ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

อัปเดตล่าสุด: 24/07/2560

ผู้ต้องหา

1.รังสิมันต์ โรม 2.วสันต์ เสดสิทธิ 3.ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 4.พายุ บุญโสภณ 5.อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ 6.รัฐพล ศุภโสภณ 7.ศุภชัย ภูคลองพลอย 8.อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 9.ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 10.สุวิชา พิทังกร 11.ปกรณ์ อารีกุล 12.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 13.พรชัย ยวนยี 14. ชลธิชา แจ้งเร็ว

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล
นักกิจกรรม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 เพราะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558  
 
ทั้ง 14 คนถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารกลางดึก โดยประกาศ "อารยะขัดขืน" ไม่ยอมรับกระบวนการการใช้กฎหมายเช่นนี้ และไม่ประสงค์จะยื่นประกันตัว จึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ระหว่างการฝากขังผลัดแรก คดีนี้ได้รับความสนใจและเห็นใจจากสังคมอย่างมาก เป็นที่รู้จักกันในนาม "คดี 14 นักศึกษา" หลังครบกำหนดฝากขังผลัดแรกศาลทหารสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ และปล่อยตัวทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข
 

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

 
รังสิมันต์ โรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เป็นสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
 
วสันต์ เสทสิทธิ์ หรือ โต้ง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 5 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เคยลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่อ.วังสะพุง จ.เลย
 
ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ หรือ เดฟ อายุ 24 ปี อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ และเป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย(ศนปท) 
 
พายุ บุญโสภณ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เคยลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่อ.วังสะพุง จ.เลย  
 
อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ หรือ น้อย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์ 
 
รัฐพล ศุภโสภณ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เป็นสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
 
ศุภชัย ภูคลองพลอย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ ทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และปัญหาเหมืองแร่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย 
 
อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หรือ หนุ่ย อดีตนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสมาชิกกลุ่มลุ่มเสรีนนทรีเกษตรศาสตร์ ก่อนหน้านี้เคยทำกิจกรรมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คัดค้านเขื่อนแม่วงศ์ รวมทั้งเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐ ต่อกรณีการหายตัวของ "บิลลี"นักสิทธิของคนชาติพันธุ์
 
ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ไนซ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์ 
 
สุวิชา พิทังกร หรือ เบส นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 4 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ปัจจุบันเป็นฝ่ายกฎหมายประจำพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์
 
ปกรณ์ อารีกุล อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา เคยเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 5 เป็นผู้ประสานงานกลุ่มดาวดิน และเคยลงพื้นที่พิพาทที่ป่าชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัด ชัยภูมิ 
 
พรชัย ยวนยี เป็นอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท) 
 
ชลธิชา แจ้งเร็ว นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ชั้นปีที่ 4  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท) 
  

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ผู้ต้องหาทั้ง 14 ปราศรัยและชูป้ายผ้าปรากฎข้อความ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" รวมทั้งมีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. อันเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และเข้าข่ายเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งขัดต่อประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 

 

NDM case 2

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 26 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารนอกเครื่องแบบนำกำลังเข้าไปในสวนเงินมีมา แสดงหมายจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 14 คนขึ้นรถไปยังสน.พระราชวังเพื่อสอบปากคำ
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
25 มิถุนายน 2558
 
ประชาไทรายงานว่า สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ซึ่งถูกออกหมายจับ จากการไม่ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามนัด หลังถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ  และที่จังหวัดขอนแก่น จัดแถลงข่าวในช่วงเช้าว่า พวกตนจะไม่มอบตัว เพราะไม่ยอมรับอำนาจคสช. แต่หากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาจับกุม ก็จะไม่ขัดขืน และหากยังไม่มีการจับกุม ในช่วงเย็นพวกตนก็จะทำกิจกรรมกันต่อ
 
แม้ว่าที่หน้าสวนเงินมีมา จะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้าจับกุมทั้ง 14 แต่อย่างใด 
    
เวลาประมาณ 14.20 น. อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมนายทหารนอกเครื่องแบบ เข้าไปในสวนเงินมีมา เพื่อเจรจาให้นักกิจกรรมทั้ง 14 ยุติการเคลื่อนไหวไว้ชั่วคราว แต่ไม่เป็นผล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวมตัวกันร้องเพลงและเดินออกจากสวนเงินมีมาไปขึ้นรถเมล์สาย 6 เพื่อไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เวลาประมาณ 15.00 น. สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 เดินทางถึงสนามหลวง และเริ่มทำกิจกรรมทันที โดยเดินไปที่ลานปฏิมากรรม 6 ตุลา 2519 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 เพื่อรำลึกถึงวีรชนที่เสียชีวิตในการเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนจะเดินไปเปิดปราศรัยและที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนจะสลายตัวกลับในเวลาประมาณ 19.00 น.  กิจกรรมของสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 ดำเนินไปท่ามกลางการจับตาของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ     
 
 
NDM case 1
 
 
26 มิถุนายน 2558
 
นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน พักผ่อนร่วมกันที่สวนเงินมีมา ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ
 
เวลาประมาณ 16 .00 น. ศาลทหารกรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวม 14 คน ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามกฎหมายอาญามาตรา 116  และรวมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่ใดๆที่จำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 
 
หลังศาลอนุมัติหมายจับตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. สำราญราษฎร์ ว๊อยซ์ทีวี  รายงานว่า ในเวลาประมาณ 17.15 น. เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบนำหมายค้นมาที่สวนเงินมีมา เมื่อเข้ามาในพื้นที่ก็แสดงหมายจับกับนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทีละคน ก่อนควบคุมตัวไปที่สน พระราชวัง และส่งตัวไปที่ศาลทหารในเวลาต่อมาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ขณะเดียวกัน ที่บริเวณหน้าสน.พระราชวังก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมารวมตัวกันให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้ง 14 คน 
 
เมื่อมีการส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปศาลทหาร ประชาชนที่
อยู่หน้าสน. ก็ตามไปที่ศาลทหารด้วยแต่ไม่สามารถเข้าไปถึงหน้าอาคารศาลได้ เพราะเจ้าหน้าที่กั้นทางเข้าออกบริเวณถนนหน้าศาล ประชาชนจึงรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลหลักเมืองแทน
 
 

IMGL0268

 
ที่ศาลทหาร พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 เป็นเวลา 12 วัน โดยให้เหตุผลว่า การสอบปากคำพยานและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาทั้ง 14  ยังไม่แล้วเสร็จ จึงจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ก่อน พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการขอประกันตัวด้วย โดยให้เหตุผลว่า เกรงผู้ต้องหาจะไปชุมนุมทางการเมือง หรือหลบหนี 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตัวแทนกลุ่มส่วนหนึ่ง ลุกขึ้นแถลงคัดค้านการฝากขังด้วยตนเอง  
 
จตุภัทร บุญภัทรรักษา แถลงว่า 
"สิ่งที่พวกเราทำนั้นเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะเราพูดเรื่องการใช้อำนาจกฎอัยการศึกไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว ทั้งเรื่องเหมืองทองและปิโตรเลียม การใช้กฎอัยการศึกเพื่อไม่ให้ชาวบ้านมาขัดขวาง เราพูดโดยสุจริต เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร การใช้อำนาจตามคำสั่ง ที่ 64/57 ทุกอย่างที่เราพูดเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจหรือมีส่วนร่วมทั้งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชน การเคลื่อนไหวในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นความจริงที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องยอมรับความคิดเห็นประชาชน เราได้เรียกร้องให้ทุกรัฐบาลยอมรับความเห็นประชาชน และการที่เรามาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด
ศาลท่านลองมองดูปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานดูซิครับ สิ่งที่เราต้องการพูดเป็นเรื่องของการปกป้องประเทศชาติ เราค้านรัฐประหาร เพราะเรามีเหตุผล เราจึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เราเชื่อว่า กระบวนการที่สำคัญ คือการให้ประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีการรัฐประหาร ก็ไม่มีการไล่รื้อที่ดิน ถ้าไม่มีการรัฐประหาร ก็ไม่มีการเปิดทางให้นายทุนเข้ามาขนแร่ หรือสร้างเขื่อน ถ้าไม่มีการรัฐประหาร เสียงของชาวบ้านก็จะดังกว่านี้ การที่รัฐบาลส่งคนไปเจรจาเรื่องเขื่อนนั้นมีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ เราทำเป็นเรื่องปกติของประชาชนที่ตรวจสอบนโยบายของรัฐ อีกทั้งพวกผมไม่ควรขึ้นศาลทหาร เพราะสิ่งที่ประกาศมาไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีการยึดโยงกับประชาชน"
 
รัฐพล ศุภโสภณ แถลงว่า
"ผมเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกแจ้งความ อยากจะชี้แจงเรื่องหลบหนี เจ้าหน้าที่ได้ติดตามเราไปทุกที่ เราแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้หลบหนี เจ้าหน้าที่ที่ได้ติดตามไปย่อมรู้ดี เราบริสุทธิ์ใจว่าเราอยู่ตรงนี้ และไม่ให้หลบหนีไปที่อื่นที่ใด การจับกุมไม่ได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องและไม่ได้แสดงหมายจับ ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยไหนอย่างไร บอกแค่ว่า “หน้าตาคุ้นๆ น้องไปกับพี่” ผมไม่ขัดขืนการจับกุม ปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าพนักงานหลังจากมีการออกหมายจับไปแล้ว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ"
 
ปกรณ์ อารีกุลย์ แถลงว่า 
"ผมคิดว่าบันทึกการจับกุมไม่ชอบ มีทหารร่วมด้วย ซึ่งเป็นทหารชุดเดียวที่ทำร่างกายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 การจับกุมนั้นไม่ถูกต้อง" 
 
รังสิมันต์ โรม แถลงว่า 
"ในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายพระธรรมศาสตร์ มีส่วนหนึ่งบอกไว้ว่าการพิพากษาให้คนบริสุทธิ์ติดคุกนั้น เป็นบาปกรรมยิ่งกว่าการฆ่าคน 
พวกเราบริสุทธิ์ เหตุใดพวกเราถึงบริสุทธิ์ เพราะการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน พวกเราต่างได้รับผลกระทบ บางคนถูกทำร้ายร่างกาย บางคนสูญเสียอิสรภาพและทรัพย์สิน 
เราขอยืนยันว่าการกระทำของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การเคลื่อนไหวของพวกเรา มีทั้งการสลายการชุมนุมและเรียกพวกเราไปรายงานตัว เราไม่ได้หลบหนี เพราะหลังจากนั้น วันที่ 24 มิถุนายน 2558 พวกเราไปที่สน.ปทุมวัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเราไม่ได้มีความต้องการจะหลบหนี 
พวกเรายึดหลักการที่ถูกต้อง เราปฏิเสธคำสั่งและประกาศและกฎหมายที่ออกมาโดย คสช. เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยไม่ชอบและขัดต่อระบอบประชาธิปไตย เราจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ 
 
ศาลทหารไม่มีอำนาจพิพากษาคดีเรา เพราะเราเป็นประชาชนไม่ใช่พลทหาร และไม่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายใดมาก่อนให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร พวกเราจะต้องได้รับการพิจารณาคดีในศาลอาญา
 
สิ่งที่พวกเราปฏิบัติในวันนี้คือการเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกับที่คนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, และพฤษภา 35 ทำมาแล้วในอดีต ซึ่งล้วนแต่ได้รับการชื่นชม
 
การร้องขอฝากขังพวกเรานั้นไม่ชอบ เพราะเราไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ตำรวจทราบว่าเราอยู่ที่ไหนและทราบความเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องหนี เพราะจะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ของพวกเรา การชุมนุมของพวกเรานั้นถูกต้อง ประชาชนให้รับการรับรองแก่เรา"
 
ต่อมาในเวลา 22.50 น. ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เป็นเวลา 12 วัน ผู้ต้องหาชาย 13 คน ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะที่ผู้ต้องหาหญิงถูกส่งไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 
โดยการฝากขังผลัดแรกจะครบกำหนดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2558
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยภายหลังว่า หลังศาลเลิกได้ลงมาที่รถและพบว่ามีเจ้าหน้าที่ยืนล้อมรถอยู่ และมีการนำที่ล็อคล้อรถยนต์มาติดตั้งไว้ เจ้าหน้าที่แจ้งความประสงค์ว่า จะขอตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยในรถ ได้แก่โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ฝากไว้กับทนาย แต่ทนายปฏิเสธไม่ให้ค้น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีหมาย เจ้าหน้าที่จึงบอกว่าจะตรวจค้นรถในวันรุ่งขึ้นต่อหน้าทนายผู้เป็นเจ้าของรถหลังและจะนำหมายค้นมา เจ้าหน้าที่ได้นำกระดาษมาติดไว้ บริเวณที่เปิดประตูรถเพื่อแสดงว่าจะไม่มีการตรวจค้นโดยพละการ แต่ทีมทนายไม่มั่นใจ จึงตัดสินใจนอนค้างคืนกันที่หน้าศาลทหารเพื่อเฝ้ารถ
 
การร้องขอฝากขังพวกเรานั้นไม่ชอบ เพราะเราไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ตำรวจทราบว่าเราอยู่ที่ไหนและทราบความเคลื่อนไหวของเราตลอดเวลา ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องหนี เพราะจะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ของพวกเรา การชุมนุมของพวกเรานั้นถูกต้อง ประชาชนให้รับการรับรองแก่เรา"
 
27 มิถุนายน 2558
 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่นำหมายค้นมาแสดงกับทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อขอตรวจค้นรถ และทำการอายัดโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นของผู้ต้องขังไปรวม 5 เครื่อง 
 
ทนายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการยึดโทรศัพท์ครั้งนี้ว่า มีความไม่ชอบมาพากลประการแรกหากเจ้าหน้าที่จะยึดโทรศัพท์ก็สามารถยึดจากตัวผู้ต้องหาได้เลย เหตุใดจึงต้องรอจนผู้ต้องหาถูกนำตัวไปเรือนจำก่อนจึงค่อยยึด ประการที่สอง เมื่อเจ้าหน้าที่จะทำการยึดโทรศัพท์ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งไม่ใช้เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลของกลาง นำโทรศัพท์ออกไปจากพื้นที่ด้วยรถจักรยานยนต์ โดยที่ยังไม่ได้มีการปิดผนึกถุง เมื่อทนายทักท้วง เจ้าหน้าที่คนเดิมจึงนำโทรศัพท์กลับมา รวมเวลาที่โทรศัพท์หายไปโดยไม่มีการผนึกถึงประมาณ 10 นาที      
 
28 มิถุนายน 2558 
 
เวลาประมาณ 20.00 น. ประชาชนราว 30 คน ในนาม "กลุ่มเพื่อนประชาธิปไตยใหม่" รวมตัวกันที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อจุดเทียนให้กำลังใจนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกควบคุมตัว ตัวแทนกลุ่มเพื่อนประชาธิปไตยใหม่ส่วนหนึ่ง อ่านแถลงการณ์ซึ่งเน้นให้เห็นถึงกระบวนการจับกุมที่ไม่ชอบธรรม และพฤติกรรมของศาลทหารที่ดำเนินการพิจารณาคดี นอกเวลาราชการ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้เรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง หากเห็นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นหรือคำสั่งไม่ชอบธรรม

 
6 กรกฎาคม 2558
 
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เข้าสอบปากคำนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเสร็จแล้ว พร้อมแจ้งข้อหายุยุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 นักกิจกรรมชายทั้ง 13 ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและปฏิเสธที่จะรับอำนาจศาลทหาร
 
7 กรกฎาคม 2558
 
ครบกำหนดฝากขังผลัดแรก นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกนำตัวมาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังต่อเป็นผลัดที่ 2 ในวันนี้ศาลมิได้สั่งพิจารณาลับ แต่เนื่องจากห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็กและมีผู้ต้องหาถึง 14 คน ศาลจึงอนุญาตให้เพียงผู้ปกครอง ญาติ แฟนของผู้ต้องหา และผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตบางส่วนเข้าห้องพิจารณาคดี ส่วนกลุ่มเพื่อนๆและผู้สนับสนุนคนอื่นๆ ต้องรออยู่ด้านนอก โดยตั้งแต่เช้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาวางกำลังเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในอาคารศาล
 
ในส่วนของกระบวนพิจารณา ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดต่อเป็นผลัดที่ 2 เนื่องจากไม่มีเหตุให้ต้องควบคุมตัวต่อ อย่างไรก็ตาม การฝากขังในผลัดแรกจะสิ้นสุดลงในเวลา เที่ยงคืนของวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงต้องถูกควบคุมตัวต่ออีกหนึ่งคืนและจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้าวันที่ 8 กรกฎาคม
 

8 กรกฎาคม 2558
 
เรือนจำพิเศษกรุงเทพปล่อยตัวนักกิจกรรมชาย 13 คน ในเวลาประมาณ 5.45 น. ขณะที่ชลธิชา ซึ่งถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวไปส่งที่บ้านในช่วงเช้ามืด แต่เนื่องจากผู้ปกครองของเธอมารอรับที่หน้าเรือนจำแล้ว จึงได้มีการประสานให้นำตัวเธอกลับมาหาผู้ปกครองและเพื่อนนักกิจกรรมที่บริเวณหน้าเรือนจำ ก่อนสลายตัวกลุ่มนักกิจกรรมที่ได้รับการปล่อยตัวรวมทั้งผู้มาให้กำลังใจ ร่วมกันร้องเพลง "บทเพลงของสามัญชน" ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน 
 
รังสิมันต์ โรม 1 ใน 14 นักกิจกรรมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ทางราชทัณฑ์ดูแลตนและเพื่อนๆอย่างดี ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หลังจากได้รับการปล่อยตัวก็จะเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต่อไป แต่ต้องปรึกษากับทนายก่อน
 

9 กรกฎาคม 2558
 
นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 8 กรกฎาคม รวมตัวกันที่ลานธรรมจักร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อแถลงข่าวต่อกรณีที่ถูกจับกุมและถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน  
 
แถลงการณ์ของนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ระบุว่า การฝากขังที่เกิดขึ้นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการฝากขังโดยไม่มีการสอบสวน การที่ศาลไม่ให้ฝากขังต่อในผลัดที่ 2 ไม่ทำให้พวกตนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม เพราะความอยุติธรรม เกิดขึ้นตั้งแต่มีการออกหมายจับด้วยศาลทหารและรวมทั้งการจับกุมโดยไม่แสดงตัวแล้ว สำหรับทิศทางในอนาคต ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยืนยันจะเคลือ่นไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติต่อไป
 
หลังอ่านแถลงการณ์ รังสิมันต์ โรม และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ ไผ่ ดาวดิน เปิดเผยว่า หลังได้รับการปล่อยตัว ยังถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากไม่มีเพื่อนอยู่ด้วยก็เกรงจะถูกอุ้มตัว ขณะเดียวกัน ก็มีเจ้าหน้าที่ไปพบผู้ปกครองที่บ้านของพวกตนด้วย การคุกคามจึงดูจะลุกลามไปถึงประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรงเสียแล้ว  
 
11 กรกฎาคม 2558
 
นักวิชาการจากหลายสถาบันในนาม "กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยลูกศิษย์" จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้กับ 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ลานตึกกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนอกจากคณาจารย์และกลุ่มนักกิจกรรมทั้ง 14 แล้ว ยังมีผู้ปกครอง กลุ่มนักศึกษา ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด