สุดสงวน ประท้วงหน้าศาลแพ่ง

อัปเดตล่าสุด: 08/05/2560

ผู้ต้องหา

สุดสงวน

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่ง

สารบัญ

21 ก.พ. 2557 ดารุณี, สุดสงวน และพิชา นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่ง วางพวงหรีดและชูป้ายข้อความ ต่อมาผู้อำนาวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งได้ยื่นฟ้องทั้งสามฐานละเมิดอำนาจศาล

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ดารุณีไม่มารายงานตัวต่อศาล ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีส่วนของดารุณี สุดสงวนและพิชารับสารภาพ ศาลแพ่งจึงพิพากษาว่า มีความผิดลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองเดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งเดือนไม่รอลงอาญา จำเลยยื่นอุทธรณ์

ระหว่างอุทธรณ์ พิชาเสียชีวิต คดีนี้เหลือผู้ต้องหาเพียงคนเดียวคือ สุดสงวน โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกเป็นกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือน สุดสงวนยื่นฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกหนึ่งเดือนไม่รอการลงโทษ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ดารุณี หรือเจ๊ดา ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง เป็นนักธุรกิจแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังรัฐประหารปี 2557 ดารณีลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ

สุดสงวน หรืออาจารย์ตุ้ม ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในสาขาอาชญวิทยาละการบังคับใช้กฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิชา ผู้ถูกกล่าวหาที่สาม เป็นอดีตทนายความ นปช. เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการสู้คดีในชั้นศาล เมื่อปี 2558

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
มาตรา 198 ตามประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 31(1) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 21 ก.พ. 2559 ดารุณี, สุดสงวน และพิชา พร้อมกับมวลชนกว่าร้อยคน วางพวงหรีดและป้ายเขียนข้อความต่างๆ มีข้อความกล่าวหาศาลแพ่ง เช่น แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง และใช้เครื่องขยายเสียงร้องเพลงเสียดสีเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลแพ่งพร้อมกับตะโกนว่า ความอยุติธรรม รวมทั้งมีผู้นำตาชั่งและปลัดขิกมาถือและถ่ายภาพที่หน้าศาลแพ่ง อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

21 กุมภาพันธ์ 2559

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ที่หน้าอาคารศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ดารุณี กฤตบุญญาลัย พร้อมด้วยกลุ่มมวลชนมาประท้วง อ่านแถลงการณ์และวางพวงหรีด กรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาห้ามไม่ให้ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ใช้มาตรการและข้อกำหนดรวมเก้าข้อ เช่น ห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุมกับผู้ชุมนุม กปปส.ซึ่งชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ภายหลังอ่านแถลงการณ์แล้วนางดารณีและผู้ชุมนุมได้นำพวงหรีดระบุว่า “แด่..ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง” และชูมือโห่ร้อง พร้อมทั้งชูป้ายข้อความต่างๆ ประท้วงคำพิพากษาศาลแพ่ง และนำตะเกียงส่องสว่างและมีการนำถุงปลาร้ามาชูเป็นสัญลักษณ์ ก่อนวางพวงหรีดไปวางที่เสาอาคารศาลแพ่ง พร้อมร้องเพลงและตะโกนโห่ร้องว่า “ความยุติธรรม” หลายครั้ง

 

9 มิถุนายน 2557

ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลในคดีที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลแพ่ง กล่าวหาดารุณี, สุดสงวน และพิชาว่า ละเมิดอำนาจศาลจากการประท้วงวางพวงหรีดและถือป้ายประท้วง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา 

ในวันเดียวกัน สุดสงวน  และพิชา ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางมาที่ศาล ส่วนดารุณี ไม่ได้เดินทางมา โดยทนายความแถลงขอศาลเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไปก่อน เนื่องจากดารุณีเกรงจะเกิดอันตราย  แต่ศาลเห็นว่า ดารุณีมีเจตนาหลบหนี จึงออกหมายจับ และจำหน่ายคดีเฉพาะดารุณี 

โดยศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบภาพวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าในวันเกิดเหตุมีกลุ่มคน130 คน มาชูป้ายคัดค้าน และเสียดสีศาลแพ่ง ภายหลังจากคดีที่นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯกับพวกรวมสามคน ให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มคราวเป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ขอ ผู้ประท้วงจึงวางพวงหรีดและใช้โทรโข่งตะโกนเอะอะเสียงดังในบริเวณศาล  มีการชูป้ายข้อความว่า “แด่ความอยุติธรรม” ซึ่งสุดสงวน และพิชา ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง และสาม ยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับคนในภาพ และขอแถลงถอนคำให้การปฏิเสธทั้งหมด โดยแถลงรับสารภาพและอ้างว่าไม่รู้จักกับหญิงชุดดำที่ถือตราชั่งและปลัดขิก

ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่สองและสาม มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละหนึ่งเดือน ขณะที่คดีนี้ถือเป็นการกระทำอุกอาจ ท้าทายศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่สองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่สาม เป็นทนายความ ย่อมมีความรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติที่ไม่สมควร จึงควรลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ไม่สมควรให้รอการลงโทษได้ 

หลังศาลแพ่งมีคำพิพากษา สุดสงวน  และพิชา ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 50,000 บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวได้

 

26 พฤศจิกายน 2558

มติชนออนไลน์รายงานว่า ตามที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ละเมิดอำนาจศาล ที่สุดสงวน เป็นผู้ถูกกล่าวหา ร่วมกับดารุณี ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ และพิชา ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ในคดีนี้ สุดสงวน ให้การรับสารภาพ แต่อุทธรณ์ว่าเป็นการร่วมชุมนุมภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่ทราบว่ามีการนำพวงหรีดมาศาล ซึ่งตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวงหรีด ส่วนการร้องเพลงก็เป็นเพลงประจำกลุ่ม ไม่มีเจตนาส่งเสียงดังรบกวนการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง นั้น เห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย

ส่วนเหตุให้รอการลงโทษ ศาลเห็นว่า สุดสงวนจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโท จากสหรัฐอเมริกา ย่อมทราบดีถึงขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล การนำพวงหรีดมาวางหน้าศาล และร้องเพลงเสียดสีเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลแพ่ง ถือว่าไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายเป็นเรื่องร้ายแรง แม้สุดสงวน ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนก็ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ อย่างไรก็ดีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกเป็นกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือนแทน

หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว สุดสงวนยื่นฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ก่อนจะขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดห้าหมื่นบาท

 

8 พฤศจิกายน 2559

ประชาไทรายงานว่า ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก สุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่สองเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ที่สุดสงวนฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีระวางโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ที่ศาลชั้นต้นให้ละวางโทษจำคุกสองเดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่สอง มีกำหนดหนึ่งเดือนนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว และพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า ควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่สุดสงวนนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย สะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ลงโทษนางสุดสงวน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือให้จำคุกหนึ่งเดือน โดยไม่ลงอาญา

 

8 ธันวาคม 2559

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้ปล่อยตัวสุดสงวน หลังครบกำหนดต้องโทษหนึ่งเดือน

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกา

คดีนี้สืบเนื่องจากที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งมีบันทึกข้อความรายงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งโดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ดารุณี, สุดสงวนและพิชา พร้อมพวกประมาณ 130 คน นำพวงหรีดหนึ่งพวง ป้ายข้อความกล่าวหาศาลแพ่ง และตะโกนว่า อยุติธรรม รวมทั้งมีผู้นำตราชั่งและปลัดขิกมาถือหน้าศาลแพ่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมบริเวณศาล

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ดารุณีไม่มารายงานตัวต่อศาล ทำให้ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีของดารุณีออกไป เหลืองเพียงสุดสงวนและพิชา ทั้งสองแถลงต่อศาลรับสารภาพ ศาลแพ่งจึงพิพากษาว่า มีความผิดลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองเดือน แต่ทั้งสองให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งเดือนไม่รอลงอาญา สุดสงวนและพิชายื่นอุทธรณ์และประกันตัว

ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ พิชาเสียชีวิตระหว่างการพิจารณา ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะของพิชาออกจากสารบบความ ทำให้คดีนี้เหลือผู้ต้องหาเพียงคนเดียวคือ สุดสงวน  โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกเป็นกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือนไม่รอลงการลงโทษแทน 

ในชั้นฎีกา ศาลพิจารณาตามที่สุดสงวนขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีระวางโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ที่ศาลชั้นต้นให้ละวางโทษจำคุกสองเดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่สองมีกำหนดหนึ่งเดือนนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า ควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังหรือไม่ เห็นว่า สุดสงวน เป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายและเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ย่อมรู้ว่า การพิพากษาของศาลก่อทั้งความพอใจและไม่พอใจได้ ฝ่ายที่ไม่พอใจจากการแพ้คดีมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา แต่การที่สุดสงวนนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย พฤติการณ์ของสุดสงวนสะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ศาลควรปราณีเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง พิพากษาตามศาลชั้นต้น

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา