันเกิดเหตุมีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เขาแต่งกายในชุดไปรเวทเข้าพื้นที่ทำการสืบสวนหาข่าวในเวลาประมาณ 15.00 น. โดยวันนั้นมีผู้ใต้บังคับบัญชาไปด้วยประมาณสิบนาย ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. ได้รับรายงานว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ที่เกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (แยกผ่านฟ้า) เมื่อเข้าไปถึงผู้ชุมนุมพูดกันปากต่อปากว่า ชายรายหนึ่งเป็นผู้กระทำ จึงทำการสืบสวนและติดตามชายรายดังกล่าวไปที่บ้านพักในจังหวัดปทุมธานี ที่หน้าบ้านพักมีรถจักรยานยนต์จอดอยู่และชายรายดังกล่าวเข้าไปในบ้านพัก จากนั้นจึงสืบสวนต่อไปพบว่า บ้านพักหลังดังกล่าวมีเจ้าบ้านคือ ธาราเทพ ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบไลฟ์แสดงความเห็นต่างทางการเมือง จึงเข้าไปตรวจรายชื่อเพื่อนของธาราเทพในเฟซบุ๊กและพบบัญชีเฟซบุ๊กของชายต้องสงสัยรายนี้ เทียบเคียงแล้วมีรูปพรรณตรงกับพยานหลักฐานที่ พ.ต.ท.ณพอนนต์ และทีมได้รับข้อมูลมา จึงรวบรวมทำรายงานการสืบสวนและส่งให้พนักงานสอบสวน นำไปสู่การออกหมายจับสิทธิโชค จำเลยในคดีนี้
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ณพอนนต์ทราบหรือไม่ว่า เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นการไหม้บริเวณผ้าที่ประดิษฐานใต้ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ พ.ต.ท.ณพอนนต์ ตอบว่า ในตอนเกิดเหตุไม่ได้สังเกตหรือใส่ใจรายละเอียดว่า เป็นผ้าประดิษฐาน แต่หลังจากนั้นจึงทราบว่า บริเวณที่ไหม้เป็นผ้าที่ประดิษฐานใต้ซุ้ม ทนายจำเลยถามถึงวิธีการสืบสวนและเก็บภาพ พ.ต.ท.ณพอนนต์ ตอบว่า ในวันดังกล่าวไม่ได้มอบหมายผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดเป็นพิเศษเรื่องการถ่ายภาพและวิดีโอ แต่สาระสำคัญของการทำงานจะต้องเก็บภาพและวิดีโอให้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้อยู่แล้ว คลิปที่นำส่งหมาย วจ. 1 และวจ. 2 ไม่ได้มาจากทีมของพ.ต.ท.ณพอนนต์
 
ทนายจำเลยถามว่า หลังได้รับรายงานในเวลา 17.00 น. ว่า เกิดเหตุดังกล่าวและพ.ต.ท.ณพอนนต์เข้าไปในพื้นที่ ภาพแรกที่เห็นคืออะไร พ.ต.ท.ณพอนนต์ตอบว่า ชายต้องสงสัย จำเลยในคดีนี้คร่อมรถจักรยานยนต์อยู่และมีผู้หญิงซ้อนท้าย ต่อมาจำเลยขับรถออกจากที่เกิดเหตุ เขาจึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาติดตามไป ทนายจำเลยถามถึงระยะการยืนของพ.ต.ท.ณพอนนต์และจุดเกิดเหตุ พ.ต.ท.ณพอนนต์ ตอบว่า จุดที่เขายืนอยู่ห่างจากซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ประมาณสิบเมตร บริเวณรอบๆ มีคนยืนอยู่มากกว่าสิบคน ทนายจำเลยถามว่า การลุกไหม้ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ พ.ต.ท.ณพอนนต์ ตอบว่า ไม่ได้จับเวลาเนื่องจากไม่ได้สนใจไฟ แต่สนใจผู้กระทำ ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ท.ณพอนนต์ทราบหรือไม่ว่า มีเหตุหุ่นฟางไหม้ พ.ต.ท.ณพอนนต์ ตอบว่า ไม่ทราบ
 
พยานโจทก์ปากที่ 2: ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
 
พยานเบิกความว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบหลักฐานในคดีนี้คือ ผ้าประดิษฐาน โดยจากการตรวจสอบผ้าดังกล่าวไม่พบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารเคมีไวไฟที่ผ้าดังกล่าว เหตุที่ไม่พบอาจด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงมีคุณสมบัติระเหยได้ง่าย อาจจะระเหยไปหมดก่อนที่จะถูกส่งมาให้พยานตรวจสอบ อัยการเปิดคลิปขณะเกิดเหตุที่มีชายเทของเหลวลงไปและมีไฟลุกตามขึ้นมา และถามถึงสารที่ใช้เทลงไปตามคลิป พยานตอบว่า ไม่อาจบอกได้ว่า ของเหลวดังกล่าวเป็นของเหลวชนิดใด เนื่องจากไม่ได้ส่งของเหลวมาตรวจ แต่ตามคลิปของเหลวดังกล่าวถูกไฟ และมีการลุกไหม้ทันที น่าเชื่อว่า จะเป็นสารเคมีไวไฟชนิดหนึ่ง
 
ทนายจำเลยถามว่า พยานตรวจหลักฐานในลักษณะดังกล่าวมาแล้วกี่คดี พยานตอบว่า ประมาณ 200 คดี ทนายจำเลยถามว่า ในกรณีที่ตรวจวัตถุและไม่พบสารบนวัตถุที่นำส่งตรวจ สามารถตรวจจากเขม่าได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า สารเคมีบางชนิดตรวจจากเขม่าได้ บางชนิดตรวจได้ ขึ้นอยู่กับว่า มีสารหลงเหลืออยู่เท่าใด ทนายจำเลยถามเรื่องการนำส่งเขม่าในที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ได้นำส่งตรวจในคดีนี้ พยานตอบว่า เรื่องนี้ต้องถามกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ คดีนี้หากจะพิสูจน์ว่า มีการใช้น้ำมันหรือสารเคมีชนิดอื่นจะต้องนำสารที่อยู่ในขวดตรวจ ทนายจำเลยถามว่า มีโอกาสที่การสาดน้ำปริมาณน้อยเข้าสู่กองเพลิงจะทำให้ไฟลุกวาบขึ้นมาก่อนแล้วมอดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบแต่โดยหลักการจะไม่วาบขึ้น จะดับเลย ทนายจำเลยถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ไฟจะลามมาติดเชื้อเพลิงในขวด พยานตอบว่า ปัจจัยคือระยะห่างระหว่างเปลวไฟและขวดน้ำ 
 
 
4 พฤศจิกายน 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลาประมาณ 9.20 น. ศาลสืบพยานโจทก์สามปาก ได้แก่ สมาชิกศปปส. ผู้ร้องทุกข์คดี, อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี 
 
พยานโจทก์ปากที่ 3: สมาชิกศปปส. ผู้ร้องทุกข์คดี
 
พยานเบิกความว่า พยานเห็นเหตุการณ์จากรายงานข่าวของสำนักข่าวท็อปนิวส์ ลักษณะคือ ก่อนหน้าที่จำเลยจะเข้าไปกระทำการตามฟ้อง มีไฟลุกไหม้อยู่ก่อนแล้ว และเมื่อจำเลยสาดสารจากขวดน้ำเข้าไปจึงมีไฟลุกขึ้นมาอีก พยานปรึกษากับสมาชิกคนอื่นและเป็นตัวแทนเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง โดยร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยานมองว่า พระบรมฉายาลักษณะเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ มีไว้เพื่อเคารพและสักการะ ประชาชนโดยทั่วไปจะไม่จุดไฟเผา จำเลย “มีความอาฆาตอยู่ในใจจึงกระทำการดังกล่าว” จำเลยไม่รู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย 
 
ทนายจำเลยถามค้าน 
 
พยานตอบทนายความว่า พยานเป็นผู้ทำเอกสารร้องทุกข์ขึ้นมาเอง ระบุว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนนครสวรรค์ และไม่ได้ไปที่จุดเกิดเหตุด้วยตนเอง พยานระบุว่า ไม่ทราบว่า ต้นเพลิงก่อนหน้าที่จะมีเหตุในคดีนี้มีสาเหตุมาจากใคร ทนายจำเลยถามว่า พยานได้สังเกตบริเวณฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ทางด้านซ้ายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้สังเกต ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่า จำเลยบีบของเหลวเพื่อดับไฟ พยานตอบว่า ไม่ทราบว่า จำเลยจะบีบของเหลวใส่เพื่อดับไฟ เพราะเห็นตามคลิปมีไฟลุกวาบขึ้น
 
พยานโจทก์ปากที่ 4: อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พยานความเห็น
 
อัยการเปิดคลิปวิดีโอให้พยานดู ตามวิดีโอเป็นภาพชายคนหนึ่งจุดไฟเผาซุ้ม เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนาไม่ดีต่อรัชกาลที่สิบ ดูหมิ่น เหยียดหยามและมีจิตใจมุ่งร้าย
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
พยานรับว่า ไม่เคยเขียนบทความและทำวิจัยเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่เคยทำการศึกษา ทนายจำเลยให้ดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีวางเพลิงเผาซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งมีคำสั่งยกฟ้องมาตรา 112 และถามว่า เคยทราบว่า มีคำพิพากษานี้หรือไม่ พยานรับว่า ไม่ทราบ 
 
พยานโจทก์ปากที่ 5: พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง เจ้าของคดี
 
พยานเบิกความว่า เขารับหน้าที่เป็นรองผู้กำกับการสอบสวน สน.นางเลิ้งระหว่างปี 2562-2564 คดีนี้เกิดเหตุเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ขณะปฏิบัติหน้าที่รับแจ้งเหตุผ่านวิทยุสื่อสารว่า เวลา 14.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำชื่อกลุ่มไม่ได้รวมตัวกันที่แยกผ่านฟ้าประมาณ 600-900 คน เป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล เขาจึงไปสังเกตการณ์ที่แยกผ่านฟ้า ต่อมาเวลา 16.40 น. ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่า มีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติของรัชกาลที่สิบบริเวณใกล้กับแยกผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินนอก มีการเผาหุ่นฟางและขว้างปาสิ่งของ เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากแยกผ่านฟ้าไปที่แยกนางเลิ้ง พยานจึงไปตรวจที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่สืบสวนและร้อยเวรจาก สน.นางเลิ้งและเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จากการตรวจสอบพบรอยไหม้ที่ใต้ฐานซุ้ม เป็นการไหม้ผ้าประดิษฐานใต้ฐานซุ้ม มีการพ่นสีสเปรย์ข้อความต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเก็บผ้าที่ถูกเผาบางส่วนและมีการบันทึกภาพข้อความพ่นสีสเปรย์ ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ ซึ่งส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ด้วย
 
ต่อมาพยานลงรายงานประจำวัน จากนั้นพ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ ชาญศรี รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้งมาร้องให้ดำเนินคดีกับสิทธิโชค เศษฐเศวต ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมอบไฟล์ภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ผู้จัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติมาร้องทุกข์ รวมถึงสมาชิกศปปส.ด้วย คดีนี้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ประจักษ์พยานเป็นตำรวจสองนายในที่เกิดเหตุ พยานได้แคปเจอร์ภาพจากคลิปวิดีโอระหว่างเหตุการณ์และให้ประจักษ์พยานทั้งสองปากลงชื่อกำกับไว้ตามเอกสารที่ได้ส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ 
 
เมื่อฝ่ายสืบสวนทราบตัวผู้กระทำคือ จำเลยในคดีนี้จึงจัดทำรายงานตามเอกสารที่ส่งเป็นหลักฐานและนำไปสำเนาทะเบียนราษฎรของจำเลยไปให้ประจักษ์พยานทั้งสองปากดูเพื่อยืนยันตัวจำเลย ทั้งสองให้การรับรองตามที่ปรากฏในเอกสาร อัยการนำเอกสารต่างๆ ที่พยานปากนี้เกี่ยวข้องรับรอง เช่น รายงานการสืบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 รายงานการผิดเงื่อนไขการประกันตัวของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ที่ส่งให้พนักงานสอบสวน และบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย หรือทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุในคดีนี้ ต่อมาจึงยื่นคำร้องขอออกหมายจับจำเลย ในการจับกุมยึดของกลาง ได้แก่ เสื้อแจ็คเก็ตสีดำและรองเท้าสีขาวที่จำเลยใส่ในวันเกิดเหตุ รวมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของพยานเป็นของกลางเพิ่มเติม พยานส่งริบบิ้นสีดำ ผ้าสีเหลืองและขาวอย่างละหนึ่งผืน รองเท้าและเสื้อไปตรวจพิสูจน์ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏตามเอกสารที่นำส่งในคดีนี้
 
ในกระบวนการพยานได้แจ้งสิทธิของจำเลยและแจ้งข้อกล่าวหาได้แก่ วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์, หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ มีทนายความและผู้ไว้วางใจมาร่วมกระบวนการ หลังจากรวบรวมหลักฐาน พยานมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ในคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการเผาคดีแรกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เฉพาะที่พยานรับผิดชอบคดีนี้ถือเป็นคดี 112 คดีแรกที่มีพฤติการณ์มาจากการเผา แต่วันเกิดเหตุมีคดีที่เกี่ยวข้องกับพระบรมฉายาลักษณ์สองคดีแต่จำเลยคนละกลุ่มกัน ทนายจำเลยถามถึงพ.ต.ท.สำเนียง โสธร ว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร พยานตอบว่า ในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของ สน.นางเลิ้ง จะมีคณะทำงาน ซึ่งพ.ต.ท.สำเนียงเป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคณะทำงานนี้ด้วย 
 
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
ทนายจำเลยถามว่า พื้นที่ที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศไหลเวียนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าไม่มีบุคคลเข้าไปก็ไม่แออัด แยกผ่านฟ้าเป็นพื้นที่โล่งก็จริง แต่ก็มีคนชุมนุมประมาณ 600-1,000 คน ทำให้เกิดความแออัดได้ ทนายจำเลยถามว่า ในการสอบสวนไม่ปรากฏว่า จำเลยเข้าพื้นที่ในเวลาใดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ และไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้จัดหรือแกนนำ ทนายจำเลยถามว่า ในการสอบสวนไม่ได้สอบสวนแพทย์หรือนักระบาดวิทยาใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่า สอบหรือไม่ แต่ว่าในเวลาดังกล่าวมีการประกาศเรื่องการชุมนุมอยู่ ทนายจำเลยถามว่า พยานได้ตรวจสอบหรือไม่ว่า วันเกิดเหตุกรุงเทพมหานครถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุม ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่า ในวันเกิดเหตุได้มีการประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมหรือไม่ ทนายจำเลยถามว่า มีรายงานการสอบสวนที่รวบรวมว่า มีการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีต้นตอมาจากการชุมนุมวันดังกล่าวหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้รวบรวม
 
ประเด็นเรื่องการสอบสวน
 
ทนายจำเลยถามว่า พยานสอบสวนพยานปากความเห็นที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เช่น ชาวบ้านและทนายความรวมประมาณสิบคน เหตุใดถึงเลือกสอบสวนเช่นนี้ พยานตอบว่า พนักงานสอบสวนจะพิจารณาจากข้อมูลและกรณีนี้เป็นสอบสวนถามความรู้สึกที่มีต่อการกระทำดังกล่าว ทนายจำเลยถามย้ำว่า คัดสรรพยานอย่างไรหรือล็อคเป้าเฉพาะคนที่เห็นต่างกับจำเลย พยานตอบว่า การเลือกบางครั้งดูตามหนังสือพิมพ์ที่อ่านและติดต่อมาให้ความเห็น ทนายจำเลยถามว่า พยานทั้งหมดให้การเป็นผลร้ายกับจำเลยใช่หรือไม่ พยานรับว่า เกือบจะทุกคน ทนายจำเลยถามว่า พยานในฐานะพนักงานสอบสวนไม่ได้พยายามที่จะหาพยานมาถ่วงดุลกันใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เขาไม่ทราบว่า พยานแต่คนที่เลือกมานั้นอยู่ฝั่งไหน เป็นการสอบสวนโดยทั่วไป 
 
ทนายจำเลยถามว่า พยานในฐานะพนักงานสอบสวนตั้งประเด็นสอบสวนอะไรบ้าง ได้พยายามหาความเป็นไปได้หรือข้อสันนิษฐานแบบอื่นหรือไม่ พยานตอบว่า คดีนี้พยานหลักฐานชัดแจ้ง ทั้งพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด และพยานบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย 
 
ทนายจำเลยถามว่า พยานแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดเผาหุ่นฟางตามที่อัยการบรรยายฟ้องมา “จำเลยบังอาจวางเพลิงเผาทรัพย์จุดไฟเผาหุ่นฟางที่ห่อหุ้มด้วยผ้าขาว” พยานตอบว่า หุ่นฟางไม่ใช่ทรัพย์สินเสียหายแต่บรรยายให้ทราบว่า มีหุ่นฟางเป็นกองใกล้กับซุ้มที่แจ้งข้อหาคือ เฉพาะเผาซุ้ม ทนายจำเลยถามว่า วันนั้นมีการเผาเชิงสัญลักษณ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เท่าที่เห็นแค่กอง มีซากดำๆ เท่านั้น จำไม่ได้ว่า มีฟาง ทนายจำเลยถามถึงกระบวนเก็บพยานวัตถุ พยานบอกว่า คดีแบบนี้คือคดีใหญ่ การเก็บพยานวัตถุจะทำร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง เมื่อเก็บเสร็จจะส่งให้ตำรวจเพื่อทำใบปะหน้านำส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลางอีกทีหนึ่ง ทนายจำเลยถามว่า ด้านใต้ฐานมีเศษผ้า เศษฟางใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่า บริเวณใต้ซุ้มจะมีเศษฟางไหม้หรือไม่
 
ทนายจำเลยถามถึงสถานการณ์แวดล้อมตอนที่เข้าไปเก็บหลักฐาน พยานตอบว่า ตำรวจยืนเรียงแถวเป็นแนวกั้นให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในที่เกิดเหตุ ทนายจำเลยถามว่า เอกสารที่นำส่งหลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 หลังวันเกิดเหตุหลายวัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พยานตอบว่า อาจจะเกิดความล่าช้าเพราะสถานีตำรวจนางเลิ้งมีการชุมนุมจำนวนมากในท้องที่ ทนายจำเลยถามว่า เหตุใดจึงส่งแจ็คเก็ตและรองเท้าไปตรวจหาดีเอ็นเอเท่านั้น ไม่ตรวจคราบน้ำมันหรือสารเคมีชนิดอื่นด้วย พยานตอบว่า สิ่งของทั้งสองอย่างเป็นลักษณะเดียวกันกับที่พบตามหลักฐานจึงส่งตรวจดีเอ็นเอ
 
อัยการถามติง
 
อัยการให้พยานดูภาพวันเกิดเหตุและถามถึงเรื่องการรักษาระยะห่าง พยานตอบว่า บุคคลในภาพยืนชิดกัน อัยการถามว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยมีทนายความอยู่ด้วยและไม่ได้แนะนำให้จำเลยเสนอพยานที่สนับสนุนตัวเองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 
 
อัยการแถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำพยานจำเลยเข้าสืบในนัดถัดไปที่ได้นัดหมายไว้ก่อนแล้วคือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 9.00 น. ศาลกำชับให้ทนายจำเลยนำพยานเข้าสืบให้เสร็จภายในนัดดังกล่าว เนื่องจากอีกนัดหนึ่งมีคดีที่ซ้อนกันอยู่ เสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลา 12.00 น. ในนัดนี้เจ้าหน้าที่ศาลมีการวางกำลังภายในห้องพิจารณาและนอกห้องอย่างรัดกุม และแยกให้ผู้ติดตามสมาชิกศปปส.อยู่ด้านนอก ส่วนผู้ที่จะมาให้กำลังใจจำเลยให้เข้าได้บางส่วน ไม่ให้เกิดความแออัดภายในห้องพิจารณาคดี
 
8 พฤศจิกายน 2565
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
พยานจำเลยปากที่ 1: สิทธิโชค จำเลยเบิกความอ้างตัวเองเป็นพยาน
 
สิทธิโชคเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณสองถึงสามเดือนเขาไปพักอยู่ที่บ้านของธาราเทพที่จังหวัดปทุมธานี  ประกอบอาชีพขับรถรับส่งอาหารของแอพพลิเคชั่นส่งอาหารและเป็นอาสาสมัครวิทยุกู้ภัยชาลีกรุงเทพ คอยช่วยเหลือประชาชน เช่น การจับสัตว์เลื้อยคลาน รถเสียและอุบัติเหตุ หรือตามที่ได้รับการร้องขอ วันเกิดเหตุวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เขาขับรถออกไปทำงานพร้อมกับแฟนของเขา โดยไปจอดรับงานที่บริเวณสยามและเซ็นทรัลเวิล์ด เมื่อไปถึงรับงานแรกประมาณ 12.00 น. และส่งออเดอร์สุดท้ายเวลาประมาณ 14.00 น. ไปส่งอาหารที่คอนโดมิเนียมแถวแยกท่าพระ ฝั่งธนบุรีและเดินทางมารอรับงานแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รถติดมากจนเห็นว่า มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกจึงขับมาที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (แยกผ่านฟ้า) จอดรถจักรยานยนต์ฝั่งตรงข้ามซุ้มประมาณ 10-20 เมตร ซึ่งเขาจำชื่อถนนที่จอดรถไม่ได้ แต่เป็นถนนที่มุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล บริเวณแยกผ่านฟ้ามีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวและมีกองเพลิงสองจุด คือ บริเวณทางม้าลายช่องทางคู่ขนานและบริเวณที่อยู่ห่างจากซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ประมาณ 5-10 เมตร ซึ่งเป็นซุ้มบริเวณที่เกิดเหตุ มีการนำรั้วมากั้นไม่ให้คนเข้าไปใกล้
 
เมื่อเขาเดินเข้าไปบริเวณสถานที่เกิดเหตุพบว่า กองไฟกองใหญ่มีไฟลามออกมาจากรั้วที่ล้อมไว้จึงนำน้ำดื่มที่เป็นของผู้ชุมนุมแจกจ่ายมาเจาะรูฝาขวดโดยใช้กุญแจรถ และพรมน้ำควบคุมเพลิงไม่ให้ออกมา และใช้เท้าเขี่ยเถ้าเศษฟางให้กลับเข้าไปภายในรั้ว สิทธิโชคอธิบายว่า การใช้นำพรมเป็นเทคนิคการควบคุมเพลิงในสถานการณ์ที่มีน้ำน้อย โดยในช่วงเวลานี้เขาใช้น้ำไปสองขวด จากนั้นจึงนำขวดน้ำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะของผู้ชุมุนม จากนั้นเห็นว่า บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติมีไฟลุกขึ้นมาจึงนำน้ำในกล่องสีชมพูที่อยู่ท้ายรถ ซึ่งเตรียมไปดื่มตามปกติมาเปลี่ยนฝาและนำไปดับไฟไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ น้ำดื่มที่ว่า เป็นน้ำอัดลมยี่ห้อบิ๊กโคล่า กลิ่นองุ่นสีม่วงและน้ำเปล่า โดยเขาแวะซื้อมาจากร้านค้าแถวสยามและผสมน้ำอัดลมเข้ากับน้ำเปล่าในอัตราส่วนประมาณชนิดละ 300 มล. โดยเหตุที่เขาผสมดื่มเนื่องจากเขาชอบรสชาติและกลิ่น แต่มีแก๊สมากเกินไปถ้าไม่ผสมน้ำเปล่าจะทำให้เขาเกิดกรดในกระเพาะอาหารและปวดท้อง เขาดื่มแบบนี้เป็นประจำเพื่อดับความกระหายระหว่างวัน จากนั้นเขาจึงบีบน้ำจากขวดไปที่ผ้าประดิษฐานใต้พระบรมฉายาลักษณ์ที่กำลังมีเพลิงไหม้อยู่ 
 
หลังจากบีบน้ำควบคุมเพลิง ตำรวจเดินเข้ามาบอกว่า ให้ลงมาจากบริเวณดังกล่าวและบอกว่า จะให้รถจีโน่เข้ามาควบคุมเพลิง แต่หลังจากที่เขาลงมาไฟก็ดับลงไปแล้ว จากนั้นเขาจึงนำขวดน้ำไปทิ้ง ตำรวจนำรถจีโน่มาควบคุมเพลิงที่ลุกไหม้ แต่ฉีดไปไม่ถึงซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ เพราะอยู่ไกลและติดกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่รอบซุ้ม  สักประมาณห้านาทีเขาจึงขับรถออกไปเพื่อรับออเดอร์ต่อไป วันดังกล่าวเขารับออเดอร์สุดท้ายประมาณ 19.47 น.
 
สิทธิโชคเบิกความย้อนกลับไปว่า ตอนที่เดินขึ้นไปมีไม้ประดับวางรอบๆ แต่มีร่องรอยการรื้อและมีเศษฟางอยู่ด้านล่างและเศษผ้าขาวตามภาพที่นำส่งเป็นหลักฐาน  เหตุที่เขานำน้ำไปพรมดับเพลิงเนื่องจากว่า ต้องการควบคุมไฟไม่ให้ลุกลาม ทำให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบได้รับบาดเจ็บ เขามีความรู้เรื่องการดับเพลิง ระบุว่า การดับเพลิงมีหลายปัจจัยแวดล้อม เช่น ปริมาณออกซิเจน ลม และอุณหภูมิโดยรอบ ศาลถามว่า เคยได้รับการอบรมหรือไม่ สิทธิโชคตอบว่า เป็นการอบรมภายในจากพี่ๆ ที่รู้จักกันมาสอนเพราะการอบรมประกาศนียบัตรต้องใช้เงิน แต่เขาไม่มีทุนทรัพย์มากพอ เขาอธิบายต่อว่า การใช้น้ำน้อยดับไฟจะพรมไปบริเวณที่ยังไม่ไหม้เพื่อที่ตอนที่ไฟลามไปถึงจะไม่ลุกลามต่อไป ในส่วนของการทำงานอาสาสมัครเขาทำงานตั้งแต่อายุ 20 ปีจนถึงปัจจุบัน
 
อัยการถามค้าน
 
อัยการเปิดภาพวิดีโอที่นำส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้และถามจำเลยว่า ชายในภาพคือจำเลยใช่หรือไม่ สิทธิโชค รับว่าใช่ทั้งหมด อัยการถามว่า เมื่อจำเลยไปถึงที่เกิดเหตุไม่ได้แจ้งตำรวจให้มาช่วยดับเพลิงใช่หรือไม่ จำเลยรับว่า ใช่ อัยการถามถึงวันที่ออกบัตรอาสาสมัครวิทยุชาลีกรุงเทพ สิทธิโชคตอบว่า จำวันที่เป็นสมาชิกไม่ได้ ออกบัตรในปี 2564 แต่มีการขอออกบัตรไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 จึงได้บัตรล่าช้า อย่างไรก็ตามรายละเอียดในบัตรระบุว่า การออกบัตรเกิดขึ้นก่อนหน้าวันเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน
 
ทนายจำเลยถามติง
 
ทนายจำเลยถามว่า ทำไมไม่แจ้งให้ตำรวจมาช่วยดับเพลิง สิทธิโชคตอบว่า ในฐานะอาสาสมัครประกอบกับที่ตอนนั้นเสียงดังมาก มีความรู้อยู่เลยทำเองดีกว่า หาคนช่วยก็เกรงว่า จะช้าเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายต่อคนรอบข้าง ทนายจำเลยถามถึงประวัติการทำงานอาสาสมัคร สิทธิโชคตอบว่า ทำมาตั้งแต่อายุ 20 ปีจนถึงปัจจุบัน
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานในปากนี้ ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 17 มกราคม 2566 เวลา 9.00 น.
 
 
17 มกราคม 2566
 
ศาลอาญาพิพากษาว่า การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 358 และฝ่าฝืนมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษเป็นกระทงความผิดคือ ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุกหกเดือน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการเทน้ำมันฯ ไปที่ผ้าประดิษฐานซุ้มฯ สามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษหนึ่งในสาม ความผิดกระทงแรกเหลือสี่เดือนและกระทงที่สองเหลือสองปี รวมโทษจำคุกสองปี สี่เดือน
 
หลังศาลอ่านคำพิพากษแล้ว จำเลยได้ยื่นขอประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ ศาลอาญาสั่งว่าให้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นคนสั่ง ทำให้สิทธิโชคถูกควบคุมตัวไปเรือนจำ
 
ภายหลังถูกคุมขังนานกว่า 25 วัน สิทธิโชคได้รับการประกันตัวเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอ่านคำพิพากษา โดยสรุปความผิดสองส่วนคือ ความผิดการเข้าร่วมชุมนุมขัดต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนนี้พยานโจทก์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามนายเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยใส่เสื้อสีดำ มีข้อความว่า “LINE MAN” และสวมกางเกงขาสั้น ยืนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและพระราชินี จากการพิจารณาถือว่า พยานทั้งสามเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ในกระบวนการนำสืบมีภาพของจำเลยในที่ชุมนุม ไม่ปรากฏว่า พยานโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยและเห็นว่า เบิกความไปตามข้อเท็จจริง ไม่ได้กลั่นแกล้ง เมื่อพิจารณาแล้วจำเลยอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจริง
 
คำให้การของ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย ระบุว่า การที่จำเลยมาที่แยกผ่านฟ้านั้นเพราะต้องการเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำเลยให้การนำสืบสู้ว่า มาที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อรอรับออเดอร์ถัดไป เป็นการเบิกความอย่างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ และในสำเนาการรับออเดอร์อาหารที่จำเลยนำส่งศาล ไม่ปรากฏว่า จำเลยรับงานที่ร้านแมคโดนัลด์ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าร่วมชุมนุมจริง มีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
กรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเห็นจำเลยบีบของเหลวคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงใส่ผ้าประดิษฐานใต้ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์จนเกิดไฟลุกไหม้  จากนั้นประมาณห้านาทีตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าคุมเพลิงไหม้ไม่ให้ลุกลามได้ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นตำรวจอีกสองนายเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยบีบของเหลวคล้ายน้ำมันใส่ผ้าประดิษฐานจนไฟลุกไหม้ขึ้นและมีการบีบใส่หุ่นฟางที่อยู่ห่างออกไปด้วย ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามอยู่ในเหตุการณ์ เบิกความเล่าเหตุการณ์เป็นลำดับขั้นตอน เชื่อว่า เบิกความจริง ทั้งยังมีภาพจำเลยขณะบีบของเหลวใส่ผ้าประดิษฐาน มีภาพวิดีโอเหตุการณ์ ในการให้การของจำเลย จำเลยรับว่า เป็นผู้บีบของเหลวใส่ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ด้านเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเบิกความจากภาพเหตุการณ์ว่า เมื่อของเหลวที่จำเลยเทถูกไฟที่ลุกอยู่ก่อนและมีการลุกไหม้ทันที น่าเชื่อว่า จะเป็นสารเคมีไวไฟชนิดหนึ่ง
 
จากการพิจารณาพยานโจทก์ปากอื่นๆ ประกอบกับวิดีโอเหตุการณ์นั้น ผ้าประดิษฐานมีไฟลุกไหม้อยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยกระทำการดังกล่าว ทำให้ไฟลุกไหม้กว่าเดิม เชื่อว่า ของเหลวที่จำเลยบีบเป็นสารไวไฟชนิดหนึ่ง แม้ผลการตรวจผ้าประดิษฐานของกองพิสูจน์หลักฐานกลางจะไม่พบน้ำมันเชื้อเพลิง หรือสารไวไฟอื่น แต่เหตุที่ตรวจไม่พบเพราะว่าอาจจะระเหยไปก่อนการตรวจพิสูจน์ ประเด็นนี้พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งส่งผ้าประดิษฐานไปตรวจในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ภายหลังเกิดเหตุ 11 วันจึงอาจเป็นดังที่พยานเบิกความก็เป็นได้ ส่วนที่จำเลยเบิกความว่า ของเหลวสีม่วงที่บีบลงไปเป็นการควบคุมเพลิง จำเลยเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก และการที่เบิกความว่า การบีบควบคุมเพลิงทีแรกได้นำขวดน้ำไปทิ้งและเก็บฝาที่เจาะรูไว้มาใส่ในขวดอื่นอีก เป็นลักษณะของการเบิกความที่ไม่สมเหตุสมผล ตามวิดีโอระหว่างเกิดเหตุมีผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าวห้ามจำเลยบอกว่า “อย่าๆ” และ “มีกล้อง” แต่จำเลยแสดงท่าทีคึกคะนอง 
 
พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า จำเลยบีบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารเคมีไวไฟใส่ผ้าประดิษฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและพระราชินี จนมีไฟลุกไหม้ขึ้นมากกว่าเดิม เล็งเห็นผลของการกระทำว่า จะทำให้ไฟลุกลามไปที่พระบรมฉายาลักษณ์  นอกจากนี้ยังมีพยานความคิดเห็นเช่น พล.ร.ต.ทองย้อย แสนสินชัย เบิกความทำนองว่า ในทัศนะของคนไทยพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานอยู่ที่ใดก็เหมือนกับพระองค์ประทับที่นั่น การกระทำของจำเลยแสดงถึงความไม่เคารพและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย 
 
พิเคราะห์แล้วการกระทำของจำเลยเป็นการไม่สมควร ล่วงเกิน ทำให้เสื่อมพระเกียรติของรัชกาลที่สิบและพระราชินี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 358 และฝ่าฝืนมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษเป็นกระทงความผิดคือ ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุกหกเดือน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการเทน้ำมันฯ ไปที่ผ้าประดิษฐานซุ้มฯ สามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษหนึ่งในสาม ความผิดกระทงแรกเหลือสี่เดือนและกระทงที่สองเหลือสองปี รวมโทษจำคุกสองปี สี่เดือน

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด