23 พฤศจิกายน 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุงและทำการจับกุมศุภกรที่ลานจอดรถหน้าอาคารศูนย์กีฬา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศุภกรถูกจับหลังเพิ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด19 ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ศุภกรถามตำรวจว่าทำไมเขาจึงถูกออกหมายจับโดยที่ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน ตำรวจชุดจับกุมตอบว่าไม่ทราบ จากนั้นตำรวจนำตัวศุภกรไปยังสภ.เมืองพัทลุง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนไม่อยู่ ศุภกรจึงถูกคุมตัวเข้าในห้องขังของสถานีตำรวจหนึ่งคืน
24 พฤศจิกายน 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พ.ต.ท.นพรัตน์ แก้วใจ พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหากับศุภกรรวมสามข้อกล่าวหาได้แก่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (3) โดยแจ้งว่าศุภกรร่วมกับพวกขับขี่รถยนต์ไปถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอศรีนครินทร์ จากนั้นได้ตัดต่อใส่ข้อความในภาพที่ถ่ายมา ก่อนจะนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ“พัทลุงปลดแอก” และเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” โดยที่ภาพและข้อความที่ตัดต่อเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี ศุภกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและแจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะให้การในรายละเอียดเป็นเอกสาร
หลังการสอบสวน พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดพัทลุงผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อ้างว่าต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีกหกปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา และขอคัดค้านหากผู้ต้องหาจะขอปล่อยตัวชั่วคราว อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่ก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวศุภกรโดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการของ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหลักประกัน ศุภกรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยต้องมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565
26 พฤศจิกายน 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อลิสาและชมพูนุท ได้เดินทางไปที่สภ.เมืองพัทลุงเพื่อรายงานตัวหลังทราบว่าถูกออกหมายจับ โดยทั้งสองคนไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน เช่นเดียวกับกรณีของศุภกร
ในส่วนของคำให้การทั้งอลิสาและชมพูนุทให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและแจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะให้การในรายละเอียดเป็นเอกสารภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังทั้งสองคนต่อศาลจังหวัดพัทลุง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมคัดค้านหากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่ก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองโดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นหลักประกัน และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันใดๆ
6 กุมภาพันธ์ 2565
พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง
ทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ใหม่ตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ เนื่องจากในบันทึกฉบับเดิมไม่มีการระบุพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาให้ชัดเจนว่าการกระทำใดที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งยังมีการระบุวันที่เกิดเหตุผิดพลาด โดยระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ตำรวจได้ทำการแก้ไขเป็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ในบันทึกข้อกล่าวหาฉบับใหม่
บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาที่ทำการแก้ไขพอสรุปได้ว่า ก่อนเวลาเกิดเหตุ ตำรวจสภ.เมืองพัทลุงได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่จะก่อเหตุหรือสร้างสถานกาณ์ในพื้นที่ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการเสร็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลหลักเมืองจังหวัดพัทลุง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563
จากการตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 23.49 น. จนถึง 25 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 03.21 น. ศุภกร ชมพูนุท และ อลิสา ร่วมกันแบ่งหน้าที่ใช้ยานพาหนะ ขับขี่ไปตามเส้นทางและถ่ายรูปสถานที่ต่างๆที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ แล้วนำไปตัดต่อประกอบข้อความที่จัดทำขึ้นซึ่งข้อความดังกล่าวเมื่อนำไปประกอบกับภาพจะสื่อความหมายในลักษณะด้อยค่า ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
จากนั้นเวลา 13.00 น. มีการโพสต์ภาพประกอบข้อความจำนวนห้าภาพลงเฟซบุ๊กเพจ “พัทลุงปลดแอก” ซึ่งมี ‘เบลล์’ เยาวชนที่ถูกแยกฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนฯ เป็นผู้ดูแลเพจ ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. ได้โพสต์รูปภาพประกอบข้อความจำนวน 15 โพสต์ ลงเฟซบุ๊กเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” โดยภาพและข้อความดังกล่าวที่โพสต์เป็นการดูหมิ่นและใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ข้อความและภาพดังกล่าวยังมุ่งหมายให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อีกทั้งมีการนำภาพและข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถพบเห็นได้และอาจแสดงความคิดเห็นเชิงลบทำให้ขยายความเสียหายออกไปอันเป็นผลกระทบต่อสถาบันฯด้วย
14 กุมภาพันธ์ 2565
ศุภกร อลิสา และชมพูนุท เข้ายื่นขอความเป็นธรรมไปต่อพนักงานอัยการ ขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
15 กุมภาพันธ์ 2565
นัดฟังคำสั่งอัยการ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการยื่นฟ้องชมพูนุท อลิสา และศุภกร ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อศาลจังหวัดพัทลุง
ในเหตุการณ์เดียวกันนี้มีผู้ต้องหาเยาวชนอีกคนหนึ่งด้วย คือ
เบลล์ ซึ่งถูกแยกไปฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุงเป็นอีกคดีหนึ่ง
18 กุมภาพันธ์ 2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ชมพูนุท อลิสา และศุภกร เข้ารายงานตัวต่อศาล หลังทราบว่าอัยการยื่นฟ้องคดีแล้ว ทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดสอบคำให้การเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากทั้งสามประสงค์จะขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาโดยใช้หลักประเกินเดิมในชั้นฝากขัง คือตำแหน่งนักวิชาการของอาจารย์แต่ในวันดังกล่าวอาจารย์ของผู้ต้องหาติดภารกิจมาศาลไม่ได้ และศาลไม่อนุญาตให้นายประกันมอบอำนาจให้ทนายความทำสัญญาประกันแทน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดสอบคำให้การไปตามที่จำเลยร้องขอ
21 กุมภาพันธ์ 2565
นัดสอบคำให้การ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในนัดนี้ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสามฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นศาลกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น.
ศาลยังอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้หลักประเดิมในชั้นสอบสวน คือ ตำแหน่งนักวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 มีนาคม 2565
ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนการคดี เนื่องจากติดว่าความในคดีอื่น ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดเป็นวันที่ 7 เมษายน 2565
7 เมษายน 2565
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ชมพูนุท อลิสา และศุภกร พร้อมทนายจําเลยมาศาลตามนัด ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังอีกครั้ง ทั้งสามยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามคําให้การเป็นเอกสารที่ยื่นต่อศาลในวันนี้
อัยการแถลงต่อศาลว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงฯ ตามประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงาน และการกําหนดอํานาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2563 ให้เป็นอํานาจของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาสี่ ภาคเก้า จึงต้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปอีกนัดหนึ่ง เพื่อดําเนินการประสานผู้มีอํานาจหน้าที่มาดำเนินคดี โโยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง ฝ่ายจําเลยแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานและกําหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น.
ศาลกำชับให้อัยการดําเนินการตามที่แถลงโดยเร็ว โดยระบุว่า หากในนัดหน้ายังไม่แล้วเสร็จ ศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีก เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการแบ่งหน่วยงาน และการกําหนดอํานาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายที่ต้องถือตาม
1 กรกฎาคม 2565
นัดตรวจพยานหลักฐาน
–