ณัฐชนน: ชุมนุม ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ละเมิดอำนาจศาล

อัปเดตล่าสุด: 01/03/2565

ผู้ต้องหา

ณัฐชนน ไพโรจน์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญา
30 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดชุมนุมหน้าศาลอาญาเพื่อติดตามผลการยื่นประกันตัวพริษฐ์ จำเลยคดีมาตรา 112 ผู้ชุมนุมใช้เครื่องเสียงปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาที่เคยลงนามในคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนอกจากนั้นณัฐชนนรวมทั้งผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งก็โกนหัวเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งอันเดียวกับแม่ของพริษฐ์
 
ต่อมาณัฐชนนและเบนจา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบทบาทในการปราศรัยและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันเกิดเหตุถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า พฤติการณ์การชุมนุมใช้โทรโข่งปลุกระดม เป็นการแสดงความก้าวร้าว และเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล สั่งให้ลงโทษจำคุกณัฐชนน 2 เดือนให้ปรับเบนจา 500 บาท ณัฐชนนได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ณัฐชนน ไพโรจน์ เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

เบญจา อะปัน เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เบนจามีบทบาทในแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมากขึ้นหลังพริษฐ์และปนัสยาถูกคุมขัง โดยเธอเป็นเป็นนำในการจัดกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาเพื่อทวงสิทธิในการประกันตัวให้เพื่อนในวันที่ 29 เมษายน 2564

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาเพื่อเป็นกำลังใจให้สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในวันที่ 30 เมษายน 2564 เวลา 14.00 น. โดยในช่วงเวลาดังกล่าวสุรีรัตน์มีกำหนดเดินทางมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์  

เมื่อถึงเวลานัดหมาย มีประชาชนทยอยเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ศาลอาญาควบคุมสถานการณ์โดยปิดประตูทางเข้า (ประตู 8) ประตูทางออก (ประตู 9) และประตูอื่นๆบริเวณแนวรั้วของศาลยุติธรรม ทำให้มีมวลชนกระจัดกระจายอยู่บริเวณด้านนอกรั้วศาลอาญา ซึ่งมวลชนบางส่วนได้ปีนรั้วเข้ามาด้านในและมารวมตัวกันอยู่บริเวณลานจอดรถหน้าธนาคารกรุงไทย

 
เวลาประมาณ 17.16 น. ณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เข้าร่วมชุมนุมและนำป้าย “ปล่อยเพื่อนเรา” มาผูกติดกับประตูทางเข้าศาลอาญา (ประตู 8) ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. ณัฐชนนใช้เครื่องขยายเสียง (โทรโข่ง) พูดปลุกระดมมวลชนให้ร่วมตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” และพูดผ่านโทรโข่งใจความว่า
 
“เพื่อนเราลำบากอยู่ในคุก เพื่อนเราบางคนไม่ได้กินอะไร ดังนั้น เราอยากให้คุณออกมาฟังเสียงของประชาชนแล้วรับไปพิจารณา ชนาธิปออกไป..” “สู้มั้ย สู้มั้ย ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา” “ถ้ายังไม่ออกมาหรือออกมาแล้วขอให้รับฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่ฟ้องประชาชนเพิ่มเข้าใจมั้ย ชนาธิป” “ชนาธิป.. ออกมา ชนาธิปออกมา”    
 
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังได้ชูป้ายกระดาษที่มีข้อความว่า “เขาไม่ผิดเลยขังเขาทำไม” “เหยดแม่มศาลเหี้ยๆ” “เมฆพ่อมึงเป็นอะไรมากป่าว” และข้อความอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก
 
เวลาประมาณ 19.00 น. เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยืนปราศรัยอยู่หน้าประตูทางเข้าศาลอาญา (ประตู 8) โดยใช้เครื่องขยายเสียงและร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มผู้ชุมนุม

เวลาต่อมาผู้ชุมนุมโปรยกระดาษที่มีรายชื่อของผู้ที่ลงชื่อเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย และได้โปรยกระดาษบางส่วนเข้ามาภายในบริเวณศาลอาญาด้วย

 
การกระทำของณัฐชนน และเบญจา เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และกระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ถูกกล่าวทั้งสองเดินทางเข้ารายงานตัวกับศาลตามหมายเรียก ไม่มีการจับกุมตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ลศ.12/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
ความเคลื่อนไหวคดี
 
30 เมษายน 2564
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมทำกิจกรรมที่ศาลอาญาเพื่อติดตามและให้กำลังใจสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิ้นในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

หลังเริ่มการชุมนุมในเวลาประมาณ 14.00 น. ทางกลุ่มดำเนินการชุมนุมที่หน้าศาลอาญาจนถึงช่วงค่ำ มีการแขวนป้ายเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง กิจกรรมปราศรัย รวมทั้งกิจกรรมโกนหัวเพื่อประท้วงการคุมขังนักโทษการเมือง

การชุมนุมหน้าศาลอาญา 30 เมษายน 2564

 
16 มิถุนายน 2564
 
เวลา 13.30 น. ห้องพิจารณาคดี 715 ศาลอาญานัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคน แต่ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองแถลงต่อศาลว่า ทนายความและผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเพิ่งได้รับเอกสารคำกล่าวหาในวันเดียวกันนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาคำกล่าวหาโดยละเอียดก่อน และจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียดส่งต่อศาลในภายหลัง ซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปและสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งคำให้การก่อนหรือภายในวันนัดไต่สวน
 
ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลชี้แจงกับคู่ความและผู้สังเกตการณ์การพิจารณาคดีทุกคนว่า

“เพื่อความเรียบร้อยในการพิจารณา ห้ามคู่ความ, ทนายของผู้ถูกกล่าวหาและผู้มาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาลทุกคน อัดเสียง บันทึกภาพ กระบวนการพิจารณาคดี รวมทั้งห้ามจดบนทึกหรือจดข้อความ คำแถลง หรือถ้อยคำของคู่ความ พยานและผู้เกี่ยวข้องหรือบันทึกเหตุการณ์ในระหว่างการพิจารณาคดี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล”

 
เกี่ยวกับรายละเอียดพยานที่จะเข้าเบิกความต่อศาล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า คู่ความกำหนดวันนัดร่วมกันเป็นวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00 น.

ฝ่ายผู้กล่าวหามีพยานบุคคลรวมห้าปากปาก ได้แก่ ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ, ร.ต.อ.ศาศวัตร โคตรวงศ์, ร.ต.อ.สรวิชญ์ มูกขุนทด และ ด.ต.สุพันธ์ ระวังชื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธิน ผู้มีหน้าที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน

ทนายผู้ถูกกล่าวหาแถลงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งติดใจสืบพยานทั้งหมดสามปากได้แก่ ตัวผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งและพยานผู้เห็นเหตุการณ์อีกสองปาก ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่สองติดใจสืบพยานสองปาก ได้แก่ตัวผู้ถูกกล่าวหาที่สองและพยานผู้เห็นเหตุการณ์อีกหนึ่งปาก

 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศาลเลื่อนการนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 น.
 
29 ตุลาคม 2564
 
นัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล 
 
ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลย้ำข้อกำหนดที่เคยวางไว้ตั้งแต่การไต่สวนนัดแรกคือห้ามจดบันทึก และห้ามรายงานรายละเอียดการพิจารณาคดีรวมถึงคำเบิกความที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดี ทนายของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนขออนุญาตต่อศาลให้ผู้ช่วยทนายความจดบันทึกคำพยานเพื่อใช้ประกอบในการถามค้าน และรับรองกับศาลว่าหากมีการนำถ้อยคำพยานไปเผยแพร่จนก่อให้เกิดความเสียหายให้ศาลดำเนินการตามสมควร ศาลบันทึกคำแถลงในกระบวนพิจารณาคดีและอนุญาตให้ผู้ช่วยทนายจดบันทึกได้พร้อมทั้งได้บันทึกชื่อนามสกุลของผู้ช่วยทนายความคนดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย
 
ในการไต่สวน ศาลไต่สวนพยานรวมสามปากคือผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา และตัวผู้ถูกกล่าวหาสองคนคือณัฐชนนและเบนจา เบื้องต้นผู้อำนวยการศาลฯ ในฐานะผู้กล่าวหานำเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธิน มาเป็นำยานด้วย แต่เนื่องจากทั้งณัฐชนนและเบนจาต่างยอมรับข้อเท็จจริงว่าทั้งสองคือบุคคลที่ปรากฎในคลิปและเป็นผู้ที่กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาจริง ทนายจึงหารือกับศาลว่าเพื่อความกระชับในกระบวนการจึงขอให้ตัดพยานที่เป็นตำรวจไปเนื่องจากประเด็นที่จะมาเบิกความเป็นเพียงการมารับรองว่าได้จัดทำรายงานการสืบสวนจริง และรายงานปรากฎตามฉบับที่อยู่ในสำนวนคดีเท่านั้น ผู้อำนวยการศาลฯในฐานะผู้กล่าวหาไม่คัดค้าน ศาลอนุญาต
 
เนื่องจากคดีนี้ศาลห้ามรายงานคำเบิกความและกระบวนพิจารณาคดี จึงสามารถรายงานสาระสำคัญได้เพียงว่า
 
พฤติการณ์ที่ณัฐชนนถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยคือการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในบริเวณศาล ส่วนพฤติการณ์ของเบนจาคือการชักชวนให้ผู้ชุมนุมที่อยู่นอกบริเวณศาลร่วมกันโปรยกระดาษพิมพ์รายชื่อผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดี เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ณัฐชนนปฏิเสธว่าการกระทำของเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อความวุ่นวายไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแต่เป็นเพียงการควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในความสงบเท่านั้น ส่วนเบนจาปฏิเสธว่ากระดาษรายชื่อที่โปรยเพียงแต่ตกอยู่ใกล้ๆรั้วศาล ไม่ได้ล้ำเข้ามาด้านใน การกระทำที่เกิดขึ้นเกิดหลังเวลาราชการและเนื้อความในจดหมายที่เธออ่านนอกบริเวณศาลก็ไม่ได้มีคำหยาบคายหรือเป็นการให้ร้ายศาล
 
หลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 2 ธันวาคม 2564
 
เบนจาซึ่งถูกเบิกตัวมาศาลในวันนี้พูดคุยกับเพื่อนๆ ที่มาให้กำลังใจและคุณแม่สุรีรัตน์ แม่ของพริษฐ์หรือเพนกวินด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยเบนจาซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังในแดนกักตัวของทัณฑสถานหญิงกลางจะต้องอยู่ในห้องขังเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เธอเล่าว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือซึ่งมีคนฝากเข้าไปให้โดยขณะนี้เธออ่านวรรณกรรมปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์เกือบจบแล้ว และเธออยากอ่านวรรณกรรมสามก๊ก 
 
เบนจาเล่าด้วยว่าระหว่างถูกคุมขังได้อยู่ร่วมห้องกับผู้ต้องขังชาวต่างชาติจึงมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาไทย สำหรับสิ่งที่เธอเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือเรื่องการเรียน ส่วนต้นไม้ที่เธอเพาะไว้ที่ห้องและต้นไม้ที่เธอเลี้ยงในขวดมีคนรับไปดูแลแล้ว ขณะที่ณัฐชนนระบุว่าตอนนี้เขาต้องเดินทางมาศาลบ่อยครั้ง โดยตัวเขาต้องเดินทางไปกลับศาลอาญาและหอพักที่อยู่รังสิตซึ่งค่อนข้างไกลและมีค่าใช้จ่ายสูง
 
 
2 ธันวาคม 2564
 
นัดฟังคำสั่งศาล
 
ศาลอาญามีคำสั่งลงโทษจำคุก ณัฐชนน ไพโรจน์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นเวลา 2 เดือน และ ลงโทษปรับ เบนจา อะปัญ เป็นเงิน 500 บาท ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการจัดชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 
 
มาตรการรักษาความปลอดภัยที่หน้าห้องพิจารณษคดีในวันนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลที่หน้าห้องพิจารณาคดีไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ของไอลอว์เข้าห้องพิจารณาคดี โดยอ้างว่าศาลสั่งมา แต่ผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ยืนยันว่าคดีนี้ไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาคดีลับ จึงเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย
 
จากนั้นทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยได้พูดคุยกับตำรวจศาล หลังผู้สังเกตการณ์ไอลอว์เดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดีแล้วว่าคดีนี้บุคคลภายนอกสามารถร่วมฟังการพิจารณาคดีได้และผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลอาญาก็ทราบเรื่องอยู่แล้ว โดยในการไต่สวนนัดก่อนหน้านี้ ศาลเคยสั่งห้ามผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีทั้งหมดจดหรือรายงานปากคำพยานในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อคดี แต่ไม่เคยมีคำสั่งพิจารณาคดีลับและผู้สังเกตการณ์ของไอลอว์ก็สามารถร่วมฟังการไต่สวนในนัดที่แล้วได้

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำสั่งศาลชั้นต้น

คำสั่งศาลอาญาสรุปได้ว่า ศาลได้ออกข้อกำหนดศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 โดยข้อที่ 1 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือกระทำการในลักษณะยั่วยุ จูงใจ หรือ สนับสนุนใดๆ ในห้องพิจารณาคดี และบริเวณศาล และข้อที่ 6 ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้โทรโข่ง ไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง ภายในศาลและบริเวณรอบศาล
 
ในวันที่ 30 เมษายน 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้มาชุมนุมที่หน้าศาลอาญาหลัง สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ (มารดาของพริษฐ์) ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ และในวันดังกล่าวมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ศาลอาญาจึงวางมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการปิดประตูรั้ว ทำให้มีผู้ชุมนุมอยู่ทั้งด้านในและด้านนอกบริเวณศาล และมีผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกบริเวณศาลบางส่วนปีนเข้ามาในศาลและพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ปล่อยเพื่อนเรา”
 
ฝ่ายสืบสวนของสน.พหลโยธิน สืบทราบว่า ในวันดังกล่าว ณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมด้วย มีการติดป้ายผ้า “ปล่อยเพื่อนเรา” และมีการใช้โทรโข่งในลักษณะการปลุกระดมว่า “ให้ปล่อยเพื่อนเรา” “เพื่อนเราลำบากไม่ได้กินอาหาร” “ชนาธิปออกไป” และ “เxดแx่ ศาลเxี้ยๆ” พร้อมบอกให้ ‘ชนาธิป เหมือนพะวงศ์’ รองอธิบดีศาลอาญาออกมารับฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ดำเนินคดีกับประชาชน ส่วนเบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหาที่สองได้ร่วมชุมนุมและอ่านสาสน์เรื่องการเสริมสร้างและการดำรงความยุติธรรมในคดีทางการเมือง รวมถึงมีการเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมโปรยกระดาษเข้าไปในบริเวณศาลอาญา
 
จากพฤติการณ์ดังกล่าว เห็นว่า ณัฐชนน ใช้โทรโข่งปลุกระดม เป็นการแสดงความก้าวร้าว และเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามข้อกำหนดศาลอาญาฯ ข้อที่ 1 และ 6 ส่วน เบนจา เชิญชวนให้ผู้ชุมนุมโปรยกระดาษเป็นการสร้างขยะมูลฝอยและความไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
 
แม้ทั้งสองจะอ้างว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสรีภาพสามารถถูกจำกัดได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยสาธารณะ และตามรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 4 กำหนดหน้าที่ บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดบุคคลอื่น หรือ สร้างความเกลียดชัง ไม่ใช่มุ่งแต่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
 
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า เหตุเกิดในช่วงนอกเวลาราชการที่ศาลปิดทำการ แต่การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลต้องมีการดูแลอยู่ตลอด และยังมีเจ้าหน้าที่ศาลที่ยังทำหน้าที่อยู่ ไม่ได้ปิดทำการ และที่อ้างว่า ในกรณีผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ แต่ไม่ถูกดำเนินคดีนั้น ไม่สามารถเอามาเป็นตัวบ่งชี้หรือชี้วัดความผิดได้ เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารศาล เช่นเดียวกันกับคดีนี้ที่ผู้อำนวยการศาลได้เสนอให้ดำเนินคดีกับ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผลด้วย แต่ผู้บริหารก็ไม่ได้ดำเนินคดี เพราะดูจากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ
 
ส่วนที่อ้างว่า การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนขัดต่อหลักนิติธรรม เห็นว่า การดำเนินคดีฐานข่มขืนใจเจ้าพนักงาน และคดีดูหมิ่นศาลที่ทั้งคู่ถูกดำเนินคดีนั้น ไม่ได้จำกัดสิทธิในการดำเนินคดีนี้และความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความพยายามมุ่งเน้นในการรักษาความปลอดภัย
 
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งและที่สองจึงเป็นความผิด ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31(1), 33 และ ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ 180 ให้ลงโทษจำคุก ณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จำคุก 2 เดือน และ ลงโทษปรับ เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นเงิน 500 บาท
 
 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในชั้นอุทธรณ์ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 15 วัน และแก้โทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นระยะเวลา 15 วัน แทน และให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลของณัฐชนน เหตุเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด