คดีจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 59

อัปเดตล่าสุด: 06/05/2563

ผู้ต้องหา

ทัศนีย์

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ช่วงวันที่ 12-15 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับแจ้งจากที่ทำการไปรษณีย์ว่าพบจดหมายลักษณะเป็นพิรุธ ติดแสตมป์จ่าหน้าซองระบุที่อยู่ผู้รับ-ส่งลงในตู้ไปรษณีย์หลายจุดใน จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ทาง กกต.ได้นำจดหมายไปตรวจสอบพบว่ามีเนื้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจึงเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน

ก่อนที่ภายหลังเจ้าหน้าที่เข้าคุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่าสิบคน โดยบางส่วนเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก่อนดำเนินคดีตาม มาตรา 116 , ร่วมกันเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 มาตรา 210 และร่วมกันเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือกล่าวหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง 

เบื้องต้นผู้ต้องหาบางคนไม่ได้ประกันตัว แต่ระหว่างการพิจารณาคดีสุดท้ายก็ได้ประกันตัวทุกคน และคดีพิจารณาไปอย่างล่าช้าที่ศาลทหารเชียงใหม่ โดยมีพยานต้องนำสืบ 140 ปาก จนกระทั่ง คสช. สั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และโอนกลับไปพิจารณาที่ศาลปกติ

25 มีนาคม 2563 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคน ทุกข้อกล่าวหา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

บุญเลิศ การศึกษาระดับปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิตและระดับปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จาก ม.เชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ก่อนที่รัฐบาลจะอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติราชการและหน้าที่ บุญเลิศและพรรคพวกมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับตระกูลชินวัตร
 
ทัศนีย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิต ม.เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่และเป็นอดีตสมาชิกผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยในปี 2554 นอกจากนี้ทัศนีย์ยังเป็นหลานสาวของบุญเลิศ  ผู้ต้องหาในคดีนี้และเป็นน้องสาวของทัศนัย นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
 
ธารทิพย์ เป็นน้องสาวของทัศนีย์และประกอบอาชีพทันตแพทย์ ธารทิพย์เป็นหลานสาวของบุญเลิศ ผู้ต้องหาในคดีนี้และเป็นน้องสาวของทัศนัย นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
 
คเชน นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นเพเป็นชาวบ้านป่าไผ่ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลานเขยของบุญเลิศ เดิมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่ทัศนีย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลช้างเผือกก่อนลงสมัครเก้าอี้นี้แทน และเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลช้างเผือกมา 2 สมัย
 
ไพรัช รองนายก อบจ. จังหวัดเชียงใหม่
 
อติพงษ์  ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เทศกิจเทศบาลตำบลช้างเผือก
 
กอบกาญจน์ พนักงานบริษัทเชียงใหม่ทัศนาภรณ์  
 
สุภาวดี  กรรมการบริษัทเชียงใหม่ทัศนาภรณ์  
 
เอมอร  ผู้ช่วยนักวิชาการส่งเสริมสุขภาพเทศบาลตำบลช้างเผือก
 
กฤตกร  ผู้ช่วยบุคลากรเทศบาลตำบลช้างเผือก
 
วิศรุต  เป็นพนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
 
เนติธัช  เป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ปฏิบัติการ เทศบาลตำบลช้างเผือก ซึ่งเป็นเลขานุการของคเชน นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก
 
เทวรัตน์  คนขับรถของทัศนีย์ 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ, พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61
มาตรา 209, 210 ตามประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ช่วงวันที่ 12-15 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับแจ้งจากที่ทำการไปรษณีย์ว่าพบจดหมายลักษณะเป็นพิรุธ ติดแสตมป์จ่าหน้าซองระบุที่อยู่ผู้รับ-ส่งลงในตู้ไปรษณีย์หลายจุดใน จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ทาง กกต.ได้นำจดหมายไปตรวจสอบพบว่ามีเนื้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจึงเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน

เนื้อความในจดหมายที่ตรวจพบ มีลักษณะดังนี้

Referendum Letter in Chiang Mai

พฤติการณ์การจับกุม

23 กรกฎาคม 2559 ตำรวจร่วมกับทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เข้าทำการตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหารายแรก คือ วิศรุต  ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยผลการตรวจค้นสามารถยึดสิ่งของ 9 รายการ ไว้เพื่อทำการตรวจสอบแต่ไม่พบผู้ต้องหาจึงได้ติดตามจับกุมวิศรุต ได้ที่กรุงเทพฯ ต่อมาจึงเข้าตรวจค้นและจับกุมสามารถ ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ 
 
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือกตามคำให้การของสามารถ นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักส่วนตัวของคเชน  ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือกที่มีศักดิ์เป็นหลานเขยของบุญเลิศ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถตรวจยึดหลักฐานที่เชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้จำนวนหนึ่ง วันเดียว เจ้าหน้าเข้าควบคุมตัวพงษ์พันธ์  ที่บ้านพักใน จังหวัดลำพูน ตามหมายจับของศาลจังหวัดลำปาง
 
27 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เชิญตัวนักการเมืองท้องถิ่น ญาติ และผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจำนวน 11 คน ได้แก่ 1.บุญเลิศ  2.ทัศนีย์  3.คเชน  4.ธารทิพย์  5.วิศรุต  6.อติพงษ์  7.กฤตกร  8 เอมอร  9 .สุภาวดี  10.เทวรัตน์  และ 11.กอบกาญจน์  เพื่อส่งศาลทหารและไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ       
 
ต่อมาที่กรุงเทพมหานคร  ทัศนีย์  พร้อมทนายความ เดินทางมาขอเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจแต่ระหว่างที่ทัศนีย์และทนายความให้สัมภาษณ์สื่อโดยยังไม่ได้เข้าพบ ผบ.ตร. เจ้าหน้าที่ทหารนำโดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าควบคุมตัวทัศนีย์ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยนำตัวไปสอบปากคำที่ มทบ.11เป็นเวลา 7 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย 
 
วันเดียวกันสภ.เมืองลำปางทำการจับกุมตัวผู้ร่วมก่อเหตุไปแล้ว 4 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน จากการสอบปากคำทุกคนยอมรับสารภาพว่า เป็นเพียงผู้พับเอกสารใส่ในซองจดหมาย และถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดลำปางฝากขัง ต่อมาผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูรายงาน 2 ปี หลังประชามติที่ไม่เสรี: คดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรธน. ยังดำเนินอยู่ในศาลทหาร จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
12 กรกฎาคม 2559 
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานไปรษณีย์เชียงใหม่ว่า พบจดหมายที่มีข้อความบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากถูกนำมาหย่อนตามตู้ไปรษณีย์เพื่อรอการส่งไปยังบ้านเรือนประชาชน
 
จดหมายดังกล่าวไม่มีการระบุชื่อผู้รับที่จ่าหน้าซอง มีเพียงที่อยู่เท่านั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมจดหมายในลักษณะดังกล่าวได้จำนวนกว่า 2,000 ฉบับ
 
หลังตรวจสอบเนื้อหาพบว่าเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการตัดสิทธิต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งมอบจดหมายให้กับทาง กกต.นำไปตรวจสอบ หากพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
 
16 กรกฎาคม 2559
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ยังคงพบจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกนำไปหย่อนลงตู้ไปรษณีย์หลายจังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องตลอด 4 วันที่ผ่านมา รวมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นฉบับแล้ว จำนวนนี้ไม่รวมที่เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการในแต่ละจังหวัดยึดได้และนำไปตรวจสอบอีกจำนวนหนึ่ง
 
 
23 กรกฎาคม 2559
 
ตำรวจร่วมกับทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เข้าทำการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด รายแรกคือ วิศรุต ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยผลการตรวจค้นสามารถยึดสิ่งของ 9 รายการ ไว้เพื่อทำการตรวจสอบแต่ไม่พบผู้ต้องหาจึงได้ติดตามจับกุมวิศรุต ได้ที่กรุงเทพฯ 
 
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือกตามคำให้การของวิศรุต นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักส่วนตัวของคเชน  ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือกที่มีศักดิ์เป็นหลานเขยของบุญเลิศ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถตรวจยึดหลักฐานที่เชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้จำนวนหนึ่ง 
 
วันเดียวกันมติชนออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวพงษ์พันธ์ที่บ้านพักใน จังหวัดลำพูน ตามหมายจับของศาลจังหวัดลำปางว่าด้วยการกระทำความผิดฐานพยายามก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในคดีที่ร่วมกันก่อเหตุหย่อนจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ตามตู้ไปรษณีย์ จำนวน 9 ตู้ ที่อยู่ในเขตตัวเมืองลำปาง จำนวน 4,306 ซอง ต่อมาพงษ์พันธ์สารภาพว่าเป็นผู้พับเอกสารใส่ในซองจดหมายจริง แต่ไม่ใช่เป็นผู้นำมาหย่อนตามตู้ไปรษณีย์ใน จังหวัดลำปาง และไม่ได้เป็นผู้คิดหรือบงการก่อเหตุทั้งหมด 
 
ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.แม่ปิงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติฯแก่วิศรุต หลังจากนั้นญาติได้นำโฉนดที่ดินวางเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาทจึงมีการปล่อยตัวในเย็นวันดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าโครงการคุ้มครองพยาน นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า พ่อและแม่นายวิศรุตซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปในวันเดียวกันก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน
 
26 กรกฎาคม 2559
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 44/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ความว่า เจ้าหน้าที่ได้รับรายงานและตรวจค้นพบว่าผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีการกระทำซึ่งอาจผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติราชการและหน้าที่ของบุญเลิศ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราว
 
27 กรกฎาคม 2559
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เชิญตัวนักการเมืองท้องถิ่น ญาติ และผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจำนวน 11 คน ได้แก่ 1.บุญเลิศ  2.ทัศนีย์  3.คเชน  4.ธารทิพย์  5.วิศรุต  6.อติพงษ์  7.กฤตกร  8.เอมอร  9.สุภาวดี  10.เทวรัตน์  และ 11.กอบกาญจน์  เพื่อส่งศาลทหารและไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ       
 
แต่มีเพียง 6 คนที่สามารถมารายงานตัวได้ คือคเชน , ธารทิพย์ ,เอมอร , อติพงษ์ , สุภาวดี  และกอบกาญจน์  โดยวิศรุต  คนส่งจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์ที่ถูกจับก่อนหน้านี้ถูกส่งตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมควบคุมตัวไปแล้ว 7 คนด้วยกัน
 
ต่อมามติชนออนไลน์รายงานว่า เวลา 12.00 น. ทัศนีย์  พร้อมทนายความ เดินทางมาขอเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกรณีถูกเชื่อมโยงขบวนการเผยแพร่จดหมายใบปลิวต้านร่างรัฐธรรมนูญ
 
ระหว่างที่ทัศนีย์และทนายความให้สัมภาษณ์สื่อโดยยังไม่ได้เข้าพบ ผบ.ตร. ทางเจ้าหน้าที่ทหารนำโดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าควบคุมตัวทัศนีย์ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยนำตัวไปสอบปากคำที่ มทบ.11เป็นเวลา 7 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย 
 
วันเดียวกันประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า สภ.เมืองลำปางได้ทำการจับกุมตัวผู้ร่วมก่อเหตุไปแล้ว 4 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน จากการสอบปากคำทุกคนยอมรับสารภาพว่า เป็นเพียงผู้พับเอกสารใส่ในซองจดหมาย และถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดลำปางฝากขัง ต่อมาผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท 
 
28 กรกฎาคม 2559 
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการจับกุมคนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่จดหมายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ จ.เชียงใหม่ว่า โดยความเห็นส่วนตัวตนเห็นว่าข้อความที่ปรากฏในจดหมายเป็นข้อมูลเท็จ โน้มน้าวจูงใจบุคคล ซึ่ง กกต.เชียงใหม่ ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว 
 
วันเดียวกันไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า บุญเลิศ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญได้เดินทางกลับจากต่างประเทศก่อนกำหนดและไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานตำรวจภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
1 สิงหาคม 2559
 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ศาลทหารเห็นชอบให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้ง 11 คน เรียบร้อยแล้วตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น และ มาตรา 210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ ซ่องโจร 
 
นอกจากนี้คมชัดลึกออนไลน์ยังรายงานอีกว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ที่มทบ.11 อีก 2 รายคือไพรัช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และอัครพล ถนอมศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์นพบุรีการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์เอกสารจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนสอบสวน
 
2 สิงหาคม 2559
 
พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำตัวกลุ่มผู้ต้องหา 10 ราย ที่มีความเกี่ยวโยงกระทำความผิดฐานเผยแพร่จดหมายทางไปรษณีย์ในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1. บุญเลิศ  2. ทัศนีย์  3. คเชน  4. อติพงษ์  5. เอมอร  6. สุภาวดี  7. เทวรัตน์  8. กอบกาญจน์  9. กฤตกร และ 10. ธารทิพย์ มาส่งมอบให้แก่ตำรวจ
 
การจับกุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการสืบสวนและคำให้การของวิศรุต  ผู้ต้องหาอีก 1 รายที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ รวมแล้วคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 11 คน มีความฐานละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น, มาตรา 210 สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำการเข้าข่ายอั้งยี่ ซ่องโจรและพ.ร.บ.ประชามติฯมาตรา 61 วรรค 2
 
4 สิงหาคม 2559
 
ฝากขังผัดที่หนึ่ง
 
คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ต้องหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คนนำส่งศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จ.เชียงใหม่ เพื่อพิจารณาคดีเผยแพร่จดหมายบิดเบือนประชามติ โดยศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่า จะเกิดความยุ่งเหยิงและอาจไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ 
 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีจิราภรณ์ ฉายแสง ภรรยาของจาตุรนต์ ฉายแสงในข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดโดยซ่อนเร้นหรือช่วยผู้นั้นเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรณีส่งจดหมายบิดเบือนประชามติ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า จิราภรณ์มีส่วนร่วมในการช่วยซ่อนเร้นวิศรุต หนึ่งในผู้ต้องหาคดีดังกล่าว โดยพาไปฝากเจ้าอาวาสวัดสระเกศวรมหาวิหาร กทม.
 
5 สิงหาคม 2559
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ นำตัวเนติธัช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ เทศบาลตำบลช้างเผือก ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ส่งมอบให้ตำรวจรับตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
ด้าน เชียงใหม่นิวส์รายงานว่า เนติธัช ถูกคุมตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังคงสอบสวนอยู่ที่ มทบ.11 เพื่อรอการสอบสวนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
 
8 สิงหาคม 2559
 
จำนงค์ ไชยมงคล ทนายความ พร้อมทีมกฎหมาย เข้ายื่นทำเรื่องต่อศาลมณฑลทหารที่ 33 เพื่อขอประกันตัวบุญเลิศ   พร้อมพวกรวม 10 คนอีกครั้งเนื่องจากการยื่นขอประกันตัวในครั้งแรกศาลพิจารณาไม่อนุญาตให้ประกันตัว อย่างไรก็ดีศาลยกคำร้องขอประกันตัวทำให้ต้องยื่นคำร้องใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคม 2559
 
ด้านเทวรัตน์  คนขับรถของทัศนีย์ กองบังคับการปราบปรามได้ประสานกับทางตำรวจภูธร ภาค 5 เชียงใหม่ ให้ไปรับตัวกลับมาดำเนินคดีในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 รวมแล้วมีผู้ที่ถูกออกหมายและตกเป็นผู้ต้องหาคดีบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 13 ราย ขณะที่อัครพล เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ที่เคยเป็นผู้ต้องสงสัยนั้น ขณะนี้ได้ถูกปล่อยออกมาแล้วเนื่องจากสอบสวนแล้วไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ
 
15 สิงหาคม 2559
 
ฝากขังผัดที่สอง
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 11 คน และให้ถูกฝากขังผลัดที่ 2 ต่อไป เนื่องจากไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 
 
เนชั่นออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวรังสรรค์ อดีต สส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย , สมโภช  อดีต สส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย , ปริญญา  รองนายกเทศมนตรี อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และสุปกิจ  อดีตผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมหาชนผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , มาตรา 210 และมาตรา 61 (2) , (4) ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ส่งมอบต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินคดี ก่อนส่งฟ้องยังศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 32 จังหวัดลำปาง สำหรับพฤติการณ์ความผิดพบว่า มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของกลุ่มผู้ต้องหา 11 รายที่ถูกควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีก่อนหน้านี้ 
 
26 สิงหาคม 2559
 
ฝากขังผัดที่สาม
 
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของคดีนี้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว 11 ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน (ฝากขังผลัดที่สาม) โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 100,000 บาท มีเงื่อนไขคือห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล,ห้ามกระทำการใดๆอันมีลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
 
คำสั่งตุลาการศาลทหารเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ที่มีอาชีพและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หลักประกันเพียงพอและเชื่อถือได้ ประกอบกับผู้ต้องหาถูกขังระหว่างการสอบสวนมาแล้วระยะหนึ่ง และผู้ต้องหาน่าจะไม่มีโอกาสไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือจะไปก่อเหตุอันตรายจึงมีคำสั่งอนุญาตประกันตัว
 
โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เทวรัตน์  ซึ่งถูกควบคุมตัวคนล่าสุดไม่ได้รับการประกันเนื่องจากไม่มีนายประกัน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวอัครพล  เจ้าของโรงพิมพ์นพบุรีการพิมพ์ที่ก่อนหน้านี้เคยเรียกไปสอบสวนและปล่อยตัวไปไปฝากขัง เนื่องจากพบว่าคำให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเท่ากับเป็นการปกปิดข้อมูลที่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ รวมแล้วตอนนี้ผู้ต้องหาในคดีนี้มีทั้งหมด 16 คน
 
27 สิงหาคม 2559
 
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของคดีนี้เปิดเผยว่า ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวเทวรัตน์ ในชั้นสอบสวน (ฝากขังผัดที่สาม) โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 100,000 บาท
 
1 กันยายน 2559
 
โลกวันนี้รายงานว่า ทัศนีย์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองนายก อบจ. เชียงใหม่แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 โดยให้เหตุผลว่า สุขภาพไม่ดี ต้องพบแพทย์เป็นประจำและทำการรักษาตัวจึงขอลาออกเพื่อวางมือทางการเมืองชั่วคราวและต่อสู้คดีดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ 
 
19 ธันวาคม 2559
 
ศาลทหารนัดถามคำให้การ จำเลย 14 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ถูกจับกุมในคดีนี้เป็นรายแรก และเป็นจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่ศาลทหารพิจารณาว่าจะทำการพิพากษาพร้อมกับจำเลยที่ขอต่อสู้คดี
 
ทางอัยการทหารได้อ้างพยานโจทก์ในการเข้าสืบจำนวนกว่า 110 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็มีการอ้างพยานอีกกว่า 30 ปาก ทำให้รวมแล้วมีพยานมากกว่า 140 ปาก ที่คู่ความจะนำเข้าสืบ
 
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังจากนั้น ได้มีการนัดสืบพยานในศาลทหารจำนวน 8 นัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเฉลี่ย 2-3 เดือน นัดสืบพยานหนึ่งครั้ง นัดหนึ่งทำการสืบพยานได้จำนวน 1-2 ปาก แต่ในจำนวนนี้ก็มีการเลื่อนสืบพยานไปอีก 4 นัด สาเหตุเนื่องจากทั้งพยานโจทก์ไม่มาศาล และทนายจำเลยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงขอเลื่อนการนัดหมาย รวมแล้วมีนัดที่ได้ทำการสืบพยานจริงๆ ทั้งหมด 4 นัด สืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมดจำนวน 7 ปาก
 
อีกทั้ง ในคดีนี้เนื่องจากมีจำเลยหลายราย ทนายจำเลยซึ่งฝ่ายจำเลยว่าจ้างมา และผู้ติดตามจำนวนมาก ยังไม่นับฝ่ายโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ห้องพิจารณาในศาลทหารมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้สังเกตการณ์ภายนอกไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีระหว่างการสืบพยานได้โดยปริยาย
 
ต่อมา ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ทางฝ่ายจำเลยบางส่วนได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหาร ขอให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยมีภารกิจหลายอย่าง ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาศาลทุกนัด และศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยส่วนนั้นร้องขอ 
 
 
9 กรกฎาคม 2562
 
ก่อนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังการเลือกตั้ง หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 78 ฉบับ รวมทั้งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และสั่งให้โอนคดีที่ยังพิจารณาอยู่กลับไปพิจารณากันที่ศาลพลเรือน
 
25 มีนาคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีและญาติของจำเลยเข้าร่วมฟังการพิจารณา เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างในห้องพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจำเลยมีจำนวนมาก ทำให้ที่นั่งเต็มในห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดเล็ก
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดีจำเลยทั้ง 15 คน ในทุกข้อกล่าวหา โดยศาลได้พิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วินิจฉัยว่า ข้อความในจดหมายเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เนื้อหาไม่ได้เป็นการปลุกระดม ข่มขู่ ก้าวร้าวหรือหยาบคาย และไม่ได้ถึงขนาดทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเพียงการแสดงความเห็นให้ผู้อ่านเนื้อหาดังกล่าวได้คิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง
 
ศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดไม่ได้มีการประชุมวางแผนร่วมกันเป็นการลับ พฤติการณ์ในคดีเป็นเพียงการไหว้วานให้จัดทำเอกสารและส่งจดหมาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 15 คน และให้คืนของกลางในคดีให้แก่จำเลย

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา