ชูเกียรติ: ติดป้ายที่ทิ้งขยะบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ

อัปเดตล่าสุด: 06/09/2565

ผู้ต้องหา

ชูเกียรติ แสงวงศ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

ชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือจัสตินไทยแลนด์ นักกิจกรรมจากสมุทรปราการไปเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม Redem ที่สนามหลวงในวันที่ 20 มีนาคม 2564

ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไปผู้ชุมนุมบางส่วนใช้เชือกดึงตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่นำมาวางเป็นแนวป้องกันบนท้องสนามหลวงลงมา จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเริ่มใช้กำลังทำการสลายการชุมนุม

ในระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่พบเห็นว่า มีคนนำกระดาษเอสี่เขียนข้อความ "ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล" ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบที่ติดตั้งอยู่ใกล้ศาลฎีกาฝั่งพระแม่ธรณีบีบมวยผม 

ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนขยายผล จนทราบว่าชูเกียรติน่าจะเป็นบุคคลที่กระทำการดังกล่าวจึงขอออกหมายจับชูเกียรติก่อนทำการจับกุมเขาที่บริเวณใกล้บ้านพักในวันที่ 22 มีนาคม 2564

ชูเกียรติถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 23 มีนาคม 2564 จากนั้นเขาถูกคุมขังต่อเนื่องเป็นเวลา 71 วัน ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติในคดีนี้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่เขามาได้รับการปล่อยตัวจริงๆในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 เนื่องจากต้องยื่นประกันตัวในคดี 112  อีกสองคดีที่ศาลอื่น

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชูเกียรติ แสงวงศ์ มีชื่อเล่นว่านุ๊ก แต่เป็นที่รู้จักในการชุมนุมว่า "จัสติน" จากการที่เขามักแต่งตัวเลียนแบบนักร้องดัง "จัสติน บีเบอร์" เวลาไปร่วมการชุมนุมโดยสวมเสื้อครอปเอวลอย และกางเกงวอร์ม ชูเกียรติเป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ ประกอบอาชีพเป็นช่างสัก เขาเป็นหนึ่งในคนที่นัดหมายจัดการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีนี้พอสรุปได้ว่า วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มรีเด็มที่สนามหลวง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวจำเลยกับพวกไม่ได้จำกัดทางเข้าออกในการเข้าร่วมกิจกรรม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัยและไม่จัดให้มีการเว้นระยะระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร

 
จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยขณะที่จำเลยกับพวกที่ร่วมกันชุมนุม ได้ตัดรั้วลวดหนามเพื่อเปิดช่องเข้าไปในสนามหลวง ฉีดพ่นสีสเปรย์บนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งยังดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงมา จากนั้นผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้ว ขว้างปาขวดน้ำ ขวดแก้ว รวมถึงใช้ประทัดยักษ์ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 
 
จำเลยยังได้ใช้เท้าเหยียบฐานติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและนำกระดาษเขียนข้อความ ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ผู้ที่ได้อ่านข้อความเข้าใจว่าบริเวณพระบรมฉายาลักษณ์เป็นที่ทิ้งขยะ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และมีเจตนายุยงปลุกปั่น ให้ประชาชนก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร จนมีประชาชนมาทิ้งขยะหรือฉีดสเปรย์บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ที่จำเลยนำป้ายเขียนข้อความตามฟ้องมาติด

พฤติการณ์การจับกุม

เจ้าหน้าที่นำหมายจับศาลอาญาไปทำการจับกุมชูเกียรติในวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยเป็นการจับกุมในยามวิกาล

หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามไม่ได้นำตัวชูเกียรติไปที่ สน.ชนะสงคราม อ้างว่าสน.ชนะสงครามกำลังปรับปรุงห้องขังใหม่ ทำให้ไม่มีที่ควบคุมขังผู้ต้องหา ชูเกียรติถูกนำตัวไปที่ สน.ห้วยขวางซึ่งไม่ใช่ สน.ที่รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุแทน 

 
ระหว่างถูกควบคุมตัวที่ สน.ห้วยขวาง เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือของชูเกียรติ และพยายามดำเนินการสอบสวนโดยจะให้ชูเกียรติใช้ทนายความที่ตำรวจจัดหามาแต่ชูเกียรติไม่ยอม และแจ้งกับตำรวจว่าเขาต้องการให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางคดี
 
ระหว่างที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ชูเกียรติขอให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่า เขาไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย และไม่ได้รับโอกาสในการติดต่อทนายความหรือผู้ไว้วางใจเมื่อถูกจับกุม ชูเกียรติขอให้พนักงานสอบสวนบันทึกประเด็นดังกล่าวในบันทึกคำให้การ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนจะไม่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้ แต่สุดท้ายก็ยอมบันทึกให้
 
พนักงานสอบสวนพาตัวชูเกียรติไปขออำนาจศาลฝากขังในวันที่ 23 มีนาคม 2564 ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติ เขาถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตามหมายขังคดีนี้เป็นเวลา 71 วัน จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ศาลจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติ โดยระหว่างที่เขาถูกคุมขังในเรือนจำชูเกียรติยังติดเชื้อโควิด19 ด้วย

สำหรับสัญญาประกันของชูเกียรติ ศาลตีราคาประกันเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ชูเกียรติทำกิจกรรมที่กระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้มาศาลตามนัด

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1366/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
20 มีนาคม 2564
 
กลุ่มรีเด็มนัดชุมนุม #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ ที่สนามหลวง ระหว่างการชุมนุมมีผู้ชุมนุมบางส่วนช่วยกันเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่นำมาวางขวางสนามหลวงไว้ เจ้าหน้าที่จึงใช้กำลังทำการสลายการชุมนุม ตามคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ ในระหว่างการชุมนุมมีผู้ชุมนุมบางส่วนข้าวปาสิ่งของรวมทั้งประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่ ขณะที่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ก็เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมบางส่วนได้รับบาดเจ็บ
 
ในวันเกิดเหตุชูเกียรติได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ตามคำบอกเล่าของชูเกียรติเขาเดินทางกลับออกไปจากพื้นที่เมื่อการชุมนุมเริ่มมีความรุนแรง 
 
ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พบเห็นว่ามีบุคคลนำกระดาษเขียนข้อความ ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ที่รั้วศาลฎีกา ใกล้รูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม และต่อมาเจ้าหน้าที่ก็พบเห็นว่ามีบุคคลนำขยะมาทิ้งที่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์จึงได้ทำการติดตามไปจับกุมตัวบุคคลดังกล่าว 
 
มีข้อมูลในภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปรวบรวมหลักฐานจากกล้องวงจรปิดจนสามารถระบุตัวตนได้ว่าชูเกียรติน่าจะเป็นผู้ที่นำป้ายกระดาษมาติด จึงดำเนินการขอให้ศาลออกหมายจับ
 
22 มีนาคม 2564
 
ชูเกียรติโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในเวลา 20.24 น. ว่า "ตำรวจกำลังนำตัวผมไปสน.ชนะสงคราม หมายจับ 112" จากนั้นในเวลา 20.25 น. ชูเกียรติโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กอีกครั้งหนึ่งว่า "ด่วนๆๆๆ ผมเกมส์แล้วจริงๆ สน.ชนะสงคราม" โดยข้อความดังกล่าวมีภาพประกอบเป็นภาพถ่ายจากในรถยนต์คันหนึ่ง
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายเพิ่มเติมว่า ในเวลาประมาณ 22.20 น. ทนายความเดินทางไปที่สน.ชนะสงครามเพื่อให้ความช่วยเหลือทางคดีกับชูเกียรติ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่นำตัวชูเกียรติมาที่สน.ชนะสงคราม เพื่อเพิ่งมีการปรับปรุงห้องขังใหม่

ทนายความมาได้รับแจ้งในภายหลังว่าชูเกียรติถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.ห้วยขวางวจึงรีบเดินทางติดตามไปและได้พบชูเกียรติในเวลาประมาณ 00.54 น. โดยชูเกียรติแจ้งทนายความด้วยว่าเขาถูกพาตัวมาที่สน.ห้วยขวางโดยไม่ทราบสาเหตุ

ระหว่างถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ ทำให้เขาไม่สามารถติดต่อผู้ไว้วางใจหรือทนายความได้ นอกจากนั้นตำรวจก็จะทำการสอบสวนเขาโดยให้เขาใช้ทนายความที่ตำรวจเตรียมไว้แต่เขาไม่ยอมจึงถูกนำตัวเข้าห้องขัง 

 
23 มีนาคม 2564
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามยื่นคำร้องขอฝากขังชูเกียรติต่อศาลอาญา ซึ่งศาลอนุญาต จากนั้นทนายของชูเกียรติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีส.ส.ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน

อย่างไรก็ตามศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติโดยให้เหตุผลว่า

พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง ทั้งผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีความผิดลักษณะเดียวกันมาแล้วแต่ก็ยังกระทำการในลักษณะเดียวกันอีก เชื่อว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาจะไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก ชูเกียรติจึงถูกนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

 
5 เมษายน 2564
 
ศุนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความและพี่สาวของชูเกียรติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติในชั้นสอบสวนเป็นครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่ากรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 
 
9 เมษายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติเป็นครั้งที่สาม ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดมีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
 
 
29 เมษายน 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ต่อศาลอาญาเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติเป็นครั้งที่สี่โดยเป็นการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกับจำเลยคดีมาตรา 112 คนอื่นๆรวมเจ็ดคน

ในวันเดียวกันมีประชาชนมาชุมนุมที่หน้าศาลอาญาเพื่อติดตามสถานการณ์และมีผู้ชุมนุมบางส่วนเข้ามาชุมนุมในบริเวณศาลด้วย ผู้ชุมนุมยังนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว 11,035 คน มายื่นต่อศาลด้วย

เบื้องต้นศาลแจ้งทนายความในวันที่ 29 เมษายน 2564 ว่า ศาลจะยังไม่อ่านคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว หากยังมีการชุมนุม ขณะที่ญาติของจำเลยและประชาชนที่มารอฟังผลประกันไม่ยอมและยืนยันว่าจะปักหลักรอที่ศาลจนกว่าจะมีคำสั่ง

ในเวลา 18.00 น. ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดรวมทั้งชูเกียรติ  ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

 
3 พฤษภาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความของชูเกียรติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติเป็นครั้งที่ห้า โดยระบุในคำร้องว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติจะไม่กล่าวพาดพิงและไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด หากศาลเห็นสมควรจะไต่สวนผู้ต้องหาเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ก็ขอให้ไต่สวนผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ 
 
อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากผู้ต้องหาติดโควิด19 หากให้ทำการไต่สวนผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงมากนัก 
 
14 พฤษภาคม 2564
 
ศาลอาญาไต่สวนผู้กำกับดูแลชูเกียรติ แต่เนื่องจากยังไม่สามารถเบิกตัวชูเกียรติที่อยู่ระหว่างรักษาตัวจากโควิด19 มาไต่สวนได้ จึงให้เลื่อนไปไต่สวนชูเกียรติในวันที่ 1 มิถุนายน 2564
 
1 มิถุนายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอาญานัดไต่สวนชูเกียรติศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอาญาไต่สวนชูเกียรติผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ชูเกียรติต่อศาลว่าคดีนี้เขาให้การปฏิเสธและตั้งใจจะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

คดีนี้เขาถูกออกหมายจับโดยไม่เคยถูกออกหมายเรียกมาก่อนซึ่งหากพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเขาก็ยินดีไปรายงานตัวตามนัด

ชูเกียรติแถลงรับรองตามคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวด้วยว่า หากได้รับการปล่อยตัวจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่กระทำการแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาต และมาตามนัดของศาลโดยเคร่งครัด

 
หลังการไต่สวนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติโดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมกําหนดเงื่อนไขให้ห้ามผู็ต้องหาทํากิจกรรมที่กระทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้มาศาลตามนัด และให้ชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นผู้กํากับดูแลผู้ต้องหา
 
อย่างไรก็ตามชูเกียรติยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้เนื่องจากเขามีคดีมาตรา 112 ที่ต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอื่นอีกสองคดี
 
2 มิถุนายน 2564 

ชูเกียรติได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในคดีมาตรา 112 คดีอื่นอีกสองคดี 
 
15 มิถุนายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีชูเกียรติต่อศาลอาญาแล้ว
 
22 มีนาคม 2565 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด