วรเจตน์ : ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คสช.

อัปเดตล่าสุด: 18/10/2565

ผู้ต้องหา

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วรเจตน์ ถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557 จากการไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ กลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวกันเสนอแนะการปรับปรุงสังคมในหลายด้าน โดยเฉพาะต่อต้านอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตย เช่น การทำข้อเสนอล้มล้างผลพวงรัฐประหารปี 49 และเสนอให้แก้ไขมาตรา 112

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วรเจตน์ถูกคสช. ประกาศเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่ง ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่ไม่มารายงานตัวภายในกำหนด

พฤติการณ์การจับกุม

16 มิถุนายน 2557

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้ประสานงานกับทางเจ้าหน้าทหารไว้ล่วงหน้าและเข้ารายงานตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
 18 มิถุนายน 2557
 
เวลาประมาณ 12.30 เจ้าหน้าที่ทหารกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ นำตัว วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ออกจากกองบังคับการปราบปราม ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อยื่นขอฝากขัง 
 
ศาลทหารอนุมัติการขอฝากขัง วรเจตน์จึงถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่ครอบครัวของวรเจตน์ได้ยื่นหลักทรัพย์เงินสด 20,000 บาทเพื่อขอประกันตัว 
 
เวลาประมาณ 16.00 น. ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องขออนุญาตก่อนออกนอกราชอาณาจักรและให้มารายงานตัวตามวันที่นัดหมาย ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. วรเจตน์ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้มาคอยต้อนรับและให้กำลังใจราว 20 คน
 
 
 
26 มิถุนายน 2557
 
ศาลทหารได้พิจารณาคดีของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตามที่พนักงานสอบสวนได้ขอฝากขังวรเจตน์เพิ่มอีก 12 วัน เนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก และต้องตรวจสอบประวัติอาชญากร กับกองทะเบียนประวัติอาชญากร ด้าวรเจตน์ไม่ได้คัดค้านการขอฝากขังของพนักงานสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนช่วยเร่งรัดในการสอบปากคำพยาน เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่ได้มีความซับซ้อน
 
ตุลาการศาลทหารมีคำสั่งอนุมัติให้ฝากขังวรเจตน์ต่ออีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากสัญญาประกันตัวที่วรเจตน์ทำไว้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ยังมีผลอยู่ โดยให้ใช้เงื่อนไขการประกันตัวเดิม
 
10 กรกฎาคม 2557
 
วรเจตน์ เข้ารายงานตัวตามกำหนดที่ศาลทหารตามกำหนดเวลาฝากขังผลัดที่ 2 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอควบคุมตัวต่อศาลในผลัดที่ 3 เป็นเวลา 12 วันตั้งแต่วันที่ 12-23 กรกฎาคม 2557 ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากสัญญาประกันตัวเดิมยังมีผลอยู่ ตามเงื่อนไขเดิม คือห้ามชุมนุม แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และห้ามออกนอกประเทศ
 
 
 
4 สิงหาคม 2557
 
อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้อง วรเจตน์ 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557 และ 57/2557 ทั้งนี้ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงินประกันตัว 20,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือห้ามออกนอกประเทศและชุมนุมทางการเมือง อันเป็นการปั่นปวนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน 
 
8 กันยายน 2557
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ ห้องพิจารณา 3 อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องวรเจตน์จำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกไม่มารายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 
 
เวลา 11.20 น.ศาลอ่านคำบรรยายฟ้ิิองให้จำเลยฟัง จำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาขอสู้คดี ทั้งนี้ทนายขออนุญาตศาลคัดถ่ายเอกสารหลักฐานและนัดตรวจพยาน โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 24 พฤศจิกายน 2557
 
24 พฤศจิกายน 2557
 
ศาลทหารกรุงเทพ ห้องพิจารณาคดีที่ 1   นัดตรวจพยานหลักฐาน  การนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งนี้ ทางคณะตุลาการศาลฯได้อนุญาตให้ตัวแทนสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมัน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย
     
ทนายความผู้ต้องหา ได้ยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่าประกาศของคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
 
เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พันธะกรณีที่ไทยมีอยู่นั้นต้องผูกพันด้วย  
 
อีกทั้งในคดีอาญาจำเลยต้องมีโอกาสอุทธรณ์คำตัดสิน ในกรณีนี้มีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาล เพราะศาลทหารกรุงเทพเป็นองค์กรอยู่ในระบบกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับไอซีซีพีอาร์ อีกทั้งคดีดังกล่าวเป็นการขึ้นศาลทหารฯช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก
 
คือเมื่อศาลทหารฯตัดสินคดีก็จะจบลงทันที ไม่สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้  ซึ่งก็ไม่สอดคล้องกับไอซีซีพีอาร์เช่นกัน  ทั้งนี้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. ชอบตามรัฐธรรมนูญฯและเป็นที่สุด ทำให้สงสัยว่าจะสามารถโต้แย้งได้อย่างไร แต่มีประเด็นว่าในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯนั้นบัญญัติให้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาด้วยความยุติธรรมตามกฎหมาย
     
ดังนั้นการตีความของรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องความยุติธรรมด้วย   การตัดสินคดีโดยศาลชั้นเดียวไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม ดังนั้นประกาศของคสช.จึงถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 47 ซึ่งคาดว่าจะขัดกับมาตรา 4  และมาตรา 26
     
ตนจึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498   ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2558 พร้อมกับนัดตรวจพยานโจทย์ 
 
26 มกราคม 2558
 
นัดตรวจพยาน
 
ศาลทหารยกคำร้องที่วรเจตน์ขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับนั้น ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่  โดยระบุว่าศาลทหารเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามประกาศของคสช.และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)2557  ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติการะหว่างประเทศไว้แล้วจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของพันธะสัญญาระหว่างประเทศตามที่วรเจตน์ อ้างมาประกอบกับตามรัฐธรรมนูญฯ มีบทบัญญัติให้อำนาจเฉพาะศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ หรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ต้องส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ดังนั้นคำร้องของจำเลยจึงตกไป
 
หลังจากนั้นศาลได้ตรวจพยานหลักฐาน และนัดสืบพยานในวันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 8.30 น. พยานโจทก์มี 7 ปาก ส่วนพยานของวรเจตน์ มี 6 ปาก
 
26 พฤษภาคม 2558
 
นัดสืบพยาน
 
โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้นำตัววรเจตน์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
 
ภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิ รวมถึงตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนบุคคลอื่น รวมทั้งนักศึกษานิติศาสตร์ มธ.ที่มาให้กำลังใจวรเจตน์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในบริเวณศาล   โดยพ.อ.บุรินทร์เบิกความว่า เขารับแจ้งจากผู้การร.11 ว่าวรเจตน์เดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศและเดินทางกลับมาแล้ว อยู่ค่ายทหารแห่งหนึ่งมาแล้ว 2 วัน ทางคสช.จึงได้ให้เขาไปรับตัวมาดำเนินคดี ระหว่างร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนง.สส. เขาไม่ทราบว่าภรรยาและเพื่อนอาจารย์ของวรเจตน์ได้แจ้งแก่ คสช.แล้วถึงเหตุการไปรักษาตัวยังต่างประเทศ วิญญัติทนายความของวรเจตน์ ถามค้านพยาน เรื่องการประกาศเรียกรายงานตัว ของ คสช.ว่า ได้ประกาศระบุไปถึงภูมิลำเนาของผู้ถูกเรียกตัวหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการในศาล วรเจตน์เดินออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านหน้าศาลทหารวันนี้ศาลไม่ได้ชี้ชัดในประเด็นคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ว่าอัยการฟ้องชอบหรือไม่ ตามที่ได้ร้องขอ แต่ให้ดูผลคำพิพากษารวมทีเดียว ทั้งนี้วรเจตน์ถูกเรียกให้รายงานตัว 2 ครั้งในคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และคำสั่งคสช.ที่  57/2257 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเดียวโดยอ้างถึงคำสั่งหลังคือ คำสั่ง  ที่ 57/2557  แต่อัยการได้ฟ้อง 2 ข้อหาคือ ขัดคำสั่งทั้งฉบับที่ 5 และ 57 ซึ่งฝ่ายวรเจตน์ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าเมื่อมีคำสั่งที่สองแล้วก็ควรมีผลยกเลิกคำสั่งแรก ไม่เช่นนั้นคดีนี้จะนับเป็นสองกรรม โทษจำคุกรวม 4 ปี แทนที่จะเป็น 2 ปี
ระหว่างเดินทางกลับ วรเจตน์แวะที่ศาลหลักเมืองเพื่อรับพวงมาลัยและการให้กำลังใจจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.ที่เดินทางมาตั้งแต่เช้าแต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เข้ามารอบริเวณศาลทหาร
 
ทั้งนี้ศาลนัดสืบพยานปากที่สอง วันที่ 21 กรกฎาคม 2558
 
21 กรกรฎาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลทหารกรุงเทพ  นัดสืบพยานปากที่สอง พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์(ขณะเกิดเหตุผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์) 
 พยานปากนี้เป็นผู้ติดต่อประสานกับวรเจตน์ในการเข้ารายงานตัว
 
อัยการแถลงต่อศาลว่า วันนี้พ.อ.ทรงวิทย์ ติดราชการ จึงไม่สามารถมาให้การต่อศาลได้ แต่โจทก์ยังมีความประสงค์จะสืบพยานปากนี้ จึงจะนัดสืบพ.อ.ทรงวิทย์ใหม่อีกครั้ง
 
โดยนัดสืบพยานในนัดถัดไปคือ ร.ท. เอกชัย บุญประเทืองวงศ์ เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 วันที่ 28 ตุลาคม 2558 โดยพยานปากนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ที่รับตัววรเจตน์ไปที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุายชน รายงานว่า ทนายความจำเลยแถลงขอหนังสือคำสั่งอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศต่อศาลซึ่งศาลได้อนุญาตแล้วนั้น ศาลชี้แจงว่าหนังสืออนุญาตดังกล่าวส่งถึง ตม. แล้ว และหนังสือคำสั่งไม่จำเป็นต้องถือไป แต่สามารถจดหมายเลขหนังสือคำสั่งไปแทนได้ แต่ถ้ามีข้อตกลงกับ คสช. จะต้องแจ้งถึง คสช.โดยตรง
หลังศาลพิจารณาเสร็จแล้ววรเจตน์ได้ชี้แจงกระบวนการศาลของวันนี้ และวรเจตน์แจ้งว่าตนเองจะต้องเดินทาง ไปประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อกลับไปที่มหาวิทยาลัยที่ตนเคยศึกษาเพื่อทำการค้นคว้าเกี่ยวกับกฎหมาย รธน. โดยจะเดินทางในวันที่ 27 ก.ค. นี้
 
28 ตุลาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ศาลเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 29 มีนาคม 2559 หลังพยานมีปัญหาเรื่องเอกสาร ที่ต้องแจ้งต่อศาลก่อนเพราะพยานปากนี้ โจทก์เพิ่งจะนำมาเบิกเพื่อเข้าสืบพยาน ทนายของวรเจตน์จึงขอค้านการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน

 

29 มีนาคม 2559

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ในห้องพิจารณาคดีนอกจาก วรเจตน์และทนายความเเล้ว มีผู้เข้าสังเกตการณ์จากสถานฑูตฝรั่งเศส ,สหรัฐอเมริกาและสวีเดน รวมไปถึง รศ.สมยศ เชื้อไทย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย  โดยสืบพยานนัดนี้เลื่อนมาจากวันที่ 28 ตุลาคม 2557 เนื่องจากครั้งนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคัดค้านเพราะอัยการเพิ่งยื่นเอกสารคำให้การของพยานในวันที่จะสืบพยาน

ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลยกคำร้องคัดค้านของทนายจำเลยในครั้งก่อน โดยระบุว่า กฎหมายไม่ได้ระบุว่าพยานหลักฐานต้องนำผ่านกระบวนการยื่นหลักฐานก่อน
 
อัยการเริ่มนำสืบพยานโจทก์ พยานนัดนี้คือ ร.ท. เอกชัย บุญประเทืองวงศ์ นายทหารคนสนิทของรองแม่ทัพภาคที่ 1 สังกัดกองทัพภาคที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับรายงานตัวผู้ถูกเรียกมารายงานตัวตามประกาศ คสช. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ โดยทำหน้าที่ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ตลอดมาจนจบภารกิจ วรเจตน์  เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และ 57/2557 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2557 แต่ในวันที่กำหนดตามคำสั่งทั้งสองฉบับ
 
วรเจตน์ไม่ได้มารายงานตัว ดังปรากฏในเอกสารแบบฟอร์มรายงานตัวว่าไม่มีลงลายมือชื่อ อย่างไรก็ตาม พัชรินทร์  ภรรยาของวรเจตน์ เข้าพบเจ้าหน้าที่แทนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ระบุว่าวรเจตน์ไปต่างประเทศ ยังติดต่อไม่ได้ ร.ท. เอกชัยจึงขอทำสำเนาบัตรประชาชนของนางพัชรินทร์ เขียนไว้ว่าติดต่อสามีไม่ได้ และให้ลงลายมือชื่อ ทั้งนี้พัชรินทร์ไม่ได้มีหลักฐานมาแสดงว่าวรเจตน์ไปต่างประเทศจริง ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2557 วรเจตน์เข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์
 
จากนั้นทนายของวรเจตน์ถามค้าน  พยานตอบทนายว่า รับราชการเป็นทหารมาตั้งแต่ปี 2540 ทราบว่าก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ พยานทราบว่าคือการรัฐประหาร แต่ไม่ทราบว่านับเป็นความผิดฐานกบฏ
 
พยานอ้างคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 22/2557 มอบอำนาจผู้บัญชาการกองกำลังให้แต่งตั้งพยานเพื่อทำหน้าที่รับรายงานตัวดังกล่าว แต่ไม่ทราบกระบวนการแต่งตั้งนอกเหนือจากนั้น พยานไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการเรียกรายงานตัว เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง และถือว่าคำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
พยานขอไม่ออกความเห็นเรื่องข้อจำกัดของการเรียกรายงานตัวผ่านสื่อโทรทัศน์ซึ่งผู้ที่ไม่เปิดดูก็จะไม่ได้รับทราบ และไม่ทราบว่าต้องมีการส่งหนังสือคำสั่งรายงานตัวไปยังที่อยู่ของผู้ถูกเรียกหรือไม่ พยานไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นกำหนดนัดให้ผู้ที่มีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 มารายงานตัว และวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ซึ่งกำหนดนัดให้ผู้มีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 มารายงานตัวนั้น พยานอยู่ในที่เกิดเหตุที่เป็นสถานที่รับรายงานตัว
 
ในเอกสารหมาย จ. 4 ที่เป็นรายชื่อบุคคลที่คสช.เรียกรายงานตัว ไม่ปรากฏลายมือชื่อของพยานอยู่ในการรับรายงานตัว เมื่อมีผู้ถูกเรียกมารายงานตัว พยานจะให้ลงลายมือชื่อในเอกสาร กรณีผู้ถูกเรียกไม่มาและมีผู้มาแจ้งเหตุขัดข้อง พยานจะให้ลงลายมือชื่อแทน แต่เอกสารแบบฟอร์มที่นำมาแสดงนั้นไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของบุคคลใดเลย ทั้งที่พยานเบิกความว่าวันที่ 10 มิถุนายน 2557 นางพัชรินทร์ได้เดินทางมาแจ้งเหตุขัดข้องแทนสามีแล้ว พยานได้เบิกความไปก่อนหน้านี้แล้วว่าได้ให้นางพัชรินทร์ลงลายมือชื่อบนเอกสารสำเนาบัตรประชาชน แต่ไม่ได้บอกว่าได้ให้ลงชื่อในเอกสารอื่นใด นอกจากนี้ในวันดังกล่าวบุคคลทั้ง 35 คนที่มีรายชื่ออยู่ในหมายจ. 4 ไม่ได้มารายงานตัว แต่พยานไม่ทราบว่ามีการดำเนินคดีกับบุคคลอื่นด้วยหรือไม่
 
พยานเบิกความต่อว่าในประกาศ คสช. ที่ 41/2557 เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่อาจมารายงานตัวสามารถแจ้งเหตุขัดข้องได้ และพยานยอมรับว่าอาการป่วยถือเป็นเหตุขัดข้อง ซึ่งพยานทราบว่ามีใบรับรองแพทย์ว่านายวรเจตน์มีอาการป่วย แต่จำไม่ได้ว่าเป็นตัววรเจตน์เองหรือภรรยาที่นำมาแสดง ทั้งนี้พยานยอมรับประกาศของ คสช. เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับปฏิบัติทั่วไปโดยไม่เจาะจงบุคคลใด
 
ในส่วนของ พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี พยานไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว และไม่ทราบว่าวรเจตน์เข้าติดต่อรายงานตัวกับพ.อ.ทรงวิทย์ด้วยหรือไม่
 
วันที่ 16 มิถุนายน 2557 วรเจตน์มารายงานตัวกับพยาน โดยลงชื่อในแบบฟอร์มรายงานตัวเพิ่มเติม จากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกชุดมานำตัววรเจตน์ไป โดยพยานมีหน้าที่เพียงรับรายงานตัว ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่นำตัววรเจตน์ไปที่ไหนหรือทำอะไร แต่ทราบว่าต้องมีการทำเงื่อนไขในการปล่อยตัวตามที่ คสช. ประกาศ
 
เนื่องจากกระบวนการสืบพยานวันนี้มีเวลาจำกัด แต่ทนายจำเลยยังต้องการซักถามพยานต่อ จึงได้ขอให้ศาลยกไปสืบพยานต่อในนัดหน้า ศาลจึงนัดสืบพยานปากนี้ต่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559
 
20 มิถุนายน 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
วรเจตน์เดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพเวลา 09.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่3 มีอาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่สถานทูตมาร่วมสังเกตการณ์ ภายในห้องพิจารณาคดีนอกจากวรเจตน์และทนายเเล้ว จึงมีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 10 คน
 
เมื่อคู่ความมาครบแล้วศาลนั่งบัลลังก์เริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ร้อยโทเอกชัย บุญประเทืองวงศ์ ต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ศาลให้พยานกล่าวคำสาบานเมื่อกล่าวจบศาลพูดกับเจ้าหน้าที่ว่าถ้าพยานเป็นทหารชั้นสัญญาบัตรไม่ต้องให้สาบาน 
 
จากนั้นทนายจำเลยนำเบิกความว่า คำสั่งที่17/2557เรียกรายงานตัวเพิ่มเติมเป็นคำสั่งต่อจากคำสั่งที่5/2557 ซึ่งถ้ามารายงานตัวหรือแจ้งเหตุขัดข้องแล้ว จะไม่ถูกดำเนินคดี พยานทราบว่าพัชรินทร์ ภรรยาของวรเจตน์ แจ้งเหตุขัดข้องให้พยานทราบแต่พยานแจ้งแก่พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่าวรเจตน์ไม่เคยแจ้งเหตุขัดข้อง
 
พยานให้การถึงเรื่องว่าเคย ให้การกับพนักงานสอบสวนโดยไม่มีหมายแต่เป็นคำสั่งจากผู้อำนวยการกำลังพลกองทัพภาคที่1 และพยานก็ไม่ทราบว่าวรเจตน์ให้การให้เหตุที่ไม่มารายงานตัวแล้ว
 
เมื่ออัยการถามค้านพยานก็ให้การอีกว่ามีหน้าที่เพียงรับรายงานตัว เอกสารที่ทนายจำเลยยกมาเกี่ยวข้องกับพยานมีเพียงคำให้การเท่านั้นและพยานก็ไม่รู้ว่าพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีอย่างไร โดยวันนี้ทนายจำเลยไม่ได้ถามค้าน
ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 23 กันยายน 2559
 
23 กันยายน 2559 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
 
29 กรกฎาคม 2563
 
นัดสืบพยานจำเลย 
 
เวลาประมาณ 09.15 น. วรเจตน์เดินทางมาถึงศาลแขวงดุสิต 
 
เวลาประมาณ 09.20 น. วรเจตน์ พร้อมกับทนายความเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 510
 
ศาลออกนั่งพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 09.40 น. ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ในวันนี้มีการสืบพยานจำเลยสองปาก ปากแรกคือวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยในคดี และตัวของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จำเลยในคดี โดยการสืบพยานวิญญัตินั้น เป็นการสืบพยานต่อเนื่องมาจากศาลทหารเมื่อปี 2562 ซึ่งสืบพยานยังไม่จบแต่คดีถูกโอนย้ายมาที่ศาลพลเรือนเสียก่อน
 
วิญญัติ ได้เบิกความถึงประเด็นกระบวนการสอบสวนในคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ คสช. ยึดอำนาจ
 
วรเจตน์นั้นเบิกความต่อศาลในประเด็นข้อเท็จจริงในคดี และให้ความเห็นทางกฎหมายต่อประกาศ คสช. ที่นำมาบังคับใช้ในคดีนี้
 
การสืบพยานเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนสืบพยานทั้งสองปากเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 14.00 น. 
 
จากนั้นทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าในวันพรุ่งนี้ จะนำพยานเข้ามาสืบพยานทั้งหมดอีกสามปาก แล้วการสืบพยานฝ่ายจำเลยจะเสร็จสิ้นลง
 
ศาลแจ้งว่าในคดีนี้เมื่อสืบพยานจำเลยแล้วเสร็จ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องที่จำเลยได้ขอให้ศาลแขวงดุสิตส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าประกาศ คสช. ที่จะใช้บังคับในคดีนี้ขัดกับรัฐธณรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณา กระบวนการหลังสืบพยานเสร็จ ศาลจะจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประกาศ คสช. ที่กำหนดให้คนที่ถูก คสช. ไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช. ที่ออกเมื่อช่วงหลังรัฐประหาร 2557 นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ แล้วจะนัดวันเพื่อมาฟังคำสินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน หลังจากนั้นอีกนัดจึงจะเป็นการนัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ จำเลยและทนายจำเลยรับทราบ 
 
กระบวนการในศาลเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 15.10 น.  
 
ศาลนัดสืบพยานจำเลยครั้งต่อไป 30 กรกฎาคม 2563
 
 
30 กรกฎาคม 2563
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เวลา 09.00 น. วรเจตน์เดินทางมาถึงศาลแขวงดุสิตพร้อมกับผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพยานจำเลย ต่อมาเวลาประมาณ 09.20 น. วรเจตน์ พร้อมกับทนายความเดินทางมาถึง ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 510
 
ศาลออกนั่งพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 09.30 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยในคดี แถลงต่อศาลว่าในวันนี้มีการสืบพยานจำเลยสามปาก แบ่งเป็นช่วงเช้าสองปาก ปากแรกคือ สมชัย วัฒนการุณ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และปากที่สองคือ ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงบ่ายมีพยานอีกหนึ่งปากคือ พ.ต.มหิบดี สงวนแสง นายทหารพระธรรมนูญ
 
การสืบพยานเริ่มขึ้นตั้งแต่ 09.40 น. และสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 14.20 น.จากนั้นทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าคดีนี้ทำการสืบพยานฝ่ายจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยจะขอส่งแถลงการณ์ปิดคดีให้ศาลภายใน 30 วัน
 
ศาลแจ้งว่า อนุญาตให้จำเลยส่งแถลงการณ์ปิดคดีได้ และในคดีนี้เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องที่จำเลยได้ขอให้พิจารณาว่าประกาศ คสช.ที่จะใช้บังคับในคดีนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อกระบวนการสืบพยานจบลง ศาลขอสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญนัดวันวินิจฉัยเสียก่อน แล้วจะนัดวันเพื่อมาฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจึงจะนัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ จำเลยและทนายจำเลยรับทราบและไม่คัดค้าน
 
กระบวนการในศาลเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 15.00 น.
 
 
18 พฤศจิกายน 2563
 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวแจก ระบุว่า กรณีของคดีที่ศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จำเลย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. และประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
 
ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ไม่จำต้องทำงานไต่สวน นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ วันที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 09.30 น.
 
 
2 ธันวาคม 2563 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ

 

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ข่าวแจกระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. และประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 

 

"มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
 
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง"
 
และมีมติเสียงข้างมากว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย
 
มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้"
 
 
15 ธันวาคม 2563 
 
เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม
 
15 ธันวาคม 2563 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยที่ 30/2563 ความยาว 11 หน้า มีใจความสำคัญว่า
 
รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในมาตรา 29 บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่เวลานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ อันเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยการตรากฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติหรือองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญประการหนึ่ง คือ หลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควร อันเป็นหลักการสำคัญที่มีขึ้นเพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีการตากฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนตามอำเภอใจ
 
แม้ประกาศคสช. ทั้งสองฉบับจะมีวัตถุประสงค์หรือความจำเป็นให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น แต่เมื่อเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคล การกำหนดโทษอาญาแก่ผู้กระทำความผิดต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนด้วย
 
เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า  ประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. และประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุแห่งการเรียกให้มารายงานตัว นำมาเป็นเหตุในการกำหนดโทษทางอาญาเพียงการไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. ไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิด ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 
 
นอกจากนี้ การที่คสช.ออกคำสั่งคสช.ที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม กำหนดให้บุคคลรวมถึงจำเลยในคดีนี้มารายงานตัว ต่อมาวันเดียวกัน คสช.ออกคำสั่งที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. กำหนดให้บุคคลที่มีรายชื่อตามคำสั่งคสช. ที่ไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับำม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการออกคำสั่งให้มารายงานตัวก่อนแล้วออกประกาศกำหนดโทษให้ทราบภายหลัง จึงเป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังแก่บุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ซึ่งเกิดก่อน ไม่เป็นไปตามหลัก "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง
 
เมื่อวินิจฉัยว่าประกาศคสช. ทั้งสองฉบับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ประกาศทั้งสองฉบับจึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 (มาตรา 5  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้)
 
 
8 มิถุนายน 2564
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลเริ่มอ่านคำฟ้องของอัยการที่ได้ฟ้องว่า จำเลยได้ฝ่าฝืนประกาศของ คสช. สองฉบับ จากการไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช. และในคดีนี้ได้มีกระบวนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ประกาศ คสช. สองฉบับที่จะใช้ในการลงโทษขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ และศาลแขวงดุสิตได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ไว้ว่า ประกาศของ คสช. ทั้งสองฉบับนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
 
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรรวมถึงศาลแขวงดุสิตในคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ จึงไม่ต้องพิจารณาในข้อเท็จจริงในคดีต่อไป ศาลพิพากษาให้จำเลยไม่มีความผิด ให้ยกฟ้องคดี

 

คำพิพากษา

8 มิถุนายน 2564
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
 
สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ไว้ว่า ประกาศคสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. และประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
 
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรรวมถึงศาลแขวงดุสิตในคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ จึงไม่ต้องพิจารณาในข้อเท็จจริงในคดีต่อไป ศาลพิพากษาให้จำเลยไม่มีความผิด ให้ยกฟ้องคดี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา