- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีมาตรา116, ฐานข้อมูลคดี
แปดแอดมินเพจ ‘เรารักพล.อ. ประยุทธ์’
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
เช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาแปดคนและบุคคลอื่นอีกหนึ่งคนที่ไม่ถูกดำเนินคดี ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำกำลังบุกจับที่บ้านของแต่ละคนในเวลาไล่เลี่ยกัน
หลังการจับกุมบุคคลทั้งเก้าคนถูกนำตัวไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในทันที ต่อมานิธิ ผู้จัดการร้านราเม็งของหฤษฎ์ หนึ่งในผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายในคืนเดียวกันโดยไม่ถูกดำเนินคดี
บุคคลทั้งแปดถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวมาที่กองบังคับการปราบปรามในช่วงเย็นวันที่ 28 เมษายน 2556 ในการแถลงข่าวผู้ต้องหาทั้งแปดและผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนซึ่งยังไม่ถูกจับกุมตัวถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจากการทำเพจเฟซบุ๊ก "เรารักพล.อ.ประยุทธ์"
ในวันที่ 29 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขังและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลา 12 วันหลังศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ
อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศหรือมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ต่อมาปี 2562 คดีนี้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารกรุงเทพมาดำเนินการพิจารณาที่ศาลอาญา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การพิจารณาคดีเนิ่นช้าออกไปจนถึงปี 2565 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 การสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
หฤษฎ์ จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสามารถทางด้านการเขียนนิยาย โดยใช้นามปากกาว่า "ฟ้าไร้ดาว" นิยายเรื่อง "ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฎสายรุ้ง"ของเขาเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับสองจากสำนักพิมพ์แจ่มใสและตีพิมพ์ออกสู่ตลาด ปัจจุบันเขาประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นที่ จังหวัด ขอนแก่น และเปิดร้านข้าวมันไก่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว
ธนวรรธ อายุ 24 ปี พื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บวชเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง กระทั่งจบการศึกษาจากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ หลังจากนั้นจึงสึกและรับจ้างเป็นฟรีแลนซ์ทั่วไป ก่อนหน้านี้เคยเป็นโปรดิวเซอร์รายการที่ Peace TV ไม่มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองและไม่เคยตั้งใจไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนอกจากต้องไปทำงานที่ได้รับมอบหมาย
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
จำเลยทั้งแปดและผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ถูกจับกุมตัว ถูกกล่าวหาว่า รับจ้างทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งเนื้อหามีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและการทำงานของรัฐบาล การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ (3) และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ตามคำฟ้องของอัยการลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 บรรยายว่า จำเลยทั้งแปดกับชัยชวัช ที่ยังหลบหนีจับกุมไม่ได้ ร่วมกันกระทำความผิดแบ่งหน้าที่กันทำ กล่าวคือ จำเลยทั้งแปดกับพวกร่วมกันเปิดเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์” มีเนื้อหาโจมตีการทำงานของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเลยที่ 1,2,4 และ 5 ทำหน้าที่เป็นแอดมิน จำเลยที่ 6 จัดหาข้อมูลสำหรับตัดต่อรูปภาพ จำเลยที่ 3 ตัดต่อรูป จำเลยที่ 7 เผยแพร่เนื้อหาและรูปภาพที่ตัดต่อ ส่วนจำเลยที่ 8 และชัยธวัช ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการและจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1-7
พฤติการณ์การจับกุม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า การจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปดคน เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559
กรณีของณัฏฐิกา
แม่ของณัฏฐิกาให้ข้อมูลว่า ช่วงเช้าระหว่างที่ตนและลูกสาวกำลังนอน มีทหารในเครื่องแบบสองนายและนอกเครื่องแบบราวห้านายกดกริ่งที่หน้าบ้านหลายครั้งก่อนจะปีนเข้ามาจากหลังบ้านและงัดบานเกร็ดเข้ามา ทำการตรวจค้น ยึดโทรศัพท์มือถือสองเครื่องและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสี่เครื่อง และควบคุมตัวณัฎฐิกาออกไปโดยที่ตลอดกระบวนการไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแสดงหมายจับและหมายค้น
ในเวลาต่อมาแม่ของณัฏฐิกาได้รับการติดต่อจากเพื่อนของณัฏฐิกาว่า ณัฏฐิกาใช้โทรศัพท์ของทหารโทรศัพท์มาแจ้งว่า ไม่ทราบว่าตนเองอยู่ที่ไหนเพราะถูกปิดตาหลังจากถูกควบคุมตัวไป
กรณีของศุภชัย
กรณีของวรวิทย์
ที่บ้านพักของวรวิทย์ใน จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่มาเคาะประตูห้องบอกว่า มาจับกุมผู้ต้องหาคดีการพนัน วรวิทย์จึงเปิดประตูออกไป เจ้าหน้าที่จึงขอดูบัตรประชาชน เมื่อแน่ใจว่า เป็นวรวิทย์จึงค้นห้องและยึดโทรศัพท์ยี่ห้อซัมซุงจำนวน 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก เอทานอล ฮาร์ดไดร์ฟ และทัมพ์ไดร์ฟ 2 อัน รวมทั้งสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มาจับกุมครั้งนี้มี ทหารในเครื่องแบบจำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่จาก ปอท.จำนวน 3 คน เจ้าหน้าที่กองปราบ 2 คน และทหารนอกเครื่องแบบอีกประมาณ 5 คน จากนั้นจึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวไปสอบสวน วรวิทย์กล่าวว่า ระหว่างการสอบสวนมีการบังคับให้สารภาพผิด
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
28 เมษายน 2559
เดลินิวส์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 10.00 น. พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามขอให้ศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับบุคคลรวมเก้าคนได้แก่ ณัฏฐิกา, หฤษฎ์, นพเก้า, วรวิทย์, โยธิน, ธนวรรธ,ศุภชัย,กัณสิทธิ์ และชัยธัชซึ่งหลังศาลทหารอนุมัติหมายจับ เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวบุคคลทั้งแปดที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ยกเว้นชัยธัชที่ยังจับตัวไม่ได้ไปพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับปราบปราม เพื่อตั้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำเพิ่มเติม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 11.00 น.ญาติของสี่ผู้ต้องหาได้แก่ นพเก้า, ศุภชัย, ณัฏฐิกา และหฤษฏ์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ปล่อยตัวทั้งสี่คนเนื่องจากเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า พฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งสี่โดยไม่มีการแจ้งเหตุแห่งการควบคุมตัว,ไม่แจ้งข้อกล่าวหา,ไม่แสดงหมายจับ และการแสดงหมายค้น
เวลา 15.00 น. ศาลลงบัลลังค์เพื่อพิจารณาไต่สวนพยานผู้ร้อง ทนายได้แถลงต่อศาลว่า ขณะนี้ญาติของผู้ต้องหาเดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามเนื่องจากทราบข่าวว่าจะมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปแถลงยังกองปราบฯ จึงขอให้ศาลไต่สวนทนายผู้ร้องแทน ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่ในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 10.00 น.
ดูสรุปคำร้องได้ที่ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/04/28/arbitary-detention-4-people/
เวลา 15.50 น. ที่กองปราบปรามฯ มีรถตู้ติดสติกเกอร์บอกสังกัดว่า พัน.ร.มทบ.11 โดยมีรถฮัมวี่สองคันประกบหน้าหลังขับเข้ามาที่กองปราบฯ และทั้ง 8 ถูกนำตัวลงมาจากรถและพาขึ้นไปที่ห้องปราศจากศัตรู ชั้น 3 เพื่อสอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำแผนผังการกระทำความผิดของผู้ต้องหามาแสดงต่อสื่อมวลชนได้รับทราบด้วย
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพร้อมญาติของณัฏฐิกา นพเก้า ศุภชัย และหฤษฏ์ ขอเข้าเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ แต่ไม่ได้รับอนุญาต โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ไล่ทนายความและญาติออกจากห้อง แม้ว่าทนายความจะยืนยันว่าญาติได้มาขอให้ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาทั้งสี่คนแล้วก็ตาม จากนั้น พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาลหก แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปดคนว่า ผู้ต้องหาได้ร่วมกันเผยแพร่ภาพและข้อความทางเพจเฟซบุ๊กมีเนื้อหาต่อต้านการทำงานของคสช. ในลักษณะที่มีการจ้างทำจ่ายเป็นรายเดือน นอกจากนี้ในกรณีของหฤษฏ์และณัฏฐิกา เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ส่วนบุคคลยังพบว่า มีข้อความก้าวล่วงพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งทาง พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายเฉพาะกิจปฏิบัติการข่าวและรักษาความสงบแห่งชาติ ได้พิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
29 เมษายน 2559
ฝากขัง 8 ผู้ต้องหาผลัดแรก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 9.00 น. พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามนำตัวผู้ต้องหาแปดรายมาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอฝากขังผลัดแรก 12 วัน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2559 โดยให้เหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเพราะยังรอการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา รอสอบปากคำเพิ่มเติมและรอการตรวจสอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ทนายความขอยื่นคัดค้านการฝากขัง และยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีร้ายแรง ทั้งศาลเคยมีบรรทัดฐานแล้วว่า การหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ถือเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจนก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรตาม มาตรา 116
ขณะที่หฤษฎ์ ผู้ต้องหาที่แปดแถลงต่อศาลเพื่อขอคัดค้านการฝากขังว่า ในช่วงที่อยู่ในค่ายทหารนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารผลัดกันสอบสวนอยู่ตลอดเวลาและเจ้าหน้าที่ตำรวจเองได้กล่าวกับผู้ต้องหาทั้งหมดว่า สอบสวนจนเสร็จสิ้นหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า การฝากขังเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอรวมถึงพวกตนไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ทั้งยังมีความยินดีให้ความร่วมมือมาให้ปากคำเพิ่มเติม ด้านพนักงานสอบสวนได้ทำคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูงและเป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงและเกรงว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่ง กรณีที่ญาติสี่ ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเพราะทหารเข้าควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเข้าจับกุมและควบคุมตัวกระทำในเวลากลางวันกระทำโดยทหาร และช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการบังคับใช้ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและข้าราชการทหารปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว ตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. และจากการไต่สวนเพิ่มเติมได้ความว่า ผู้ถูกจับกุมถูกควบคุมตัวในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 3 (2) และเมื่อนับจากวันถูกจับถึงวันยื่นคำร้องยังไม่เกินระยะเวลาเจ็ดวัน ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อหกถือว่าการเข้าจับกุมและควบคุมตัวเป็นการกระทำตามกฎหมายโดยเปิดเผยและโดยสุจริต จึงไม่ถือเป็นการจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
เวลา 16.00 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง ทำกันเป็นขบวนการ ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
มติชนออนไลน์รายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 29 เมษายน 2559 ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับหฤษฏ์และณัฏฐิกา ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังพบหลักฐานมีการสนทนากันในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวและดำเนินคดีต่อไป
2 พฤษภาคม 2559
มติชนออนไลน์รายงานว่า จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว, อานนท์ นำภา และวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความได้เดินทางเข้าเยี่ยม 8 ผู้ต้องหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
จตุพรกล่าวว่า ในคำบรรยายฟ้องผู้ต้องหายังมีการเชื่อมโยงอ้างว่าสนิทสนมกับตน แล้วกล่าวหาว่าสนิทกับนายพานทองแท้ ชินวัตร เลยโอนเงินให้ มองว่าเป็นการกล่าวหาโดยปราศจากข้อมูล ตนรู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่ทั้งของพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ
3 พฤษภาคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 15.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนเป็นหลักทรัพย์เงินสดคนละ 150,000 บาท ต่อศาลทหารกรุงเทพ รวมเป็น 1,200,000 บาท
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคือ พฤติการณ์การกระทำความผิดยังไม่มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบจึงถือได้ว่าฝ่ายพนักงานสอบสวนกล่าวหาทั้งผู้ต้องหาทั้งแปดเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่พนักงานสอบสวนเองเพิ่งรับตัวผู้ต้องหาจากทหารมาก่อนวันขังเพียงหนึ่งวันไม่มีการสอบสวนพยานบุคคลและพยานวัตถุก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบจึงไม่อาจรับฟังได้ การคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดคนจะหลบหนีโดยไม่มีพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานชัดแจ้ง และพยานหลักฐานในคดีก็ถูกเก็บโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างปลอดภัยแล้ว ผู้ต้องหาจึงไม่สามารถไปยุ่งกับพยานหลักฐานได้
เวลา 16.00 น. ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมที่จะทำให้มีเหตุเปลี่ยนเเปลงดุลพินิจเดิมจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว ขณะที่ พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปราม แจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อหฤษฏ์และณัฏฐิกา จากการที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตรวจพบข้อความในกล่องข้อความเฟซบุ๊กของบุคคลทั้งสอง
10 พฤษภาคม 2559
ฝากขังผลัดที่สอง
ประชาไทรายงานว่า เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม นำตัวทั้งแปดคน ประกอบด้วย ณัฏฐิกา , นพเก้า , วรวิทย์ , โยธิน , ธนวรรธน์ , ศุภชัย , หฤษฏ์ และกัณสิทธิ์ เพื่อขออำนาจศาลทหาร ฝากขังผลัดสองตามคำร้องของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 22 พ.ค. 2559 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดใส่ชุดของกรมราชทัณฑ์พร้อมกับถูกตีโซ่ตรวนมือและเท้าเดินทางมาด้วยรถตู้ของกรมราชทัณฑ์
เวลา 14.40 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายของ แปดผู้ต้องหาเปิดเผย ว่าศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัวทั้งแปดผู้ต้องหาแล้ว ตีราคาหลักประกัน คนละ 200,000 บาท มีเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
เวลา 19.00 น.ผู้ต้องหาทั้งแปดคนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิง อย่างไรก็ตาม หฤษฎ์และณัฎฐิกา สองผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหา 112 มีรายงานว่า จะถูกนำตัวไปกองบังคับการปราบปรามทันที คาดว่าเจ้าหน้าที่จะคุมตัวไปฝากขังที่ศาลทหารวันที่ 11 พฤษภาคม 2559
11 พฤษภาคม 2559
อายัดตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา ฝากขังผลัดแรก
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เวลา 09.00 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ สว.สอบสวน กก.1 บก.ป. ได้คุมตัวหฤษฎ์ ไปห้องพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกล่าวว่า ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนของกองปราบเมื่อคืนวาน หลังจากศาลทหารมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาแปดคน โดยมีสองคนที่ถูกแจ้งข้อหา 112 ตำรวจได้อายัดตัวมายังกองปราบทันที วันนี้มีการสอบปากคำเพิ่มเติม หากข้อกล่าวหาหรือหลักฐานไม่ชัดเจนก็คงต้องให้การปฏิเสธ และหลังจากนี้ตำรวจจะนำตัวทั้งสองไปฝากขัง ซึ่งจะขอยื่นประกันตัวเป็นเงิน 500,000 บาท ต่อมาเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป.คุมตัว หฤษฎ์และณัฏฐิกาเพื่อไปฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน
บีบีซีไทยรายงานผลการพิจารณาขอประกันตัวว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูงประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอาจจะหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุภัยอันตรายประการอื่น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาต
19 พฤษภาคม 2559
ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สอง
ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา ผู้ต้องหา 2 คนในคดีมาตรา 112 มาศาล เพื่อให้พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังเป็นผลัดที่สอง ทนายความจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวโดยให้วางหลักทรัพย์รายละ 700,000 บาท ต่อมาศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเพราะเป็นคดีร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนีและไปยุ่งกับพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนไม่อยู่ให้ศาลไต่สวน แต่ก็ได้คัดค้านการประกันตัวไว้ในเอกสารคำร้องแล้ว และศาลได้นำไปพิจารณาประกอบ
3 มิถุนายน 2559
ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สาม
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหฤษฏ์และณัฏฐิกา โดยศาลเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง
วันเดียวกันครอบครัวของทั้งสองได้เดินทางเข้าถวายพระพรพร้อมทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว พร้อมกับยืนยันว่า หากทั้งสองคนได้รับการประกันตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีต่อไป
16 มิถุนายน 2559
ฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผลัดที่สี่
มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา มาตรา 112 เหตุผลว่า ขณะยื่นคำร้อง พนักงานสอบสวนไม่อยู่ และติดต่อไม่ได้ แต่พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไว้ ตามคำร้องขอฝากขังฉบับลงวันที่ 15/6/59 ศาลได้นำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ซึ่งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง
21 มิถุนายน 2559
นพเก้า หนึ่งในเก้าผู้ต้องหาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในคดีความผิดมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องเนื่องจากยังสรุปสำนวนไม่เสร็จให้มาฟังคำชี้ขาดในวันพรุ่งนี้ (22 มิถุนายน 2559) นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรู้สึกว่า หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ชีวิตตนมีความเปลี่ยนไป มีเพื่อนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็สูญเสียเพื่อน คนรู้จักไปเช่นกัน พร้อมยังขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจเขาตลอดมา
22 มิถุนายน 2559
นพเก้า หนึ่งในเก้าผู้ต้องหาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในคดีความผิดมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องเนื่องจากยังสรุปสำนวนไม่เสร็จ โดยจะชี้ขาดการยื่นสั่งฟ้องในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559
22 กรกฎาคม 2559
นัดฟังคำสั่งอัยการ
นพเก้า หนึ่งในผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า อัยการทหารเลื่อนการสั่งคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เนื่องจากทนายของผู้ต้องหายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559
23 สิงหาคม 2559
นัดฟังคำสั่งอัยการ
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาคดี 8 แอดมินเพจเรารักพล.อ. ประยุทธ์ประกอบด้วย ณัฏฐิกา, หฤษฏ์, นพเก้า, วรวิทย์ , โยธิน, ธนวรรธ, ศุภชัยและกัณสิทธิ์เดินทางมารอคำสั่งฟ้องฐานความผิดมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาเวลา 14.00 น. อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยใช้ในการประกันตัวในชั้นสอบสวนคือคนละ 200,000 บาท ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพช่วงค่ำของวันเดียวกัน จำเลยแอดมินเพจ'เรารักพลเอกประยุทธ์' ปฏิเสธข้อหา ปลุกปั่นยั่วยุฯ ตามม.116 ด้านทนายยันคดีนี้ไม่เข้าข่ายผิดตามฟ้องฯ
การสืบพยานดำเนินไปจนถึงเวลาเกือบจะ 12.00 น. อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าพยานมีราชการตอน 13.00 น. อยากให้ทนายหยุดการถามค้านพยานไว้เพียงเท่านี้ก่อน ทนายของจำเลยที่ 1 จึงถามค้านพยานต่ออีกเล็กน้อยจึงสิ้นสุดการสืบพยานในวันนี้
นัดสืบพยานโจทก์
พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหา พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง
ทนายจำเลยถามว่า ในภาพตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลขสอง ซึ่งเป็นภาพตัดต่อพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรอยู่บนกระทงไม่ได้มีการเขียนข้อความอย่างชัดเจนว่า ให้พลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตรออกจากตำแหน่ง พล.ต.วิจารณ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยให้พล.ต.วิจารณ์ดูภาพข่าวที่เสนอภาพล้อเลียนผู้นำในประเทศเช่น อเมริกา และรัสเซีย และถามว่า ภาพล้อเลียนเป็นเรื่องที่ในสังคมประชาธิปไตยกระทำกันใช่หรือไม่ พล.ต.วิจารณ์ตอบว่า ขึ้นอยู่กับกรอบของกฎหมายของแต่ละประเทศ ทนายจำเลยถามใหม่อีกครั้งว่า คำถามไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายของแต่ละประเทศ แต่พล.ต.วิจารณ์รับตามเอกสารดังกล่าวหรือไม่ว่า มีการตัดต่อภาพล้อเลียน พล.ต.วิจารณ์รับเอกสารดังกล่าว แต่จะมีการฟ้องร้องหรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้ ทนายจำเลยนำส่งต่อศาลเป็นพยานหลักฐานในคดี
เวลา 11.00 น. ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม ศาลสอบถามว่า ในช่วงบ่ายทนายจำเลยทั้งหมดติดภารกิจจึงไม่สามารถสืบพยานต่อใช่หรือไม่ ทนายจำเลยตอบว่า ใช่ ศาลจึงนัดหมายให้มาสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 21 ธันวาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
–
9.00 น. จำเลยทั้งเจ็ดคนพร้อมด้วยวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยทยอยเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพจนกระทั่งเวลา 10.00 น. จึงขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่สาม ต่อมาเวลาประมาณ 10.15 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่า วันนี้พลตรีวิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์มาศาล ตุลาการท่านหนึ่งจึงกล่าวยิ้มๆว่า วิจารณ์เขาเป็นพลเอกแล้วนะ วิญญัติทนายจำเลยกล่าวว่าผมเจอท่านวิจารณ์ตั้งแต่ปี 2553 รู้จักกันตั้งแต่ยังเป็นพันเอกอยู่เลย ตุลาการท่านดังกล่าวจึงตอบว่า "นี่ไงเขาเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์"
จากนั้นก่อนจะเริ่มสืบพยานศาลแจ้งว่า คดีนี้จะต้องโอนย้ายไปที่ศาลยุติธรรมก่อนจะเรียกชื่อจำเลยทีละคนจนครบเจ็ดคนแล้วถามว่า ณัฏฐิกาจำเลยอีกคนหนึ่งในคดีนี้ยังหลบหนีอยู่ใช่หรือไม่? วิญญัติ ทนายจำเลยรับว่าใช่
ศาลอ่านกระบวนพิจารณาคดีว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรมสัญญาประกันให้มีผลต่อไป
เสร็จสิ้นการพิจารณาคดีในวันนี้ คดีนี้ใช้เวลาในศาลทหารนานสี่ปี โดยที่สืบพยานไม่เสร็จแม้แต่ปากเดียว