พิสิฏฐ์กุล: ด่าตำรวจเรื่องโควิด ผิดละเมิดอำนาจศาลอาญา

อัปเดตล่าสุด: 06/07/2564

ผู้ต้องหา

พิสิฏฐ์กุล

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้อำนวยการประจำสำนักอวยการศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้
29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมที่หน้าศาลอาญาในเวลา 12.00 น. เพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี รวมถึงเพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อของประชาชนที่มีข้อเรียกร้องขอให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัว 
 
ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจอ่านคำสั่งผู้ว่ากทม. เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อถึงตอนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า การชุมนุมอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดได้ พิสิฏฐ์กุล ซึ่งอยู่บริเวณหน้ามุกศาลได้ยินดังนั้นจึงบันดาลโทสะ ด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3 นาที ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เนื่องจากตนเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบสูญเสียรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด
 
เหตุการณ์วันนั้นศาลตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 6 รายโดยมีพิสิฏฐ์กุลเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ศาลนัดไต่สวนคดีของพิสิฏฐ์กุลในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ก่อนจะมีคำพิพากษารอการกำหนดโทษเป็นเวลาสองปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณภายในระยะเวลากำหนดโทษ
 
 
 

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง หรือ “กระเดื่อง” อายุ 35 ปี ขณะเริ่มคดีนี้ เป็นศิลปินและนักดนตรีที่มีผลงานในต่างประเทศ มีอัลบั้มชื่อว่า Absolute C.O.U.P. เขายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Free Arts หรือ ศิลปะปลดแอก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อปี 2563 เพื่อผลิตผลงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม พิสิฏฐ์กุลเคยเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และเป็นคนหนึ่งที่ติดตามการเมืองมาตลอด

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำกล่าวหาคดีนี้พอสรุปได้ว่า
 
ในวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และประชาชนประมาณ 300 คน เชิญชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” และยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ศาลอาญา บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีพฤติการณ์ รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา มีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนว่า "ปล่อยเพื่อนเรา"
 
เวลาประมาณ 12.50 น. พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการปราบปรามสน.พหลโยธิน อ่านคำสั่งผู้ว่าฯ กทม. เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และเตือนให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบแต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ต่อมาในเวลา 13.05 น. พ.ต.อ. ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการสน.พหลโยธิน ประกาศเรื่องการใช้สิทธิเสรีภายใต้ข้อกฎหมายของผู้ชุมนุม และอ่านข้อกำหนดศาลรวมทั้งแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ
 
พิสิฏฐ์กุล เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลบริเวณหน้าบันไดบริเวณทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญาในลักษณะที่ก่อความวุ่นวาย ได้พูดตะโกนด่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” และตะโกนด้วยถ้อยคำอื่นๆ อยู่หลายครั้ง และยังได้ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ ทั้งร่วมอยู่ในเหตุการณ์กับกลุ่มบุคคลอื่นๆ เพื่อก่อความวุ่นวายให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา
 
การกระทำของพิสิฐฎ์กุลเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา
 
ในเอกสารคำขอท้ายคำกล่าวหา ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา อันเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31, 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15, 180
 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

พิสิฏฐ์กุลเดินทางเข้ารับการไต่สวนและมาปรากฎตัวต่อศาลตามนัดจึงไม่มีการจับกุม ในการมาศาลวันแรก ศาลสั่งให้รับตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ ทำให้ต้องมีการขอประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกัน 10,000 บาท

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ลศ 10/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

25 เมษายน 2564

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมราชอยุติธรรม ยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลเคารพหลักการที่ว่าผู้ต้องหาคดีอาญาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 



29 เมษายน 2564


แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งว่ามีประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวรวม 7736 รายชื่อ บนภาพประชาสัมพันธ์ดังกล่าวยังประกาศเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมในเวลาตั้งแต่ 12.30 น. ที่ศาลอาญาด้วย

จากนั้นในเวลาประมาณ 13.45 น. เบนจาจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนำจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองพร้อมทั้งรายชื่อแนบท้าย 11,035  รายชื่อ มายื่นต่อศาล ระหว่างนั้นมีการชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "รัฐโจรถ่อยปล่อยเพื่อนเรา" ที่ด้านหน้าศาลด้วย เบนจาเรียกร้องให้ตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกมารับจดหมายและรายชื่อ กระทั่งเวลา 14.09 น. ยังไม่มีบุคคลใดออกมารับหนังสือและมีตำรวจออกมาอ่านประกาศกทม.เรื่องโรคติดต่ออีกครั้ง ผู้ชุมนุมจึงตะโกนว่า "ขี้ข้าเผด็จการ" ในเวลาประมาณ 14.59 น. เมื่อไม่มีบุคคลใดออกมารับหนังสือ เบนจาจึงอ่านท่อนสุดท้ายของบทกวีถึงมหาตุลาการ ที่อานนท์ นำภา เป็นผู้ประพันธ์ "หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี ตุลาการ เช่นนี้  อย่ามีเลย!" และเดินฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ขึ้นบันไดศาลอาญาและโปรยกระดาษรายชื่อกับจดหมายที่เตรียมมายื่น ขณะที่ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า "ปล่อยเพื่อนเรา" 



การชุมนุมที่หน้าศาลดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งช่วงเย็นก็ย้ายออกไปอยู่นอกรั้วศาลอาญา และในช่วงค่ำผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันเดินทางกลับ โดยในวันเกิดเหตุยังไม่มีการจับกุมบุคคลใดและไม่มีการสลายการชุมนุม



6 พฤษภาคม 2564


ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา เข้าร้องเรียนกับเจ้าพนักงานตำรวจ แจ้งความพิสิฏฐ์กุล ฐานกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 จากเหตุการณ์ที่พิสิฏฐ์กุลเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 29 เมษายน 2564



20 พฤษภาคม 2564


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน รายงานว่า ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไต่สวนคดีที่พิสิฏฐ์กุลถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล โดยทนายอ้างว่า ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่งได้รับสําเนาคําร้อง และได้ดูภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ชุมนุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริงมากพอสมควร จึงขอเวลาไปตรวจสอบพยานหลักฐาน พร้อมทั้งแถลงขอคัดถ่ายดีวีดีทั้งสองแผ่นและขอคัดถ่ายบันทึกรายงานการสืบสวนกรณีกลุ่มบุคคลมาชุมนุมหน้าศาลอาญา และข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 และขอให้ศาลสอบคําให้การในนัดหน้า โดยผู้กล่าวหาไม่ได้คัดค้านการเลื่อนคดี



ศาลจึงได้มีคำสั่งให้เลื่อนไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 9.00 น. โดยศาลสั่งให้รับตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ ทำให้ต้องมีการขอประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกัน 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เท่าสัญญาประกัน ผิดสัญญาประกันปรับเต็มสัญญาประกัน



18 มิถุนายน 2564

 

พิสิฏฐ์กุลพร้อมทนายเดินทางมาศาลอาญา ผู้พิพากษาเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีเวลาประมาณ 9.50 น. โดยก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาสอบถามทุกคนที่มาสังเกตการณ์ว่าเป็นใคร มาจากไหน และอ่านข้อกำหนดของศาลไม่ให้บันทึกภาพและเสียง ไม่ให้บันทึกการพูดคุยของผู้พิพากษา ทนายความ และพยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาต มิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล



พยานปากแรก ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 29 เมษายน 2564 มีการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยในข้อหามาตรา 112 หลายคน ช่วงเวลาประมาณเที่ยง มีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คนมาอยู่บริเวณหน้าศาลอาญา ได้ขอกำลังตำรวจสน.พหลโยธินมาช่วยดูแลความปลอดภัย โดยพิสิฏฐ์กุล ผู้ถูกกล่าวหา เป็นหนึ่งในคนที่มาร่วมชุมนุมด้วย ระหว่างการชุมนุมมีการโปรยกระดาษ การอ่านแถลงการณ์และการปราศรัย เมื่อตำรวจอ่านประกาศแจ้งเตือนเรื่องการควบคุมโรคโควิด พิสิฏฐ์กุล ตะโกนด่ามีคำว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” หยาบคาย เสียงดัง ข่มขู่คุกคามผู้พิพากษา เป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ในช่วงเย็นมีการขอให้แม่ของพริษฐ์ไปเจรจาให้ผู้ชุมนุมย้ายไปฟังคำสั่งนอกรั้วศาล หลังจากเจรจาแล้วผู้ชุมนุมก็ย้ายอออกไปโดยดี และอยู่รอฟังคำสั่งถึงช่วงค่ำก็แยกย้ายกันกลับ



ผู้พิพากษาถามว่า ในวันดังกล่าวการชุมนุมรบกวนการพิจารณาคดีอื่นหรือไม่ และรบกวนการเดินทางมาศาลของประชาชนคนอื่นหรือไม่ พยานตอบว่า วันดังกล่าวไม่ได้อยู่ในช่วงเกิดเหตุ มาถึงศาลในเวลาประมาณ 16.30 น. ทราบว่าในช่วงบ่ายมีนัดพิจารณาคดี 8 คดี เมื่อมีผู้ชุมนุมมาทำให้ต้องกั้นรั้วทางขึ้นศาลอาญา ทำให้คนที่จะเข้ามาในอาคารศาลไม่สะดวก



ทนายความถามว่า มีรายงานการเลื่อนคดีเพราะการชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่ายังไม่ได้รับรายงาน ทนายความถามต่อว่า มีผู้ที่มาติดต่อราชการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความสะดวกหรือไม่ พยานตอบว่า ยังไม่ได้รับรายงานเช่นเดียวกัน



พยานปากที่สอง พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน เบิกความว่า วันที่ 29 เมษายน 2564 ได้รับการประสานงานให้มาดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ศาลอาญา โดยนำกำลังจากสน.พหลโยธินมาประมาณ 50 คน โดยทราบจากเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมว่ามีการนัดหมายชุมนุม และจะมีการยื่นหนังสือ จึงได้จัดอาณาเขตให้ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณลานจอดรถข้างประตู 8 ผู้ชุมนุมนำลำโพงลากมา แต่ปรากฏว่าไม่มีการยื่นหนังสือโดยไม่ทราบสาเหตุ จากนั้นผู้ชุมนุมโปรยกระดาษซึ่งทราบว่าเป็นใบปลิวรายชื่อบุคคลแต่ตนไม่ได้หยิบขึ้นมาอ่าน



ในวันดังกล่าวได้ประกาศข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการควบคุมโรคโควิด คำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและข้อกำหนดของศาลอาญาให้ผู้ชุมนุมทราบ โดยประกาศ 5 ครั้ง ถูกผู้ชุมนุมตะโกนด่าทุกครั้ง รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้ตะโกนด่าเป็นคำว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” ศาลถาม พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ว่า ผู้ถูกกล่าวหาตะโกนด้วยน้ำเสียงแบบไหน ดุดัน หรือมีความรู้สึกอย่างไร พยานตอบว่า เข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหาคงโกรธ โมโห



พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ยังเบิกความด้วยว่า การชุมนุมดังกล่าวมีการปราศรัย จำชื่อผู้ปราศรัยได้สามคน มีคนที่เข้ามาในแนวรั้วกั้นบริเวณบันไดศาลอาญาคนเดียว ซึ่งไม่ใช่พิสิฏฐ์กุล ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้



หลังจากนั้นศาลเปิดคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ตำรวจอ่านประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง เป็นภาพ พิสิฏฐ์กุล กำลังตะโกนด่า มีถ้อยคำทำนองว่า “กูวัดอุณหภูมิแล้ว ไอ้สัส” “ทนมาปีนึงแล้ว” “การะบาดไม่ได้เกิดจากการชุมนุม”



ตอบคำถามทนายความว่า พิสิษฐ์กุลตะโกนด่าทอขณะอ่านประกาศ เป็นการระบายเรื่องผลกระทบจากโควิด ขณะตะโกนก็จ้องตามาที่ตัวพยานซึ่งไม่รู้ว่าจ้องเพราะอะไร ทนายถามพยานต่อว่าวีดีโอที่เปิดมีแค่นี้ใช่หรือไม่ พยานกล่าวว่าเท่าที่บันทึกไว้มีเท่านี้  นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงกิริยาชูนิ้วกลางแต่ไม่ได้บันทึกไว้ ศาลจึงถามว่านิ้วกลางหมายถึงอะไร พยานตอบว่าหมายถึงอวัยวะเพศ



ในช่วงบ่าย พิสิฏฐ์กุลขึ้นเบิกความ โดยกล่าวว่า ตัวเขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบอาชีพ เป็นศิลปิน นักดนตรี มีสตูดิโอของตัวเอง รายได้หลักมาจากการเดินทางไปแสดงงานในต่างประเทศ ปกติจะทำงานหนึ่งปีและเดินทางไปแสดงงานเพื่อหารายได้อีกหนึ่งปีสลับกันไป เมื่อปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด 19 ยกเลิกงานแสดงในประเทศสเปน โปแลนด์ และเยอรมนี โดยคาดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดก็อยู่บ้านตลอด ไม่ออกไปไหน เพราะเป็นห่วงแม่ที่อายุมากแล้ว



พิสิษฐ์กุลเล่าต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปีกว่ากลับพบว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ การแพร่ระบาดทั้งสามครั้งมีสาเหตุมาจากความหละหลวมของรัฐบาลไม่ใช่เพราะประชาชน เงินที่เก็บไว้ก็กำลังจะหมด ตัวเขาและพี่สาวเป็นผู้หารายได้หลักให้ครอบครัว ต่อมาพี่สาวก็ถูกลดเงินเดือนเพราะการระบาดของโควิด จึงต้องไปขายเสื้อผ้าหารายได้



พิสิษฐ์กุลเบิกความว่า วันที่ 29 เมษายน 2564 ทราบข่าวว่ามีการยื่นขอประกันตัวพริษฐ์ ซึ่งอดอาหารและถ่ายเป็นเลือด และตนก็เป็นเพื่อนของเพื่อนของพริษฐ์ด้วย จึงเดินทางมาติดตามข่าวสาร โดยไม่ทราบว่าจะมีการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด เมื่อมาถึงในเวลาประมาณ 13.30-14.00 เห็นมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน เมื่อตำรวจประกาศข้อกำหนดไม่ให้ชุมนุมโดยอ้างเรื่องโควิดก็บันดาลโทสะ และพูดไปโดยมีใจความสำคัญว่า การระบาดของโควิด 3 ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้มาจากประชาชนหรือผู้ชุมนุม แต่ตำรวจก็ใช้ข้ออ้างแบบนี้ตลอดมา การเป็นข้าราชการนั้นมีเงินเดือน แต่คนที่ทำอาชีพอิสระนั้นจะอดตายกันหมด การมาเรียกร้องนั้นก็เพื่อให้ประเทศดีขึ้น การใช้ข้ออ้างแบบนี้จึงย้อนแย้งกับที่มาบังคับประชาชน โดยมีคำว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” แทรกเป็นระยะ สิ่งที่พูดไม่มีการด่าทอหรือกดดันผู้พิพากษาที่พิจารณาเรื่องการประกันตัว



พิสิฏฐ์กุลกล่าวต่อศาลว่า เมื่อมาดูคลิปวิดีโอย้อนหลังรู้สึกเสียใจที่พูดคำหยาบคาย แต่ก็พูดความจริงจากใจ และไม่ได้ชูนิ้วกลางตามที่ตำรวจอ้าง



ศาลถามว่า ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมปราศรัยด้วยเครื่องเสียงเป็นเวลานานหรือไม่ พิสิษฐ์กุลตอบว่า ตัวเองอยู่ไม่นาน กลับบ้านเวลาประมาณ 15.00 จึงไม่ทราบ ศาลถามด้วยว่า เห็นเหตุการณ์ขณะที่เบนจา โปรยกระดาษที่บันไดศาลหรือไม่ พิสิฏฐ์กุล ตอบว่า ตนไม่เห็นเหตุการณ์แต่อยู่บริเวณนั้นเพราะหลังจากที่ตะโกนด่าตำรวจก็ได้ไปสงบสติอารมณ์ที่บริเวณอื่น ศาลถามต่อว่า การนัดมาให้กำลังใจแต่มาถึงแล้วไม่พอใจ ใช้เครื่องเสียงกล่าวปราศรัยด่าทอศาล เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ พิสิษฐ์กุลตอบว่า ไม่แน่ใจ



ศาลนัดพิสิฏฐ์กุลฟังคำสั่งคดีในอีก 1 สัปดาห์ในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564



25 มิถุนายน 2564

 

เวลา 10.25 น. ก่อนศาลจะเริ่มอ่านคำสั่ง ศาลเรียกพิสิฏฐ์กุลและทนายจำเลยไปคุยที่หน้าบัลลังก์ประมาณ 4 นาทีถามเรื่องชีวิตว่าเป็นอย่างไร จากนั้นเวลา 10.32 น. เริ่มอ่านคำสั่ง โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้อง คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายผ่านเฟซบุ๊กเพื่อมาติดตามให้กำลังใจการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยราษฎร โดยที่พิสิฏฐ์กุลเข้าร่วมด้วย



ในระหว่างที่ พ.ต.ท.ศักดิ์ชัยประกาศข้อกฎหมายในครั้งที่ 5 นั้น พิสิฏฐ์กุลได้ตะโกนว่า "ไอ้เหี้ย" ไอ้สัตว์" อยู่หลายครั้งด้วยโทสะ เนื่องจากตัวเขาเองเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วยคนหนึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด จากนั้นจึงเดินออกไปสงบสติอารมณ์และสูบบุหรี่ที่ลานจอดรถศาลอาญา



คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นการประพฤติตนไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ การกระทำของตำรวจเป็นการกระทำเพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการและประชาชนที่ต้องมาบริเวณศาล แม้พิสิฏฐ์กุลจะให้การว่า การตะโกนด่านั้นเป็นการด่าตำรวจไม่ได้พาดพิงหรือโจมตีการทำงานของศาล แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาตะโกนด่าทอตำรวจด้วยเสียงดังเป็นถ้อยคำหยาบคาย เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ก่อให้เกิดความเดือดร้อนสำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการและเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาที่ได้ประกาศไว้ ไม่สามารถอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้



ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ได้มีพฤติการณ์จัดการชุมนุมที่ใช้เครื่องเสียงโจมตีด่าทอการทำงานของศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเพียงผู้มาให้กำลังใจ และมีพฤติการณ์ไม่เทียบเท่าบุคคลอื่น จึงเห็นเห็นควรให้โอกาสกลับตัวกลับใจ พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ เป็นเวลาสองปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณภายในระยะเวลากำหนดโทษ



เวลา 10.45 น. เมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว ผู้พิพากษาถามพิสิฏฐ์กุลว่า เข้าใจไหมที่ศาลตัดสิน พอใจไหมที่ศาลตัดสิน พิสิฏฐ์กุลพยักหน้า

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลอาญา

คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายผ่านเฟซบุ๊กเพื่อมาติดตามให้กำลังใจการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยราษฎร โดยที่พิสิฏฐ์กุลเข้าร่วมด้วย



ในระหว่างที่ พ.ต.ท.ศักดิ์ชัยประกาศข้อกฎหมายในครั้งที่ 5 นั้น พิสิฏฐ์กุลได้ตะโกนว่า "ไอ้เหี้ย" ไอ้สัตว์" อยู่หลายครั้งด้วยโทสะ เนื่องจากตัวเขาเองเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วยคนหนึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด จากนั้นจึงเดินออกไปสงบสติอารมณ์และสูบบุหรี่ที่ลานจอดรถศาลอาญา



คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นการประพฤติตนไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ การกระทำของตำรวจเป็นการกระทำเพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการและประชาชนที่ต้องมาบริเวณศาล แม้พิสิฏฐ์กุลจะให้การว่า การตะโกนด่านั้นเป็นการด่าตำรวจไม่ได้พาดพิงหรือโจมตีการทำงานของศาล แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาตะโกนด่าทอตำรวจด้วยเสียงดังเป็นถ้อยคำหยาบคาย เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ก่อให้เกิดความเดือดร้อนสำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการและเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาที่ได้ประกาศไว้ ไม่สามารถอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้



ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ได้มีพฤติการณ์จัดการชุมนุมที่ใช้เครื่องเสียงโจมตีด่าทอการทำงานของศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเพียงผู้มาให้กำลังใจ และมีพฤติการณ์ไม่เทียบเท่าบุคคลอื่น จึงเห็นเห็นควรให้โอกาสกลับตัวกลับใจ พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ เป็นเวลาสองปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณภายในระยะเวลากำหนดโทษ

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด