ขึ้นป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์ > วัคซีน COVID19” ที่จังหวัดลำปาง

อัปเดตล่าสุด: 17/01/2566

ผู้ต้องหา

ภัทรกันย์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล
30 ธันวาคม 2563 ปรากฏป้ายผ้าขนาดใหญ่เขียนข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” แขวนอยู่ที่สะพานรัษฎาภิเศก ในอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองลำปางนำหมายค้นเข้าตรวจค้นอาคารสำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง

ระหว่างการตรวจค้นเจ้าหน้าที่นำหมายเรียกผู้ต้องหาระบุข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มอบให้กับผู้ต้องหาสี่คนที่สังเกตการณ์การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งพนักงานสอบสวนนำหมายไปส่งเพิ่มเติมในภายหลัง

ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม 2564 ผู้ต้องหาทั้งห้าคนเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สภ.เมืองลำปางตามนัด ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ตำรวจให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน

 

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภัทรกันย์ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ที่มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรรมทางการเมือง 

วรรณพร หรือจูน อดีตนิสิตและนักกิจกรรม NU Movement มหาวิทยาลัยนเรศวร ขณะถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้จบการศึกษาแล้ว  
 
พินิจ หรือ จอร์จ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน กลุ่มกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดลำปาง

“หวาน” เป็นนามสมมติของ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, 

ยุพดี เป็นชาวจังหวัดลำปาง  ทำงานให้กับสำนักงานของคณะก้าวหน้า
 
รู้จักทุกคนเพิ่มเติมได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/blog/112Lampang
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาสภ.เมืองลำปางพอสรุปได้ว่า ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ร.ต.อ.วิเชียร ดอนซาไพร ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจหาข่าวด้านความมั่นคงและเรื่องราวร้องเรียนจากอินเทอร์เน็ต

จากการตรวจสอบพบว่าเฟซบุ๊กเพจ กลุ่มลำปางบ้านเฮา และเฟซบุ๊กเพจกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เผยแพร่ภาพถ่าย ป้ายผ้าเขียนข้อความ "งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” แขวนอยู่ที่บริเวณสะพาน รัษฎาภิเศก โดยมีข้อความประกอบภาพว่า เวลานี้แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชนขึ้นป้าย "งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณ รัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง

เจ้าหน้าที่สายตรวจเวรจึงไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าวและได้ทำการตรวจยึดป้าย นำส่งพนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำปางพร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา ร่วมกันหมิ่ประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

จากนั้นจึงดำเนินการตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด โดยพบภาพหลักฐาน เช่น ภาพของ "หวาน" ขณะถือป้ายผ้าที่ปรากฎตัวอักษร "ง" ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อชูปป้ายผ้าขึ้นมาอีกครั้งปรากฎคำว่า งบ จากนั้นปรากฎภาพบุคคลคล้ายหญิงขยับป้ายผ้าบนราวข้างสำนักงานคณะก้าวหน้าคล้ายจะตากให้สีแห้ง โดยป้ายดังกล่าวปรากฎตัวอักษร "ษ" ชัดเจนบนป้าย จากนั้นปรากฎภาพ "หวาน" ยกป้ายดังกล่าวไปใส่ที่รถโดยปรากฎข้อความ "id19" ในขณะที่ทำการยกป้าย 

 
ต่อมาเมื่อทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดใกล้จุดเกิดเหตุจึงปรากฎภาพบุคคลรูปพรรณสันฐานตรงกับผู้ต้องหาคดีนี้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุร่วมกับบุคคลอื่นที่ยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใดและปรากฎภาพตามกล้องวงจรปิดพบว่าบุคคลกลุ่มดังกล่าวเดินขึ้นไปบนสะพานโดยถือป้ายและอุปกรณ์อื่นขึ้นไปแต่เมื่อเดินกลับลงมาไปปรากฎว่าถือป้ายมาด้วย
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัด ไม่มีการจับกุม แต่มีการตรวจค้นสำนักงานคณะก้าวหน้าและตรวจค้นบ้านของภัทรกันย์ ส่วนบ้านของวรรณพรเลขที่บ้านตามหมายค้นไม่ตรงกับเลขที่บ้านจริง วรรณพรจึงไม่ยินยอมให้ทำการตรวจค้น

จากการตรวจค้นสำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปางเจ้าหน้าที่ทำการยึด ถังสี อุปกรณ์ทาสี เสื้อผ้าเปื้อนสี รวมทั้งป้ายผ้าที่เขียนเสร็จแล้วปรากฎข้อความ 112 และมีเครื่องหมายกากบาททับไปเป็นหลักฐาน ส่วนการตรวจค้นบ้านของภัทรกันย์เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยึดสิ่งใดไป  

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดลำปาง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
30 ธันวาคม 2563
 
เพจเฟซบุ๊ก พิราบขาวเพื่อมวลชน โพสต์ภาพป้ายผ้าเขียนข้อความ "งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19" ถูกแขวนบนสะพานรัษฎาภิเศกสองภาพ พร้อมคำบรรยายภาพ "เวลานี้ แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ขึ้นป้าย “งบประมาณสถาบันกษัตริย์ > วัคซีน covid 19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเษก จังหวัดลำปาง" ในเวลา 22.00 น.  
 
18 มกราคม 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำหมายค้นศาลจังหวัดลำปาง เข้าตรวจค้นสำนักงานของคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปางในเวลาประมาณ 14.30 น.  
 
จากการสัมภาษณ์วรรณพร หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่า ในเวลาประมาณ 14.30 น. ระหว่างที่เธอกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ยกเว้น ยุพดี พักผ่อนอยู่ที่ทำการคณะก้าวหน้า มีตำรวจนอกเครื่องแบบนำหมายค้นมาที่ที่ทำการคณะก้าวหน้า เพื่อทำการตรวจค้น โดยที่ไม่ได้มีการประสานงานกันล่วงหน้า
 
เจ้าหน้าที่นำหมายค้นมาแสดงรวมสามฉบับ ฉบับแรกระบุสถานที่ตรวจค้นเป็นสำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง ฉบับต่อมาเป็นหมายค้นบ้านของวรรณพร และฉบับต่อมาเป็นเป็นหมายค้นบ้านของภัทรกันย์
 
เบื้องต้นชุดตรวจค้นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทั้งหมดประมาณสิบนายเข้ามาในพื้นที่สำนักงานคณะก้าวหน้าลำปางตั้งแต่ก่อนที่จะแสดงหมายค้น โดยที่ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำการตรวจค้น ต่อมาเมื่อเจ้าของอาคารซึ่งเป็นผู้ให้เช่ามาถึงและขอดูหมายค้นสำนักงานพบว่า หมายค้นระบุเลขที่อาคารผิด เจ้าของอาคารและผู้ต้องหาทั้งสี่จึงขอให้เจ้าหน้าที่ออกไปนอกอาคารและให้ทำการค้นได้เมื่อมีหมายค้นที่ถูกต้องมาเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งจึงรีบไปดำเนินการขอหมายค้นใหม่ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เหลือแสดงหมายค้นอีกสองฉบับซึ่งเป็นหมายค้นบ้านของวรรณพรและภัทรกันย์ หมายค้นบ้านของวรรณพรก็ระบุข้อมูลไม่ถูกต้องเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ไปทำการตรวจค้น แต่หมายค้นของภัทรกันย์ถูกต้องเจ้าหน้าที่จึงไปทำการตรวจค้นโดยวรรณพรและภัทรกันย์ขออาศัยรถตำรวจไป 

 
เมื่อไปถึงตำรวจทำการตรวจค้นใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงแล้วเสร็จโดยที่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย หลังทำการตรวจค้นวรรณพรและภัทรกันย์บอกเจ้าหน้าที่ซึ่งเดินทางไปด้วยกันทั้งหมดสามคันรถว่าขอให้เจ้าหน้าที่ที่มากับรถอีกสองคันขับออกไปก่อนทั้งสองจึงจะยอมขึ้นรถคันที่สามกลับไปที่สำนักงานคณะก้าวหน้าเนื่องจากเกรงว่าจะมีเจ้าหน้าที่แอบเฝ้าอยู่ที่บ้าน
 
เมื่อวรรณพรและภัทรกันย์กลับมาถึงที่ทำการคณะก้าวหน้าเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งก็นำหมายค้นที่มีเลขที่อาคารถูกต้องมาแสดง จึงได้ทำการตรวจค้นและยึดอุปกร เช่น ถังสี อุปกรณ์สำหรับเขียนป้ายรวมทั้งเสื้อผ้าที่เลอะสีไปเป็นหลักฐานจากนั้นจึงมอบหมายเรียกผู้ต้องหาให้ทั้งสี่คน พร้อมแจ้งว่ามีผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง คือ "ดี" ซึ่งไม่อยู่ที่สำนักงานคณะก้าวหน้าในขณะนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการส่งหมายต่างหาก โดยหมายเรียกนัดให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 มกราคม 2564 เวลา 9.00 น.
 
25 มกราคม 2564
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า นักกิจกรรมทั้งห้าคนเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนแล้ว โดยเจ้าหน้าที่มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบที่หน้าสภ.ราว 40 นาย โดยคดีนี้มีข้อน่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ได้เก็บดีเอ็นเอของผู้ต้องหาทั้งห้าคนไปด้วย

กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ โดยพนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหาทั้งห้ารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

 
18 กุมภาพันธ์ 2564 
 
พินิจ หนึ่งในผู้ต้องหาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าเข้าได้เข้าพบพนักงานสอบสวนและยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารเรียบร้อยแล้ว พนักงานสอบสวนนัดเขากับผู้ต้องหาอีกสี่คนส่งตัวต่ออัยการในวันที่ 1 มีนาคม 2564
 
9 มีนาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งห้าเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาต่ออัยการ โดยรอบๆสำนักงานอัยการมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 7-8 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 10 นาย กระจายตัวอยู่รอบๆเพื่อสังเกตการณ์และมีเจ้าหน้าที่บางส่วนคอยบันทึกภาพผู้ต้องหา ทนายความ และผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจไว้โดยตลอด
 
หลังพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีให้อัยการแล้ว ผู้ต้องหาทั้งห้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปได้ว่า การกระทำที่ผู้ต้องหาทั้งห้าถูกกล่าวหา ไม่ได้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และหากพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดมาตรา 112 แล้ว ก็จะส่งผลให้ไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย 
 
และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายในคดีนี้เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ผู้ต้องหาทั้งห้าประสงค์ให้อัยการทำการสอบสวนพยานบุคคลและพยานเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
 
1. ขอให้ออกหมายเรียก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาให้การเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้
 
2. ขอให้ออกหมายเรียก เลขาธิการพระราชวัง มาให้การในประเด็นว่าข้อความตามที่กล่าวหาผู้ต้องหาทั้งห้า สร้างความเสียหายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ อย่างไร
 
3. ขอให้ดําเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงบประมาณแห่งชาติ สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเอกสารงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2564
 
4.ขอให้ดําเนินการออกหมายเรียก รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาให้การในประเด็นว่าตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2564 มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละปีเป็นจํานวนเท่าใด ใช้จ่ายไปเท่าใดบ้าง และคงเหลือเท่าใด
 
5. ขอให้ดําเนินออกหมายเรียก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาให้การเกี่ยวกับประเด็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ผลิต หรืออื่นๆ เกี่ยวกับวัคซีนต่อต้านโรคโควิด 19 พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาในคดีนี้
 
ตอนท้ายของหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ผู้ต้องหายังขอให้อัยการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อผู้ต้องหาทั้งห้าด้วย
 
อัยการได้รับสำนวนคดีพร้อมตัวผู้ต้องหา และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหาไว้พิจารณา จากนั้นได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งห้ารายเข้ารายงานตัว เพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 21 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น.
 
21 เมษายน 2564
 
พินิจ หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่าในวันที่ 19 เมษายน 2564 เขาไปติดต่อราชการเกี่ยวกับคดีอื่นที่สำนักงานอัยการ ก็ได้รับแจ้งว่าอัยการมีคำสั่งให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีนี้ออกไป จากเดิมที่นัดไว้วันที่ 21 เมษายน 2564 ไปเป็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดยอัยการขอให้พินิจเป็นผู้ประสานเรื่องวันนัดกับผู้ต้องหาคนอื่นๆโดยที่ผู็ต้องหาคนอื่นๆไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานอัยการจนกว่าจะถึงวันนัด
 
17 พฤษภาคม 2564

พินิจ หนึ่งในผู้ต้องหาโพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564 พินิจระบุด้วยว่าเขาและคู่คดีได้ขอให้อัยการสอบปากคำบุคคลสำคัญเพิ่มเติมได้แก่

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักพระราชวัง ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ ตัวแทนจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นัดหมายสืบพยานในวันที่ 5, 12 กันยายน 2565

 

31 มกราคม 2566 

นัดฟังคำพิพากษา

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด