บัณฑิต: แสดงความเห็นที่งานเสวนาของพรรคนวัตกรรม

อัปเดตล่าสุด: 28/01/2564

ผู้ต้องหา

บัณฑิต

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 พรรคนวัตกรรมจัดงานเสวนาเรื่องการปฏิรูป บัณฑิตไปร่วมการเสวนาและได้ร่วมแสดงความคิดเห็นทำนองว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนที่มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่อยู่ในงานเสวนาเข้าจับกุมบัณฑิตระหว่างที่เขากำลังแสดงความคิดเห็นโดยที่เขายังพูดไม่จบ

หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่นำตัวเขาไปควบคุมที่สน.สุทธิสารซึ่งรับผิดชอบท้องที่เกิด จากนั้นในวันที่ 27 จึงนำกำลังไปตรวจค้นห้องเช่าของเขาร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร

จากนั้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 พนักงานสอบสวนจึงนำตัวบัณฑิตไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้องของพนักงานสอบสวนแต่ก็อนุญาตให้เบัณฑิตประกันตัวในวันเดียวกัน

อัยการทหารฟ้องคดีบัณฑิตต่อศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 จากนั้นศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การบัณฑิตในวันที่ 31 มีนาคม 2558

ศาลทหารสืบพยานคดีนี้จนแล้วเสร็จและนัดบัณฑิตฟังคำพิพากษาในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนัดศาลได้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2562 

ระหว่างนั้นในเดือนกรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชน ในฐานะหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2562 โอนย้ายคดีพลเรือนที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารไปให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาต่อ ศาลทหารจึงสั่งให้โอนคดีของบัณฑิตไปให้ศาลอาญาเป็นผู้อ่านคำพิพากษา

จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2563 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษายกฟ้องบัณฑิตเนื่องจากประโยคที่เป็นปัญหาของคดีเป็นเพียงประโยคที่จำเลยยังกล่าวไม่สมบูรณ์เพราะถุกจับกุมตัวเสียก่อน พฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่พอฟังว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากนั้นในวันที่ 26 มกราคม 2564 ซึ่งจำเลยมีกำหนดเข้าฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 จากกรณีแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญ ทนายของบัณฑิตได้ตรวจสอบสถานะของคดีนี้และทราบว่าอัยการไม่อุทธรณ์คดี คดีจึงเป็นอันยุติ

ทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลด้วยว่าไม่มีข้อมูลว่าศาลทหารกรุงเทพได้ทำคำพิพากษาคดีของบัณฑิตหรือไม่แต่คำพิพากษาฉบับที่ใช้ยกฟ้องบัณฑิตเขียนโดยศาลอาญา

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

บัณฑิต อานียา เป็นนักเขียนและนักแปล
ก่อนถูกดำเนินคดีนี้บัณฑิตเคยถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯมาแล้ว จากการไปแสดงความเห็นในงานเสวนาของกกต. ซึ่งคดีก่อนหน้านี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 4 ปี เนื่องจากจำเลยมีปัญหาอาการทางจิตจึงให้รอลงอาญา

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

26 พฤศจิกายน 2557

บัณฑิตแสดงความเห็นในเวทีระดมความเห็นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งจัดโดยพรรคนวัตกรรม โดยเนื้อหาบางตอนพาดพึงถึงสถาบันกษัตริย์ฯ จึงถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

พฤติการณ์การจับกุม

26 พฤศจิกายน 2557
 
บัณฑิตถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาสังเกตการณ์ในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรมจับกุมขณะกำลังแสดงความคิดเห็น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าสิ่งที่บัณฑิตกล่าวออกมาอาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 
 
หลังถูกจับกุมตัว บัณฑิตถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุในทันที
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

45ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ, ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
26 พฤศจิกายน 2557
 
พรรคนวัตกรรมจัดงานเสวนาระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูป โดยประเด็นที่จะถูกหยิบยกมาพูดคุยมีอยู่หลายประเด็น เช่น ประเด็นที่มาของ ส.ส. บัณฑิตไปในงานดังกล่าวและร่วมแสดงความคิดเห็น
 
การแสดงความเห็นของบัณฑิตเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หลายคนไม่พอใจการแสดงความเห็นของเขาและลุกเดินออกจากงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งร่วมสังเกตการณ์งานเสวนาทำการจับกุมบัณฑิตทันที ก่อนจะส่งตัวเขาไปทำการสอบสวนเพิ่มเติมที่สน.สุทธิสาร
 
ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่สน. เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับบัณฑิต แต่ทนายความไม่ได้รับอนุญาตให้พบบัณฑิตเพราะยังไม่มีการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจนัดให้ทนายมาร่วมสอบปากคำในเวลา 9.30 น. ในวันถัดไป
 
27 พฤศจิกายน 2557
 
เวลาประมาณ 9.30 น. พนักงานสอบสวนสอบปากคำบัณฑิตโดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมฟังด้วย การสอบปากคำใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง บัณฑิตยอมรับว่าพูดข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง
 
ประมาณ 11.30 น. ตำรวจควบคุมตัวบัณฑิตจากสน.สุทธิสารไปที่ห้องเช่าของบัณฑิตซึ่งอยู่ย่านหนองแขม เพื่อทำการตรวจค้นขยายผล 
 
ประมาณ 13.00 น. ตำรวจนำตัวบัณฑิตไปถึงห้องพักแต่ยังไม่เริ่มทำการตรวจค้นเพราะต้องรอให้ทหารมาร่วมตรวจค้นด้วย หลังจากตำรวจมาถึงประมาณ 15 – 20 นาที ทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธประมาณ 12 นาย ก็เดินทางมาถึงและเริ่มทำการตรวจค้น 
 
การตรวจค้นใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทนายของบัณฑิตร่วมติดตามไปสังเกตการณ์การตรวจค้นด้วย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดูกระบวนการตรวจค้น ต้องรออยู่นอกในระยะที่ไกลออกไปพอสมควร 
 
หลังการตรวจค้นบัณฑิตถูกนำตัวกลับไปที่สน.สุทธิสารอีกครั้ง เจ้าหน้าที่นำทรัพย์สินของบัณฑิตซึ่งเป็นหนังสือบรรจุในลังเบียร์สองลังไปตรวจสอบด้วย บัณฑิตถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารอีก 1 คืน 
 
28 พฤศจิกายน 2557
 
ประชาไท รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวบัณฑิตไปที่่ศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง 
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกับวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท โดยมีวาด รวี นักกิจกรรมและนักเขียนเป็นนายประกัน

ในคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า ผู้ร้องมีอายุมากแล้ว ไม่สามารถหลบหนีและพึ่งพาตนเองได้ ประกอบกับคดีมีหนทางต่อสู้คดีได้ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ร้องย่อมไม่หลบหนีและจะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการของศาลต่อไป

 
ผู้ร้องอายุ 74 ปี ชราภาพมากแล้ว  มีโรคประจำตัวหลายโรค แพทย์ได้ตัดกระเพาะปัสสาวะผู้ร้อง โดยผู้ร้องใช้ถุงปัสสาวะแทนตลอดเวลา  ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หากติดเชื้อจะทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ และมีประวัติเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โรคจิตเพศประเภทหวาดระแวง 
 
คดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีพยานหลักฐานที่ซับซ้อน  และพยานหลักฐานก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้ว  ผู้ร้องจึงไม่อาจไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้อีก  การปล่อยตัวผู้ร้องจะไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานอย่างแน่นอน
 
ในเวลา 14.00 น. ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวบัณฑิตชั่วคราว พร้อมตั้งเงื่อนไข ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
 
19 กุมภาพันธ์ 2558
 
ประชาไท รายงานว่า อัยการทหารส่งตัวบัณพิตฟ้องต่อศาลทหาร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
 
คำฟ้องระบุคำพูดของจำเลย  2 ประโยค ประโยคแรกกล่าวถึงความแตกแยกของสังคมไทยและสถานะของสถาบันพระกษัตริย์กับกฎหมาย ประโยคที่สองกล่าวถึงระบอบการปกครองว่าจะเลือกแบบใด
 
จำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้งในชั้นพิจารณาคดี โดยใช้นายประกันและหลักทรัพย์เดิม ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง 
 
ในกระบวนการของศาลทหาร ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องถูกนำไปปล่อยตัวที่เรือนจำ ต่างจากกรณีของศาลอาญา ซึ่งการปล่อยตัวจะทำที่ศาลเลย บัณฑิตได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเวลาประมาณ 21.10 น. 
 
31 มีนาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การบัณฑิตในช่วงเช้า คดีของบัณฑิตศาลไม่ได้สั่งพิจารณาลับ ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้
 
บัณฑิตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 
 
22 มิถุนายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 9.15 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯของ บัณฑิต พยานที่โจทก์จะนำสืบในวันนี้ ได้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ผู้ทำการจับกุมบัณฑิตในวันเกิดเหตุ เนื่องจากพยานทั้ง 2 เป็นพยานคู่ ซึ่งต้องมาที่ศาลในวันเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งติดราชการ ไม่อาจมาศาลได้ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 23 กันยายน 2558
 
ทนายของบัณฑิตกล่าวด้วยว่า ในวันนี้จะต้องเป็นนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่เนื่องจากทนายจำเลยอีกท่านหนึ่งแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจตรวจบัญชีพยาน ศาลจึงให้สืบพยานวันนี้เลย

23 กันยายน 2558 

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลเริ่มพิจารณาคดีเวลา 09.55 น . ก่อนเริ่มพิจารณาคดี  อัยการทหารขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ แต่ทนายค้าน เมื่อศาลพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพราะเห็นว่าข้อความไม่รุนแรงหรือหยาบคาย และมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมรับฟังด้วย. อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานที่จะนำมาเบิกความ

วันนี้เป็นพยานคู่ จำนวน 4 ปาก ซึ่งอัยการทหารมีความประสงค์ขอซักถามพยานให้ครบทั้ง 4 ปากก่อน แล้วจึงให้ทนายความจำเลยถามค้านภายหลัง

โดยในวันนี้ได้นำพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมและผู้กล่าวหาเข้าสืบพยานก่อน 2 ปาก ในนัดหน้าจะนำเจ้าหน้าที่ทหารมาสืบพยานต่อ ทำให้การสืบพยานวันนี้ทนายความจำเลยยังไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์

 
นอกจากนี้ อัยการทหารได้ส่งซีดีบันทึกภาพจำเลยขณะกำลังแสดงความคิดเห็นไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งทนายจำเลยได้ขอให้ศาลเปิดหลักฐานชิ้นนี้ก่อนทนายจำเลยทำการถามค้าน
 
สำหรับคำร้องขอส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาอาการทางจิต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14
 
เนื่องจากจำเลยเคยถูกฟ้องในคดีอาญา มาตรา 112 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้  และศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตเรื้อรัง ความคิดหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนปกติทั่วไป การแสดงพฤติกรรมออกมามักจะเป็นไป ตามอาการผิดปกทางจิต ทางการแพทย์เรียกว่าบีไซด์ (Bizare) นั้น ศาลจะมีคำสั่งวันที่ 9 ต.ค. 58 เวลา 08.30 น.
 
หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทั้งนี้ การพิจารณาคดีจะหยุดลงชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้รับผลการตรวจรักษา
 
9 ตุลาคม 2558
 
นัดฟังคำสั่งศาล
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งเรื่องการส่งตัวบัณฑิตไปเข้ารับการตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยเข้ารับการตรวจตามคำร้องของทนายจำเลย โดยให้เหตุผลว่า

ทนายจำเลยยื่นเอกสารเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตมายื่นประกอบ จึงมีเหตุอันควรให้ระงับการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ระหว่างรอผลการตรวจ ศาลสั่งด้วยว่าให้ส่งตัวบัณฑิตเข้ารับการตรวจและรายงานผลการตรวจให้ศาลทราบโดยเร็ว

ก่อนหน้าจะถูกดำเนินคดีนี้ บัณฑิตเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน จากการแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาของกกต เมื่อปี 2546 บัณฑิตสู้คดีถึงสามชั้นศาล โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 พิพากษาจำคุกบัณฑิตเป็นเวลา 4 ปี จากการกระทำความผิด 2 กรรม แต่ให้รอการลงอาญาโทษจำคุกมีกำหนด 3 ปี โดยศาลฎีกาเห็นว่าขณะทำความผิด บัณฑิตมีอาการป่วยทางจิต

 
2 กุมภาพันธ์ 2559
 
ศาลทหารกรุงเทพ นัดไต่สวนกรณีส่งบัณฑิตไปตรวจอาการทางจิต แต่แพทย์ผู้จะมาเบิกความติดธุระ จึงเลื่อนเป็น 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 14.00 น.
 
11 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดไต่สวนความเห็นแพทย์
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ช่วงบ่าย บัณฑิต ทนายความ 2 คน และผู้สังเกตการณ์อีก 4 คน มาที่ศาล ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 14.00 น. แพทย์ที่มาเบิกความวันนี้ คือนายแพทย์อภิชาติ นายแพทย์ชำนาญการจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
 
นายแพทย์อภิชาติเบิกความถึงอาการของบัณฑิตสรุปได้ว่า บัณฑิตมีร่องรอยความเจ็บปวด ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีก แต่ก็สามารถตอบโต้คำถามแบบคนทั่วไปได้  
 
ศาลถามนายแพทย์อภิชาติว่า บัณฑิตสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ นายแพทย์อภิชาติตอบว่าสามารถต่อสู้คดีได้ ทนายของบัณฑิตถามอีกว่า ถ้าจะนิยามอาการของบัณฑิตเป็นจิตเภทหรือวิกลจริตได้หรือไม่ นายแพทย์อภิชาติย้ำว่า อาการของบัณฑิตเข้าข่ายเป็นคนวิกลจริต หลังจากนั้นศาลจึงแถลงว่าคดีนี้บัณฑิตสามารถต่อสู้คดีได้ จึงจะพิจารณาคดีต่อ  อัยการทหารและทนายของบัณฑิตนัดวันสืบพยาน ได้วันนัดสืบพยานโจทก์กันอีกครั้งวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เวลา 8.30 น.
 
 
4 พฤษภาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ นายทหารชุดจับกุม 2 นาย เวลา 09.45 น. องค์คณะตุลาการประกอบด้วย พ.อ.นิรันต์ กำศร, พ.อ.อัมรินทร์ บุณยะวิโรจน์, และ พ.อ.โฆษนันทน์ สุทัศน์ ณ อยุธยา เริ่มพิจารณาคดี โดยอัยการศาลทหารเบิกพยานปาก จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ ผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก  สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.2 รอ.) นายทหารชุดจับกุม ขึ้นให้การต่อศาล
 
จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ให้การว่า เขามีหน้าที่ดูแลเหตุสุขาภิบาลภายในหมู่ และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ก่อนเกิดเหตุวันที่ 26 พ.ย. 2557 จ.ส.อ.กายสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วยตามปกติ ก่อนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาร่วมประชุมกับชุดสืบสวนของ สน.สุทธิสาร ร่วมกับ ส.ท.พิชาญ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ร่วมสังเกตการณ์ ส่วน ส.ท.พิชาญได้รับมอบหมายให้บันทึกวิดีโองานเสวนา ที่จัดโดยวรัญชัย โชคชนะ มีลักษณะเป็นงานเสวนาทางการเมือง
 
หลังจากประชุมเสร็จ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น. ผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 15 คนทยอยเข้าห้องประชุมเวลาประมาณ 13.00 น. พยานได้เข้าห้องประชุมตามนักข่าวไป ในวงเสวนาพูดคุยเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนั้น โดยวรัญชัยเป็นผู้กำหนดประเด็น ผู้เข้าร่วมเสวนาทราบประเด็นจากเอกสารที่วางไว้ และที่วรัญชัยแจ้งให้ทราบก่อนเริ่มเสวนา
 
จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ให้การอีกว่า ประมาณ 13.30 น. วรัญชัยเปิดให้ผู้ร่วมเสวนาถามคำถาม พอมาถึง บัณฑิต ได้พูดตามที่บันทึกไว้ในวิดีโอที่ ส.ท.พิชาญ และตำรวจ สน.สุทธิสาร บันทึกไว้ในมีลักษณะพาดพิงถึงระบอบพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เสวนาในวันนั้น และไม่เกี่ยวกับที่บุคคลอื่นได้แสดงความคิดเห็นมาก่อนหน้า
 
พยานให้การต่อไปว่า  หลังจากบัณฑิต พูดถ้อยคำดังกล่าว ผู้เข้าร่วมเสวนาบางคนห้ามไม่ให้พูดต่อ ขณะที่บางคนเดินออกนอกห้องไป จ.ส.อ.กายสิทธิ์จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯหรือไม่ ซึ่งพยานเห็นว่าข้อความยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงนำตัว บัณฑิต ไป สน.สุทธิสาร
 
ต่อมา อัยการได้นำพยานปาก ส.ท.พิชาญ วรรณกี้ หัวหน้าชุดยิง สังกัด ร.1 พัน.2 รอ. นายทหารชุดจับกุมอีกคน ขึ้นเบิกความต่อศาล
 
ส.ท.พิชาญ เบิกความว่า เขามีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขและสวัสดิการของลูกชุด ดูแลเขตรับผิดชอบของตนเองในกรมกอง และรับคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย โดย ส.ท.พิชาญ เป็นประจักษ์พยานในคดีนี้
 
วันที่ 26 พ.ย. 2557 ขณะที่ ส.ท.พิชาญปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายไปประชุมที่ สน.สุทธิสารร่วมกับแผนกสืบสวน สน.สุทธิสาร และ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ โดยมี ผกก.สน.สุทธิสารเป็นประธานการประชุม
 
ส.ท.พิชาญ ให้การว่า เหตุที่ไปยังที่เกิดเหตุ เนื่องจากมีรายงานว่า มีการจัดเสวนาของกลุ่มการเมือง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 13.00 น. ซึ่งที่ประชุม สน.สุทธิสารได้มอบหมายให้ ส.ท.พิชาญเป็นผู้บันทึกเสียงและวิดีโอ ขณะที่ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจการณ์
 
ส.ท.พิชาญเบิกความต่อว่า เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ร่วมเสวนาประมาณ 15 คนทยอยเข้าห้องประชุม จากนั้นจึงมีการยกมือถามคำถามและเสนอความคิดเห็น ซึ่งผู้ร่วมเสวนาจะถามคำถามหรือเสนอความเห็นอย่างไร ส.ท.พิชาญจำไม่ได้ แต่ได้บันทึกไว้ในวิดีโอ ประเด็นการเสวนาเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัฐบาล โดยวรัญชัยเป็นผู้กำหนดประเด็นเสวนา และผู้เข้าร่วมทราบประเด็นจากเอกสารที่วรัญชัยแจก
 
พยานให้การต่อไปว่า ประมาณ 13.30 น.  บัณฑิต พูดพาดพิงถึงระบอบกษัตริย์ โดยไม่เกี่ยวกับหัวข้อเสวนา หรือเกี่ยวกับที่คนอื่นแสดงความคิดเห็นก่อนหน้า ซึ่งผู้ร่วมเสวนาบางส่วนขอให้ไม่นำประเด็นนี้มาพูดคุย บางส่วนลุกออกจากที่นั่ง บางส่วนจะออกไปนอกห้องแต่ถูกกันไว้ไม่ให้ไปไหน
 
ส.ท.พิชาญ ได้ปรึกษากับตำรวจว่าที่ บัณฑิต พูดเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯหรือไม่ จึงควบคุมตัวไปที่ สน.สุทธิสาร เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และได้เปิดวิดีโอที่บันทึกไว้ ให้ปากคำกับตำรวจ และมอบซีดีที่บันทึกวิดีโอให้กับตำรวจไว้
 
หลังอัยการนำสืบพยานนายทหารชุดจับกุมทั้งสองปากแล้ว ศาลได้นัดให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ที่เป็นชุดจับกุมที่มีนายตำรวจอีก 2 นาย ซึ่งเบิกความไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อม จ.ส.อ.กายสิทธิ์ และ ส.ท.พิชาญ มาในวันที่ 25 กรกรฎาคม 2559 พร้อมทั้งอนุญาตให้ทนายความจำเลยคัดถ่ายซีดีที่ ส.ท.พิชาญบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
 

25 กรกฎาคม 2559

สืบพยานโจทก์

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ประมาณ 10.00 น.  ศาลเริ่มพิจารณาคดี อัยการโจทก์นำ ร.ต.อ.บัญชา  เข้าสืบพยานในนัดนี้เป็นคนแรก ระหว่างสืบพยาน  ตุลาการพระธรรมนูญ ได้ห้ามผู้สังเกตการณ์บันทึกการสืบพยานโดยละเอียด อนุญาตให้บันทึกแบบสั้น ๆ เท่านั้น

ร.ต.อ.บัญชา พนักงานสืบสวน ตอบคำถามค้านทนายความว่า 26 พฤษศจิกายน 2557 กลุ่มนวัตกรมไทยจัดประชุมเพื่อนำข้อเสนอไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แน่ใจว่าตัวแทนกลุ่มนวัตกรรมไทยได้ขออนุญาตหรือประสานไปยัง ผกก.สน.สุทธิสาร ก่อนหรือไม่ แต่ สน.สุทธิสาร ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย และตำรวจประมาณ 10 นาย แต่งกายทั้งในและนอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์
 
ร.ต.อ.บัญชา ให้การว่า การเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน แต่จำไม่ได้ว่ามีสื่อมวลชนหรือไม่ โดยพยานไม่ใช่ผู้บันทึกวิดีโอหลักฐาน แต่เป็น ส.ต.อ.ศิรวิทย์ รวมจิตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่มีกล้องบันทึกภาพมากกว่าสองตัว นอกจากนี้ พยานยังไม่แน่ใจว่าผู้ดำเนินรายการได้แจ้งผู้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์ ตัวพยานมีหน้าสังเกตการณ์บริเวณโดยรอบ สืบสวน และจับกุมผู้กระทำความผิด พยานไม่ได้อยู่ในห้องประชุมตลอดเวลา แต่ได้สั่งให้ ส.ต.อ.ศิรวิทย์ อยู่บันทึกวิดีโอตลอดการประชุม ในเอกสารที่แจกก่อนการประชุมมีการกำหนดวาระอื่น ๆ
 
เมื่อเปิดวิดีโอหลักฐานในสำนวนแล้ว พยานให้การยอมรับว่า มีช่วงหนึ่งที่ผู้ดำเนินรายการเปิดให้ผู้ร่วมประชุมเสนอประเด็น หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการได้อ่านประเด็นที่มีผู้เสนอเข้ามา ซึ่งมีประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ก่อนที่จำเลยจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์สองประโยค แต่มีผู้ทักท้วงไม่ให้พูดและลุกออกจากห้องประชุม ทำให้การเสวนาล้มเลิกไป
 
ร.ต.อ.บัญชา เห็นว่า ประโยคแรกที่จำเลยพูดขึ้นและมีผู้กล่าวแทรกขึ้นมาเป็นประโยคที่จบความแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าประโยคที่สองเป็นประโยคคำถามหรือไม่ เนื่องจากจำเลยยังพูดไม่จบประโยค จึงไม่ทราบว่าจำเลยจะพูดอะไรต่อ แต่จากคำพูดของจำเลย พยานรู้สึกว่าเป็นการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
 
พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยอีกว่า พยานเรียนจบคณะนิติศาสตร์ ทำงานสืบสวนมาโดยตลอด และยอมรับว่าโดยทั่วไป ประโยคคำถามไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งภายหลังจำเลยกล่าวถ้อยคำที่เป็นความผิดตามฟ้อง พ.ต.อ.ปรีชา กองแก้ว พ.ต.ท.อัครวัฒน์ พุ่มไพศาลชัย ร.ต.อ.ภาณุพงศ์ จินดาหลวง ร.ต.อ.เดโช ประสานศรี พยาน และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชามากกว่า 3 ชั่วโมง เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าถ้อยคำของจำเลยเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจให้ดำเนินคดีกับจำเลย หลังจากนั้นจึงพาตัวจำเลยไปยัง สน.สุทธิสาร โดยจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
 
จากนั้น โจทก์ได้นำ ส.ต.อ.ศิรวิทย์ รวมจิต เข้าสืบพยานต่อ ส.ต.อ.ศิรวิทย์ ตอบคำถามค้านทนายความ รับว่า ตนเองแต่งกายในชุดนอกเครื่องแบบเป็นผู้บันทึกวิดีโอผลัดกันกับ ส.ท.พิชาญ วรรณกี้ โดยมีกล้องของเจ้าหน้าที่เพียงตัวเดียว จะมีสื่อมวลชนด้วยหรือไม่พยานไม่แน่ใจ และผู้เข้าร่วมทราบว่ามีเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์
 
ส.ต.อ.ศิรวิทย์ เห็นว่า จำเลยยังพูดประโยคแรกไม่จบความ ส่วนประโยคที่สองเป็นประโยคคำถามที่ยังถามไม่จบ เพราะมีคนแย้งและลุกออกจากห้องไปก่อน แต่จำเลยจะสื่อความหมายอย่างไรพยานไม่ทราบ หลังจากนั้นจึงมีการปรึกษากันในระหว่างผู้บังคับบัญชาว่าคำพูดของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ แต่พยานไม่ได้เข้าร่วม พยานเป็นผู้ทำบันทึกจับกุม ที่ สน.สุทธิสาร เวลาประมาณ 22.00 น.
 
พยานตอบคำถามติงของอัยการทหารว่า พยานไม่ทราบว่าใครเสนอประเด็นให้ผู้ดำเนินรายการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากคำพูดของจำเลย พยานคิดว่าประโยคแรกเป็นประโยคหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ส่วนประโยคที่สองเข้าใจว่าจำเลยต้องการจะสื่อว่าไม่ให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ต่อมา โจทก์นำ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ เข้าสืบพยาน จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยว่า พยานจับการศึกษาชั้น ม.6 และรับราชการทหารมา 29 ปี พยานไม่เคยทำงานสืบสวนสอบสวน และไม่ใช่เจ้าพนักงาน หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ยอมรับว่า ทหารมีอุดมการณ์ที่จะต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เมื่อมีผู้กล่าวหรือตั้งคำถามถึงพระมหากษัตริย์ พยานในฐานะทหารและคนไทยย่อมจะรู้สึกเสียใจและไม่พอใจ ในวันที่เกิดเหตุพยานรับหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีแต่อย่างใด มีทหารนอกเครื่องแบบ 3-4 นายมาร่วมสังเกตการณ์ในวันนั้น และมีสื่อมวลชนภายในงานมาร่วมบันทึกการเสวนาด้วย โดยพยานสังเกตจากป้ายห้อยคอ
 
จากนั้น อัยการทหารนำ ส.ท.พิชาญ วรรณกี้ เข้าตอบคำถามค้านทนายความ ความว่า พยานจบการศึกษาชั้น ม.6 รับราชการทหารมา 8 ปี ไม่เคยทำงานสืบสวนสอบสวนมาก่อน รวมถึงไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
ส.ท.พิชาญ ยอมรับเช่นเดียวกับ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ว่า ทหารมีอุดมการณ์จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หากมีผู้พูดถึงหรือตั้งคำถามต่อพระมหากษัตริย์ พยานรู้สึกไม่พอใจ แต่ขณะจำเลยพูดในวงเสวนา พยานไม่สามารถจับใจความคำพูดของจำเลยได้ เนื่องจากพยานเป็นผู้บันทึกวิดีโอ
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในนัดนี้ นัดต่อไปโจทก์แถลงขอนำพยานโจทก์รายที่ 5 เข้าสืบพยาน ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไปวันที่ 5 ตุลาคม 2559 
 
5 ตุลาคม 2559 
 
เนื่องจากนายประกันของบัณฑิตไม่มา เพราะป่วย ไม่สามารถเดินทางมาฟังการพิจารณาคดีได้ ทนายของบัณฑิตจึงกล่าวต่อศาลว่า จะทำใบมอบฉันทะแทนนายประกันส่งมาให้ ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้มาเช่นกัน ให้เหตุผลว่าย้ายที่อยู่อาศัยไปอีกที่หนึ่ง จึงขอเลื่อนวันนัดสืบพยาน เป็น 20 มกราคม 2560 
 
20 มกราคม 2560
 
สืบพยานโจทก์
 
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลาประมาณ 10.25 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ โดยวันนี้มี สมคิด ทิพย์สอน เป็นพยานเบิกความในคดี  สมคิด ทิพย์สอน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เริ่มเบิกความว่า  ปัจจุบันอายุ 69 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยมาเป็นพยานเเละเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ 
 
อัยการถามสมคิดว่า ผู้ต้องหาชื่ออะไรสมคิดตอบว่า ชื่อจือเซง เเซ่โคว้ อัยการถามต่อว่าจำเลยทำผิดในข้อหาอะไร สมคิดตอบว่าจำเลยทำผิดในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามกฎหมายมาตรา 112 อัยการถามสมคิดว่า ซือเจง พยานเคยพบกันมาก่อนหรือไม่ สมคิดตอบว่าเคยพบกันมาก่อนหน้านี้เเล้ว  เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ี 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 13.00 น. โดยประมาณ 
 
และสถานที่เกิดเหตุคือ  อาคารวี ชั้น 6 ซอยรัชดา 26 เเขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร สมคิดเล่าหลักการเเละเหตุผลในการจัดเสวนา ว่าเสวนาจัดขึ้นเพื่อ ต้องการเสนอเเนวทางการมีส่วนร่วมในการเเสดงความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นตัวเเทนกลุ่มนวัตกรรมไทย  ตัวเขาเป็นหัวหน้าพรรคนวัตกรรมไทย 
 
ศาลถามว่าพรรคนี้มีการจดทะเบียนหรือไม่ สมคิดเบิกความต่อศาลว่า จดเเล้วโดย มีการประกาศ เป็นพรรคที่ 75 ของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง เเต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ  (พยานยื่นเอกสารการเเต่งตั้งพรรคให้อัยการตรวจสอบก่อนที่ทนายจะยื่นต่อให้ศาลดู)
 
อัยการถามพยานต่อว่า ในการจัดงานเสวนามีการขออนุญาตเเล้วหรือไม่ สมคิดตอบว่ามีการขออนุญาตโดยให้ผู้ประสานงาน ส่งหนังสือเเจ้งไปทาง สน.สุทธิสารโดยไม่ใช่หนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษร
 
อัยการถามสมคิดต่อว่า หัวข้อเสวนามีกี่หัวข้อ เเละมีเรื่องอะไรบ้าง พยานตอบมีห้าหัวข้อ ดังนี้ หัวข้อที่หนึ่งเรื่องที่มาของ สส.สว. หัวข้อที่สอง การเเยกอำนาจอธิปไตย ทำได้อย่างไร หัวข้อที่สามพรรคการเมืองยุบได้หรือยุบไม่ได้อย่างไร หัวข้อที่สี่สถานการณ์ทางเมืองเเละกลุ่มองค์กรอิสระ เเละหัวข้อที่ห้าเป็นเรื่องอื่น ๆ 
 
หัวข้อทั้งห้าหัวข้อใครเป็นคนคิด พยานตอบทางคณะกรรมการที่เป็นกลุ่มเสวนาของพรรคการเมืองร่วมกันคิด การจัดเสวนามีคนเข้าร่วมการประชุมทั้งหมดกี่คน พยานตอบ 15 คน โดยประมาณ โดยมีผู้สังเกตุการณ์ 4 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สุทธิสาร มาควบคุมการเสวนาด้วย
 
อัยการถาม ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 15 คนทราบดีหรือไม่ว่ามีหัวข้อเสวนาอะไรบ้าง พยานตอบ ทราบดี 
 
งานเริ่มขึ้นกี่โมง พยานตอบ 13.00 น. โดยประมาณ  เริ่มเเรกพยานเป็นคนพูดก่อนเปิดงานประมาณ 15 นาที เเละได้โยงให้ผู้เข้าเสวนาเเนะนำตัวทุกคน หลังจากการพูดคุยงานเสวนามีการเเลกเปลี่ยน
 
ผู้เข้าร่วมประชุม 1 ใน 15 คน มีจำเลยร่วมประชุมด้วย อัยการถาม ตอนจำเลยลุกขึ้น จำเลยพูดว่าอย่างไรบ้าง พยานตอบ ตอนนั้นจำสิ่งที่จำเลยพูดไม่ได้จริง ๆ พยานได้เบิกความขยายต่อว่าก่อนเริ่มการเสวนามีการเเจ้งเเล้วว่าในงานจะมีเจ้าหน้าที่มาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย ดังนั้นตามวิสัยทัศน์ของพยานเเล้ว ไม่คิดว่าจำเลยจะพูด เพราะมีเจ้าหน้าที่อยู่ร่วมในงานด้วย 
 
อัยการถามต่อว่า พยานเคยรู้จัดจำเลยมาก่อนหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคยรู้จัก ทราบหรือไม่ว่าจำเลยรู้จักงานเสวนานี้มาจากไหน พยานตอบ ไม่ทราบว่าจำเลยทราบข่าวของงานเสวนามาจากเเหล่งไหนเหมือนกัน พยานเบิกความต่อว่า หลังจากการเกิดเหตุการณ์ พยานได้เข้าไปพบ สน.สุทธิสารเพื่อไปให้ปากคำ โดยมีการบันทึกเสียงของการให้การ เบิกความจบ พยานมีเอกสารของบันทึกการสอบปากคำยื่นให้ทนายดูก่อนนำไปให้ศาลดู 
 
อัยการถาม ตอนที่สอบปากคำ เจ้าหน้าที่ถามพยานหรือไหม ว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่จำเลยพูดในที่ประชุมหรือไม่ พยานบอก ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่จำเลยพูด ต่อมาอัยการยืนเอกสารให้พยานดูเเล้วชี้ที่ความตอนหนึ่งบนกระดาษพร้อมถามพยานว่า ที่จำเลยบอกว่าระบอบกษัตริย์นั้น เขาหมายถึง รัชกาลไหน พยานตอบ รัชกาลที่ 9 
 
ตอบทนายจำเลย 
 
ทนายจำเลยถามสมคิดว่า จบการศึกษาที่ไหน สมคิดเบิกความตอบว่า จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนบ้านตาก จังหวัดตาก ทนายถามต่อว่าขณะเกิดเหตุพยานเป็นอะไรอยู่ พยานตอบ เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค ก่อนหน้านั้นพยานทำอะไรบ้าง พยานตอบว่า เป็นสมาชิกรองสภาจังหวัดตาก เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งเเต่ พ.ศ. 2528 – 2533 เเละเคยสมัครเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  4 ครั้ง มีชีวิตเกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด 
 
ทนายถามสมคิดว่า  เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานตอบ ไม่เคย ทนายถามต่อว่า ในวันจัดเสวนา ได้มีหนังสือส่งไปยังผู้เข้าร่วมคนไหนบ้างหรือไม่ พยานบอกต้องถามเลขาธิการ เพราะตนไม่ทราบเรื่องการทำเอกสาร 
 
ทนายถามต่อว่า ได้ปรึกษาหารือกันหรือไม่ว่าจะเชิญใครบ้าง พยานตอบมีการเชิญหลายภาคส่วน เช่น ประชาชน อดีตนักการเมือง ในงานมีการออกสื่อวิทยุเเละมีนักข่าวทำการบันทึกวีดีโอ ทนายถามมีตำรวจมาสังเกตุการณ์ทั้งหมดกี่คน พยานตอบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสังเกตุการณ์ 4 คน
 
ทนายถาม เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่ชุดนอกเครื่องเเบบหรือในเครื่องเเบบ พยานตอบว่า เห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องเเบบมาร่วมประชุม 4 ท่าน ข้างนอกห้องมีใส่เครื่องเเบบเต็มยศ 
 
ทนายจำเลยถามพยาน มีคนเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 15 คน เเต่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาจึงกลับไปใช่หรือไม่ พยานตอบ ใช่ครับ 
 
ทนายจำเลยเเถลงหมดคำถาม  ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไป วันที่ 8 มีนาคม 2560 ตามที่คู่ความได้ตกลงกัน 
 
8 มีนาคม 2560
 
19 พฤษภาคม 2560
 
พยานโจทก์ไม่มาศาล จึงเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากถัดในวันที่ 8 สิงหาคม 2560 เวลา 08.30 น.
 
24 มิถุนายน 2562
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลทหารกรุงเทพสั่งให้เลือนนัดฟังคำพิพากษาคดีของบัณฑิตออกไปเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2562
 
6 กรกฎาคม 2562
 
บีบีซีไทยรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2562 โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งให้โอนคดีของพลเรือนทั้งหมดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารด้วยผลของประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กลับไปให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาต่อ คดีของบัณฑิตจึงถูกย้ายไปให้ศาลอาญาเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ
 
27 มกราคม 2563
 
นัดพร้อม
 
ศาลอาญานัดบัณฑิตมาพบในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อฟังวันนัดคำพิพากษาอีกครั้ง
 
17 กุมภาพันธ์ 2563
 
นัดพร้อม
 
อัยการ ได้แถลงต่อศาลขอยื่นพยานเอกสารเป็นแผ่นซีดีใหม่ เนื่องจากพยานเอกสารแผ่นซีดีเดิมชำรุดเสียหาย ทนายจำเลยตรวจสอบดูแล้วพบว่าเป็นพยานเอกสารที่มีเนื้อหาเหมือนกับของเดิมจึงไม่คัดค้าน ศาลจึงรับพยานหลักฐานเข้าสำนวนเพิ่มเติม
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีนี้ย้ายมาจากศาลทหารต้องทำสัญญาประกันขึ้นใหม่ ตัวจำเลยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรมเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว จึงต้องทำเอกสารเกี่ยวกับการประกันตัวใหม่ทั้งหมด ซึ่งการดำเนินการขอหลักทรัพย์ใหม่ติดขัดตรงที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมติดราชการต่างประเทศ ไม่สามารถลงนามในเอกสารได้ทัน จึงขอให้ศาลเลื่อนวันนัดพร้อมออกไปสักสามสัปดาห์เพื่อให้การดำเนินการขอหลักทรัพย์ประกันตัวแล้วเสร็จเสียก่อน 
 
ศาลพิจารณาแล้วเห็นมีความจำเป็นเรื่องการจัดการเอกสาร จึงอนุญาตให้กำหนดวันนัดพร้อมใหม่เป็นวันที่ 17 มีนาคม 2563 โดยระหว่างนี้ให้สัญญาประกันเดิมมีผลไปก่อน 
 
17 มีนาคม 2563
 
นัดพร้อม
 
เวลาประมาณ 09.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นไข้ และมีอาการเจ็บคอ ไม่สามารถเดินทางมาที่ศาลได้ จึงขอเลื่อนนัดการพิจารณาคดีออกไป อัยการไม่คัดค้านคำแถลงของทนายจำเลย
 
ศาลเลื่อนวันนัดพร้อมออกไปเป็นวันที่ 21 เมษายน 2563 
 
7 เมษายน 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าศาลอาญาเลื่อนนัดพร้อมคดีนี้ออกไปเป็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากในเดือนเมษายนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในประเทศยังน่าเป็นห่วง
 
25 สิงหาคม 2563
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดีที่ 809
เวลาประมาณ 09.20 น. บัณฑิต เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีโดยมีทนายความ และผู้มาให้กำลังใจรออยู่ที่ห้องพิจารณาคดีแล้ว
 
เวลาประมาณ 09.33 น. ศาลเริ่มพิจารณาคดี และเรียกให้บัณฑิตยืนขึ้นฟังคำพิพากษาทันทีโดยระหว่างนั้นมีจำเลยคดีอื่นอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย คำพิพากษาของศาลพอสรุปได้ว่า
 
พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยได้พูดจบเพียงประโยคที่หนึ่ง และกำลังจะเริ่มพูดประโยคที่สอง แต่ยังไม่ทันได้พูด ก็ถูกควบคุมตัวและหยุดพูด ข้อความตามคำฟ้องเป็นเพียงประโยคและวลีที่ยังไม่จบ พฤติการณ์ดังกลาวยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าการกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
อีกทั้งพยานโจทก์ที่เป็นพยานผู้จับกุมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความประกอบภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์ว่า สาเหตุที่จับกุมจำเลยเนื่องจากปรึกษากันเองเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยพูดน่าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
รวมไปถึงพยานโจทก์ที่มาเบิกความแสดงความคิดเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดก็เป็นการตีความและเป็นวิเคราะห์เองของพยานโจทก์เท่านั้น จึงถือว่าพยานโจทก์มีความน่าสงสัยตามสมควร จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย
 
27 มกราคม 2564
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าอัยการไม่ประสงค์จะอุทธรณ์คดีนี้ต่อ คดีจึงเป็นอันยุติ

คำพิพากษา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยได้พูดจบเพียงประโยคที่หนึ่ง และกำลังจะเริ่มพูดประโยคที่สอง แต่ยังไม่ทันได้พูด ก็ถูกควบคุมตัวและหยุดพูด ข้อความตามคำฟ้องเป็นเพียงประโยคและวลีที่ยังไม่จบ พฤติการณ์ดังกลาวยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าการกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
อีกทั้งพยานโจทก์ที่เป็นพยานผู้จับกุมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความประกอบภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์ว่า สาเหตุที่จับกุมจำเลยเนื่องจากปรึกษากันเองเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยพูดน่าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
รวมไปถึงพยานโจทก์ที่มาเบิกความแสดงความคิดเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดก็เป็นการตีความและเป็นวิเคราะห์เองของพยานโจทก์เท่านั้น จึงถือว่าพยานโจทก์มีความน่าสงสัยตามสมควร จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด