วิชาญ: ชวนคนโนโหวต

อัปเดตล่าสุด: 24/07/2561

ผู้ต้องหา

วิชาญ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 วิชาญพูดเชิญชวนคนที่ตลาดในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ให้ไปออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากที่เกิดเหตุไปตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่สภ.พิบูลมังสาหารและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 27 กรกฎาคม 2559
 
เบื้องต้นวิชาญไม่ได้ขอประกันตัวเพราะไม่มีเงิน เขาอดข้าวประท้วงเป็นเวลา 12 วัน และหลังติดคุกอยู่เดือนเศษก็ได้ประกันตัว ในชั้นศาลวิชาญปฏิเสธ และต่อสู้คดีให้เห็นถึงแนวคิดความเชื่อของเขาและพรรค
 
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษจำคุกเหลือ 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ข้อมูลจากเฟซบุ๊กของสมาน ศรีงาม  ระบุว่า วิชาญเป็นรองประธานคณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา ตามอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ. 1941, เป็นรองประธานสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ, รองประธานพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ (พรรคตามธรรมชาติ), รองประธานขบวนการศาสนาเพื่อมนุษย์ชาติ และขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 วิชาญเคยเข้าร่วมกิจกรรมทวงคืนดินแดนเขาพระวิหารและเคยปีนรั้วเข้าไปบริเวณทางขึ้นเขาพระวิหารซึ่งทหารกัมพูชาตรึงกำลังอยู่ด้วย รวมทั้งเคยประกาศอดข้าวประท้วงเพื่อให้รัฐบาลลาออกเพราะเพราะปล่อยให้ฝ่ายกัมพูชายึดครองเขาพระวิหาร 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำร้องฝากขังที่พนักงานสอบสวนสภ.พิบูลมังสาหาร ยื่นต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระบุพฤติการณ์ของวิชาญโดยสรุปว่า ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 7.30 น. วิชาญปั่นจักรยานมาที่ตลาดสด จากนั้นก็พูดกับประชาชนที่มาซื้อของว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ พร้อมกับชูเอกสารของพรรคและพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

 

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรซึ่งปฏิบัติหน้าที่บริเวณตลาดพิบูลมังสาหารพบเห็นการกระทำของวิชาญจึงประสานให้เจ้าหน้าที่สภ.พิบูลมังสาหารมาจับกุมวิชาญ

วิชาญถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากที่เกิดเหตุไปที่สภ.พิบูลมังสาหารโดยเจ้าหน้าที่ยึดของกลางเป็นเอกสารเกี่ยวกับพรรคการเมืองของวิชาญไปด้วย
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

อ.2419/2559

ศาล

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


26 กรกฎาคม 2559 

วิชาญ ถูกจับกุมตัวจากตลาดพิบูลมังสาหารไปควบคุมและสอบสวนที่สภ.พิบูลมังสาหาร ในการสอบสวนเจ้าหน้าที่เห็นว่าวิชาญ พูดจาคล้ายกับคนจิตบกพร่อง จึงส่งตัวไปตรวจที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ผลการตรวจของแพทย์พบว่า วิชาญ มีอาการปกติดี เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหา ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง กับวิชาญและควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีหนึ่งคืน
 
27 กรกฎาคม 2559
 
สมาน ศรีงาม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า วิชาญ จะอดข้าวประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ ยกเลิกประชามติเผด็จการ ที่หากปล่อยไว้อาจทำให้ประเทศเสียหาย
 
ขณะที่ยูทูปของพรรคการนําใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติก็เผยแพร่คลิปเสียงของวิชาญอธิบายเหตุการณ์ที่เขาถูกจับกุม จุดยืนทางการเมืองของเขา และข้อเรียกร้องจากการอดอาหารซึ่งได้แก่ การยกเลิกการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และให้สร้างประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง
 
สำหรับวิชาญ หลังถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจเป็นเวลาหนึ่งคืน พนักงานสอบสวนก็นำตัวเขาไปขออำนาจศาลจังหวัดอุบลราชธานีฝากขัง ตามรายงานของประชาไท  แก้วแสงบุญ ธรรมให้ดี รองหัวหน้าพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ (พรรคตามธรรมชาติ) ระบุว่า วิชาญไม่ขอประกันตัวเพราะไม่มีเงิน 200,000 บาทมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 
 
15 สิงหาคม 2559 
 
ประชาไทรายงานว่า วิชาญยุติการอดแล้วตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม หลังการลงประชาติ โดยรวมแล้วเขาอดข้าวเป็นเวลา 12 วัน อดข้าวมาประมาณ 12 วัน สำหรับแนวทางคดีวิชาญยืนยันว่าจะสู้คดีเต็มที่แม้จะไม่ได้รับการปล่อยตัว
 
8 กันยายน 2559
 
ทนายความของวิชาญ ยื่นขอประกันตัว โดยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันคิดเป็นวงเงินได้ 60,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
 
8 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐาน
 
วิชาญ เดินทางมาศาลจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมทนายความตามที่ศาลนัด ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อศาล ปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้อง โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า 
 
ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องยึดถือหลักนิติธรรม หลักความเสมอภาคของประชาชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักการประชาธิปไตย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่นำไปลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีเสียงสะท้อนจากประชาชนหลายภาคส่วนว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดลงอย่างมาก และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ถูกจำกัดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนมีกระแสว่าประชาชนอาจจะไม่ไปลงประชามติ
 
ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีบทบาทสำคัญ ควรจะต้องอธิบายร่างดังกล่าว แต่กลับไม่มีคำอธิบายในปัญหาความถูกผิดต่อหลักการให้กับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่มีสิ่งใดประกันได้ว่า บ้านเมืองและประชาชนจะสงบเรียบร้อยภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ 
 
พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเป็นสากล ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับรับรองไว้ ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นกฎหมายของประเทศ ไม่มีความชอบธรรมในการนำมาบังคับใช้ 
 
สำหรับในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยไม่ได้ดำเนินการไปตามที่ พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติว่าเป็นความผิด เอกสารที่จำเลยแจกในคดีนี้เป็นข้อความทางวิชาการ ทำหน้าที่อธิบายสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้วยเป้าหมายขจัดทุกข์เข็ญแก่ประชาชน เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของจำเลย ข้อกล่าวหาของโจทก์ขัดแย้งต่อหลักประชาธิปไตย
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลจำนวน 8 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจจราจรที่เข้าจับกุม, พนักงานสอบสวน อ.พิบูลมังสาหาร, ประชาชนในตลาดที่วิชาญพูดคุยในที่เกิดเหตุ และผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านที่วิชาญอาศัยอยู่ ด้านทนายความของวิชาญ ได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยเป็นพยานบุคคลจำนวน 4 ปาก หลังตรวจพยานหลักฐานเสร็จ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่  15-16 สิงหาคม 2560 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2560
 
15 สิงหาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ห้องพิจารณาคดีที่ 11 ศาลขึ้นบัลลังก์ประมาณ 10.00 น. ก่อนเริ่มสืบพยานศาลเรียกตัววิชาญและทนายความเข้าไปหารือแนวทางการต่อสู้คดี และบอกกับวิชาญว่า ผลของคดีนี้มีสองทางคือ ยกฟ้องกับลงโทษ เพราะฉะนั้นให้ตัววิชาญตัดสินใจดีๆ และแนะนำทนายความว่า ให้สืบพยานตามประเด็น
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.พีระศักดิ์ สุรมณี ผู้จับกุมจำเลย
 
พ.ต.ท.พีระศักดิ์ เริ่มเบิกความว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารของหน่วยจราจรว่า มีชายสวมเสื้อสีขาวกำลังประกาศให้ชาวบ้านไม่ไปลงเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จึงแจ้งผู้บังคับบัญชาให้แจ้งไปยังฝ่ายปกครองและทหาร จากนั้นเดินทางไปบริเวณที่เกิดเหตุ คือ หน้าตลาดสดพิบูลมังสาหาร พบชายสวมเสื้อสีขาวกำลังพูดกับชาวบ้านที่เดินไปเดินมาว่า เป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และยังพูดว่ารัฐธรรมนูญไม่มีหลักการที่ควรจะมี ขอให้พ่อแม่พี่น้อง ไม่ต้องไปลงประชามติ พร้อมทั้งมีเอกสารประกอบ
 
พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ตอบคำถามอัยการว่า ทราบภายหลังว่าชายคนดังกล่าวชื่อวิชาญ พร้อมกับชี้ตัววิชาญ ในห้องพิจารณาคดี  
 
พ.ต.ท.พีระศักดิ์เล่าว่า ในวันเกิดเหตุพอมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา ประชาชนบริเวณนั้นก็กรูกันออกไป พ.ต.ท.พีระศักดิ์ฟังจำเลยพูดอยู่ประมาณ 5 นาที และพยายามแสดงตัวว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเตือนวิชาญแล้วแต่วิชาญไม่ยอมหยุด ยังได้ยินวิชาญพูดอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีหลักการที่ไม่ครบถ้วน ไม่ควรไปลงประชามติ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ จึงบอกวิชาญว่า หากไม่เห็นด้วยควรเก็บไว้ ไม่ต้องบอกประชาชน แต่วิชาญยังย้ำอีกว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นเผด็จการ
 
พ.ต.ท.พีระศักดิ์ จึงยึดเอกสารและนำตัววิชาญไปสภ.พิบูลมังสาหาร เมื่อไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาซักถามวิชาญด้วย ปรากฏว่าวิชาญให้การกลับไปกลับมา คล้ายเป็นลักษณะท่องจำ พ.ต.ท.พีระศักดิ์เห็นว่า อาจจะมีภาวะจิตใจไม่ปกติ ผู้กำกับการ สภ.พิบูลมังสาหารจึงโทรศัพท์แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา และแจ้งว่าให้ส่งตัววิชาญไปตรวจที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า วิชาญมีอารมณ์แปรปรวน ต้องรักษาต่อเนื่อง และเมื่อนำตัวกลับไปที่สถานีตำรวจแล้วผู้บังคับบัญชาจึงแจ้งให้ดำเนินคดี ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2
 
หลังทำการจับกุมพ.ต.ท.พีระศักดิ์ ได้สืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและจัดทำรายงานผลข้อมูลเกี่ยวกับวิชาญไว้ เอกสารที่ตรวจยึดได้ก็ส่งให้พนักงานสอบสวน 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน   
 
พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ประจำที่ สภ.พิบูลมังสาหารมา 2 ปีแล้ว และปกติจะตรวจการจราจรรอบอำเภอเป็นประจำ วันเกิดเหตุอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ 200-300 เมตร ส่วนบรรยากาศตลาดพิบูลมังสาหารนั้นเต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่าน จึงต้องมีตำรวจจราจรประจำที่หน้าตลาด ขณะไปถึงที่เกิดเหตุเห็นวิชาญถือเอกสารอยู่คนเดียว และยังไม่พบพฤติการณ์แจกเอกสาร วิชาญเพียงแต่ยืนถือเอกสารและพูด 
 
พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ตอบทนายอีกว่า ลักษณะท่าทางการพูดของวิชาญนั้นเสียงดังฟังชัด เป็นการปราศัย วิชาญพูดถึงหลักประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ขอให้พรรคของวิชาญเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน และที่เบิกความว่า วิชาญพูดวนไปวนมา เหมือนท่องจำหลักวิชาการนั้น เพราะเห็นว่าเมื่อถามย้ำในรายละเอียดวิชาญจะตอบได้เฉพาะที่ท่องจำมา
 
ส่วนประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมาวันนั้นมีทุกเพศทุกวัย ประชาชนจะมีวิจารณญาณที่จะไปออกเสียงประชามติอย่างไรนั้น พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ไม่ทราบ และยังเบิกความอีกว่า ก่อนจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติฯ มีการจัดอบรมการใช้กฎหมายโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งอบรมว่า การพูดเชินชวนให้คนไม่ไปออกเสียงประชามติก็เป็นความผิด และทราบดีว่าการจะกระทำผิดต้องเข้าองค์ประกอบตามกฎหมายซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของวิชาญผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ จึงนำตัวไปร้องทุกข์ดำเนินคดี 
 
ก่อนการดำเนินคดี พ.ต.ท.พีระศักดิ์ รายงานผู้บังคับทางโทรศัพท์แล้ว ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ดำเนินคดี หลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนเป็นคนทำขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ไปบ้านของวิชาญเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อทนายถามว่า เอกสารที่ยึดมาจากวิชาญมีข้อความในเอกสารชักจูงหรือปลุกระดมให้ประชาชนไม่ไปออกเสียงหรือไม่ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ตอบว่าไม่ทราบ

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ด.ต.ภพชัย จันทร์สืบ ตำรวจจราจร ผู้เห็นเหตุการณ์
 
ด.ต.ภพชัยเบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 48 ปี รับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมู่จราจร ที่สภ.พิบูลมังสาหาร ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน

ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ช่วงก่อนเกิดเหตุ ทำหน้าที่อำนวยการจราจรบริเวณหน้าตลาดสดพิบูลมังสาหาร จนกระทั่งเวลาประมาณ 7.30 น. พบเห็นวิชาญเดินทางมาด้วยจักรยาน นำมาจอดไว้ที่ร้าน เตี้ย ขายไข่ แล้วเริ่มพูดว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี จะให้ไปได้อย่างไร
 
ด.ต.ภพชัยเบิกความอีกว่า ขณะนั้นยืนห่างตัววิชาญประมาณ 2 เมตร ตอนที่วิชาญพูดได้ยินเสียงดังชัดเจน เลยพยายามบอกให้วิชาญหยุดพูด แต่วิชาญก็พูดลักษณะซ้ำๆ เช่นเดิม มีประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมาบริเวณตลาดมายืนฟังที่วิชาญพูดเป็นช่วงๆ และขณะพูดวิชาญถือเอกสารอยู่ในมือ 
 
ด.ต.ภพชัยเบิกความว่า ได้เตือนวิชาญไปว่า ให้วางตัวเป็นกลาง ประชาชนจะไปออกเสียงอย่างไรก็ให้เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ระหว่างนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ หลังบอกเตือนแล้ว วิชาญก็ยังพูดคำเดิม ด.ต.ภพชัยจึงรายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบ
 
คล้อยหลังประมาณ 5 นาที พ.ต.ท.พีระศักดิ์ จึงตามมาถึงที่เกิดเหตุ และได้เข้าไปบริเวณที่วิชาญยืนพูดอยู่ จากนั้น ด.ต.ภพชัยจึงกลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อถึงเวลาประมาณ 8.00 น. ก่อนจะตามกลับไปที่โรงพัก และทราบภายหลังว่า วันนั้นเจ้าหน้าที่นำตัววิชาญไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจอาการด้วย 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
ด.ต.ภพชัยตอบคำถามทนายจำเลยว่า ทำหน้าที่ในงานจราจรมาตั้งแต่ปี 2541 โดยวันนั้นเห็นจำเลยปั่นจักรยานมาพร้อมเอกสาร และมาจอดไว้ที่ร้าน นายเตี้ย ขายไข่ ทราบว่าเจ้าของร้านชื่อไกศรี เพราะรู้จักกับเจ้าของร้าน
 
ขณะที่วิชาญพูด ด.ต.ภพชัยจับใจความได้ว่า เนื้อหาเป็นความผิด จึงแจ้งเรื่องดังกล่าวกับผู้บังคับบัญชา หลังผู้บังคับบัญชาเดินทางมาถึงจึงถอยห่างออกไป และเห็นผู้บังคับบัญชายืนคุยกับวิชาญอยู่ 5 นาที ก่อนพาตัวไปสถานีตำรวจ 
 
ทนายถาม เกี่ยวกับคำที่วิชาญพูดว่า "จะให้ไปได้อย่างไร" ด.ต.ภพชัยเข้าใจว่าวิชาญหมายถึง จะไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และระหว่างที่วิชาญพูดก็ถือเอกสารอยู่ในมือ มีประชาชนหยุดยืนดูบ้าง แต่ไม่มีใครพูดกับวิชาญ
16 สิงหาคม 2560
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ไกรศรี ทุ่มทอง พยา่นผู้เห็นเหตุการณ์
 
ไกรศรีเบิกความว่า ประกอบอาชีพค้าขายที่ตลาดสดพิบูลมังสาหาร มาตั้งแต่ปี 2533 สินค้าประเภทที่ขายจำพวก ไข่ไก่ ข้าวสาร หมูยอ ไกรศรีเบิกความว่า ปกติบริเวณตลาดมีคนมาจับจ่ายซื้อของทั้งวัน วันเกิดเหตุ 26 กรกฎาคม 2559 ไกรศรีเปิดร้านตั้งแต่เวลา 4.00 น. โดยในช่วงเช้าจะมีเจ้าหน้าที่จราจรมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดการการจราจร
 
ไกรศรีย้อนเบิกความว่าวันเกิดเหตุมีชายคนหนึ่งมาพูดคุยด้วย เพราะก่อนหน้านี้เคยรับซื้อข้าวกับชายคนดังกล่าวไว้ ซึ่งต่อมาพบว่า คือ วิชาญ จำเลยในคดีนี้ ขณะนั้นวิชาญพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญวิปริต วิชาญไม่เห็นด้วย และจะไม่รับร่างรับธรรมนูญ พูดอยู่ประมาณ 15-20 นาที จนกระทั่งตำรวจมาจับ มีประชาชนที่เดินผ่านไปมาที่ตลาดประมาณสี่ถึงห้าคนยืนฟัง
 
ไกรศรีเบิกความด้วยว่า ตอนนั้นวิชาญพูดเสียงระดับกลางๆ ไม่ดัง ไม่ค่อยเกินไป โดยตัวไกรศรีได้ยินเสียงชัดเจน จำได้แค่ว่า วิชาญพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดี ไม่สามารถรับได้ กระทั่งมีตำรวจเข้ามาจับกุมวิชาญ แต่ก่อนจับกุม ตำรวจซึ่งก็คือ ด.ต.ภพชัย เข้ามาตักเตือนวิชาญว่า "คุณไม่ควรพูดแบบนี้นะ ไม่ควรชี้นำ คนจะตัดสินใจอย่างไร เป็นเรื่องของเขา"
 
วันนั้นไกรศรีเห็นเอกสารและวิชาญสะพายกระเป๋ามาด้วย ไกรศรีเห็นวิชาญเป็นคนปกติทั่วไป และเคยเห็นพูดในลักษณะเช่นนี้ 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
ไกรศรีตอบทนายว่า รู้จักวิชาญมาก่อนหน้า 1 สัปดาห์ เคยเห็นเดินมาขายข้าวเลยอุดหนุน แต่วิชาญเคยให้เอกสาร เคยมาพูดให้ฟังและเคยชวนไปที่ทำการพรรคที่นครนายก แต่ไม่ได้ไปเนื่องจากไม่ว่าง 
 
ไกรศรี เบิกความว่า วันเกิดเหตุวิชาญตรงมาที่ร้านขายไข่แล้วทักทายสวัสดี ก่อนบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวิปริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สมควรที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยขณะพูดวิชาญยืนหันหน้าเข้ามาทางร้าน ตอนนั้นไกรศรีเตรียมสินค้าไว้ขายอยู่ จึงไม่ได้สังเกตว่าวิชาญมีเอกสารติดตัวมาด้วยหรือไม่ ประชาชนสี่ถึงหาคน ที่มาหยุดฟังคือลูกค้าประจำที่มาซื้อไข่ที่ร้าน
 
ไกรศรีตอบทนายจำเลยอีกว่า ช่วงวันนั้นทราบข่าวว่ามีการบังคับใช้พ.ร.บ.ประชามติฯแล้ว ก่อนเกิดเหตุวิชาญไม่เคยแจกเอกสารอะไรให้กับตัวเขาและประชาชนคนอื่นๆ และการเข้าจับกุมวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมร่วม 20 คนไปที่ร้าน ต่อมาภายหลังพนักงานสอบสวนสภ.พิบูลมังสาหารมาเชิญตัวเขาไปให้การด้วยเพราะเขาเป็นเจ้าของร้านบริเวณที่เกิดเหตุทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือพนักงานสอบสวนถามว่า ตอนนั้นวิชาญพูดว่าอะไร ซึ่งก็ตอบไปตามที่เบิกความต่อศาล
 
ไกรศรีตอบทนายจำเลยด้วยว่า ปกติไม่ค่อยได้ติดตามข่าวการเมือง ได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งมาทางไปรษณีย์ แต่ก็ไม่ได้ศึกษาร่างดังกล่าว
 
ตอบอัยการถามติง  
 
ไกรศรีเบิกความว่า ไม่เคยได้ยินใครมาพูดลักษณะเดียวกับวิชาญในตลาดหรือโทรทัศน์มาก่อน วันนั้นวิชาญพูดกับเขาโดยตรงแต่ประชาชนได้ยิน และเมื่อมีคนมาซื้อไข่ วิชาญก็ยังพูดต่อไป
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ทอง มาริษา ผู้ใหญ่บ้านของวิชาญ
 
ทอง เบิกความว่า เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นหมู่บ้านที่วิชาญอาศัยอยู่ในปัจจุบัน โดยรับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาตั้งแต่ปี 2555 
 
ทองเบิกความว่า วิชาญมาจากที่อื่น มาอาศัยอยู่กับภรรยา (แก้ว แสงบุญ) โดยอยู่ห่างจากบ้านของเขาไป 18 หลังคาเรือน ลักษณะของวิชาญเป็นคนพูดเก่ง ภายนอกวิชาญดูเป็นคนปกติ แต่จะชอบพูดเรื่องการเมือง และมักจะพูดแนวทางของพรรคการเมือง และแจกเอกสารเกี่ยวกับพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ ซึ่งทองก็เคยได้รับเอกสารนั้นด้วย 
 
ทองเบิกความอีกว่า เคยเห็นวิชาญบอกชาวบ้านไม่ให้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญวิปริตบิดเบือน วิธีการของวิชาญ คือ ไปพูดที่ศาลากลางบ้าน และเคยใช้เครื่องกระจายเสียงขณะที่อยู่บ้านของตัวเอง 
 
ทองเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านที่วิชาญอาศัยอยู่ส่วนมากจะมีความเข้าใจเรื่องการทำประชามติ และไม่ได้สนใจสิ่งที่วิชาญพูด 
 
ตอบทนายถามค้าน  
 
ทองตอบทนายจำเลยว่า วิชาญเคยพูดกับตัวเขาแบบลูกบ้านกับผู้ใหญ่บ้าน วิชาญประกอบอาชีพทำมาค้าขายเล็กๆน้อยๆ และเคยแจกเอกสารพูดถึงแนวนโยบายพรรคการเมือง โดยเนื้อหานั้นตัวเขาไม่เข้าใจเท่าไร ทราบแต่เพียงว่า เป็นเรื่องการนำประชาชนตามแนวนโยบายประชาธิปไตย และเอกสารที่แจกนั้นไม่มีเนื้อหาชี้ชวนไม่ให้ไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ
 
ทองตอบคำถามอีกว่า เคยไปอบรมเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่อำเภอพิบูลมังสาหาร และทราบว่า การปลุกระดมไม่ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามตินั้นเป็นความผิด และช่วงเวลานั้นมีชาวบ้านเคยมาแจ้งว่า วิชาญเคยพูดให้พวกเขาฟังว่า ไม่ให้ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 
 
ทองเคยไปให้ปากคำกับตำรวจเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ทำรายงานไปที่ปลัดจังหวัด ส่วนวันลงคะแนนเสียงประชามติ ชาวบ้านก็มาลงคะแนนตามปกติ ทองตอบคำถามสุดท้ายว่า จำไม่ได้ว่าคดีนี้มีโทษจำคุกกี่ปี แต่พอทราบว่ามีโทษทางอาญา 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า อุทิศ แสงคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่บ้านของวิชาญ 
 
อุทิศ เบิกความว่า ประกอบอาชีพรับจ้างและทำนา ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านที่วิชาญอาศัยอยู่ ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้านมาประมาณสิบปีแล้ว รู้จักวิชาญมาสองปี พอทราบว่าเป็นคนพื้นเพมาจากภาคเหนือ 
 
อุทิศเบิกความว่า บุคลิกทั่วไปของวิชาญชอบพูดคุยเรื่องการเมือง และจะขี่จักรยานไปพบชาวบ้านโดยจะไปพูดคุยและมีเอกสารแจกด้วย  อุทิศได้ยินเองว่า วิชาญมาพูดเกี่ยวกับร่างรับธรรมนูญว่า วิปริตบิดเบือน นอกจากนั้นที่หมู่บ้านอุทิศยังพบว่า วิชาญเคยพูดผ่านเครื่องกระจายเสียงเรื่องรัฐธรรมนูญว่า มีความวิปริตบิดเบือน ให้ชาวบ้านไม่ต้องไปลงคะแนน 
 
ในความคิดของอุทิศเห็นว่า รัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ความคิดของวิชาญนั้นเป็นไปไม่ได้ และก่อนหน้านี้เคยไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนในลักษณะนี้มาแล้ว
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
อุทิศตอบคำถามทนายว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ขณะเกิดเหตุเป็นชาวบ้านธรรมดา นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการหมู่บ้าน เคยไปให้การกับพนักงานสอบสวนพร้อมผู้ใหญ่บ้านว่า มีการแจกเอกสารนโยบายของพรรคและเอกสารปลุกกระดม
 
อุทิศได้อ่านเอกสารคร่าวๆ คิดว่ามีการปลุกระดม เพราะวิชาญเคยพูดลักษณะนี้ และทราบว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการออกเสียงประชามติ หากรณรงค์บิดเบือนจะถูกดำเนินคดี และวิชาญแจกเอกสารลักษณะนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2559 คำพูดของวิชาญนั้นไม่มีคำหยาบคายหรือรุนแรง แต่เป็นลักษณะการปลุกระดม 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก ร.ต.อ.พิทยา บัวลา พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.อ.พิทยา เบิกความว่าขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นพนักงานสอบสวน สภ.พิบูลมังสาหาร คดีนี้เหตุเกิดขึ้นวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 โดยพ.ต.ท.พีระศักดิ์ นำตัววิชาญมาส่งให้สอบปากคำ และแจ้งข้อกล่าวหาว่า ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงเป็นไปไม่เรียบร้อย โดยพูดจาชักจูง ปลุกระดม มุ่งหวังให้ประชาชนออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ออกเสียง

นอกจากนี้ยังยึดเอกสารบางส่วนไว้ ก่อนจะส่งตัววิชาญไปที่โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์เพื่อตรวจอาการทางจิต เพราะเห็นว่าวิชาญมีลักษณะคล้ายคนวิกลจริต ก่อนแพทย์จะลงความเห็นว่า วิชาญมีอารมณ์แปรปรวน ต้องรักษาอาการต่อเนื่อง 
 
ในวันจับกุมมีประจักษ์พยานคือ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ ดาบตำรวจภพชัย และไกรศรี ร.ต.อ.พิทยาเบิกความทิ้งท้ายไม่เคยรู้จักหนือมีสาเหตุโกรธเคืองกับวิชาญมาก่อน 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
ร.ต.อ.พิทยา ตอบทนายว่า ขณะเกิดเหตุกำลังอยู่เวร ที่ต้องส่งวิชาญไปโรงพยาบาลเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นบุุคลวิกลจริต พฤติการณ์จับกุมเป็นไปตามที่พยานก่อนหน้าเบิกความไว้ และในบันทึกการจับกุมเขียนบอกว่า พฤติการณ์ของวิชาญ คือ "ยุยงปลุกระดม" ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรม 
 
ร.ต.อ.พิทยาตอบคำถามถึง เอกสารที่ยึดจากวิชาญว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับพรรคการนำใหม่ของวิชาญ มีข้อความทำนองว่า หากให้พรรคดังกล่าวเป็นรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจและชีวิตประชาชนดีกว่านี้ และยังให้ประชาชนเห็นด้วยกับพรรคดังกล่าว 
 
ทนายจำเลยถามว่า เอกสารตามที่เบิกความไปนั้น ผิดกฎหมายหรือไม่ ร.ต.อ.พิทยาเบิกความว่า ไม่ทราบ เป็นเพียงเอกสารประกอบการจับกุม ส่วนเอกสารของกลาง ส่วนจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่ทราบ 
 
ส่วนภาพถ่ายปรากฎชื่อร้าน ขายไข่ ของไกรศรี และภาพวิชาญหันไปพูดกับประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา ทราบจากประชาชนที่มาให้ปากคำภายหลังว่า วิชาญพูดค่อนข้างเสียงดัง และพูดประมาณห้าถึงสิบนาที ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้จนถึง 7 สิงหาคม 2559 ไม่มีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นจนเป็นคดีลักษณะนี้อีก 
 
ตอบอัยการถามติง 
 
ร.ต.อ.พิทยาตอบคำถามว่า เอกสารที่ผู้จับกุมยึดมา คือ เอกสารที่วิชาญใช้ประกอบการพูดปลุกระดมไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียง จึงนำมาประกอบคดีนี้ 
 
17 สิงหาคม 2560  
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง วิชาญ เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
  
วิชาญ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 49 ปี เรียนจบสูงสุดชั้น ป.4 ต่อมาได้เข้าศึกษาทางการเมืองที่สถาบันปฏิวัติสันติของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โดยศึกษาทฤษฎีทางการเมืองของ รัชกาลที่ห้า ที่หกและที่เจ็ด รวมทั้งศึกษาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่เก้า โดยรับนโยบายและปฏิบัติตามคำสั่ง ที่ 66/2523 หรือคำสั่งทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน

วิชาญเคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในพรรคความหวังใหม่ สมัยที่ชิงชัย มงคลธรรม เป็นหัวหน้าพรรค 
 
วิชาญเบิกความว่า ตัวเขาอยู่ในคณะธรรมยาตราต่อสู้เรื่องทวงคืนแผ่นดินไทยในกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร มีการจัดทำหนังสือ และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา และเคยยื่นเรื่องขอให้ยุติการแทรกแซงไทย กรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ผู้นำฝรั่งเศส กระทั่งต่อมาตั้งพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ เพื่อรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย  
 
วิชาญเห็นว่า ลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นวิถีเผด็จการ เป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศไทย รัฐธรรมนูญเป็นภาพสะท้อนระบอบการปกครอง เป็นนโยบายและเครื่องมือ แต่ปัจจุบันเป็นการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา เริ่มตั้งแต่ปี 2475 รัฐธรรมนูญทุกครั้งมีลักษณะเป็นเผด็จการรวมถึงครั้งล่าสุดด้วย ทำให้ประเทศเผชิญกับสงครามการเมือง จากภัยลัทธิรัฐธรรมนูญ โดยวิชาญเปรียบเข้ากับพุทธสุภาษิต ในความวินาศ ความฉลาด ต้องวิปริต สะท้อนไปถึงนักวิชาการและนักร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
 
วิชาญเบิกความอีกว่า เขาพูดข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ตลาดพิบูลมังสาหาร และก่อนหน้าวันที่ถูกจับกุมก็พูดลักษณะนี้มาหลายครั้ง เพราะเขาเห็นว่าประชามติและรัฐธรรมนูญเป็นวงจรอุบาทว์ ทางการเมือง
 
ตอบอัยการถามค้าน 
 
วิชาญเบิกความว่า ได้ก่อตั้งพรรคการนำใหม่ปฏิวัติสันติ เป็นพรรคตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นพรรคมวลชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง  โดยมีในเอกสารที่ทนายจำเลยอ้างส่ง เมื่อประกาศตั้งพรรค มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 10 คน โดยเป็นประชาชนจากหลายจังหวัดเข้าร่วม พรรคจัดตั้งเป็นสองส่วนคือ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 
 
การดำเนินการของพรรคโดยมากจะต้องจัดการประชุม และออกมติเป็นเอกสาร เสนอต่อนายกรัฐมนตรี กองทัพบก ฯลฯ  รวมถึงเอกสารที่นำมาฟ้องในคดีนี้ก็เป็นเอกสารที่เคยไปยื่นไปด้วยเช่นกัน
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง ภิเศก อาจทวีกุล ทนายจำเลย
 
ภิเศก เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 40 ปี ช่วงต้นปี 2557 มีคดีที่ถาวร เสนเนียม ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอให้ศาลแพ่งสั่งยกเลิกการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ต่อมาศาลแพ่งวินิจฉัยว่า ถ้อยคำว่า "ปลุกระดม" มีความหมายที่กว้างขวาง และเหตุการณ์ชุมนุม ครั้งนั้นได้ดำเนินถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  กระทั่งมีการรัฐประหาร 
 
ภิเศกทราบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เคยพูดถึงเจตนารมณ์ของ คสช. ว่า ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ พยานในฐานะเลขาธิการพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ เห็นด้วยว่าการชุมนุมแบบนั้นไม่ถูกต้อง และพวกพยานเองไม่ได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะใช้วิธีการให้ความรู้กับประชาชน 
 
ภิเศก เบิกความด้วยว่า ในการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรค ได้ออกเป็นแถลงการณ์อธิบายถึง นโยบายการสร้างประชาธิปไตย คือ ยกเลิกระบอบเผด็จการ และยกระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา และเห็นร่วมกันว่า แกนกลางของปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยคือลัทธิรัฐธรรมนูญ   และหลังการลงประชามติ ทางพรรคได้ส่งสาสน์ลักษณะดังกล่าวไปที่หน่วยงานราชการ เช่น กองทัพบก ด้วย
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม สมาน ศรีงาม เพื่อนของจำเลย
 
สมานเบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 61 ปี ประกอบอาชีพสื่อมวลชน เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์จำเลย เป็นที่ปรึกษาพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ด้านความมั่นคง โดยยึดแนวการปฏิบัติตามนโยบาย 66/2523 นอกจากนี้ยังทำงานด้านวิชาการ นำเสนองานรักษาความมั่นคงของชาติ ตามประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ให้ความรู้ต่อทั้งตัวผู้ปกครองและประชาชน ตามแนวทางของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 เช่น เรื่องปัญหาข้อพิพาทชายแดนระหว่าง ไทยกับกัมพูชา 
 
นอกจากนี้ตัวเขายังมีส่วนในการธรรมยาตรา และยังได้ก่อตั้งเป็นสภาประชาชนปฎิวัติสันติ เป็นพรรคตามธรรมชาติ ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ปัจจุบันเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ฝ่ายวิชาการ 
 
สมานเบิกความว่า จำเลยเป็นคนที่ทำงานอย่างเสียสละ แข็งขัน เลยได้รับหน้าที่เป็นแนวหน้าในการบุกเข้าพื้นที่เขตแดนประเทศกัมพูชา ก่อนถูกจับกุม 
 
สมานเห็นว่า ประเทศไทยประสบปัญหาอำนาจประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชน พยานจึงยกร่างแถลงการณ์นี้ขึ้นมาเสนอให้หน่วยงานราชการ เช่น กองทัพบก คสช. ฯลฯ นำไปทบทวน เอกสารดังกล่าว ไม่มีลักษณะชักจูงไม่ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติ เอกสารนั้นออกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 แต่การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 
 
เอกสารอีกฉบับหมายมีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพันธภาพของสามโลก ไม่มีเนื้อหาปลุกระดมเกี่ยวกับประชามติเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้พยานเคยไปหมู่บ้านคอใต้ ที่จำเลยอาศัยอยู่ มีการพูดคุยเรื่องการเมืองกับชาวบ้านบ้าง แต่เป็นไปในลักษณะวิชาการ พยานเห็นว่าการกระทำของจำเลยและพรรคนั้น ไม่มีอะไรทำให้เกิดความขัดแย้ง มีแต่ช่วยยุติความขัดแย้ง โดยการนำใหม่เพื่อสันติ
 
หลังสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 
 
7 พฤศจิกายน 2560 
 
ศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 40,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษจำคุกเหลือ 4 เดือน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

7 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี  พิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษจำคุกเหลือ 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี

คำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย พยานโจทก์ให้การตรงกันว่า จำเลยพูดในตลาดสดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญวิปริต บิดเบือน และจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งชักชวนคนไม่ให้ไปลงประชามติ แม้ว่าจำเลยจะอ้างว่า ยืนพูดคุยกับพ่อค้าในตลาดสด เรื่องรัฐธรรมนูญ และพูดถึงแนวทางของพรรคฯ ว่า จะไม่เข้าร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ชวนให้ไม่ไปลงประชามติ แต่ขณะที่จำเลยพูด มีคนเดินผ่านไปมาได้ยิน จึงเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามคำฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 2 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากวิชาญเคยถูกจำคุกระหว่างสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม – 8 กันยายน 2559 รวม 45 วัน ก่อนได้ประกันตัว แต่สุดท้ายศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุก คิดเป็นเงินชดเชยที่เขาจะได้รับวันละ 500 บาท รวม 22,500 บาท ซึ่งเกินกว่าค่าปรับแล้ว วิชาญจึงไม่ต้องเสียค่าปรับอีก

 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา