การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าสหประชาชาติ #UN62 (คดีผู้จัดการชุมนุม)

อัปเดตล่าสุด: 29/01/2564

ผู้ต้องหา

รังสิมันต์ โรม

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกำหนดจัดกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังล้อมรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่คืนวันที่ 21 พฤษภาคมเพื่อเตรียมสกัดไม่ให้มีการเดินขบวนในตอนเช้า หลังเจรจาและปะทะกันกระทั่งกลุ่มผู้จัดบางคนตัดสินใจเข้ามอบตัว  ในเวลาต่อมามีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลอื่นในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมเพิ่มเติมจนมีผู้ต้องหาในคดีนี้รวมทั้งสิ้น 21 คน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

รังสิมันต์ โรม

อานนท์
ชลธิชา
สิรวิชญ์
ณัฏฐา
ปิยรัฐ
เอกชัย
โชคชัย
นิกร
ภัทรพล
ประสงค์
วิเศษณ์
วิโรจน์
ศรีไพร
วันเฉลิม
ประสิทธิ์
ธนวัฒน์
ประจิณ
บุญสิน
คีรี
พุทไธสิงห์

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558
(คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558, พ.ร.บ.จราจรทางบก)

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่ระบุข้อกล่าวหาในคดีนี้ว่า รังสิมันต์โรมกับพวกรวมสิบห้าคนร่วมกันทำให้ปรากฎด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดที่ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการใดๆให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เลิกกระทำการก็ไม่เลิก ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ร่วมกันเดินแถวหรือเดินขบวนกีดขวางการจราจร ร่วมกันชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐหรือสถานศึกษา ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในระหว่างมีคำสั่งห้า ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อนเกินสมควร ขัดขวางการฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย

สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีพอสรุปได้ว่าในวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 รังสิมันต์ปราศรัยนัดหมายให้มีการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ก็ทำการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในเวลาต่อมาก็มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมบนเฟซบุ๊กของบุคคลอื่น ได้แก่แฟนเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์ เอกชัย สิรวิชญ์ และณัฏฐา  ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม ชลธิชาทำหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสน.ชนะสงครามซึ่งมีหนังสือตอบกลับในวันที่ 17 พฤษภาคมกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมว่า ต้องไม่รบกวนผิวจราจร รบกวนทางเข้าออกหรือการปฏิบัติงาน ให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองเพื่อรักษาความปลอดภัย และให้ใช้เครื่องเสียงตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 แจ้งผู้จัดการชุมนุมว่าเนื่องจากการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองจึงให้ผู้จัดไปขออนุญาตผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าคสช.ก่อน และนำหนังสือมาแจ้งกับสน.ชนะสงครามผู้รับแจ้งการชุมนุมในเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มการชุมนุม ซึ่งผู้แจ้งการชุมนุมไม่ได้นำหนังสืออนุญาตจากคสช.มาแสดงและไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งและเงื่อนไขของผู้รับแจ้งการชุมนุมไปยังผู้บังคับการตำรวจนครบาลหนึ่ง

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่ช่วงเวลา 13.00 น. เริ่มมีผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยทำการปิดประตูล็อกกุญแจแต่นิกรนำคดีขนาดใหญ่มาตัดกุญแจเพื่อเปิดประตู หลังจา่กนั้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันเฉลิม ศรีไพร ณัฏฐา สลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลและคสช.โดยมีประสิทธิ์เป็นพิธีกร ในวันที่ 22 พฤษภาคม ในเวลา 9.00 น. รังสิมันต์ปราศรัยเรียกให้ผู้ชุมนุมเดินเท้า ไปทำเนียบรัฐบาล ในขณะนั้นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมมีการประกาศให้เลิกการชุมนุมเพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แล้วแต่ผู้ชุมนุมก็ไม่หยุดรังสิมันต์ยังปราศรัยอย่างรุนแรงในลักษณะยุยงปลุกปั่นด้วย

ในเวลาประมาณ 14.30 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คนเคลื่อนขบวนจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยณัฏฐา ชลธิชา อานนท์ และเอกชัยนำผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จนมาถึงบริเวณก่อนขึ้นสะพานมัฆวาน ในเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมแต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก และมีการทำร้ายร่างการเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย 

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีการจับกุมที่สะพานมัฆวาน

ในเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดเส้นตายให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสะพานมัฆวานยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ประกาศให้สื่อมวลชนและผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแยกตัวออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มเคลื่อนกำลังมาบีบวงล้อมรอบอานนท์ ชลธิชา และ ณัฏฐา ซึ่งนั่งอยู่บนพื้นถนน ผู้เข้าร่วมการชุมนุมส่วนหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณนั้นยืนเป็นวงล้อมผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกคนล้มทับในจังหวะชุลมุน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จับคนที่ยืนล้อมผู้จัดการชุมนุมไปห้าคนและนำไปที่รถควบคุมของเจ้าหน้าที่ส่วนผู้จัดการชุมนุมทั้งสามยังคงนั่งอยู่ที่เดิม

ความพยายามในการเข้าควบคุมตัวผู้จัดการชุมนุมทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนอยู่ครู่หนึ่ง หลังจากนัี้นพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู็บัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งเป็นผู้ควบคุมการชุมนุมมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ยุติการปฏิบัติการชั่วคราวและเดินเข้ามาพูดคุยกับผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคน  พล.ต.ท.ชาญเทพกล่าวกับผู้จัดการชุมนุมทั้งสามว่าเหตุใดจึงเดินมาไกลขนาดนี้ และตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้จัดไม่น่าจะนำประชาชนเดินมาเพราะก่อให้เกิดความวุ่นวาย  ณัฏฐา หนึ่งในกลุ่มผู้จัดตอบไปว่าเป็นความต้องการของกลุ่มผู้ร่วมการชุมนุมที่ต้องการเดินมาให้ถึงทำเนียบรัฐบาล  ณัฏฐาแจ้งกับพล.ต.ท.ชาญเทพว่าเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ทางกลุ่มจะขออ่านแถลงการณ์ที่เตรียมจะไปยื่นให้หัวหน้าคสช.ตรงสะพานมัฆวาน

หลังจากนั้นผู้ร่วมจัดการชุมนุมสามคนคือตัวเของณัฏฐา ชลธิชาและอานนท์ จะให้เจ้าหน้าที่นำตัวไปสถานีตำรวจ พล.ต.ท.ชาญเทพก็ตกลง ณัฏฐา จึงอ่านแถลงการณ์ประมาณสามถึงห้านาทีจากนั้นก็มอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ เมื่อผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคนจะมอบตัว เอกชัยและโชคชัยผู้ร่วมการชุมนุมที่ยืนล้อมวงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้จัดการชุมนุมสามคนที่อยู่กลางวงล้อมถูกล้มทับขณะที่มีเหตุชุลมุนบอกกับผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคนและเจ้าหน้าที่ว่าหากจะเอาตัวทั้งสามคนไปก็ให้พาพวกเขาทั้งสองคนไปด้วย ทำให้ในที่สุดมีผู้ถูกควบคุมตัวจากบริเวณสะพานมัฆวานไปทั้งหมดสิบคน

กรณีการจับกุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงเวลาประมาณ 15.30น. เมื่อมีข่าวว่ามีผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมการชุมนุมส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวที่สะพานมัฆวานขณะที่กำลังเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล สิรวิชญ์ ปิยรัฐ และรังสิมันต์ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมที่ติดอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากในขณะนั้นมีผู้ร่วมการชุมนุมเหลืออยู่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์ไม่ถึง 200 คน และมีผู้จัดการชุมนุมเหลืออยู่เพียงสามคน ทั้งสามจึงตัดสินใจว่าจะยุติการชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงเพราะขณะนั้นเจ้าหน้าที่มีการเสริมกำลังหน่วยควบคุมฝูงชนที่มีโล่และกระบองอยู่ด้านหลังแนวหน่วยควบคุมฝูงชนมือเปล่าที่ยืนเป็นแถวหน้าแล้ว รังสิมันต์จึงประสานกับผู้กำกับสน.ชนะสงครามเพื่อขอเจรจาว่าทางกลุ่มจะยุติการชุมนุม รังสิมันต์จะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่เลยส่วนสิรวิชญ์และปิยรัฐจะอยู่ดูแลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมสลายตัวและเดินทางกลับออกจากพื้นที่ให้เรียบร้อยแล้วจึงจะมอบตัว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมโดยบอกว่าทั้งสามต้องมอบตัวพร้อมกัน รังสิมันต์ตกลงกับเจ้าหน้าที่ในที่สุดโดยขอเจ้าหน้าที่ว่านอกจากพวกเขาทั้งสามคนแล้วอย่าจับกุมผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอื่น ฝ่ายปิยรัฐซึ่งเป็นผู็ปราศรัยอยู่บนรถเครื่องเสียงก็แจ้งผู้เข้าร่วมการชุมนุมว่าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง ตัวเขา

สิรวิชญ์และรังสิมันต์จะมอบตัวส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมขอให้สลายตัวกลับบ้าน เบื้องต้นผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ยอมแต่ปิยรัฐจึงพยายามชี้แจงว่าหากผู้เข้าร่วมการชุมนุมประสงค์จะให้กำลังใจพวกเขาทั้งสามคนก็สามารถตามไปที่หน้าสน.ชนะสงครามได้ ผู้ร่วมการชุมนุมจึงยอมสลายตัวส่วนปิยรัฐ รังสิมันต์ และสิรวิชญ์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนชุดที่ไม่มีโล่และกระบองพาตัวไปที่สน.ชนะสงคราม หลังทั้งสามคนอยู่ที่สน.ชนะสงครามได้ประมาณสองชั่วโมงก็มีผู้ถูกควบคุมตัวมาที่สน.ชนะสงครามเพิ่มเติมอีกสองคนคือวิเศษซึ่งเป็นคนขับรถและนิกรณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมการ์ดของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ขณะที่รถเครื่องเสียงซึ่งปิยรัฐเป็นเจ้าของก็ถูกยึดมาที่สน.ชนะสงครามพร้อมกับวิเศษซึ่งเป็นคนขับ

ในวันเกิดเหตุคดีนี้มีผู้ถูกควบคุมตัวรวมทั้งหมด 15 คน ส่วนผู้ต้องหาในคดีที่เหลือเจ้าหน้าที่มาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลังแต่ยังไม่มีการจับกุมตัว  

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

5 พฤษภาคม 2561

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งจัดกิจกรรม อภิปรายไม่ไว้วางใจ "หยุดระบอบ คสช. หยุดยื้อเลือกตั้ง" และตลาดนัด "ช็อปช่วยทาส" ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ แถลงข้อเรียกร้องสามข้อต่อรัฐบาล ได้แก่  ให้จัดการเลือกตั้ง ในเดือน พ.ย.2561 ให้ คสช.ลาออก และให้กองทัพเลิกหนุน คสช. พร้อมระบุว่าหากข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะทำกิจกรรมเดินเท้าจากธรรมศาสตร์ ไปหน้าทำเนียบรัฐบาล

8 พฤษภาคม 2561 

พีพีทีวีออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า กรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นสิ่งที่ตำรวจไม่สามารถห้ามได้เนื่องจากเป็นสิทธิในการชุมนุม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากการชุมนุมอยู่ใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด
 
9 พฤษภาคม 2561
 
เพจ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์อัลบัมภาพพร้อมข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมและเดินไปทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561
 
18 พฤษภาคม 2561 
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่าผู้ชุมนุมทำหนังสือแจ้งมายังเจ้าหน้าที่เรื่องขอจัดการชุมนุมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ชุมนุมบริเวณถนนหน้าพระลาน และหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ส่วนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเดินเข้ามาในพื้นที่
 
22 พฤษภาคม 2561

 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกำหนดจัดกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังล้อมรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่คืนวันที่ 21 พฤษภาคมเพื่อเตรียมสกัดไม่ให้มีการเดินขบวนในตอนเช้า

กระทั่งผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนในเวลาประมาณ 9.00 น.เจ้าหน้าที่ก็พยายามสกัดกั้นจนเกิดการปะทะกันแต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่สามารถเข้ามาสมทบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็นัดรวมตัวกันด้านนอกแนวกั้นของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

ช่วงประมาณ 13.00 น. ในขณะที่ รังสิมันต์ ปิยรัฐ และสิรวิชญ์ และผู้จัดการชุมนุมอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะไม่สามารถเดินมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อานนท์ ชลธิชา และ ณัฏฐา นำผู้ชุมนุมที่ไม่สามารถเข้ามาสมทบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินเท้าไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อมาถึงที่บริเวณสะพานมัฆวานเจ้าหน้าที่ทำการสกัดกั้นและประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายในเวลา 15.00 น. เมื่อถึงเวลา15.00 น. เจ้าหน้าที่ก็เข้าล้อมผู้จัดการชุมนุมได้แก่ อานนท์ ชลธิชา ณัฏฐา เอกชัย และ โชคชัย เพื่อทำการจับกุม แต่ทางผู้จัดได้ขออ่านแถลงการณ์ก่อน หลังจากนั้นจึงมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ต่อมาในเวลาประมาณ 15.40 น. ปิยรัฐ รังสิมันต์และสิรวิชญ์ ผู้จัดการชุมนุมที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ประกาศยุติการชุมนุมและมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ในเวลาต่อมามีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลอื่นในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมเพิ่มเติมจนมีผู้ต้องหาในคดีนี้รวมทั้งสิ้น 21 คน

 

28 พฤษภาคม 2561

ณัฏฐา ผู้ต้องหาที่ 9 ในคดีนี้ ไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอุทธรณ์ โดยอ้างเหตุผลตามหลักการของรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่รับรองสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ดังนั้นการให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาต้องมีเหตุจำเป็นเพื่อการสอบสวน เช่น เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

สำหรับคดีนี้ ณัฎฐามองว่า พนักงานสอบสวนอ้างว่า ยังต้องสอบพยานอีก 10 ปาก และตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา ซึ่งเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เพราะการสอบพยานที่เหลือกับการตรวจลายนิ้วมือไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาแล้ว หากผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวก็จะไม่เป็นอุปสรรคกับการสอบสวน จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัว และการที่ศาลอาญาพิจารณาว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ก็เห็นว่า เป็นการอ้างเหตุผลที่คาดเคลื่อนเพราะผู้ต้องหายังมีสิทธิพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ตลอดกระบวนการ สาเหตุที่พนักงานสอบสวนอ้างเพื่อขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาในคดีนี้ ไม่ได้เป็นเหตุจำเป็นตามกฎหมาย การที่ศาลอาญาใช้ดุลพินิจสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้เป็นคดีทางการเมือง ระหว่างฝ่ายนิยมเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย โดยฝ่ายเผด็จการใช้กฎหมายและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่าง ผู้ต้องหาในคดีนี้เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของผู้ต้องหาเอง เป็นสิทธิที่ถูก คสช. ยึดเอาไปจากประชาชน การที่ผู้ต้องหาออกมาทวงสิทธิจึงมีเหตุอันสมควร ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจในทางอาญา แต่เป็นแรงจูงใจอันเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมือง

การที่พนักงานสอบสวนอ้างเหตุที่ไม่มีความจำเป็นมาขอให้ศาลสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหา นอกจากจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ต้องหา แสดงถึงพฤติกรรมมักง่าย ลุแก่อำนาจโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดภาระและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ต้องหาที่จะต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวเพื่อและกับอิสรภาพ

ผู้ต้องหามีอาชีพเป็นครู เป็นบุคคลสาธารณะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยหลบหนีและให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนตามที่นัดหมายทุกครั้ง ไม่เคยหลีกเลี่ยงการมาตามหมายเรียก ผู้ต้องหาไม่มีสันดานเป็นอาชญากร จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งของศาลอาญาที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา และคืนเงินประกันให้นายประกันต่อไป

5 มิถุนายน 2561

เก้าวันหลังณัฏฐายื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า การสั่งคำร้องขอฝากขังเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา 66 และ มาตรา 87 จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ.มารา 193 และการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้ร้องโดยเฉพาะ ผู้ต้องหาที่ 9 จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลนี้ จึงไม่รับอุทธรณ์ของผู้ต้องหาที่ 9

14 มกราคม 2562

นัดฟังคำสั่งคดี

อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 15 มีนาคม 2562

 

19 มกราคม 2564
 
ศาลอาญานัดสืบพยานวันแรก ซึ่งศาลอาญาได้นัดสืบพยานติดต่อกันทุกวันอังคารถึงวันศุกร์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีพยานไว้ถึง 51 ปาก โดยในวันเริ่มสืบพยานเป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด19 ระลอกสอง และศาลยุติธรรมได้ออกแนวปฏิบัติให้เลื่อนการพิจารณาคดีในช่วงเดือนนี้ออกไปก่อน แต่เมื่อทนายจำเลยสอบถามศาลก่อนวันนัดแล้ว ศาลได้ขอให้พิจารณาคดีไปตามกำหนดที่นัดไว้ จำเลยทั้ง 20 คน ยกเว้นรังสิมันต์ โรม จึงเดินทางมาศาล พร้อมกับทนายความ 18 คน
 
ศาลอาญาใช้ห้องพิจารณาที่ 701 ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ มีม้านั่งหลายแถว และให้จำเลยนั่งเว้นระยะห่างกัน ม้านั่งละสองคน ส่วนทนายความบางคนก็ได้นั่งที่โต๊ะของทนายความ และบางคนนั่งที่ม้านั่งของผู้สังเกตการณ์
 
ศาลชึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.34 น. และเริ่มจากเรียกชื่อจำเลยทีละคน โดยชลธิชา แจ้งเร็ว ติดนัดฟังคำพิพากษาคดีอื่น จึงมาถึงศาลช้า ด้านณัฏฐา ยื่นคำร้องขอสืบพยานลับหลัง และยืนแถลงต่อศาลว่าจะพยายามมาทุกนัด แต่บางนัดหากไม่ว่างจริงๆ ก็จะขอให้สืบพยานไปได้เลย
 
การพิจารณาคดีเริ่มขึ้น โดยเริ่มจากศาลขอกับทนายความฝ่ายจำเลยว่า ให้ทนายความถามพยานแต่ละปากโดยหลักเพียงคนเดียว เพื่อไม่ให้เสียเวลาเยิ่นเย้อ เนื่องจากมีพยานจำนวนมาก แต่ทนายความแจ้งว่า การเตรียมสืบพยานเตรียมกันเป็นทีม และทนายความแต่ละคนจะมีประเด็นที่ต้องถามเพื่อจำเลยของตัวเอง จึงขอให้มีคนที่ถามเป็นหลักหนึ่งคนแล้วให้คนอื่นถามเสริม
 
ด้านอัยการลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า วันนี้มีคนมาร่วมการพิจารณาคดีจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาอันตราย อยากขอให้ศาลเลื่อนคดีไปก่อน ก่อนหน้านี้เคยประสานงานขอเลื่อนคดีแล้วแต่ฝ่ายจำเลยยืนยันที่จะสืบพยานตามกำหนดเดิม ฝ่ายทนายจำเลยแถลงว่า ไม่คัดค้าน และฝ่ายทนายจะเลยไม่ติดใจถ้าจะเลื่อนการพิจารณาคดี เพราะจำเลยบางคนก็ต้องเดินทางมาจากหลายจังหวัด รวมทั้งมาจากพัทยาซึ่งเป็นเขตที่โควิดแพร่ระบาดหนักด้วย
 
อัยการแจ้งว่า วันนี้พยานฝ่ายโจทก์ก็มาศาลหนึ่งปาก คือ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ถ้าจะต้องสืบพยานก็ได้ แต่ขอให้ศาลเปิดประตูห้องพิจารณาเพื่อระบายอากาศด้วย
 
ศาลแจ้งว่า ถ้าจะเลื่อนก็ขอให้กำหนดวันนัดพร้อม เพื่อตรวจสอบความพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง และให้อัยการพิจารณาว่า พยานปากไหนไม่จำเป็น สามารถตัดออกได้บ้าง ด้านทนายความแจ้งว่า จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทุกคน เพื่อไม่ให้จำเลยต้องเสียเวลาเดินทางมา และไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่ศาลไม่อนุญาตเพราะพยานบางปากจะต้องชี้ตัวจำเลยระหว่างเบิกความ จึงสอบถามอัยการว่า มีพยานปากใดบ้างที่ต้องชี้ตัวจำเลย และให้จำเลยอย่างน้อยต้องมาในนัดที่สืบพยานปากนั้นๆ 
 
จากนั้นในเวลาประมาณ 11.05 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีโดยให้เลื่อนวันนัดสืบพยานออกไปก่อน และอนุญาตให้สืบพยานลับหลังจำเลยได้ ยกเว้นในนัดที่สืบพยานที่เป็นผู้กล่าวโทษ และพนักงานสอบสวน โดยนัดพร้อมให้ทนายความจำเลยและฝ่ายโจทก์มาศาลอีกครั้งในวันที่ 3 มีนาคม 2564
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา