อานนท์: ยืนเฉยๆ คดีที่สอง

อัปเดตล่าสุด: 02/08/2562

ผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต)

สารบัญ

วันที่ 27 เมษายน 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมยืนเฉยๆเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวประชาชนเก้าคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกควบคุมตัวจากบ้านในช่วงเช้าวันเดียวกันโดยเจ้าหน้าที่ให้ข่าวว่าเบื้องต้นว่าบุคคลทั้งเก้าถูกควบคุมตัวเพราะทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับรวมทั้งอานนท์ นำภา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้เดินทางมาทำกิจกรรมตามนัดที่อนุสาวรีย์ชัยในเวลาประมาณ 18.00 น. ต่อมาในเวลาประมาณ 18.30 น. อานนท์และผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งรวม 16 คนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่สน.พญาไท ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะตั้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมกับอานนท์เพียงคนเดียวส่วนผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นจะได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ระหว่างที่ทั้ง 16 คนถูกคุมตัวที่สน. ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพาตัวบุรินทร์หนึ่งในผู้ัถูกควบคุมตัวออกไปซึ่งภายหลังบุรินทร์ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112

ในทางคดี อานนท์ให้การปฏิเสธ ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานในวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม 2559 และนัดอานนท์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ซึ่งศาลพิพากษาปรับอานนท์เป็นเงิน 1000 บาทในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ   

    

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา
 
เมื่อประกอบอาชีพ ทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี 
 
นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส ด้วย
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. และ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ของสิรภพ
 
และอานนท์เองตกเป็น 1 ใน 4 ของจำเลยข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่(รัก)ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

อานนท์ เป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในวันที่ 27 เมษายน 2559  เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจับกุมบุคคลแอดมินเพจแปดคน ในการทำกิจกรรมครั้งนี้อานนท์ไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าตามที่ พ.ร.บ.การชุมนุมฯกำหนด จึงถูกดำเนินคดี
 

พฤติการณ์การจับกุม

อานนท์ นำภาและพวกรวม 16  คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมจากที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตัว ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมยืนเฉยๆเพื่อให้เรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวบุคคลเก้าคนที่ถูกดำเนินคดีฐานไปที่สน.พญาไทในเวลาประมาณ 18.30 น. 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1107/2559

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

27 เมษายน  2559

มติชนออนไลน์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 18.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับรวมทั้งอานนท์นำภา และประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัวบุคคลเก้าคนโดยเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงเช้าวันเดียวกันเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยืนเฉยๆเพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวบุคคลทั้งเก้า

ในเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวบุคคลจำนวนหนึ่งรวมทั้งอานนท์ไปที่สน.พญาไท ในเวลาต่อมามีรายงานว่ามีบุคคลทั้งหมด 16 คนที่ถูกควบคุมตัวจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่สน.พญาไท เจ้าหน้าที่แจ้งผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นทำโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้าระงับการชุมนุม ในส่วนของการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีอานนท์ นำภา ในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุมเพียงคนเดียว ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นจะปล่อยตัวไปโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา

ในเวลาประมาณ 20.40 น. ระหว่างที่ผุ้ชุมนุมทั้ง 16 ยังคงถุกควบคุมตัว มีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่สน.พญาไทและควบคุมตัวบุรินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมออกไปโดยไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ในเวลาต่อมาจึงมีรายงานว่าบุรินทร์ถูกควบคุมตัวเพราะเคยโพสต์ข้อความที่ทางเจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

มติชนออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่า อานนท์และพวกรวม 13 คนได้รับการปล่อยตัวจากสถานีตำรวจในเวลาประมาณ 22.20 น. ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวอีกสองคนคืออภิสิทธิ์และปกรณ์ถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวไปที่สน.ปทุมวันเพื่อดำเนินคดีจากกรณีที่ทั้งสองเคยร่วมชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ขณะที่ผู้ถุกควบคุมตัวอีกคนหนึ่งคือบุรินทร์ถุกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปแล้ว

13 พฤษภาคม 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนนัดอานนท์เข้ารายงานตัวเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนนัดอานนท์ส่งตัวให้อัยการในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 

25 พฤษภาคม 2559

มติชนออนไลน์รายงานว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอานนท์ในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนดทั้งที่เป็นผู้มีหน้าที่แจ้ง ในวันเดียวกันพนักงานอัยการยังยื่นฟ้องอานนท์ในความผิดเดียวกันจากการจัดกิจกรรมในวันที่ 19 เมษายน 2559 เพื่อเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุขด้วย ศาลแขวงดุสิตนัดอานนท์สอบคำให้การคดีนี้วันที่ 8 สิงหาคม 2559 โดยศาลให้อานนท์สาบานตนและปล่อยตัวแทนการประกันตัวเพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

8 สิงหาคม 2559

นัดสอบคำให้การ

อานนท์ให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม 2559

20 – 21 ตุลาคม 2559

นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย

22 ธันวาคม 2559

นัดฟังคำพิพากษา

เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดอานนท์ฟังคำพิพากษาในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ศาลพิพากษาว่า อานนท์มีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 มาตรา 10 วรรค 1 มาตรา 12 วรรค 1 และมาตรา 28 เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด ลงโทษปรับ 1,000 บาท
 
หลังฟังคำพิพากษาคดีนี้เสร็จ อานนท์เดินไปที่ห้องพิจารณาคดีหนึ่งเพื่อสืบพยานคดีไม่แจ้งการชุมนุมจากการจัดกิจกรรมยืนเฉยๆเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนาเมืองสุขในวันที่ 19 เมษายน 2559 ต่อทันที   

อานนท์เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาและการสืบพยานไม่แจ้งการชุมนุมอีกคดีหนึ่งว่า จะอุทธรณ์คดีที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ต่อไป ส่วนอีกคดีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559

 

7 พฤศจิกายน 2560 
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
อานนท์ นำภามาถึงศาลแขวงดุสิตตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น.เพื่อรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับอานนท์เป็นเงิน 1,000 บาท หลังฟังคำพิพากษาขณะอานนท์เดินออกจากศาลมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมารอสังเกตการณ์และสอบถามพลคำพิพากษาสามนาย อานนท์สนทนากับเจ้าหน้าที่ครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่ก็แยกตัวไปเนื่องจากอานนท์แจ้งว่ากำลังรอทนายซึ่งเดินเรื่องคัดถ่ายคำพิพากษาอยู่

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต
 
ประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย คือ จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยนัดหมายบุคคลอื่นให้เข้าร่วมชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊ก บริเวณที่จำเลยจัดการชุมนุมเป็นที่สาธารณะที่กรุงเทพมหานครดูแลอยู่ และพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนสัญจรไปมาได้ จึงถือเป็นพื้นที่สาธารณะตามนิยามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 
 
จำเลยประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป จำเลยซึ่งประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง หากจำเลยไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยก็ต้องแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาดังกล่าวต่อผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่จำเลยจัดการชุมนุมขึ้น ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง 
 
จำเลยยังถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เท่ากับว่า คดีนี้เป็นการกระทำผิดในลักษณะเดียวกันเป็นคดีที่สองในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนัก ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยทราบข้อกฎหมายเป็นอย่างดีว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร หากจำเลยประสงค์จะจัดการชุมนุมขึ้น ขณะจำเลยถูกจับกุมจำเลยก็ไม่ได้แสดงหลักฐานว่าได้แจ้งการชุมนุมแล้ว 
 
จำเลยได้ให้การยอมรับกับเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมในทันทีว่าจำเลยยังไม่ได้แจ้งการชุมนุม ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวก็มิได้มีวัตถุประสงค์ในการห้ามการชุมนุม อีกทั้งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะก็กำหนดวิธีการแจ้งไว้หลายประการ วิธีการดังกล่าวนั้นสามารถกระทำได้โดยสะดวก มิได้เป็นการยากเกินสมควรที่จำเลยจะกระทำ 
 
เช่นนี้แล้วจำเลยย่อมกระทำความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10, 12, 28 ลงโทษปรับ 1,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุก จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอนับโทษต่อให้ยก
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า เจ้าหน้าที่จับกุมจำเลยโดยชอบหรือไม่ คดีนี้มีตำรวจเจ้าของท้องที่มาเบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยกับพวกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีพฤติการณ์ยืนเรียงแถวเชิญชวนคนมาร่วมชุมนุม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสอบถามว่า จำเลยได้แจ้งการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงกับสถานีตำรวจเจ้าของท้องที่ตามที่พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะกำหนดหรือไม่ เมื่อจำเลยตอบว่าไม่ได้แจ้ง จึงถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการแจ้งข้อกล่าวหา และแจ้งสิทธิ ถือว่าเจ้าหน้าที่จับกุมจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีอยู่ว่า จำเลยอ้างว่าก่อนการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำคำสั่งศาล ที่สั่งว่าการชุมนุมฝ่าฝืนต่อกฎหมายมาแสดง จึงเป็นการจับกุมตัวที่ไม่ชอบ เห็นว่า กระบวนการร้องขอให้ศาลออกคำสั่งให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกระบวนการที่มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาจัดการ การชุมนุม หรือประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่จับกุมจำเลยโดยไม่มีคำสั่งศาล อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
 
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีอยู่ว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ออกมาเพื่อใช้กับผู้มีความเห็นทางการเมืองบางกลุ่มอย่างมีอคติ ไม่ได้บังคับใช้เป็นการทั่วไป เห็นว่า กฎหมายนี้ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อดูแลให้การชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย และบังคับใช้เป็นการทั่วไป หากจำเลยเห็นว่า กฎหมายนี้ไม่ชอบก็สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่จนกว่าจะมีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญต้องถือว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เป็นการทั่วไป
 
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่นๆ เป็นประเด็นปลีกย่อยที่แม้ศาลวินิจฉัยก็จะไม่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งคดี อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยเป็นเงิน 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน 
 
14 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา