พลวัฒน์ : โปรยใบปลิวที่ระยอง

อัปเดตล่าสุด: 19/04/2563

ผู้ต้องหา

พลวัฒน์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้

สารบัญ

พลวัฒน์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 จากการโปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร สี่จุดในจังหวัดระยอง เขาถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามป.อาญามาตรา 116 และ 368 และโปรยใบปลิวขัดพ.ร.บ.ความสะอาดฯ

คดีพิจารณาที่ศาลทหารในจังหวัดชลบุรีเป็นเวลานานกว่า 4 ปี การสืบพยานเป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะเลื่อนนัดหลายครั้งเนื่องจากพยานไม่มาศาล จนกระทั่งคดีถูกโอนกลับไปพิจารณาที่ศาลปกติ คือ ศาลจังหวัดระยอง 

เมื่อขึ้นศาลจังหวัดระยอง การสืบพยานเสร็จไปอย่างรวดเร็ว 26 มีนาคม 2563 ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 116 ให้จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พลวัฒน์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 จากการโปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร สามจุดในจังหวัดระยอง เขาถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามป.อาญามาตรา 116 และ 368 และโปรยใบปลิวขัด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ คดีของเขาถูกพิจารณาที่ศาลทหารชลบุรี

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พลวัฒน์ ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 1.00 น. พลวัฒน์จัดทำใบปลิวซึ่งนำตัวอย่างข้อความและภาพที่เคยติดในมหาวิทยาลัยบูรพา และตามสื่อออนไลน์ มาออกแบบเป็นใบปลิวมีข้อความว่า "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" และมีภาพชูสามนิ้ว อยู่ในกระดาษขนาดเอสี่ และขับขี่รถจักรยานยนต์ไปโปรยใบปลิวยังสถานที่ 4 แห่ง คือ หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง สวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง ซึ่งที่หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคมได้นำใบปลิวไปติดบริเวณป้ายโฆษณาของที่นั่งพักรอรถประจำทาง และที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคระยองได้ติกไว้บนโต๊ะม้าหินอ่อนด้วย 
 
ในคำร้องขอฝากขังที่พนักงานสอบสวนยื่นต่อศาลทหารระบุว่า การแสดงความคิดเห็นของพลวัฒน์อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างความสับสนให้กับสังคม อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 และ 97/2557 เรื่องขอความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ จึงตั้งข้อหาปลุกปั่นยั่วยุให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 368 และโปรยใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

พฤติการณ์การจับกุม

26 มีนาคม 2558 เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปแจ้งกับฝ่ายรักษาความปลอดภัยของบริษัทที่เขาทำงานอยู่เพื่อขอพบและจับกุมตัวเขา 
 
พลวัฒน์เล่าว่า ก่อนจะถูกจับกุม มีข่าวตามสื่อเกี่ยวกับการโปรยใบปลิวในจังหวัดระยอง และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดักรออยู่บริเวณหน้าปากซอยบ้าน แต่เนื่องจากพลวัฒน์เป็นห่วงงานที่รับผิดชอบซึ่งเข้างานวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จึงตั้งใจว่าจะทำงานตามหน้าที่ให้เสร็จก่อนแล้วจะติดตัวเข้ามอบตัวในวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2558 แต่ถูกจับกุมตัวได้ก่อนขณะกำลังทำงาน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

31 ก./2559

ศาล

ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จ.ชลบุรี, ศาลจังหวัดระยอง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 มีนาคม 2558
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่ามีใบปลิวต่อต้านเผด็จการปลุกระดมผู้รักประชาธิปไตยทุกคนชู 3 นิ้ว ทิ้งอยู่บริเวณทางเข้าสวนศรีเมือง หน้าพระพุทธอังคีรส หลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จ.ระยอง ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารโดยใช้กาว 2 หน้าติด และที่บริเวณริมรั้ววิทยาลัยเทคนิคระยอง
 
27 มีนาคม 2558
 
ตำรวจนอกเครื่องแบบไปหา พลวัฒน์ ในที่ทำงาน แล้วนำตัวเขามาที่ ค่ายนวมินทราชินี มทบ.14 จังหวัดชลบุรี ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายทหาร มีนายทหาร 3-4 คน เข้ามาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ โดยทหารบอกพลวัฒน์ว่าจะนำตัวเขาไปส่งกลับบ้านในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามพลวัฒน์บอกว่าจะให้พ่อแม่มารับตัวเขากลับ
 
28 มีนาคม 2558
 
พลวัฒน์ถูกนำตัวกลับไปยังสถานที่ตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ในช่วงเย็น เมื่อถึงสถานีตำรวจก็ถูกพาไปแถลงข่าวเรื่องการจับกุมต่อผู้สื่อข่าวจำนวนมาก หลังจากนั้น พลวัฒน์ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานที่ตำรวจเป็นเวลาสองคืน 
 
30 มีนาคม 2558
 
ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดระยองนำตัวพลวัฒน์มาฝากขังต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ภายในค่ายนวมินทราชินี โดยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าช่วยเหลือและยื่นขอประกันตัวต่อศาล ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 70,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในเวลาประมาณ 13.30 น. พลวัฒน์ถูกนำตัวไปที่เรือนจำกลางจังหวัดชลบุรีเพื่อทำเรื่องขอปล่อยตัวที่เรือนจำ
 
31 มีนาคม 2558
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้พลวัฒน์นำรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในวันเกิดเหตุไปให้ถ่ายรูปเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่เมื่อไปถึงพลวัฒน์กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มว่าทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถ่ายรูปใบปลิวที่เขาแปะไว้และส่งไปให้กับเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ซึ่งพลวัฒน์รับว่าเป็นคนถ่ายรูปและส่งไปจริง แต่ไม่ได้มีเจตนายั่วยุปลุกปั่น หรือทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง
 
11 พฤศจิกายน 2559
 
ศาลทหาร จังหวัดชลบุรี นัดสอบคำให้การ พลวัฒน์และผู้รับมอบอำนาจจากทนายความเดินทางมาที่ศาล ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 เวลาประมาณ 10.30 ศาลขึ้นบัลลังก์ พลวัฒน์ซึ่งเพิ่งยื่นใบแต่งตั้งทนายความในวันนี้ แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากเพิ่งแต่งตั้งทนายความจึงจะขอเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปก่อน ศาลอนุญาตให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 8.30 น.
 
6 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสอบคำให้การ
 
พลวัฒน์พร้อมพ่อแม่และทนายเดินทางมาถึงมาถึงศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ในเวลาประมาณ 8.30 น. เมื่อมาถึงพลวัฒน์รายงานตัวกับจ่าศาลและนั่งรอจนเจ้าหน้าที่ตามขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี 1 ในเวลาประมาณ 10.20 น.
 
ศาลขึ้นบัลลงก์เริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.35 น. ในวันนี้องค์คณะตุลาการที่ขึ้นบัลลังก์ศาลเป็นตุลาการทหารสวมครุยหนึ่งคนส่วนอีกสองคนสวมเครื่องแบบชุดสูททหารถือกระบี่ หลังเริ่มกระบวนการศาลถามพลวัฒน์ว่าได้รับสำเนาคำฟ้องแล้วใช่หรือยัง พลวัฒน์รับว่าได้รับแล้ว ศาลถามต่อว่าพร้อมจะให้การแล้วใช่หรือยัง พลวัฒน์รับว่าพร้อมแล้ว ศาลอ่านทบทวนคำฟ้องให้พลวัฒน์ฟังอีกหนึ่งรอบแล้วถามว่าจะให้การว่าอย่างไร พลวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 
 
หลังถามคำให้การศาลถามประวัติ ชื่อ อายุ อาชีพ ที่อยู่ ของพลวัฒน์เพื่อบันทึกไว้ อัยการทหารแถลงว่าเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธโจทก์จะนำพยานเข้าสืบ ทนายจำเลยแถลงว่า ฝ่ายจำเลยขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนหนึ่งนัด ศาลและอัยการทหารย้ำว่าในนัดตรวจพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานทั้งหมดมาให้ตรวจเช่นกัน และให้ส่งเข้ามาก่อนวันนัด 7 วัน โดยคู่ความนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560
 
 
9 พฤษภาคม 2560
 
พลวัฒน์พร้อมครอบครัวเดินทางจากบ้านที่จ.ระยองไปถึงศาลทหารชลบุรี ตั้งแต่เช้า ทนายความจำเลยมาถึงเวลาประมาณ 9.45 เมื่อมาถึงศาล ทนายความถูกเรียกให้เข้าไปในห้องธุรการที่อยู่ชั้นล่างของศาล และเจ้าหน้าที่เอาพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มาให้ทนายความตรวจดูในห้องธุรการ โดยฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานขอสืบพยาน 11 ปาก หลังได้ตรวจดูพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์แล้ว ทนายความก็ยื่นบัญชีระบุพยาน โดยฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 4 ปาก ระหว่างนั้นตุลาการทหารที่เดินทางมาพิจารณาคดีในวันนี้นั่งอยู่ในห้องธุรการนั้นด้วย
 
เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลก็เรียกให้จำเลยและทนายความขึ้นห้องพิจารณาคดีบริเวณชั้น 2 โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี ที่ระบุว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ตรวจพยานหลักฐานแล้ว โดยไม่มีพยานปากไหนที่ยอมรับข้อเท็จจริงกันได้ จึงต้องสืบพยานทุกปาก
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก คือ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ วันที่ 4 กันยายน 2560
 
4 กันยายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 จำเลย พ่อของจำเลยซึ่งเป็นนายประกัน และทนายจำเลยมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลเดินมาแจ้งว่า ทางโจทก์กำลังติดต่อพยานอยู่ ยังไม่แน่ว่าจะมาหรือไม่ และเรียกทนายความไปเพื่อถามวันว่างสำหรับนัดต่อไป
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.30 น. อัยการทหารทีีทำหน้าที่เป็นโจทก์ลุกขึ้นแถลงว่า พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ พยานโจทก์ในลำดับที่หนึ่งที่นัดในวันนี้ ได้รับหมายเรียกแล้วแต่ไม่มาศาล ขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปในนัดถัดไป ศาลถามฝ่ายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่งใหม่ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560
 
6 พฤศจิกายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 ครั้งที่สอง จำเลย พ่อของจำเลยซึ่งเป็นนายประกัน และทนายจำเลยมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.00 น. และขึ้นห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.00 น. โดยตุลาการทหารวันนี้เปลี่ยนจากนัดที่แล้ว สองนายใส่ชุดทหารเรือ และหนึ่งนายใส่ชุดทหารบก แต่ทั้งสามนายใส่ชุดครุยแถบสีน้ำตาล ด้านอัยการทหารฝ่ายโจทก์ใส่ชุดทหารบกแต่ใส่ครุยเช่นเดียวกับทนายความพลเรือน
 
อัยการทหาร แถลงว่า โจทก์เพิ่งได้รับแจ้งจากต้นสังกัดของพยาานว่า พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ พยานโจทก์ในลำดับที่หนึ่งที่นัดในวันนี้ ย้ายตำแหน่งไปปฏิบัติราชการที่หน่วยอื่นแล้ว จึงขอเวลาศาลเพิ่มที่จะติดตามที่อยู่ใหม่ของพยาน และส่งหมายนัดสืบพยานให้ภายหลัง แต่ยังติดใจสืบพยานปากนี้อยู่จึงขอให้เลื่อนไปสืบในนัดหน้า
 
ศาลสอบถามฝ่ายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงให้เลื่อนไปสืบพยานปากแรก เป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561
 
6 กุมภาพันธ์ 2561
 
พลวัฒน์ ทนายความ และครอบครัวเดินทางมาศาล ศาลเริ่มพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.00 น. โดยตุลาการทั้งสามคนและอัยการทหารวันนี้ เป็นคนละคนกับที่เคยทำหน้าที่ในคดีนี้มาก่อน พยานวันนี้มาศาล คือ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ ผู้กล่าวหา
 
 พ.ต.ท.มานิตย์ เบิกความว่า เคยรับราชการเป็นฝ่ายสืบสวนอยู่ที่ สภ.เมืองระยอง และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้ ฐานยุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และโปรยใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ
 
พ.ต.ท.มานิตย์ เล่าว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 01.00-02.00 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2558 บริเวณทางเข้าสวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และม้าหินอ่อนหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง เหตุคดีนี้ได้รับทราบเรื่องจากผู้บังคับบัญชา และได้รับใบปลิวจากที่ชุดสืบสวนเก็บมาให้ดู 1 แผ่น โดยทุกแผ่นมีข้อความเหมือนกันหมด พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความมีลักษณะยุยงปลุกปั่นอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบ ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้หาตัวผู้กระทำโดยเร็ว และตั้งคณะทำงานสืบสวน
 
หลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ เส้นทางที่มาและเส้นทางที่ใช้หลบหนี พบภาพชายต้องสงสัย ตัวสูง ผมสั้น ผิวดำแดง ใส่เสื้อแขนสั้นสีขาว กางเกงขาสั้นสีดำ ขี่รถจักรยานยนตร์สะพายกระเป๋าเฉียงมาถึงก็ควักใบปลิวออกจากกระเป๋าโปรยที่จุดแรก และขับไปผ่านกล้องวงจรปิดไปยังจุดที่ 2 และ 3 เป็นเวลาสักพักก็ขับผ่านกลับมา โดยตามจากกล้องวงจรปิดไปได้จนถึงบ้านของผู้ต้องสงสัย เมื่อตามไปที่บ้านก็พบรถจักรยานยนตร์รุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นรุ่นที่มีคนใช้น้อย หลังทราบตัวผู้ต้องสงสัยก็ประสานกับทหารให้เชิญตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 14 และเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
 
พ.ต.ท.มานิตย์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนก็ขอหมายจับจากศาลมณฑลทหารบกที่ 14 และได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558 ให้มารับตัวผู้ต้องหาจากมณฑลทหารบกที่ 14 เพื่อไปแจ้งข้อกล่าวหา ทำบันทึกจับกุม และดำเนินคดี ในชั้นจับกุมพลวัฒน์ไม่ได้ขัดขืน และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
 
ทนายความจำเลย ถามค้านหลายคำถามเกี่ยวกับข้อความในใบปลิว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง เช่น ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการสิ่งใดควรจะพินาศ สิ่งใดควรจะเจริญ ซึ่งพยานพยายามเลี่ยงที่จะไม่ตอบ
 
ด้านอัยการทหารก็คัดค้านว่า เป็นคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งถ้าพยานตอบอาจจะกระทบต่อหน้าที่ราชการของพยานเอง ทนายความจึงขอให้พยานตอบว่า ไม่ขอออกความเห็นในประเด็นที่เห็นว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลก็ได้ แต่จำเป็นต้องถามคำถามเหล่านี้ เพราะเป็นประเด็นที่จำเลยถูกกล่าวหา หากไม่ได้ถามแล้วจำเลยจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้
 
ทนายความยังถามอีกหลายคำถาม เช่น คำว่า "ลุกขึ้นสู้" สามารถต่อสู้โดยสงบได้หรือไม่, สัญลักษณ์สามนิ้วสื่อถึงสิ่งที่ดีงามหรือไม่, การออกมาคัดค้านรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่ ฯลฯ แต่พยานไม่ขอออกความเห็น โดยพยานแจ้งต่อศาลว่า จะต้องรีบกลับไปประชุมช่วงบ่าย จึงขอให้ทนายความรีบถามคำถามให้เสร็จ ทนายความแจ้งว่า มีคำถามอีกมากจึงจะต้องขอเลื่อนไปสืบพยานกันต่อในนัดหน้า แต่พยานแจ้งว่าไม่สะดวกเดินทางมา จึงขอให้สืบพยานให้จบภายในวันนี้เลย
 
พ.ต.ท.มานิตย์ รับว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งมีมาตรา 2 ระบุว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เมื่อทนายความถามว่า ข้อความตามใบปลิวสอดคล้องกับความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ใช่หรือไม่ พยานขอไม่ออกความเห็น ส่วนคำว่า กระด้างกระเดื่อง ตามข้อกล่าวหามาตรา 116 พยานอธิบายว่า หมายถึงกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายของบ้านเมือง
 
เมื่อทนายความถามว่า ข้อความตามใบปลิวในคดีนี้ ที่เขียนว่า "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และอธิบายว่า คณะกรรมการสืบสวนคดีนี้พิจารณาแล้วว่า เป็นความผิด ที่พยานได้ทำไปทั้งหมดก็ปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อรักษากฎหมาย
 
อัยการถามติงว่า ในบริบทของคดีนี้พยานเห็นว่าข้อความตามใบปลิวเป็นความผิดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นความผิดตามที่ได้กล่าวหาไว้แล้ว
 
การสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 13.00 น. หลังสืบพยานเสร็จ อัยการแถลงขอสืบพยานปากต่อไปในนัดหน้า คือ วันที่ 4 เมษายน 2561
 
4 เมษายน 2561
 
สืบพยานโจกท์ปากที่สอง พ.ต.ท.วีระวุฒิ มีไล้
 
พ.ต.ท.วีระวุฒิ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการสืบสวน จังหวัดระยอง ได้ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ให้สืบสวนในคดีที่มีการโปรยใบปลิว ซึ่งผู้ทำการโปรยใบปลิวชื่อ พลวัฒน์ ชื่อเล่นว่า อะตอม แต่จำนามสกุลไม่ได้ เหตุเกิดเวลาประมาณ 01.00 น. มีการโปรยใบปลิวสามจุด คือ จุดที่หนึ่งหน้าหอพระพุทธอังคีรส บริเวณสวนศรีเมือง จุดที่สองหน้าโรงเรียนเทคนิคระยอง และจุดที่สามโรงเรียนระยองวิทยาคม ทั้งสามจุดอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
 
เมื่อเกิดเหตุได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการสืบสวน โดยแบ่งแนวทางการตรวจสอบหาผู้ก่อเหตุเป็นสองแนวทาง หนึ่ง ทางโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า มีใครคิดไปในทิศทางด้านนี้ สองคือการเดินทางของผู้ก่อเหตุ โดยตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด 
 
จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด สามารถจับภาพผู้โปรยใบปลิว เป็นผู้ชายตัดผมสั้น สวมเสื้อยืดสีขาว กางเกงขาสั้นที่ดำ ขี่รถจักรยานยนต์สะพายกระเป๋า ชายคนดังกล่าวโปรยใบปลิวทั้งสามจุด และเดินทางกลับโดยเลี้ยวรถไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อทราบดังนั้น จึงตรวจสอบว่าใครที่มีรูปร่างลักษณะและการใช้รถเหมือนที่เห็นในกล้องวงจรปิด จนพบว่า มีรถลักษณะคล้ายในกล้องวงจรปิดจอดอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง เมื่อตรวจสอบแล้วรู้ว่าใครเป็นเจ้าของรถจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และเมื่อทราบว่าสถานที่ทำงานของจำเลยจึงได้ติดต่อขอพบตัวไปยังที่ทำงาน ซึ่งบุคคลที่เข้าพบจำเลยมีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และทหารหลายหน่วย รวมทั้งพนักงานบริษัทของจำเลย
 
พ.ต.ท.วีระวุฒิ ถามจำเลยว่าได้ทำหรือไม่ จำเลยตอบว่า ทำ ซึ่งเหตุเกิดจากนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาถูกควบคุมตัวและถูกปรับทัศนคติ พอจำเลยรู้ข่าวก็ควบคุมตัวไม่อยู่จึงนำเอกสารใบปลิวไปโปรย ขณะที่สอบถาม จำเลยยังไม่อยู่ในฐานะผู้ต้องหา เป็นเพียงการพูดคุยกันเท่านั้น หลังจากนั้นจึงได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูง และได้นำตัวจำเลยมายังค่ายนวมิทราชินี มณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี เมื่อส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ทหารแล้วพยานก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อ
 
ทนายความจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.วีระวุฒิ เบิกความว่า จบปริญญาตรี มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขณะที่เรียนได้ถูกปลูกฝังให้ศรัทธาในประชาธิปไตยและถูกสอนให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย หากมีการล้มล้างประชาธิปไตย จะดำเนินการตามกฎหมายตามอำนาจที่กระทำได้ พยานยอมรับว่า กลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นกลุ่มที่ดี ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนเผด็จการเป็นกลุ่มที่ดีหรือไม่ ไม่ขอตอบ
 
ทนายความจำเลยถามอีกว่า ขณะเกิดเหตุจับกุมจำเลยเป็นการปกครองระบอบใด พ.ต.ท.วีระวุฒิ ตอบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ปกครองอยู่ แต่ปกครองด้วยระบอบอะไรไม่มีความเห็น โดยส่วนตัวแยกออกว่าอะไรเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย อะไรเป็นการปกครองแบบระบอบเผด็จการ
 
ทั้งนี้ระหว่างที่ทนายถามเกี่ยวกับข้อมูลที่ พ.ต.ท.วีระวุฒิ ไปสืบหาจากโซเซียลมีเดียว่า มีใครมีแนวคิดเหมือนกับข้อความในใบปลิว อัยการทหารได้คัดค้านว่า ทนายถามนอกเหนือจากข้อเท็จจริงในคดีที่พยานเกี่ยวข้อง เนื่องจากในคดีนี้พยานเป็นเพียงผู้จับกุมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตามทนายยืนยันว่าต้องถามเนื่องจากเป็นข้อความที่ปรากฎในเอกสารที่ได้ยื่นมาในพยานปากนี้  
 
ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า กรณีมหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีข้อความบทกวีที่ว่า “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน หอกดาบกระบอกปืน ฤๅทนคลื่นกระแสเรา” ของระวี โดมพระจันทร์ ที่ใช้เพื่อคัดค้านรัฐประหารในปี 2516 ข้อความดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีความเห็น
 
กรณีที่มหาวิทยาลัยบูรพาอีกเช่นกัน มีการใช้ข้อความว่า “ถึงยุคทมิฬมารจะครองเมืองด้วยควันปืน แต่คนย่อมเป็นคน” เป็นบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์  ซึ่งเป็นการคัดค้านรัฐประหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีความเห็น ทนายถามต่อว่าพยานได้ดำเนินคดีกับกรณีเหล่านั้นหรือไม่ พยานตอบว่า สถานที่เกิดเหตุไม่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ ส่วนผู้รับผิดชอบจะดำเนินการอย่างไรไม่ทราบ
 
ส่วนในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่มีข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จะผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่า ข้อความบนใบปลิวในคดีนี้น่าจะมีแนวทางทิศเดียวกับนิสิตนักศึกษาจุฬาและธรรมศาสตร์ ส่วนคดีของจำเลยผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีความเห็น
 
หลังการสืบพยานปากนี้แล้ว ทางอัยการทหารได้แถลงขอตัดพยานโจทก์ไปสองปาก ซึ่งเกี่ยวกับการโปรยใบปลิวของจำเลย เนื่องจากจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้โปรยจริง แต่ไม่ยอมรับข้อหาว่าเป็นความผิด นัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 14 มิถุนายน 2561
 
14 มิถุนายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
พลวัฒน์เดินทางพร้อมกับพ่อของเขาไปที่ศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น.เพื่อฟังการสืบพยานโจทก์ต่อเป็นปากที่สาม ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9:20 น. หลังจากนั้นก็พิจารณาคดีอื่นจนถึงเวลาประมาณ 9:55 น. จึงเริ่มพิจารณาคดีของพลวัฒน์

อัยการทหารแถลงขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ปากที่สามออกไปก่อน เพราะพยานติดราชการจำเป็น ไม่สามารถมาศาลได้ การเลื่อนนัดครั้งนี้ถือเป็นการเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สามที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้านการเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 28 สิงหาคม 2561 โดยกระบวนพิจารณาวันนี้เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 10.20 น.
 
 
28 สิงหาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สาม จำเลยพร้อมทนายจำเลยมาศาล ศาลเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 10.00 น. หลังพิจารณาคดีก่อนหน้าที่จำเลยเป็นทหารแล้วเสร็จ
 
พ.อ.นาวี มาใหญ่ พยานโจทก์ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 45 ปี รับราชการทหารอยู่กองข่าว มณฑลทหารบกที่ 14 เคยไปให้การต่อพนักงานสอบสวน ในคดีความผิดฐานโปรยใบปลิว ขัดต่อความมั่นคงและประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557
 
คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 โดยพ.อ.นาวี กล่าวว่า ได้ทราบเรื่องการโปรยใบปลิวจากการรายงานของมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 จึงแจ้งให้กองร้อยรักษาความสงบที่ 6 ทหารเรือ ให้หาตัวผู้กระทำ ต่อมาได้รับรายงานว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด
 
พ.อ.นาวี เบิกความว่า หลังจากนั้นจึงให้สารวัตรทหารไป “เชิญตัว” มาพบที่มณฑลทหารบกที่ 14 และพ.อ.นาวี เป็นผู้ซักถามจำเลย ซึ่งจำเลยยอมรับว่าได้กระทำความผิดจริง และจึงส่งตัวให้สถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง รับตัวไปดำเนินคดี
 
ทนายความจำเลยถามค้าน พ.อ.นาวี ตอบว่า จบการศึกษาปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก่อนเข้ามาทำหน้าที่เคยปฏิญานตนว่า จะพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการพิทักษ์เช่นนี้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
 
พ.อ.นาวี ไม่ทราบว่า การเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นเป็นการทำรัฐประหารหรือไม่ ไม่ทราบว่าเป็นการทำตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นอะไรที่ผิดกฎหมายก็จะไม่เห็นด้วย ซึ่งพ.อ.นาวี เบิกความว่า ไม่ทราบว่ารัฐประหาร คืออะไร ไม่ทราบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติถือเป็นเผด็จการหรือไม่ หรือเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นอะไร พ.อ.นาวี ทราบว่า ขณะเกิดเหตุมีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 บังคับใช้ แต่ไม่ทราบว่าเขียนไว้ว่าประเทศไทยขณะนั้นปกครองด้วยระบอบอะไร
 
เกี่ยวกับการแสดงออก พ.อ.นาวี เบิกความว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกได้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความมั่นคงของชาติ พ.อ.นาวี บอกว่า ส่วนตัวไม่มีฝ่ายไหน แค่ทำตามกฎหมาย
 
สำหรับข้อความในใบปลิวที่เขียนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พ.อ.นาวี ไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เป็นข้อความที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ และขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ส่วนข้อความบนภาพสามนิ้วที่เขียนว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" นั้น พ.อ.นาวี เห็นว่า เป็นสิ่งที่เห็นด้วย และเป็นสิ่งที่ต้องการได้มา
 
เมื่อทนายความถามว่า ทราบหรือไม่ว่า คดีนี้จำเลยไม่ได้ถูกฟ้องว่าฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 พ.อ.นาวี ตอบว่า ไม่ทราบ
 
พ.อ.นาวี ตอบคำถามค้านของทนายความ ได้ความว่า การเรียกร้องประชาธิปไตย หากทำในความสงบสามารถทำได้ การเรียกร้องให้ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการ มีทั้งทีผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการ ซึ่งข้อความตามใบปลิวที่ถูกฟ้อง มีคำว่า "ลุกขึ้น" แต่ไม่ได้บอกว่าให้ลุกขึ้นเพื่อไปทำอะไร
 
ในการสอบถามจำเลย พ.อ.นาวี อธิบายว่า เป็นกระบวนการซักถาม ไม่ใช่การปรับทัศนคติ ก่อนการซักถามไม่มีการแจ้งสิทธิ ไม่ได้ให้จำเลยมีทนายความ หรือผู้ที่ไว้วางใจร่วมรับฟังการซักถามด้วย ซึ่งจำเลยยอมรับว่า ได้กระทำไปจริงแต่ไม่มีเจตนาให้เกิดความรุนแรง โดยจำเลยทำไปคนเดียว ขณะที่เกิดเหตุนั้นจำเลยประกอบอาชีพสุจริต
 
หลังจากทนายความถามเสร็จแล้ว อัยการทหารลุกขึ้นถามติงว่า ขณะเกิดเหตุแม้พยานจะไม่ทราบว่าปกครองด้วยระบอบอะไรแต่ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้ปกครอง พ.อ.นาวี ตอบว่า ขณะเกิดเหตุคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ปกครอง จึงมีอำนาจออกกฎหมาย และรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.อ.นาวีจึงต้องทำตามกฎหมาย หากจำเลยมีความเห็นต่างแต่ไม่เคลื่อนไหวก็ไม่ต้องเรียกมาซักถาม
 
สำหรับข้อความในใบปลิวที่นำมาฟ้อง พ.อ.นาวี อธิบายว่า ถ้าหากปล่อยไว้ก็จะเกิดความไม่มั่นคงต่อชาติ เพราะเป็นการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ปลุกระดมขึ้นมา
 
การสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 11.10 น. โดยอัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าพร้อมนำพยานปากต่อไปเข้าสืบในนัดหน้า จึงกำหนดวันนัดที่ว่างตรงกันได้เป็นวันที่ 30 ตุลาคม 2561
 
30 ตุลาคม 2561
 
จำเลยและทนายจำเลยเดินทางมาศาลตามนัด แต่อัยการทหารแจ้งว่า พยานตำรวจซึ่งจะต้องนำเข้าสืบในนัดนี้ติดต่อส่งหมายไม่ได้ เนื่องจากย้ายไปปฏิบัติราชการที่อื่น จึงขอเลื่อนไปสืบพยานนัดหน้า ตกลงกำหนดวันนัดกันได้เป็นวันที่ 17 ธันวาคม 2561
 
17 ธันวาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ ตำรวจผู้จับกุม
 
เวลา 09.00 น. คู่ความทั้งสองฝ่ายพร้อมกันที่ศาล ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ เริ่มสืบพยาน ในเวลาประมาณ 10.00 น.
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ พยานโจทก์ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 49 ปี  รับราชการในตำแหน่งสารวัตรฝ่ายป้องกันและปราบปราม สภ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี  ก่อนหน้านี้เคยรับราชการในตำแหน่ง สารวัตรฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองระยอง จ.ระยอง ในช่วงเวลาเกิดเหตุ และเป็นผู้จับกุมจำเลย อัยการทหารขออนุญาตศาลชี้ตัวจำเลย พยานชี้ พลวัฒน์ 
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เล่าว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ  01.40 – 01.47 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2558 จากรายงานของฝ่ายสืบสวน ปรากฏชายไม่ทราบชื่อ กระทำการโปรยใบปลิวอันมีเนื้อหายุยงปลุกปั่น และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างตำบลท่าประดู่และตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยตำรวจสันติบาล เป็นผู้แจ้งและนำส่งหลักฐาน เป็นใบปลิวสามแผ่น พ.ต.ท.วิรัตน์เบิกความต่อว่า ได้ทราบเรื่องและได้เห็นเอกสารชุดนี้ในวันที่ 22 มีนาคม 2558 จากการประชุมชุดสืบสวนที่สนธิกำลังกันระหว่าง กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2  กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และ สภ.เมืองระยอง ซึ่งถูกแต่งตั้งมาปฏิบัติงานในคดีดังกล่าว
 
ในฐานะหนึ่งในชุดสืบสวนได้นำกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบหลักฐานเนื่องจากถูกชุดตำรวจสันติบาลเก็บไปส่งไปยังร้อยเวรสืบสวนตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว อย่างไรก็ตามกล้องวงจรปิดในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถบันทึกภาพคนร้ายขณะก่อเหตุเอาไว้ได้ จึงได้ตรวจสอบทั้งในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ พบผู้ต้องสงสัย มีตำหนิรูปพรรณ เป็นชายสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้น ใช้รถจักรยานยนตร์เป็นพาหนะ ทยอยโปรยใบปลิวสามจุด คือ หน้าหอพระพุทธอังคีรส หน้าโรงเรียนเทคนิคระยอง และหน้าโรงเรียนระยองพิทยาคม จากปากคำของผู้เชี่ยวชาญด้านรถจักรยานยนตร์ระบุว่า รถคันดังกล่าวเป็นรถจักรยานยนตร์สำหรับผู้หญิง ยี่ห้อ ฮอนด้า รุ่น X1 สีน้ำเงิน จากนั้นชุดสืบสวนได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางโดยรอบ เห็นว่า ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปจนสิ้นสุดที่หมู่บ้านราชพฤกษ์ ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง จากนั้นก็ไม่มีภาพจากล้องวงจรปิดบันทึกไว้ต่อ
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นชุดสืบสวนตรวจสอบข้อมูลการถือครองรถและเอกสารการเสียภาษีของกรมการขนส่งทางบก และการค้นหาภายในเขตหมู่บ้านราชพฤกษ์ พบรถทะเบียน ข น 782 ระยอง ลักษณะคล้ายพาหนะที่ใช้ก่อเหตุ ซึ่งจดทะเบียนในชื่อของนายณัฐวุฒิ และพบว่า พลวัฒน์ บุตรชายของณัฐวุฒิ มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกับภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด จึงทำการสืบสวนเชิงลึก ดูบัญชีเฟซบุ๊กของพลวัฒน์ พบว่า เป็นผู้มีแนวคิดทางการเมือง น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุ ในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ชุดสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดระยองได้นำกำลังไปเชิญตัวนายพลวัฒน์มาจากที่ทำงาน โดยได้รับการประสานจาก ฝ่ายทหาร คือ พ.อ.นาวี ให้นำตัวจำเลยมาที่มณฑลทหารบกที่ 14 เพื่อสอบสวนปากคำเพิ่มเติม
 
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558 พ.ต.ท.วิรัตน์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปรับตัวจำเลยมาตามหมายจับ จึงได้ไปพบจำเลยที่มณฑลทหารบกที่ 14 และแสดงหมายจับที่ถูกอนุมัติโดยศาลทหาร มทบ.14 เบื้องต้นจำเลยรับสารภาพว่า เป็นผู้กระทำจริง จึงนำตัวมาดำเนินคดีต่อไป
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เบิกความตอบคำถามอัยการด้วยว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการเข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37และ 38 / 2557 ถือเป็นคดีความมั่นคง พ.ต.ท.วิรัตน์เห็นว่า ข้อความตามใบปลิวนั้นหากเป็นการแสดงความคิดเห็นในเวลาปกติก็สามารถกระทำได้ แต่ช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นเวลาที่ไม่ปกติเพราะมีการยึดอำนาจและมีการประกาศใช้คำสั่งของ คสช. เพื่อความมั่นคง
 
ทนายความฝ่ายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.วิรัติ ตอบคำถามว่า จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์และปริญญาโท รัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรับราชการตำรวจมาตั้งแต่ ปี 2532  ตามหลักเกณฑ์การเข้ารับราชการ ผู้เข้ารับราชการจะต้องมีความศรัทธาเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทนายความจำเลยถามต่อว่า มูลเหตุของคดี สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คนกลุ่มหนึ่งในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้กำลังอาวุธ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ล้มล้างรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวเข้าองค์ประกอบของการเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ไม่ขอก้าวล่วง” ทนายความถามว่า คณะบุคคลดังกล่าวประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี2557 เพื่อนิรโทษกรรมให้การกระทำของพวกตนไม่มีความผิดใช่หรือไม่ พยาน ไม่ตอบ ศาลถามแทนว่า พยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่า “ไม่ทราบรายละเอียด”
 
ทนายความถามว่า ในฐานะผู้สำเร็จปริญญาทางนิติศาสตร์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ได้รับรองสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในขณะเกิดคดีนี้ด้วย ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ทราบว่า การรับรองสิทธิแสดงความคิดเห็นของประชาชน มีจริง แต่สิทธินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย ทนายความจึงถามต่อว่า ในระหว่างเกิดคดีนี้ มีคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการห้ามบุคคลชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป แต่ไม่ได้มีคำสั่งห้ามบุคคลแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ขณะเกิดเหตุ มีคำสั่ง คสช. ออกมาหลายฉบับ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด หากแต่ถือหลักว่าการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการขัดต่อความสงบถือว่าขัดต่อคำสั่ง คสช.
 
ทนายความถามถึงข้อความในใบปลิวว่า ตามข้อความที่เขียนว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาธิปไตยที่กล่าวถึงคือระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนใช่หรือไม่  พยานตอบว่า ใช่ แต่หลักฐานที่ปรากฏ ยังมีข้อความอื่นประกอบอีกด้วย ทนายความถามพยานต่อว่า รูปธรรมของประชาธิปไตย ผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจปกครอง และองค์กรที่สามารถออกกฎหมายเพื่อใช้บังคับ จะต้องได้รับการคัดเลือกจากประชาชนใช่หรือไม่  พยานตอบว่า “ใช่”
 
ทนายความจึงถามระบุว่า ในปลิวดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลว่า ผู้ใดคือเผด็จการผู้ใดคือประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานรับว่า ในเอกสารไม่ได้ระบุตัวบุคคลจริง ทนายความถามถึง พฤติการณ์การยึดอำนาจรัฐ ของ คสช. ว่า มีทั้งประชาชนฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่มเห็นด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “แน่นอนว่ามีทั้งสองฝ่าย”
 
ทนายความถามว่า ขณะเกิดคดีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถามต่อว่า ใบปลิวฉบับนี้ชัดเจนหรือไม่ว่า เป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย พยานตอบว่า ในใบปลิวมีข้อความที่ว่า ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ชี้ชัดว่า ผู้จัดทำไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ และต่อต้านรัฐบาล ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงความเห็นทั่วไป แต่ในภาวะพิเศษ ข้อความเหล่านี้เป็นการจูงใจให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้
 
ทนายความถามคำถามสุดท้ายว่า ใบปลิวฉบับดังกล่าวได้มีการนัดหมายให้บุคคลใดไปทำอะไร ที่ไหน ในวันเวลาใด หรือไม่ พยานตอบว่า เท่าที่ปรากฏตามใบปลิว ไม่ได้มีการนัดหมายจริง
 
ด้านอัยการทหารถามติงว่า ตามเอกสารที่ปรากฏไม่ได้มีการนัดหมายดังกล่าว การกระทำนี้คลอบคลุมถึงข้อกล่าวหาที่พยานกล่าวถึงหรือไม่ พ.ต.ท.วิรัตน์ตอบว่า ในสถานการณ์ช่วงเวลเกิดเหตุ เมื่ออ่านข้อความแล้วพบว่า เป็นการบยั่วยุ ปลุกปั่น และอาจทำให้เกิดเหตุไม่สงบได้ ประกอบกับเป็นการขัดคำสั่ง คสช. ดังที่กล่าวไปแล้ว ถือว่า เข้าข่ายความผิดตามข้อกล่าวหาทุกประการ
 
การสืบพยานเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 11.55 น. โดยอัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าพร้อมนำพยานปากต่อไปเข้าสืบในนัดหน้า กำหนดวันนัดได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562
 
 
17 พฤษภาคม 2562
 
จำเลย และทนายความ เดินทางมาถึงศาลทหาร ที่ตั้งอยู่ในค่ายนวมินทราชินี มณฑลทหารบกที่ 14 บรรยากาศวันนี้แตกต่างไปเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงฝึกพลทหารใหม่ จึงมีทหารมาฝึกซ้อมอยู่ใกล้อาคารศาล และมีป้ายติดว่า "กำลังฝึกทหาร" ทำให้ต้องอ้อมไปทางอื่นเพื่อมายังตัวอาคารศาล
 
เวลาประมาณ 9.10 เจ้าหน้าที่แจ้งว่า พยานที่นัดไว้ไม่มาศาล และเมื่อเวลาประมาณ 9.50 ทุกคนเข้าห้องพิจารณาคดี คณะตุลาการซึ่งไม่ใช่คณะที่เคยทำหน้าที่ในคดีนี้ขึ้นบัลลังก์ อัยการทหารลุกขึ้นแถลงว่า พยานที่นัดไว้วันนี้ติดราชการจำเป็นและเร่งด่วน ไม่อาจมาศาลได้ จึงขอเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ใหม่ในนัดหน้า ฝ่ายทนายจำเลยไม่คัดค้าน จึงนัดวันสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 23 กรกฎาคม 2562

 

23 กรกฎาคม 2562

จำเลย ทนายความ และพ่อของจำเลยเดินทางมาศาล ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.45 น. และแจ้งกับทนายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเพียงสั้นๆ ว่า มีคำสั่งหัวหน้า คสช.​ ให้ยกเลิกอำนาจของศาลทหารแล้ว และถามว่า ทนายทราบเรื่องนี้แล้วใช่หรือไม่ ทนายความของจำเลยพยักหน้ารับ

ศาลจึงอ่านรายงานกระบวนพิจารณาทันที มีใจความว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้วันนี้ไม่มาศาล ศาลได้แจ้งคู้ความให้ทราบว่า มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งของ คสช. โอนไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ ให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และเพื่อให้การโอนคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้สัญญาประกันและหมายขังจำเลยระหว่างการพิจารณามีผลต่อไปก่อนส่งสำนวนให้จ่าศาลถ่ายสำเนาสำนวนทั้งหมดเก็บไว้ที่ศาลนี้

 

11 พฤศจิกายน 2562

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังรับโอนคดีมาจากศาลทหาร ศาลจังหวัดระยองได้นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่อจากศาลทหาร ฝ่ายโจทก์แถลงว่ายังเหลือพยานจะนำสืบทั้งหมด 4 ปาก ในขณะที่ทางฝ่ายทนายจำเลยระบุว่า ต้องการจะสืบพยานจำเลยทั้งหมด 2 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำนวน 2 นัด  ในวันที่ 23 และ 24 มกราคม 2563  โดยให้ตัวจำเลยทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่า หลักประกันที่ทางจำเลยวางไว้เมื่อครั้งถูกดำเนินคดีในศาลทหารนั้นเพียงพอหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้ในศาลทหาร จำเลยต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวทั้งหมด 70,000 บาท และศาลจังหวัดระยองได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงินประกันเดิมในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 12.0px Thonburi} p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 12.0px ‘Helvetica Neue’; min-height: 14.0px} span.s1 {font: 12.0px ‘Helvetica Neue’}

 

23 มกราคม 2563
 
ศาลจังหวัดระยองนัดสืบพยานโจทก์ต่อ หลังจากที่คดีนี้ถูกโอนมาจากศาลทหารชลบุรี จำเลย นายประกัน และทนายความมาถึงในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยวันนี้เป็นนัดหมายการสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีกทั้งสี่ปาก เป็นนายตำรวจทั้งหมด เป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนหนึ่งคน และคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้สามคนซึ่งเดินทางมาถึงศาลตามนัดหมายก่อนแล้ว 
 
เมื่อพนักงานอัยการมาถึงก็ได้แจ้งกับจำเลยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติหมดแล้ว เท่าที่อ่านสำนวนที่รับโอนมาจากศาลทหารก็เห็นว่า จำเลยยอมรับว่า เป็นคนโปรยใบปลิวจริงจึงไม่มีประเด็นต้องนำสืบมากนัก อยากให้ยอมรับข้อเท็จจริงแล้วไม่ต้องสืบพยานตำรวจที่เหลือทุกคน เพราะพยานจะเบิกความในประเด็นที่คล้ายกันซ้ำไปซ้ำมา 
 
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ อัยการก็แถลงว่า มีพยานที่นัดไว้ในวันนี้สี่ปากแต่อยากให้ฝ่ายจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงจะได้ตัดพยานบางปากออกได้ ทางฝ่ายทนายความจำเลยถามว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานที่จะให้ยอมรับนั้นเป็นอย่างไร ถ้าหากว่า พนักงานสอบสวนทำงานร่วมกันเป็นคณะ และร่วมกันสั่งฟ้องทุกคนก็จะต้องขอให้สืบพยานทุกปากแต่ถ้าไม่ได้มีความเห็นสั่งฟ้องทุกคนก็จะยอมรับ อัยการบอกว่า พนักงานสอบสวนก็ต้องมีความเห็นทุกคน ศาลจึงให้เอาพยานมาเบิกความ
 
อัยการเริ่มต้นด้วยการสืบพยานปาก พ.ต.ท.อดิศร จันทร์สุวิทย์ ตำรวจสังกัดกองบังคับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ซึ่งทนายความบอกว่า เคยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงของพยานปากนี้ไปแล้ว ตั้งแต่ที่ศาลทหาร แต่อัยการหาเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่เจอ จึงต้องนำพยานเข้าเบิกความ
 
พ.ต.ท.อดิศร จันทร์สุวิทย์ ตำรวจสังกัดกองบังคับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดระยอง
 
พ.ต.ท.อดิศร เบิกความเล่าถึงพฤติการณ์ที่เป็นเหตุของคดีนี้ และเบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและศาลก็บันทึกปากคำตาม เมื่อใช้เวลาเบิกความไปประมาณ 15 นาที ศาลก็ทักขึ้นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยยอมรับแล้วว่า เป็นคนโปรยใบปลิวจริง จึงไม่จำเป็นต้องเบิกความในรายละเอียดมากนัก ทนายความยังยืนว่า พยานปากนี้ฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงไว้แล้ว อยู่ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลทหาร อัยการจึงใช้เวลาอีกประมาณ 10 นาทีในการค้นหารายงานกระบวนการพิจารณาคดีฉบับดังกล่าว แต่หาไม่พบ ศาลก็พยายามค้นหาในสำนวนของศาล และแจ้งว่า ไม่พบ ทนายความจำเลยจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะขอแถลงรับข้อเท็จจริงในชั้นศาลนี้เลย จะได้ไม่ต้องสืบพยานปากนี้ต่อ
 
อัยการจึงนำบันทึกคำให้การของพ.ต.ท.อดิศร ในชั้นสอบสวนส่งให้ทนายความอ่าน ทนายความอ่านแล้วแจ้งต่อศาลว่า ยอมรับข้อเท็จจริงของพยานปากนี้ทั้งหมดได้ ศาลจึงให้ยกเลิกการสืบพยานปากนี้
 
หลังจากนั้นอัยการแถลงว่า พยานอีกสามปากเป็นพนักงานสอบสวนเหมือนกันหมด ฝ่ายจำเลยจะยอมรับข้อเท็จจริงของพยานบางปากได้หรือไม่ ทนายจำเลยกล่าวว่า ยังติดใจประเด็นเรื่องการสอบสวนในค่ายทหาร ขอให้สืบพยานพนักงานสอบสวนปากแรกก่อน ถ้าหากเห็นแล้วว่าไม่มีปัญหา พยานอีกสองปากก็จะยอมรับข้อเท็จจริงได้ อัยการจึงนำพยานพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พ.ต.ท.ยุทธชัย โพธิ์รุ่ง หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย โพธิ์รุ่ง เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 58 ปี รับราชการอยู่ในสถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง เป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ พ.ต.ท.ยุทธชัยทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวรอยู่ในวันที่ 22 มีนาคม 2558 ได้รับแจ้งกรณีที่มีคนนำใบปลิวลักษณะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับเรื่องการเมืองไปโปรยที่หน้าโรงเรียนอนุบาลระยองสวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง จึงแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ และผู้บังคับบัญชาสั่งให้ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ และสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย เบิกความว่า ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะพนักงานสอบสวน จึงสอบสวน พ.ต.ท.มานิตย์ ในฐานะผู้กล่าวหา ขณะนั้นยังไม่ทราบตัวผู้กระทำ และต่อมาคณะสืบสวนนำโดย พ.ต.ท.อดิศร ได้สืบสวนจากกล้องวงจรปิด และจับกุมตัวจำเลยในคดีนี้มาส่งมอบให้พร้อมของกลาง ในการเบิกความ พ.ต.ท.ยุทธชัย จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ โดยจำวันที่ที่รับมอบตัวจำเลยไม่ได้ จำบัญชีของกลางไม่ได้ ต้องขอดูเอกสารจากทางอัยการ ทางอัยการซึ่งไม่ได้เป็นผู้ทำสำนวนส่งฟ้องคดีนี้เองก็ใช้เวลานานในการหาเอกสารที่เกี่ยวข้องแต่ละฉบับ โดยอัยการแจ้งว่า สำนวนที่อัยการได้รับมาจากศาลทหารไม่ได้เรียงเอกสารเหมือนกับที่อยู่ในสำนวนของศาล
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย เบิกความว่า ได้สอบปากคำจำเลย และแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลย ซึ่งจำข้อกล่าวหาไม่ได้ และอัยการก็ใช้เวลานานในการหาบันทึกการสอบปากคำมาให้พยานดู เมื่อดูแล้ว พ.ต.ท.ยุทธชัย จึงเบิกความว่า แจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องอันจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีข้อหาโฆษณาด้วยการปิดหรือทิ้งใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย เบิกความว่า จำเลยรับสารภาพว่า เป็นคนทำใบปลิวและเอาใบปลิวไปปิดจริง ในส่วนของข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ จึงเปรียบเทียบปรับไปแล้ว ในส่วนข้อหาอื่นจำเลยให้การภาคเสธ คือ ยอมรับว่า เป็นผู้กระทำแต่ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความไม่สงบ ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนสรุปความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องคดีนี้
 
ตอบคำถามทนายความถามค้าน
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย เบิกความว่า จำเลยยอมรับว่า ส่งภาพใบปลิวไปทางกล่องข้อความเฟซบุ๊กเพจศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นคนโพสต์ภาพดังกล่าวเอง พ.ต.ท.ยุทธชัย ไม่เคยสอบสวนผู้ดูแลเพจศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ว่าใครเป็นคนโพสต์ภาพดังกล่าว 
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย ไม่ทราบว่า การโปรยใบปลิวเป็นข่าวไปตามสำนักข่าวอื่นๆ หรือไม่ และไม่ทราบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำชับให้หาตัวผู้โปรยใบปลิวให้ได้ ไม่ทราบว่า ตำรวจที่จับกุมจำเลยจะจับตัวจำเลยจากที่ใด พ.ต.ท.ยุทธชัยรับว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้มอบบันทึกถ้อยคำที่จำเลยให้การในชั้นทหารที่มณฑลทหารบกที่ 14 มาด้วย ซึ่งถ้อยคำที่จำเลยให้ไว้เป็นไปตามเอกสารบันทึกการซักถามที่เป็นหลักฐานในคดีนี้ 
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย ไม่ทราบว่า ข้อความในใบปลิวคดีนี้จะเคยถูกใช้รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยมาก่อน ทราบเพียงว่า มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องปรากฏอยู่ในรายงานการสืบสวน 
 
เมื่อทนายความถามว่า คสช. เข้ามาบริหารประเทศตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือไม่ พ.ต.ท.ยุทธชัย ไม่ขอตอบ แต่เมื่อทนายความถามใหม่ว่า คสช. เข้ามาโดยการรัฐประหารใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ยุทธชัย ตอบว่า ใช่
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย ตอบคำถามว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งมีมาตราสี่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ต.ท.ยุทธชัย จำไม่ได้ว่า ในการสอบสวนได้ถามถึงทัศนคติทางการเมืองหรือไม่ พ.ต.ท.ยุทธชัย ทราบว่า จำเลยประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทอยู่ที่จังหวัดระยอง และการกระทำในคดีนี้ทำเพียงคนเดียว
 
ตอบคำถามอัยการถามติง
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย เบิกความว่า ในชั้นสอบสวน จำเลยยอมรับว่า ข้อความในใบปลิวบางส่วนได้คิดขึ้นมาเอง และการสอบสวนตามปกตินั้นจะถามเฉพาะแค่ข้อเท็จจริงไม่ได้ถามทัศนคติทางการเมืองด้วย
 
หลังจบการสืบพยานปากนี้ ทนายความกล่าวว่า พยานที่เหลืออีกสองปากที่เป็นพนักงานสอบสวนทางฝ่ายจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงได้ จึงไม่ต้องสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีก ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 11.00 น. ศาลแจ้งว่า ให้นำพยานจำเลยมาเบิกความต่อในช่วงบ่ายเลย คดีนี้จะได้เสร็จไป แต่ทนายความขอให้ตัวจำเลยขึ้นเบิกความในวันพรุ่งนี้ตามที่ได้นัดหมายไว้เดิม เนื่องจากต้องขอเวลาเตรียมการก่อน แต่ศาลเห็นว่า มีเวลาเหลือจึงขอให้มาช่วงบ่าย ตัวจำเลยบอกต่อศาลว่า วันนี้ร่างกายไม่พร้อม เพราะไม่ได้นอนมา 12 ชั่วโมงเนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมาต้องทำงานกะกลางคืนศาลจึงตกลงให้สืบพยานจำเลยต่อในวันถัดไปตามที่ได้นัดไว้เดิม ซึ่งทนายจำเลยแถลงว่า มีพยานที่ระบุไว้จำนวนสองปาก
 
 
24 มกราคม 2563
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
ตั้งแต่ช่วงเช้าจำเลยและทนายความมาพร้อมกันที่ศาลต่อมาในเวลาประมาณ 9.40 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ และก็ให้นำพยานเข้าสืบทันที
 
พยานจำเลยปากที่หนึ่ง พลวัฒน์ ตัวจำเลยเบิกความเอง
 
พลวัฒน์ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 27 ปี อาชีพรับจ้างเป็นพนักงานบริษัท จบการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาปิโตรเคมี พลวัฒน์รับว่า ได้ทำใบปลิวและโปรยใบปลิวตามที่ถูกฟ้องร้องจริง สาเหตุที่ทำเพราะในช่วงเวลานั้นมีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมือง การปกครองมาจากการยึดอำนาจ ไม่ใช่การปกครองในวิถีของระบอบประชาธิปไตย
 
พลวัฒน์ เล่าด้วยว่า ในช่วงปี 2558 มีกลุ่มนิสิตนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย บางคนก็เป็นเพื่อนที่รู้จักกันบางคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง 
 
พลวัฒน์ เล่าว่า ข้อความตามใบปลิวนั้นเอามาจากอินเทอร์เน็ต โดยค้นหาจากเว็บไซต์กูเกิ้ล คำว่า "เผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ" เป็นคำพูดของครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งประกาศไว้ก่อนถูกประหารชีวิตในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ และถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านระบบเผด็จการ
 
พลวัฒน์ เบิกความว่า เจตนาที่โปรยใบปลิวไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง [ศาลบันทึกว่า ไม่ต้องการให้เกิดความไม่สงบหรือกระด้างกระเดื่อง] แต่ต้องการแสดงออกต่อประชาชนว่า ขณะนั้นเราถูกละเมิดสิทธิตามประชาธิปไตย
 
สำหรับประเด็นที่ถูกฟ้องว่า โพสต์ข้อความและภาพบนเพจเฟซบุ๊กของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) พลวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นคนโพสต์ข้อความบนเพจเฟซุบ๊กนี้ ไม่เคยทราบถึงโพสต์นี้มาก่อนได้เห็นครั้งแรกหลังถูกจับกุมตัวแล้ว ในเพจนี้จะมีเนื้อหาเช่นนี้จริงหรือไม่ก็ไม่เคยทราบ ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจนี้ และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ดูแลเพจนี้
 
พลวัฒน์ เล่าว่า ในตอนที่เขาถูกควบคุมตัว ถูกควบคุมตัวจากที่ทำงานขณะกำลังทำงานอยู่ หลังจากโปรยใบปลิวไปแล้วเจ็ดวัน โดยตำรวจชุดสืบสวนเป็นคนไปจับ และก็ถูกนำตัวไปที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี ไปส่งให้ทหาร โดยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายทหารหนึ่งคืน ระหว่างนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับผู้ใด ระหว่างที่อยู่ในค่ายทหารมีการสอบสวนโดยทหารหลายคนและมีการจดบันทึกโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังด้วย 
 
พลวัฒน์ เล่าต่อว่า หลังจากโดนซักถามในค่ายทหารแล้ว ทหารบอกว่า จะปล่อยตัวกลับบ้าน แต่ถูกตำรวจนำหมายจับมาเอาตัวไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และถูกควบคุมตัวต่อในห้องขังที่สถานีตำรวจ จากนั้นจึงได้ยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 75,000 บาท 
 
เมื่อทนายความถามว่า มีอะไรอยากบอกกับศาลอีกบ้าง พลวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้ทำไปเขามองว่า ไม่ใช่ความผิด ทำไปภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสงบได้ แต่หลังจากทำไปแล้วกลับได้รับความเดือดร้อนมาจนถึงวันนี้
 
อัยการถามค้าน
 
อัยการเปิดภาพถ่ายใบปลิวที่ปรากฏบนเพจเฟซบุ๊ก ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย(ศนปท.) ให้ดูแล้วถามว่า ใครเป็นคนถ่ายภาพนี้ พลวัฒน์ตอบว่า เป็นคนถ่ายเอง และส่งให้ไปทางกล่องข้อความของเพจเฟซบุ๊กนี้ อัยการถามย้ำว่า การส่งทางกล่องข้อความหมายถึงการส่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ใช่หรือไม่ พลวัฒน์ตอบว่า ใช่
 
ทนายความถามติง
 
ทนายความถามว่า การส่งให้เพจเฟซบุ๊กศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ส่งเฉพาะภาพใช่หรือไม่ พลวัฒน์ตอบว่า ใช่ ส่วนข้อความที่โพสต์ไม่ได้ส่ง และไม่เกี่ยวข้องด้วย สาเหตุที่ส่งไปเพื่อแจ้งให้าราบว่า ที่ระยองก็มีการต่อต้านระบอบเผด็จการ การส่งภาพไปทางกล่องข้อความประชาชนทั่วไปไม่ได้รับรู้ด้วย จะรับรู้เฉพาะคนส่งกับผู้ดูแลเพจเท่านั้น
 
หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ทนายความจำเลยแถลงว่า ไม่ติดใจสืบพยานปากอื่นอีก จึงเสร็จสิ้นการสืบพยานคดีนี้ในวันนี้
 
ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า จะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 น. สาเหตุที่นัดนานเกิน 30 วันเพราะคดีนี้ต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคสองตรวจสำนวนก่อน ซึ่งได้จองวันที่จะให้ตรวจสำนวนไว้แล้ว
 
26 มีนาคม 2563
 
นัดอ่านคำพิพากษา
 
ศาลจังหวัดระยองนัดฟังคำพิพากษา แม้ว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจะออกคำสั่งให้เลื่อนนัดพิจารณาคดี เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 แต่คดีนี้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีต่อไปตามที่นัดไว้เดิม จำเลย ทนายความ และพ่อของจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา
 
สำหรับบรรยากาศที่ศาล เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองบุคคลที่มาติดต่อราชการอย่างเข้มงวดพร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ฉีดละอองน้ำฆ่าเชื้อที่ประตูทางเข้าอาคาร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ แจ้งว่า จะให้ผู้มาสังเกตการณ์รอนอกห้องเพื่อป้องกันปัญหาไวรัส แต่ศาลอนุญาตให้อยู่ฟังคำพิพากษาได้
 
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็แจ้งว่า ห้ามอัดเสียง และเริ่มอ่านคำพิพากษาจากส่วนสรุปข้อเท็จจริงในคดี ศาลเห็นว่า การโปรยใบปลิวทั้งสี่จุด เป็นการโปรยในที่สาธารณะจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ข้อความในใบปลิวแสดงให้เห็นเจตนาเพื่อยุยงปลุกปั่นให้ลุกขึ้นสู้ ให้ต่อต้าน คสช. ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์
 
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแล หรือรู้รหัสผ่าน หรือเกี่ยวข้องกับเพจ ศนปท. อันจะทำให้จำเลยสามารถนำภาพไปโพสต์และพิมพ์ข้อความใต้ภาพได้ 
 
ความผิดตามฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116(2) ให้จำคุกหกเดือน คำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
 
หลังศาลมีคำพิพากษาพลวัฒน์ยื่นเงินสด 100,000 บาทประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอนุญาตและพลวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
 
 

คำพิพากษา

 
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563  ศาลจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
 
โดยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ 
 
โจทก์มีพ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ ผู้กล่าวหา เป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบ ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานว่า มีการโปรยใบปลิวและติดประกาศ เจ้าหน้าที่สืบสวนได้เก็บใบปลิวมาให้ดูข้อความในใบปลิว เมื่อพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าเป็นไปในทางปลุกปั่น ถ้าประชาชนได้รับทราบแล้วจะเกิดความกระด้างกระเดื่องและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมและในราชอาณาจักร
 
เมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด สามารถจับภาพผู้โปรยใบปลิวพบเป็นชายตัดผมสั้นขับรถจักรยานยนต์ เส้นทางการเดินทางกลับเข้าไปในหมู่บ้านราชพฤกษ์ พบว่า จำเลยมีลักษณะคล้ายผู้ต้องสงสัยและมีรถจอดอยู่ในบ้าน เมื่อพบจำเลย จำเลยก็ได้ยอมรับว่า ทำ เนื่องจากกลุ่มที่มีแนวความคิดเห็นเดียวกันโดนควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ จำเลยควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จึงนำเอกสารที่จัดทำไปโปรย
 
ด้านพ.ต.ท.วีรวุฒิ มีไล้ คณะทำงานของพนักงานสอบสวน เบิกความว่า เหตุที่สั่งฟ้องจำเลยเนื่องจากช่วงเกิดเหตุมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งการแสดงความคิดเห็นหรือติชมเป็นเรื่องไม่ควรกระทำ แต่หากจะกระทำก็ควรจะทำตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปิดโอกาสให้ทำได้ ขณะนั้นมีการต่อต้าน คสช. เป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศ
 
สำหรับความผิดตามมมาตรา 116 เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยและข้อความในใบปลิว ประกอบกับขณะนั้น คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยเหตุมาจากสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และออกคำสั่งของ คสช. หลายฉบับ คำสั่งที่ออกมาจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของคนหลายกลุ่ม ทำให้เกิดการไม่ปฏิบัติตามประกาศและคำสั่ง คสช. 
 
การเข้าปกครองประเทศของ คสช. ย่อมมีผลทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 มีการจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อ
 
จำเลยเบิกความว่า ขณะนั้นเป็นการปกครองโดยรัฐบาลที่ยึดอำนาจเข้ามา ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็มีนิสิตนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย นิสิตนักศึกษาบางคนเป็นเพื่อนจำเลย และถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยความรุนแรง สอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.วีรวุฒิ เบิกความว่า ขณะนั้นมีการต่อต้าน คสช. เป็นจำนวนมาก อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบอยู่แล้วว่าการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษารวมทั้งเพื่อนของจำเลยมีลักษณะทำนองต่อต้าน คสช. ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จนต้องมีการเชิญไปปรับทัศนคติ 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยความรุนแรงนั้น เป็นการกล่าวอ้างของจำเลยโดยไม่มีหลักฐานใด กอรปกับเจ้าหน้าที่รัฐย่อมต้องดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจ ทั้งขณะนั้น คสช. เข้ามาบริหารประเทศย่อมต้องมีการจัดระเบียบผู้คนในบ้านเมืองที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกแยก ต่อต้านและแข็งข้อ ให้ทุกคนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามกติกาของสังคม และประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557
 
เมื่อพิจารณาถึงการโปรยใบปลิวของจำเลยทั้งสามจุดซึ่งกระทำในที่สาธารณะ จำเลยย่อมประสงค์ทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ตามข้อความในใบปลิวแล้ว เมื่อพิเคราะห์ข้อความในใบปลิวทั้งหมดชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยว่ากระทำไปเพื่อปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ และต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจำเลยกล่าวหาว่า คสช. เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่ชอบ เพื่อให้การปกครองของ คสช. พินาศไป โดยลุกขึ้นต่อต้าน คสช. ที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศในขณะนั้น เพื่อทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้โดยง่าย ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตามมาตรา 116 (2) 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เป็นการแสดงออกตามสิทธิในรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า ถ้าเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ คือ การแสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมาย หรือที่กฎหมายรองรับให้สิทธิที่จะทำได้ ไม่มุ่งร้าย หรือกล่าวเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ข้อความตามใบปลิวนั้นมีลักษณะปลุกปั่น อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความเห็นติชมโดยสุจริต 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ข้อความตามใบปลิวมีการนำมาใช้ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์นั้น เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างของจำเลย และหากจะมีการนำข้อความทำนองในใบปลิวมาใช้ย่อมต้องพิจารณาถึงข้อความของผู้นำมาใช้ คำนึงถึงกาลเทศะ สถานที่ที่ใช้ และเจตนาที่ใช้ อาจเป็นเพียงเพื่อแสดงความคิดเห็นในงานฟุตบอลประเพณีเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์
 
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ต.ท.วรวุฒิ เบิกความว่า มีการนำภาพถ่ายใบปลิวส่งเข้าไปที่เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ส่วนจำเลยเบิกความว่า ภาพที่ปรากฏบนเพจ ศนปท. นั้นจำเลยไม่ได้เป็นคนโพสต์และไม่เคยเห็นโพสต์นี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโพสต์ภาพพร้อมข้อควาบนเพจ ศนปท. โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลหรือรู้รหัสผ่านและเกี่ยวข้องกับเพจ ศนปท. อันจะสามารถนำภาพและพิมพ์ข้อความไปโพสต์ได้
 
แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ได้ส่งภาพที่โปรยและใบปลิวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของเพจ ศนปท. จริง แต่ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้นำภาพไปโพสต์และพิมพ์ข้อความใต้ภาพในเพจของ ศนปท. ตามที่โจทก์ฟ้องมา  พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 
 
สำหรับแผ่นใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์ของกลาง เป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตใบปลิวที่จำเลยได้ใช้เพื่อกระทำความผิด จึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) 
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) จำคุก 6 เดือน คำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน และริบแผ่นใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์ 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา