- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีมาตรา112, ฐานข้อมูลคดี
คฑาวุธ: รายการนายแน่มาก
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
คฑาวุธจัดรายการวิเคราะห์การเมือง "นายแน่มาก" เผยแพร่บนอินเทอร์เนตตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในวันที่ 2 มิถุนายน 2557 มีคำสั่งเรียกคฑาวุธเข้ารายงานตัวกับคสช. คฑาวุธเข้ารายงานตัวตามคำสั่งในวันที่ 3 มิถุนายน 2557และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน
ครบกำหนดเจ็ดวันคฑาวุธถูกนำตัวไปตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่ารายการที่เขาจัดตอนหนึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คฑาวุธเคยถูกฝากขังด้วยอำนาจศาลพลเรือนแต่ภายหลังถูกย้ายไปฝากขังโดยอำนาจศาลทหาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าคดีของคฑาวุธอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารเพราะเนื้อหาซึ่งเป็นความผิดยังเข้าถึงได้หลังมีประกาศให้พลเรือนที่ทำความผิดบางประเภทรวมทั้งมาตรา 112 ขึ้นศาลทหาร
ตั้งแต่ถูกฝากขังคฑาวุธยื่นคำร้องขอประกันตัวหลายครั้งแต่ศาลก็ไม่อนุญาตเขาจึงถูกคุมขังเรื่อยมา ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 คฑาวุธรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลทหารพิพากษาจำคุกคฑาวุธเป็นเวลาห้าปี
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
คฑาวุธเคยเป็นนายทหารพระธรรมนูญ และเคยเป็นทนายความ ก่อนถูกควบคุมตัวคฑาวุธเป็นดีเจจัดรายการวิทยุวิเคราะห์การเมืองบนอินเทอร์เน็ต ชื่อ "นายแน่มาก” ซึ่งหนึ่งตอนยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง รายการของคฑาวุธเผยแพร่บนเว็บไซต์ของเขาเองแต่ก็มีคนเอาไปโหลดไว้บนเว็บไซต์ยูทูปด้วย
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
คฑาวุธและบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า "หนุ่มลับแล" ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นผู้ใด ร่วมกันจัดรายการวิทยุออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
พฤติการณ์การจับกุม
คฑาวุธ มีชื่ออยู่ในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44/2547 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2557
คฑาวุธเดินทางมารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 หลังมารายงานตัว คฑาวุธถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ก่อนจะถูกตั้งข้อหาและถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
2 มิถุนายน 2557
ชื่อของคฑาวุธปรากฎอยู่ในคำสั่งคสช. ฉบับที่ 44 ซึ่งกำหนดให้คฑาวุธเข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศน์ ภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2557
3 มิถุนายน 2557
คฑาวุธเดินทางเข้ารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. และถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก
9 มิถุนายน 2557
หลังถูกควบคุมตัวตามกฎครบ 7 วัน คฑาวุธถูกนำมาควบคุมตัวต่อที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา
10 มิถุนายน 2557
คฑาวุธถูกนำตัวไปที่ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อพบพนักงานสอบสวน ในบ่ายวันเดียวกันคฑาวุธถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา โดยมีเพื่อนและทีมงานช่วยกันระดมเงินจำนวน 200,000 บาทเพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยพนักงานสอบสวนไม่คัดค้าน
ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจาก ข้อหาที่ถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง การกระทำกระทบต่อจิตใจประชาชนจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งเป็นการดำเนินการผ่านเว็บไซต์โดยมีกลุ่มดำเนินการอยู่ที่สปป.ลาว ซึ่งผู้ต้องหามีธุรกิจก่อสร้างอยู่ ดังนั้นหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนีออกนอกประเทศ ยากแก่การติดตามตัว
คฑาวุธถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
9 กรกฎาคม 2557
ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่สามด้วยหลักทรัพย์เงินสด 400,000 บาท ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะคำร้องไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงความร้ายแรงของข้อหา
18 กรกฎาคม 2557
ทนายความยื่นขอประกันตัวครั้งที่สี่ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 500,000 บาท ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะคำร้องไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
22 สิงหาคม 2557
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอยุติการฝากขังต่อศาลอาญาในช่วงเช้า และควบคุมตัวคฑาวุธไปขออำนาจศาลทหาฝากขังในช่วงบ่าย โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่าอัยการมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557
ในวันเดียวกันคฑาวุธยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารพร้อมวางเงินสด 300,000 บาทเป็นหลักประกัน ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า "พนักงานสอบสวนไม่อยู่ที่ศาลขณะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวและติดต่อไม่ได้ แต่ตามคำร้องฝากขัง พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ศาลนำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแล้วอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จึงไม่อนุญาต"
21 ตุลาคม 2557
นัดสอบคำให้การ
คฑาวุธถูกควบคุมตัวมาถึงศาลตั้งแต่เช้า เวลาประมาณ 9.00 ตัวแทนจากสถานทูตของสหภาพยุโรปเดินทางมาถึงศาลทหารและลงไปพูดคุยกับคฑาวุธที่ห้องควบคุมชั้วคราวเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่คฑาวุธจะถูกควบคุมตัวไปยังห้องพิจารณาคดี 1 ในเวลาประมาณ 9.30 น.
ในห้องพิจารณาคดี นอกจากจะมีคฑาวุธซึ่งเป็นจำเลย และทนายจำเลยแล้ว ยังมีเลขาของคฑาวุธและตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ส่วนผู้แทนจากสถานทูตของสหภาพยุโรปไม่ได้เข้ามาในห้องพิจารณาคดีเพราะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่าศาลจะพิจารณาลับ
ในเวลาต่อมา ระหว่างที่จำเลยรวมทั้งผู้สังเกตการณ์กำลังนั่งรอศาลขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลซึ่งเป็นนายทหารแจ้งกับผู้มาสังเกตการณ์คดีว่า ศาลจะพิจารณาคดีเป็นการลับ เพราะคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง ขอให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยออกจากห้องพิจารณาคดี
ผู้สังเกตการณ์หลายคนพยายามสอบถามและชี้แจงเหตุผลที่ควรอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์แต่ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพ
คำพิพากษา
ศาลทหารพิพากษาจำคุกคฑาวุธเป็นเวลาสิบปี แต่คฑาวุธรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกห้าปี