การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน #RDN50 (คดีผู้จัดการชุมนุม)

อัปเดตล่าสุด: 23/09/2562

ผู้ต้องหา

รังสิมันต์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ

สารบัญ

10 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินเรียกร้องการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า "หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ" เริ่มชุมนุมบริเวณร้านแมคโดนัลด์โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 ถึง 500 คน
 
หลังเสร็จสิ้นชุมนุม ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 49 คนมารับทราบข้อกล่าวหาความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ในจำนวนผู้ต้องหา 49 คน มีบุคคลเจ็ดคนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำและมีร่วมปราศรัยปลุกระดมประชาชน ทั้งเจ็ดคนจึงถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พ่วงไปด้วย    
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

รังสิมันต์  นักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เขาทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 จนถูกตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดีชุมนุมขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 หลายคดี เช่น คดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ  คดีชุมนุมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดีพูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น  คดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติที่บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 
 
 
สำหรับคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในปี 2561 รังสิมันต์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสามคดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ ที่หน้ากองทัพบก รวมทั้งคดีนี้  
 
 
อานนท์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เมื่อประกอบอาชีพทนายความ อานนท์เคยว่าความคดีด้านสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คดีชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี 
 

นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส คดีสิรภพ และอีกหลายคดีอันเนื่องเกี่ยวกับความมั่นคงหลังรัฐประหาร 2557  อีกด้วย 
 
 
หลังการรัฐประหาร 2557 อานนท์เข้าร่วมและเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารหลายครั้งจนถูกดำเนินคดีจากการแสดงนับสิบคดี เช่น คดีชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบัที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558  จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักและการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.ชุมนุมรวมสองคดีจากการจัดกิจกรรมยืนเฉยๆที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกคสช.ควบคุมตัวในช่วงเดือนเมษายนปี 2559 
 

สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 อานนท์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสามคดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพฯ  คดีชุมนุมที่หน้ากองทัพบก รวมทั้งคดีนี้
 
 
สิรวิชญ์ หรือ "นิว"  ภูมิลำเนาเดิมมาจากจังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สมัยอยู่ชั้นปี 1-2 เคยทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนต่อมาเข้าร่วมกลุ่มสภาหน้าโดม เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องค่าอาหารของโรงอาหารกลางที่สูงเกินไป
 
 
หลังการรัฐประหาร 2557 สิรวิชญ์เข้าร่วมหรือเป็นผู้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารหรือประท้วงคสช.หลายครั้งจนถูกดำเนินคดีชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบัที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักที่หอศิลป์กรุงเทพและกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ นอกจากนี้ก็ถูก ดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯจากการจัดกิจกรรมโพสต์สิทธิ ปะโพสต์อิทที่สกายวอล์กบีทีเอสช่องนนทรีย์เพื่อเรียกร้องให้คสช.  ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกคสช.ควบคุมตัวในช่วงเดือนเมษายนปี 2559
 

สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 สิรวิชญ์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสี่คดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ ที่หน้ากองทัพบก และที่พัทยารวมทั้งคดีนี้
 
 
กาณฑ์เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ วิทยาลัยนวัตกรรม หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2561 กาณฑ์ถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมสองคดี ได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากที่หน้ากองทัพบก และคดีนี้         
 
 
ณัฏฐา หรือ โบว์ เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและเคยจัดรายการทีวีทางช่องวอยซ์ ทีวี และทำงานอิสระที่เกี่ยวกับการศึกษา  ณัฏฐาร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองและใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองต่อสาธารณะบ่อยครั้งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีจนกระทั่งเข้าร่วมและปราศรัยในกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเธอถูกดำเนินคดีรวมสามคดีได้แก่  คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพและที่หน้ากองทัพบกรวมทั้งคดีนี้ 
 
 
สุกฤษฎ์ เป็นบัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้กำลังศึกษาต่อที่ต่างประเทศ สุกฤษณ์ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน กระทั่งเข้าร่วมและปราศรัยในกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนถูกดำเนิคดีรวมสองคดี ได้แก่ คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพและคดีนี้
 
 
ชลธิชา หรือลูกเกด เป็นบัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ  ก่อนหน้านี้เธอร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองในยุคคสช.ทั้งในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และถูกดำเนินคดีขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการทำกิจกรรมชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพฯ คดีชุมนุมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และถูกปรับเงินตามพ.ร.บ.โฆษณาฯฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
 
 
สำหรับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในปี 2561 ชลธิชาถูกดำเนินคดีรวมสองคดีได้แก่คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบกและคดีนี้   

ข้อหา / คำสั่ง

คำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

รายละเอียดคำฟ้องระบุว่า "เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยทั้ง 6 คนและรังสิมันต์ โรมที่ถูกฟ้องต่อศาลแยกไปก่อนแล้ว รวมกับพวกอีก 42 คนที่ถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตได้ร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือและวิธีการอื่นใด และร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที ด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และได้ร่วมกันปราศรัยโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 

รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมกับการชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนินอันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
 

และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่า รัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาลและเป็นการยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาลจึงเป็นการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย "

 

พฤติการณ์การจับกุม

พนักงานสอบสวนขอให้ศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาห้าคนคืออานนท์ สิรวิชญ์ สุกฤษณ์ ณัฏฐา และ ชลธิชา ซึ่งไม่มาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 เมษายน 2561 แต่ผู้ต้องหาทั้งห้าคนไม่มาพบตามนัดเนื่องจากพนักงานสอบสวนมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงวันนัดจากเดิมที่ตกลงกันในวันที่ 11 มิถุนายน 2561 เป็นวันที่ 23 เมษายนในระยะกระชั้นชิด ผู้ต้องหาหลายคนจึงติดภารกิจ แต่ศาลยกคำร้องของพนักงานสอบสวนโดยเห็นว่าผู้ต้องหาบางคนมีเหตุอันควรที่ทำให้มาไม่ได้

สำหรับผู้ต้องหาอีกสองคนที่ไม่ถูกออกหมายจับคือกาณฑ์ซึ่งมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 เมษายน 2561 และรังสิมันต์ซึ่งถูกฟ้องคดีแยกต่างหากไปแล้ว

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
27 มกราคม 2561
 
บีบีซีไทยรายงานว่า ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง รังสิมันต์ หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ลานสกายวอล์กบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ ประกาศในที่ชุมนุมว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00 น. ทางกลุ่มจะจัดการชุมนุมอีกครั้งที่ถนนราชดำเนิน หากคสช.ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ 1. คสช. ไม่ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ 2. ไม่มีการยกเลิกการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่คนขึ้นไป ต่อแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนที่ใช้ชื่อว่า People Go network จำนวน 8 คน หลังจัดกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ" 3. ไม่มีการยกเลิกข้อหากระทำการผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ต่อ ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4. ไม่มีการดำเนินการปลด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้ครอบครอง "นาฬิกาเพื่อน" ออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
 
10 กุมภาพันธ์ 2561
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งทยอยมารวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลาประมาณ 14.30 น. ตามที่ทางกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยนัดจัดกิจกรรม "หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ" การเตรียมการรับมือของเจ้าหน้าที่วันนั้น เตรียมการโดยนำกระถางดอกไม้ขึ้นไปวางเรียงบนลานอนุสาวรีย์จนเต็มพื้นที่ รวมทั้งกั้นรั้วอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถจัดกิจกรรมบริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตั้งจุดคัดกรอง ตรวจอาวุธประมาณสิบจุดบนถนนที่มุ่งหน้าเข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกด้วย 
 
รายงานของข่าวสดระบุด้วยว่าทางผู้จัดการชุมนุมแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะจัดกิจกรรมระหว่างเวลา 16.00 น. – 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุด้วยว่าหากรังสิมันต์ สิรวิชญ์ และ อานนท์ สามผู้ต้องหาคดี #MBK39 ที่ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับเนื่องจากไม่เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันตามนัดในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 มาปรากฎตัวในที่ชุมนุมวันนี้ก็จะทำการจับกุม
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่า ระหว่างการรังสิมันต์ สิรวิชญ์ และอานนท์ เดินทางมาร่วมการชุมนุมและร่วมปราศรัยบนเวทีด้วย เวลาประมาณ 21.00 น. รังสิมันต์ สิรวิชญ์และอานนท์ประกาศกับผู้มาร่วมกิจกรรมว่า ขอให้ยุติการทำกิจกรรมและแยกย้ายกันในเวลาประมาณ 21.00 น. ตามเวลาที่แจ้งการชุมนุมไว้เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่นำมาเป็นเหตุในการดำเนินคดี ส่วนทั้งสามจะมอบตัวตามหมายจับคดี #MBK39 ของศาลแขวงปทุมวัน 
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานเกี่ยวกับการควบคุมตัวสามผู้ต้องหาคดี #MBK39 ทั้งสามคนว่า พ.ต.อ.ต่อเกียรติ พรหมบุตร ผู้กำกับสน.สำราญราฎร์ เป็นผู้รับตัวผู้ต้องหาทั้งสามไปทำบันทึกการจับกุม ที่สน.สำราญราษฎร์ ก่อนจะส่งตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวัน เจ้าของท้องที่เกิดเหตุคดี #MBK39
 
กระทั่งประมาณ 22.00 น. รังสิมันต์ สิรวิชญ์ และอานนท์ ถูกคุมตัวมาถึงสน.ปทุมวัน ก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวทั้งสามมาถึงสน.ปทุมวัน ปรากฎมีกลุ่มประชาชนไปรอที่หน้าสน.ปทุมวันแล้วเพื่อให้กำลังใจทั้งสามและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัว ทังนี้ทั้งสามถูกควบคุมตัวที่สน.ปทุมวันจนถึงเวลาประมาณ 1.30 น. จึงได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 100,000 บาท นอกจากทั้งสามคนแล้วที่สน.ปทุมวันยังมีผู้ต้องหาคดี #MBK39 อีกคนหนึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยคือเอกชัยซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากบ้านมาที่ สน.ปทุมวันตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว 
 
สิรวิชญ์ อานนท์ เอกชัยได้รับการปล่อยตัวจากสน.ปทุมวันในช่วงเวลาประมาณ 1.30 น. ส่วนรังสิมันต์ แม้จะได้รับการประกันตัวจากสน.ปทุมวันแต่ก็ถูกอายัดตัวไปที่จังหวัดขอนแก่นทันที เนื่องจากเขาเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารขอนแก่นในคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ในทันทีโดยมีเพื่อนของรังสิมันต์หนึ่งคนติดตามรังสิมันต์ไปที่จังหวัดขอนแก่นด้วย
 
14 กุมภาพันธ์ 2561
 
ประชาไทรายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคสช. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินรวมหกคนที่เจ้าหน้าที่ชื่อว่าเป็นแกนนำ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ได้แก่  รังสิมันต์ สิรวิชญ์ กาณฑ์ อานนท์ ณัฏฐา สุกฤษณ์ ในเวลาต่อมายังมีการร้องทุกข์กล่าวโทษกับชลธิชาเพิ่มเติมในข้อเดียวกับบุคคลทั้งหกด้วย 
 
16 กุมภาพันธ์ 2561
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยชื่อประชาชนอีก 43 คน ที่ถูกคสช.ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจากการชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561  ทั้งนี้บุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ดังเช่นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำถูกแจ้ง  
 
22 กุมภาพันธ์ 2561
 
มติชนวีคลีออนไลน์รายงานว่า สิรวิชญ์ กาณฑ์ และสุกฤษณ์ สามผู้ต้องหาในคดี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงแจ้งกับทั้งสามว่าจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังและจะคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความมั่นคงที่มีอัตราโทษสูง
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานเหตุการณ์ในวันเดียวกันเพิ่มเติมว่าในเวลา 14.50 น. พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งนำตัวผู้ต้องหาทั้งสามคนและอานนท์ ผู้ต้องหาคดีนี้อีกหนึ่งคนที่มารายงานตัวเพิ่มเติมมาที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง คำร้องฝากขังบรรยายพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสี่คนว่า กาณฑ์ทำหน้าที่เป็นพิธีกร คอยเชิญแกนนำคนในการชุมนุมรวมทั้งอานนท์ สิรวิชญ์และสุกฤษณ์ขึ้นกล่าวปราศรัยปลุกระดมมวลชนและโจมตีรัฐบาล ผู้ต้องหาทั้งสี่แถลงคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงไต่สวนคัดค้านการฝากขังในห้องผู้พิพากษาเวรชี้บริเวณใต้ถุนศาลอาญาก่อนจะยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยดี จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวในชั้นนี้ ทั้งสี่จึงได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน
 
5 มีนาคม 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า  รังสิมันต์ เข้าพบพนักงานสอบสวนที่สน.นางเลิ้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนำรังสิมันต์ไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันเดียวกัน ศาลอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขัง รังสิมันต์  ในชั้นสอบสวนแต่ก็อนุญาตให้ รังสิมันต์  ประกันตัวโดยวางเงินประกัน 50,000 บาท 
 
11 เมษายน 2561
 
แนวหน้าออนไลน์รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งเจ็ดต่ออัยการ โดยวันนี้มีผู้ต้องหาเพียงสองคนคือณัฏฐาและกาณฑ์ที่มาพบอัยการส่วนคนอื่นติดภารกิจ อัยการจึงนัดหมายและผู้ต้องหาทั้งเจ็ดและพนักงานสอบสวนมาพบอีกครั้งในวันที่ 11 มิถุนายน 2561
 
19 เมษายน 2561
 
ณัฏฐา หนึ่งในผู้ต้องหา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตั้งค่าเป็นสาธารณะว่า ตัวเธอไปรายงานตัวกับอัยการตามนัดแล้ว แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จประกอบกับผู้ต้องหายังมารายงานตัวไม่ครบ พนักงานสอบสวน อัยการ และผู้ที่มาจึงตกลงกันว่าผู้ต้องหาจะมาพบอัยการในวันที่ 11 มิถุนายน 2561 แต่ปรากฎว่า ในวันที่ 18 เมษายน 2561 กลับมีหมายเรียกส่งมาถึงเธอที่บ้าน  เรียกให้เธอไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 เมษายน 2561  ณัฏฐาระบุด้วยว่าจะไม่ไปรายงานตัวตามนัดดังกล่าวโดยระบุว่าจะไปตามวันนัดเดิมพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าวันที่หมายถูกส่งกับวันที่ที่ปรากฎบนหมายห่างกันประมาณหนึ่งสัปดาห์
 
23 เมษายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง นัดผู้ต้องหาเจ็ดคน มาพบเพื่อส่งตัวให้อัยการ  วันนี้มีผู้ต้องหาเพียงคนเดียวคือกาณฑ์ที่มาพบพนักงานสอบสวน กาณฑ์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการและอัยการนัดมาฟังคำสั่งคดีวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ณัฏฐาซึ่งไม่ได้มารายงานตัวในวันนี้ ยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดถึงพนักงานสอบสวนระบุว่า ติดภารกิจสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จึงไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวแต่ยืนยันว่าจะมาพบพนักงานสอบสวนพร้อมผู้ต้องหาคนอื่นในวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันนัดที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ หรือในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่อัยการนัดกาณฑ์มาพบ 
 
ศูนย์ทนายฯยังรายงานด้วยว่า วันเดียวกันพนักงานสอบสวนขอให้ศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาที่ไม่เข้ารายงานตัวในวันนี้ได้แก่ อานนท์ซึ่งติดว่าความที่ศาลทหาร สุกฤษฎ์ ที่ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ รวมทั้งสิรวิชญ์ ชลธิชา และ ณัฏฐาที่ติดภารกิจอื่นด้วย อย่างไรก็ตามในที่สุดศาลอาญาก็ไม่อนุมัติหมายจับตามคำร้องของพนักงานสอบสวน 
 
อานนท์  หนึ่งในผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับโพสต์ข้อความพร้อมภาพคำสั่งยกคำร้องออกหมายจับของศาลอาญาในเวลาประมาณ 16.30 น. คำสั่งยกคำร้องของศาลพอสรุปได้ว่า แม้ผู้ต้องหาทั้งห้าไม่เข้าพบพนักงานสอบสวนจะก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงในการรวบรวมพยานหลักฐานอยู่บ้าง

แต่ผู้ต้องหาโดยเฉพาะกรณีของอานนท์ที่ติดว่าความที่ศาลทหารและกรณีของสุกฤษฎ์ที่ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศก็มีเหตุอันควรที่ทำให้ไม่สามารถมาตามนัดได้อยู่บ้าง นอกจากนี้พนักงานสอบสวนเองก็แถลงว่าการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งให้อัยการพร้อมกันจะเป็นการสะดวกกว่า ซึ่งทนายของผู้ต้องหาก็ได้ประสานให้ทั้งหมดเข้าพบอัยการในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 จึงเห็นควรยกคำร้องออกหมายจับในชั้นนี้ไปก่อน
 
27 กันยายน 2561
 
 
เวลา 9.00 น. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินของผู้จัดการชุมนุมหกคน ได้แก่ อานนท์ สิรวิชญ์ กาณฑ์ ณัฏฐา สุกฤษณ์ และชลธิชา ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 เมษายน 2561 อัยการฯมีความเห็นสั่งฟ้องรังสิมันต์ ผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนไปแล้ว
 

ตั้งแต่เวลา 8.30 น. เริ่มมีผู้มารอให้กำลังใจอยู่ที่ด้านหน้าอาคารศาลอาญาจำนวน 10 คน ขณะที่ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนเริ่มทยอยเดินทางมาสมทบจนครบในเวลา 10.30 น. ต่อมาอัยการฯมีความเห็นสั่งฟ้องคดี โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จากการจัดชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินเรียกร้องการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า "หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561
 

รายละเอียดคำฟ้องระบุว่า "เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยทั้ง 6 คนและรังสิมันต์ โรมที่ถูกฟ้องต่อศาลแยกไปก่อนแล้ว รวมกับพวกอีก 42 คนที่ถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตได้ร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือและวิธีการอื่นใด และร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที ด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และได้ร่วมกันปราศรัยโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 

รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมกับการชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนินอันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
 

และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่า รัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาลและเป็นการยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาลจึงเป็นการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย "
 

โดยอานนท์ สิรวิชญ์ ชลธิชาและสุกฤษณ์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท ขณะที่กาณฑ์ยื่นคำร้องโดยไม่วางหลักทรัพย์ประกัน แต่ในคำร้องประกอบระบุว่า หากศาลเห็นควรให้วางหลักทรัพย์ประกันจะวางเงินไม่เกิน 50,000 บาท ด้านณัฏฐายื่นคำร้องโดยไม่วางหลักทรัพย์ประกัน
 

เวลา 17.00 น. มีรายงานว่า แกนนำ #RDN50 ทั้ง 6 คน ได้ประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์
 
 
14 มกราคม 2562
นัดตรวจพยานหลักฐาน

เวลา 9.30 น.จำเลยทยอยมาถึงศาลอาญาตามที่ศาลนัดหมาย โดยคดีนี้เบื้องต้นมีการแยกฟ้องเป็นสองสำนวน สำนวนคดีแรกคือสำนวนคดีที่มีรังสิมันต์เป็นจำเลยเพียงคนเดียวส่วนสำนวนที่สองคือสำนวนคดีของจำเลยที่เหลืออีกหกคน ในช่วงก่อนการรวมคดีจึงมีการแยกนัดพิจารณาเป็นสองห้อง คดีของรังสิมันต์พิจารณาที่ห้อง 903 ส่วนคดีของจำเลยอีกหกคนพิจารณาที่ห้อง 703 ในวันนี้นอกจากจำเลยหกคนกับทีมทนายความแล้วก็มีประชาชนในกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งมาให้กำลังใจด้วยและมีตัวแทนจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยตามมาสังเกตการณ์ในเวลาประมาณ 11.00 น.ด้วย

สำหรับกระบวนการพิจารณา ทนายของรังสิมันต์ลุกขึ้นแถลงต่อศาลที่ห้องพิจารณา 903 ว่า เบื้องต้นคดีนี้มีการกำหนดวันนัดสืบพยานไว้แล้วแต่เนื่องจากคู่ความประสงค์จะรวมสำนวนคดีนี้เข้ากับสำนวนคดีของจำเลยอีกหกคน จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนการในส่วนของการรวมคดีก่อน ศาลจึงให้หน้าบันลังก์ประสานให้จำเลยที่เหลือซึ่งอยู่ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ขึ้นมารวมที่ห้องพิจารณาคดี 903 เพื่อเริ่มกระบวนการ

เมื่อจำเลยจากห้องพิจารณาคดี 703 ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี 903 ศาลขานชื่อจำเลยทีละคน ในวันนี้มีจำเลยมาศาลทั้งหมดหกคน ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าสุกฤษณ์ จำเลยที่หกซึ่งไม่มาศาลเคยขออนุญาตให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังเนื่องจากตัวเขาติดภารกิจศึกษาต่อในต่างประเทศและศาลก็อนุญาตแล้ว

ในส่วนของแนวทางการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยจะนำสืบว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญตามโจทก์ฟ้องหากแต่เป็นการกระทำที่ช่วยรักษาระบอบประชาธิปไตย และจะต่อสู้ด้วยว่าการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต ไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่นประชาชน

ทนายจำเลยแลถงด้วยว่าเนื่องจากก่อนการรวมคดีคู่ความได้เคยกำหนดวันนัดสืบพยานคดีที่รังสิมันต์เป็นจำเลยเอาไว้แล้ว แต่เมื่อมีการรวมสำนวนคดีฝ่ายจำเลยก็มีพยานที่ต้องนำสืบเพิ่มเติมและวันนัดที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ปรากฎว่ามีทนายจำเลยบางส่วนไม่ว่างจึงขอให้ศาลยกเลิกวันนัดเดิมและให้คู่ความกำหนดวันนัดใหม่ ศาลจึงสั่งยกเลิกวันนัดในส่วนของคดีรังสิมันต์เพื่อให้ทนายจำเลยของจำเลยที่เพิ่งถูกรวมคดีเข้ามาได้กำหนดวันนัดร่วมกัน

อัยการแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม 13 ปาก เป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์และมีพนักงานสอบสวนสองปาก ส่วนจำเลยแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวม 14 ปาก มีทั้งตัวจำเลยและพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิชาการ ศาลกำหนดให้ใช้เวลาสืบพยานโจทก์ห้านัดส่วนพยานจำเลยสี่นัดรวมเก้านัด และสั่งให้คู่ความไปกำหนดวันนัดสืบพยานกันเอง

หลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาที่ห้องพิจารณา 903 จำเลยหกคนที่เพิ่งถูกรวมสำนวนคดีเข้ามากับสำนวนคดีของรังสิมันต์ได้กลับลงไปที่ห้องพิจารณา 703 เพื่อฟังรายงานกระบวนพิจารณาเรื่องการรวมคดี

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาอัยการและทนายจำเลยได้ไปกำหนดวันนัดพิจารณาคดีร่วมกันที่ศูนย์นัดความ ซึ่งคู่ความกำหนดวันนัดในวันที่  1 – 2 6 – 9 และ 13 – 15 สิงหาคม 2562
 
 
1 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง
 

2 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
เวลา 9.00 น. ณัฏฐา และอานนท์ พร้อมด้วยทนายจำเลยทยอยเดินทางมารอการสืบพยานโจทก์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรีย และประเทศลักเซมเบิร์ก และมีผู้มาร่วมให้กำลังใจในการสืบพยานอีกสามคน เวลา 9.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ ขณะนั้นกาณฑ์ก็เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี ศาลแจ้งให้อัยการนำตัวพยานเข้ามา และเริ่มการสืบพยานโจทก์ปากที่สอง
 
 
จ.ส.อ.ไพรพนา บุญช่วย ทหารฝ่ายข่าวที่ลงพื้นที่ในวันชุมนุม พยานโจทก์ปากที่สอง
 
 
จ.ส.อ.ไพรพนาเริ่มสาบานตนด้วยอาการพูด และตอบสนองต่อศาลอย่างล่าช้า เบิกความตอบศาลว่า ปัจจุบันอายุ 37 ปี ประกอบอาชีพรับราชการทหาร ที่กองพันทหารสื่อสารที่ 1 อยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ โดยเขาแถลงต่อศาลว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ได้เข้ารับการผ่าตัดสมอง เนื่องจากมีเนื้องอกในสมอง ทำให้มีผลต่อการอ่าน, การพูด และความทรงจำด้วย และอัยการแถลงว่าอาจจะต้องถามนำช่วยพยานบ้าง ศาลตอบรับคำแถลงของจ.ส.อ.ไพรพนาและอัยการ
 
 
อัยการถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนา ดำรงตำแหน่งใดในวันเกิดเหตุ จ.ส.อ.ไพรพนา ตอบว่า ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่ในการสืบสวนหาข่าวตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย อัยการให้ จ.ส.อ.ไพรพนาเล่าถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ จ.ส.อ.ไพรพนาเบิกความว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ประมาณช่วงบ่าย ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาว่ามีงานให้สืบสวนหาข่าวที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้เข้าไปดูการชุมนุม จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 น ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมบริเวณอุนเสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เห็นการรวมตัวของแกนนำการชุมนุมบริเวณหน้าร้านสเต็กติดมัน และมีแกนนำพูดปราศรัยอยู่ด้วย โดยในการพูดปราศรัยนั้นแกนนำแต่ละคนพูดไม่พร้อมกัน เพราะมากันคนละเวลา คนที่ขึ้นพูดนั้นมี รังสิมันต์, ณัฏฐา, อานนท์ และสุกฤษฎ์ และมีกาณฑ์ เป็นพิธีกร
 
 
อัยการถามว่า คนที่ขึ้นปราศรัยพูดเกี่ยวกับอะไรบ้าง จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า แกนนำได้พูดโน้มน้าวปลุกปั่นให้ขับไล่รัฐบาล มีประโยคประมาณว่า “เรารวมตัวกันให้ออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน” แต่คำพูดอื่นจำไม่ได้
 

อัยการถามว่า แล้ว จ.ส.อ.ไพรพนาทำอะไรบ้างในที่ชุมนุม จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ได้ทำทั้งการบันทึกภาพ และบันทึกเสียง แต่มีคณะทำงานอื่นทำ แต่ได้ทำหน้าที่หลังวันเกิดเหตุในการถอดเทปคำปราศรัยของ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, กาณฑ์, ณัฏฐา, อานนท์ และสุกฤษฎ์และได้ทำซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ และรายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุม ตามพยานเอกสารของโจทก์ที่ยื่นเข้ามาในคดี อัยการถามว่า ซีดีรวมภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ จ.ส.อ.ไพรพนาเป็นคนทำในส่วนไหนบ้าง จ.ส.อ.ไพรพนา เบิกความให้การวกวน และตอบไม่ได้ว่าทำในส่วนไหนบ้าง อัยการพยายามถามนำว่า จำได้หรือไม่ว่าทำอะไรไปบ้าง แต่จ.ส.อ.ไพรพนาก็ตอบไม่ได้ จนผู้พิพากษาทักท้วงว่าหาก จ.ส.อ.ไพรพนาจำไม่ได้ว่าได้จัดทำข้อมูลในแผ่นซีดีหรือไม่ ก็ให้อัยการไปสืบพยานในปากอื่น เช่น พนักงานสอบสวนในคดี อัยการจึงเปลี่ยนคำถาม และถามต่อว่าหลังจากทำแผ่นซีดีแล้ว จ.ส.อ.ไพรพนาทำอะไรต่อ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน และได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย
 

พยานไม่รู้จักจำเลย และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งหกคนมาก่อน
 
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
 
เวลา 09.50 น. ทนายจำเลยเริ่มถามค้าน ก่อนเริ่มกระบวนการ ทนายจำเลยที่หนึ่งได้ขออนุญาตศาลเพื่อขออ่านคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานคนนี้ก่อน เนื่องจากอัยการเพิ่งอ้างส่งคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานปากนี้ในวันนี้ก่อนที่จะเริ่มสืบพยาน ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยอ่านคำให้การในชั้นสอบสวนก่อน เวลาผ่านไปประมาณสิบนาที ศาลสอบถามทนายจำเลยที่หนึ่งว่าพร้อมจะถามค้านหรือไม่ ทนายจำเลยที่หนึ่งแถลงว่ายังไม่พร้อมที่จะถามค้านเนื่องจากอ่านเอกสารยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอให้ทนายจำเลยที่สองถามค้านก่อนได้หรือไม่ ศาลอนุญาต
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ใครเป็นคนออกคำสั่งให้ จ.ส.อ.ไพรพนาลงพื้นที่ชุมนุมหาข่าว จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ผู้บังคับกองร้อยรักษาความสงบ เป็นผู้สั่งการ แต่จำชื่อไม่ได้ ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วผู้บังคับบัญชาส่งทหารไปทั้งหมดกี่นาย จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ส่งเจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่ไปหาข่าวในวันดังกล่าประมาณสิบกว่านาย ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า จ.ส.อ.ไพรพนาใช้เพียงโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อื่นบันทึกภาพ และเสียงในการลงพื้นที่ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ได้ใช้อุปกรณ์บันทึกภาพ และเสียง และไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย ไม่ได้ถ่ายรูป และอัดเสียงในการชุมนุมเลย ในวันที่ลงพื้นที่เขียนข่าวด้วยมือลงสมุดบันทึกเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่นจะใช้อุปกรณ์อะไรนั้นไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในการถอดเทปนั้น จ.ส.อ.ไพรพนาเป็นคนพิมพ์บันทึกการถอดเทปใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ได้เป็นทั้งผู้พิมพ์และจัดพิมพ์ แต่มีส่วนร่วมในการถอดเทปเฉยๆ ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วจำได้หรือไม่ว่าใครเป็นคนนำภาพเคลื่อนไหวมาส่งให้ถอดเทป จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าต้นฉบับภาพเคลื่อนไหวที่นำเข้ามาเป็นพยานหลักฐานแผ่นซีดี และใช้ในการถอดเทปนั้น จะถูกต้องตามเหตุการณ์จริง หรือถูกตัดต่อมาหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่สามารถยืนยันได้ ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วแผ่นซีดีห้าถึงหกแผ่นที่เป็นพยานในคดีนี้ จ.ส.อ.ไพรพนา ไม่ได้เป็นผู้นำไปมอบให้พนักงานสอบสวนใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่าใช่ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า ในส่วนของข้อความที่ถอดเทป ถอดเสร็จแล้วก็ไม่ได้เป็นผู้นำไปให้พนักงานสอบสวนใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า จำไม่ได้เช่นกันว่านำซีดี และบันทึกข้อความที่ถอดเทปเสร็จมอบให้ใคร ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนารู้จักกับจำเลยมาก่อนหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่รู้จักมาก่อน ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า จ.ส.อ.ไพรพนาจำเนื้อหาสาระของแกนนำในการปราศรัยได้หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า จำไม่ได้ แต่ทราบเพียงว่าใครขึ้นพูดปราศรัยบ้าง ทนายจำเลยที่สองถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนารู้จักกับ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า รู้จัก เพราะทำงานลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ แล้วในวันนั้นท่านบุรินทร์ไปแจ้งความคดีนี้ที่โรงพัก ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุไม่เคยรู้จัก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ มาก่อนใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ก่อนวันเกิดเหตุไม่เคยรู้จัก และไม่เคยพบกันมาก่อน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า ตามเอกสารบันทึกการถอดเทปที่ส่งมาเป็นพยานเอกสารในคดี จ.ส.อ.ไพรพนาเป็นคนถอดเทปด้วยตัวเองหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า ที่มีการขีดเส้นใต้ในบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำแต่ละคนเพราะเห็นว่าเป็นประโยคที่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนาจบการศึกษาจากที่ไหน จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า จบการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบทหารบก ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า จ.ส.อ.ไพรพนาไม่มีความรู้ทางกฎหมายใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า แล้วที่ขีดเส้นใต้ในคำปราศรัยของแกนนำแต่ละคนเป็นความเห็นของ จ.ส.อ.ไพรพนาใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ใช่ความเห็นเพียงคนเดียว แต่เป็นความเห็นของคณะทำงานในคดีนี้ซึ่งมีหลายคน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า จำได้หรือไม่ว่าอานนท์ จำเลยที่สาม พูดเรื่องการทุจริตอุทยานราชภักดิ์และ เรื่องนาฬิกา 25 เรือน จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า เขาพูดอยู่ตามที่บันทึกไว้ในพยานเอกสารบันทึกถอดเทป แต่จำไม่ได้ว่าพูดหรือไม่ ศาลช่วยถามอีกครั้งว่าสรุปแล้ว จ.ส.อ.ไพรพนาจำได้หรือไม่ว่าจำเลยที่สามพูดว่าอะไร จ.ส.อ.ไพรพนาตอบศาลว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สามถามว่า การพูดถึงการทุจริตในวงการราชการของประชาชนทั่วไปมีสิทธิที่จะพูด และติชมได้ใช่หรอไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าการพูดถึงการทุจริตมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ทราบ
 

ทนายจำเลยที่สามถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนาเคยไปหาข่าวในการชุมนุมครั้งอื่นของคนอยากเลือกตั้งหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่เคยไปงานอื่น เคยไปทำหน้าที่แค่งานเดียว ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า ที่จำเลยที่สามพูดประมาณว่า “การชุมนุมเราจุดติดแล้ว หมดเวลาคสช. ให้ไปเชิญชวนคนมาเป็นหมื่นเป็นแสนคน” แต่จำเลยที่สามได้พูดให้คนเอาอาวุธมาร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ได้ให้เอาอาวุธมาด้วย ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า เนื้อหาของการพูดปราศรัยส่วนใหญ่ เป็นการพูดว่าไม่ชอบรัฐบาลเผด็จการ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในการชุมนุมครั้งนั้นมีอาวุธหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า มีเหตุประทะ มีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในการถอดเทปคำปราศรัยของณัฏฐา จำเลยที่สี่ จ.ส.อ.ไพรพนาเป็นคนถอดเทปใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ได้เข้าร่วมกระบวนการในการถอดเทป ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า ในบันทึกคำปราศรัยที่ถอดเทปมาจะมีการขีดเส้นใต้ แต่ของจำเลยที่สี่ไม่มีการขีดเส้นใต้เพราะอะไร จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า ดังนั้น จ.ส.อ.ไพรพนาสรุปได้หรือไม่ว่าคำพูดของจำเลยที่สี่นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือโจมตีรัฐบาล จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ยืนยัน เพราะจำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า หลังการชุมนุมจบลงมีความวุ่นวายในประเทศเกิดขึ้นหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า แล้วระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียหายหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่เสียหาย
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า ผู้บังคับบัญชาได้แจ้งในการให้ไปหาข่าวหรือไม่ว่าจุดมุ่งหมายของผู้ชุมนุมต้องการอะไร จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ผู้บังคับบัญชาสั่งเพียงให้ลงพื้นที่ แต่ไม่ได้แจ้งว่าคนอยากเลือกตั้งต้องการอะไร ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า คณะทำงานถอดเทป และถอดความมีทั้งหมดกี่คน จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ประมาณสิบกว่าคน ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า มีนายทหารในทีมหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า มี ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า แล้วมีใครจบกฎหมายหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ทราบว่ามีหรือไม่ ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า ในวันเกิดเหตุ จ.ส.อ.ไพรพนาเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม และกลับจากการทำงานกี่โมง จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไปประมาณ 14.00 น. กลับประมาณ 20.30 น. ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า หลังจากจำเลยที่ห้าปราศรัยเสร็จ ทราบหรือไม่ว่าจำเลยที่ห้าไปที่ไหนต่อ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า การขีดเส้นใต้นั้นแสดงว่าเป็นข้อความที่มีความกังวลว่าจะผิดกฎหมาย แต่ข้อความอื่นที่ไม่มีการขีดเส้นใต้เพราะไม่มีการแสดงถึงความรุนแรงใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า จ.ส.อ.ไพรพนาจำได้หรือไม่ว่า สุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้าพูดอะไรบ้าง จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า ผู้บังคับบัญชาแจ้งให้ทราบถึงงานชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งโดยให้ดูผ่านช่องทางใด จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ให้ดูผ่านทางสื่อโซเชียลในเฟซบุ๊ก ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า ซึ่งในเฟซบุ๊กของจำเลยที่ห้า ไม่มีการเชิญชวนคนให้มาร่วมชุมนุมใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า หลังการชุมนุมวันดังกล่าว คสช. ยังสามารถทำงานได้ตามปกติใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบใช่
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การอ่านภาษาไทย จ.ส.อ.ไพรพนายังสามารถทำได้ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ยังสามารถอ่านได้ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ในคำให้การกับตำรวจบอกว่าในการสืบหาข่าวมีเฟซบุ๊กของสิรวิชญ์ และเฟซบุ๊กของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ จำได้ว่ามี ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ในการปราศรัยของสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่ง มีการพูดเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน (ปีนี้ หมายถึง ปี 2561)ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ขณะนั้น คสช. อยู่ในอำนาจมาจะครบสี่ปีแล้วใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่  ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเป็นวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่
 
 
ศาลได้เตือนทนายจำเลยที่หนึ่งว่า หากถามในประเด็นคำให้การในชั้นตำรวจของพยานก็ให้ถามประเด็นคำให้การ อย่าเพิ่งถามประเด็นข้อเท็จจริง ทนายจำเลยที่หนึ่งรับคำเตือนศาล และถาม จ.ส.อ.ไพรพนาต่อว่า คำพูดของจำเลยที่หนึ่ง ไม่ได้ปลุกให้คนกระด้างกระเดื่อง และเกิดความวุ่นวายในหมู่ประชาชน แต่เป็นการพูดเชิญชวนให้คนไปเลือกตั้งใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ประชาชนต้องไปเลือกตั้งใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ศาลแจ้งกับทนายจำเลยที่หนึ่งอีกครั้งว่าให้ถามถึงข้อเท็จจริงในคดีเป็นหลัก อย่าถามความคิดเห็นของพยานเยอะ ทนายจำเลยที่หนึ่งรับไว้ และเริ่มถามค้านต่อ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า นอกจากเรื่องเลือกตั้งแล้ว จำเลยที่หนึ่งยังได้พูดว่า “ไม่เอาเผด็จการ” ตามเนื้อหาในเอกสารบันทึกการถอดเทปของจำเลยที่หนึ่งใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ตามเนื้อหาในเอกสารบันทึกการถอดเทปของจำเลยที่หนึ่ง จำเลยที่หนึ่งมีการพูดประมาณว่า คสช. สัญญาจะให้มีการเลือกตั้ง และเขาปราศรัยเพื่อทวงสัญญากับ คสช. ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่  ศาลแจ้งกับทนายจำเลยที่หนึ่งอีกครั้งว่า การถามในประเด็นคำให้การ และการรับรองเอกสารให้ถามพยานแต่พอดี เพราะมีข้อความอยู่ในเอกสารแล้วทั้งหมดอยู่แล้ว ทนายจำเลยที่หนึ่งรับไว้ และทำการถามค้านต่อ
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนาไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า สิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่งปราศรัยทวงการเลือกตั้งจาก คสช. และตามเอกสารบันทึกคำให้การของ จ.ส.อ.ไพรพนากับพนักงานสอบสวน ไม่มีข้อความทั้งหมดที่จำเลยที่หนึ่งพูดปราศรัย ตามที่มีในบันทึกการถอดเทปของจำเลยที่หนึ่งใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในการสืบสวนหาข่าวนั้น จ.ส.อ.ไพรพนาต้องรายงานในที่ประชุมของคณะทำงานสืบสวนหาข่าว โดยต้องแบ่งปันข้อมูล, ภาพนิ่ง หรือวีดีโอ ในที่ประชุมด้วยใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า การสืบสวนหาข่าวต้องทำตั้งแต่ก่อนวันชุมนุม คือเริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 แล้วใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่าใช่ แต่คนอื่นเป็นคนทำ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในการประชุมกับผู้บังคับบัญชา มีการพูดถึงจำเลยที่หนึ่งหรือไม่ อย่างเช่นว่า จำเลยที่หนึ่งจะทำอะไรบ้าง จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า จำไม่ได้ 
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ข้อเรียกร้องของผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีสามข้อคือ หนึ่ง ให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 สอง เผด็จการจงพินาศ สาม ประชาธิปไตยจงเจริญ ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า คือการชูสัญลักษณ์สามนิ้วใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า การชูสามนิ้วสามารถทำได้ เป็นเรื่องธรรมดาใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ศาลติงทนายจำเลยที่หนึ่งว่าคำถามที่เป็นเรื่องความคิดเห็นให้เก็บเอาไว้ถามพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้ตั้งข้อกล่าวหาในคดีดีกว่า ทนายจำเลยที่หนึ่งรับไว้ และถามค้านพยานต่อ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามคำถามสุดท้ายว่า ในพยานหลักฐานซีดีที่นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ที่ จ.ส.อ.ไพรพนาเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าได้ทำหรือไม่นั้น ทราบหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นผู้บันทึกภาพเคลื่อนไหวในซีดีทั้งหมดอย่างตลอดต่อเนื่องหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ที่ไม่ทราบเพราะไม่ใช่คนบันทึกภาพเคลื่อนไหวใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนา รับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า จ.ส.อ.ไพรพนาจำทนายจำเลยที่หกได้หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า จำได้ ทนายคืออานนท์ นำภา จำเลยในคดีนี้ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า เนื้อหาในการปราศรัยที่จำเลยทั้งหกคนพูดนั้นเป็นเรื่องที่ จ.ส.อ.ไพรพนาไม่เคยได้ยินมาก่อนใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนา รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า พอฟังครั้งแรกแล้วอย่างเช่นคำปราศรัยในเรื่องการทจริต จ.ส.อ.ไพรพนาฟังแล้วรู้สึกสบายใจหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่สบายใจ ทนายจำเลยที่หกถามว่า ข้อเสนอที่ให้มีการเลือกตั้งแล้ว คสช. จะออกไป เป็นไปตามกฎหมายกำหนดใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า ในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า ขณะที่จัดการชุมนุมนั้นยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่
 

ทนายจำเลยที่หกถามว่า ในวันที่ไปให้การกับตำรวจ จ.ส.อ.ไพรพนาเดินทางไปด้วยตัวเอง หรือผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไป จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า เดินทางไปให้การกับตำรวจพร้อมกับผู้บังคับบัญชา ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า ก่อนที่ จ.ส.อ.ไพรพนาจะไปให้การกับตำรวจนั้น ได้มีการสอบถามไปยังผู้บังคับบัญชา เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ว่าคำปราศรัยในวันชุมนุมเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ได้สอบถาม ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า เรื่องการคอร์รัปชันในกองทัพ หรือการสืบทอดอำนาจ จ.ส.อ.ไพรพนาไม่ทราบข้อเท็จจริงใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า ผู้บังคับบัญชา และพนักงานสอบสวน แจ้งให้จ.ส.อ.ไพรพนา ให้การตามที่อยู่ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนารับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามคำถามสุดท้ายว่า การชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมเองใช่หรือไม่ จ.ส.อ.ไพรพนาตอบว่า ใช่
 
 
อัยการไม่ถามติง เมื่อสืบพยานปากแรกเสร็จ ศาลได้สอบถามอัยการถึงการวางแผนสืบพยานในคดีนี้ อัยการแถลงว่า วันนี้วางแผนเตรียมพยานไว้สองปาก สืบเสร็จในช่วงเช้าไปแล้วหนึ่งปาก เหลือช่วงบ่ายอีกหนึ่งปาก เป็นตำรวจฝ่ายข่าว และวางแผนไว้ว่าคดีนี้จะสืบพยานฝ่ายโจทก์อีกทั้งหมดแปดปาก ประกอบไปด้วย 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ผู้รับแจ้งการชุมนุม  2.เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงคราม  3. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง 4..เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน (เบิกความเพื่อยืนยันแกนนำการชุมนุม4 คน เป็นคนเดียวกันกับแกนนำคดีการชุมนุมที่หน้าห้างมาบุญครอง) 5. พยานบุคคลภายนอก 6. พยานบุคคลภายนอก 7.ทหารที่ทำการถอดเทปข้อความในการชุมนุม (ไม่ได้ลงพื้นที่) 8. คนตรวจซีดีที่ทำเป็นพยานหลักฐานซีดี เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ตัดต่อ
 
 
ศาลเสนอให้ทีมทนายจำเลยว่า ให้ทนายจำเลยทำคำเบิกความของจำเลยทั้งหกคนเป็นหนังสือมาให้กับอัยการไว้ก่อน แล้วส่งให้กับศาลในวันสืบพยานจำเลย แล้วให้อัยการถามค้านอย่างเดียวเพื่อความรวดเร็วของคดี เหมือนเช่นคดีการเมืองในอดีตเช่นคดีของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่เป็นเพียงการแนะนำ ไม่ได้บังคับให้ต้องทำ
 
 
พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลิศไกร รองผู้กำกับการกองกำกับการ 6 กองกำกับการตำรวจสันติบาล 1 พยานโจทก์ปากที่สาม
 

พ.ต.อ.สุรศักดิ์เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 51 ปี ขณะเกิดเหตุรับราชการตำรวจในตำแห่งรองผู้กำกับการกองกำกับการ 6 กองกำกับการตำรวจสันติบาล 1 ทำหน้าที่ในการสืบสวนหาข่าวในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ก่อนวันเกิดเหตุพบว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ประชาสัมพันธ์การชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง โดยปกติจะทราบอยู่แล้วว่าเฟซบุ๊กของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นของอานนท์ นำภา, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เป็นของรังสิมันต์ และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เป็นของสิรวิชญ์ หลังจากนั้นในวันเกิดแหตุ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 จึงได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณสิบคน โดยเขาเป็นหัวหน้าชุด และได้รายงานกับผู้บังคับบัญชาแล้ว เพื่อลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวในพื้นที่ชุมนุม
 
 
จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ในบริเวณที่ชุมนุมพบกับกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น ฟอร์ด เส้นทางสีแดง หรืออนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และพบกับชลธิชา แจ้งเร็ว กับจำเลยทั้งหมดด้วย บริเวณร้านแมคโดนัลด์ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพบว่าชลธิชา กำลังใช้เครื่องขยายเสียงโทรโข่ง พูดคุยกับผู้เข้าร่วมชุมนุม ขณะนั้นได้เดินสังเกตการณ์อยู่บริเวณนั้น จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบของกองบัญชาการตำรวจนครบาลกันตัวชลธิชาออกจากบริเวณนั้น กลุ่มผู้ชุมนุม และแกนนำจึงย้ายไปรวมตัวกันที่ฝั่งร้านสเต็กติดมัน หลังจากนั้นมีการใช้โทรโข่งปราศรัย มีกาณฑ์ เป็นโฆษก โดยใช้วิธีการสลับให้แกนนำขึ้นปราศรัย จำได้ว่ามีรังสิมันต์ โรม, ณัฏฐา, สุกฤษฎ์ และอานนท์ สลับกันขึ้นปราศรัย มีเนื้อหาในการปราศรัยพูดถึงการให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นปราศรัยโจมตี คสช. ว่ามีการสืบทอดอำนาจ และเชิญชวนให้คนออกมาขับไล่ให้ คสช. ออกไป นอกจากการปราศรัยแล้วยังมีมวลชนนำแผ่นป้ายขับไล่ คสช. มาชูขณะชุมนุม ซึ่งแผ่นป้ายเป็นโปสเตอร์รูปวงจรชีวิตยุง แต่เป็นรูปของหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งแสดงถึงการสืบอำนาจของ คสช. และมีการชูสัญลักษณ์สามนิ้ว
 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 19.00 น.มีคนนำรถเครื่องเสียงมาให้แกนนำปราศรัย ขณะนั้นมีการประเมินกันว่า มีผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน การชุมนุมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 20.00 น. หลังจากนั้นได้ทำการเก็บรวบรวมภาพถ่ายบุคคลที่ไปร่วมชุมนุม และจัดทำเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ทั้งหมด 42 คน ไม่รวมแกนนำ เพื่อส่งให้กับผู้บังคับบัญชา และทำรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา และส่งให้กับพนักงานสอบสวนด้วยเพื่อเป็นความเห็นประกอบการสอบสวน โดยได้จำแนกบุคคลที่ร่วมชุมนุมออกเป็นห้ากลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มนักศึกษา สอง กลุ่มคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ สาม กลุ่มเอ็นจีโอ สี่ กลุ่มนักวิชาการ และห้า กลุ่มคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัด และได้รวบรวมภาพถ่ายกลุ่มบุคคลทั้งหมด, สถานที่ชุมนุม และภาพเหตุการณ์ทั้งหมดส่งให้ผู้บังคับบัญชาด้วย ส่วนการตรวจสอบบุคคลนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการแฝงตัวไปหาข่าวทุกครั้งที่มีการชุมนุม ทำให้ทราบว่าที่มีการชุมนุมทุกครั้งจะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ จึงทำให้จำหน้าได้ และใช้เทคนิคการสืบสวนของตำรวจสันติบาลในการเปรียบเทียบบุคคล โดยวิธีการคือนำรูปถ่ายมาเปรียบเทียบกับทะเบียนราษฎร์ และตรวจเช็คกับบัญชีเฟซบุ๊กว่าหน้าตาแบบเดียวกันหรือไม่ จนทราบชื่อ และที่อยู่ของบุคคลเหล่านั้นได้
 
 
พ.ต.อ.สุรศักดิ์เบิกความว่า หลังจากการชุมนุมครั้งนี้เสร็จสิ้น จำเลยบางคนเช่น รังสิมันต์, อานนท์ และณัฏฐา ยังได้กลับมาจัดการชุมนุมที่เดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกอีกด้วย
 
 
พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยทั้งหกคนเป็นการส่วนตัว และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
ทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จุดมุ่งหมาย ภารกิจ ของการสืบสวนหาข่าวของตำรวจสันติบาลทำเพื่อให้ข้อมูลด้านความมั่นคงต่อรัฐใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ แต่เป็นการให้ข้อมูลเพื่อไปประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ด้านความมั่นคงต่อรัฐ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า การประสานงานด้านการข่าวต้องทำร่วมกับทหาร, หน่วยข่าวกรอง รวมถึงมีการจัดประชุมร่วมกันบ่อยๆ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า แล้วมีการสรุปบทเรียน หรือข้อบกพร่องอะไรร่วมกับหน่วยงานอื่นบ้างในการประชุมร่วมกัน พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้ทำการสรุปบทเรียนกับหน่วยงานอื่น ทำแต่ภายในหน่วยของตำรวจสันติบาลด้วยกันเอง
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จากการทำข้อมูล ทราบหรือไม่ว่าชลธิชา ได้มีการทำหนังสือแจ้งการชุมนุมแล้ว พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากหากมีการชุมนุมจะมีการแจ้งการชุมนุมหรือไม่ก็ยังคงต้องมีการลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิม ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า จากรายงานการสอบสวน พ.ต.อ.สุรศักดิ์ทราบข่าวล่วงหน้าก่อนแล้วใช่หรือไม่ว่าจะมีการชุมนุม พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า มีการประชุมเตรียมการล่วงหน้าของตำรวจสันติบาลหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มีการประชุมเตรียมการใหญ่ มีเพียงการประชุมทีมของเขาที่จะลงพื้นที่ประมาณสิบคน ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า แล้วมีการประชุมเตรียมการร่วมกับหน่วยข่าวกรอง หรือฝ่ายทหารหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มีการประชุมกับหน่วยงานอื่น ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า มีการประชุมกับตำรวจหน่วยอื่นหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มีการประชุมเช่นกันทนายจำเลยที่หนึ่งถาม พ.ต.อ.สุรศักดิ์ว่า แล้วทราบหรือไม่ว่าผู้บังคับบัญชาจะไปประชุมร่วมใครบ้าง พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ โดย พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบเพิ่มเติมว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่ของหน่วยตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานอื่น ทนายจำเลยถามว่า ผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.สุรศักดิ์คือใคร พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ผู้บังคับบัญชาของเขาคือ ผู้กำกับการกองกำกับการหก กองกำกับการตำรวจสันติบาลหนึ่ง แต่ผู้บังคับบัญชาจะได้รับการบัญชาการจากใครนั้นไม่ทราบ
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมแต่ละครั้งจะมีการแจ้งการชุมนุมหรือไม่ ชุดทำงานของตำรวจสันติบาลต้องทราบหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ต้องทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า แล้วทราบไหมว่าผู้ชุมนุมจะได้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียงหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบเช่นกัน โดยตอบเพิ่มเติมว่า เนื่องจากมีหน้าที่เพียงสืบสวนหาข่าวเก็บข้อมูล ไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจนครบาล จึงไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ถ้ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดเหตุไม่สงบ วุ่นวาย พ.ต.อ.สุรศักดิ์ต้องรายงานอย่างเร่งด่วนให้ผู้บังคับบัญชาทราบหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่จำเป็น ใช้การรายงานเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องเหมือนการทำงานปกติ เนื่องจากตามหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องเหล่านั้นได้
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ทราบหรือไม่ว่ามีการส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมให้กับ สน.สำราญราษฎร์ ศาลได้พูดกับทนายจำเลยว่าในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นเอกสารแจ้งการชุมนุมพยานได้ตอบไปแล้วว่าไม่รู้ ให้ทนายถามในประเด็นอื่น ทนายจำเลยที่หนึ่งรับคำศาล และเปลี่ยนคำถามใหม่
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า นอกจากกลุ่มของรังสิมันต์, สิรวิชญ์ และอานนท์ แล้วยังมีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วมด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่าใช่ โดยเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในเป็นเครือข่ายของ วีระ สมความคิด ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ในกลุ่มนักวิชาการมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ ที่รู้จักหน้ามีอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ซึ่งเป็น “คณบดีคณะสังคมศาสตร์” และมีรายงานว่ามีอาจารย์จากสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมด้วย ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า อีกทั้งยังมีนักสังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนชื่อฮิวแมนไรท์ วอทช์ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับสหประชาชาติ มาร่วมด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่าใช่ ทราบว่ามีสุนัย ผาสุก ที่ทำงานอยู่องค์กรสิทธิมนุษยชน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า มีนักศึกษาจากหลายสถาบันมาเข้าร่วมโดยเฉพาะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามเพิ่มเติมว่า ยังมีกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และกลุ่ม 24 มิถุนา ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีผู้สังเกตการณ์หลายกลุ่ม รวมทั้งผู้สังเกตุการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยเฉพาะจาก ฮิวแมนไรท์ วอทช์ได้ร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมด้วยหลายครั้ง ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ทราบหรือไม่ว่าบุคคลหลายกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ถูกดำเนินคดี คนที่ถูกดำเนินคดีจะเป็นเฉพาะแกนนำเท่านั้น พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ทราบประวัติของสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่ง ว่าเคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ทราบประวัติของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ว่าเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า สุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า ก็เคยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่าใช่
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า กลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมพร้อมกับสิรวิชญ์มีหัวใจหลักในการชุมนุมคือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ในข้อเรียกร้องข้อที่สองเขาปราศรัยโจมตี คสช. เรื่องสืบทอดอำนาจใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ทราบถึงเนื้อหาการต่อต้านการสืบทอดอำนาจได้อย่างไร พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า เห็นจากโปสเตอร์รูปวงจรชีวิตยุง ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เข้าใจสัญลักษณ์ที่ไขว้แขนเป็นกากบาท และสัญลักษณ์ชูสามนิ้วหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การทำแขนไขว้กันเป็นกากบาทหมายถึงไม่เอาเผด็จการ และการชูสามนิ้วหมายถึง หนึ่ง เรียกร้องให้เลือกตั้งภายในปี 2561 สอง เผด็จการจงพินาศ สาม ประชาธิปไตยจงเจริญ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า หลังจากเลิกการชุมนุมไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบตามกรอบกฎหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า อยู่ในกรอบของกฎหมาย มีเพียงการทำมือเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในการปราศรัยมีการพูดถึงเรื่องการทุจริตหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า หากพูดถึงเรื่องการทุจริตเป็นการวิพากษ์ติชมที่สามารถทำได้ ถือว่าเป็นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงก็สามารถถูกดำเนินคดีในฐานหมิ่นประมาทไป ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ ทราบหรือไม่ว่าถ้ามีการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีสำเร็จ อำนาจของ คสช. จะหมดไป พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ทราบ
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ได้ทำข้อเสนอแนะให้ทำรั้วกั้นคัดกรองผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อความสงบหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้มีข้อเสนอแนะ และความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ทำงานการข่าวมานานเท่าใดแล้ว พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า เป็นตำรวจสันติบาลมาตั้งแต่ปี 2538 รวมเวลาแล้วประมาณ 20 ปี ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในรายงานของตำรวจสันติบาลจะไม่มีการวิเคราะห์ และทำความเห็นว่าใครทำความผิดหรือไม่ รายงานเพียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า โดยปกติเวลาทำงานในพื้นที่ข่าวจะแต่งกายนอกเครื่องแบบตลอดใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุได้ยกโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ หรือมีอุปกรณ์บันทึกภาพ และเสียงหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า มีการบันทึกภาพนิ่งโดยโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า เคยเห็นบันทึกภาพเคลื่อนไหวในคดีนี้หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ในคดีนี้ไม่เคยเห็น ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วหน่วยงานของ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ได้จัดทำบันทึกภาพเคลื่อนไหววันเกิดเหตุหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้จัดทำ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ข้อมูลพิสูจน์ทราบบุคคลซึ่งมีประวัติทั้ง 47 คน และภาพถ่ายบุคคล พ.ต.อ.สุรศักดิ์ไม่ได้เป็นผู้ถ่ายรูปบุคคลทั้งหมดเองใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ไม่ได้ถ่ายเองทั้งหมด
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ  ทนายจำเลยที่สองถามว่า กาณฑ์ จำเลยที่สอง ไม่ได้มีพฤติการณ์ยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย หรือกระทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า จากการข่าวที่ติดตามมาหลายครั้งกาณฑ์ จำเลยที่สอง ไม่เคยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวชวนคนมาชุมนุมเลยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สองถามต่ออีกว่า แต่จากการทำงาน และได้รับข้อมูลจากทีมงานไม่เคยปรากฏว่ากาณฑ์เคยชักชวนคนมาชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่เคยชักชวน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ที่ทำงานของ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ได้ทำงานบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหนาวยงานอื่น ปกติจะทำข้อมูลส่งให้ผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า เคยได้รับคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายจาก คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่มีคำสั่งต่อ พ.ต.อ.สุรศักดิ์โดยตรง หรือสั่งมาถึงหน่วยงานของตรวจสันติบาลให้ทำตามคำสั่งหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่เคยได้รับคำสั่ง ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า คสช. จะทำอะไรก็ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจสันติบาลใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ในระดับผู้บังคับบัญชา
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในการชุมนุมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 การชุมนุมตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีเหตการณ์ความรุนแรง, ไม่มีการยั่วยุผู้ชุมนุม และไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งใน และนอกเครื่องแบบใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า เคยไปให้การกับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ โดยไปให้การกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ทนายจำเลยกล่าวว่าแต่ไม่มีเอกสารบันทึกการสอบสวนของ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ในพยานเอกสารในคดีนี้ อัยการแถลงว่า มีเอกสารบันทึกการสอบสวนจริง แต่โจทก์ไม่ได้ส่งคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานปากนี้เข้ามาใช้ในคดีนี้ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ไปให้การกับพนักงานสอบสวน มอบอะไรให้กับพนักงานสอบสวนบ้าง พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า มอบสำเนาการสืบสวนหนึ่งชุด ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทำส่งให้ผู้บังคับบัญชา โดยพนักงานสอบสวนรับไว้ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ยืนยันว่าได้ส่งเพียงเอกสารชุดนี้ชุดเดียวให้กับพนักงานสอบสวนตามที่บันทึกไว้ในคำให้การ
 

ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เคยพบ และรู้จักกับ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพมาก่อนหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า เคยพบ ทนายจำเลยที่สองถามต่อว่า ท่านเอาข้อมูลในคดีนี้ไปมอบให้กับ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพมาก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่  ทนายจำเลยที่สองถามคำถามสุดท้ายว่า ข้อมูลที่ส่งให้ผู้บังคับบัญชา จะถึงมือของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์จบการศึกษาจากที่ไหน พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทนายจำเลยที่สามถามว่า ป้ายรูปวงจรชีวิตยุงที่พูดถึงการสืบทอดอำนาจ, ป้ายหยุดสืบทอดอำนาจ และป้ายหยุดยื้อเลือกตั้ง ก่อนให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ของประชาชนไหม พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ถึงขั้นก่อนให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า ป้ายที่กล่าวมาไม่ใช่ป้ายข้อความที่ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดินใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ไม่มีความคิดเห็นในส่วนนี้
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ได้ลงพื้นที่ติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทุกครั้งหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไปทุกครั้ง ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า แล้วในการชุมนุมทุกครั้งมีการยุยงให้คนออกมากระทำความผิดไหม พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า มีแต่การเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า วัตถุประสงค์หลักของการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งคือให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ เพื่อให้ คสช. จัดให้มีการเลือกตั้ง ทนายจำเลยที่สามถามว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือเรียกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อเดือน เมษายน 2560 ขณะเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้วใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สามถามว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พ.ต.อ.สุรศักดิ์ไปเลือกตั้งหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไปครับ ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการนำผู้แทนเข้าไปสู่สภาใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สามถามว่า บุคคลที่เป็นแกนนำเป็นคนที่มีการศึกษา มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง เพียงแต่เห็นต่างกับรัฐบาลเท่านั้นใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ใช่ แต่ไม่ทราบว่ามีอาชีพ หรือมีการศึกษาอะไรกันบ้าง
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า จากพยานเอกสารที่เป็นภาพโพสต์เฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนมาร่วมการชุมนุม มีชื่อของณัฏฐาเป็นคนโพสต์ด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มี ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า จากที่มีการติดตามกลุ่มคนที่เป็นแกนนำการชุมนุม รวมถึงณัฏฐาด้วย พบว่ามีการชักชวนให้คนใช้ความรุนแรง และชักชวนให้ประชาชนกระทำการล่วงละเมิดต่อกฎหมายหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มี มีเพียงการเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้าน คสช. ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า แล้วมีการชักชวนให้ประชาชนออกมาทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบความมั่นคงของประเทศหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่เคยมีการชักชวนให้กระทำผิดกฎหมายโดยตรง แต่ถ้าคนออกมาชุมนุมเยอะก็จะกระทบ
 

ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในวันเกิดเหตุเห็นณัฏฐา จำเลยที่สี่ขึ้นพูดหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์เห็นขึ้นพูด แต่ไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เนื่องจากต้องเดินไปมาทั่วพื้นที่การชุมนุม ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า จำเลยที่สี่เดินทางถึงที่ชุมนุมเวลาใด พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า จำเลยที่สี่ ได้มีการพูดปราศรัยใดที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง และยุยงให้ประชาชนกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ฟังประติดประต่อกัน ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า จากประสบการณ์การทำงานด้วนความมั่นคงของ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ ที่ทำมาประมาณ 20 ปี มวลชนประมาณ 500 คนจะล้มล้างการปกครองได้หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ถ้าการชุมนุมจุดติดก็จะสามารถล้มล้างการปกครองได้ ถ้าจุดไม่ติดการชุมนุมก็หยุดไป ศาลได้สอบถามทนายจำเลยที่สี่ว่าจะให้ศาลบันทึกคำถามนี้หรือไม่ ให้ทนายจำเลยที่สี่ตัดสินใจอีกที ทนายจำเลยที่สี่ได้ปรึกษากับทีมทนายจำเลย และแถลงต่อศาลว่าขอยกเลิกคำถามที่ศาลทักท้วง ศาลไม่จดบันทึกคำถามและคำตอบนี้
 

จำเลยที่สี่เริ่มทำการสืบพยานต่อโดยถาม พ.ต.อ.สุรศักดิ์ว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ไม่ได้มีการทำความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมส่งให้กับผู้บังคับบัญชาใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ ตอบว่า ใช่ ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับความเห็นเลย ทนายจำเลยที่สี่ถามต่อว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่าใช่ ทนายจำเลยที่สี่ถามคำถามสุดท้ายว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์ไม่มีส่วนร่วมในการสั่งฟ้องคดีด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า พ.ต.อ.สุรศักดิ์พบว่าสุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้าได้ทำการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนคนมาชุมนุมหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่พบ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อเรียกร้องใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่ออีกว่า การชุมนุมทุกครั้งก็เป็นเหมือนกันทุกครั้งคือ ไม่มีอาวุธ และไม่มีการทำร้ายกัน พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า คำปราศรัยของสุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า ที่พูดถึงข้อเรียกร้องในการให้มีการเลือกตั้ง และให้ คสช. หยุดสืบทอดอำนาจ ในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.สุรศักดิ์จะทราบได้หรือไม่ว่าเรื่องที่ปราศรัยจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า แล้ว พ.ต.อ.สุรศักดิ์ทราบหรือไม่เกี่ยวกับเรื่อง ส.ว. แต่งตั้ง พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่ออีกว่า แล้วทราบเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า แล้วเรื่อง ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ และอยู่ในตำแหน่งได้ห้าปีทราบหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ
 

ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า ในการปราศรัยของสุกฤษฎ์ ไม่มีการพูดให้ผู้ชุมนุมใช้อาวุธ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือทำลายสถานที่ต่างๆ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หน้าถามต่อว่า ทั้งก่อนแหละหลังวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้ง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามต่อว่า หลังจากวันเกิดเหตุ คสช. ยังทำงานต่อใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามคำถามสุดท้ายว่า การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่มีผลจากการเขียนกฎหมายเลือกตั้งที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังกฎหมายออก 90 วัน กฎหมายฉบับดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายเลือกตั้งฉบับเดิมๆ อย่างไร พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า จากประสบการณ์การทำงานของ พ.ต.อ.สุรศักดิ์การชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งเป็นการชุมนุมที่ “ใสใส” คือ นัดคน ปราศรัย แล้วแยกย้าย ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่าใช่ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า การชุมนุมในคดีนี้จัดโดยนักศึกษา และชาวบ้านหลายกลุ่มใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า แกนนำที่มีอายุมากที่สุดคือณัฏฐา จำเลยที่สี่ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า มวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นป้าๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอายุมากแล้วรุ่นป้า พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่า ใช่
ทนายจำเลยที่หกถามว่า พยานเอกสารประเมินข้อดี ข้อเสียของการฟ้องคดีแก่ผู้ชุมนุม พ.ต.อ.สุรศักดิ์เป็นผู้จัดทำหรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้ทำ ศาลปรามทนายจำเลยที่หกว่าพยานเอกสารฉบับนี้พยานตอบว่าไม่ได้ทำแล้ว ไม่ให้ถามในส่วนของพยานเอกสารฉบับนี้ให้ไปถามกับพยานที่เกี่ยวข้อง ทนายจำเลยที่หกตอบรับ และถามคำถามต่อไป
 

ทนายจำเลยที่หกถามว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกดำเนินคดีหลายครั้งเพื่อให้หยุดชุมนุม ตามที่บันทึกไว้ในพยานเอกสารที่เป็นความเห็นในการฟ้องคดีกับผู้ชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หกถามว่า ทราบหรือไม่ว่ามีคนในกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกทำร้ายร่างกาย เช่นฟอร์ด เส้นทางสีแดง, เอกชัย หงส์กังวาน และสิรวิชญ์ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ทราบข่าวจากสื่อมวลชน ทนายจำเลยที่หกถามต่อว่า เป็นการทำร้ายกดดันไม่ให้เคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หกถามคำถามสุดท้ายว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีข้อเรียกร้องคือ ไล่ คสช. ออกไป แต่ยังต้องการให้มีรัฐบาลอยู่เพื่อจัดการเลือกตั้ง ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สุรศักดิ์รับว่าใช่
 

อัยการไม่ถามติง เสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลาประมาณ 14.55 น. ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอยกเลิกนัดในวันที่ 9 สิงหาคมซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานนัดแรก เพื่อนัดประชุมคดี และจัดทำคำเบิกความของจำเลยเป็นเอกสาร เพื่อให้กระบวนการรวดเร็ว เนื่องจากใช้ทนายความหลายทีม และจำเลยหลายคน ไม่มีเวลานัดเจอกับจำเลยอย่างพร้อมเพรียง อีกทั้งคิดว่าวันนัดสืบพยานจำเลยที่เหลือน่าจะเพียงพอ จึงขออนุญาตศาลให้งาวันนัดสืบพยานในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 อัยการไม่คัดค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้งดวันนัดสืบพยานจำเลยวันแรกในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ได้
ศาลอ่านคำเบิกความของพยานผ่านไมโครโฟน และอ่านกระบวนพิจารณาคดีในวันนี้ และนัดหมายสืบพยานโจทก์นัดต่อไปในวันที่ 6 สิงหาคม 2562
 
 
6 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
 

เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 811 ชลธิชา, กาณฑ์, ณัฏฐาและอานนท์ พร้อมด้วยทนายจำเลยทยอยเดินทางมารอการสืบพยานโจทก์ เวลา 9.35 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาในคดีอื่นก่อนสองคดี และเวลา 9.50 น.เริ่มการสืบพยานโจทก์ ศาลถามอัยการว่า วันนี้มีพยานนำสืบจำนวนกี่ปาก อัยการตอบว่า สามปากและขอนำพ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง ขึ้นเบิกความก่อนเป็นปากแรก
 
 
พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง พยานโจทก์ปากที่สี่
 
 
พ.ต.อ.สมยศเบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสน.นางเลิ้ง ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงครามมีหน้าที่สืบสวน, จับกุมผู้กระทำความผิดทางอาญาและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ได้รับแจ้งจากฝ่ายสอบสวนและการข่าวว่า กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาและกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นำโดยสิรวิชญ์ และรังสิมันต์จะจัดการชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00-20.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
 

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 12.00 น. เริ่มมีกลุ่มมวลชนมายืนพักคอยในร้านแมคโดนัลด์ประมาณสิบคน ต่อมาเวลา 13.30 น. มีมวลชนเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน มวลชนที่มีชื่อเสียงเช่น อนุรักษ์ เจนตวณิชย์ มีการพูดคุยเรื่องการชุมนุม พ.ต.อ.สมยศมองว่า ผู้ชุมนุมมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาในการตั้งจุดคัดกรอง โดยขอกำลังตำรวจในเครื่องแบบมาดูแลจุดคัดกรอง เวลา 14.00 น. มีการจัดตั้งจุดคัดกรองผู้ที่เข้าออกเพื่อแยกระหว่างผู้ที่มาชุมนุมและผู้ที่มาใช้บริการร้านแมคโดนัลด์ เวลา 15.00 น. มีผู้ชุมนุมมาอยู่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ประมาณ 150 คน โดยพวกเขาเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจตำรวจที่ตั้งจุดคัดกรองและตะโกนว่า อยากเลือกตั้ง เวลานั้นยังไม่มีแกนนำร่วมด้วย ตำรวจจึงเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการตั้งจุดคัดกรอง เวลา 16.00 น. ชลธิชา เดินทางมาถึงหน้าร้านแมคโดนัลด์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เรื่องการตั้งจุดคัดกรอง แต่ชลธิชาแสดงท่าทีไม่พอใจและประกาศผ่านโทรโข่งต่อผู้ชุมนุมว่า ย้ายที่พักคอยไปฝั่งร้านสเต็กติดมัน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนฝั่งซ้ายของร้านแมคโดนัลด์ เมื่อเคลื่อนย้ายไปแล้วผู้ชุมนุมยืนกันอยู่บนฟุตบาท หลังจากนั้นสุกฤษฎ์และชลธิชาได้สลับกันปราศรัยผ่านโทรโข่งขนาดเล็ก เนื้อหาการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลคสช.
 
 
เวลา 19.00 น. มีรถกระบะมีเครื่องขยายเสียงที่ท้ายกระบะมาจอดที่ถนนราชดำเนินติดกับจุดที่ชุมนุม ต่อมารังสิมันต์ ขึ้นท้ายกระบะปราศรัยโจมตีรัฐบาลและคสช. ต่อมามีสิรวิชญ์และอานนท์ขึ้นปราศรัย โดยมีกาณฑ์เป็นพิธีกร เวลา 20.00 น. อานนท์ปราศรัยเป็นคนสุดท้าย เมื่อปราศรัยเสร็จอานนท์ สิรวิชญ์และรังสิมันต์จึงขึ้นรถตู้ของสน.สำราญราษฎร์เพื่อพาตัวไปมอบตัวตามหมายจับที่สน.ปทุมวัน หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้าย พ.ต.อ.สมยศ เพิ่งมาทราบในภายหลังว่า คสช.มอบอำนาจให้พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ มาแจ้งความดำเนินคดีตามความผิดมาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558
 
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สมยศปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่วันเกิดเหตุพ.ต.อ.สมยศไม่ได้ทำการจับกุมผู้ชุมนุมเลยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งและเรียกร้องการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยกล่าวว่า อย่าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปและให้หยุดการสืบทอดอำนาจเผด็จการใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พ.ต.อ.สมยศดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเช่น ให้มีการเลือกตั้งเหล่านี้อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 50 ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ ศาลปรึกษากับทนายจำเลยที่หนึ่งว่า ให้ถามในข้อเท็จจริงดีหรือไม่ มิเช่นนั้นคำเบิกความที่ได้จะเป็นความเห็น ทนายจำเลยที่หนึ่งยินดีที่จะเปลี่ยนไปถามข้อเท็จจริง
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สมยศไม่ได้ทำการจับกุมผู้ชุมนุมเพราะเรียกร้องการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศอธิบายว่า เหตุที่ไม่ทำการจับกุมเพราะผู้บังคับบัญชาบอกว่า ถ้าหากมีการชุมนุมในที่ชุมนุมจะเกิดเหตุวุ่นวายจึงได้กรอบการทำงานไว้เพียงถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จากนั้นให้พนักงานสอบสวนถอดความเนื้อหาการปราศรัยและส่งให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า เนื้อหาดังกล่าวเข้าข่ายผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ในวันเกิดเหตุมีการรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบตลอด ทนายจำเลยที่หนึ่งถามพ.ต.อ.สมยศต่อว่า ได้มีการรายงานว่า เนื้อหาการปราศรัยยั่วยุหรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ในรายงานเป็นรายงานตามข้อเท็จจริงโดยสรุป ไม่ได้มีการใส่ความคิดเห็นลงไป ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ที่จุดคัดกรองประชาชนยินยอมให้บัตรประชาชนแก่ตำรวจประจำจุดคัดกรอง จนกระทั่งสามารถเก็บข้อมูลของผู้ที่ไปร่วมชุมนุมได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ และรับว่า ใช่ เมื่อทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จากการตรวจค้นไม่ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมมีการพกพาอาวุธ การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สมยศทราบหรือไม่ว่า บทบัญญัติใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดเรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะถือบังคับไม่ได้ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จากที่เบิกความตอบอัยการไปว่า ชลธิชามีท่าทีไม่พอใจเรื่องการจุดคัดกรอง ท่านพอจะคำปราศรัยของชลธิชาในเรื่องที่ส่งผลดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมหรือไม่ พ.ต.อ.สมยศแสดงท่าทีจำไม่ได้ ทนายจำเลยที่หนึ่งจึงให้พ.ต.อ.สมยศอ่านถอดความคำปราศรัยโดยสรุปทำนองว่า ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมไม่ให้ขัดขวางหรือละเมิดสิทธิคนอื่น ไม่ปิดกั้นและขวางทางจราจร ซึ่งภาพรวมของการปราศรัยเป็นอย่างสุภาพ ไม่ได้ปลุกระดมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ไม่มีคำพูดที่ยั่วยุ แต่อานนท์มีการโจมตีการทำงานของรัฐบาล การวิพากษณ์วิจารณ์ หากเป็นการติชมโดยสุจริตนั้นกระทำได้ แต่หากพูดในที่ชุมนุมก็อาจเกิดความวุ่นวาย
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของบุคคลในรัฐบาลคสช. ศาลจึงขอหารือโดยกล่าวว่า ศาลเห็นว่า การสืบพ.ต.อ.สมยศที่ผ่านมาน่าจะรับฟังได้แล้วว่า พูดเรื่องทุจริตแล้ว ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า แล้วเวลาที่สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวเรื่องทุจริตเกิดความวุ่นวายตามมาหรือไม่ ศาลกล่าวว่า เอาเป็นว่า พ.ต.อ.สมยศตอบแล้วว่า สุดท้ายไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า หลังจากวันนั้นมีการนัดชุมนุมในอีกหลายครั้งต่อมาและมีความวุ่นวายเกิดขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า มีการดำเนินคดีทางกฎหมายและกำลังพิจารณาในชั้นศาล ศาลกล่าวอีกว่า พ.ต.อ.สมยศเบิกความแล้วว่า ไม่ได้มีความวุ่นวาย การถามลักษณะนี้เป็นการถามความคิดเห็น ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พ.ต.อ.สมยศอยู่เอกสารว่า มีโรดแมปและมีการเลื่อนการเลือกตั้ง พ.ต.อ.สมยศรับข้อเท็จจริงตามเอกสาร พ.ต.อ.สมยศทราบว่า ชลธิชาทำหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตามกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯใส่เครื่องแบบเพื่อแสดงตนตามมาตรา 19 ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.อ.สมยศแต่งกายนอกเครื่องแบบปะปน แฝงตัวไปในที่ชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ไม่ได้แฝงตัวเข้าไป ที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบเพราะเป็นฝ่ายสืบสวนหาข่าวไม่ใช่เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุม
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตลอดการปฏิบัติหน้าที่ 2557-ปัจจุบัน หลายครั้งทำงานร่วมกับหน่วยข่าวสารและทหารคสช. และครั้งนี้ก็ทำงานบูรณาการระหว่างชุดของพ.ต.อ.สมยศและทหารคสช. พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในการปราศรัยไม่มีการใช้คำพูด รุนแรงและยั่วยุให้ประชาชนตอบโต้ระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ พ.ต.อ.สมยศรับว่า เมื่อมีการวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จึงเข้าใจว่า เป็นการโจมตีรัฐบาลด้วย ทนายจำเลยที่สองถามว่า กาณฑ์ทำหน้าที่เกริ่นนำให้คนอื่นปราศรัยต่อใช้หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ใช่และมีการปราศรัยพูดให้มีการเลือกตั้ง แต่ตนจำคำปราศรัยของกาณฑ์ทั้งหมดไม่ได้ ในการบันทึกข้อมูลไม่ได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวทั้งหมด ทนายจำเลยที่สองขอให้อธิบายเรื่องจุดคัดกรองว่า เป็นหน้าที่รับผิดชอบของใครและมีการเตรียมแผนอย่างไร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า จุดคัดกรองเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำที่จุดคัดกรองนั้นสวมใส่เครื่องแบบทุกคน ยกเว้นฝ่ายสืบสวนและทหาร มีการตั้งแผงเหล็ก กำหนดจุดเข้าออกที่ชุมนุมและขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชน
 

ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า จำได้หรือไม่ว่า อานนท์ปราศรัยว่า อย่างไร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า อานนท์ปราศรัยในทำนองที่ว่า เราจุดติดแล้ว หมดเวลาคสช. ให้ไปเชิญชวนคนมาเป็นหมื่นเป็นแสนคน ทนายจำเลยที่สามถามว่า ในการชุมนุมแต่ละครั้งมีจำนวนคนประมาณเท่าไหร่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ประมาณ 300-500 คน ในการปราศรัยมีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคคลในคสช.และรัฐบาลหลายคนรวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี อานนท์มีการพูดถึงกรณีอุทยานราชภักดิ์ การไม่ยื่นบัญชีนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ทนายจำเลยที่สามถามว่า แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปแสดงความเห็นได้โดยสุจริต สามารถติชมได้ ถ้าแสดงออกบนโลกออนไลน์ก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อพูดในที่ชุมนุมมันมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 อยู่ ทนายจำเลยที่สามถามต่อว่า หลังจากนั้นมีการประสานงานกับแกนนำอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ทางตำรวจมีการประสานแกนนำคือ รังสิมันต์, สิรวิชญ์และอานนท์ เพื่อบอกให้ทราบว่า ทั้งสามคนมีหมายจับของสน.ปทุมวันอยู่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ในขณะควบคุมตัวนั้นทั้งามคนไม่ได้มีการต่อสู้ ขัดขวางการจับกุมและเดินไปขึ้นรถตู้โดยไม่มีการขัดขืนใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.อ.สมยศทราบหรือไม่ว่า ณัฏฐาและจำเลยรายอื่นๆประกอบอาชีพอะไร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ทราบว่าณัฏฐาเคยเป็นพิธีกรที่ช่องวอยซ์ ทีวี ส่วนจำเลยรายอื่นๆนั้นเป็นนักศึกษาไม่ได้ประกอบอาชีพ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในการชุมนุมมีการพูดคุยกันในเรื่องอะไรบ้าง พ.ต.อ.สมยศตอบว่า พูดคุยกันในหลายประเด็นทั้งการเลือกตั้งและการโจมตีคสช. แต่พ.ต.อ.สมยศจำเนื้อหาที่ณัฏฐาปราศรัยไม่ได้ คร่าวๆคือมีการเรียกร้องให้หยุดการดำเนินคดีที่ละเมิดสิทธิ แสดงความไม่เห็นด้วยที่คสช.ดำเนินคดีเหล่านั้นเนื่องจากมองว่า เป็นการวิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จะเป็นถ้อยคำที่รุนแรง ยุยงปลุกปั่นหรือไม่ พ.ต.อ.สมยศไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.อ.สมยศจำได้หรือไม่ว่า ณัฏฐาเดินทางมาที่ชุมนุมได้อย่างไร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า จำไม่ได้ พ.ต.อ.สมยศไม่ทราบว่า การเรียกร้องการเลือกตั้งของจำเลยและกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะเป็นประโยชน์ของตัวจำเลยเองหรือประเทศชาติ แต่หลังจากกชุมนุมเสร็จสิ้นรัฐบาลไม่ได้ถูกล้มล้าง
 

ทนายจำเลยที่ห้าถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า พ.ต.อ.สมยศจำคำพูดของสุกฤษฎ์ในที่ปราศรัยได้หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า จำไม่ได้
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 

ทนายจำเลยที่หกถามว่า จุดคัดกรองไม่ได้ถูกบังคับให้มีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ใช่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ทนายจำเลยที่หกถามว่า ตำรวจมีการดูแลการชุมนุมอย่างไร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ตำรวจมีการประชุมร่วมกันทั้งสามสน.คือ สน.ชนะสงคราม, นางเลิ้งและสำราญราษฎร์เรื่องการดูแลการชุมนุม ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีนั้นทราบว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้ร้องทุกข์ในข้อหามาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ทนายจำเลยที่หกให้พ.ต.อ.สมยศดูเอกสารมีเนื้อหาว่า การแจ้งความมุ่งหวังกดดัน สร้างความยุ่งยากให้แก่แกนนำ ไม่ได้มุ่งหวังให้ไปเรือนจำ ข้อความดังกล่าวเป็นของตำรวจหรือทหาร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ไม่ใช่ความเห็นของพ.ต.อ.สมยศและในการประชุมร่วมทั้งสามสน. ไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ ทนายจำเลยที่หกถามว่า การปราศรัยเรื่องการเลือกตั้งและอุทยานราชภักดิ์เป็นการพูดคุยของคนในกระแสสังคม ไม่ได้กล่าวลอยๆ พ.ต.อ.สมยศรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามว่า หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้วไม่มีการชุมนุมต่อหรือไม่ พ.ต.อ.สมยศตอบว่า ใช่
 
 
อัยการถามติง
 
 
อัยการถามว่า จากที่ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งว่า มีการจัดตั้งจุดคัดกรองนั้น อยากทราบว่า ทำไปเพื่ออะไร พ.ต.อ.สมยศตอบว่า การจัดตั้งจุดคัดกรองเพื่อพิสูจน์ทราบบุคลลว่า มีใครมาร่วมบ้าง
 
 
พ.ต.ท.สันติ พิทักษ์สกุล รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ พยานโจทก์ปากที่ห้า
 
 
พ.ต.ท.สันติเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้รับคำสั่งให้สืบสวนการชุมนุมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินเป็นการชุมนุมต่อเนื่องมาจากการชุมนุมที่สกายวอล์คปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 จากการตรวจสอบทราบว่า จะมีการชุมนุมจริงและผู้ชุมนุมจะเดินทางไปถนนราชดำเนินเอง จากนั้นเขาจึงโทรศัพท์สอบถามชลธิชา ชลธิชาแจ้งว่า จะแจ้งการชุมนุมสาธารณะในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งในวันดังกล่าวชลธิชาเดินทางมาที่สน.สำราญราษฎร์แจ้งการชุมนุมและขออำนวยความสะดวกทั้งการจราจรและความปลอดภัย โดยชลธิชาได้รอหนังสือตอบกลับการชุมนุมเลยในวันเดียวกัน ในหนังสือตอบกลับตำรวจได้แจ้งเงื่อนไขการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 15 และมาตรา 16 ชลธิชาอ่านและบอกต่อตำรวจว่า จะดำเนินการตามที่ระบุมา
 

ก่อนวันชุมนุมเขามีการติดตามข้อมูลของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งผ่านเฟซบุ๊กและได้โทรศัพท์ไปสอบถามรังสิมันต์ว่า มีการจัดการชุมนุมจริงแต่จำนวนไม่แน่นอน จึงยึดการดูแลการชุมนุมตามการชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีการจุดเทียน ร้องเพลงและอ่านแถลงการณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนจะมีการปราศรัยด้วยหรือไม่ จำไม่ได้ สน.สำราญราษฎร์มีการเตรียมอุปกรณ์และกำลังพลไว้รองรับการชุมนุม อุปกรณ์เช่นแผงเหล็ก,กรวยและพาหนะ เวลาประมาณ 11.10 น. ศาลขอให้พักการสืบพยานไว้ก่อนเพื่อที่จะอ่านคำเบิกความให้พ.ต.อ.สมยศ ฟังก่อนและให้พ.ต.ท.สันติไปพักกลางวัน โดยนัดให้กลับมาพิจารณาคดีอีกครั้งในเวลา 13.00 น. ศาลอ่านคำเบิกความของพ.ต.อ.สมยศ เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 11.30 น.
 

เวลา 13.00 น. เริ่มสืบพยานปากพ.ต.อ.สันติต่อจากช่วงเช้า พ.ต.ท.สันติเบิกความว่า วันเกิดเหตุเขาลงพื้นที่การชุมนุมในฐานะเจ้าหน้าที่สอบสวน ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ เวลา 13.30 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางจุดชุมนุม สภาพรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีตำรวจวางกำลังโดยรอบ มีการนำแผงเหล็กไปกั้นรอบอนุสารีย์ประชาธิปไตยและใช้แผงเหล็กกั้นระหว่างฟุตบาทและพื้นผิวจราจร ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จำนวนโดยเฉลี่ยตลอดการชุมนุมอยู่ที่ 200 คน ระหว่างการชุมนุมมีการจัดกิจกรรมปราศรัยเรื่องโครงการรัฐบาลว่า มีการทุจริต กระทำการโดยมิชอบ
 
 
พ.ต.ท.สันติ เบิกความย้อนว่า ในตอนเริ่มการชุมนุมมีชลธิชามาเรียกมวลชนที่กระจัดกระจายมารวมตัวกันที่ร้านแมคโดนัลด์ ตำรวจจากสน.ชนะสงครามมีการตั้งจุดคัดกรอง จากนั้นเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวจากหน้าร้านแมคโดนัลด์ไปยังฝั่งร้านสเต็กติดมัน ซึ่งตั้งอยู่ถนนด้านซ้ายของร้านแมคโดนัลด์ เหตุที่มีการย้ายที่ชุมนุมนั้นไม่ทราบเหตุผลแต่วันดังกล่าวตำรวจวางกำลังเข้มแข็งมาก การเคลื่อนย้ายจุดชุมนุมส่งผลต่อแผนการรักษาความปลอดภัยของตำรวจที่สามารถใช้งานได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซนต์ หลังจากเคลื่อนย้ายแล้วมีการปราศรัยโดยรังสิมันต์, อานนท์, สิรวิชญ์และณัฏฐา เนื้อหาเป็นการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและการทำงานของรัฐบาล ขณะที่กาณฑ์จะทำหน้าที่เป็นพิธีกร ส่วนสุกฤษฎ์ไม่เห็นว่า ทำการปราศรัยแต่เห็นว่า ไปในการชุมนุมด้วย พื้นที่ชุมนุมมีชายฉกรรจ์ค่อนข้างเยอะ ศาลถามย้ำอีกครั้งว่า การชุมนุมมีคนเข้าร่วมหลากหลายทั้งชายและหญิง มีคนสูงอายุด้วย รวมทั้งไม่ปรากฏว่า มีบุคคลพกพาอาวุธด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติรับว่า เป็นเช่นนั้น พ.ต.ท.สันติเบิกความต่อว่า การชุมนุมเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น. ก่อนเวลาที่แจ้งการชุมนุมไว้ว่าจะเสร็จสิ้นประมาณ 21.00 น.
 
 
เมื่อเลิกการชุมนุมแล้วรังสิมันต์, อานนท์และสิรวิชญ์ลงมาจากรถกระบะ จากนั้นผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ได้แสดงหมายจับของสน.ปทุมวัน มีการทำบันทึกการจับกุม แต่ทั้งสามไม่ประสงค์ที่จะลงนามในบันทึกการจับกุมอ้างว่า เป็นการดำเนินการโดยมิชอบ อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ได้แจ้งสิทธิและแสดงเอกสารแล้ว หลังจากนั้นพ.ต.ท.สันติได้ทำรายงานการจับกุมประกอบภาพถ่ายเสนอผู้บังคับบัญชา
 
 
จากการชุมนุมเห็นว่า ความมุ่งหมายของการชุมนุมดังกล่าวทำให้รัฐบาลเสื่อมเสียชื่อเสียงและลดความน่าเชื่อถือต่อนานาประเทศและส่งผลต่อประชาชนที่ไม่เคยรู้เรื่องเดิมมาก่อนมาฟังแล้วอาจจะคล้อยตามว่า รัฐบาลเป็นเช่นนั้นก็เป็นได้ การชุมนุมเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะเกินขอบเขตไปนิดหนึ่ง มีเจตนาแอบแฝงให้ประชาชนรวมตัวกันมากขึ้น ศาลถามว่า ประเด็นนี้เป็นความเห็นจะเบิกความเช่นนี้ใช่หรือไม่ ปรึกษาหารือกันกับอัยการและพยาน สุดท้ายแล้วไม่ได้จดบันทึกข้อความดังกล่าวไว้ พ.ต.ท.สันติเบิกความต่อว่า รู้จักผู้ชุมนุมอยู่บ้างเนื่องจากมีการติดต่อเรื่องการชุมนุมจึงพูดคุยกันมาตลอด แต่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จำเลยทั้งหมดปฏิบัติตามเงื่อนไขการชุมนุมที่ตำรวจแจ้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่ และในคดีนี้ไม่มีข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และรับว่า ตามหนังสือตอบกลับการชุมนุมไม่ได้มีการแจ้งเรื่องไม่ให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การเคลื่อนย้ายจุดหลักของการชุมนุมอาจทำให้เกิดความสับสน แต่ไม่ได้เกิดความวุ่นวายใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ทางตำรวจต้องการให้ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์เพราะพื้นที่กว้างกว่า เจ้าหน้าที่ดูแลได้ดีกว่า เมื่อแกนนำประกาศย้ายที่ชุมนุมก่อให้เกิดความสับสนเล็กน้อย ไม่ได้มีการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ หลังเลิกการชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เมื่อตำรวจต้องการควบคุมตัว รังสิมันต์, สิรวิชญ์และอานนท์ยินดีไปกับตำรวจ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า คำปราศรัยเรื่องการบริหารงานไม่โปร่งใสเป็นเรื่องที่พูดมันมาก่อนแล้ว พ.ต.ท.สันติ รับว่า ใช่ แต่มีคำเพิ่มเติมว่า ศัตรูของเราคือคสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร บิดาแห่งการฉ้อโกง ขายชาติ ทนายจำเลยที่หนึ่งกล่าวว่า เดี๋ยวก่อนมีคำว่า ขายชาติ ทำลายชาติหรือไม่ และยื่นคำถอดความการปราศรัยให้อ่าน พ.ต.ท.สันติ เบิกความใหม่เหลือแค่ว่า ศัตรูของเราคือคสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร บิดาแห่งการฉ้อโกง 
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า คำปราศรัยเป็นเรื่องที่สื่อก็วิจารณ์ด้วยในขณะนั้นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติ ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นวิสัยของประชาชนที่จะติชมและวิจารณ์โดยสุจริตใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า การที่คสช.ออกไป มีการเลือกตั้งและมีคณะรัฐมนตรีใหม่เป็นการปราศรัยตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 พ.ต.ท.สันติ รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ตามที่พ.ต.ท.สันติเบิกความไปว่า การดูแลการชุมนุมใช้แผนเดียวกับการชุมนุมวันที่ 10 ธันวาคม 2560 พ.ต.ท.สันติอยู่ในที่ชุมนุมด้วยหรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า เขาอยู่ในที่ชุมนุมวันดังกล่าว ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีการจุดเทียน ร้องเพลง ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.สันติพูดถึงเหตุการณ์การชุมนุมที่สกายวอล์คปทุมวัน พ.ต.ท.สันติอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นลักษณะต่างคนต่างมาไม่ใช่ลักษณะของการขนคนมาชุมนุม พ.ต.ท.สันติรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.สันติไม่เคยเห็นว่า สิรวิชญ์ไปร่วมประชุมวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยรายอื่นๆใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ก่อนหน้าที่พ.ต.ท.สันติจะมารับราชการในเขตนครบาลเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า เขาเป็นพนักงานด้านการข่าวมาประมาณ 30 ปี ก่อนหน้านี้เคยรับราชการในเขตนครบาลระหว่างปี 2538-2554 จากนั้นไปรับราชการในเขตพื้นที่สถานีตำรวจภูธร ก่อนจะกลับมารับราชการในเขตนครบาลในปี 2556 ถึงปัจจุบัน ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตลอดการรับราชการของพ.ต.ท.สันติเห็นความต้องการในการเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดเช่น กลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนอยากเลือกตั้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติรับว่า เป็นเช่นนั้น
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.ท.สันติทำหน้าที่ในการหาข่าว ความสนใจหลักอยู่ในเฟซบุ๊ก ซึ่งที่พ.ต.ท.สันติเบิกความไปว่า กลุ่มจำเลยมีการชักชวนประชาชนมาชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่มีรายละเอียดการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ของกาณฑ์อยู่เลย ใช่หรือไม่ พร้อมให้ดูเอกสารประกอบ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า รายงานข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ที่มีการพูดถึงการเฝ้าระวังและติดตามแกนนำหลักไม่ได้ปรากฏพฤติการณ์ของกาณฑ์เลยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่
 

ทนายจำเลยที่สองถามว่า ชลธิชาทำหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสน.นางเลิ้งที่เป็นผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีมาตรการดูแลความปลอดภัยเพราะให้ความสำคัญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองให้พ.ต.ท.สันติดูเอกสารการรายงานบันทึกการพูดของณัฏฐาและชลธิชา ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 และถามว่า รายงานเป็นเนื้อหาการพูดคุยแต่ไม่มีพฤติการณ์ที่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า จำรายละเอียดดีวีดีบันทึกไฟล์วิดีโอเหตุการณ์และคำปราศรัยได้หรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า จำไม่ได้ว่า ในดีวีดีดังกล่าวมีอะไรบ้างและไม่ยืนยันว่า เป็นเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้บันทึกเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ทำกันหลายคนและนำข้อมูลมารวมกันและไม่ทราบด้วยว่า พนักงานสอบสวนจะส่งดีวีดีดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์การตัดต่อหรือไม่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ทราบหรือไม่ว่า หลังจากนั้นพ.อ.บุรินทร์มีการดำเนินการต่อไปอย่างไร พ.ต.ท.ตอบว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามให้พ.ต.ท.สันติดูเอกสารและถามว่า ตามเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความใดๆที่เป็นการปลุกปั่นประชาชนให้กระด้างกระเดื่อง พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ทุกครั้งที่จำเลยและกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมจะถูกดำเนินคดีทุกครั้ง และจำเลยทั้งหมดมีการเปิดเผยการชุมนุมกับตำรวจ ไม่ได้ปิดบัง รวมทั้งการชุมนุมในวันเกิดเหตุไมม่เหตุร้ายขึ้น ชุมนุมเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับไป หลังจากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างผิดปกติขึ้น ไม่มีบุคคคลในประเทศก่อความไม่สงบขึ้น ไม่มีบุคคลใดล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินจากการที่กลุ่มบุคคลปราศรัย พ.ต.ท.สันติรับว่า ใช่ตามที่ทนายจำเลยถาม
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ให้พ.ต.ท.สันติดูเอกสารเป็นภาพโพสต์เฟซบุ๊กที่เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุและถามว่า โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวปรากฏชื่อของณัฏฐาด้วยหรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ดูแล้วไม่มีรายละเอียดว่า ณัฏฐาเชิญชวน ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่มารวมตัวกันมีหลักการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง พ.ต.ท.สันติ รับว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า วันเกิดเหตุณัฏฐาเดินทางมาที่ชุมนุมอย่างไร พ.ต.ท.สันติตอบว่า ณัฏฐาเดินทางมาคนเดียวด้วยรถยนต์ส่วนตัว จำหมายเลขทะเบียนไม่ได้ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.ท.สันติเห็นว่า ณัฏฐาปราศรัยหรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ได้ฟังการปราศรัยของณัฏฐาแต่ไม่ได้ฟังทั้งหมด ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ณัฏฐาปราศรัยเรื่องเดียวกันกับที่พูดที่การชุมนุมที่สกายวอล์คปทุมวันเช่น การตั้งข้อหาที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน พ.ต.ท.สันติตอบว่า การปราศรัยเป็นลักษณะเช่นนั้นในการชุมนุมที่เป็นเหตุในคดีนี้มีการกล่าวถึงเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวัน กล่าวว่า ประชาชนไม่สามารถแสดงออกได้และไม่มีฝ่ายค้านจึงต้องมาพูดแทน ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่มีการสร้างเงื่อนไขว่า ถ้าไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องจะใช้ความรุนแรง เมื่อการชุมนุมเสร็จสิ้น รัฐบาลก็ยังบริหารประเทศได้อยู่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ใช่
 

ทนายจำเลยที่ห้าไม่ค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 

ทนายจำเลยที่หกให้ดูเอกสารมีข้อความว่า การฟ้องคดีมุ่งหวังเพื่อกดดันและสร้างความยุ่งยากให้ฝ่ายแกนนำ ข้อความนี้เป็นความเห็นของฝ่ายตำรวจหรือไม่ พ.ต.ท.สันติตอบว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ของเขาและไม่ใช่ของสน.สำราญราษฎร์
 
 
 
อัยการถามติง
 

อัยการถามว่า ทำไมวันเกิดเหตุถึงไม่มีการจับกุม พ.ต.ท.สันติตอบว่า เขาได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าว จัดชุดรวบรวมข้อมูลถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว อัยการถามว่า การชุมนุมวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และการชุมนุมในวันเกิดเหตุแตกต่างกันอย่างไร พ.ต.ท.สันติตอบว่า การชุมนุมวันที่ 10 ธันวาคม 2560 เป็นพิธีกรรมรำลึกถึงวันรัฐธรรมนูญ ไม่มีการปราศรัยเช่นวันเกิดเหตุที่เป็นการเรียกร้องให้เผด็จการพินาศไป ซึ่งประสงค์ให้ประชาชนรวมตัวกันมากขึ้นเพื่อขับไล่รัฐบาล
 
 
พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ จารุสินธุพงศ์ รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง พยานโจทก์ปากที่หก
 

พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการตำรวจที่สน.นางเลิ้งในตำแหน่งรองผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด เกี่ยวข้องกับเหตุในคดีนี้เนื่องจากได้รับมอบหมายจากพนักงานสอบสวนให้สอบสวนหาข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมาชุมนุมในวันที่ 10 จำเดือนไม่ได้ 2561 จากการสืบสวนพบว่า วันดังกล่าวมีการนัดชุมนุมโดยรังสิมันต์ โรมและสิรวิชญ์ที่ใช้เว็บไซต์นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่มีการชุมนุมเขาไปสืบสวนหาข่าวที่ชุมนุม โดยแต่งตัวนอกเครื่องแบบเพราะเป็นฝ่ายสืบสวน โดยไปกับลูกน้องประมาณสี่ห้าคน เวลา 13.30 น. เขาประจำอยู่ที่ร้านสเต็กติดมัน เยื้องกับร้านแมคโดนัลด์ เวลาดังกล่าวมีผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ประมาณ 50 คน ต่อมาเวลา 15.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาที่ทางเท้าแมคโดนัลด์แสดงท่าทีไม่พอใจที่ตำรวจใช้แผงเหล็กกั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นชลธิชาจึงชวนกลุ่มผู้ชุมนุมข้ามไปที่ร้านสเต็กติดมัน
 

ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยที่บริเวณดังกล่าว ผลัดกันปราศรัยเจ็ดคนคือ ชลธิชา, ณัฏฐา, กาณฑ์, สุกฤษฎ์, รังสิมันต์, สิรวิชญ์ และอีกคนหนึ่ง พ.ต.ท.สุทธิโรจน์นึกอยู่สักพักหนึ่ง ทนายจำเลยจึงให้อัยการถามชื่อนำเลย อัยการจึงถามว่า อานนท์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์รับว่า ใช่ และเบิกความต่อว่า กาณฑ์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกปราศรัยขับไล่คสช. เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง เวลา 19.30 น. อานนท์ปราศรัยทำนองว่า การชุมนุมจุดติดแล้วและจะมีการชุมนุมต่อไป ขณะที่ณัฏฐาชวนร้องเพลง จากนั้นตำรวจสน.สำราญราษฎร์นำหมายจับของอานนท์, สิรวิชญ์และรังสิมันต์ที่ตำรวจสน.ปทุมวันขอศาลออกหมายจับในคดีการชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวัน หลังการชุมนุมจบมีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาและคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ต่อแกนนำการชุมนุม  พ.ต.ท.สุทธิโรจน์กล่าวต่อว่า ไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.สุทธิโรจน์และชุดสอบสวนห้าคนไม่ได้แต่งเครื่องแบบไปปะปนแอบแฝงกับผู้ชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ได้แอบแฝงแต่เป็นการปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ชลธิชามีการแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ทราบว่า มีการแจ้งชุมนุม และเจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมต้องใส่เครื่องแบบ ส่วนของเขานั้นไม่ได้มีกฎหมายใดที่ให้แต่งเครื่องแบบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ไม่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ชุมนุมใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ได้บันทึกเองแต่มีลูกน้องทำ โดยจำชื่อลูกน้องที่เป็นคนบันทึกไม่ได้และไม่แน่ใจว่า ลูกน้องรายดังกล่าวไปให้การกับพนักสอบสวนในคดีนี้หรือไม่ ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ลูกน้องนำพยานหลักฐานใดไปส่งมอบให้พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ลูกน้องส่งมอบภาพถ่ายจากกล้องภาพนิ่งไปมอบให้พนักงานสอบสวนผ่านตน
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ถนนราชดำเนินเคยมีการจัดรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามต่อว่า ในยุคหนึ่งประชาชนจำนวนมากออกมาเดินให้รัฐบาลประกาศรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งแย้งว่า จะไม่ทราบได้อย่างไร อายุของพยานก็ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ดังกล่าว พ.ต.ท.สุทธิโรจน์แก้ไขเป็นว่า ทันเหตุการณ์อยู่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การแสดงออกที่กล่าวมาถือเป็นสิทธิของประชาชนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมดังกล่าวคือ การเรียกร้องไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งการเลือกตั้งเป็นเรื่องของที่มีอยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ใช่ และรับว่า การได้อำนาจมาโดยการยึดอำนาจไม่ใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.ท.สุทธิโรจน์เห็นหรือไม่ว่า จำเลยมรการประชุมวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่เห็น และรับว่า ไม่พบเห็นการกระทำผิดกฎหมายและยั่วเย้าให้ประชาชนกระทำผิดกฎหมาย มีการขับไล่คสช.แต่ไม่ยั่วยุ ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า มูลเหตุแห่งการขับไล่คสช.มาจากการที่จำเลยทั้งหกคนเห็นว่า คสช.เข้าคุมอำนาจโดยมิชอบ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ทนายจำเลยที่สามถามว่า รัฐบาลคสช.เลื่อนการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า การชุมนุมของจำเลยกลุ่มนี้มีที่หน้ากองทัพบกด้วยซึ่งเรียกร้องให้กองทัพบกไม่สนับสนุนคสช. พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สามถามว่า การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.ท.สุทธิโรจน์เห็นว่า ณัฏฐาขนคนมาร่วมชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่เห็นว่า ณัฏฐาขนคนมาชุมนุม ส่วนณัฏฐาจะเดินทางมาอย่างไรนั้นจำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.ท.สุทธิโรจน์จำคำปราศรัยของณัฏฐาได้หรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า จำไม่ได้ว่า ณัฏฐาพูดอะไรบ้าง ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า หลังจากร้องเพลงเสร็จแล้วจำเลยได้ติดลมไปชุมนุมที่อื่นหรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า เสร็จแล้วผู้ชุมนุมมีการแยกย้ายไม่มีเหตุความรุนแรง
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า พ.ต.ท.สุทธิโรจน์เห็นสุกฤษฎ์ขึ้นปราศรัยหรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า เห็นแต่จำคำปราศรัยไม่ได้ทั้งหมด จำได้มีลักษณะทวงสัญญาที่ให้ไว้ว่า จะจัดการเลือกตั้ง ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า การปราศรับมีความรุนแรงและลปุกระดมหยาบคายหรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า ไม่ได้รุนแรง ปลุกระดมและหยาบคาบ
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกให้ดูเอกสารมีข้อความว่า การฟ้องคดีมุ่งหวังเพื่อกดดันและสร้างความยุ่งยากให้ฝ่ายแกนนำ ข้อความนี้เป็นความเห็นของฝ่ายตำรวจหรือไม่ ทนายจำเลยที่หกให้ดูเอกสารมีข้อความว่า การฟ้องคดีมุ่งหวังเพื่อกดดันและสร้างความยุ่งยากให้ฝ่ายแกนนำ ข้อความนี้เป็นความเห็นของฝ่ายตำรวจหรือไม่ พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ตอบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ของสน.นางเลิ้ง
 
 
อัยการไม่ติง การสืบพยานในวันนี้เสร็จสิ้นในเวลา 15.10 น. จากนั้นศาลได้ปรึกษากับคู่ความทั้งสองเรื่องการสืบพยานและการคัดลอกพยานวัตถุในคดีนี้ ก่อนจะอ่านคำเบิกความให้พ.ต.ท.สันติและพ.ต.ท.สุทธิโรจน์ฟัง เสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาเวลาประมาณ 16.00 น.
 
 
7 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
 

เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณา 811 โจทก์และจำเลยสองคนคือ ณัฏฐาและชลธิชา มาพร้อมกันที่ศาล ต่อมาเวลา 9.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และสืบพยานโจทก์ต่อจากวันที่ 6 สิงหาคม 2562 โดยจะสืบพยานทั้งหมดหนึ่งปาก
 
 
พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับการฝ่ายสอบสวน สน.ปทุมวัน พยานโจทก์ปากที่เจ็ด
 
 
พ.ต.ท.สมัครเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งรองผู้กำกับการฝ่ายสอบสวน สน.ปทุมวัน เกี่ยวข้องกับคดีเนื่องจากพ.ต.ท.ไพรัช ไสยเลิศ พนักงานสอบสวนสน.นางเลื้ง เรียกตัวไปให้การ โดยเอารายชื่อของผู้ชุมนุมที่เป็นผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนินมาให้เปรียบเทียบกันว่า ตรงกับผู้ต้องหาในคดีสกายวอล์ค ปทุมวันหรือไม่และกี่คน รายชื่อที่ให้ดูมีประมาณ 40 คนแต่ตรงกันประมาณ 20 คน เฉพาะที่เป็นจำเลยในคดีนี้คือ สิรวิชญ์, ณัฏฐา, รังสิมันต์, สุกฤษฎ์และอานนท์ จากการสอบสวนพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ระบุว่า จำเลยในคดีนี้มีการโพสต์เฟซบุ๊กให้ไปร่วมการชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวันเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ต่อมาเวลา 17.30 น. ซึ่งเป็นเวลานัดก็มีผู้ชุมนุมมาชุมนุมบริเวณสกายวอล์ค ปทุมวัน  มีการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง มีการชักชวนคนมาร่วมการชุมนุมอีก วันดังกล่าวมีผู้ที่ขึ้นปราศรัยคือ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, ณัฏฐา, อานนท์ และสุกฤษฎ์
 

หลังจากที่พ.อ.บุรินทร์ ร้องทุกข์ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ประชุมและมีความเห็นให้สั่งฟ้องแกนนำในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานกับกลุ่มแกนนำและมีการแจ้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐานต่อผู้เข้าร่วมชุมนุม พ.ต.ท.สมัคร เบิกความเสริมว่า ในการชุมนุมที่สกายวอล์คมีการชักชวนให้ไปชุมนุมต่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
พ.ต.ท.สมัครไม่รู้จักกับจำเลยทั้งหกในคดีนี้และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองมาก่อน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.สมัครได้ไปที่การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลืออกตั้งที่ราชดำเนินที่เป็นเหตุในคดีนี้หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ได้ไป ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ดังนั้นผู้เข้าร่วมการชุมนุมจะมีจำนวนเท่าใด พ.ต.ท.สมัครก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในตอนที่ไปให้ปากคำกับพ.ต.ท. ไพรัช ได้ถามเขาหรือไม่ว่า เขาอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ได้ถาม ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า รายชื่อผู้ร่วมชุมนุมจะเท็จจริง พ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ พ.ต.ท.สมัคร ไม่ทราบและตอบคำถามไปตามที่พ.ต.ท.ไพรัชถามเท่านั้น
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.สมัครได้อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมที่สายวอล์ค ปทุมวันหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จากการสอบสวนทราบหรือไม่ว่า ตำรวจนำรายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุมมาจากที่ใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า มูลเหตุการชุมนุมคือ การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิถีทางการปกครองตามประชาธิปไตยและตามรัฐธรรมนูญ 2560 พ.ต.ท.สมัครรับว่า เป็นเช่นนั้น ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า หลังการชุมนุมเสร็จสิ้น บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี  ไม่มีใครออกมากระทำการก่อความไม่สงบ พ.ต.ท.สมัครรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เช่นเดียวกับการชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวันที่เมื่อการชุมนุมเสร็จสิ้น ไม่มีคนออกมาวุ่นวายก่อความไม่สงบ การชุมนุมสงบเรียบร้อยดี พ.ต.ท.สมัครรับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ปัจจุบันพ.ต.ท.สมัครปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ใด พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ปฏิบัติงานที่สน.ทองหล่อมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ตำแหน่งอยู่ที่สน.ลุมพินี ทนายจำเลยที่สองถามว่า ที่ผ่านมาในเขตนครบาลมีความเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับคสช.หลายครั้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า หลังการเคลื่อนไหวจะมีการดำเนินคดีตามมา ซึ่งเกือบทุกคดีมีนายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า เท่าที่เคยสอบสวนมากมีพล.ต.วิจารณ์ จดแตงและพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้แจ้งความ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ทุกคดีที่พ.ต.ท.สมัครรับผิดชอบมีความเห็นสั่งฟ้องทุกคดีใช้หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า พ.ต.ท.สมัครไม่ใช่คนเดียวที่พิจารณาสั่งฟ้องคดี แต่ทำในรูปแบบคณะทำงานฯ ทนายจำเลยที่สองถามว่า คณะทำงานฯที่กล่าวถึงนั้นมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคสช.เป็นผู้รู้เห็นในการแต่งตั้ง พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบ แต่คณะทำงานฯของสน.ปทุมวันมีผู้บัญชาตำรวจนครบาลเป็นผู้แต่งตั้ง ทนายจำเลยที่สองถามว่า คนในชุดทำงานก็จะเป็นหน้าเดิมๆใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า จำเลยทั้งหมดในคดีนี้ถูกดำเนินคดีซ้ำกับคดีสกายวอล์ค ปทุมวันที่สน.ปทุมวันรับผิดชอบ ซึ่งเวลาได้รับหมายเรียกแต่ละครั้ง จำเลยไม่เคยหลบหนี ให้ความร่วมมือดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า คดีที่สน.ปทุมวัน มีคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา พ.ต.ท.สมัครตอบว่า เป็นคดีที่ศาลแขวงปทุมวันที่สั่งไม่ฟ้องคดี แต่คดีจะไปถึงไหนแล้วนั้นไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า พ.ต.ท.สมัครได้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ได้ติตาม หากทราบจะทราบจากสื่อ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง จำเลยเหล่านี้ถูกดำเนินคดีจากพนักงานสืบสวนทุกท้องที่ที่ชุมนุม ทราบหรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ทราบ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ในคดีอื่นๆพ.ต.ท.สมัครทราบหรือไม่ว่า ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาอะไร พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบ ทราบเพียงเฉพาะที่สน.ปทุมวันรับผิดชอบ
ทนายจำเลยที่สองถามว่า การชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวัน ไม่มีเหตุร้ายรุนแรงและชุมนุมโดยสงบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครรับว่า ไม่มีเหตุร้ายรุนแรงแต่จะเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ความมุ่งหมายการชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวันคือไม่ให้เลื่อนเลือกตั้งใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลถือเป็นการวิจารณ์การทำงานของคสช.หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ประชาชนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว ประชาชนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การเรียกร้องการเลือกตั้งถือว่า เป็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.สมัครรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่สกายวอล์ค ปทุมวัน รัฐบาลมีการประกาศว่า จะเลือกตั้งแต่สุดท้ายบอกว่า จำเป็นต้องเลื่อนออกไป พ.ต.ท.สมัครรับว่า ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 

ทนายจำเลยที่หกให้พ.ต.ท.สมัครดูเอกสารที่ระบุว่า  การฟ้องคดีมุ่งหวังเพื่อกดดันและสร้างความยุ่งยากให้ฝ่ายแกนนำ และถามว่า พ.ต.ท.สมัครเคยเห็นเอกสารนี้หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า ไม่ทราบและเอกสารนี้ไม่ใช่ของคณะทำงานฯสน.ปทุมวัน
 
 
 
อัยการถามติง
 
 
อัยการถามว่า ตามที่ตอบทนายจำเลยที่สามไปว่า คดีการชุมนุมที่สกายวอลค์ ปทุมวัน พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น จำเลยในคดีดังกล่าวเป็นจำเลยในคดีนี้หรือไม่ พ.ต.ท.สมัครตอบว่า คดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องเป็นจำเลยคนละชุดกับจำเลยในคดีนี้
เวลา 11.00 น. เสร็จสิ้นการสืบพยานในวันนี้
 
 
 
8 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ต่อ โจทก์, ณัฏฐา จำเลยที่สี่และชลธิชา จำเลยที่หกและทนายจำเลยทั้งหกมาศาล เวลา 9.25 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อนที่จะเริ่มสืบพยานในเวลา 9.40 น.
 
 
พ.ต.ท.หญิง สมร ดีแสง กองตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน พยานจำเลยปากที่แปด
 
 
พ.ต.ท.หญิง สมรเบิกความว่า จบการศึกษาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ สัญญาบัตรสอง กลุ่มงานตรวจพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาเก้าปีแล้ว ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลดิจิทัลที่อยู่ในสื่อบันทึก ข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ต่างๆเช่น คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์, ดีวีดีและซีดี เกี่ยวเนื่องในคดีนี้เนื่องจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ได้รับของกล่งจากสน.นางเลิ้งเป็นแผ่นดีวีดีสี่แผ่นให้ทำการตรวจพิสูจน์ ผู้รับของกลางคือ เจ้าหน้าที่เวรของกลุ่มที่ทำหน้าที่ในวันนั้น เมื่อตรวจสอบพบข้อมูลภาพยนตร์จำนวนสี่แผ่น เนื้อหาภายในมีจำนวนต่างกันในแต่ละแผ่น ภายในเป็นคลิปเหตุการณ์การชุมนุม บริเวณ ‘อนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตย’ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ไม่พบการตัดต่อข้อมูล
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า คลิปเหตุการณ์ชุมนุมเป็นการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตยหรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.ต.ท.หญิง สมร ตอบว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ผู้ถ่ายทำคลิปดังกล่าวมีการบันทึกวันเดือนปีที่ถ่ายทำในภาพด้วยหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า จำไม่ได้ว่า มีวันเดือนปีในคลิปเหตุการณ์ด้วยหรือไม่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า วันเดือนปีคือสาระสำคัญของเหตุการณ์ พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า ถูกต้อง ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ผู้บันทึกภาพเสียงเหตุการณ์จะบันทึกภาพเสียงต่อเนื่องกันไปตลอดหรือมีการหยุดระหว่างนั้นได้ตรวจสอบดูหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า จากการตรวจสอบแต่ละแฟ้มบันทึกภาพจะเป็นภาพต่อเนื่องกัน และรับว่า จำไม่ได้ว่า ในดีวีดีมีเวลากำกับหรือไม่ พร้อมย้ำว่า จากที่ตรวจดูเหตุการณ์มีความต่อเนื่องกัน ทนายจำเลยที่หนึ่งของอนุญาตศาลให้เปิดไฟล์วิดีโอในดีวีดีหลักฐานให้แก่พ.ต.ท.หญิง สมรดู ศาลอนุญาตให้เปิดในคอมพิวเตอร์ของหน้าบัลลังก์
 
 
เมื่อเปิดไฟล์วิดีโอทั้งหมดให้ พ.ต.ท.หญิง สมรดูแล้วพ.ต.ท.หญิง สมรก็กล่าวอีกครั้งว่า จำไม่ได้ว่า ดีวีดีทั้งสี่แผ่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมาให้ตรวจสอบนั้นมีวันเดือนปีกำกับหรือไม่ แต่เท่าที่เปิดดูเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันทั้งหมดไม่ได้มีการตัดต่อ พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า ในการเรียกร้องการเลือกตั้งหลายครั้ง ไม่เกิดเหตุความวุ่นวายหรือมีเหตุร้ายรุนแรงแต่อย่างใด
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 

ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.ท.หญิง สมรจบการศึกษาจากที่ใด พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เคยผ่านการอบรม Digital Forensic การตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล การอบรมเป็นการอบรมที่ทำงานในลักษณะการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่ทำงานมาก่อน รวมทั้งยังเคยอบรมกับสถาบันระหว่างประเทศ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำของกลางมาให้ได้ระบุหรือไม่ว่า ของกลางหรือดีวีดีสี่แผ่นนี้เป็นวัตถุพยานในคดี พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า ไม่ได้บอกว่า เป็นของกลางในคดีหรือวัตถุพยาน  ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.ท.หญิง สมรใช้วิธีการตรวจสอบอย่างไร พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า ใช้วิธีการตรวจสอบทางดิจิทัลเฉพาะเรื่องการตัดต่อข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้ตรวจเนื้อหาหรือกระบวนการบันทึกว่าได้มาอย่างไร พ.ต.ท.หญิง สมรกล่าวย้อนว่า มีการตรวจสอบเนื้อหาบ้างว่า เนื้อหามีการต่อเนื่องกันในไฟล์ดีวีดีแต่ละแผ่น
 

ทนายจำเลยที่สองถามว่า ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่า ไฟล์วีดีโอดังกล่าวมาจากอุปกรณ์ชนิดใดและของใคร พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า กรณีนี้บอกไม่ได้ แต่บางกรณีจะมีการนำโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ที่บันทึกมาพร้อมกัน ซึ่งตรงนี้ขอไม่ยืนยันเนื้อหา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการนำข้อมูลลงดีวีดีไปแล้ว ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.ท.หญิง สมรทราบใช่หรือไม่ว่า พยานหลักฐานดิจิทัลตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กระบวนการรวบรวมต้องมีการทำต้นฉบับ พร้อมนำสำเนามาให้เทียบทุกครั้ง พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า ตามปกติแล้วจะรับหลักฐานพร้อมอุปกรณ์และจะให้ทำสำเนาซ้ำอีกครั้งหนึ่งและรับว่า คดีนี้ไม่ได้มีการส่งต้นฉบับมาพร้อมอุปกรณ์
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ฉะนั้นในการตรวจหลักฐานดีวีดีในคดีนี้จึงไม่ได้มีการตรวจว่า ไฟล์ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีร่องรอยการแก้ไขข้อมูลหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า ใช่เพราะผู้ส่งต้องการตรวจสอบดูเพียงว่า ไฟล์ข้อมูลมีการตัดต่อหรือไม่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ดีวีดีทั้งสี่แผ่นไม่ปรากฏวันที่และเวลาที่ถ่ายทำ พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า ถูกต้อง ทนายจำเลยที่สองถามว่า การตรวจและผลการตรวจตอบได้หรือไม่ว่า ไฟล์ข้อมูลมีการบันทึกตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มเหตุการณ์การชุมนุม พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า ตอบไม่ได้ว่า เริ่มบันทึกตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มเหตุการณ์การชุมนุม  ทนายจำเลยที่สองถามว่า ฉะนั้นแล้วพ.ต.ท.หญิง สมรจึงไม่อาจรับรองหรือเหตุการณ์จริงได้ พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามขอให้พ.ต.ท.หญิง สมรอธิบายหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการตัดต่อ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า การพิจารณาการตัดต่อต้องดูความต่อเนื่องของเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมของภาพและเสียง ทนายจำเลยที่สามถามว่า จบการศึกษาจากระดับชั้นปริญญาตรีมาจากมหาวิทยาลัยใด พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทนายจำเลยที่สามถามว่า ในระหว่างการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวมีการเรียนการสอนในเรื่องการตัดต่อวิดีโอหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า มีการเรียนการสอนเรื่องการตัดต่อวิดีโอ
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ข้อมูลในดีวีดีนอกจากไฟล์ที่เป็นกลุ่มวีดีโอและยังมีไฟล์เอกสาร ที่มีนามสกุลเช่น .doc และ .pdf ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า ข้อมูลในดีวีดีไม่ได้มีภาพเคลื่อนไหวอย่างเดียว แต่ก็ไม่ใช่ทุกแผ่นที่จะมีไฟล์เอกสารด้วย ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.ท.หญิง สมรได้ตรวจบสอบไฟล์เอกสารด้วยหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า หน้าที่ของตนรับตรวจเฉพาะภาพเคลื่อนไหว ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ไฟล์เอกสารไมโครซอฟท์ เวิร์ด สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลในไฟล์ได้ พ.ต.ท.หญิง สมรรับว่า ทำได้ แต่ในการตรวจสอบได้ส่งคืนให้พนักงานสอบสวนในคดีนี้แล้ว หลังจากที่ส่งกลับไปแล้วไม่ทราบว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาหรือไม่อย่างไร ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า พ.ต.ท.หญิง สมรสามารถรับรองความถูกต้องของไฟล์เอกสารได้หรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า เนื่องจากตนไม่ได้ตรวจเอกสารจึงไม่สามารถรับรองความถูกต้องได้
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ดีวีดีสามารถเขียนข้อมูลทับซ้ำลงไปได้ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า ดีวีดีมีสองรูปแบบคือ แบบแรกเชียนซ้ำได้ จะสามารถบันทึกข้อมูลทับซ้ำได้ แบบที่สองคือ แบบอ่านอย่างเดียวจะไม่สามารถบันทึกข้อมูลซ้ำได้
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าไม่ค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า ไฟล์วิดีโอทั้งหมดไม่ได้เป็นเรื่องต่อเนื่องกันใช่หรือไม่ พ.ต.ท.หญิง สมรตอบว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน แต่ไฟล์ทุกไฟล์ไม่ได้ต่อเนื่องกัน
 
 
อัยการไม่ถามติง เสร็จสิ้นการสืบพยานในปากนี้เวลา 10.20 น.
 
 
ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ บุญมีบุตร สน.สำราญราษฎร์ ผู้ทำการถอดเทป พยานโจทก์ปากที่เก้า
 
 
ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ เบิกความว่า รับราชการตำรวจที่สน.สำราญราษฎร์ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับการหมู่งานป้องกันและปราบปราม ช่วยงานฝ่ายสืบสวน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 พ.ต.ท.สันติ รองผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ขณะนั้นได้ให้เขาและพวกบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุม ต่อมาเวลา 15.30 น. จึงได้ไปประจำการที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่งกายนอกเครื่องแบบปะปนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุม เวลา 18.00 น. แกนนำเริ่มขึ้นปราศรัยเขาจึงได้ทำการบันทึกภาพการปราศรัย ในการบันทึกนั้นบันทึกเฉพาะช่วงที่แกนนำพูดเท่านั้น หากแกนนำลงจากมาพักก็จะหยุดบันทึก ส่วนของเขาบันทึกรังสิมันต์, อานน์, ณัฏฐา และสิรวิชญ์ หลังจากเลิกการชุมนุมเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. กลับไปที่สน.สำราญราษฎร์ ถอดคำปราศรัยจากกล้องด้วยการเปิดฟังและจด จากนั้นจึงนำไปพิมพ์เป็นเอกสาร ส่วนไฟล์วิดีโอได้บันทึกลงดีวีดีเสนอต่อพ.ต.ท.สันติ เพื่อนำส่งให้พนักงานสอบสวนต่อไป
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าวมีกี่คน  ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า มีสองคนคือ ส.ต.ท.สิรดนัยและดต.ธีรพร วันนั้นส.ต.ท.สิรดนัยใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพ ขณะที่ดต.ธีรพร ใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองบันทึกภาพ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เท่ากับว่า วันดังกล่าวมีกล้องวิดีโอของทางราชการสองตัวใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า กล้องวิดีโอที่บันทึกภาพและเสียงสามารถตั้งค่าวันที่และเวลาได้ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า สามารถตั้งได้ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า หากวันเดือนปีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง คลาดเคลื่อนไปสามารถตั้งค่าให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในวันดังกล่าวส.ต.ท.ทรงฤทธิ์สังเกตหรือไม่ว่า วันที่และเวลาในกล้องวิดีโอตรงกับความเป็นจริง ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ได้ดู เปิดกล้องมาแล้วถ่ายเลย ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในการบันทึกภาพผู้ชุมนุมมีการพูดว่า ประชาธิปไตยจงเจริญ เลือกตั้งปีนี้ ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ขอพูดถึงในประเด็นนี้
 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถามส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ว่า ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไป ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ที่ไปเลือกตั้งเพราะเป็นหน้าที่ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์มีทีท่าไม่ตอบ ศาลจึงปรึกษาว่า คำถามแบบนี้พยานโจทก์ตอบไปหลายปากแล้วและอยากให้ไปถามในส่วนของพยานจำเลยจะดีกว่า ทนายจำเลยที่หนึ่งรับคำและแถลงหมดคำถาม
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์รับราชการตำรวจมาแล้วกี่ปี ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า รับราชการตำรวจมาเป็นเวลาสี่ปี ทำงานฝ่ายสืบสวนมาตลอด ทนายจำเลยที่สองถามว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ได้คัดลอกวิดีโอไฟล์ใดบ้าง ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า เขาเกี่ยวข้องเฉพาะดีวีดีหลักฐานลำดับที่สี่เท่านั้น ในแผ่นดังกล่าวเป็นคลิปวิดีโอทั้งหมดไม่มีไฟล์เอกสารเลย ส่วนเอกสารที่ถอดเทปนั้นนำส่งแยกต่างหากไม่ได้อยู่ในดีวีดีหลักฐานลำดับที่สี่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ทราบหรือไม่ว่า ดีวีดีหลักฐานลำดับที่สี่จะเป็นดีวีดีชุดเดียวกับที่นำส่งตรวจ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์กล่าว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ขณะที่บันทึกภาพได้ฟังไปด้วยหรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ขณะบันทึกไม่ได้สนใจฟังว่า แกนนำจะพูดว่าอะไร ทนายจำเลยที่สองถามว่า ปรากฏความรุนแรงที่เกิดจากการปราศรัยหรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ปรากฏความรุนแรงที่เกิดจากการปราศรัยของแกนนำ และรับว่า แกนนำไม่ได้ยั่วยุหรือกระทำความรุนแรง มีการกล่าวปราศรัยอย่างเดียว
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า การปราศรัยของอานนท์ สิรวิชญ์ รังสิมันต์และณัฏฐาไม่มีข้อความที่ปรากฏความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ รับว่า เป็นเช่นนั้น ทนายจำเลยที่สองให้ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ดูเอกสารการถอดเทปและถามว่า ข้อความที่ถอดมามีเท่าที่แกนนำปราศรัยหรือใช้ดุลพินิจในการถอดเลือกมา ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ข้อความที่แกนนำปราศรัยมีเท่านี้จริงๆ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ฝ่ายตำรวจได้มีการนำเอกสารหลักฐานไปหารือกับทหารของคสช.หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบว่า ตำรวจมีการเข้าร่วมประชุมกับคสช. ส่วนผู้บังคับบัญชาจะเข้าร่วมหรือไม่ เขาก็ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ดีวีดีที่เป็นหลักฐานในคดีนี้ลำดับที่หนึ่งถึงสามใครเป็นผู้จัดทำ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดทำและตำรวจจะได้มาจากที่ใดก็ไม่ทราบเช่นกัน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า ตามเอกสารการถอดเทปมีข้อความเขียนว่า ฟังไม่ชัดเจน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า เพราะฟังไม่รู้ว่า แกนนำปราศรัยว่า อย่างไร เนื่องจากมีเสียงดัง ทนายจำเลยที่สามถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ในวันเกิดเหตุทหารและสันติบาลมีการบันทึกภาพเช่นเดียวกับตำรวจ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์อยู่ในที่เกิดเหตุจนถึงเมื่อใด ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า อยู่จนงานชุมนุมเลิก แต่จะมีการบันทึกภาพตอนเลิกการชุมนุมหรือไม่ จำไม่ได้ ทนายจำเลยที่สามถามว่า หลังการเลิกการชุมนุม ผู้ชุมนุมต่างแยกย้ายกันไป ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์รับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในคดีนี้ใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สี่ให้ดูเอกสารการถอดเทปคำปราศรัยของณัฏฐาและถามว่า ใครเป็นผู้ถอดคำปราศรัย ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ส.ต.ต.สิรดนัย เป็นผู้ถอด ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า แต่ในเอกสารนี้ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ เป็นผู้ลงชื่อรับรองการถอดคำปราศรัย ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ จึงอธิบายเพิ่มเติมว่า วันดังกล่าวนั่งถอดเทปด้วยกัน แต่เนื่องจากส.ต.ต.สิรดนัยย้ายไปประจำการที่อืน เขาจึงเป็นผู้ลงชื่อรับรองเอกสารแทน ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ไม่ได้ถอดเทปคำปราศรัยของณัฏฐาทั้งหมดใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบเพราะว่า ส.ต.ต.สิรดนัยเป็นผู้ถอดเทป ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ตามเหตุการณ์จริงณัฏฐามีการปราศรัยมากกว่านี้ เพราะเหตุใดถึงถอดข้อความออกมาไม่ครบ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบเพราะเป็นการทำงานของส.ต.ต.สิรดนัย ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า เอกสารถอดเทปคำปราศรัยของณัฏฐา ส่วนที่ไม่ได้ถอดมาเป็นส่วนที่ส่งผลดีและเป็นด้านบวกใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบ
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าไม่ค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 

ทนายจำเลยที่หกถามว่า รังสิมันต์ได้ปราศรัยในทำนองที่ว่า ศัตรูของชาติมีแค่หนึ่งเดียวคือคสช. ซึ่งผู้ชุมนุมก็ตะโกนตามที่รังสิมันต์พูด ข้อเรียกร้องคือ ให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ใช่หรือไม่ ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามว่า คำปราศรัยของอานนท์ก็มีข้อเรียกร้องเดียวกันคือ ให้เลือกตั้งภายในปีนี้และสิรวิชญ์ก็กล่าวในลักษณะเดียวกัน ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์รับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามว่า จากที่เบิกความไปก่อนหน้านี้ว่า ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์ไปที่ชุมนุมตั้งแต่ตอนบ่าย ซึ่งชลธิชาก็มีการปราศรัยในลักษณะเดียวกันว่า ต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ด้วยเช่นกัน ส.ต.ท.ทรงฤทธิ์รับว่า ใช่  เสร็จสิ้นการสืบพยานในปากนี้ ศาลนัดสืบพยานต่อในเวลา 13.00 น.
 
 
พ.ต.ท.ไพรัช ไสยเลิศ พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง พยานโจทก์ปากที่สิบ
 
 
พ.ต.ท.ไพรัชเบิกความว่า รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนที่สน.นางเลิ้ง เกี่ยวกับคดีนี้พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญได้มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเรื่อง ร่วมกันชุมนุมเกินห้าคนขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  พ.ต.ท.ไพรัชระบุว่า จากการสอบปากคำพ.อ.บุรินทร์ระบุว่าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 14:00 น. มีผู้ชุมนุมมาอยู่ที่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์และร้านสเต็กติดมัน ต่อมาแกนนำการชุมนุมได้ทำการปราศรัยกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมโดยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ในการสอบปากคำพ.อ.บุรินทร์ได้ส่งมอบแผ่นดีวีดีภาพเสียงการปราศรัย, ภาพถ่ายของชลธิชาภาพถ่ายของผู้เข้าร่วมชุมนุมและเอกสารการถอดเทปปราศรัยรวมทั้งรายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุมตามเอกสารที่ได้ส่งต่อศาลนี้
 
 
 
บริเวณที่ชุมนุมเป็นเขตอำนาจการสอบสวนของสามสน.คือ สน. สำราญราษฎร์, สน. ชนะสงครามและสน.นางเลิ้ง บริเวณร้านสเต็กติดมันเป็นพื้นที่ของสน.นางเลิ้ง นอกจากพ.อ.บุรินทร์แล้วตนได้ทำการสอบปากคำจ.ส.อ.ไพรพนา บุญช่วยเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพบกภาคที่หนึ่ง และสอบปากคำพ.ต.ท.สุรศักดิ์ เลิศไกร ตำรวจสันติบาลที่กำกับบริเวณที่ชุมนุม, พ.ต.ท.สันติ พิทักษ์สกุล รองผู้กำกับการสน. สำราญราษฎร์,  พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม, พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ สน.ปทุมวัน, พ.ต.ท.สุทธิโรจน์ จารุสินธุพงศ์ สน.นางเลิ้ง และส.ต.ต. ทรงฤทธิ์ บุญมีบุตร สน.สำราญราษฎร์ ส่วน ดีวีดีทั้งสี่แผ่นนั้นได้ส่งไปยังกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจสอบการตัดต่อภาพวิดีโอ
 
 
ต่อมาได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดมาสอบปากคำโดยแต่ละคนมาไม่พร้อมกันเมื่อมาที่สน. แล้วพ.ต.ท.ไพรัชได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิของจำเลย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง ต่อมาปราฏว่า มีณัฏฐา จำเลยที่สี่มายื่นเพียงคนเดียว
 
 
จากการสืบสวนพบว่า แกนนำมีการปราศรัยที่จะพูดคำเดิมๆและสร้างความเกลียดชัง เมื่อคณะทำงานฯ จึงพิจารณาเห็นว่ามีการชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 เพราะในขณะนั้นกฎหมายลูกยังไม่พร้อมการชุมนุมการชักชวนคนให้มาชุมนุมจึงเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/ 2558
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.ไพรัชได้ตรวจสอบหรือไม่ว่า พ.อ.บุรินทร์ไม่ได้รับมอบอำนาจจากคสช. พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า รับว่า ไม่ได้ตรวจสอบแต่ทราบว่า ได้รับมอบอำนาจมาจากพล.ต.วิจารณ์ จดแตง ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า กรณีนี้พ.ต.ท.ไพรัชก็ไม่ได้เรียกพล.ต.วิจารณ์ มาสอบปากคำว่า มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับคสช.ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัช รับว่า ใช่
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมเรียกร้องที่เป็นเหตุในคดีนี้มีมูลเหตุมาจากการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งเดิมคสช.เคยกำหนดให้มีการเลือกตั้งไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ดังนั้นข้อเรียกร้องและกรอบการทำงานของคสช.จึงสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามคสช.ได้มีการเลื่อนเลือกตั้งในหลายครั้ง พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่แต่ไม่ทราบว่า มีการเลื่อนการเลือกตั้งกี่ครั้ง ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ตกลงพ.ต.ท.ไพรัช ทราบหรือไม่ว่า มีการเลื่อนการเลือกตั้งกี่ครั้ง เนื่องจากเมื่อสักครู่เบิกความไปว่า ที่ยังไม่มีการจัดเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากกฎหมายลูกยังไม่พร้อม พ.ต.ท.ไพรัช นิ่งเฉย
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งจึงให้ดูเอกสารมีเนื้อหาว่า ในตอนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ไปพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้มีการกล่าวว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ต่อมามีการให้สัมภาษณ์ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ทราบว่า มีกรอบเวลาดังกล่าว ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ทราบหรือไม่ว่ามีการจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่าทราบว่ามีการเลือกตั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จากการสอบพยานบุคคลที่สังเกตการณ์ในที่เกิดเหตุปรากฏว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมไม่เกิดความรุนแรงหรือเกิดความวุ่นวายแต่อย่างใดไม่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ เมื่อเลิกการชุมนุมแล้วผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับบ้านใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า จากการสอบพยานบุคคล มีพยานบุคคลรายใดที่ฟังการปราศรัยและรู้สึกว่าคำปราศรัยนั้นสร้างความไม่สงบและกระด้างกระเดื่อง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า เท่าที่สอบไม่มี
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า สิ่งที่แกนนำเรียกร้องอยู่บนฐานของระบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการปกครองของแผ่นดินนี้ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การชุมนุมนี้ถือเป็นการทวงคืนคำสัญญาของคสช. ที่เดิมสัญญาจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ในการชุมนุมมีการปราศรัยเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง ติชมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การติชมและวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ซึ่งการติชมโดยสุจริตถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทนายจำเลยที่หนึ่งให้ดูรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองเรื่องดังกล่าวไว้ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่าเป็นเช่นนั้น
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าในวันเกิดเหตุนอกจากปราศรัยแล้วยังมีการชูสามนิ้วอีกด้วยพ.ต.ท.ไพรัชรับว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่ธรรมดาเป็นการบอกว่าไม่เอาเผด็จการ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า การชูสามนิ้วนั้นเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ธรรมดา ทนายจำเลยที่หนึ่งอธิบายว่า นิ้วที่หนึ่งมีความหมายว่า ให้เลือกตั้งภายในปี 2561 นิ้วที่สองมีความหมายว่า ไม่เอาเผด็จการ นิ้วที่สามมีความหมายว่า ประชาธิปไตยจงเจริญ สัญลักษณ์ดังกล่าวความหมายดังกล่าวไม่ธรรมดาอย่างไร พ.ต.ท.ไพรัชนิ่งเฉย
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า หน้าที่ของพนักงานสอบสวนเป็นการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า คดีนี้พ.ต.ท.ไพรัช รวบรวมพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นหน้าที่ของประชาชนใช่หรือไม่พ.ต.ท.ไพรัชรับว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การต่อต้านการได้อำนาจการปกครองที่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องปกป้องและมีในรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชพยักหน้า
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ประชาชนที่มาชุมนุมไม่เอาระบอบเผด็จการเพราะเห็นว่าประชาธิปไตยดีกว่าเผด็จการใช่หรือไม่พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ขอไม่ตอบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การที่ไม่เอาเผด็จการเพราะการใช้อำนาจเผด็จการมันส่งผลหลายด้านเช่นคสช. มีการปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพฯโดยไม่ได้สอบสวน นอกจากนี้มีการปลดผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในการชุมนุมดังกล่าวนักศึกษาที่ปราศรัยบอกว่า บุคคลในรัฐบาลของคสช.เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช.ส่อทุจริตเรื่องการยืมนาฬิกา  ซึ่งขณะนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อต่างๆด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การปราศรัยเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเป็นสิ่งที่กระทำได้ การพูดเรื่องการทุจริตประชาชนสามารถวิจารณ์ได้และสื่อมวลชนสามารถเผยแพร่ข่าวได้ด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่าใช่
 
 
ทนายจำเลยทีหนึ่งถามว่า ประเด็นที่ผู้ต้องหาต่อสู้คดีคือการที่พวกเขามาชุมนุมเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองและเป็นเสรีภาพในการชุมนุม โดยชลธิชา จำเลยที่หกมีการทำหนังสือแจ้งการชุมนุมตามกฏหมายแล้ว พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และให้พ.ต.ท.ไพรัชอ่านข้อความที่ระบุว่า บทบัญญัติใดที่ขัดแย้งกับบทบัญญัตินี้ให้ถือว่าใช้บังคับไม่ได้ พ.ต.ท.ไพรัชดูเอกสารและรับว่าใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าหลักสิทธิและพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองข้อที่ 11 ระบุถึงสิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครองใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เรื่องการสืบทอดอำนาจของคสช. พ.ต.ท.ไพรัชทราบหรือไม่ว่าคสช. ได้ตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว.และคณะกรรมการสรรหาได้ตั้งส.ว.จำนวน 250 คนมาทำหน้าที่โดยส.ว.จำนวน 249 คนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏอยู่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า แต่เดิมนั้นส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่และทราบว่าคนในคณะคสช. เป็น คณะกรรมการการสรรหาส.ว.
 
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้บัญญัติมาตรา 44 ไว้โดยให้อำนาจคสช. ทั้งสามขาคือนิติบัญญัติบริหารและตุลาการ ทนายจำเลยที่หนึ่งให้พ.ต.ท.ไพรัชดูเอกสาร เมื่ออ่านจบพ.ต.ท.ไพรัชรับว่า เป็นไปตามเอกสาร ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาส่วนใหญ่และผู้ร่วมสังเกตการณ์ก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า จากคำให้การของตำรวจสันติบาลก็ระบุว่า มีคณะทำงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ,เครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น, อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือแอมนาสตี้มาสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย แต่คณะพนักงานสอบสวนไม่ได้มีหมายเรียกสอบปากคำเพราะเห็นว่าไม่ได้กระทำความผิด
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า รายชื่อประชาชนที่ไปเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่บริเวณ สกายวอล์คปทุมวันนั้นตรงกับจำเลยในคดีนี้ด้วยใช่หรือไม่พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ มีจำเลยบางคนในคดีการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คปทุมวันเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าพนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวันมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คปทุมวันจำเลยทราบหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชทราบหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า เหตุที่มีการสั่งฟ้องเพราะคำสั่งตั้งพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ความผิดเอาตัวผู้ดำเนินคดีให้เกิดความความเป็นธรรมไม่ได้นำพยานหลักฐานของจำเลยเข้าพิจารณาเลย พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ตามกระบวนการพิสูจน์ทั้งความผิดและความบริสุทธิ์ของจำเลย
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าพ.ต.ท.ไพรัชไม่ได้รวบรวมประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญหรือกติการะหว่างประเทศเรื่องสิทธิในการชุมนุม พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า การปราศรัยไม่ได้หยาบคาบ ก้าวร้าวหรือรุนแรง ไม่ได้มีการปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมือง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ตามความคิดเห็นส่วนตัวแล้วการปราศรัยเพียงครั้งเดียวไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนก่อความไม่สงบได้
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.อ.บุรินทร์รับอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเกือบทุกคดี โดยจำเลยรายหนึ่งมีการกล่าววิจารณ์ว่า พ.อ.บุรินทร์เป็นสุนัขรับใช้ของคสช. พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ทราบว่า จะมีการกล่าวเช่นนั้นหรือไม่ ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า พ.ต.ท.ไพรัชได้สอบสวนหรือไม่ว่า การแจ้งความมีสาเหตุมาจากความโกรธเคืองดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ได้สอบ
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามค้าน
 
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า คณะทำงานที่ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นการสั่งฟ้องในคดีนี้มี พ.ต.ท.ไพรัช คนเดียวที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 98 พ.ต.ท.ไพรัชระบุว่า มีทั้งหมดสี่คน ทนายจำเลยที่สองถามว่า แล้วใครเป็นผู้ลงยนามสั่งฟ้องบ้าง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ลงทุกคน มีการทำความเห็นตามแบบของสตช. และเรียบเรียงหลักฐานส่งให้แก่พนักงานอัยการแล้ว
 
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า พ.ต.ท.ไพรัชได้มีการสอบถามไปยังคสช.หรือไม่ว่า พล.ต.วิจารณ์มีอำนาจในการแจ้งความดำเนินคดี พ.ต.ท.ไพรัช ตอบว่า ไม่ได้สอบถาม ทนายจำเลยที่สองถามว่า ส่วนที่พ.อ.บุรินทร์เห็นว่า จำเลยทั้งหกคนกล่าววิจารณ์รัฐบาลและคสช.ก็ไม่ได้มีการระบุเจาะจงว่า ใครกล่าวถ้อยคำยุยงปลุกปั่น พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในคำให้การของพ.อ.บุรินทร์ก็ไม่ได้ส่งมาในคดีนี้  โดยในการสอบไม่ได้ระบุเจาะจงว่า ใครกล่าวข้อความเช่นใดและมีความผิดอย่างไร พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า จำไม่ได้
 
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า คดีนี้เป็นคดีที่คสช.มองว่า สร้างความเสียหายและเข้าแจ้งความเอง ไม่ได้เป็นการกระทำในนามของรัฐบาลหรือรับมอบอำนาจมากจากรัฐบาล พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สองถามว่า จ.ส.ต.ไพรพนา นายทหารกองทัพบกที่อยู่ในเหตุการณ์เบิกความไว้ว่า ไม่ได้เป็นผู้บันทึกภาพวิดีโอ จึงอยากทราบว่า ใครเป็นผู้ส่งมอบดีวีดีภาพและเสียงให้แก่พ.อ.บุรินทร์ พ.ต.ท.ไพรัชยังไม่ได้ตอบความ ทนายจำเลยที่สองจึงถามว่า ดังนั้นการได้มาของพยานหลักฐานดีวีดีสี่แผ่นและภาพนิ่ง จึงไม่ได้ตรวจสอบที่มาว่า ได้มาอย่างไรและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่า มีที่มาอย่างไร
 

ทนายจำเลยที่สองถามว่า ใครเป็นคนระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกคนเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 116 หรือพ.อ.บุรินทร์เป็นผู้ระบุแต่แรก พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า เป็นความคิดเห็นของคณะทำงานฯ ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตลอดห้าปีที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การบังคับของคสช.มาตลอด กลัวไหม พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่กลัว ทนายจำเลยที่สองถามว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายจำเลยเพิ่มเติม พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า จำเลยไม่ยอมให้การในชั้นสอบสวน ทนายจำเลยที่สองกล่าวว่า การสอบสวนตั้งแต่ต้นจนจบ มีพยานคนไหนบ้างที่ระบุพฤติการณ์ว่า จำเลยทั้งหมดกล่าวถ้อยคำรุนแรง ยุยงปลุกปั่นหรือเป็นการพิจารณาโดยรวม พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่มีพยานคนใดระบุชี้ชัด
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า คำว่า หยุดยื้ออำนาจและเลือกตั้ง ไม่มีข้อความใดที่ยั่วยุปลุกปั่น ซึ่งเป็นการสร้างความปั่นป่วนนหรือกระด้างกระเดื่องแก่ประชาชน พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามถึงคดีคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินของผู้ร่วมชุมนุม ที่ถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงดุสิต ปรากฏว่า มีการฟ้องจำเลยทั้งหมดแล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ถูกต้อง ทนายจำเลยที่สามให้พ.ต.ท.ไพรัชดูเอกสารที่ระบุทำนองว่า การเปรียบเทียบการกระทำผิดของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คปทุมวันและราชดำเนิน กรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนินมีความรุนแรงน้อยกว่าที่สกายวอล์คปทุมวัน การปราศรัยลดระดับลง พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า เป็นไปตามเอกสาร แต่ไม่ใช่ความเห็นของพนักงานสอบสวน เป็นความเห็นของฝ่ายทหาร ทนายจำเลยที่สามถามว่า ในการชุมนุมอานนท์มีการพูดเรื่องการทุจริต เรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร และเรื่องอุทยานราชภักดิ์ตามที่ให้ดูถูกต้องหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่  ทนายจำเลยที่สามถามว่า การพูดเรื่องทุจริตเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 63 พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า หลังจากวันที่  10 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่ปรากฏว่า มีการเคลื่อนไหวรุนแรงผิดปกติใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า มีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้ชุมนุมมีรายชื่อตรงกับจำเลยในคดีนี้
 

ทนายจำเลยที่สามถามว่า แต่ไม่มีการกระทำรุนแรงผิดปกติ ไม่มีบุคคลใดล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินจากการปราศรัยของจำเลยทั้งหก พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า การชุมนุมนของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบกหรือหน้าสหประชาชาติก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ชุมนุมไม่เกิน 1,000 คน พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สามถามว่า มูลเหตุจูงใจในการชุมนุมของจำเลยเกิดจากคสช. เนื่องจากมีการเลื่อนเลือกตั้งหลายครั้งและมาจากการยึดอำนาจของคสช. พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การแจ้งความดำเนินคดีนี้เป็นเรื่องทางการเมืองใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า การชุมนุมมีการสังเกตการณ์จากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ เมื่อถูกสังเกตกาณณ์ หากไปกระทำการใดที่เป็นการจำกัดสิทธิอาจถูกโจมตีจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้พ.ต.ท.ไพรัชจึงไม่ได้ทำการขอฝากขังณัฏฐา จำเลยที่สี่ เนื่องจากเธอเป็นนักสิทธิมนุษยชน พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า เหตุผลที่ไม่ได้ขอฝากขังเนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันหยุดและวันนั้นพ.ต.ท.ไพรัชไม่ได้เข้าเวร เป็นพนักงานสอบสวนเวรที่ทำการแจ้งข้อกล่าวหา การไม่ฝากขังไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการเป็นนักสิทธิมนุษยชน ทนายจำเลยที่สี่ให้พยานดูเอกสารถอดเทปคำปราศรัยที่พ.อ.บุรินทร์นำมาให้พนักงานสอบสวน และถามว่า เนื้อหาคำปราศรัยของณัฏฐามีส่วนใดที่เป็นการยุยงปลุกปั่นหรือชักชวนประชาชนให้ละเมิดสิทธิ พ.ต.ท.ไพรัชอ่านดูและตอบว่า ไม่มีถ้อยคำใดที่ยุยงปลุกปั่น ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ณัฏฐาและจำเลยรายอื่นๆเดินทางกันแบบต่างคนต่างมา ไม่มีรถรับส่งและไม่มีการขนคนมา พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ถูกต้อง ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในส่วนที่มีการกล่าวหาว่า แบ่งหน้าที่กันทำก็ไม่ได้มีการสอบสวนเพิ่มเติมว่า มีกระบวนการอย่างไรใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่
 
 

ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ในคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนระบุว่า เพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว ละเอียดรอบคอบ ณัฏฐา ได้ขอให้มีการสอบปากคำพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ไม่ได้สอบและไม่ได้มีการทำหนังสือแจ้งต่อณัฏฐาว่า ถ้าไม่นำพยานมาเองจะตัดพยาน เพราะถูกเร่งรัดให้ทำสำนวน พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ระยะการสอบสวนกระชั้นชิด ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ณัฏฐาได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการให้สอบ แต่ตนไม่ได้รับคำสั่งให้สอบพยานเพิ่มเติม
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า พ.อ.บุรินทร์ให้การว่า มีการโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งการชุมนุมก่อนหน้าวันเกิดเหตุ ไม่ได้แจ้งว่า สืบทราบเพราะจัดประชุมนัดหมายในวันเกิดเหตุ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า จากเอกสารการถอดเทปคำปราศรัยเป็นการถามให้ผู้ชุมนุมตอบไมได้มีลักษณะในการสั่งการกับผู้ชุมนุม ไม่ได้สั่งการให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำลายสถานที่ราชการ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า การเลือกตั้งในปี 2561 เป็นไปไม่ได้ พ.ต.ท.ไพรัชยังยืนยันเช่นนั้นหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่ห้าให้ดูเอกสารกรอบการเลือกตั้ง หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ใช้เวลาในการออกและประกาศใช้กฎหมายลูกประมาณ 270 วัน ซึ่งมีความเป็นได้ที่จะเลือกตั้งในปีดังกล่าว พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า เป็นไปตามเอกสาร ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า ทราบว่า มีการเลื่อนการเลือกตั้งห้าครั้งหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ทราบ
 
 

ทนายจำเลยที่ห้าถามว่า บริเวณที่ชุมนุมอยู่ในพื้นที่กทม. ซึ่งวันเกิดเหตุในคดีนี้พื้นที่กทม.ไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่  ทนายจำเลยที่ห้าให้พ.ต.ท.ไพรัชดูเอกสารายชื่อผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้แล้ว พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ ในความคิดเห็นส่วนตัวสามารถคิดวิเคราะห์และเลือกเชื่อเองได้แล้ว
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามค้าน
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า ตอนที่แจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนยังไม่มีคำสั่งฟ้องใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกถามว่า ข้อเท็จจริง ข้อกล่าวหาก็ได้มาจากผู้กล่าวหาใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยที่หกอ่านช้อความในเอกสารที่นำมาเป็นพยานหลักฐานว่า ในการแจ้งความดำเนินคดีหวังเพื่อกดดัน สร้างความยุ่งยาก ได้ถามพ.อ.บุรินทร์หรือไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ได้ถาม ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า เอกสารดังกล่าวยังระบุอีกว่า รัฐควรทำงานควบคู่ไปกับปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ ได้ถามพ.อ.บุรินทร์หรือไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ได้ถาม ทนายจำเลยที่หกถามว่า เอกสารดังกล่าวคณะทำงานฯมีการเรียกคืนเอกสารหรือไม่ เนื่องจากว่าไม่ควรปรากฏในศาล พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่ได้เรียกคืนเอกสาร ทนายจำเลยที่หกถามว่า คดีนี้พ.อ.บุรินทร์ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพด้วย แต่ที่จริงแล้วไม่ได้มาชุมนุม พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ แต่ภายหลังต้องถอนแจ้งความเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561
 

ทนายจำเลยที่หกถามว่า ตอนแรกพ.อ.บุรินทร์ไม่ได้มีการแจ้งความชลธิชา จำเลยที่หก พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ แต่ต่อมาเห็นว่าเป็นผู้แจ้งการชุมนุมจึงแจ้งความเพิ่มเติม ทนายจำเลยที่หกถามว่า หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้วก็ไม่มีการชุมนุมอีกใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่
 
 
อัยการถามติง
 
 
อัยการถามว่า การใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายวางขอบเขตการใช้เสรีภาพไว้ด้วย พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า ตามมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญไม่มีระบุให้พิทักษ์ไว้ซึ่งการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า หน้าที่ของประชาชนคือการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่ อัยการถามว่า การใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคสองระบุว่า ต้องรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่
 
 
อัยการถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีโดยการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชรับว่า ใช่ แต่เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุในคดีนี้ อัยการถามว่า ความผิดตามมาตรา 116 เป็นอาญาแผ่นดิน การมอบอำนาจไม่ชอบไม่กระทบต่อการสอบสวน อัยการถามว่า คดีที่ถอนฟ้องเป็นคดีที่ศาลแขวงดุสิต ถอนฟ้องเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ยกเลิกไป พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่
 
 
อัยการถามว่า การวิจารณ์ผู้บริหารที่เป็นการติชมโดยสุจริตสามารถกระทำได้ และกรณีการชุมนุมครั้งนี้มีความเห็นอย่างไรบ้าง พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า สามารถกระทำได้ แต่การชุมนุมครั้งนี้เป็นติชมที่มีลักษณะพูดซ้ำๆเพื่อปลุกระดมมวลชนให้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล
อัยการหมดคำถาม ทนายจำเลยที่สองขออนุญาตศาลถาม ศาลสอบถามว่า คำถามที่จะถามพยานเป็นคำถามอะไร ทนายจำเลยที่สองกล่าวว่า เกี่ยวกับความเห็นการสั่งฟ้องคดีนี้ อัยการแย้งว่า ไม่ใช่คำถามใหม่ ถ้าหากจะขออนุญาตศาลถามจะต้องเป็นคำถามใหม่ ศาลกล่าวว่า ศาลเห็นด้วยกับอัยการ แต่จะให้ถามและจะบันทึกคำคัดค้านของอัยการด้วย
 
 
ทนายจำเลยที่สองถามว่า ในสำนวนการสอบสวนความเห็นการสั่งฟ้องของคณะทำงานฯ ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการกล่าวปราศรัยวนซ้ำและการปลุกเร้า อัยการคัดค้านว่า พยานได้ตอบคำถามติง การขออนุญาตถามเป็นการตั้งคำถามเรื่องเดิมไม่ใช่เรื่องใหม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการกล่าวปราศรัยวนซ้ำและการปลุกเร้า ศาลบันทึกคำคัดค้านของอัยการพร้อมทั้งคำตอบของพยาน ทนายจำเลยที่สองถามว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกแต่งตั้งโดยคสช.ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไพรัชตอบว่า ใช่
 
 
เวลา 16.15 น. เสร็จสิ้นการสืบพยาน
 
 
13 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานจำเลย
 
 
เวลา 9.30 น. อัยการโจทก์, ณัฏฐา จำเลยที่สี่, ชลธิชา จำเลยที่หก, ทนายจำเลยทั้งหกและชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญมาพร้อมกันที่ศาล ก่อนที่เวลา 10.00 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ ศาลถามคู่ความว่า หากอัยการจะขอระบุพยานเพิ่มเติมเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์สามบทความ คู่ความจะคัดค้านหรือไม่ อัยการและจำเลยไม่คัดค้าน ต่อมาศาลระบุว่าอนุญาตให้ทนายจำเลยถามทุกคน แต่ศาลจะขอจดรวมไปเลย ทนายจำเลยรับทราบ
 
 
ชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานจำเลยปากที่หนึ่ง
 
 
ชำนาญขึ้นนั่งที่คอกพยาน ศาลถามว่า นับถือศาสนาอะไร ชำนาญตอบศาลว่า ไม่นับถือศาสนา ศาลเลยขอให้สาบานตนว่า หากให้การไปตามความจริงขอให้ประสบความสุขความเจริญ แต่หากให้การเท็จก็ขอให้มีความพิบัติมีอันเป็นไป
 
 
ชำนาญเริ่มทำการเบิกความตอบทนายจำเลยที่หกว่า อายุ 61 ปี ปัจจุบันมีอาชีพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีนี้ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีมาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระดับชั้นปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังจบการศึกษาได้สอนวิชาเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมายในหลายมหาวิทยาลัย ล่าสุดเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
 
 
ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานองค์กรนิรโทษกรรมสากลหรือแอมนาสตี้  ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน มีสมาชิกใน 22 ประเทศทั่วโลกประมาณเจ็ดล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองของมหาวิทยาลัยกูเตนเบอร์ก ประเทศสวีเดน
เกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหหารประเทศมาจากการเลือกตั้ง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูฐได้วินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง จึงทำหน้าที่รักษาการในรัฐบาลรักษาการแทน จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ทำการยึดอำนาจ คณะดังกล่าวนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนหน้าที่จะประกาศรัฐประหารพล.อ.ประยุทธ์ได้ทำการเชิญผู้นำทางการเมืองหลายฝ่าย ส.ส.และส.ว. รวมทั้งกกต.ไปประชุมที่หอประชุมกองทัพบก เมื่อตกลงกันไมได้จึงประกาศยึดอำนาจและควบคุมตัวผู้เข้าประชุมตามระยะเวลาสั้นบ้างยาวบ้าง
 
 
ตอนนั้นมีการยื่นข้อเสนอให้ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ในแง่ของกฎหมายเป็นไปไม่ได้ เมื่อยิ่งลักษณ์ไม่ยอมลาออกจึงทำการรัฐประหาร ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้สภาสิ้นสภาพไปโดยปริยาย เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ ในช่วงแรกคสช.ไม่ได้ออกคำสั่งไปยังองค์กรตุลาการ แต่มีการใช้มาตรา 44 ย้ายอัยการสูงสุด มีการใช้เพื่อหักล้างคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรื่อง การใช้ประโยชน์ในที่ดินสปก. โดยเปลี่ยนให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ ซึ่งเป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการ
 
 
เรื่องเขตอำนาจศาล คดีความที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคสชงและประกาศคสช. หรือกฎหมายความมั่นคงอื่นๆจะต้องขึ้นศาลทหาร แม้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดจะเป็นพลเรือนก็ตาม ส่วนของเรื่องอำนาจการบริหาร นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2557 เป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการใช้อำนาจบริหาร ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2557 จึงมีการตั้งรัฐบาลนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.มาบริหารประเทศ ทำหน้าที่รัฐบาล คสช.ได้ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มาพิจารณาออกกฎหมาย ซึ่งสมาชิกสนช.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีการออกกฎหมายที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
 
 
ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการบัญญัติรับรองมาตรา 44 ให้ใช่ต่อไป โดยจะเห็นได้ว่า ผลของมาตรา 44 ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน และให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้จนถึงวันที่รัฐบาลชุดใหม่ถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ อำนาจตามมาตราดังกล่าวจึงจะหมดไป การใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีปัญหาเนื่องจากสามารถออกคำสั่ง โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากองค์กรตุลาการ, สนช. หรือลงพระปรมาภิไธยก่อน ความเห็นทางกฎหมายคือมีสภาพเป็นกฎหมายแต่ไม่ได้รับการยอมรับ ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่วนตัวเขาเองก็มีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน ใช้คำว่า เยี่ยมบ้าน แต่ที่จริงแล้วคือการคุกคาม มีกรณีของผู้เข้าร่วมงานวิชาการไทยคดีศึกษาถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและเสื่อมเสียชื่อเสียงไปทั่วโลก
 
 
ย้อนกลับไปที่เรื่องรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญจะผ่านการออกเสียงประชามติ มีการร่างมาครั้งหนึ่งคือ ร่างโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีความก้าวหน้าแต่ไม่ต้องกับความเห็นของคสช.และสนช. ร่างดังลก่าวจึงตกไป ต่อมามีชัย ฤชุพันธุ์มาร่างฉบับใหม่ ซึ่งคือฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ไม่ผ่านความเห็นชอบนั้น บวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า เพราะคสช.อยากอยู่ยาว กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดให้ใช้สูตรการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตแล้วเลือกพรรคการเมืองไปด้วย ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกใช้ระบบเลือกตั้งเช่นนี้ แม้ว่า จะมีความพยายามในการอธิบายว่า เยอรมนีมีการใช้ แต่ความจริงเยอรมนีใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ในการออกเสียงประชามติมีการกำหนดคำถามพ่วงให้ส.ว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งไม่มีที่ใดในโลกกระทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นการเสนอโดยวันชัย สอนศิริ สนช.และส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งมีชัยไม่เห็นด้วย แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดต่อกฎหมายจึงต้องเป็นไปตามที่ศาลวินิจฉัย
 
 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดโทษไว้ว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดด้วย นอกจากแผนนี้แล้วยังมีการกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ โดยระบุว่า หากกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัด หมายความว่า  ส.ว. จะเข้ามามีบทบาทในการ "ร่วมพิจารณา" กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยเสียงของ ส.ว. ที่มากถึง 250 คน ทำให้ ส.ว. กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของสภา โดยใช้เสียง ส.ส. อีก 126 เสียง ก็จะสามารถผ่านกฎหมายฉบับนั้นได้ โดยแทบจะไม่ต้องพึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
 
 
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่ได้แจ้งว่า กฎหมายมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ หากส.ว.หรือส.ส.เห็นว่า เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศก็สามารถเข้าชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภาร้องต่อประธานสภาเพื่อให้วินิจฉัยได้ และให้ประธานสภายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการร่วม ซึ่งมีประธานวุฒิสภา, รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้แทนคณะรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมมาธิการวิสามัญ ร่วมกันวินิจฉัย กรณีนี้ส.ว.ก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อตีความความเกี่ยวข้องของกฎหมายกับการปฏิรูปประเทศได้
 
 
คสช.มีการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระเช่น ปปช. หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการขยายอายุให้ ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ระงับไม่ให้มีการเลือกตั้ง มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการย้ายผู้บริหารหลายคน บทเฉพาะกาลเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นยังให้อำนาจคสช.ในการกำหนดวันเลือกตั้ง เมื่อไม่มีคสช.แล้วจึงกำหนดให้เป็นคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่วมกันกับกกต. กรณีของกกต. คสช.เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดสมชัย ศรีสุทธิยากรออกจากตำแหน่งกกต. เป็นการลุแก่อำนาจ เมื่ออ่านข้อความที่ใช้ในการบรรยายการปลดไม่ใช่ภาษากฎหมายแต่เป็นเรื่องของอารมณ์
 
 
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) มีการให้อำนาจมากกว่าเดิม เสมือนหนึ่งเป็นรัฐซ้อนรัฐ ให้อำนาจในการป้องกันภัย ซึ่งมีหน่วยงานในการป้องกันดูแลอยู่แล้วคือ กระทรวงมหาดไทย แต่ปัจจุบันที่มีการระบุให้ข้าราชการมหาดไทยที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือบุคคลกรฝ่ายตุลาการอย่างอธิบดีอัยการในแต่ละพื้นที่ขึ้นกับกอ.รมน.ของแต่ละภาค
 
 
มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้บรรดาประกาศคำสั่งคสช.ยังมีผลอยู่ต่อไป จนกว่าจะทำการยกเลิกด้วยกฎหมายในระดับเดียวกันหรือสูงกว่า ซึ่งต้องใช้พ.ร.บ.และพ.ร.ฎ. ในความคิดเห็นส่วนตัวคำสั่งบางคำสั่งเป็นเรื่องหยุมหยิม ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จากที่เบิกความมาเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560  แต่เมื่อไปย้อนดูขั้นตอนทางแก้ไขและพิจารณาในทางวิชาการแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ฝ่ายค้านจะเห็นร่วมในแนวทางการแก้ไขกับรัฐบาล
 
 
ที่ผ่านมาประชาชนใช้เสรีภาพยากมาก มีการจับกุมคุมขัง ผู้ที่ออกมาวิจารณ์แสดงความคิดเห็น สื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ร่วมรายการ มีการดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก แต่เท่าที่ทราบแทบทุกคดียกฟ้องทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า เป้าหมายทางการเมืองคือต้องการฟ้องร้องปิดปาก ไม่หวังผลทางคดี
 
 
ตามพ.ร.ป.การเลือกตั้ง สนช.เคยเสนอให้มีการเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพรมารี โหวต แต่คสชงเห็นว่า ตัวเองเสียเปรียบจึงทำการยกเว้นไม่ให้ใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ และพ.ร.ป.ดังกล่าวยังมีการหน่วงเวลาให้ใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วันเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากพ.ร.ป.ฉบับร่างของกกต.กำหนดให้ใช้บังคับในวันถัดมาหลังจากที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่พ.ร.ป.การเลือกตั้งในปี 2550 ให้เลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 60 วันหลังจากใช้บังคับ ในการเลือกตั้ง คสช.มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่และมีการเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง
 
 
รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจคสช.ในการเลือกส.ว. ผลคือบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นอดีตสนช., ผู้ใกล้ชิดคสช. และกรรมการพิจารณาสรรหาส.ว.ของคสช. ทำให้มีปัญหาว่าด้วยความชอบของกฎหมายว่า อันที่จริงแล้วมีการแต่ตั้งคณะกรรมการการสรรหาหรือไม่ มีการเสนอชื่อบุคคลให้พิจารณา 400 คน ซึ่งหลายครั้งก็มีบุคคลประกาศออกมาว่า ได้รับการทาบทาม โดยต่อมาส.ว. 250 คน มี 249 คนออกเสียงเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ยกเว้นแต่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียงเท่านั้น ในส่วนของส.ส. กกต.มีการตีความสูตรบัญชีรายชื่อผิดเพี้ยนไปจากที่กฎหมายกำหนด ทำให้ที่นั่งของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหลักหายไปสิบที่นั่ง และไปเพิ่มให้แก่พรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำสิบพรรค ซึ่งพรรคเล็กเหล่านั้นเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังพล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้มีการเลือกรัฐมนตรีคสช.มาประมาณห้าคนมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่อไปในสมัยนี้
ทนายจำเลยที่หนึ่งถาม
 
 
ชำนาญเบิกความตอบทนายจำเลยที่หนึ่งว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีการใช้ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และแต่งตั้งผู้ว่าราชการคนใหม่โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง การใช้อำนาจมาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย สามารถแต่งตั้งคนใกล้ชิดหรือผู้ที่ตนเองสามารถสั่งการได้ ผลการสำรวจ ประชาชนมาออกเสียงประชามติด้วยความเชื่อว่า ถ้าออกเสียงแล้วจะได้เลือกตั้งโดยเร็ว  มีเพียงร้อยละสามเท่านั้นที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แน่ใจว่า ถึงร้อยละหนึ่งหรือไม่ที่ได้อื่นครบถ้วน การออกเสียงประชามติ 2557 ไม่มีการแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนอ่านก่อน ซึ่งต่างจากปี 2550 ที่มีการเผยแพร่รัฐธรรมนูญก่อนการออกเสียง
 
 
ทนายจำเลยที่สองถาม
 
 
ชำนาญให้ความเห็นในกรณีที่คำฟ้องของโจทก์บรรยายพฤติการณ์ว่า จำเลยร่วมกันปลุกปั่นเรียกร้องให้ประชาชนชูสามนิ้วอันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวดเสรีภาพให้การรับรองอย่างชัดเจน กติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็ได้ให้การรับรองไว้ ซึ่งไทยลงสัตยาบันรับรองไว้ ทั้งการแสดงสัญลักษณ์นี้ก็เป็นไปเพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วไม่ใช่โค่นล้มรัฐบาล การที่รัฐบาลจำกัดสิทธิประชาชนก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบ ปกติภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็เป็นเชิงลบอยู่แล้ว เมื่อคสช.ทำการจับกุมผู้ใช้เสรีภาพ ภาพลักษณ์ยิ่งเป็นลบมากขึ้น
 
 
ทนายจำเลยที่ห้าถาม
 
 
กติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นกติกาที่ออกโดยองค์กรใด ชำนาญตอบว่า สหประชาชาติ
 
 
ทนายจำเลยที่สาม
 
 
ชำนาญตอบคำถามทนายจำเลยที่สามว่า การที่พวกของจำเลยในคดีนี้กล่าวปราศรัยการชุมนุมเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. หรือการทุจริตกรณีอุทยานราชภักดิ์ก็ดีเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ2560 แนวนโยบายแห่งรัฐที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตการชุมนุมเพื่อขอให้มีการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ2560 ได้ระบุถึงเสรีภาพในการชุมนุมขณะที่กติกาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองก็ได้กำหนดเสรีภาพเกี่ยวกับการชุมนุมไว้ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นการชุมนุมอย่างสงบสันติปราศจากความรุนแรงการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นการวางแผนอย่างยาวนานเห็นได้จากการอภิปรายในสภาโดยหัวหน้าพรรคประชาชาติที่กล่าวว่ามีการวางแผนก่อนการรัฐประหารถึงสามปีเมื่อรัฐประหารเสร็จแล้วก็วางแผนในการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.การเลือกตั้ง
 
 
อัยการถามค้าน
 
อัยการแย้งว่า กรณีที่หัวหน้าพรรคประชาชาติพูดนั้นมีการชี้แจงแล้วว่า ข้อกล่าวหาไม่เป็นความจริง ชำนาญตอบยืนยันคำเบิกความที่บอกว่า การสืบทอดอำนาจเป็นการวางแผนด้วยการบริหารประเทศที่ผ่านมาของคสช. อัยการถามว่า ชำนาญเป็นประธานองค์กรนิรโทษกรรมสากลประเทศไทยเมื่อปีใด ชำนาญตอบว่าระหว่างปี2557 – 2559 อัยการถามว่า พยานก็เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่าเห็นด้วยกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยตนไม่ได้เห็นด้วยกับทุกกลุ่มที่คัดค้านคสช. แต่เห็นด้วยเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ อัยการถามว่า ชำนาญเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่ชำนาญตอบว่า ไม่เคยแต่เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความเผยแพร่ต่อสาธารณะอีกหลายชิ้นในเรื่องดังกล่าว
 
 
อัยการถามว่าพยานทราบสาเหตุของการยึดอำนาจหรือไม่ พร้อมอ่านเนื้อบทความจากสำนักข่าวไทยโพสต์ทำนองว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่งกรณีการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมามีการยุบสภา โดยยิ่งลักษณ์เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันที่2 กุมภาพันธ์2557 เป็นโมฆะทำให้สถานะของรัฐบาลรักษาการคล้ายกับผีหัวขาดบ้านเมืองสับสนวุ่นวายไม่มีใครสามารถนำประเทศได้พลเอกประยุทธ์ถึงถูกเรียกร้องจากประชาชน ชำนาญแย้งว่า พยานเอกสารที่ฝ่ายโจทก์นำมาอ่านเมื่อสักครู่นั้นกล่าวไม่หมด เนื่องจากรัฐบาลรักษาการนั้นกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ฝ่ายกองทัพหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ มีการออกมาเดินขบวน ในเรื่องของการยึดอำนาจที่อ้างว่าพล.อ.ประยุทธ์ถูกเรียกร้องจากประชาชนนั้นขอเห็นต่างเนื่องจากปัจจุบันบรรดาคนที่มีความเห็นเช่นนั้นก็ไม่ได้เห็นเช่นนั้นด้วยอีกแล้วซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริงจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่มาสมัครเข้าร่วมพรรค
 
 
อัยการถามว่า นอกจากมาตรา44 ที่ใช้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งชำนาญได้ตอบทนายจำเลยไปแล้วมีเรื่องอื่นอีกหรือไม่ ชำนาญตอบว่ามาตรา44 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่มาของผู้ที่ใช้อำนาจนี้ และเมื่อมีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยแล้วอำนาจตามมาตรา44 ยังคงเหลืออยู่ ส่วนเรื่องอื่นๆที่นอกจากที่กล่าวไปแล้วนั้นก็ยังมีการระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น การขยายอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การเอื้อประโยชน์ต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในการยกเว้นประกาศกระทรวงเรื่องผังเมือง อัยการถามว่า แต่เรื่องดังกล่าวที่กล่าวมาดูแล้วจะเป็นเรื่องการเมืองที่ไม่มีผลกระทบกับประชาชน ชำนาญแย้งว่าการเมืองเป็นทุกอย่างประชาชนก็เป็นการเมืองทุกเรื่องจึงเกี่ยวข้องกับประชาชน
 
 
อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่าการปลดม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเนื่องจากมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างชำนาญตอบว่า ทราบว่า เป็นการแจ้งข้อหาแต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าทุจริตจริงต้องมีการลงโทษไม่ใช่แค่ปลดออกจากตำแหน่ง อัยการถามว่า รายละเอียดของคดีเป็นอย่างไร ชำนาญตอบว่า ไม่ทราบแน่ชัดว่า รายละเอียดของคดีจะดำเนินไปอย่างไร ทราบแค่ว่ามีการปลดผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังไม่มีการชี้มูลความผิดอัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาแทนเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ชำนาญรับว่า ใช่
 
 
อัยการถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการย้ายอัยการสูงสุดว่า ชำนาญเคยหาข้อมูลเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ชำนาญตอบว่า เคยหาข้อมูลเรื่องการย้ายอัยการสูงสุด ส่วนตัวคิดว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร อัยการถามว่า แล้วทราบไหมว่าคนในส่วนของอัยการมีความชอบใจในคำสั่งนี้อยู่ ชำนาญตอบว่า ไม่ทราบ อัยการถามถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านของชำนาญว่า มีรายละเอียดอย่างไรและที่ผ่านมาชำนาญเคยถูกดำเนินคดีหรือไม่ชำนาญตอบว่า ครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านสี่คน ไม่ทราบสาเหตุของการมาแต่คิดคิดว่าตนคงมีพฤติกรรมที่ต้องจับตาเฝ้าระวังที่ผ่านมาตนไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน
 
 
อัยการถามว่า ในการออกเสียงประชามติ2559 มีผู้ออกเสียงเห็นชอบจำนวน16 ล้านเสียง แต่ชำนาญตอบทนายจำเลยไปว่าประชาชนไม่รู้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ อยากทราบว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของโพลสำนักใด ชำนาญตอบว่า จำไม่ได้อัยการถามว่า แต่ก็มีสำนักโพลบางแห่งให้ข้อมูลในเชิงบวกกับประชามติใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า ใช่ แต่กระบวนการประชามติที่ผ่านมาเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ อัยการถามว่า ชำนาญได้ไปออกเสียงประชามติหรือไม่ ชำนาญตอบว่า ไปและลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
 
อัยการถามว่า ในการชุมนุมแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีสัญลักษณ์ในการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ ชำนาญตอบว่าไม่จำเป็นอัยการถามว่า การชุมนุมที่เป็นเหตุในคดีนี้มีการชูสัญลักษณ์สามนิ้วเพื่อต่อต้านรัฐบาลและคสช. ใช่หรือไม่ชำนาญตอบว่าสัญลักษณ์สามนิ้วดังกล่าวมาจากภาพยนตร์ต่างประเทศใช้ต่อต้านเผด็จการ ในส่วนที่นำมาใช้ก็เพื่อต่อต้านรัฐบาลคสช. ที่ทำการสืบทอดอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งแต่ไม่ใช่การโค่นล้มรัฐบาล ชำนาญให้ความเห็นว่า การชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มต่างๆที่มีการปิดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินเห็นว่ามีพฤติการณ์ที่แตกต่างกันกับการชุมนุมครั้งนี้ที่เป็นการชุมนุมอย่างสงบ
 
 
อัยการถามถึงรูปแบบของการเลือกตั้งที่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งผู้ร่างได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ชำนาญเคยได้ยินหรือไม่ ชำนาญตอบว่า เคยได้ยินการออกมาชี้แจงเรื่องนี้และโต้แย้งว่าระบบเลือกตั้งแบบครั้งที่แล้วคะแนนก็ไม่ตกน้ำเหมือนกัน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ถ้ายังคงนับคะแนนแบบเดิมพรรคอนาคตใหม่จะได้สมาชิกผู้แทนราษฎรมากกว่านี้
 
 
อัยการถามถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่าแต่ละพรรคจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีของพรรคตนเองซึ่งเมื่อออกเสียงเลือก ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับชัยชนะ เมื่อดูแล้วเพียงแค่เสียงของส.ส.ก็สามารถชนะได้ ชำนาญแย้งว่าเสียงของส.ส.นั้นมากกว่าเพียงหนึ่งถึงสองเสียง ถ้าไม่มีเสียงของส.ว.เข้ามาร่วมออกเสียงด้วยนั้นพ.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ารัฐธรรมนูญไม่บัญญัติให้ส.ว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยไม่มีทางเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ อัยการถามว่าเหตุที่มีการจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีขึ้นมาก็เนื่องจากว่าถ้าไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาลเก่าก็จะเกิดการขาดความต่อเนื่องและเสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่าตนเห็นว่าแนวทางการพัฒนาประเทศควรจะมาจากเสียงของประชาชน อัยการถามว่าการย้ายผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเพราะบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ตามคำร้องเรียนใช่หรือไม่ชำนาญตอบว่ายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดออกมาเพียงร้อยนละ 2.7
 
 
อัยการถามว่ากรณีที่ชำนาญตอบทนายจำเลยไปว่าการปลดสมชัยศรี สุทธิยากรมีลักษณะใช้อารมณ์นั้นเทียบเคียงกับกรณีการปลดถวิล  เปลี่ยนสีได้หรือไม่ เนื่องจากเคยมีคำสัมภาษณ์ของเฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า ถ้าไม่เป็นพวกกันก็ไม่เอาไว้มีแบบนี้ใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า ไม่เคยได้ยินข้อความดังกล่าวจึงตอบไม่ได้
 
 
อัยการถามว่า ที่ตอบทนายจำเลยไปว่า กอ.รมน.เข้ามาควบคุมดูแลอัยการด้วยนั้น ทราบหรือไม่ว่า อักการเป็นกรรมการกอ.รมน.อยู่แล้ว ชำนาญตอบว่า ทราบว่า ระดับจังหวัดเป็นกรรมอยู่แล้ว แต่ในระดับภาคไม่เคยปรากฏมาก่อน อัยการถามว่า ที่ตอบทนายจำเลยไปว่า การฟ้องคดีหลายคดีเป็นการปรามผู้ชุมนุมนั้นเป็นเพียงความคิดเห็นของชำนาญใช่หรือไม่ ชำนาญรับว่า ใช่
 
 
ทนายจำเลยถามติง
ทนายจำเลยที่หกถามติง
 
 
ทนายจำเลยที่หกถามว่า เหตุใดชำนาญถึงเห็นด้วยกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชำนาญตอบว่าเพราะข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้มีการเลือกตั้ง ทนายจำเลยที่หกถามถึงผลกระทบหลังจากที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง ชำนาญตอบว่า นักศึกษาหกคนถูกดำเนินคดี
 
 
ทนายจำเลยที่หกขอให้ชำนาญอ่านบทความจากสำนักข่าวไทยโพสต์ที่อธิบายเรื่องการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลรักษาการและพล.อ.ประยุทธ์จำต้องยึดอำนาจ และอ่านข้อความในตอนท้ายของเอกสารทำนองว่า สังคมไทยเป็นเผด็จการธิปไตย คนไทยต้องเป็นเผด็จการนิยม อำนาจนิยม ส่งเสริมระบอบเผด็จการ ชำนาญให้ความเห็นว่า หลังจากที่มีรัฐบาลรักษาการแล้วได้พาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง เหตุที่ยิ่งลักษณ์ต้องยุบสภาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีการกำหนดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว แต่มีกลุ่มกปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง จนศาลรัฐธรรมนูยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแม้จะเกิดเหตุการณ์เลือกตั้งเป็นโมฆะแต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดการรัฐประหารทำไม่ได้ด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญก็ตาม ทั้งในปัจจุบันบรรดาแกนนำกปปส.หลายคนก็ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้
 
 
ทนายจำเลยที่หกขอให้ชำนาญอธิบายถึงเรื่องการดำเนินคดีปิดปาก ชำนาญตอบว่า การดำเนินคดีปิดปากมีหลักการสากลระบุไว้ว่า เป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ที่มีเป้าประสงค์ให้ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกกลัวและหยุดพูดเรื่องนั้นๆ ทนายจำเลยที่สองถามติง ทนายจำเลยที่สองถามว่า คสช.จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจปลดย้ายใครหรือไม่ ชำนาญตอบว่า การปลดย้ายบุคลากรทางการเมืองหรือข้าราชการ คสช.และผู้ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ไม่จำเป็นต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ให้การบัญญัติคุ้มครองไว้
 

ทนายจำเลยที่สามถามติง
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกับกลุ่มพันธมิตรและกปปส.มีความแตกต่างอย่างไร ชำนาญตอบว่า การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นเรื่องหลังการรัฐประหารแล้ว วัตถุประสงค์คือการเรียกร้องในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งการชุมนุมยังสงบ เรียบร้อย เปิดเผยไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือการพกพาอาวุธ
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามติง
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งเริ่มทำการถามติง โดยเอ่ยขึ้นมาว่า ที่ทนายความของแผ่นดิน ยังไม่ทันจบประโยค อัยการที่นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งได้ลุกขึ้นในทันทีและกล่าวต่อศาลว่า ขอคัดค้าน ศาลจึงบอกให้ทนายจำเลยที่หนึ่งถอนคำว่า ทนายความของแผ่นดินออกเสีย ทนายจำเลยที่หนึ่งจึงอธิบายว่า อัยการคือทนายความของแผ่นดิน ศาลพยายามไกล่เกลี่ยและระบุว่า ให้ถอนเพราะศาลก็เห็นว่า มันเป็นคำที่ใช้แล้วมีเชิงเสียดสี ทนายจำเลยที่หนึ่งยินยอมแล้วถามว่า ที่ชำนาญตอบอัยการไปว่า ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น อยากทราบว่า เพราะอะไร ชำนาญตอบว่า เพราะที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญมิชอบ เนื้อหาขัดต่อหลักประชาธิปไตย
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถามถึงกรณีที่ตอบอัยการไปว่า กกต.ไม่ได้มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับพิมพ์ไปให้ประชาชน อยากให้อธิบายเพิ่มเติม ชำนาญอธิบายว่า กกต.มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญทางเว็บไซต์ แต่รัฐจำต้องคำนึงจึงศักยภาพในการเข้าถึงเว็บไซต์ของประชาชนด้วย
เสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลาประมาณ 13.30 น. ศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในเวลา 14.30 น.
 
 
 
เวลา 14.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เพื่อสืบพยานจำเลยต่อจากในช่วงเช้า โดยจำเลยห้าคน ยกเว้นสุกฤษณ์ ที่อ้างตัวเองเป็นพยาน ทำความเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรส่งต่อศาลแล้ว แต่จะขอเบิกความเพิ่มเติมในศาลอีกครั้ง
 
 
ณัฏฐา จำเลยที่สี่ พยานจำเลยปากที่สอง
 
 
ณัฏฐาเริ่มทำการสาบานตน กล่าวว่า แด่ดวงวิญญาณของนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ หากกล่าวตามความจริงขอให้บ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย หากเป็นการให้การเท็จก็ขอให้มีอันเป็นไป ศาลบอกว่า ขอให้ณัฏฐากล่าวสาบานตนตามแบบของศาลด้วย ณัฏฐาสาบานตนตามแบบของศาลอีกครั้งและเริ่มการสืบพยานในปากนี้
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถาม
 
 
ทนายจำเลยที่สี่ถามว่า ณัฏฐามีอะไรจะเบิกความเพิ่มเติมจากเอกสารที่นำส่งไปหรือไม่ ณัฏฐากล่าวว่า ขอเพิ่มเติมคือ การดำเนินคดี ถ้าเฉพาะของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีลักษณะคล้ายกันดังนี้
 
 
หนึ่ง ตั้งข้อกล่าวหาที่เกินจริง ไม่ได้ส่วนกับพฤติการณ์ กรณีของการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์ค ปทุมวันเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนประมาณ 100 คน อุปกรณ์คือ โทรโข่งตัวเล็ก ระยะเวลาการชุมนุมประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง จุดประสงค์คือการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง แต่กลับถูกกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งตามปกติใช้กับกรณีการจราจล ตนเห็นว่า ไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์
 
 
สอง เป็นการตั้งข้อหาในลักษณะหว่านแห รวมไปถึงบุคคลที่สังเกตการณ์โดยรอบเช่น เนติวิทย์ หรือ วีระ สมความคิด เพื่อสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น พฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้งที่การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สหประชาชาติ ครั้งนั้นคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเป็นแกนนำก็เป็นคนเร่ร่อนไร้บ้านที่เดินอยู่บริเวณดังกล่าว ระหว่างการสอบสวนไม่สามารถตามตัวได้จนกระทั่งเกือบถูกหมายจับในชั้นอัยการ
 
 
สาม ลักษณะการตั้งข้อกล่าวหาคือ เพิ่มจำนวนข้อหามากขึ้นเรื่อยๆเช่น คดีคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์ค ปทุมวันก็จะมีมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา, คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรื่อยมาจนกระทั่งคดีคนอยากเลือกตั้งที่สหประชาชาติ มี 14 ข้อหาเช่น อั้งยี่ ซ่องโจรและความผิดตามพ.ร.บ.จราจรฯ ไล่ระดับมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้เป็นภาระในการต่อสู้คดี
 
 
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวเองคือ แรกสุดมีความตกใจ ในขณะที่ครอบครัวมีความกังวล ผลกระทบต่อหน้าที่การงานคือ งานส่วนหนึ่งต้องถูกยกเลิกไป แต่อย่างไรก็ดียังมีทนายความที่ช่วยสู้คดีให้ มิเช่นนั้นคงไม่สามารถต่อสู้คดีได้
 
 
ในคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์ค ปทุมวัน ซึ่งเป็นคดีแรกในชุดคดีนี้ ในการประกันตัวเนื่องจากเห็นว่า การระดมทุนจะเป็นการไม่เหมาะสม จึงใช้ตำแหน่งทางวิชาการของนักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองในการประกันตัว คดีต่อๆมาทางกลุ่มจำเลยเริ่มเห็นว่า ความช่วยเหลือจะเป็นภาระของสังคมจึงทำหนังสือของความเป็นธรรมต่ออัยการ จึงขอปล่อยตัวโดยใช้ตัวเองเป็นหลักประกัน ณัฏฐาให้ความเห็นว่า การใช้เงินประกันตัวเหมือนเป็นการถูกตัดสินล่วงหน้า หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและจำเลยไม่มีเงินประกันตัวก็จะต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา ทั้งการคุมขังจะทำให้จำเลยไม่สามารถไปเคลื่อนไหวแสดงออกต่อต้านคสช.ได้อีก ซึ่งตนคิดว่า อันนี้น่าจะเป็นจุดประสงค์ของคสช. นอกจากนี้การที่การชุมนุมแต่ละครั้งแล้วส่งผลให้ต้องมีคดีความ ทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่สามารถสร้างแนวร่วมการชุมนุมได้
 
 
เหตุที่ออกมาชุมนุมในครั้งนี้เพื่อเรียกร้องและเร่งให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วเพราะเห็นว่า สภาในยุคคสช.ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่การตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน เวลาที่ทอดนานไปคือความเสียหายต่อประเทศชาติ เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดทรราชย์ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไรขีดจำกัด ฉะนั้นการกระทำทั้งหมดตนจึงมีเจตนาเพียงต้องการรักษาประโยชน์ของประชาชนที่เสียภาษี
 
 
ความเสียหายที่พูดไปคือ ความเสียหายเชิงรูปธรรม แต่ยังมีความเสียหายเชิงระบบเช่น กระบวนการยุติธรรม การที่เห็นว่า คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดี ทำให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงตั้งแต่ต้นทาง ที่น่าตกใจคือ ในชั้นอัยการแทบไม่มีการสอบสวน ถึงวันนี้การที่พวกเราต้องมานั่งในศาลก็เป็นหลักฐานชั้นดีว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง นอกจากนี้ในยุคคสช.ยังมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารอีกกว่าพันคน โดยเมื่ออำนาจของศาลทหารหมดไป ศาลทหารจะต้องโอนคดีมาที่ศาลพลเรือน ซึ่งเป็นภาระของศาลอย่างมาก ทั้งในศาลทหาร องค์คณะผู้พิพากษาจะมีเพียงคนเดียวที่จบการศึกษาด้านกฎหมาย มันจะเป็นอย่างไรหากศาลยุติธรรมจะต้องมารับสำนวนต่อจากศาลทหาร
 
 
การสู้คดีในวันนี้ไม่ใช่แค่ต้องการชนะคดี การมานั่งในศาลทำให้ตนมีโอกาสได้แถลงว่า ต้องหยุดความเสียหาย ตนไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว โดยที่ไม่มีใครต่อต้านความหวาดกลัวนั้น
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งถาม
 
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งขอให้ณัฏฐาอธิบายถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ ณัฏฐาตอบว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ เป็นแนวทางที่กองทัพใช้ในสงครามเพื่อลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม กรณีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีการสร้างวาทกรรมในทุกครั้งที่กลุ่มออกมาชุมนุมโดยสงบ ระบุว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นการสร้างความวุ่นวาย เป็นพวกชังชาติ เป็นพวกซ้ายจัด ทนายจำเลยที่หนึ่งถามถึงเอกสารหลักฐานที่ระบุว่า การฟ้องคดีต่อแกนนำควรทำควบคู่ไปกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร อยากทราบความเห็นว่า ทำไปเพื่ออะไร ณัฏฐาตอบว่า ใช้ปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อสื่อให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ มีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าร่วมด้วย มีการสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง ตามที่ตนเข้าใจในตอนที่มีการชุมนุมเสื้อแดง แกนนำอย่างรังสิมันต์ อาจจะยังไม่มีบัตรประชาชนเลยด้วยซ้ำ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกลุ่มคนเสื้อแดงเลย อย่างไรก็ตามในการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยเราต้อนรับกลุ่มคนที่หลากหลายมาร่วมชุมนุมด้วยกัน
 

ทนายจำเลยที่สองถาม
 
 
ทนายจำเลยที่สองให้ณัฏฐาอธิบายถึงวิธีการจัดการชุมนุมในคดีนี้ ณัฏฐาตอบว่า คดีนี้เป็นคดีแรกที่ตนถูกดำเนินคดี ตอนนั้นไม่ได้ร่วมเป็นแกนนำทั้งสิ้น ไม่ได้มีการแบ่งงานกันทำ เมื่อมาถึงที่ชุมนุมแล้วก็พบว่า ไม่ได้มีการจัดการที่ดีด้วยซ้ำ ตอนที่ตนถูกเรียกมาพูดก็เพิ่งรู้ว่า ต้องพูด ยืนยันว่า ไม่ได้มีการตระเตรียมวางแผนกัน
 
 
ทนายจำเลยที่สามถาม
 
 
ทนายจำเลยที่สามถามว่า เมื่อรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเสียต้องมีการสืบทอดอำนาจ ทำไมถึงตัดสินใจสู้ต่อ ณัฏฐากล่าวว่า ตอนนั้นเราคิดว่า เลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะป้องกันการใช้ทรัพยากรของชาติที่เพิ่มมากขึ้นของคสช.ไปตามเวลาที่ถูกทอดนานออกไป และตามความเห็นของคนตนมองว่า การที่คสช.ใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นการหาเสียงล่วงหน้า ถ้าหากเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ก็จะจำกัดความเสียหายได้
 
 
อัยการไม่ค้าน
 
 
 
กาณฑ์ จำเลยที่สอง พยานจำเลยปากที่สาม

 
 
14 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานจำเลย
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร พยานจำเลยปากที่สี่
 

ชลธิชา จำเลยที่หก พยานจำเลยปากที่ห้า
 

15 สิงหาคม 2562
นัดสืบพยานจำเลย
สิรวิชญ์ พยานจำเลยปากที่หก

 
 
 
อานนท์ พยานจำเลยปากที่เจ็ด
ทนายจำเลยที่สามถาม

 

ทนายจำเลยที่สามถามอานนท์ว่า มีประเด็นใดที่อานนท์ต้องการเบิกความเพิ่มเติมจากคำเบิกความที่นำส่งต่อศาลไปก่อนแล้วหรือไม่ อย่างไร อานนท์ตอบว่า ร้องขอต่อศาลไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานชิ้นนี้ ให้เหตุผลว่า เป็นเอกสารนอกสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ความคิดเห็นของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความนี้เป็นบทความของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่สนับสนุนเผด็จการ เป็นปฏิปักษ์ชัดแจ้งต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยที่สามถามว่า ที่ผ่านมาอานนท์ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวมีสาเหตุมาจากอะไร อานนท์ตอบว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ อยากให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาถูกดำเนินคดีหลายคดีคือ คดีที่ศาลยุติธรรมหกคดี ศาลทหารสองคดี โดยทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมโทษจำคุกทั้งหมดหลายสิบปี

 

ทนายจำเลยที่หนึ่งถาม


ทนายจำเลยที่หนึ่งถามถึงความคืบหน้าของคดี อานนต์ตอบว่า คดีที่ศาลทหารยกฟ้องทั้งสองคดี เพราะเป็นคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ยกเลิกไปแล้ว ไม่มีกฎหมายใดที่จะนำมาลงโทษได้ นอกนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา

 


อัยการถามค้าน อัยการถามว่า ในฐานะที่อานนท์เป็นนักกฎหมาย มีกฎหมายใดห้ามอัยการนำส่งเอกสารนอกสำนวนการพิจารณาของพนักงานสอบสวน อานนท์ตอบว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ แต่หลักฐานนอกสำนวนที่นำมาเสนอต่อศาล ทำให้ตัวอัยการเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลายเป็นผู้ให้ความเห็นในคดีเสียเอง อัยการถามว่า การทำงานของอัยการจะมีการขัดข้องใด อานนท์ทราบหรือไม่ อานนท์รับว่า ไม่ทราบ ศาลถามอัยการว่า คดีนี้อัยการคณะนี้มารับคดีต่อจากอัยการคณะอื่นใช่หรือไม่ อัยการรับว่า ใช่

 

ทนายจำเลยถามติง
ทนายจำเลยที่สองถามติง

ทนายจำเลยที่สองถามว่า ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา อำนาจการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นของใคร อานนท์ตอบว่า ตามกฎหมายดังกล่าว อำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นของพนักงานสอบสวน ถ้าเห็นว่า บกพร่อมสามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มได้
 

 

20 กันยายน 2562

นัดฟังคำพิพากษา

เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของหกผู้จัดการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน บรรยากาศในนัดฟังคำพิพากษา ตั้งแต่เวลา 8.50 น. ที่ห้องพิจารณา 701 จำเลยทั้งหกคน และทนายจำเลยเริ่มทยอยกันมาพร้อมกัน รวมทั้งยังมีบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยเข้าร่วมชุมนุมทำกิจกรรมร่วมกันมาให้กำลังใจกว่า 30 คน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากสถานทูตอเมริกา, ออสเตรีย, สวีเดน, แคนาดา,เยอรมนีและฝรั่งเศส และผู้แทนสหภาพยุโรป เข้าร่วมสังเกตการณ์ฟังคำพิพากษาอีกด้วย ด้านสำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาสังเกตการณ์โดยรอบห้องพิจารณาคดีประมาณห้าคน เวลา 9.50 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ เรียกชื่อจำเลยแต่ละคนจนครบและเริ่มอ่านคำพิพากษา พอสรุปความได้ดังนี้

 
ก่อนการสืบพยานหัวหน้าคสช.มีคำสั่งที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เป็นกรณีการบัญญัติของกฎหมายขึ้นในภายหลัง ซึ่งเมื่อมีกฎหมายยกเลิกความผิดให้ถือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(5) จำหน่ายคดีความผิดตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ออกจากสารบบความ
 
 
ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันเกิดเหตุในคดีนี้มีการประกาศการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊กเพจฟื้นฟูประชาธิปไตย, เฟซบุ๊กของรังสิมันต์ โรม เฟซบุ๊กเพจพลเมืองโต้กลับของสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่งและเฟซบุ๊กของอานน์ จำเลยที่สาม สื่อมวลชนเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า เป็นการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในวันเกิดเหตุเวลา 14.00 น. ประชาชนได้ทยอยเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณดังกล่าวมีแผงเหล็กตั้งและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการอยู่โดยรอบ ชลธิชา จำเลยที่หกได้ดูแลและพูดกับผู้ชุมนุม กาณฑ์ จำเลยที่สองทำหน้าที่เป็นพิธีกรและเชิญสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่ง อานนท์ จำเลยที่สาม ณัฏฐา จำเลยที่สี่ และสุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า รวมทั้งรังสิมันต์ ขึ้นผลัดเปลี่ยนกันพูด เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กล่าวถึงการทุจริต และมีการชูสามนิ้ว มีความหมายถึง การเลือกตั้งภายในปี 2561, เผด็จการจงพินาศและประชาธิปไตยจงเจริญ การชุมนุมเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น.คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยคือ
 
โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

 
ข้อหาความผิดในคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินคดีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 ดังนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว อัยการย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(1) และมาตรา 120 ไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ร้องทุกข์คือใคร การรับมอบอำนาจของพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญจากคสช.เป็นไปการรับมอบอำนาจที่ชอบหรือไม่ก็ตาม
 
จำเลยกระทำความผิดหรือไม่
 
ก่อนการชุมนุมชลธิชา จำเลยที่หก มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อสน.สำราญราษฎร์ แจ้งว่า ประสงค์จะจัดกิจกรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00-20.00 น. เพื่อเรียกร้องให้คสช.จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทีได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อมาผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ได้ทำหนังสือตอบกลับการชุมนุม แจ้งหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้แก่ชลธิชา จำเลยที่หก
 
 
ปรากฏหลักฐานบันทึกการถอดเทปที่โจทก์ได้อ้างส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ว่า ชลธิชา จำเลยที่หกได้กล่าวกับผู้ชุมนุมในตอนต้นทำนองว่า การแสดงออกจะไม่มีการขัดขวาง ละเมิดสิทธิใคร ใช้สันติวิธี ไม่มีการปิดกั้นทางจราจร ไม่มีแอลกอฮอล์ จากนั้นพูดถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง ส่วนกาณฑ์ จำเลยที่สองกล่าวทำนองว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมสงบสันติ สร้างสรรค์ ไม่ให้ร้ายผู้ใด ต้องการการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ไม่ต้องการรอไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะผู้ชุมนุมไม่เชื่อถือคำพูดของคสช.อีกแล้ว
 
 
 
ส่วนอานนท์ จำเลยที่สาม ณัฏฐา จำเลยที่สี่ สุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า และรังสิมันต์ ได้กล่าวปราศรัยไม่มีลักษณะปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ณัฏฐา กล่าวทำนองว่า ความขัดแย้งจะมีภาคจบที่ดี หยุดความเคยชินภาคจบแบบเดิมที่เมื่อมีความขัดแย้ง จะเกิดความสูญเสีย อานนท์กล่าวทำนองว่า วันนี้จุดติดแล้ว และแจ้งว่า การชุมนุมขอถึงเวลา 20.00 น. เรามีวินัย ไม่ให้ใครมาชี้หน้าเราได้ ซึ่งเมื่อหลังเสร็จสิ้นการชุมนุมในเวลา 19.30 น. สิรวิชญ์ อานนท์และรังสิมันต์ เข้ามอบตัวกับตำรวจ
 
 
เจตนาที่จำเลยพูดกับผู้ชุมนุมคือ ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ใช้ความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง ในการสืบพยานทหารที่ทำหน้าที่สืบสวนในที่ชุมนุม ผู้เป็นพยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมเดินทางมาเอง ไม่มีการขนคนมาชุมนุม แสดงว่า การชุมนุมเป็นไปโดยเปิดเผยไม่ใช่เป็นม็อบจัดตั้งเกณฑ์คนมาร่วมเพื่อหวังผลทางการเมือง ทหารและตำรวจทุกปากที่มาเบิกความก็ให้การตรงกันว่า การชุมนุมสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และเลิกการชุมนุมด้วยความเรียบร้อย ฉะนั้นจึงเป็นการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการใช้กำลังก่อความวุ่นวายเพื่อบังคับให้รัฐบาลกระทำตามข้อเรียกร้อง ศาลยังเห็นว่า จำเลยเป็นนิสิตนักศึกษา มีอุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย
 
 
ในวันเกิดเหตุรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้แล้ว แต่คสช.ยังทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ จำเลยนำสืบว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้มีการเลือกตั้ง พวกจำเลยเห็นว่า การเลือกตั้งสามารถจัดให้มีในปี 2561 ได้ หากพ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาอย่างที่เคยมีมา แต่ครั้งนี้เป็นการบังคับใช้หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ทำให้ล่าช้าและเป็นการยืดเวลาให้คสช.ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมีอำนาจอยู่ต่อไป เมื่อพิจารณาคำพูด สัญลักษณ์และโปสเตอร์ ข้อความปราศัยที่พาดพิงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคสช. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งในปี 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา ตอบคำถามถามค้านว่า การปราศรัยไม่ได้มีถ้อยคำรุนแรง การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องของจำเลยเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560
 
 
ส่วนเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ตำรวจ ผู้เป็นพยานโจทก์ที่ทำการเบิกความในคดีนี้ได้ตอบคำถามถามค้านว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ทั่วไป ย่อมมีบุคคลบางส่วนเชื่อหรือบางส่วนไม่เชื่อ ด้านอานนท์ จำเลยที่สาม นำเรื่องนาฬิกามาพูดก็เพื่อยืนยันประกอบข้อเรียกร้องการจัดการเลือกตั้ง ถือเป็นการติชม เสนอข้อเรียกร้อง ส่วนที่กล่าวว่า จุดติดแล้ว พิจารณาประกอบข้อเท็จจริง จำเลยใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แสดงเจตนาในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เห็นว่า จำเลยทำไปเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งและเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมอีก
 

พิเคราะห์แล้วว่า เท่าที่จำเลยทั้หกทำไปในคดีนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แม้บางถ้อยคำไม่เหมาะสม ก้ำเกินไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ การกระทำของจำเลยเป็นการติชมตามหลักประชาธิปไตย ไม่ผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยกฟ้องจำเลยทั้งหก

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาพอสรุปความได้ดังนี้

 
ก่อนการสืบพยานหัวหน้าคสช.มีคำสั่งที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เป็นกรณีการบัญญัติของกฎหมายขึ้นในภายหลัง ซึ่งเมื่อมีกฎหมายยกเลิกความผิดให้ถือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(5) จำหน่ายคดีความผิดตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ออกจากสารบบความ
 

ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันเกิดเหตุในคดีนี้มีการประกาศการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊กเพจฟื้นฟูประชาธิปไตย, เฟซบุ๊กของรังสิมันต์ โรม เฟซบุ๊กเพจพลเมืองโต้กลับของสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่งและเฟซบุ๊กของอานน์ จำเลยที่สาม สื่อมวลชนเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า เป็นการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในวันเกิดเหตุเวลา 14.00 น. ประชาชนได้ทยอยเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณดังกล่าวมีแผงเหล็กตั้งและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการอยู่โดยรอบ ชลธิชา จำเลยที่หกได้ดูแลและพูดกับผู้ชุมนุม กาณฑ์ จำเลยที่สองทำหน้าที่เป็นพิธีกรและเชิญสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่ง อานนท์ จำเลยที่สาม ณัฏฐา จำเลยที่สี่ และสุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า รวมทั้งรังสิมันต์ ขึ้นผลัดเปลี่ยนกันพูด เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กล่าวถึงการทุจริต และมีการชูสามนิ้ว มีความหมายถึง การเลือกตั้งภายในปี 2561, เผด็จการจงพินาศและประชาธิปไตยจงเจริญ การชุมนุมเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น.คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยคือ
 

โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
 
 
ข้อหาความผิดในคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินคดีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 ดังนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว อัยการย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(1) และมาตรา 120 ไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ร้องทุกข์คือใคร การรับมอบอำนาจของพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญจากคสช.เป็นไปการรับมอบอำนาจที่ชอบหรือไม่ก็ตาม
 

จำเลยกระทำความผิดหรือไม่

 
ก่อนการชุมนุมชลธิชา จำเลยที่หก มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อสน.สำราญราษฎร์ แจ้งว่า ประสงค์จะจัดกิจกรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00-20.00 น. เพื่อเรียกร้องให้คสช.จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทีได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อมาผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ได้ทำหนังสือตอบกลับการชุมนุม แจ้งหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้แก่ชลธิชา จำเลยที่หก
 
 
ปรากฏหลักฐานบันทึกการถอดเทปที่โจทก์ได้อ้างส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ว่า ชลธิชา จำเลยที่หกได้กล่าวกับผู้ชุมนุมในตอนต้นทำนองว่า การแสดงออกจะไม่มีการขัดขวาง ละเมิดสิทธิใคร ใช้สันติวิธี ไม่มีการปิดกั้นทางจราจร ไม่มีแอลกอฮอล์ จากนั้นพูดถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง ส่วนกาณฑ์ จำเลยที่สองกล่าวทำนองว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมสงบสันติ สร้างสรรค์ ไม่ให้ร้ายผู้ใด ต้องการการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ไม่ต้องการรอไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะผู้ชุมนุมไม่เชื่อถือคำพูดของคสช.อีกแล้ว
 
 
 
ส่วนอานนท์ จำเลยที่สาม ณัฏฐา จำเลยที่สี่ สุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า และรังสิมันต์ ได้กล่าวปราศรัยไม่มีลักษณะปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ณัฏฐา กล่าวทำนองว่า ความขัดแย้งจะมีภาคจบที่ดี หยุดความเคยชินภาคจบแบบเดิมที่เมื่อมีความขัดแย้ง จะเกิดความสูญเสีย อานนท์กล่าวทำนองว่า วันนี้จุดติดแล้ว และแจ้งว่า การชุมนุมขอถึงเวลา 20.00 น. เรามีวินัย ไม่ให้ใครมาชี้หน้าเราได้ ซึ่งเมื่อหลังเสร็จสิ้นการชุมนุมในเวลา 19.30 น. สิรวิชญ์ อานนท์และรังสิมันต์ เข้ามอบตัวกับตำรวจ
 
 
เจตนาที่จำเลยพูดกับผู้ชุมนุมคือ ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ใช้ความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง ในการสืบพยานทหารที่ทำหน้าที่สืบสวนในที่ชุมนุม ผู้เป็นพยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมเดินทางมาเอง ไม่มีการขนคนมาชุมนุม แสดงว่า การชุมนุมเป็นไปโดยเปิดเผยไม่ใช่เป็นม็อบจัดตั้งเกณฑ์คนมาร่วมเพื่อหวังผลทางการเมือง ทหารและตำรวจทุกปากที่มาเบิกความก็ให้การตรงกันว่า การชุมนุมสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และเลิกการชุมนุมด้วยความเรียบร้อย ฉะนั้นจึงเป็นการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการใช้กำลังก่อความวุ่นวายเพื่อบังคับให้รัฐบาลกระทำตามข้อเรียกร้อง ศาลยังเห็นว่า จำเลยเป็นนิสิตนักศึกษา มีอุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย
 
 
ในวันเกิดเหตุรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้แล้ว แต่คสช.ยังทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ จำเลยนำสืบว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้มีการเลือกตั้ง พวกจำเลยเห็นว่า การเลือกตั้งสามารถจัดให้มีในปี 2561 ได้ หากพ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาอย่างที่เคยมีมา แต่ครั้งนี้เป็นการบังคับใช้หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ทำให้ล่าช้าและเป็นการยืดเวลาให้คสช.ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมีอำนาจอยู่ต่อไป เมื่อพิจารณาคำพูด สัญลักษณ์และโปสเตอร์ ข้อความปราศัยที่พาดพิงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคสช. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งในปี 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา ตอบคำถามถามค้านว่า การปราศรัยไม่ได้มีถ้อยคำรุนแรง การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องของจำเลยเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560
 
 
ส่วนเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ตำรวจ ผู้เป็นพยานโจทก์ที่ทำการเบิกความในคดีนี้ได้ตอบคำถามถามค้านว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ทั่วไป ย่อมมีบุคคลบางส่วนเชื่อหรือบางส่วนไม่เชื่อ ด้านอานนท์ จำเลยที่สาม นำเรื่องนาฬิกามาพูดก็เพื่อยืนยันประกอบข้อเรียกร้องการจัดการเลือกตั้ง ถือเป็นการติชม เสนอข้อเรียกร้อง ส่วนที่กล่าวว่า จุดติดแล้ว พิจารณาประกอบข้อเท็จจริง จำเลยใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แสดงเจตนาในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เห็นว่า จำเลยทำไปเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งและเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมอีก
 
 
พิเคราะห์แล้วว่า เท่าที่จำเลยทั้หกทำไปในคดีนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แม้บางถ้อยคำไม่เหมาะสม ก้ำเกินไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ การกระทำของจำเลยเป็นการติชมตามหลักประชาธิปไตย ไม่ผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยกฟ้องจำเลยทั้งหก

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา