อานดี้ ฮอลล์ : คดีเผยแพร่รายงานบนเว็บไซต์ Finnwatch

อัปเดตล่าสุด: 17/07/2563

ผู้ต้องหา

อานดี้ ฮอลล์

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป

สารบัญ

อานดี้ ฮอลล์เป็นนักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติ ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทหลังเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติในกิจการผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดในประเทศไทย

เหตุแห่งคดีนี้เกิดในปี 2556 ศาลประทับรับฟ้องในปี 2558 ก่อนจะมีการสิบพยานและพิพากษาในปี 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำคุกจำเลยเป็นเวลาสามปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานดี้ ฮอลล์เป็นนักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติ เคยเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เขาทำวิจัยให้กับ Finnwatch ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรของฟินแลนด์ ผลวิจัยชี้ถึงการละเมิดสิทธฺแรงงานของบริษัทเนเชอรัลฟรุต

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จากรายละเอียดที่ปรากฏในฐานข้อมูลของศาลอาญาชี้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2556 นายอานดี้ ฮอลล์ นำผลงานวิจัยที่ได้จากการสัมภาษณ์คนงานของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต เผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยมีสื่อมวลชลและประชาชนร่วมรับฟังการอภิปรายงานวิจัย และสื่อมวลชนนำผลการวิจัยไปตีพิมพ์และเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 3 เว็บไซต์ โดยกล่าวหาว่าบริษัทคุกคามสิทธิมนุษย์ชนและสิทธิแรงงาน เช่น จ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จ้างแรงงานด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังไม่มีวันหยุดและโบนัสให้ตามที่กฎหมายกำหนดและมีแรงงานจากประเทศพม่าให้สัมภาษณ์ว่า ทางบริษัทยึดหนังสือเดินทางของพวกเขา ซึ่งไม่เป็นความจริง

การที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวไปเผยแพร่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จากประชาชนในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับทราบหรือพบเห็นในเอกสารหรือในระบบคอมพิวเตอร์ โจทก์จึงฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

 
 
 
 

หมายเลขคดีดำ

อ.517/2556

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

การเปิดเผยงานวิจัยดังกล่าวทำให้นายอานดี้ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คดีอาญาโจทก์ทำการฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ส่วนคดีแพ่งโจทก์ทำการฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐม

 

แหล่งอ้างอิง

ประเทศไทย: การใช้ข้อกฎหมายจัดการกับนายอานดี้ ฮอลล์นักสิทธิมนุษยชน,เว็บไซด์ Frontline Defenders 26 กุมภาพันธ์ 2556 (อ้างอิงเมื่อ 5 มีนาคม 2556)

ระบบสารสนเทศสำนวนคดี, ศาลอาญากรุงเทพใต้ 4 กุมภาพันธ์ 2556 (อ้างอิงเมื่อ 5 มีนาคม 2556)

ประชาสัมพันธ์งาน, เว็บไซด์สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มกราคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 6 มีนาคม 2556)

คดี 'อานดี้ ฮอลล์' ไม่คืบ รอโจทก์หาที่อยู่ในอังกฤษเพื่อส่งหมายเรียก, เว็บไซด์ประชาไท 11 เมษายน 2556 (อ้างอิงเมื่อ 17 เมษายน 2556) 

21 มกราคม 2556 

อานดี้ ฮอลล์เปิดตัวงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารเพื่อส่งออกในประเทศไทยที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในงานดังกล่าว มีบุคคลที่แจ้งว่าเป็นตัวแทนของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต มาร่วมงาน พร้อมทั้งประกาศว่า เนเชอรัล ฟรุต ปฏิเสธผลวิจัยของฮอลล์ทั้งหมด และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ

4 กุมภาพันธ์ 2556

ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้องคดีที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ (คดีหมายเลขดำที่ อ.517/2556) ในข้อหาเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,328, 332, 90, 91 ตามมาตรา 3 และ 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา (ฉบับที่11) พ.ศ. 2535 และตามมาตรา 3 และ 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในการนี้ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 1 เมษายน 2556 เวลา 13.30 น.

14 กุมภาพันธ์ 2556
 
ศาลจังหวัดนครปฐมรับฟ้องคดีละเมิดที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุตจำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายอานดี้ ฮอลล์เป็นเงินจำนวนทุนทรัพย์ 300,000,000 บาท ศาลนัดคู่กรณีไกล่เกลี่ยในวันที่ 10 เมษายน 2556 เวลา 13.30 น.และนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทย์ในวันที่ 29 เมษายน 2556 เวลา 13.30 น.
 
22 กุมภาพันธ์ 2556
 
อานดี้ได้รับแจ้งจากนักข่าวชาวยุโรปว่า เขาถูกบริษัท เนเชอรัลฟรุต ฟ้องฐานหมิ่นประมาท
 
26 กุมภาพันธ์ 2556
 
ฟร้อนทไลน์ ดีเฟนเดอร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อคดีของอานดี้ฮอลล์โดยระบุว่า การฟ้องร้องในคดีนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมายมาขัดขวางการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน
 
29 มีนาคม 2556
 
สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ทางสมาคมและสมาชิกตั้งใจจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 และกฎหมายอื่นๆ พร้อมทั้งจะจ้างงานอย่างเป็นธรรม และยืนยันที่จะไม่ใช้แรงงานเด็ก ในแถลงการณ์ยังระบุว่า ทางสมาคมและสมาชิกยินดีที่จะให้นักวิจัยอิสระรายงานข้อบกพร่องในความรับผิดชอบทางสังคมของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาและวางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
 
1 เมษายน 2556
 
ฟินน์วอทช์ องค์กรพัฒนาเอกชนฟินแสนด์ เจ้าของงานวิจัยอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีของนายอานดี้ ฮอลล์ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกการดำเนินคดีนายอานดี้ ฮอลล์ว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีหลักฐานสนับสนุนผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ ในระหว่างการทำวิจัย มีการติดต่อไปทางบริษัทเนเชอรัลฟรุตและบริษัทแนทกรุ๊ป (บริษัทแม่ของเนเชอรัล ฟรุต) หลายครั้งเพื่อขอความเห็น แต่ทางบริษัทไม่เคยโต้ตอบหรือให้ความเห็นใดๆต่อผลการวิจัยเลย ฟินน์วอทช์เชื่อว่า คดีนี้ไม่เพียงไม่มีมูล แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของนักสิทธิมนุษยชน ฟินน์วอทช์ขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการใดๆ ทางกฎหมายต่อนายอานดี้ ฮอลล์ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสืบสวนการปฏิบัติงานของบริษัทแนทกรุ๊ป (บริษัทแม่ของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต) ในทันที

ในวันเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดไต่สวนมูลฟ้อง ณ ห้อง 501 เวลา 13.30 น.


ฝ่ายโจทก์ประกอบด้วยรองประธานบริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด และคณะทนายความรวม 5 คน มีผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์คดีทั้งไทยและต่างประเทศประมาณ 7-8 คนเข้าร่วมฟังการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล


เวลา 13.50 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ ทนายโจทก์หารือกับผู้พิพากษาว่า เนื่องจากหมายเรียกผู้ต้องหาส่งไปไม่ถึงตัวจำเลย เพราะไม่มีที่อยู่ที่ชัดเจน จึงทำให้รายงานยังไม่เข้าสู่สำนวนฟ้อง ซึ่งทนายโจทก์ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวแล้ว ทราบว่าจำเลยไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงานในเมืองไทยแล้ว ทนายโจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายตรวจสอบที่อยู่ของจำเลย โดยขอเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสืบหาที่อยู่ของจำเลย

ศาลกำหนดวันนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 11 เมษายน 2556 เวลา 13.00 น. เพื่อฟังผลการสืบหาตัวจำเลย ซึ่งหากหลังส่งเอกสารทั้งหมดโดยชอบแล้ว ยังไม่พบตัวจำเลย ทนายโจทก์จะขอให้ศาลพิจารณาออกหมายเรียกไปยังประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่อยู่ตามถิ่นกำเนิดของจำเลย
 
3 เมษายน 2556
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลต่อกรณีที่นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ ถูกฟ้องหมิ่นประมาทหลังเปิดตัวงานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูปในประเทศไทย แถลงการณ์ของสรส.ระบุว่า การฟ้องร้องครั้งนี้จะมีผลกระทบในทางลบต่อทุกฝ่าย สรส.เรียกร้องให้บริษัทเนเชอรัล
ฟรุต ยุติการดำเนินคดีกับนายอานดี้ ฮอลล์และให้เคาพรต่อสิทธิของผู้ใช้แรงงานด้วย
 
11 เมษายน 2556
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดใต่สวนมูลฟ้องคดีที่ีบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติ ฐานหมิ่นประมาททางอาญา ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่ิอเสียง อย่างไรก็ดีในวันนี้จำเลยไม่ได้เดินทางมาตามที่ศาลนัด ทนายโจทย์จึงร้องขออำนาจศาลเพื่อลงประกาศตามตัวในหนังสือพิมพ์เพราะเชื่อว่านายอานดี้ ฮอลล์ยังอยู่ในประเทศไทยแต่ศาลไม่รับคำร้องดังกล่าว ให้เหตุผลว่าจากหลักฐานที่ศาลมีนายอานดี้ ฮอลล์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 หากโจทย์ต้องการจะประกาศตามตัวในหนังสือพิมพ์ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงแก่ศาลว่าจำเลยยังอยู่ในราชอาณาจักร หากจำเลยอยู่ต่างประเทศแล้ว  ก็ให้โจทย์แสดงที่อยู่ของจำเลยในต่างประเทศเพื่อให้ศาลออกหมายเรียกต่อไป ทั้งนี้ ศาลนัดวันใต่สวนมูลฟ้องอีกครั้งในวันที่7พฤษภาคม 2556 เวลา9.00 น.
 
7 พฤษภาคม 2556
 
ทนายโจทก์แจ้งต่อผู้พิพากษาว่าขอเลื่อนนัดเพื่อรวบรวมเอกสารเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นายอานดี้ ฮอลล์ ผู้ต้องหาในคดีไม่ได้มาศาลในวันนี้ 
 
ผู้พิพากษามีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีออกไปเป็นวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 เวลา 9.00 น.
 
8 กรกฎาคม 2556
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้เลื่อนการพิจารณาคดีที่บริษัทเนเชอรัล ฟรุต เป็นโจทก์ ฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ ฐานหมิ่นประมาทและกระทำผิดตารมพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทนายโจทย์ให้เหตุผลในการขอเลื่อนการพิจารณาคดีว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาเพื่อหาที่อยู่ของจำเลยและจัดส่งหมายเรียกไปให้ ทนายยังแจ้งต่อศาลด้วยว่า หากไม่สามารถส่งหมายเรียกให้จำเลยตามที่อยู่ในประเทศไทย ก็จะส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ของจำเลยในต่างประเทศ ศาลจึงกำหนดวันนัดใหม่เป็นวันที่ 19 สิงหาคม 2556
 
19 สิงหาคม 2556
 
ทนายโจทก์มาศาล 2 คน ฝ่ายจำเลยไม่มีใครมาศาล มีผู้สังเกตการณ์คดีและผู้สื่อข่าวรวมประมาณ 3 คน เนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่มีใครมาปรากฎตัว ศาลจึงสั่งให้โจทก์สืบเสาะที่อยู่ของจำเลยมาให้ได้ และนัดใหม่ครั้งหน้าวันที่ 13 กันยายน 2556

13 กันยายน 2556
ทนายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยไม่มีใครมาศาล ศาลให้โจทก์สืบเสาะหาที่อยู่ของจำเลยต่อไป และนัดใหม่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556
 
17 พฤศจิกายน 2557
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้อง เวลา 13.00 น. วันนี้นอกจากคู่ความได้แก่โจทก์ ทนายโจทก์ และทนายจำเลยจะมาศาลแล้ว ก็มีผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติ จากสถานทูตฟินแลนด์ และทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจากแคนาดามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ตัวจำเลยไม่มาศาล 
 
ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลขอให้คู่ความไกล่เกลี่ยยอมความกัน เพราะศาลยังไม่ได้สั่งฟ้องคดี แต่คู่ความตกลงกันไม่ได้ โจทก์ยืนยันว่าโรงงานของตนได้รับความเสียหายอย่างมากหลังจากงานวิจัยของฝ่ายจำเลยเผยแพร่สู่สาธารณะ โจทก์ยื่นข้อเสนอว่า ให้มีคณะผู้ตรวจสอบซึ่งเป็นคนกลางที่มีตัวแทนทางการไทยอยู่ด้วยไปตรวจโรงงาน หากตรวจสอบแล้วไม่เป็นดังที่จำเลยรายงาน จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทนายจำเลยแถลงว่า ไม่สามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้ เมื่อการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลศาลจึงให้ไต่สวนมูลฟ้อง
 
พยานโจทก์ปากที่ 1 คชินทร์ คมนียวณิช รองประธานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต 
 
คชินทร์เบิกความว่า ข้อความที่อยู่ในงานวิจัย ระบุว่า โรงงานยึดหนังสือเดินทางแรงงานอย่างผิดกฎหมาย ไม่เป็นความจริง โรงงานไม่ได้ยึดหนังสือเดินทาง แต่เป็นแรงงานที่นำมาฝากเพื่อให้โรงงานดำเนินการต่ออายุและทำประกันสังคม เมื่อดำเนินการเสร็จ โรงงานจะคืนให้พนักงาน
 
คชินทร์เบิกความว่า ในรายงานเขียนว่ามีการหักเงินเดือนโดยสุ่มและไม่อธิบาย ซึ่งไม่จริง การหักเงินเดือนมีเพียงการหักค่าค่าเครื่องแบบพนังงาน ค่าธรรมเนียมบริการและประกันสังคม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่มีหน่วยงานเข้าไปตรวจพบว่า โรงงานมีห้องน้ำไม่เพียงพอ ทางโรงงานก็แก้ไขแล้ว 
 
ข้อความที่ปรากฎในงานวิจัยของจำเลย และเผยแพร่ในเว็บไซต์ฟินวอช เป็นข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งทำลายชื่อเสียงโรงงานของฝ่ายโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหาย มีลูกค้าบอกเลิกสัญญาทำให้โรงงานขาดทุน ทั้งโจทก์ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นให้ตัวแทนขายสินค้าเป็นราคาแพงเพื่อให้ช่วยหาลูกค้ารายอื่น 
 
คชินทร์ยืนยันว่า โจทก์ดูแลและรักษามาตรฐานของโรงงานเป็นอย่างดี เนื่องจากต้องทำการค้ากับต่างประเทศ
 
ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งต่อไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 9.00 น.
 
2 กุมภาพันธ์ 2558
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 1 คชินทร์ คมนียวณิช รองประธานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ต่อจากนัดที่แล้ว
คชินทร์ปฏิเสธคำถามทนายจำเลยที่ว่า บริษัทหักค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเครื่องแบบพนักงาน ออกจากเงินเดือนโดยลูกจ้างไม่ยินยอม พยานระบุว่า บริษัทโจทก์ให้ฝ่ายลูกจ้างเป็นผู้หาซื้อเครื่องแบบพนักงานเอง
 
พยานระบุว่า แม้ใบเสร็จเงินเดือนของลูกจ้างจะเป็นภาษาไทย ซึ่งลูกจ้างบางส่วนเป็นคนต่างชาติ ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ แต่จะมีคนแปลภาษาให้ พยานปฏิเสธว่าไม่มีการยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างชาวต่างชาติ หรือการเก็บค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงานในเมืองไทย มีเพียงการนำหนังสือเดินทางไปในกรณีที่ต้องไปต่อใบอนุญาตขอทำงานเท่านั้น
 
พยานอ้างว่า อานดี้ ฮอลล์ ผู้ต้องหาคดีนี้เข้ามาทำการวิจัยเรื่องแรงงานในบริษัทโจทก์โดยไม่ได้ขออนุญาต ทนายความแจ้งว่า ผู้ต้องหาได้ส่งอีเมล์มาขออนุญาตแล้วซึ่งเป็นอีเมล์จากฟินวอช (Finnwatch) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 แต่พยานปฏิเสธว่าไม่เคยเห็นอีเมล์ดังกล่าว
 
16 มีนาคม 2558
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 1 คชินทร์ คมนียวณิช รองประธานบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ต่อจากนัดที่แล้ว
 
ทนายผู้ต้องหาถามเรื่องผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นคนละคนกับผู้เขียนรายงานการวิจัย คือ อานดี้ ฮอลล์ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จึงถือว่าไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คชินทร์ตอบว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ แต่เห็นชื่อจำเลยปรากฏบนเว็บจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ
 
ทนายความถามว่า สื่อมวลชนนำคำพูดของผู้ต้องหาในงานแถลงข่าวไปเผยแพร่ แต่ทำไมโจทก์จึงไม่ดำเนินคดีกับสื่อมวลชนด้วย พยานตอบว่า บริษัทโจทก์ไม่อยากมีปัญหากับสื่อมวลชน
 
ถามติงพยานโจทก์ปากที่ 1 
 
ทนายโจทก์ถามพยานว่า เนื้อหาที่อยู่ในงานวิจัยมีอะไรบ้างที่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่จากสวัสดิการแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาตรวจสอบ พยานตอบว่ามีเรื่องจำนวนห้องน้ำไม่เพียงพอ แต่บริษัทโจทก์ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
 
20 เมษายน 2558
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
พยานโจทก์ปากที่ 2 วิรัช ปิยพรไพบูลย์ กรรมการบริษัท เนเชอรัล ฟรุต 
 
วิรัชแถลงต่อศาลว่า บริษัทโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากภายหลังจากที่คู่ค้าของบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติรับทราบถึงการเผยแพร่งานวิจัยของอานดี้ ฮอลล์ บริษัทโจทก์ต้องจ้างตัวแทนจำหน่ายมาขายสินค้า โดยต้องทำการเปลี่ยนฉลากสินค้าให้เป็นของตัวแทน เพราะไม่สามารถขายสินค้าในนามของบริษัทโจทก์ได้ ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และถูกกดราคา ทั้งนี้โจทก์ได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาด้วย แม้ยอดขายของปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ถูกกล่าวหาแถลงข่าวและเผยแพร่งานวิจัย จะเท่ากับยอดขายของปี 2555 แต่โจทก์ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายจำนวนมาก 
 
พยานแถลงต่อศาลว่า พยานยังได้รับผลกระทบภายหลังจากที่งานวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่ เนื่องจากพยานดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายหลังงานวิจัยถูกเผยแพร่ พยานต้องชี้แจงกับองค์กรเหล่านี้ นอกจากนี้ ชาวบ้านบางส่วนที่อยู่บริเวณโรงงานยังเกลียดชังบริษัทโจทก์ด้วย
 
ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 2
 
ทนายความผู้ต้องหาถามพยานว่า บริษัทโจทก์รับลูกจ้างชาวต่างชาติเข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบเพราะไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ กรมแรงงานจะเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบ ในปี 2555 บริษัทโจทก์มีลูกจ้างประมาณ 200 คน ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งบริษัทโจทก์รับไว้ แต่ยังไม่ได้ให้ทำงาน
 
พยานปฏิเสธว่าไม่มีการหักเงินค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ออกจากเงินเดือนของลูกจ้าง 
 
ทนายถามว่า คำสั่งชะลอการสั่งซื้อของคู่ค้าเกิดจากคู่ค้ามีหนังสือร้องขอให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางมาตรวจสอบก่อนว่าบริษัทโจทก์ได้กระทำถูกต้องตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าลูกค้าของโจทก์ขอเข้ามาตรวจสอบโรงงาน ก็ยินดี
 
พยานโจทก์ปากที่ 3 อัง เนียม ลูกจ้างบริษัทโจทก์
 
พยานปากนี้เป็นชาวพม่า แต่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้จึงไม่ต้องใช้ล่าม
 
พยานเบิกความว่า พยานมีสัญชาติพม่า และเป็นลูกจ้างบริษัทโจทก์มา 10 กว่าปีแล้ว โดยทำงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดโรงงาน บริษัทโจทก์ดูแลพนักงานเป็นอย่างดี
 
ทนายโจทก์นำรูป อานดี้ ฮอลล์ มาให้พยานดู ถามพยานว่ารู้จักบุคคลในรูปหรือไม่ พยานแถลงต่อศาลว่า ตนเคนเห็นบุคคลในรูป แต่ไม่ทราบชื่อ คนในรูปเป็นคนพาพยานและลูกจ้างอีก 4 คนของบริษัทโจทก์ไปที่หัวหิน นอกจากนี้ ยังมีลูกจ้างจากโรงงานอื่นอีก 5-6 คน ไปด้วย พยานกล่าวต่อว่า บุคคลในรูปถามคำถามเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับเรื่องการจ้างงานของบริษัทโจทก์ การจ่ายค่าจ้าง การทำร้ายร่างกาย ภายหลังการสอบถาม ลูกน้องของบุคคลในรูปให้พยานและคนอื่นๆ ที่ไปด้วยกันเซ็นชื่อลงในกระดาษเปล่า และจ่ายเงินคนละ 300 บาท
 
ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 3
 
พยานตอบคำถามทนายผู้ต้องหาเกี่ยวกับการหักเงินค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟออกจากเงินเดือนของลูกจ้างว่า ลูกจ้างบริษัทโจทก์จ่ายค่าเช่าที่พักเอง ส่วนเรื่องรถรับส่งพนักงาน ตนไม่ทราบว่าบริษัทโจทก์ดำเนินการอย่างไร เพราะตนขี่รถจักรยานยนต์มาทำงานเอง
 
ทนายความถามว่า ระหว่างที่ อานดี้ ฮอลล์ ทำการสัมภาษณ์พยาน มีการบันทึกเสียงและขอดูบัตรพนักงานหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีการบันทึกเสียงและไม่มีการขอสำเนาบัตรพนักงาน มีเพียงการลงชื่อลงในกระดาษเปล่าเท่านั้น
 
14 พฤษภาคม 2558
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอานดี้ ฮอลล์ในช่วงเช้า คู่ความมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.00 น. แต่ศาลติดสืบพยานคดีอื่น จึงถามคู่ความที่นั่งรออยู่ในห้องพิจารณาคดีว่า จะเลื่อนไปไต่สวนมูลฟ้องในช่วงบ่ายแทนได้หรือไม่ คู่ความแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจ ศาลจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องในช่วงบ่ายแทน
พยานโจทก์ปากที่ 4 อลงกต วโนทยาโรจน์ ตัวแทนติดต่อลูกค้าต่างประเทศของบริษัทโจทก์
 
อลงกตเบิกความว่า ในคดีนี้ ตนเองเป็นตัวกลางที่ประสานงาน การซื้อขายระหว่างบริษัทต่างประเทศกับบริษัทเนเชอรัล ฟรุต โดยตนรับหน้าที่ประสานงานหาบริษัทลูกค้าต่างประเทศที่ต้องการซื้อสินค้าของโจทก์มาได้ 7 ปีแล้ว
 
ประมาณต้นปี 2556 มีบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ซื้อสินค้าจากของบริษัทโจทก์ ติดต่อมาว่า ทางฟินวอทช์เผยแพร่รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานในบริษัทของโจทก์ อยากให้พยานไปตรวจสอบ พยานจึงเข้าเว็บไซต์ที่บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาให้มา และพบรายงานซึ่งกล่าวว่า บริษัทโจทก์ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ทั้งเรื่องชั่วโมงการทำงาน การใช้ความรุนแรง 
 
เมื่อพยานเห็นรายงานดังกล่าว ก็สอบถามไปทางบริษัทโจทก์ ผ่าน คชินทร์ คมนียวณิช ซึ่งชี้แจงมาว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริง
 
พยานทราบว่า หลังมีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวก็ปรากฏว่ามีลูกค้าต่างชาติบางรายยกเลิกคำสั่งซื้อที่สั่งบริษัทโจทก์ไว้ 
 
ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 4 
 
ในช่วงการถามค้าน ทนายจำเลยซักว่าพยานติดต่อกับบริษัทโจทก์อย่างไร พยานตอบว่า ติดต่อผ่านอีเมล์ฝ่ายการตลาดของบริษัทและติดต่อผ่านอีเมล์ของคชินทร์ แต่ไม่รู้จักกับคชินทร์เป็นการส่วนตัว 
 
ทนายถามว่า ลูกค้าของเนเชอรัลฟรุตมีบริษัทจากยุโรปด้วยใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ 
 
ทนายถามว่า เมื่อสอบถามข้อมูลจากคชินทร์แล้ว ได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงงานหรือไม่ พยานรับว่าไม่ได้ไปตรวจสอบ
 
พยานปากที่ 5 ดร. ชัยฤทธื์ ทองรอด รองคณะบดี คณะวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พยานผู้เชี่ยวชาญด้านงานทำงานวิจัย
 
พยานเบิกความว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยน่าเชื่อถือคือจำนวนประชากร ซึ่งในทางสากลจะมีการกำหนดเอาไว้ว่า ประชากรรวมมีกี่คน ต้องศึกษาตัวอย่างอย่างน้อยกี่คนจึงจะน่าเชื่อถือ ในกรณีนี้ มีประชากรแรงงานข้ามชาติประมาณ 600 คน ต้องมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างอย่างน้อย 250 คน จึงจะมีความน่าเชื่อถือ 95% การที่งานวิจัยของจำเลยศึกษาประชากรตัวอย่างเพียง 12 คน จึงไม่น่าเชื่อถือ
 
พยานเบิกความด้วยว่า ในการเก็บตัวอย่างประชากรต้องเก็บให้รอบด้าน กล่าวคือ นอกจากจะสัมภาษณ์คนงานแล้ว ต้องสัมภาษณ์ผู้บริหารส่วนหนึ่งด้วย 
 
พยานเบิกความด้วยว่า นักวิจัยต้องมีจรรยาบรรณ ในการเปิดเผยผลวิจัยต้องไม่เปิดเผยชื่อของผู้ถูกวิจัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับหน่วยวิจัย หากนักวิจัยทำผิดจรรยาบรรณจนมีผู้เสียหายก็สามารถถูกดำเนินคดีได้
 
ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 5
 
พยานเบิกความว่า ตนไม่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่เคยไปโรงงานของโจทก์ ไม่เคยทราบว่ามีการวิจัยของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการให้เปิดเผยการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงานผู้ผลิต  สำหรับรายงานของอานดี้ เมื่อได้ดูก็เข้าใจว่าเป็นเพียงบทสรุปสำหรับผู้บริหาร ไม่ใช่รายงานฉบับเต็ม 
 
19 กรกฎาคม 2558
องค์กรฟินวอช (Finnwatch) และองค์กรพัฒนาเอกชนของต่างประเทศอีก 28 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ทางการไทยแทรกแซงการดำเนินคดีที่บริษัทเนเชอรัล ฟรุ๊ต ฟ้องหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับ อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน เนื่องจากการดำเนินคดีดังกล่าวถือเป็นการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและแสดงถึงการขาดการรับผิดในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน
 
ในจดหมายยังแสดงความกังวลกรณีที่อัยการจะยื่นอุทธรณ์ในอีกคดีหนึ่งที่บริษัทเนเชอรัล ฟรุ๊ต ฟ้องหมิ่นประมาทอานดี้ ฮอลล์ กรณีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา ซึ่งผู้พิพากษาได้ยกฟ้องไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 เนื่องจากกระบวนการสอบสวนจำเลยเป็นไปโดยมิชอบ
 
20 กรกฎาคม 2558 
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
พยานโจทก์ปากที่ 6 นักวิชาการ สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
พยานเบิกความว่ามีการตรวจโรงงานโจทก์ประมาณปีละ 1 ครั้ง แต่ไม่ได้ตรวจทุกปี เป็นลักษณะสุ่มตรวจ ในปี 2554-2555 ได้มีการตรวจโรงงานโจทก์ แต่ไม่พบความผิด นอกจากนี้โรงงานโจทก์ยังไม่เคยมีประวัติถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย 
พยานแถลงว่า ต้นปี 2556 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงงานของส่วนกลางแจ้งข่าวให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปตรวจสอบโรงงานของโจทก์ เนื่องจากมีข่าวว่าบริษัทเนเชอรัล ฟรุต ใช้แรงงานเด็ก ซึ่งข่าวดังกล่าวมาจากการเผยแพร่รายงานการวิจัยของ อานดี้ ฮอลล์
 
พยานระบุว่า มีการตรวจโรงงานโจทก์ในปี 2556 ประมาณ 4 ครั้ง และมีการทำบันทึกไว้ โดยมีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน เช่น จำนวนห้องน้ำที่ไม่เพียงพอ การปัดเศษ .25 สตางค์ของค่าแรงลูกจ้างทิ้ง ทำให้ได้ค่าล่วงเวลาไม่ครบ อย่างไรก็ดี เมื่อได้ตักเตือนไปแล้ว บริษัทโจทก์ก็ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย
 
พยานระบุว่า มีการสัมภาษณ์แรงงานพม่าที่ทำงานในบริษัทโจทก์ โดยเป็นการสุ่มสัมภาษณ์และไม่มีการบอกล่วงหน้า ลูกจ้างพม่าที่พยานสัมภาษณ์บางคนพูดไทยไม่ได้ จึงใช้ล่ามชาวพม่าซึ่งก็คือคนงานพม่าในบริษัทโจทก์ที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้
 
พยานเบิกความว่า การยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างไม่เกี่ยวกับกฎหมายในส่วนที่ตนดูอยู่ จึงไม่ทราบเรื่องนี้ แต่จากการสัมภาษณ์ลูกจ้างบริษัทโจทก์บอกว่า นายจ้างนำหนังสือเดินทางไปต่อใบอนุญาตเข้าเมือง จากการตรวจสอบพบว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย และไม่พบว่า มีกรณีไม่จ่ายค่าจ้างลูกจ้างเนื่องจากไม่มีงานทำ และไม่พบว่าบริษัทโจทก์ค้ามนุษย์ ส่วนการประกันสังคม พยานไม่แน่ใจเพราะเป็นเรื่องของอีกหน่วยงาน
 
พยานแถลงว่า จากการตรวจสอบโรงงานโจทก์พบว่าโรงงานอยู่ในสภาพปกติ โรงงานโจทก์ให้การต้อนรับการตรวจเยี่ยมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อมีการขอเยี่ยมชมโรงงาน ทางจังหวัดก็ให้โรงงานโจทก์เป็นโรงงานที่ผู้มาเยี่ยมได้เข้าชม และทางโรงงานยังได้รับรางวัล Happy Workplace ซึ่งมอบให้กับสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ น่าทำงานอีกด้วย
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
พยานระบุว่า พยานรู้จักกับ วิรัตน์ ในฐานะเจ้าของบริษัทเนเชอรัล ฟรุ๊ต และพบเจอกันตามสถานที่ประชุมเท่านั้น สำหรับ คชินทร์ พยานเพิ่งรู้จักกันตอนไปตรวจโรงงานโจทก์ 4 ครั้งหลัง
ทนายถามว่า ถ้าพยานไม่ได้รับคำสั่งจากกรมให้ไปตรวจโรงงาน พยานจะไปตรวจหรือไม่ พยานตอบว่า ไปตรวจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ พยานเล่าว่า มีการหักค่าเครื่องแบบพนักงานจริง เช่น เสื้อ หมวก เน็ตคลุมผม แต่ต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้างก่อน โดยต้องทำเป็นหนังสือ 
 
ทนายถามว่า การสัมภาษณ์ลูกจ้างชาวพม่า มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของพยานสามารถสื่อสารภาษาพม่าได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ ดังนั้นถ้าแปลผิดพยานก็ไม่ทราบ
 
พยานโจทก์ปากที่ 7 พนักงานสำนักทนายความที่เข้าไป
สังเกตการณ์งานแถลงข่าวรายงานการวิจัยของอานดี้ ฮอลล์
 
พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 พยานได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมงานแถลงข่าวที่อ้างว่าเป็นการเปิดเผยรายงานการวิจัยด้านแรงงาน ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT โดยผู้ที่แถลงรายงานดังกล่าวคือ อานดี้ ฮอลล์ ผู้ต้องหาในคดีนี้ ในรายงานมี 3 ประเด็น คือ หนึ่ง การทำร้ายแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในโรงงานโจทก์ สอง การค้ามนุษย์ สาม การไม่จ่ายค่าจ้างแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด
 
พยานระบุว่า ข้อความทั้งหมดที่อยู่ในเอกสารที่ตนได้รับแจกภายในงานแถลงข่าวไม่เป็นความจริง
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
พยานระบุว่า คชินทร์แจ้งไปยังสำนักงานกฎหมาย ดร.สมศักดิ์ โตรักษา ซึ่งเป็นผู้ว่าความให้บริษัทโจทก์ ส่งคนไปร่วมรับฟังในงานแถลงข่าว และพยานไปร่วมรับฟังงานแถลงข่าวเท่านั้น ไม่ทราบว่าทางบริษัทโจทก์ได้ทำการบันทึกภาพและเสียงไว้หรือไม่ 
 
พยานไม่ทราบแน่ชัดว่า หน่วยงานใดเป็นผู้แจกเอกสารที่พยานได้รับมา
 
พยานระบุว่า อานดี้ ฮอลล์ เชิญพยานขึ้นไปพูดหลังบรรยายเสร็จแล้ว พยานได้ชี้แจงความจริงแทนบริษัทโจทก์
 
ทนายโจทก์ถามติง
 
พยานระบุว่า การแถลงข่าวของอานดี้ ฮอลล์ มีการกล่าวหาบริษัทโจทก์ว่า หนึ่ง การทำร้ายแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในโรงงานโจทก์ สอง การค้ามนุษย์ สาม การไม่จ่ายค่าจ้างแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีผู้แถลงข่าวเพียง 1 คนเท่านั้น คือ อานดี้ ฮอลล์
 
พยานโจทก์ปากที่ 8 ผู้จัดการโรงงานของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต
 
พยานเบิกความว่าทำงานที่บริษัทโจทก์ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 14 ปี มีหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงงาน ดูแลการผลิตของโรงงาน 
 
พยานระบุว่า สิ่งที่ลูกจ้างของโรงงานต้องจัดหาเองคือ เครื่องแบบพนักงาน เช่น เสื้อ หมวก เน็ตคลุมผม ส่วนสิ่งที่บริษัทจัดหาให้คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน เช่น เอี๊ยม ถุงมือ และผ้ากันเปื้อน ในส่วนของเครื่องแบบพนักงาน หากลูกจ้างหาเองไม่ได้ บริษัทจะเป็นผู้จัดหาให้แล้วหักจากค่าจ้าง แต่เมื่อพยานทราบจากกรมแรงงานว่าไม่ควรทำเช่นนั้น จึงได้เปลี่ยนวิธีการ 
 
พยานระบุว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กและบริษัทโจทก์ก็จ่ายค่าล่วงเวลาในการทำงานให้กีบพนักงาน
 
พยานระบุว่า หลังเจ้าหน้าที่สวัสดิการแรงงานจังหวัดมาตรวจโรงงานและให้คำแนะนำในวันที่ 28 มกราคม 2556 บริษัทโจทก์ก็เปลี่ยนแปลงตามคำแนะนำ
 
พยานระบุว่า ทุกปีจะมีหน่วยงานมาขอเยี่ยมชมโรงงานโจทก์ ซึ่งจะมีการทำหนังสือขอเข้าเยี่ยมเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งบริษัทก็อนุญาตให้เข้าเยี่ยมโดยตลอด
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
พยานระบุว่า การรวบรวมหนังสือเดินทางกรณีที่ให้บริษัทโจทก์ดำเนินการต่ออายุหนังสือเดินทางให้ลูกจ้างจะมีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการลงลายมือชื่อด้วย สำหรับค่าต่ออายุใบอนุญาตทำงานลูกจ้างจะเป็นผู้จ่ายเอง ในกรณีที่ลูกจ้างจะทำงานล่วงเวลา จะมีแบบฟอร์มสำหรับลงชื่อเพื่อทำงานล่วงเวลาด้วย
 
ฝ่ายโจทก์ไต่สวนพยานครบทุกปากแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2558 เวลา 9.00 น. 

 

24 สิงหาคม 2558

นัดฟังคำสั่งฟ้อง

ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอานดี้ ฮอลล์ฟังคำสั่ง ว่าจะรับฟ้องคดีที่ บริษัทเนเชอรัล ฟรุต เป็นโจทก์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) หรือไม่

เวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนจากสถานทูต ได้แก่ สถานทูตฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และตัวแทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวมทั้งผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และสำนักข่าวประชาไท เริ่มทยอยมาที่ห้องพิจารณาคดี 501    ในวันนี้ทั้งจำเลยและโจทก์ไม่มาศาล โดยโจทก์ส่งตัวแทนมาศาล 2 คน ขณะที่อานดี้ ฮอล มีตัวแทนทีมทนายอยู่ในห้องพิจารณาคดีเพียงคนเดียว 

 
ประมาณ 9.45 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ถือคำสั่งศาลเข้ามาในห้องพิจารณาคดี และแจ้งกับคู่ความสั้นๆว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงรับฟ้อง และให้นัดจำเลยมาศาลวันที่ 19 ตุลาคม 2558 โดยเจ้าหน้าที่ แจ้งกับคู่ความด้วยว่า เนื่องจากศาลติดคดีอื่น จึงจะไม่ลงมาที่ห้องพิจารณาคดี 
 
ระหว่างที่ตัวแทนคู่ความลงลายมือชื่อในเอกสาร ตัวแทนฝ่ายโจทก์ซึ่งไม่มีข้อมูลว่าเป็นทีมทนายความหรือเป็นตัวแทนบริษัทเนเชอรัล ฟรุต ถามตัวแทนทีมทนายจำเลยว่า จำเลยมาศาลหรือไม่ ตัวแทนทนายตอบว่า ไม่ได้มา ตัวแทนฝ่ายโจทก์ท้วงขึ้นสั้นๆว่า เห็นจำเลยยื่นให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพอยู่ด้านนอกศาล
 
 
ตัวแทนทนายของอานดี้ ฮอล  เผยถึงรายละเอียดวันนัดหมายภายหลังว่า จากที่ศาลไต่สวนมูลฟ้อง ศาลเห็นว่าคดีมีมูล จึงสั่งรับฟ้องคดี และให้เวลาโจทก์ 7 วัน เพื่อออกหมายเรียก ให้อานดี้ ฮอล เดินทางมาสอบคำให้การ วันที่ 19 ตุลาคม 2558 เวลา 9.00 น.  
 
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ตัวแทนสถานทูต และผู้สื่อข่าวเดินไปที่ร้านกาแฟฝั่งตรงข้ามศาล พบว่าอานดี้ ฮอล อยู่ในร้านกาแฟ และเปิดเผยกับตัวแทนสถานทูตและผู้สื่อข่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่ศาลรับฟ้องคดี เนื่องจากตนเป็นเพียงผู้วิจัยภาคสนาม รวบรวมข้อมูลส่งให้ฟินวอทช์ เท่านั้น ไม่ใช่ผู้เขียนรายงาน และไม่ใช่ผู้อัพโหลดข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ อีกทั้งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฟินวอทช์  ไม่มีสิทธิแก้ไขข้อมูลหรือเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซด์ฟินวอทช์
 
อานดี้ยืนยันว่า ในวันนัดสอบคำให้การ จะให้การปฏิเสธและสู้คดี เพราะต้องการสร้างบรรทัดฐานที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมา คดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มักถูกใช้แบบผิดๆเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก 
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงคดีหมิ่นประมาทที่เกิดจากการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว อัล จาซีรา ซึ่งบริษัทเนเชอรัลฟรุตเป็นโจทก์ร่วม ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพระโขนง อานดี้ยอมรับว่า เป็นสิทธิของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต ที่จะฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่ง หากเห็นว่า การให้สัมภาษณ์ของตน ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ตนจะไม่ยอมรับการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาเพราะถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก
 
ระว่างที่อานดี้กำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและตัวแทนสถานทูตในร้านกาแฟ ปรากฎว่าตัวแทนฝ่ายโจทก์ที่ถามตัวแทนฝ่ายจำเลยว่าจำเลยมาศาลหรือไม่ เข้ามาในร้านกาแฟเดียวกัน และใช้โทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพอานดี้ ฮอลไว้ 
 
19 ตุลาคม 2558
 
นัดพร้อมสอบคำให้การ
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 501 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอานดี้ ฮอล์สอบคำให้การในเวลา 9.00 น. ทนายโจทก์และทนายจำเลยมาศาลส่วนตัวจำเลยไม่มาศาล 

เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ ได้เรียกทนายโจทก์และทนายจำเลยไปพูดคุยที่หน้าบัลลังก์ ทนายโจทก์บอกกับศาลว่าเชื่อว่าจำเลยรู้เรื่องวันนัดแล้ว ในนัดก่อน จำเลยก็มาที่ศาล แต่ไม่ยอมขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี
 
ทนายจำเลยแจ้งศาลว่า หมายเรียกที่ส่งไปให้จำเลยครั้งแรกส่งไปที่อยู่เก่า จำเลยจึงยังไม่ได้รับหมายเรียก ส่วนหมายที่นำไปปิดที่สำนักงานของทนายจำเลย ก็เพิ่งไปติดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ซึ่งไม่ถึง 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด

ศาลนัดสอบคำให้การใหม่ในวันที่ 18 มกราคม 2559 เนื่องจากจำเลยเป็นชาวต่างชาติ  ศาลจึงถามทนายจำเลยเรื่องล่าม ทนายแจ้งว่า จำเลยอยากได้ล่ามคนเดียวกับที่เคยแปลกระบวนพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดพระโขนงมาทำหน้าที่แปลให้อีกครั้ง ศาลรับว่าจะพยายามติดต่อให้แต่ถ้าล่ามคนเดินไม่ว่างก็จะหาล่ามคนอื่นให้
 
13 มกราคม 2559 
 
อานดี้ ฮอลล์ไปมอบตัวต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนได้รับการประกันตัวยเงินจำนวน 300,000 บาทที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรฟินน์วอทช์ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association – TTIA) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  นอกจากนี้ศาลได้สั่งให้ยึดหนังสือเดินทางไว้ด้วย    
 
2 พฤษภาคม 2559
 
อานดี้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีส่วนตัวของเขาว่า ศาลอนุญาตให้เขาเดินทางออกนอกประเทศได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับรัฐบาลใหม่ของเมียนมาร์ในการหารือเกี่ยวกับประเด็นการอพยพที่กรุงเนปิดอว์ 
 
20 กันยายน 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
อานดี้เดินทางมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น.เขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่หน้าศาลเป็นเวลาสั้นๆก่อนเดินขึ้นห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำพิพากษา บรรยากาศในห้องพิจารณาคดี 405 เป็นไปอย่างคึกคัก
 
นอกจากจำเลย ตัวแทนของฝ่ายโจทก์ที่รับมอบอำนาจจากทางบริษัทมาฟ้องคดีและทีมทนายของทั้งสองฝ่ายแล้วยังมีผู้สังเกตการณ์ทั้งจากโรงงานของโจทก์ ตัวแทนสถานทูตอังกฤษ ฟินแลนด์ ตัวแทนคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผู้ใช้แรงงานชาวพม่า รวมทั้งสื่อมวลชนจากสำนักข่าวของไทยและต่างประเทศมาร่วมฟังคำพิพากษาประมาณ 50 – 60 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ศาลต้องนำเก้าอี้มาเสริมอีกสามตัว
 
ในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลมีคำพิพากษาว่าอานดี้ร่วมกับองค์กรฟินวอทช์เผยแพร่รายงานการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานของโจทก์ โดยเนื้อหาของรายงานมีลักษณะเป็นการใส่ความทำให้บริษัทของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และมาตรา 14(1) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
 
นอกจากนี้อานดี้ยังจัดการแถลงข่าวเปิดเผยรายงานในเดือนมกราคม 2556 และ ยินยอมให้มีการแจกบทสรุปสำหรับผู้บริหารซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ในงานดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา 
 
การกระทำของอานดี้เป็นการประทำต่างกรรมต่างวาระให้ลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษจำคุกความผิดกรรมละสองปีและปรับความผิดกรรมละ 100,000 บาท รวมจำคุกสี่ปี ปรับ 200,000 อย่างไรก็ตามเนื่องจากอานดี้ให้การเป็นประโยชน์ศาลจึงลดโทษให้หนึ่งในสี่เหลือจำคุกสามปี ปรับ 150,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดสองปี 
 
หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายของอานดี้ นำเงิน 150,000 บาทไปชำระต่อศาล ส่วนอานดี้ ถูกนำตัวไปควบคุมในพื้นที่ควบคุมตัวชั่วคราวของศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. เพื่อกรอกเอกสาร อานดี้ ได้รับการปล่อยตัวจากศาลในเวลา 11.45 น. โดยเขายืนยันว่าจะอุทธรณ์คดีต่อไป
 
 

24 เมษายน 2561

นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น.ผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตอังกฤษ,สถานทูตสวีเดนและผู้แทนองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งชาญชัย เจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีหมิ่นประมาทอานดี้อีกคดีหนึ่งทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดี 405 เพื่อร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่บริษัทเนเชอรัลฟรุตเป็นโจทก์ฟ้องอานดี้ ฮอลล์

ต่อมาเวลา 9.40 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และถามว่า วันนี้มีใครมาร่วมฟังคำพิพากษาบ้าง บริษัทเนเชอรัล ฟรุต ซึ่งเป็นโจทก์แจ้งว่ามีผู้รับมอบอำนาจมาหนึ่งคน ฝ่ายจำเลยมีเพียงทนายจำเลยมาศาลหนึ่งคนส่วนตัวอานดี้ซึ่งเป็นจำเลยไม่มาศาล ศาลสอบถามทนายจำเลยว่า ตอนนี้อานดี้อยู่ที่ไหน ทนายจำเลยตอบว่า หลังฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น อานดี้เคยแจ้งว่าจะเดินทางไปต่างประเทศ แต่ตอนนี้ติดต่อไม่ได้และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ศาลถามต่อว่า ผู้ใดเป็นผู้ลงนามและดำเนินการเรื่องการอุทธรณ์คดี ทนายจำเลยแถลงว่าไม่ทราบเพราะผู้ดำเนินการเรื่องการอุทธรณ์คดีเป็นทีมทนายอีกทีมหนึ่ง ศาลจึงแจ้งว่าจะดำเนินการออกหมายจับต่อไปเนื่องจากจำเลยไม่มาศาล

ระหว่างนั้นศาลถามผู้มาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีว่ามาจากที่ใดกันบ้าง เมื่อทนายจำเลยแจ้งว่ามีผู้แทนจากสถานทูตสหราชอาณาจักรมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ศาลจึงขอให้ทนายจำเลยถามผู้แทนว่าทราบหรือไม่ว่าตอนนี้ตัวจำเลยอยู่ที่ใด ผู้แทนตอบว่า ไม่ทราบ ศาลถามย้ำอีกครั้งว่า จำเลยยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ผู้แทนตอบว่า ไม่ทราบ จากนั้นศาลแจ้งต่อทนายจำเลยว่า จะจัดส่งเอกสารคดีไปยังที่อยู่เดิมที่จำเลยเคยแจ้งไว้ พร้อมให้เหตุผลว่าศาลต้องออกหมายจับเนื่องจาก ต้องการให้จำเลยมาฟังคำพิพากษาและการอ่านคำพิพากษาต้องทำต่อหน้าจำเลย อย่างไรก็ตามหากยังไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ภายในหนึ่งเดือนศาลก็จะพิจารณาอ่านคำพิพากษาลับหลัง

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

บริษัท เนเชอรัลฟรุต หรือ โจทก์ได้รับแจ้งจากบุคคลอื่นว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความเท็จในทางที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทของโจทก์ในเว็บไซต์ ฟินน์วอทช์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขององค์กรที่จดทะเบียนในประเทศฟินแลนด์ จึงได้ทำการตรวจสอบพบว่า บทสรุปสำหรับผู้บริหารในรายงานของฟินน์วอทช์เรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ มีข้อมูลที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับฝ่ายโจทก์เช่น
 
บริษัทของโจทก์มีการยึดหนังสือเดินทางของผู้ใช้แรงงานชาวพม่า มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย มีการจ่ายค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด มีห้องน้ำชายไม่พอกับจำนวนคนงาน และเคยมีคนงานเสียชีวิตระหว่างการทำงานแต่โจทก์จ่ายเงินชดเชยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น โดยในเว็บไซต์ฟินน์วอทช์มีชื่อของจำเลยและช่องทางติดต่อในกรณีที่ผู้อ่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏอยู่ด้วย
 
นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของฟินน์วอทช์แล้ว จำเลยยังเป็นผู้ติดต่อประสานงานจัดการแถลงข่าวเปิดรายงานของฟินน์วอทช์ ซึ่งในงานดังกล่าวมีการแจกจ่ายบทความและบทสรุปฉบับผู้บริหารที่เป็นปัญหา และจำเลยเป็นผู้ให้ข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับงานวิจัย โจทก์ทราบถึงการจัดงานดังกล่าว ว่าจ้างบุคคลบุคคลหนึ่งไปสังเกตการณ์การแถลงข่าวของจำเลยและได้นำบทความและบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่เป็นปัญหามาให้โจทก์
 
โจทก์ยังนำสืบด้วยว่า หลังจำเลยเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ดังกล่าว ยอดขายของบริษัทโจทก์ลดลง บริษัทคู่ค้าของโจทก์ในต่างประเทศส่วนหนึ่งเลิกซื้อสินค้าจากบริษัทโจทก์ตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า หลังมีการเผยแพร่เอกสารโดยจำเลย พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานได้เข้ามาทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในโรงงานของโจทก์ ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีเพียงข้อบกพร่องเล็กน้อย เช่น มีห้องน้ำไม่เพียงพอและการจ่ายค่าแรงมีการตัดเศษทศนิยมทำให้ผู้ใช้แรงงานเสียประโยชน์ในส่วนที่เป็นเศษทศนิยม แต่หลังมีการให้คำแนะนำทางโจทก์ก็มีการปรับปรุงตามข้อแนะนำซึ่งเมื่อทางพยานเข้าไปทำการตรวจสอบโรงงานของโจทก์อีกครั้งก็พบว่ามีการปรับปรุงแล้ว
 
โจทก์ยังมีผู้ใช้แรงงานชาวพม่าสามคนมาเบิกความยืนยันด้วยว่า ไม่มีการยึดหนังสือเดินทาง หรือการค้ามนุษย์ หากมีผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีเอกสารมาสมัครโจทก์ก็จะไม่รับ
 
ฝ่ายจำเลยอ้างว่า ได้รับข้อมูลการละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงานในโรงงานของโจทก์มาจากการสัมภาษณ์คนงานในโรงงานของโจทก์รวม 12 คน แต่จำเลยก็มิได้นำบุคคลเหล่านั้นมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล และไม่มีนำเทปบันทึกการสัมภาษณ์มาเป็นหลักฐานในชั้นศาล ภาพที่จำเลยอ้างว่า เป็นแรงงานผู้ให้สัมภาษณ์ก็เห็นหน้าไม่ชัดเจนและไม่ครบ 12 คนตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่หนักแน่นมั่นคง พอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้
 
แม้จำเลยจะอ้างว่า ได้พยายามติดต่อฝ่ายโจทก์เพื่อขอคำชี้แจงก่อนเผยแพร่รายงานแต่ไม่สามารถติดต่อได้นั้น ศาลเห็นว่าการที่จำเลยเผยแพร่รายงาน โดยไม่มีการรับฟังข้อมูลจากฝ่ายโจทก์ถือว่า จำเลยละเลยไม่ใส่ใจที่จะรอฟังคำอธิบายจึงไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการติชมโดยสุจริตตามวิสัยที่ประชาชนทั่วไปพึงกระทำ การตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมายไทย และต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกตรวจสอบด้วย
 
ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยเป็นเพียงผู้วิจัยภาคสนามและหมดหน้าที่ตั้งแต่ส่งข้อมูลงานวิจัยให้ทางฟินน์วอทช์ เห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์ส่งรายงานวิจัย และยินยอมให้มีการนำผลการวิจัยเผยแพร่ในเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ จึงถือว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดในการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ประสานงานจัดการแถลงข่าวเท่านั้น ส่วนเอกสารทางฟินน์วอทช์เป็นผู้จัดทำนั้น เห็นว่า มีการแจกเอกสารดังกล่าวในงานแถลงข่าวของจำเลย และจำเลยก็ยินยอมให้มีการแจกเอกสาร จึงถือว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พิพากษาว่าจำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
 
การเผยแพร่บทสรุปสำหรับผู้บริหารบนเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลเท็จในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองปี ปรับ 100,000 บาท
 
การจัดแถลงข่าวและเผยแพร่บทความกับบทสรุปสำหรับผู้บริหารของรายงานเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองปี ปรับ 100,000 บาท รวมจำคุกสี่ปี ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจึงลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกสามปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท 
 
จำเลยทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เคยทำประโยชน์ต่อสังคม และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกสามปีจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดสองปี
 
นอกจากนี้ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สามฉบับได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บางกอกโพสต์ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นเวลาเจ็ดวัน นับแต่มีคำพิพากษา และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในเว็บไซต์สามแห่งได้แก่ เว็บไซต์ฟินน์วอชท์ เว็บไซต์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และเว็บไซต์ประชาไทเป็นเวลาสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษาโดยให้จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าโฆษณา
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า องค์กรฟินน์วอทช์ว่าจ้างจำเลยทำวิจัยเกี่ยวกับคนงานต่างชาติในบริษัทโจทก์ และโรงงานอื่นอีกสองแห่ง ในส่วนของโรงงานโจทก์ซึ่งผลิตสับปะรดกระป๋องจำหน่ายไปยังต่างประเทศ จำเลยได้สัมภาษณ์แรงงานชาวพม่าช่วงเดือนกันยายน 2555 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2555 แล้วจัดทำเป็นรายงานส่งไปยังองค์กรฟินน์วอทช์ ผลการวิจัยสำคัญที่ออกสู่สาธารณชน  
 
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อความตามบทความที่เผยแพร่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความที่โจทก์เห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทนั้น ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ระบุไปในทำนองว่า โจทก์ค้ามนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุยชนและประพฤติผิดเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเปิดเผยให้สาธารณชนทราบข้อเท็จจริงได้
 
แม้โจทก์จะมีพนักงานบัญชีของบริษัทสองคนมาเบิกความเป็นพยานในทำนองว่า โจทก์ไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ในฐานะบริษัทย่อมต้องมีเอกสาร หรือบัญชีรายชื่อลูกจ้างทั้งหมด เช่น ใบสมัครงานหรือสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ ฯลฯ แต่โจทก์กลับไม่ได้นำหลักฐานดังกล่าวมาสืบให้เห็น จึงมีเพียงคำเบิกความลอยๆ ของพยานสองปาก
 
ส่วนการที่โจทก์มีนักวิชาการแรงงาน ที่เคยอยู่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาเบิกความว่า เคยตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อต้นปี 2556 ได้สัมภาษณ์คนงานของโจทก์แล้ว ไม่พบว่าโจทก์ทำผิดกฎหมายแรงงาน กับมีเจ้าหน้าที่ประกันสังคมเบิกความว่า บริษัทโจทก์ไม่เคยถูกร้องเรียนว่า ทำผิดกฎหมายประกันสังคม และโจทก์ยังมีคนงานในบริษัทโจทก์ที่เคยพาอีกคนงาน 4 คนไปพบจำเลยและให้สัมภาษณ์จำเลย มาเบิกความทำนองว่า สิ่งที่จำเลยสัมภาษณ์คนงานนั้นไม่เป็นความจริง
 
แต่การไปตรวจของทางราชการมีลักษณะเป็นการไปตรวจอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ลักษณะการไปสืบสวนหาข้อเท็จจริง โจทก์ซึ่งเป็นโรงงานที่ถูกตรวจสอบย่อมไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์เอง จึงเป็นการยากที่จะได้หลักฐานหรือเข้าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติตามความเป็นจริงได้ และยังปรากฏว่า พยานโจทก์ให้ข้อเท็จจริงขัดแย้งกับเอกสาร เพราะให้ข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานว่า แรงงานต่างชาติมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องทุกคน แต่กลับปรากฏในเอกสารแสดงการส่งเงินสมทบของโจทก์ว่า เดือนกันยายน 2555 มีผู้ประกันตนส่งเงินสททบ 407 คน ขณะที่ลูกจ้างโจทก์มี 854 คน เมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารที่มีการขีดฆ่าคำว่า "ประมาณ 200 คน" ออก แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีแรงงานต่างชาติที่ทำงานโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมาย อยู่ประมาณ 200 คน
 
นอกจากนี้ยังปรากฏเอกสารว่า กรณีที่ไม่มีงาน โจทก์ให้ลูกจ้างกลับก่อนกำหนดโดยจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะชั่วโมงที่ทำงานจริง ผิดจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และแม้ว่า จะมีระบุไม่ให้ลูกจ้างทำงานวันหยุด แต่มีกรณีโจทก์เลื่อนวันหยุด ให้ลูกจ้างมาทำงานวันหยุดแล้วไปหยุดในวันอื่นแทน เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้ลูกจ้างไม่มีวันหยุดที่แน่นอน หรืออาจห่างกันเกิน 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
 
ส่วนเรื่องการยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างต่างชาติ โจทก์ยอมรับว่า มีการเก็บหนังสือเดินทางของคนงานบางส่วนตามการร้องขอของคนงานเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และในเดือนธันวาคม 2555 โจทก์คืนหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานทั้งหมดให้กับคนงานแล้ว แสดงว่า ก่อนหน้านี้โจทก์เคยเก็บหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้จริง โจทก์คืนให้หลักจำเลยได้สัมภาษณ์ลูกจ้างของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่า เก็บไว้เนื่องจากลูกจ้างร้องขอโดยทำหนังสือลงชื่อไว้ แต่โจทก์กลับไม่มีเอกสารดังกล่าวมาแสดง 
 
ปรากฏต่อไปว่า โจทก์หักค่าจ้างเป็นค่าใช้จ่าย เมื่อแรกเข้าทำงานลูกจ้างต้องจ่ายค่าเสื้อตัวละ 158 บาท ค่าหมวกใบละ 75 บาท เน็ตคลุมผมชิ้นละ 22 บาท ส่วนผ้าปิดปาก ถุงมือ ปลอกแขน เอี๊ยม เอียปลั๊ก และหน้ากาก โจทก์จัดให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างให้หักจากเงินค่าจ้าง ซึ่งไม่ปรากฏว่า มีบันทึกความยินยอมเป็นหนังสือ มีบันทึกแสดงว่า ลูกจ้างบางคนต้องทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งขัดต่อกฎหมายแรงงานแม้โจทก์จะจ่ายค่าล่วงเวลาก็ตาม 
 
โจทก์มีห้องน้ำชาย 8 ห้อง ห้องน้ำหญิง 15 ห้อง โถปัสสาวะ 6 โถ โดยโจทก์จะดำเนินการให้มีไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 เดือน แสดงว่า โจทก์จัดสวัสดิการห้องน้ำและน้ำดื่มไม่เพียงพอแก่จำนวนลูกจ้างจริง เป็นสาเหตุให้ลูกจ้างต้องรอการใช้ห้องน้ำหรือดื่มน้ำเป็นเวลานาน 
 
เจ้าพนักงานตรวจแรงงานที่มาเป็นพยานให้โจทก์ ก็ตอบคำถามค้านรับว่า โจทก์ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จริง มีการหักค่าจ้างกรณีเข้าห้องน้ำเกินเวลา หักค่าใช้จ่ายในการหาอุปกรณ์การทำงาน หักค่ารถประจำทางจากค่าจ้าง กรณีนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามที่เบิกความไว้ว่า โจทก์ไม่ได้ทำผิดกฎหมายแรงงาน แม้เจ้าพนักงานตรวจแรงงานจะได้สัมภาษณ์แรงงานชาวพม่า แต่ก็เป็นการทำที่โรงงานของโจทก์ ย่อมอยู่ในความรู้เห็นของนายจ้าง ลูกจ้างย่อมไม่อาจให้ข้อเท็จจริงในทางร้ายแก่นายจ้างได้ เพราะทำให้เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนการที่โจทก์ไม่เคยถูกร้องเรียนเรื่องประกันสังคมก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์ปฏิบัติต่อลูกจ้างในเรื่องสวัสดิการแรงงานถูกต้องเสมอไป 
 
พยานโจทก์ที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ ขณะมาเบิกความยังคงเป็นลูกจ้างอยู่ ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นพยานคนกลาง เพราะโจทก์ยังมีสิทธิในคุณหรือให้โทษได้ จึงต้องรับฟังพยานปากนี้ด้วยความระมัดระวัง 
 
ฝ่ายโจทก์ต่อสู้ว่า เอกสารหลายฉบับที่จำเลยนำเข้าสืบ จำเลยไม่ได้ใช้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อน จึงไม่สามารถรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในคดีอาญา จำเลยมีสิทธินำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ของจำเลย โดยไม่จำเป็นต้องถามค้านพยานโจทก์ในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ไว้ 
 
ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ้างแรงงานนี้ จำเลยได้ติดต่อประสานงานกับทีมงานชาวพม่าสามคน เพื่อสัมภาษณ์คนงาน 14 คน แต่จัดทำบันทึกไว้ 12 คน โดยบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ลงแผ่นซีดีและจดบันทึกไว้ ให้คนงานลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน แต่บางคนไม่อยากแสดงตัว บางคนไม่ได้นำบัตรพนักงานติดตัวมาด้วย จำเลยก็ให้ชี้ภาพโรงงานของโจทก์เพื่อยืนยัน จำเลยได้ข้อมูลว่า คนงานทุกคนเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมายผ่านทางนายหน้า บางคนมีหนังสือเดินทาง บางคนถูกโจทก์ยึดไว้ จำเลยสังเกตกว่า แรงงานที่ให้สัมภาษณ์ลักษณะยังเป็นเด็ก แรงงานแจ้งว่าอายุ 15 ปี และทำงานกับโจทก์มานาน 2 ปี 
 
จากการสัมภาษณ์ทราบว่า โจทก์มีคนงานประมาณ 800 คน มาจากพม่า 500 คน 200 คน ไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆ เลย การจ่ายค่าจ้างแรงงานแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของคนงานว่ามีใบอนุญาตหรือไม่  แต่ไม่มีใครได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ที่กำหนดไว้ 240 บาท ส่วนค่าล่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ชั่วโมงละ 45 บาท ได้รับชั่วโมงละ 30-35 บาท ไม่มีวันหยุดประจำปี ไม่มีโบนัส การทำหนังสือเดินทางต้องเสียค่าใช้จ่าย 5,000-6,000 บาท โดยโจทก์จ่ายให้ก่อนแล้วหักเงินภายหลัง ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงมีเพียง 700-800 บาท เมื่อคนงานจ่ายเงินครบแล้วโจทก์ก็ไม่คืนหนังสือเดินทางให้ จึงไม่อาจเปลี่ยนงานได้ มีการหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน คนงานที่เข้าห้องน้ำนานกว่า 10 นาที หรือง่วงนอน ก็จะถูกหักเงินเดือน สลิปเงินเดือนทำเป็นภาษาไทย คนงานมักถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาไปจนกว่าสินค้าจะเสร็จ จนถึงเวลา 02.00-03.00 นาฬิกา ฯลฯ 
 
จำเลยเชื่อว่า คนงานที่ให้สัมภาษณ์พูดความจริง ซึ่งในข้อเท็จจริงเรื่องการนัดหมายแรงงานมาให้สัมภาษณ์นั้น จำเลยมีเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติมาเบิกความเป็นพยานว่า ได้ติดต่อแรงงานจากโรงงานโจทก์เพื่อสอบถามและหาข้อมูล ได้ชวนแรงงานมาให้สัมภาษณ์เป็นชาย 10 คน หญิง 2 คน ขั้นตอนการทำงานสอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความไว้ และสอดคล้องกับพยานโจทก์ที่ยอมรับว่า มีการสัมภาษณ์แรงงานชาวพม่าโดยจำเลยจริง 
 
เชื่อว่า จำเลยได้สัมภาษณ์แรงงานลูกจ้างของโจทก์จริง แม้จำเลยจะไม่สามารถนำตัวคนที่เคยสัมภาษณ์มาเบิกความเป็นพยานได้ เนื่องจากกลับประเทศไปแล้ว หรือไปทำงานที่อื่น หรือกลัวว่าจะผิดคำสาบาน แต่จำเลยก็มีพยานชาวพม่าอีกสามคนมาเบิกความเป็นพยานสรุปข้อเท็จจริงทำนองเดียวกัน ทั้งสามคนมีเอกสารให้เชื่อได้ว่า เคยทำงานกับโจทก์จริง และไม่ได้ทำงานให้กับโจทก์แล้วหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลย จึงถือเป็นพยานคนกลาง มีน้ำหนักให้รับฟังได้ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมานั้นมีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้แล้วว่า โจทก์ปฏิบัติต่อแรงงานชาวต่างชาติโดยไม่ถูกต้องจริง ตามที่ปรากฏในรายงานวิจัย 
 
หลังจากนั้นจำเลยทำรายงานเสนอยังองค์กรฟินน์วอทช์ เป็นรายงานจากการศึกษาคนงาน 32 คน จาก 3 โรงงาน โดยในส่วนของโรงงานปลาทูน่าอีก 2 โรงงาน มีการโต้ตอบของโรงงาน มีการเชิญจำเลยไปเยี่ยมชมโรงงานและมีการสนทนาระหว่างจำเลย องค์กรฟินน์วอช์ และโรงงานทั้งสองอยู่นานเกือบหนึ่งเดือน ส่วนโจทก์นั้น จำเลยพยายามติดต่อทั้งทางอีเมล์ โทรศัพท์ และโทรสารแต่โจทก์ไม่ได้ตอบรับ 
 
เมื่อองค์กรฟินน์วอทช์ได้รับรายงานแล้วจึงวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำสรุป หลังจากนั้นก็ติดต่อกับโจทก์อีกครั้งเพื่อให้โจทก์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่โจทก์มิได้ตอบกลับ 
 
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ขององค์กรฟินน์วอทช์จึงจัดทำเอกสารส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ คุ้มครอง สิทธิแรงงาน และนำข้อความดังกล่าวไปลงในเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ และจัดแถลงข่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 โดยจำเลยร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับข้อมูลที่จำเลยรับมาด้วย 
 
แม้โจทก์จะอ้างว่า โจทก์ไม่เคยได้รับการติดต่อ แต่พยานโจทก์ตอบคำถามค้านไว้แล้วว่า อีเมล์ที่จำเลยติดต่อนั้นเป็นอีเมล์ฝ่ายการตลาดของโจทก์จริง เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยติดต่อไปยังโรงงานอีกสองแห่งจริง จึงเชื่อว่า โจทก์เองก็ได้รับการติดต่อจากจำเลยเพื่อขอเข้าชมโรงงานและสนทนากับผู้บริหารของโจทก์เช่นเดียวกัน เพียงแต่โจทก์เลือกที่จะเพิกเฉยไม่สนใจร่วมกับจำเลยตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาทางแก้ปัญหา 
 
ข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงให้เห็นว่า จำเลยและองค์กรฟินน์วอทช์สนใจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงและคำอธิบายจากโจทก์ อันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงรอบด้านด้วยความเป็นธรรมแล้ว
 
องค์กรฟินน์วอทช์ว่าจ้างจำเลยทำงานวิจัย เนื่องจากต้องการทราบว่า ภายในโรงงานของโจทก์มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะประเทศฟินแลนด์เน้นเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ผู้บริโภคจำเป็นต้องทราบแหล่งที่มาของสินค้า ตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จึงถือว่า องค์กรฟินน์วอทช์เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการเจ้าตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อได้รับทราบข้อมูลว่า โจทก์ปฏิบัติต่อแรงงานโดยไม่ถูกต้อง การนำข้อมูลออกเผยแพร่ ส่งไปให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ และจัดแถลงข่าว จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องมีสิทธิกระทำเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคตได้ 
 
การกระทำขององค์กรฟินน์วอทช์ จึงถือว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) จึงไม่ถือว่า เป็นความผิด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น โดยไม่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เป็นการกระทำร่วมกันของจำเลยกับองค์กรฟินน์วอทช์หรือไม่ 
 
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข ประกาศใช้บังคับ ตามมาตรา 14 ที่แก้ไขใหม่ ผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลบิดเบือนหรือปลอม ต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงด้วย และการกระทำดังกล่าวไม่รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์เพียงแต่ระบุว่า จำเลยนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จมีลักษณะหมิ่นประมาทโจทก์ จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในข้อหานี้ ศาลอุทธณ์ไม่เห็นด้วย 
 
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
 
 
 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา