ปีนสภาสนช.

อัปเดตล่าสุด: 23/03/2560

ผู้ต้องหา

จอน อึ๊งภากรณ์ และพวกรวม 10 คน

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสียหายที่ 1 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้เสียหายที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุก ซึ่งต้องมีผู้เสียหายไปแจ้งความขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี รอง ผบช.น.เป็นประธานคณะทำงานด้านการสอบสวน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง

สารบัญ

12 ธันวาคม 2550 ประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้ สนช. หยุดการออกกฎหมายอย่างรีบเร่ง  แต่สนช. ไม่ฟังเสียงเรียกร้อง ประชาชนกว่าร้อยคนจึงปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งหน้าห้องประชุม ต่อมาคนทำงานองค์กรภาคประชาสังคมรวมสิบคนถูกฟ้องฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย
 
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดฐานมั่วสุดก่อความวุ่นวาย และบุกรุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จำเลยที่หนึ่ง: นายจอน อึ๊งภากรณ์  เป็นเอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษชน เคยดำรงตำแหน่งอดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ในปี 2550 ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะเล็งเห็นบทบาทของเอ็นจีโอที่ทำงานพัฒนาชุมชนในชนบท กป.อพช. เกิดจากการรวมตัวกัน 300-400 องค์กร มีกลไกลระดับภาค และยังเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการภาครัฐเมื่อปี 2548 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เว็บไซต์ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ด้วย 

 
จำเลยที่สอง : นายสาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และเคยเป็นแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
 
จำเลยที่สาม : นายศิริชัย ไม้งาม เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ประธานสหภาพแรงงานต่อสู้คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ปี 2539 ในปี 2547 ที่แปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นรูปแบบของบริษัท ซึ่งต่อมาศาลปกครองตัดสินให้เปลี่ยนกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามเดิม และเคยเป็นแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 
 
จำเลยที่สี่ : นายพิชิต ไชยมงคล กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และเป็นอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2546 หลังจบการศึกษาได้มาทำงานกับกลุ่มเพื่อนประชาชนโดยให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และงานช่วยเหลือสังคมต่างๆ รวมถึงเคยทำงานกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  เคยเข้าร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาก่อน
 
จำเลยที่ห้า : นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว หนึ่งในผู้จัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร 
 
จำเลยที่หก : นายนัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่ ทำงานกับกลุ่มเพื่อนประชาชน ให้คำแนะนำกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในโครงการต่างๆของรัฐ นอกจากนี้ ยังทำงานในประเด็นหนี้สินเกษตรกรด้วย   
 
จำเลยที่เจ็ด : นายอำนาจ พละมี  เป็นคณะกรรมการฝ่ายการเมืองของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 
 
จำเลยที่แปด : นายไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
จำเลยที่เก้า : นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานประสานงานกับภาครัฐและเอกชน รณรงค์และผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องประเด็นสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและยกระดับกฎหมาย 
 
จำเลยที่สิบ : นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
บุกรุก

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 12 ธันวาคม 2550 ประชาชนประมาณหนึ่งพันคนชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ (คมช.)  ยุติการเร่งพิจารณากฎหมายหลายฉบับต่อวัน ขณะนั้นเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งใหม่ราวสองสัปดาห์ กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีความชอบธรรม และไม่สมควรเร่งผลักดันกฎหมายใดๆ อีกทั้งเนื้อหาของกฎหมายที่ถูกเร่งพิจารณาเหล่านั้นก็ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สนช. ยังคงเดินหน้าการพิจารณากฎหมายต่อโดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ประชาชนกว่าร้อยคนจึงปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งชุมนุมที่บริเวณหน้าห้องประชุม

 
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362,364 (บุกรุก) มาตรา 365 (บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย)
 
ในคำฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยทั้งสิบ มีฐานะเป็นหัวหน้าของผู้ชุมนุม มีหน้าที่สั่งการผู้ชุมนุม จำเลยทั้งสิบใช้รถหกล้อติดเครื่องขยายเสียง ดัดแปลงเป็นเวทีปราศรัยจอดปิดทางเข้าออกหน้ารัฐสภา และผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยเพื่อปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย โดยปิดล้อมทางเข้าออก และใช้โซ่ที่เตรียมมาล่ามประตูทางเข้าออกของรัฐสภา เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ และจำเลยทั้งสิบ ยังกล่าวยุยงให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่พิจารณากฎหมายทุกฉบับ จนทำให้ต้องงดการประชุม อันเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
หลังจากนั้น จำเลยทั้งสิบ ได้ร่วมกับประชาชนอีกหลายร้อยนบุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาอันเป็นสถานที่ราชการที่บุคคลภายนอกห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต อันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุข โดยใช้กำลังผลักประตูอาคารให้เปิดออกและใช้บันไดพาดกำแพงรั้วเพื่อปีนเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา เมื่อเจ้าหน้าที่ห้ามเข้า จำเลยทั้งสิบกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็ใช้กำลังประทุษร้าย แล้วจำเลยทั้งสิบกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไปรวมกันอยู่ในอาคารรัฐสภา ตึกอาคารที่ 1 ชั้นที่ 2 ซึ่งขณะนั้นใช้เป็นสถานที่จัดประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำเลยทั้งสิบกับผู้ชุมนุมส่งเสียงกดดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องยกเลิกการประชุม
 
ตัวอย่าง กฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้าน ได้แก่
1. ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรมีสาระสำคัญเป็นการขยายอำนาจให้กองทัพควบคุมสังคม โดยปราศจากการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ
2. ร่างกฎหมายป่าชุมชน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเงื่อนไขตัดสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการป่าชุมชน
3. ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ มีสาระสำคัญให้รัฐมีอำนาจบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จใน 3 รูปแบบ คือรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำการทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำในยามน้ำท่วม รูปแบบการบริหารจัดการหรือการใช้น้ำและรูปแบบการกำหนดการใช้ที่ดิน รวมทั้งไม่รับรองสิทธิของชุมชนที่จัดการน้ำที่มีอยู่เดิม
4. ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีสาระสำคัญเป็นการให้หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์อยู่เช่นเดิม และการให้รัฐมีอำนาจควบคุม หรือห้ามเสนอข่าวสารโดยการสั่งการด้วยวาจา หรือหนังสือระงับรายการที่เสนอผ่านสื่อสาธารณะ
5. ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจรัฐนำรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนสภาพให้เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และการกระจายหุ้นแก่เอกชน อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทำให้ประชาชนเสียสิทธิที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
6. ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มีสาระสำคัญเป็นการแปรรูปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ออกนอกระบบเข้าสู่การบริหารโดยอาศัยกลไกตลาด
7. ร่างกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกรแห่งชาติ 
8. ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาต
9. ร่างกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
 

พฤติการณ์การจับกุม

22 มกราคม 2551 นายจอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) พร้อมด้วยจำเลยอีก 9 คนในคดีนี้ เดินทางเข้ามอบตัวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลตามหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำ เบื้องต้นทุกคนให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิด

ในวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุมไปร่วมให้กำลังใจจำเลยทั้ง 10 ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นจำนวนมาก โดยมีรถขยายเสียงและการปราศรัยให้กำลังใจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ไว้ 1 กองร้อย 150 นายมาดูแลความเรียบร้อย
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ผู้เกี่ยวข้องในคดี

 
ผู้พิพากษา นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ นางสาวภัทรวรรณ ทรงกำพล นายประชาชน จินันทุยา
 
ทนายความจำเลย 
ทนายความจำเลยทั้งสิบ ทนายนคร ชมพูชาติ,ทนายผรัณดา ปานแก้ว และ ทนายวราภรณ์ อุทัยรังสี 
ทนายความจำเลยที่หนึ่ง ทนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และ ทนายรัษฎา มนูรัษฎา 
ทนายความจำเลยที่สอง ทนายคณิศร ฑปภูผา
ทนายความจำเลยที่สาม ทนายคณิศร ฑปภูผา 
ทนายความจำเลยที่สี่ ทนายคณิศร ฑปภูผา
ทนายความจำเลยที่ห้า ทนายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี
ทนายความจำเลยที่หก ทนายอภิมะ สิทธิ์ประเสริฐ
ทนายความจำเลยที่เจ็ด ทนายอภิมะ  สิทธิ์ประเสริฐ
ทนายความจำเลยที่แปด ทนายรัษฎา มนูรัษฎา และ ทนายจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว
ทนายความจำเลยที่เก้า ทนายชัยรัตน์  แสงอรุณ และ ทนายจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว 
ทนายความจำเลยที่สิบ ทนายสัญญา เอียดจงดี และ ทนายปรีดา นาคผิว
 

 

ประเด็นที่โจทก์นำสืบ
 
1.การปีนรั้วรัฐสภาของผู้ชุมนุมมีการเตรียมการวางแผนมาก่อน เป็นความผิดฐานบุกรุก
โจทก์นำสืบว่า ผู้ชุมนุมอันให้อุปกรณ์ได้แก่บันไดและรางเหล็ก ซึ่งไม่สามารถหาได้จากบริเวณรอบๆ รัฐสภา จึงเป็นที่แน่ชัดว่ามีการเตรียมการมาเป็นอย่างดีว่าจะปีน ไม่ใช่ทำไปเพราะสถานการณ์พาไป 
ตามระเบียบประชาชนที่จะเข้าไปในบริเวณรัฐสภาต้องติดต่อขออนุญาตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องแจ้งจุดประสงค์ที่จะเข้าไป ต้องแลกบัตร และติดบัตรไว้บริเวณอกเสื้อด้านซ้ายตลอดเวลา 
บริเวณชั้น2ของอาคารรัฐสภาเป็นเขตหวงห้ามประชาชนทั่วไปแม้ติดบัตรก็ไม่สามารถเข้าไปได้ การที่ผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาโดยไม่ได้ขออนุญาต ไม่ติดบัตร และไปรวมตัวกันบริเวณชั้น2อันเป็นเขตหวงห้ามจึงเป็นความผิดบุกรุก 
 
 
2.การบุกเข้ามาในบริเวณห้องโถงหน้าห้องประชุมเป็นการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสนช.
โจทก์นำสืบว่า ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเข้ามาในบริเวณรัฐสภา การประชุมดำเนินไปโดยปกติเมื่อผู้ชุมนุมเข้ามาแล้วตะโกนด่าทอ เกิดเสียงอื้ออึงรบกวนการประชุมจนทำให้ไม่สามารถทำการประชุมได้ การที่ผู้ชุมนุมเข้ามานั่งอยู่ในบริเวณห้องโถงยังมีส่วนทำให้ประธานสนช.ต้องประกาศยกเลิกการประชุมเพราะกังวลถึงความปลอดภัยของสมาชิกสนช. การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสนช.
นอกจากนี้การชุมนุมประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภา และการที่ผู้ชุมนุมเอาโซ่มาคล้องประตูทางเข้ารัฐสภาทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสภา และสมาชิกสนช.ไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้
 
 
3.จำเลยทั้ง 10 เป็นผู้นำการชุมนุม และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปภายในรัฐสภา
โจทก์มีพยานมานำสืบว่าเห็นจำเลยบางคนขึ้นกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงบนเวที จำเลยบางคนเป็นผู้ประสานงานในการจัดการชุมนุม มีพยานโจทก์บางปากกล่าวว่าเห็นจำเลยเป็นผู้สั่งการให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปภายในบริเวณอาคารรัฐสภา และเมื่อจำเลยซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงปีนรั้วเข้าไปย่อมเป็นการชี้นำให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปตาม จำเลยจึงต้องรับผิดชอบกับการบุกรุกเข้าไปในรัฐสภา
 
4.การชุมนุมก่อความวุ่นวาย มีการใช้ความรุนแรง ประทุษร้าย จนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ
โจทก์นำสืบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐสภาสองคนได้รับบาดเจ็บจากการดันประตูกระจกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐสภากับผู้ชุมนุม หนึ่งในสองคนนั้นมาเป็นพยานในการเบิกความในศาลด้วย โดยให้การว่า ถูกประตูกระแทกที่แขนเป็นแผลถลอกและถูกผู้ชุมนุมถีบขาซ้าย นอกจากนี้กลอนประตูกระจกยังถูกดันจนหลุดได้รับความเสียหาย
 
 
ประเด็นที่จำเลยนำสืบ
 
1.การทำหน้าที่ของสนช.ไม่มีความชอบธรรม จำเลยต้องคัดค้านเพื่อประโยชน์สาธารณะ
จำเลยต่อสู้ว่า สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชน สมาชิกสนช.จำนวนมากมาจากข้าราชการและทหาร สนช.มีสภาเดียว ไม่มีกระบวนการถ่วงดุลอำนาจ ไม่มีช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม สนช.จึงไม่มีความชอบธรรมในการออกกฎหมาย ในวันเกิดเหตุมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วสนช.จึงควรยุติการทำหน้าที่ออกกฎหมาย แล้วรอให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ต่อ
ช่วงเวลานั้น สนช.เร่งผ่านกฎหมายหลายฉบับต่อวัน ทำให้ไม่ได้พิจารณากันในรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง กฎหมายที่ผ่านออกมาจึงอาจไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ โดย มีร่างพระราชบัญญัติอย่างน้อย 11 ฉบับที่จำเลยเห็นว่าจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่างพ.ร.บ.นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ควรต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน สนช.ไม่ควรพิจารณาและประกาศใช้อย่างเร่งรีบ
มีกฎหมาย 191 ฉบับ ที่สนช. ประกาศใช้ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นโมฆะเพราะกระบวนการออกกฎหมายไม่ชอบ และมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่สนช.ประกาศใช้แล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
 
2.การชุมนุมของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในการแสดงออกอันชอบธรรม
การชุมนุมของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนู และการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยอมรับกันในทางสากล การดื้อแพ่งตามความเชื่อโดยสุจริตต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กระทำโดยเปิดเผย ไม่ใช่ความรุนแรงนั้นเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้
การกระทำของจำเลย เป็นการกระทำเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ และคัดค้านสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดกฎหมายเล็กเพื่อรักษากฎหมายใหญ่ จึงมีความชอบธรรม
 
3.การปีนรัฐสภาเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์พาไปไม่ได้มีการวางแผนมาก่อน
จำเลยต่อสู้ว่าการปีนรั้วรัฐสภาไม่ได้เกิดขึ้นโดยความจงใจแต่เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์พาไป อุปกรณ์ที่ีใช้ในการปีนนั้นไม่ทราบว่าผู้ใดเตรียมมา จำเลยไม่ได้ออกคำสั่งให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปภายในบริเวณรัฐสภา แต่เมื่อเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนปีนรั้วและวิ่งเข้าไปภายในบริเวณอาคารรัฐสภา จำเลยจึงต้องตามเข้าไปเพื่อดูแลความเรียบร้อยไม่ให้เกิดความรุนแรง และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อมวลชนที่มาชุมนุมด้วยกัน
สาเหตุที่ต้องมีการปีนเพราะการเรียกร้องของผู้ชุมนุมไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่มีตัวแทนของสนช.ออกมารับหนังสือ ผู้ชุมนุมจึงไม่มีทางเลือกที่จะแสดงออกซึ่งการคัดค้านกฎหมาย
 
4.จำเลยในคดีไม่ใช่แกนนำ ไม่มีอำนาจสั่งการและไม่ได้สั่งการให้ผู้ชุมนุมปีนรัฐสภา
นอกจากนายจอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยคนอื่น ปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ผู้นำ ผู้ที่ขึ้นไปพูดปราศรัยบนเวทีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ เพราะใครก็ตามที่มีความรู้ในประเด็นที่มีการรณรงค์ก็สามารถขึ้นพูดได้
จำเลยที่ดำรงตำแหน่งในสหภาพแรงงานต่างเบิกความว่าตำแหน่งในสหภาพแรงงานไม่มีอำนาจสั่งการเป็นแต่เพียงทำหน้าที่ประสานงานเท่านั้น
นายจอนยอมรับว่าตนเป็นผู้นำแต่ก็ไม่ได้มีอำนาจสั่งการ ผู้ชุมนุมทุกคนต่างมีวิจารณญาณและไม่มีบุคคลใดมีอำนาจที่จะไปสั่งการบุคคลอื่น 
 
5.การชุมนุมของจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีการข่มขู่คุกคามหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสนช. และเจ้าหน้าที่
การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ แม้จะมีการส่งเสียงดังและมีการใช้เครื่องขยายเสียงแต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมสาธารณะ ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐสภาจะปิดประตู ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการปิดกั้นไม่ให้สมาชิกสนช.เดินทางเข้าไปในสภา
เมื่อมีการปีนและวิ่งเข้าไปในสภาแล้ว ผู้ชุมนุมด้านในก็นั่งลงอย่างเรียบร้อยและไม่ได้บุกเข้าไปในห้องประชุมทั้งที่กำลังของผู้ชุมนุมขณะนั้นมีมากกว่าเจ้าหน้าที่ในบริเวณอาคารรัฐสภาซึ่งหากจะมีการบุกเข้าไปในห้องประชุมก็สามารถทำได้ แต่ผู้ชุมนุมเลือกที่จะไม่ทำและนั่งรอความคืบหน้าอย่างสงบที่บริเวณห้องโถงด้านหน้าเท่านั้น
ทั้งนี้ผู้ชุมนุมไม่ได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่และไม่ได้ทำลายทรัพย์สินของทางการแต่อย่างใด เมื่อสนช.เลื่อนการประชุม ผู้ชุมนุมก็เดินทางออกจากบริเวณรัฐสภาอย่างสงบเรียบร้อย
 
 

บันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับย่อ

อ่านบันทึกสังเกตการณ์ฉบับเต็ม 119 หน้า ที่นี่

การสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง : พันตำรวจโทภูวสิษฎ์ เมฆี พนักงานสอบสวน

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พ.ต.ท.ภูวสิษฎ์ เมฆี ให้การว่า  ตนรับราชการอยู่ที่สถานตำรวจนครบาลดุสิต ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในพนักงานสอบสวนคดีนี้ เพราะมีกลุ่มองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอมาคัดค้านการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายที่รัฐสภาเมื่อปลายปี 2550 

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ กล่าวว่า ในคดีนี้มีนายณัฐพล จันทมาลา เป็นผู้รับมอบอำนาจของเลขาธิการสำนักงานรัฐสภา และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกสองคนมาแจ้งความร้องทุกข์ในเหตุการณ์ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาประท้วงคัดค้านการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเหมือนกัน พนักสอบสวนของสถานีนครบาลดุสิตเป็นผู้รับแจ้งความ ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวน

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 เมื่อเวลาประมาณตีห้าเศษ  คณะพนักงานสอบสวนได้สอบสวนคำให้การเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรักษาความสงบเรียบร้อย จากการสอบสวนพบว่า ผู้มาชุมนุมมีการรวมตัวจาก นักวิชาการและเอ็นจีโอ เรียกว่า  แนวร่วมภาคประชาชน มารวมตัวเพื่อคัดค้านการพิจารณาการออกกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  โดยมีเหตุผลว่าให้รอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้พิจารณากฏหมาย จากการสอบสวนไม่พบว่าผู้ชุมนุมได้มีการปรึกษาเพื่อจะมาชุมนุมในครั้งนี้หรือไม่

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ กล่าวว่า ในการชุมนุมมีเอกสารใบปลิวที่ผู้ชุมนุมแจก  มีจดหมายเปิดผนึกซึ่งเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไป  และใบปลิวที่มีเนื้อหาคัดค้านการพิจารณาการออกกฏหมาย และยับยั้งการปฎิบัติหน้าที่ของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ   แกนนำในการชุมนุมนี้มีหลายคน รวมถึงจำเลยทั้งสิบในคดีนี้ด้วย  ซึ่งได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมจากภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว  และถอดภาพและคำพูดไว้ ที่เบิกความว่าเป็นแกนนำ เพราะจำเลยทั้งสิบทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยบนรถบรรทุกหกล้อที่มาทำเป็นเวที แต่ไม่พบว่ามีการตั้งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม การปราศรัยมีเนื้อหายุยงและชักชวนให้คัดค้านการประชุมของสภานิติบัญญัติ  โดยมีคำพูดปลุกปั่น ว่า “สู้หรือไม่สู้” รวมถึงการพูดยุยงให้ผู้ชุมนุมปีนหรือเข้าไปในรัฐสภา  ส่วนข้อความถอด "ให้ปีนบุกเข้ามาในสภา"  ก็ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้พูด   เจ้าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเฉพาะจำเลยทั้งสิบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ทุกคนที่ขึ้นปราศรัยเป็นแกนนำ จึงจะดำเนินคดีกับผู้ที่พูดชี้นำยุยงเท่านั้น  แต่จะไม่ดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีเฉพาะแสดงความรู้สึก แสดงความคิดเห็นนั้นจะไม่ดำเนินคดี   และจากการสอบสวนไม่พบว่าจำเลยคนไหนใช้กำลังประทุษร้าย ไม่พบว่าจำเลยสั่งการให้ประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมไปทำร้ายใคร และไม่มีพยานยืนยัน

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ เบิกความว่า ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปในอาคารรัฐสภาทางรั้วด้านถนนอู่ทองใน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของอาคารรัฐสภาปิดประตูรั้วและโซ่คล้องไว้ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะบุกเข้ามาในบริเวณรัฐสภาแล้ว  กลุ่มผู้ชุมนุมได้เตรียมของมาในรถบรรทุกที่ใช้เป็นเวที  ซึ่งมีจำนวนมากแต่ไม่สามารถยึดเป็นของกลางได้ เพราะหลังเกิดเหตุผู้ชุมนุมได้เอากลับไปด้วย   ของที่ผู้ชุมนุมเตรียมมาคือ เหล็กลักษณะวงกลมตัดครึ่งท่อน เพื่อนำมาครอบเหล็กแหลมบริเวณรั้ว และนำบันไดมาพาด และปีนข้ามรั้วไป  แต่นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังนำโซ่ไปคล้องประตูอาคารรัฐสภา ตามเอกสารระบุว่า นายอนิรุทธิ์ ขาวสนิท (จำเลยที่ห้า) นายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) และ นายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่สี่) เป็นบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงโซ่คล้องมากที่สุด  ซึ่งคล้องโดยล็อคจากด้านนอกอาคารรัฐสภา จากการสอบสวนพบว่าผู้ชุมนุมแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สั่งให้ล็อคและใครเป็นล็อค และนำบันไดไม้ไผ่มาพาด  ผู้ชุมนุมทำเพื่อป้องกันไม่ให้อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าไปประชุมและไม่ให้ออกจากอาคารรัฐสภาด้วย   ผู้ชุมนุมให้การ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเกินกรอบที่กฏหมายกำหนด เพราะมีการผลักประตูและปีนรั้ว   การชุมนุมของผู้ชุมนุมในคดีนี้ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เพราะมีการบุกเข้าไปในรัฐสภา  ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และทำให้จราจรติดขัด  ซึ่งตนเห็นว่าถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้บุกเข้ามาในรัฐสภา ก็จะเป็นการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนตนมีความเห็นว่าการบุกรัฐสภาเป็นเหตุผลทางการเมือง

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ เบิกความต่อว่า คำให้การของผู้กล่าวหามีว่า  การบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาของกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้กลอนประตูรัฐสภาเสียหายจากการดันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ดูแลประตูกับกลุ่มผู้ชุมนุม  ซึ่งกลอนประตูดังกล่าวหลุดมาจากการดันประตูกระจกจากด้านนอกอาคาร  แต่สามารถซ่อมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้  นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาบาดเจ็บจำนวนสองราย  จากการที่ผู้ชุมนุมพยายามดันประตู หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาที่บาดเจ็บ คือ นายปรีชา ชัยนาเคน ซึ่งให้การว่า คำพูดของแกนนำผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าท่านดันทุรังเข้าไป ทางเราไม่รับผิดชอบนะค่ะ   ถ้าหากเดินเข้าไปแล้วเจ็บตัวก็อย่าว่าพวกเรานะค่ะ กรณีพวกเราไม่อนุญาตให้ท่านเข้าไปใช่มั้ยพี่น้อง”                  

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ ให้การว่า ตามรายการที่ระบุไปว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมกระโดดถีบ เตะ ต่อย เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่รัฐสภา ตนก็ไม่ทราบว่าพยานคนใดยืนยัน  และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดมาให้การถึงการใช้กำลังดังกล่าว ซึ่งนายปรีชาก็ไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวน ด้วย  

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ กล่าวว่า การรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมรายงานว่า  คดีนี้เป็นการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองในการปกครองที่แตกต่าง แต่เป็นการแสดงออกที่ใช้ความรุนแรงซึ่งอาจเป็นความผิดทางอาญา เพื่อให้เกิดชอบธรรมแก่คู่กรณี จีงต้องใช้ความเห็นรอบคอบและรัดกุมในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อความชัดเจน ก่อนจะแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำผิด  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ กล่าวว่า การตั้งข้อหาบุกรุกโดนใช้กำลังประทุษร้ายมีหลักฐานเป็นพยานบุคคล  พยานที่เป็นภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว  มีภาพนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) กำลังปีนบันไดไม้ไผ่ข้ามประตูรัฐสภาเข้าไป  และภาพถ่ายที่นายไพโรจน์กำลังปีนรั้วรัฐสภา  และภาพถ่ายน.ส.สารี อ๋องสมหวัง (จำเลยที่เก้า) และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ (จำเลยที่สิบ) กำลังปีนบันไดข้ามรั้วรัฐสภา  ซึ่งจำเลยทั้งสิบให้การว่าได้ปีนเข้าไปในรัฐสภา ยกเว้นนายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) เพราะกำลังปราศรัยอยู่บนเวทีรถหกล้อ โดยพูดยุยงทางอ้อมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา มีข้อความว่า “เชิญพี่น้องเข้าไปเยี่ยมรัฐสภา”  ซึ่งหากผู้ชุมนุมไม่ปีน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไม่ปีนเช่นกัน

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ เบิกความว่า เมื่อเข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภาผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่หน้าห้องประชุมรัฐสภา จากการสอบสวนพบว่า ไม่มีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในห้องประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตนก็ไม่ทราบ  จากการสอบสวนพบว่านาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ ออกมาคุยกับผู้ชุมนุม เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องการคัดค้านการออกกฎหมายเพื่อคัดค้านการปฎิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พ.ต.ท.ภูวสิษฏ์ เบิกความว่า หลังจากการสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องให้พนักงานอัยการ ซึ่งตนเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนที่มีควมเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ  ส่วนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินความกับผู้ชุมนุมคนอื่นนั้นเพราะหลักฐานไม่แน่ชัด ผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปในรัฐสภาถือว่าทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง : นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นางเตือนใจ ดีเทศน์ เบิกความว่า ตนเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 มีการประชุมพิจารณากฎหมาย ตนเข้าไปที่สภาประมาณ 8.00 พบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณด้านนอกอาคารชุมนุมโดยสงบ เริ่มประชุมเวลา 10.00 น. ตนเห็นว่าควรฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ประกอบกับมีการชุมนุมอยู่ภายนอกสภาเพื่อเสนอให้ยุติการพิจารณากฎหมายที่ยังไม่ผ่านการพิจารณากรรมาธิการ จึงควรพักการประชุมเพื่อรับฟังความเห็น เมื่อผู้ชุมนุมบุกเข้ามาภายในอาคารตนได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมและเห็นนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) และนายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ห่างจากประตูกระจกของห้องประชุมประมาณ 5-6 เมตร สมาชิกสนช.จึงประชุมกลุ่มย่อยและเห็นว่าควรมีการพักประชุมก่อน ต่อมานายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสนช.สั่งให้ยุติการประชุม ผู้ชุมนุมจึงเดินทางกลับ

นางเตือนใจให้การว่า เท่าที่จำได้ กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการคัดค้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำและกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมควรที่จะได้รับฟังความเห็นของประชาชนก่อน โดยต่อมากฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภา

นางเตือนใจตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้านว่า สนช.ไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกฎหมายทุกฉบับ โดยช่วงเวลาดังกล่าว สนช.มีการพิจารณากฎหมายเป็นจำนวนมาก มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเพื่อเสนอความเห็น แต่การพิจารณายังคงเร่งรัด นางเตือนใจเห็นว่าเหตุผลของผู้ชุมนุมที่ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายไปก่อนนั้นสมควรแล้ว กฎหมายที่จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาทั้ง 11 ฉบับนั้นยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกในช่วงเวลาดังกล่าว 

นางเตือนใจกล่าวด้วยว่า จำเลยทั้งสิบไม่มีผู้ใดเป็นผู้สั่งการ การพูดบนเวทีเป็นการพูดในลักษณะให้ข้อมูลและให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุม ไม่มีการข่มขู่ ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดเข้าไปในห้องประชุมรัฐสภาไม่มีการทำลายทรัพย์สินของรัฐสภา ไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐสภา การชุมนุมไม่ถึงขนาดที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ การเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ ในวันเกิดเหตุประตูด้านหน้าทั้งสองถูกปิดเนื่องจากฝ่ายอาคารสถานที่เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย โดยบุคคลภายนอกไม่จำเป็นต้องแลกบัตรหากจะเข้าไปในบริเวณรัฐสภาแต่ไม่เข้าไปในอาคาร

นางเตือนใจให้การว่า ตนเคารพนับถือจำเลยที่ 1 เนื่องจากเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน และรู้จักกับจำเลยที่ 8 เพราะมีบทบาทเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จำเลยที่ 9 มีบทบาทในเรื่องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จำเลยที่ 10 เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับสื่อวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ไม่มีพฤติการณ์ก้าวร้าว

นางเตือนใจตอบคำถามโจทก์ถามติงว่า ตามระเบียบของรัฐสภา บุคคลภายนอกที่จะเข้าไปต้องมีการติดบัตร  บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้ เว้นแต่จะได้รับเชิญ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้รับเชิญและไม่ได้มีการติดบัตรอนุญาต ตนไม่เห็นเหตุการณ์ขณะมีการปิดประตูและขณะกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้ามาในรัฐสภา

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม : นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น เบิกความว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ออกกฎหมายเช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติทั่วไป มีเพียงสภาเดียว

นายมีชัยกล่าวว่า รัฐสภาถือว่าอยู่ในเขตพระราชฐาน บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าออกตามปกติได้ นอกจากจะได้รับอนุญาต

ในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 วาระการประชุมกำหนดว่าจะพิจารณากฎหมาย 45 ฉบับ เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ตนมาถึงรัฐสภา ก่อนมาถึงมีเจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งว่ามีชุมนุม ประตูหน้าปิด ขอให้ใช้ประตูด้านหลัง ซึ่งเป็นประตูฝั่งพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อมาถึงชั้นสองของอาคารหนึ่งพบว่าหน้าห้องประชุมมีประชาชนจำนวนหนึ่งมานั่งอยู่และส่งเสียงดังอื้ออึง ขณะที่มีประชุมสภาสนช.อยู่ในห้องประชุม 

นายมีชัยเบิกความว่าตนไม่ได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมโดยตรง แต่ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องการให้สนช.ทำหน้าที่ต่อไป ต่อมาประชาชนกลุ่มนั้นเข้าไปในห้องประชุม ซึ่งตนไม่ทราบว่าใช่จำเลยทั้งสิบหรือไม่ ประธานการประชุมมาหารือว่าจะพักการประชุม ตนเห็นด้วย ประธานจึงสั่งพักการประชุม และแจ้งพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมืองให้เข้าไปคุยกับผู้ชุมนุม หลังจากนั้นสองถึงสามชั่วโมงกลุ่มผู้ชุมนุมก็ทยอยกลับ ระหว่างที่ผู้ชุมนุมยังนั่งอยู่ ดูสถานการณ์แล้วเห็นว่าไม่น่าจะประชุมกันต่อไปได้ ประธานการประชุมจึงสั่งยกเลิกการประชุม

นายมีชัยกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุ องค์ประชุมครบ สาเหตุที่เลิกการประชุมคือ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมาปิดกั้นทางเข้า และเกรงว่าสถานการณ์จะไม่ปลอดภัย

สาเหตุที่ผู้ชุมนุมมาชุมนุม เพราะไม่เห็นด้วยที่สภาจะพิจารณาผ่านกฎหมายบางฉบับ เช่น ร่างกฎหมายที่ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งเป็นความต้องการของจุฬาฯ ที่จะออกกฎหมายดังกล่าวเอง และเสนอผ่านรัฐบาลมา  ถ้าประชาชนกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยก็ควรไปพูดคุยกับมหาวิทยาลัยเอง หรือพูดคุยกับสมาชิกสภาสนช.เป็นรายบุคคล เพื่อให้เห็นคล้อยตามและไม่ลงมติผ่านกฎหมายให้ การมาห้ามสมาชิกสนช.ไม่ให้ทำหน้าที่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

นายมีชัยเบิกความว่า ตนเคยเป็นประธานสภานิติบัญญัติในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ในสมัยนั้นมีประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2535 จนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมือง ส่งผลให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย ซึ่งหลักที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

นายมีชัยเบิกความว่า การรัฐประหารคือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติเองก็แต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิคัดค้านรัฐประหารได้โดยสันติวิธี นายมีชัยเห็นว่า สนช.เองก็มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจออกกฎหมาย ซึ่งตนไม่เห็นด้วยว่า ประชาชนมีสิทธิคัดค้านรัฐประหารแล้วจะสามารถคัดค้านกฎหมายที่ สนช.ออกมาได้ เพราะกฎหมายนั้นออกมาโดยถูกต้องแล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตาม  กฎหมายที่สนช.ออก ตามรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ให้ถือว่า สนช.ทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย และบทบัญญัติของกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งนี้ก็มีความชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายมีชัยกล่าวว่าร่างกฎหมายทั้ง 11 ฉบับก็เป็นกฎหมายที่องค์กรภาคประชาชนต้องการ ซึ่งสนช.มีความมั่นใจว่ากลุ่มขององค์กรภาคประชาชนเหล่านี้น่าจะมีเสียงข้างมาก เนื่องจากสามารถพูดกับรัฐบาลให้เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาได้

นายมีชัยกล่าวว่า การประชุมสนช.ไม่มีปัญหาเรื่องไม่ครบองค์ประชุม เพราะถ้าไม่ครบองค์ก็เปิดประชุมไม่ได้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าองค์ประชุมไม่ครบ โดยดูจากรายชื่อผู้ลงคะแนน ซึ่งสภาได้ชี้แจงในการลงคะแนนว่า สมาชิกบางส่วนอาจจะไม่ลงคะแนน จึงไม่บันทึกไว้ แต่ศาลฯ ก็ถือการลงคะแนนเป็นหลักฐานสำคัญ  ส่วนการผ่านกฎหมายที่แม้จะผ่านเป็นจำนวนมากในช่วงนั้น แต่กฎหมายดังกล่าวก็ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการในรายละเอียดแล้ว หากร่างไม่มีปัญหา สภาก็ผ่านให้ 

นายมีชัยกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะนั้นสนช.ยังไม่หมดวาระ เป็นความเข้าใจผิดของผู้ชุมนุมว่าสภารักษาการณ์จะไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้  ตามปกติประชาชนสามารถเข้าฟังการประชุมได้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยแจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัยก็จะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่อยู่ริมรั้วเพื่ออนุญาต และจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ ซึ่งปกติประตูรั้วจะเปิดในเวลาราชการ ยกเว้นมีการชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสภาจะพิจารณาเห็นสมควรปิดหรือไม่

นายมีชัยกล่าวว่า ตนจำไม่ได้ว่าเคยมีการยื่นหนังสือคัดค้านหรือไม่ และจำไม่ได้ว่ามีการยื่นหนังสือต่อตนโดยตรงหรือไม่ หรือหากมีการยื่นหนังสือต่อสมาชิกสนช. ก็เป็นดุลยพินิจของสมาชิกแต่ละคนว่าจะรับหรือไม่ หน้ารัฐสภามักมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยมาประท้วง แต่เท่าที่ทราบ ไม่มีกลุ่มไหนบุกเข้ามาในอาคารรัฐสภา จึงไม่เคยแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใดมาก่อน และในวันเกิดเหตุ

นายมีชัยเบิกความว่า ตนไม่ได้ยินหรือได้รับรายงานว่าจำเลยทั้งสิบเป็นผู้สั่งการ นอกจากนี้ การชุมนุมหน้ารัฐสภาเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การจะเข้าไปเสนอความเห็นในรัฐสภาได้ จะต้องยื่นคำร้องและดำเนินการตามขั้นตอน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ : นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เบิกความว่า เมื่อปี 2549 ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสนช. โดยปรกติสนช.ประชุมสัปดาห์ละครั้ง เริ่มเวลา 10.00น. องค์ประชุมคือจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิก การพิจารณากฎหมายแบ่งเป็นสามวาระ ได้แก่ การรับหลักการ การพิจารณาแปรญัตติ และการพิจารณาโดยที่ประชุม ส่วนใหญ่สองวาระหลังจะทำวันเดียวกัน บางครั้งก็ทำทั้งสามวาระในวันเดียวกัน 

นายวัลลภ เบิกความว่า  วันเกิดเหตุ เมื่อออกจากห้องประชุม ตนเห็นผู้ชุมนุมยืนอยู่นอกรัฐสภา เมื่อกลับเข้ามาประชุมต่อเห็นรปภ.มารายงานเหตุการณ์ ขณะนั้นผู้ชุมนุมอยู่หน้าห้องประชุมแล้วโดยอยู่ห่างจากกระจกกั้นประตูห้องโถงประมาณเจ็ดถึงแปดเมตร ตนเห็นจำเลยที่ หนึ่ง สาม แปดและเก้า ทราบว่ามีข้อเรียกร้องคือให้ชะลอการพิจารณากฎหมายออกไป ตนประสานงานไปยังนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสนช.ให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน ต่อมานายมีชัยมาพูดกับผู้ชุมนุมด้วยดี

นายวัลลภ เบิกความว่า สนช.จะนับองค์ประชุมต่อเมื่อมีการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ ส่วนกฎหมายที่มีความรีบเร่งมักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เห็นว่ากระทบต่อสิทธิประชาชน ไม่สมควรได้รับการพิจารณาโดยสนช. ทั้งนี้ สนช.เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นายวัลลภกล่าวว่า ตนทราบว่าผู้ชุมนุมคัดค้านการพิจารณากฎหมายเพราะมีเนื้อหากระทบสิทธิประชาชน แต่ไม่เคยได้ยินว่าผู้ชุมนุมต้องการให้สนช.หยุดการพิจารณา  สาเหตุที่ตนเสนอให้พักการประชุมไม่ได้เกิดจากการข่มขู่ของผู้ชุมนุม ที่ประธานสภาสั่งเลิกการประชุมอาจเป็นเพราะองค์ประชุมไม่ครบ

นายวัลลภ รับว่า รู้จักจำเลยทั้งสิบเพราะจำเลยทั้งสิบทำงานในประเด็นสาธารณะ ตนเห็นด้วยกับการชุมนุมของจำเลยทั้งสิบ

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า : นายณัฐพล จันทมาลา นิติกรรัฐสภาผู้แจ้งความ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายณัฐพล จันทมาลา เบิกความว่า ตนรับราชการเป็นนิติกรที่รัฐสภาโดยทำงานด้านกฎหมายให้กับรองประธานสนช.คนที่สอง คือ นางพจนีย์ ธนวรานุช เวลา 8.30 น.ของวันเกิดเหตุ ตนเห็นชุมนุมประมาณ 60-70 คนที่หน้ารัฐสภา ขณะนั้นการเข้าออกรัฐสภาเป็นไปตามปกติ การประชุมในวันนั้นเริ่มประมาณ 10.30 น. เมื่อเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในสภาแล้ว มีการล็อคประตูจากด้านในห้องประชุมทุกบานเพื่อไม่ให้คนเข้ามา ต่อมา รองประธานสนช.ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมสั่งพักการประชุม อย่างไรก็ดี สมาชิกสนช.ยังอยู่ในห้องประชุมต่อเพราะไม่แน่ใจในความปลอดภัย

นายณัฐพล กล่าวว่า ภายหลังเมื่อตามรองประธานออกมานอกห้องประชุม ตนเห็นผู้ชุมนุมประมาณ 30-40 คนกำลังส่งเสียงเอะอะโวยวายอยู่ที่บริเวณหน้าห้องประชุมรัฐสภาซึ่งเป็นเขตหวงห้าม หลังจากที่มีการสั่งเลิกการประชุมแล้ว ผู้ชุมนุมได้ออกไปอย่างสงบ

นายณัฐพล เบิกความว่า รปภ.คนหนึ่งแจ้งกับตนว่า ผู้ชุมนุมบุกเข้ามาทางประตู รปภ.ผู้นั้นได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเพราะพยายามยันประตูไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกเข้ามา เมื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่ากลอนด้านล่างของประตูบานที่ถูกผลักเสียหาย ภายหลังเลขาธิการสนช.มอบอำนาจหลังให้ตนไปฟ้องร้องผู้กระทำการ

นายณัฐพล เบิกความว่า  ที่บริเวณห้องโถงของรัฐสภา ตนได้ยินผู้ชุมนุมตะโกนแต่จับใจความไม่ได้ ตนไม่เห็นว่ามีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ในหนังสือมอบอำนาจที่ตนได้รับจากทางรัฐสภาไม่ระบุว่าให้ดำเนินคดีกับผู้ใดโดยตรง เพียงแต่ให้แจ้งข้อหาบุกรุก และทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าใครเป็นคนประทุษร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่

           

สืบพยานโจทก์ปากที่หก : นาย ทิวากร วิเชียรรัตน์  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภา

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายทิวากร วิเชียรรัตน์  เบิกความว่า บริเวณรัฐสภา มีประตูเข้าออกสี่ประตู  ประตูทางเข้าออกถนนอู่ทองในสองประตู คือประตูเข้าออกปกติ  ประตูด้านราชวิถีหนึ่งประตู คือประตูฉุกเฉิน และประตูบริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆหนึ่งประตูอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังจะใช้ในกรณีที่มีการชุมนุมประท้วง  ประชาชนที่จะเข้าออกรัฐสภาต้องแลกบัตร และบริเวณชั้นสองเป็นเขตหวงห้าม

นายทิวากรเบิกความว่า ในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตนอยู่เวรรักษาการณ์ เวลาประมาณ 9.00 น. เห็นผู้ชุมนุมมาประท้วงอยู่ที่หน้าถนนอู่ทอง มีการถือป้ายอยู่บนรถหกล้อและมีเครื่องขยายเสียง ผู้ชุมนุมประมาณ 300-400 คน เคลื่อนตัวจากสวนสัตว์ดุสิตมาที่ถนน และมีการปราศรัย ตนได้ยินว่าผู้ชุมนุมมาเพื่อคัดค้านกฎหมายบางฉบับ และผู้ปราศรัยบอกให้เข้าไปในสภาผ่านเครื่องขยายเสียง โดยบอกว่าใครอยากเข้าไปให้ประชิดรั้วเข้ามา แต่ไม่ได้บอกว่าให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง และไม่ได้บอกให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งคนที่พูดนั้นตนจำไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่ไม่ใช่นายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง)

นายทิวากรกล่าวต่อว่า เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมนำบันไดมาพาดที่รั้ว และนำไม้หน้าสามมาวางบริเวณส่วนบนของรั้วซึ่งเป็นเหล็กแหลม และเมื่อรถหกล้อเคลื่อนมาใกล้รัฐสภา ซึ่งตนเข้าใจว่าตำรวจเป็นผู้แจ้งให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนรถมา  ตนจึงปิดประตูเข้าออกตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และผู้ชุมนุมได้นำโซ่มาล่ามไว้ที่ด้านนอกประตูเพื่อไม่ให้คนด้านในออก แล้วใช้บันใดปีนเข้ามา มีส่วนหนึ่งลอดเข้ามาทางด้านใต้ของประตู ตนไม่สามารถควบคุมได้เพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก จึงได้เข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ขวางผู้ชุมนุมที่เข้ามาในอาคารประมาณ 30-40 คน  กลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นไปชั้นสอง และพยายามยื้อกับเจ้าหน้าที่เพื่อจะผลักประตูกระจกเข้าไปด้านใน  แต่ประตูถูกล็อก  ผู้ชุมนุมจึงดันกลอนประตูจนหลุดแล้วเข้าไปภายใน เมื่อเข้ามาแล้วผู้ชุมนุมได้ใช้โทรโข่งพูดว่าให้ สนช.ออกไป จำได้ว่าเป็นนายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่สาม) และบุคคลอื่นด้วย ตนและเจ้าหน้าที่คนอื่นจึงได้ล้อมผู้ชุมนุมไว้เพื่อควบคุมให้นั่งลงในบริเวณห้องโถงติดกับห้องประชุม  ผู้ชุมนุมในห้องโถงที่จำได้ คือ นายจอน และนายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด)  ต่อมามีการแถลงให้เลื่อนประชุม  ผู้ชุมนุมจึงเริ่มพอใจ และทยอยออกนอกสภา หลังจากนั้นพบว่ากลอนประตูที่ชั้นสองเสียหาย และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บแผลถลอกเล็กน้อย หลังจากประธานสภายุติการประชุม ผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุวุ่นวาย

นายทิวากรตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเห็นว่า นายสาวิทย์ แก้วหวาน (จำเลยที่สอง) และนายศิริชัย พูดอยู่บนรถแต่เมื่อเข้ามาในอาคารไม่ได้พูดอะไร  ส่วนเรื่องคล้องโซ่ที่ประตู เจ้าหน้าเอาโซ่ไปคล้องที่ประตูทางเข้า ส่วนประตูทางออกมีผู้ชุมนุมยืนอยู่และมีการปิดประตูใช้โซ่คล้อง และประตูราชวิถีก็มีการปิดโดยใช้โซ่คล้องไว้  เมื่อตนเข้ามาในรัฐสภาแล้ว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เปิดประตูเข้าออกตามปกติ นายศิริชัยเป็นคนพูดในวีซีดีว่า สนช.ออกไป

นายทิวากรกล่าวว่า ตามแผนเผชิญเหตุแล้วการชุมนุมครั้งนี้ถือว่าไม่รุนแรง ผู้ชุมนุมไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของราชการ ยกเว้นทำให้กลอนประตูทางเข้าอาคารเสียหาย และไม่ได้ขัดขวางการประชุม

นายทิวากรตอบคำถามอัยการถามติงว่า  ที่เบิกความว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงเป็นการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น  โดยไม่คิดว่าผู้ชุมนุมจะปีนเข้ามาในสภา เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด : นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นางสุวิมล เบิกความว่าตนมีหน้าที่ให้การสนับสนุนสมาชิกสภานิติบัญญัติด้านเอกสาร การประชุม และงานวิชาการ รัฐสภา

นางสุวิมลเบิกความว่าวันเกิดเหตุเห็นผู้ชุมนุมแต่ไม่ได้สนใจเพราะเป็นเรื่องปกติ  เวลาประมาณ 10.30   ตนได้ไปเชิญ นางสาว พจนีย์ ธนาวรานิช  ให้มาเป็นประธานในที่ประชุม เมื่อเวลาผ่านไปได้หนึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่รัฐสภาได้โทรมาแจ้งว่าผู้ชุมนุมได้เข้ามาในรัฐสภาแล้วอยู่หน้าห้อมประชุม ตนจึงได้เรียนให้นางสาว พจนีย์ ทราบ นางสาวพจนีย์ปรึกษาที่ประชุม และสั่งให้พักการประชุม จากนั้นสมาชิกได้ทยอยออกโดยใช้อีกประตูด้านข้างห้องประชุม ตนได้ไปพบนาย มีชัย ฤชุพันธ์   เห็นผู้ชุมนุมนั่งกันเป็นกลุ่มหน้าห้องประชุมประมาณสิบกว่าคน นายมีชัยขอให้ตนนัดหมายสมาชิกสภาใหม่อีกครั้งในเวลา 13.30 ต่อมาพลตำรวจโทอัศวิน ขวัญเมือง ได้เข้าพบนายมีชัยเพื่อรายงานสถานการณ์ นายมีชัยได้สั่งให้เลิกการประชุม โดยตนทราบเหตุผลในภายหลังว่า ต้องการให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็ได้ทยอยกลับออกไป หลังเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาซึ่งประจำอยู่ที่หน้าห้องนางสาวพจนีย์ ชื่อ นายพิชญ์ สุวรรณเปี่ยม มาแจ้งว่าได้รับบาดเจ็บจากการถูกผู้ชุมนุมทำร้าย จึงได้แนะนำให้ไปแจ้งความ ตนทราบจากหนังสือพิมพ์ว่านายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง)  เป็นผู้นำผู้ชุมนุมเข้ามา

นางสุวิมลกล่าวว่า ตนทราบว่าผู้ชุมนุมมาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายจำนวนมาก ตนเห็นว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเป็นเหตุสมควร และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการของผู้ชุมนุมไม่ถูกต้อง ตนตัดสินใจมอบหมายให้นิติกรไปแจ้งความโดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใด ในสองข้อหา คือ บุกรุกและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่  โดยเหตุที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้กระทำผิดไว้ในหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความเพราะ ตนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้และเห็นว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ  ชื่อจำเลยทั้งสิบนี้ พนักงานสอบสวนเป็นผู้พิมพ์ชื่อ ตนไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยทั้งสิบเป็นผู้กระทำผิด

นางสุวิมลกล่าวว่า ปกติมีการยืดหยุ่นให้บุคคลภายนอกเข้ามาในรัฐสภาบ้างโดยไม่ต้องแลกบัตรหากมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่สภา บริเวณที่ตั้งของรัฐสภาเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ตนไม่ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานทรัพย์สินฯ  แต่ใช้อำนาจของตนเองในการแจ้งความ  มีสมาชิกบางส่วนลาออกเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่จะเร่งรัดการพิจารณากฎหมายโดยไม่ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

นางสุวิมลกล่าวต่อว่า ตอบไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ และการที่ผู้ชุมนุมเข้าไปไม่เป็นการรบกวนการประชุมแต่เป็นการไม่ถูกต้อง

นางสุวิมลตอบคำถาม ถามติงว่า ไม่เคยมีผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณหน้าห้องประชุมได้และไม่เคยมีการอนุโลมให้ ในระหว่างการประชุม เมื่อได้รายงานให้นางสาวพจนีย์ ทราบแล้วยังคงมีการประชุมต่อไป จนนาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภาแถลงว่าสถานการณ์หน้าห้องประชุมไม่น่าไว้วางใจควรเลื่อนการประชุมออกไป  และมีสมาชิกบางคนต้องการให้ประชุมต่อไป การที่ผู้ชุมนุมทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

สืบพยานโจทก์ปากที่แปด : นายสมพร อำนวยสาร เจ้าของรถบรรทุกหกล้อ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายสมพร อำนวยสาร เบิกความว่า เป็นผู้ครอบครองรถบรรทุก ก่อนวันเกิดเหตุ ได้ขับรถไปให้ผู้เช่านำของไปเก็บบนรถ วันเกิดเหตุมีผู้เช่ารถคันดังกล่าวไปใช้ เวลาประมาณ 5.00 น. ได้ไปที่รถบรรทุกพบว่าบนรถมีเครื่องขยายเสียงและลำโพง จำไม่ได้ว่ามีอะไรอีกบ้างเนื่องจากมีผ้าคลุม ต่อมาได้ขับรถบรรทุกไปจอดไว้ที่บริเวณสวนสัตว์ดุสิต หลังจากนั้นมีคนแจ้งให้ขยับรถไปที่หน้าประตูรัฐสภา แล้วตนก็กลับไปที่สวนสัตว์ดุสิต จนเวลา 16.00 น. จึงขับรถกลับคนเดียว จากนั้นพนักงานสอบสวนยึดรถคันดังกล่าวไป อ้างว่ากีดขวางการจราจร

นายสมพรกล่าวว่า ขณะนำรถไปจอด มีตำรวจอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย แต่ตำรวจไม่ได้ไล่ทั้งรถของตนและผู้ชุมนุม

นายสมพรกล่าวว่า วันที่ไปให้การต่อตำรวจได้เล่าเหตุการณ์ว่าตำรวจแจ้งให้เลื่อนรถไปที่หน้ารัฐสภา เพราะขณะนั้นประตูหน้ารัฐสภาปิดแล้ว การจอดรถหน้าสวนสัตว์ดุสิตทำให้กีดขวางการจราจร จึงเลื่อนรถ เจ้าหน้าที่ไม่ตั้งข้อหาแก่ตนและให้รถของกลางกลับคืนมา

นายสมพรเบิกความว่า ที่เคยให้การว่าเห็นบันใดไม้ไผ่หลายอันและเหล็กรูปตัวยูยาวสองเมตรหลายอัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ว่าจ้างนำมาใส่รถนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เพราะถูกตำรวจข่มขู่จึงให้การเช่นนั้น นายสมพรตอบคำถามอัยการถามติงว่า ไม่ทราบว่าชายคนที่โทรศัพท์มาให้เลื่อนรถไปหน้าประตูรัฐสภาเป็นตำรวจหรือไม่ และก่อนลงชื่อในบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวน ตนได้เห็นข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงแล้ว

 

สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า : นายอาคม วัฒนพันธ์  ผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัยรัฐสภา

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายอาคม วัฒนพันธ์ เบิกความว่า อาคารรัฐสภามีสี่ประตู ประตูที่ประชาชนสามารถเข้าออกได้ คือ ประตูอู่ทองในและจะต้องมีการแลกบัตรอนุญาต  ปกติประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปในอาคารรัฐสภา นอกจากจะมีผู้นัดหมายและติดต่อกับผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องผ่านขั้นตอนการติดต่อ บริเวณชั้นสองของอาคารรัฐสภาเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสมาชิกสภาและคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

นายอาคมกล่าวต่อว่า วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมทยอยมาที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่เวลา 9.00 น. จนกระทั่งเวลา 9.30 น. ได้มีการแล่นรถหกล้อซึ่งมีเครื่องขยายเสียงมาจอดบริเวณทางเข้า นายอาคมจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ล็อคประตูทั้งหมด โดยปิดประตูเข้าออกบริเวณถนนอู่ทองในทั้งสองประตู  ตนเห็นนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) และ นายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) รวมทั้งบุคคลอื่นปราศรัยบนรถว่าไม่ต้องการให้มีการประชุมสภา มีการพูดคุยกันให้บุกเข้าไปในสภา  นายจอน ปราศรัยว่าขอให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในรัฐสภาเพื่อไม่ให้มีการประชุม 

นายอาคมให้การว่า ผู้ชุมนุมเอาบันไดไม้มาพาดรั้ว จำเลยที่ 1 ปีนข้ามรั้วมาเป็นคนแรก  และตนได้เข้าไปพยุงนายจอนด้วย   ผู้ชุมนุมบางส่วนได้ลอดช่องประตูเข้ามา ทั้งหมดประมาณร้อยกว่าคน  จากนั้นเข้าไปบริเวณหน้าล็อบบี้ห้องประชุมซึ่งอยู่ชั้นสอง และมีการดันประตูกระจกเพื่อจะเข้ามาในล็อบบี้ ตนเกรงว่าประตูจะพังจึงเปิดประตูให้ ผู้ชุมนุมประมาณ 70- 80 คนเข้ามาในล็อบบี้ รวมทั้งนายจอนซึ่งนั่งอยู่เงียบๆ  จากนั้นจึงไปรายงานให้ประธานสภาทราบว่าผู้ชุมนุมมาอยู่บริเวณหน้าล็อบบี้  ประธานสภาแถลงงดการประชุม ผู้ชุมนุมจึงทยอยกลับ

ในขณะเกิดเหตุไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุม เนื่องจากผู้บังคับบัญชาไม่ได้สั่ง แต่หลังจากนั้นมีการทำรายงานไปที่ประธานสภา

นายอาคมเบิกความว่า มีการชุมนุมเกิดขึ้นที่รัฐสภาหลายครั้ง โดยมีตำรวจมาอำนวยความสะดวกและไม่มีการตั้งข้อหากีดกันการจราจร   

นายอาคมตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ภายหลังผู้ชุมนุมมาประชิดรั้ว และเจ้าหน้าที่ได้มีการสั่งให้ปิดประตูรั้ว แล้วจึงเห็นรถหกล้อแล่นมาที่ประตูทางเข้าออก หลังจากนั้นได้มีการปราศรัย โดยมีผู้ขึ้นปราศรัยประมาณสิบกว่าคน และนายอาคมเบิกความยืนยันว่าตามที่ปรากฏในวีซีดี จำเลยไม่ได้พูดปราศรัยให้บุกเข้าไปในสภา  เมื่อนายจอนลงจากรถปราศรัยแล้วจึงมีการเริ่มนำบันไดมาพาดที่รั้ว  และในระหว่างที่ผู้ชุมนุมปีนรั้วจึงได้มีการปราศรัยจากบนรถให้ผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้ามาในสภา

นายอาคมเบิกความต่อว่า ตนกลัวว่านายจอนจะตกจากรั้วจึงได้เข้าไปช่วยพยุง ตนไม่ได้ยินนายจอนสั่งการผู้ใด เมื่อเข้ามาในล็อบบี้ นายจอนไม่ได้ทำการใดที่เป็นการรบกวนการประชุม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังอยู่ข้างนอกพร้อมกับรถหกล้อ

นายอาคมกล่าวว่า เมื่อมีการปีนรั้วเข้ามาแม้จะมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่แต่ก็เพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง เมื่อเข้ามาในบริเวณล็อบบี้แล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีการสั่งการใดๆ ผู้ชุมนุมไม่ได้เข้ามาก่อความวุ่นวายเพียงแต่เข้ามาเพื่อต้องการคัดค้านการพิจารณากฎหมาย 

นายอาคมตอบถามค้านทนายจำเลยว่า กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำทำให้ประชาชนเสียเปรียบ นายนัสเซอร์ ยีหมะ(จำเลยที่หก) และนายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) พูดปลุกปั่นและไม่เห็นว่าเข้าไปในสภา

นายอาคมเบิกความว่า เสียงจากการปราศรัยไม่ถึงขนาดรบกวนการประชุม และมีข้อความว่ามาโดยสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง มีการพูดเรื่องกฎหมาย ไม่มีลักษณะสั่งการแต่อย่างใด และเมื่อมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งปีนเข้าไป คนอื่นจึงได้ปีนเข้าไปด้วยไม่มีการสั่งการ การชุมนุมยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ

นายอาคมกล่าวว่า ผู้ชุมนุมมีส่วนได้เสียในการพิจารณากฎหมาย และเป็นการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน สาเหตุที่ไม่จับจำเลย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ผู้ชุมนุมไม่ได้พูดว่าจะเข้าไปให้องประชุม การจะหยุดประชุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานสภา ทรัพย์สินของรัฐสภาไม่เสียหาย เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บไม่ต้องรับการรักษา

ตอบคำถามถามติงอัยการ ว่าก่อนมีการปีนรั้ว นายจอนได้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปข้างในเพื่อไม่ให้มีการประชุม ตนไม่ได้จับตัวผู้ชุมนุมเนื่องจากผู้ชุมนุมสะบัดหนี  ผู้ชุมนุมทั้งในและนอกรั้วรัฐสภาเป็นกลุ่มเดียวกัน มีจุดประสงค์เดียวกันคือ คัดค้านกฎหมาย และการกระทำของจำเลยคือการบุกรุกอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุที่ปิดประตูเนื่องจากเห็นรถสิบล้อวิ่งเข้ามา และผู้ชุมนุมไม่มีสิทธิเอาโซ่มาล่ามประตู

ตอบคำถามทนายจำเลย ขออนุญาตศาลถามว่าเคยให้การว่า มีการพูดให้บุกเข้าไปในรัฐสภา โดยไม่ได้ระบุว่าคนพูดคือนายจอนและจำเลยอื่นๆ

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ : นายพิชญ์ สุวรรณเปี่ยม ผู้ติดตามรองประธานสภา

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายพิชญ์ สุวรรณเปี่ยม เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุตนเป็นผู้ติดตามนางสาวพจนีย์ ธนาวรานิช รองประธานสภาคนที่สอง การประชุมเริ่มเวลา 10.00 น.มีน.ส.พจนีย์เป็นประธาน ระหว่างการประชุมมีการแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารว่า ผู้ชุมนุมกำลังปีนรั้วเข้ามา เมื่อตนออกมาที่ห้องโถงก็เห็นผู้ชุมนุมสิบกว่าคนกำลังดันประตูกระจกเข้ามาตนพยายามดันประตูไว้แต่ไม่อาจต้านแรงผู้ชุมนุม ตนถูกผู้ชุมนุมถีบที่ซี่โครงด้านซ้ายด้วยหลังจากนั้น นายพิชญ์วิ่งเข้าห้องประชุมแจ้งให้เจ้าหน้าที่ล็อคประตูห้องประชุมแล้วจึงแจ้งให้ น.ส.พจนีย์ทราบเรื่อง  

นายพิชญ์ เบิกความว่า  เมื่อกลับออกมาที่ห้องโถง ตนพบว่าตำรวจกำลังยืนล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ มีการตะโกนถ้อยคำหยาบคายและตะโกนบอกให้เลื่อนการประชุมด้วย นายพิชญ์เห็น นายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) นายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่สาม) และนายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) ในห้องโถงด้วย  ภายหลังตนทราบว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาพูดคุยกับผู้ชุมนุม ต่อมานายมีชัย ฤชุพันธ์ประธานสนช.ก็ประกาศยกเลิกการประชุม

นายพิชญ์ เบิกความว่า น.ส.พจนีย์แสดงอาการตกใจกลัวเมื่อทราบเรื่องผู้ชุมนุมแต่การประชุมก็ดำเนินต่อไป ขณะที่มีการผลักประตู ตนไม่แน่ใจว่าประตูล็อคอยู่หรือไม่ ที่เบิกความว่าตนถูกถีบขณะยันประตูนั้น ตนเชื่อว่าลักษณะการถีบไม่ได้เป็นการเอาเท้ายันประตูแต่เป็นการถีบหลังประตูเปิดแล้ว แต่ตนไม่รู้ว่าใครถีบและไม่ได้ยินว่ามีใครสั่งการ ตนไม่ได้แจ้งความเพียงแต่รายงานให้เลขาธิการวุฒิสภาทราบ

นายพิชญ์ กล่าวว่า เหตุที่ประธานสั่งยกเลิกประชุมน่าจะเป็นเพราะเกิดเหตุไม่สงบที่หน้าห้องประชุม

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 : นายวิธวินทร์ งามเลิศ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภา

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายวิธวินทร์ งามเลิศ ให้การว่า ตนทำงานอยู่ที่รัฐสภาเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วันเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งให้ประจำประตูทางเข้าที่ติดถนนอู่ทองใน ปกติประตูที่ประชาชนเข้าคือประตูถนนอู่ทองใน คนที่จะเข้าต้องติดบัตรอนุญาต บริเวณชั้นสอง ซึ่งเป็นที่ประชุมเป็นเขตหวงห้ามเฉพาะ ประชาชนห้ามเข้าเด็ดขาด

นายวิธวินทร์ เล่าว่า ตนมาถึง 7.00 น. เห็นรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงจอดอยู่บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ยังไม่มีการปราศรัยใดๆ จนเวลา 8.30 น. สังเกตเห็นเครื่องขยายเสียงและบันไดสองอันบนรถ ข้างรถมีเหล็กและมีเชือกผูกลักษณะเป็นรางสองอัน

เวลา 9.00 น. การปราศรัยเริ่มขึ้นโดยมีการสับเปลี่ยนกันปราศรัย จำได้ว่าผู้ปราศรัยมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) และชายผู้หนึ่งซึ่งสวมปลอกคอ เนื้อหาที่พูดเป็นเรื่องกฎหมายซึ่งตนจำไม่ได้ว่ากฎหมายอะไร การปราศรัยใช้เวลาประมาณ หนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนรถมาจอดห่างหน้าประตูสองเมตร ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้ตนและพวกปิดประตูทางเข้าออก ตนจึงใช้โซ่คล้องประตู ทางผู้ชุมนุมก็นำโซ่มาคล้องและล็อคกุญแจเช่นกัน

นายวิธวินทร์ เล่าวว่า ตนยืนอยู่ข้างรั้วรัฐสภาห่างจากรถประมาณห้าเมตร มองเห็นผู้พูดชัดเจนจากรั้วโปร่ง นายจอนปราศรัยอยู่บนรถ มีเนื้อหาไม่ยอมให้มีการออกกฎหมายและให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไป ต่อมาผู้ชุมนุมจึงนำเหล็กที่เตรียมมาไปครอบกับเหล็กแหลม นำบันไดมาพาดสองอันและปีนเข้ามา ตนเห็นนายจอนข้ามรั้วเข้ามาและมีผู้ชุมนุมตามมาประมาณ 100 คน และวิ่งไปบนชั้นสองของอาคารหนึ่ง ตนได้รับหน้าที่ให้เฝ้าประตูจึงไม่ได้จับกุมผู้ชุมนุมที่เข้ามา เจ้าหน้าที่รัฐสภายึดบันไดแต่ไม่ได้ยึดเหล็กครอบ หลังจากขึ้นไปชั้นสอง ได้สองชั่วโมงก็ทยอยลงมาโดยมีผู้ชุมนุมบางคนมาขอบันไดคืน ซึ่งนายอาคมก็คืนให้ จากนั้นตนจึงไขกุญแจถอดโซ่คล้องและเปิดประตู ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ไขกุญแจที่คล้องไว้เช่นกัน ระหว่างที่มีโซ่คล้องอยู่ไม่มีผู้ใดเข้ามาติดต่อราชการได้

นายวิธวินทร์ ตอบคำถามทนายความว่า ก่อนที่รถจะเคลื่อนมาหน้าประตู กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยมาก่อนแล้ว ตนปิดประตูรั้วก่อนที่รถจะเคลื่อนมาถึง เหตุที่ปิดเพราะเห็นรถกำลังเคลื่อนมาแล้ว เสียงนายจอนแตกต่างจากผู้อื่น คือ เสียงแหบ หลังจากนายจอนสั่งให้เข้าไป ประมาณสองนาทีก็มีการนำบันไดมาพาดรั้ว ตนได้รับคำสั่งให้กั้นกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม ส่วนเรื่องการนำบันไดมาปีนเข้ารัฐสภา ตนไม่เคยเตรียมการณ์และคาดคิดเรื่องนี้มาก่อนเพราะทำงานมาก็ 20 กว่าปี

นายวิธวินทร์ ตอบคำถามทนายความว่า ที่ตอนแรกเบิกความว่าเห็นเหล็กรางตอนที่รถจอดอยู่ฝั่งตรงข้ามจริงๆ แล้วไม่เห็น จำไม่ได้ว่าในจำเลยทั้งสิบคนเห็นไหนพูดคำว่าบุกเข้าไปหรือไม่ ตนเห็นบันไดเพียงหนึ่งอัน พิงอยู่กับต้นไม้ เมื่อรถเคลื่อนมาก็เห็นคนถือบันไดตามมา จุดที่ตนยืนมองเห็นผู้ปราศรัยแค่ส่วนหัว จึงไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้วันเกิดเหตุไม่ได้ยินผู้ชุมนุมใช้คำพูดรุนแรง ไม่ยืนยันว่าเห็นนายจอนเป็นผู้สั่งให้บุกเข้าไปในรัฐสภา เนื่องจากเป็นช่วงชุลมุน

นายวิธวินทร์ ตอบคำถามต่อว่า ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเอาบันไดมาพาดได้มีการขอให้เปิดประตูแต่นายอาคมผู้บังคับบัญชาของตนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ก็อยากให้เปิดแต่ไม่ได้เปิด กลุ่มผู้ชุมนุมเคยมาคัดค้านการออกกฎหมายก่อนวันเกิดเหตุประมาณหนึ่งเดือน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 12 : พ.ต.ท. ไพสิฐ แก้วจรัส  ผู้บังคับกองร้อยปราบจลาจลในวันเกิดเหตุ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พ.ต.ท. ไพสิฐ แก้วจรัส กล่าวว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับการกองร้อยและทำงานร่วมกับตำรวจอีกหลายสถานีในสถานการณ์ที่จะมีผู้มาชุมนุมที่รัฐสภาในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 การปฏิบัติงานนั้นได้วางแผนให้ตำรวจยืนเรียงตลอดแนวรั้วรัฐสภาโดยไม่มีอาวุธ มีเพียงโล่พลาสติกใส

พ.ต.ท. ไพสิฐ กล่าวอีกว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตนติดภารกิจถวายอารักขา จึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.พรเทพ เกิดปัญญา และ พ.ต.ท.สำเริง ส่งเสียง ปฏิบัติหน้าที่แทน เมื่อเสร็จภารกิจเวลา 11.00 น.จึงมาสอบถามรายละเอียดสถานการณ์ ผู้ใต้บังคับฯ แจ้งว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนพาดบันไดและปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภา แต่ไม่ได้แจ้งว่าใครเป็นผู้สั่งผู้ชุมนุมให้ปีนเข้าไป  ตนจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังบริเวณรั้วเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปอีก และสั่งให้ตรึงกำลังไว้บริเวณนอกรั้วด้วย การปราศรัยของผู้ชุมนุมดำเนินไปตามปกติไม่มีการปราบปรามใดๆ

พ.ต.ท. ไพสิฐ ให้การว่า วันดังกล่าวน่าจะมีประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตนอยู่บริเวณรัฐสภาจนถึงเวลา 16.00 น. เมื่อเวลา 15.00 น. ตนจำได้ว่ามีกลุ่มคนซึ่งไม่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสภาเดินออกมา เวลานั้นรถบรรทุกหกล้อยังคงจอดอยู่ แต่จำไม่ได้ว่ามีการปราศรัยอีกหรือไม่ และก่อนที่ผู้ชุมนุมสลายตัว ตนเห็นนายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่สาม) และนายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณนอกรั้วรัฐสภา สาเหตุที่จำจำเลยได้เพราะเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเดินออกมาจากบริเวณรัฐสภาแล้ว ก็ต่างแยกย้ายกันกลับ โดยตนไม่ได้เป็นผู้สั่งให้สลายการชุมนุม

พ.ต.ท.ไพสิฐกล่าวด้วยว่า วันเกิดเหตุตนไม่ได้จับกุมหรือแจ้งข้อหาแก่ผู้ชุมนุมรายใดเพราะการชุมนุมยังอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ตอนที่พ.ต.ท.พรเทพ เกิดปัญญา และ พ.ต.ท.สำเริง ส่งเสียง แจ้งว่ามีผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้ารัฐสภา ตนก็ไม่ได้จับกุม และไม่ได้ยึดบันไดที่ใช้ปีนเป็นของกลาง เพราะผู้บังคับบัญชาไม่ได้สั่งการ อีกทั้งการปราศรัยก็มิได้ใช้ถ้อยคำส่อเสียดหรือหยาบคาย และการกระทำของนายศิริชัยและนายอำนาจ ก็ไม่มีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรง อีกทั้งไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองมีอำนาจสั่งการผู้ชุมนุมหรือไม่ ส่วนรถบรรทุกก็ไม่ได้กีดขวางทางจราจรช่องหลัก

พ.ต.ท. ไพสิฐ เบิกความว่า วันเกิดเหตุตนไม่ได้ประสานงานกับผู้บังคับบัญชา แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีจำนวนมากเกินกว่า กำลังของตนจะสามารถควบคุมได้ แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้ก่อความวุ่นวายหรือความรุนแรงใดๆ  และเมื่อตนไปถึงรัฐสภาเวลา 11.00 น. ประตูทางด้านถนนอู่ทองในทั้งสองปิดอยู่แล้ว และตอนบ่ายที่เห็นผู้ชุมนุมเดินออกมาจากรัฐสภา ก็ไม่เห็นมีใครเป็นผู้สั่งการและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เปิดประตูดังกล่าว

พ.ต.ท. ไพสิฐ ตอบคำถามถามติง โดยให้การว่า ในวันเกิดเหตุ ตนไม่ได้สังเกตว่าแผ่นป้ายผู้ชุมนุมทำด้วยไม้อะไร เหตุการณ์ชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดการจราจรติดขัด จุดที่รถบรรทุกจอดก็ไม่กีดขวางทางจราจรหลัก แต่ผิดกฎหมาย และการที่ผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 13 : .ต.อ.สมชาย เชยกลิ่น ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พ.ต.อ.สมชาย เชยกลิ่น เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมประสานงานมายังนายอาคม วัฒนพันธ์ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาว่า จะมีการชุมนุมคัดค้านการออกกฎหมายหลายฉบับในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 โดยจะมีคนมาร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน

พ.ต.อ.สมชาย เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ เมื่อมาถึงรัฐสภาประมาณ 6.00 – 7.00 น. ก็เห็นผู้ชุมนุมถือป้ายประท้วงและมีผู้สลับกันขึ้นปราศรัยบนรถเวทีแล้ว พ.ต.อ.สมชายสั่งให้ตำรวจบันทึกภาพและเสียงของการชุมนุมไว้ด้วย เท่าที่จับความได้มีการปราศรัยในลักษณะเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในรัฐสภาแต่ไม่ได้พุดว่าให้บุกเข้าไป เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้ชุมนุมนำเหล็กรูปตัวยูมาครอบปลายแหลมของรั้วพร้อมทั้งนำบันไดมาพาดและปีนเข้าไป เจ้าหน้าที่พยายามจะห้ามผู้ชุมนุมแต่เพราะมีเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยกว่าทำให้ผู้ชุมนุมปีนข้ามไปได้สำเร็จ

เมื่อผู้ชุมนุมเข้าไปถึงหน้าประตูชั้นสองของอาคารหนึ่งก็ถีบประตูกระจกจนหลุดไปหนึ่งบาน เจ้าหน้าที่นายหนึ่งที่ประจำอยู่ตรงทางเข้าได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้แต่ไม่ติดใจเอาความ เมื่อ พ.ต.อ.สมชายตามขึ้นมาก็พูดคุยกับจำเลยที่หนึ่งโดยรับปากว่าจะพาไปพบนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสนช.แต่จำเลยที่หนึ่งปฏิเสธ ตนจึงแจ้งพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง  ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้ไปขอให้นายมีชัยยกเลิกการประชุมเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง หลังนายมีชัยแถลงปิดประชุมออกสื่อผู้ชุมนุมก็ทยอยกันออกมา ทั้งนี้ไม่มีการติดใจเอาเรื่องใดๆ กับผู้ชุมนุม

พ.ต.ท.สมชาย เบิกความว่า ไม่ทราบว่าใครนำโซ่มาคล้องประตูหรือนำบันไดมาพาดและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการ ที่พบว่ามีการซุกซ่อนบันไดไว้บนรถเวทีนั้น ตนได้รับรายงานมาจากฝ่ายสืบสวนแต่ไม่ได้เห็นเอง ทั้งนี้หลังเกิดเหตุไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ปราศรัย ส่วนใครจะปราศรัยในเชิงยุยงนั้นต้องดูภาพประกอบกับเทปที่บันทึกเสียงไว้ ในช่วงที่มีการปีนรั้ว ตนเห็นจำเลยที่หนึ่งขณะกำลังปีนด้วย

พ.ต.ท.สมชาย กล่าวว่า จำเลยที่เจ็ดปราศรัยชี้ชวนให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในรัฐสภาโดยบอกว่า อัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ชุมนุมที่ปีนรั้วทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.สมชาย ไม่ได้เห็นว่าจำเลยที่เจ็ดเป็นผู้พูดประโยคดังกล่าวด้วยตาตัวเอง เพียงแต่คาดเดาเพราะจำเลยที่เจ็ดปราศรัยบนเวทีเป็นเวลานานทั้งยังเป็นผู้มีความสามารถชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตามด้วย

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 14 : ร.ต.ท.ชุมพล แสนวิชัย ตำรวจผู้ควบคุมฝูงชน

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ร.ต.ท.ชุมพล แสนวิชัย ให้การว่าตนเป็นข้าราชการตำรวจ ช่วยราชการเป็นผู้บังคับหมู่ป้องกันปราบปรามฝูงชนที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ได้รับคำสั่ง ให้เป็นผู้บังคับบัญชาในการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ           

ร.ต.อ.ชุมพล กล่าวว่า หกโมงเช้าของวันเกิดเหตุ ตนไปรวมตัวที่หน้าสวนสัตว์ดุสิตตรงข้ามกับรัฐสภา  เห็นรถกระจายเสียงของผู้ชุมนุมจอดตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิตอยู่ก่อนแล้ว เวลาประมาณเจ็ดโมงก็เริ่มเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่หน้ารัฐสภาและมีผู้ขึ้นปราศรัยหลายคนสลับเปลี่ยนกันไป จำไม่ได้ว่าใครขึ้นปราศรัยและปราศรัยเรื่องอะไรบ้าง การปราศรัยบนรถของผู้ชุมนุมนั้นห่างจากจุดที่ตนยืนประจำอยู่ที่ประตูรัฐสภาไม่มาก จึงสามารถเห็นรถของผู้ชุมนุมได้ชัด  

ร.ต.อ.ชุมพล เบิกความต่อว่า  เวลาประมาณสิบโมง ประตูรัฐสภายังไม่เปิดแต่มีผู้ชุมนุมมาอยู่ประตูทางเข้าเป็นจำนวนมาก จนสิบโมงกว่าตนและพวกจึงเข้าไปนั่งพักในสวนสัตว์ดุสิต  เวลา 11 โมง ได้รับแจ้งจากทางวิทยุว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในรัฐสภาจึงนำเจ้าหน้าที่ตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่หน้าประตูทางเข้ารัฐสภา เมื่อมาถึงก็ไม่เห็นใครกำลังปีนรั้ว แต่รู้ได้ว่ามีคนปีนข้ามไปแล้ว และเห็นบันไดไม้ไผ่พาดอยู่และมีเหล็กรางครอบเหล็กแหลมอยู่บนรั้วรัฐสภา ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนยังอยู่ด้านนอกรัฐสภา ตนประจำอยู่จุดดังกล่าวอีกประมาณสองชั่วโมง ซึ่งตลอดเวลายังมีการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม

ร.ต.อ.ชุมพลตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้านว่า ก่อนมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้รับรายงานว่าจะมีการบุกรุก เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุก็ไม่พบว่ามีการวางบันได้พาดไว้ที่รั้ว และยังไม่เห็นรางเหล็ก จากจุดที่ตนยืนไม่เห็นบันไดและเหล็กครอบวางอยู่ข้างรถหรือบนรถของผู้ชุมนุม ในวันเกิดเหตุไม่ได้รับคำสั่งให้จับกุมผู้ชุมนุม ไม่ได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติ และกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมอยู่จนถึงช่วงเย็น

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 15 :  ร.ต.อ. ภาคิน สิริปุณยาพร ตำรวจสน.ชนะสงคราม           

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ร.ต.อ.ภาคิน สิริปุณยาพร ให้การว่า ตนรับราชการตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม วันเกิดเหตุ เวลา 6.00 น. ได้รับคำสั่งให้นำตำรวจสิบนาย ไปรวมกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต โดยให้นำกำลังไปที่หน้ารัฐสภา

ร.ต.อ.ภาคิน ให้การว่า ตนเห็นรถบรรทุกหกล้อจอดอยู่ทางด้านสวนสัตว์ดุสิต บนรถมีเครื่องขยายเสียงติดอยู่ ตนเห็นนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) ปราศรัยอยู่บนรถหกล้อคัดค้านการพิจารณากฎหมาย ต่อมาในวันเดียวกันนั้น เวลาประมาณ 8.00 หรือ 9.00 น. ตนได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ประตูช้างต้น ซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกับรัฐสภา ห่างจากประตูเข้าออก 30 เมตร โดยจุดที่ยืนรักษาการอยู่สามารถเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ตนเห็นรถบรรทุกหกล้อเคลื่อนจากฝั่งสวนสัตว์ดุสิตมายังหน้าประตูทางเข้า เวลา 10.00 น. เห็นผู้ชุมนุมนำบันไดมาวางและปีนข้ามเข้าไปในรัฐสภา ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังปราศรัยต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ประตูรัฐสภาถูกปิดตั้งแต่ขณะที่ตนมาถึงในตอนเช้า

ร.ต.อ.ภาคิน ตอบคำถามทนายความถามค้านว่า ตนได้ยินเสียงของนายจอนปราศรัยมาก่อนเกิดเหตุ ซึ่งจุดที่ตนประจำอยู่บริเวณช้างต้นเป็นระนาบเดียวกับประตูทางเข้ารัฐสภา ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมกระจายตัวมาอยู่บริเวณประตูช้างต้นที่ตนประจำอยู่และในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมปีนข้ามรั้วเข้าไปในรัฐสภา ตนยังยืนประจำอยู่ที่ประตูช้างต้นไม่ได้เคลื่อนที่เข้าไปใกล้เพื่อดูเหตุการณ์

ร.ต.อ.ภาคิน ตอบคำถามทนายความถามค้านว่า บรรยากาศของการชุมนุมมีการร้องเพลงและปรบมือ การปราศรัยเท่าที่เห็นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณประตูทางเข้าถนนอู่ทองในมีผู้ถือป้ายข้อความประท้วง และได้นำป้ายผ้ามาขึงตามรั้วด้วย

ร.ต.อ.ภาคิน ตอบคำถามทนายความต่อว่า ตนไม่ได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปราศรัยพูดจาให้ละเมิดกฎหมาย ขู่เข็ญ ให้บุกรุกเข้าไปในรัฐสภา คิดว่ากลุ่มบุคคลที่ปีนเข้าไปคือกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่สามารถระบุตัวได้แน่ชัด ขณะที่ประจำอยู่ที่ประตูช้างต้นเห็นเจ้าหน้าที่บันทึกภาพกลุ่มผู้ชุมนุม

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 16 : ด.ต.วีนัส ศรีสุข ตำรวจผู้ควบคุมฝูงชน

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ด.ต.วีนัส ศรีสุข เบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่หน้ารัฐสภาเพื่อควบคุมฝูงชนที่จะมาชุมนุม ในวันเกิดเหตุ มาถึงรัฐสภาเวลา 8.00 น. ขณะที่อยู่บริเวณฝั่งสวนสัตว์ดุสิตเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก มีการปราศรัยบนรถบรรทุกที่ใช้เป็นเวที มีเครื่องขยายเสียง แต่จำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ขึ้นปราศรัย จนเวลา 10.00 น. ตนไปปฏิบัติหน้าที่ตรงประตูบริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งมองไม่เห็นประตูทางเข้ารัฐสภา ต่อมาประมาณ 12.00 น. ได้รับแจ้งจากผู้บังคับกองร้อยว่า ด้านนอกมีปัญหาให้ดูแลประตูให้ดี แต่ไม่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวคืออะไร หลังจากนั้นประจำจุดดังกล่าวจนเวลา 17.00 น. จึงกลับบ้านทางลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่ผ่านประตูรัฐสภา

ด.ต.วีนัส ตอบคำถามทนายความว่า ไม่ยืนยันว่าภาพในวีซีดีเป็นภาพในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่ ขณะที่ประจำอยู่ที่ประตูอภิเษกดุสิตประตูยังเปิดอยู่ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนเดียว ตลอดทั้งวันไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดกั้นบริเวณนี้

ด.ต.วีนัส ตอบคำถามอัยการถามติงว่า ไม่แน่ใจว่าประตูที่ประจำอยู่ชื่ออะไร แต่บริเวณหน้าประตูไม่มีการชุมนุม และไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุสมาชิกสภาและข้าราชการของรัฐสภาเข้าออกประตูใด ปกติสมาชิกสภาจะเข้าออกทางประตูถนนอู่ทองใน นอกจากนั้นตนเองยอมรับว่าบรรยากาศการชุมนุมในวีซีดีวัตถุพยานเป็นภาพในวันเกิดเหตุจริง

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 17 : พ.ต.ท.สหภูมิ ชมพูธวัชสถิต ตำรวจผู้บังคับบัญชาการสืบสวนหาข่าว

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พ.ต.ท.สหภูมิ ชมพูธวัชสถิต ให้การว่า ตนรับราชการอยู่ที่กองกำกับการสอง กองกำกับการตำรวจสันติบาลหนึ่ง มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวของกลุ่มมวลชนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

พ.ต.ท.สหภูมิ กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุผู้ใต้บังคับบัญชาของตนไปสืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองบริเวณหน้ารัฐสภา ตนไม่ได้ไปดูเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ แต่ตนประจำอยู่ที่สำนักงาน โดยมีผู้ใต้บังคับบัญชาของตนคอยรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวให้ตนทราบอยู่ตลอด ตนได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุมนำรถบรรทุกมาจอดบริเวณหน้ารัฐสภาและใช้รถคันดังกล่าวเป็นเวทีปราศรัยและปิดประตูรัฐสภาโดยใช้โซ่คล้อง เพื่อมิให้สมาชิกสภาเข้าประชุม โดยมีนายจอน อึ๊งภาการณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) ขึ้นปราศรัยบนเวที  เวลา 11.30 น. ตนได้รับรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 100 คนได้ใช้บันไดพาดที่รั้วปีนข้ามเข้าไปในรัฐสภาและอยู่ในบริเวณรัฐสภานานสองชั่วโมง ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภากับนายจอน โดยมี พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ร่วมเจรจาด้วย เกี่ยวกับเรื่องที่ทางสภาจะหยุดพิจารณากฎหมายในวันนี้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมออกจากบริเวณรัฐสภา ทำให้การชุมนุมได้ยุติลง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยออกมาจากรัฐสภา

พ.ต.ท.สหภูมิ ให้การว่า ตนได้รับรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการคัดค้านการพิจารณากฎหมาย 11 ฉบับที่ สนช.จะพิจารณา อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง กฎหมายเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียงและกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และก่อนวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังประธานรัฐสภาเกี่ยวกับการคัดค้านกฎหมายข้างต้น แต่สภาไม่ฟังเสียงเรียกร้อง

พ.ต.ท.สหภูมิ เบิกความว่า นายจอนมาชุมนุม แต่ไม่ได้การกระทำการที่รุนแรง ขณะเกิดเหตุตนทราบว่า นายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการคัดค้านการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการให้อำนาจทหารจนเกินขอบเขต และปราศจากการตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการ นายสาวิทย์ แก้วหวาน (จำเลยที่สอง) และ นายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่สาม) เกี่ยวข้องกับองค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจ คัดค้านกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จำเลยทั้งสิบมาคัดค้านการพิจารณากฎหมาย มีจุดประสงค์เพียงเพื่อคัดค้านการพิจารณากฎหมายของ สนช. และต้องการให้สมาชิกผู้แทนที่มาจากเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณากฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมต้องการจะยื่นข้อเรียกร้อง แต่ทางรัฐสภาได้ปิดประตูไม่ให้เข้าพบ

พ.ต.ท.สหภูมิ ให้การว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้ถ่ายภาพผู้ชุมนุมในขณะที่อยู่บริเวณนอกรัฐสภาและขณะที่ปีนบันไดข้ามรั้วเข้าไปในรัฐสภาเป็นรูปถ่าย แต่ตนมิได้รับรายงานว่าใครเป็นบุคคลแรกที่ปีนข้ามรั้วเข้าไปและไม่ได้รับรายงานด้วยว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้เตรียมบันไดและรางเหล็กไปด้วย ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการให้นำโซ่ไปคล้องประตูและใช้บันไดพาดรั้วเพื่อปีนเข้าไปในบริเวณรัฐสภา

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 18 : ด.ต.สรกฤช เกิดมณีเดชากร ตำรวจผู้สืบสวนหาข่าว

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ด.ต.สรกฤช เกิดมณีเดชากร ให้การว่า ขณะเกิดเหตุตนดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กองกำกับการสอง กองกำกับการตำรวจสันติบาล มีหน้าที่หาข่าว สอบสวนเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

ด.ต.สรกฤชกล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าว โดยรับผิดชอบเฉพาะส่วนของนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) ได้ทราบวันและเวลาที่กลุ่มผู้ชุมนุมนัดกัน คือ เวลาประมาณ 6.00 – 7.00 น. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อตนไปถึงที่เกิดเหตุ เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีผู้ชุมนุมหลายร้อยคนปราศรัยโดยใช้รถบรรทุกหกล้อติดเครื่องขยายเสียง รถดังกล่าวเคลื่อนที่ไปยังบริเวณหน้ารัฐสภาซึ่งประตูรั้วปิดไว้โดยมีโซ่คล้องอยู่หลายเส้น ตนสามารถจำหน้านายจอน และนายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) ซึ่งเป็นผู้กล่าวปราศรัยได้ชัดเจน

ด.ต.สรกฤช กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นตนเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมหลายสิบคนใช้บันไดสามถึงสี่อันปีนข้ามรั้วรัฐสภาและบุกเข้าไปในบริเวณรัฐสภา บันไดดังกล่าวถูกเก็บมิดชิดอยู่ในรถบรรทุก ซึ่งขณะนั้นยังมีผู้ปราศรัยอยู่บนรถบรรทุกตลอดเวลา ภายหลัง กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวได้เปิดประตูรัฐสภาออกมาจากด้านในพร้อมกับเสียงปราศรัยของนายจอนว่า สนช.มีมติเลื่อนการประชุมแล้ว

ด.ต.สรกฤช เบิกความว่า ประตูรัฐสภาปิดอยู่โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐสภานำโซ่มาคล้องไว้ และบันไดที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำไปใช้ปีนรั้วถูกเก็บมิดชิดอยู่ในรถบรรทุกที่ใช้ปราศรัย และตนไม่ได้ยินจำเลยทั้งสิบพูดยุยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงหรือล่วงละเมิดกฎหมายหรือปีนเข้าไปในรัฐสภาแต่อย่างใด เพียงแต่ชุมนุมปราศรัยเพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมาย 11 ฉบับของสนช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

ด.ต.สรกฤชกล่าวด้วยว่า จำเลยทั้งสิบไม่มีผู้ใดสั่งการหรือบังคับผู้ชุมนุม เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็มิได้มีการวางแผนหรือแบ่งหน้าที่กันทำแต่อย่างใด นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ตกลงกันแล้ว รัฐสภาได้เปิดประตูรั้วทางเข้าและมวลชนที่อยู่นอกรั้วได้เข้าไปรับผู้ชุมนุมที่อยู่ในรั้วโดยชุลมุนวุ่นวายกันพอสมควร ซึ่งอาจจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำตัวกลมกลืนกับผู้ชุมนุมปะปนอยู่ด้วย

ด.ต.สรกฤชตอบทนายความจำเลยถามค้านต่อ โดยกล่าวว่านายจอนไม่เคยมีส่วนร่วมในการชุมนุมลักษณะดังกล่าวมาก่อน และการคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวมักจะกระทำโดยการประชุม สัมมนาเชิงวิชาการ ไม่เคยปรากฏลักษณะที่จะล้มล้างรัฐบาลหรือกฎหมายหรือกระทำการรัฐประหาร ทั้งยังไม่เคยปรากฎว่านายจอนได้คัดค้านกฎหมายอื่นที่ออกโดยสนช.แต่อย่างใด

ด.ต.สรกฤชกล่าวด้วยว่า ขณะที่รถบรรทุกที่ใช้ปราศรัยจอดอยู่ ตนไม่เห็นเชือกและบันไดในรถคันดังกล่าว ตนได้ยินเสียงคนสั่งการให้ปีนเข้าไปในรัฐสภา แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเสียงของผู้ใด ประกอบกับสภาพของการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดมีลักษณะสามารถสั่งการผู้ชุมนุมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ และในการถือป้ายผ้า ป้ายประท้วงของผู้ชุมนุม ก็ไม่มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือยุยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในรัฐสภาแต่ประการใด นอกจากนี้ หลังจากที่ผู้ชุมนุมได้ปีนเข้าไปในรัฐสภาและก่อนที่จะออกมาจากรัฐสภาด้านนอกรั้ว ผู้ชุมนุมมิได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามตนได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า บันไดที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาใช้ปีนข้ามกำแพงนั้น ผู้ชุมนุมได้ตระเตรียมมาก่อน โดยนำมาใส่ท้ายรถบรรทุกหกล้อที่ใช้ปราศรัย

ด.ต.สรกฤชตอบคำถามโจทก์ถามติงว่า โดยปกติ ก่อนการชุมนุมมักจะมีการหารือกันมาก่อนเสมอ รวมถึงการชุมนุมครั้งดังกล่าวด้วย และในวันเกิดเหตุ  ตนได้ยินเสียงคนยุยงให้ปีนเข้าไปในรัฐสภา แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเสียงของผู้ใดและคิดว่าอาจจะไม่ใช่จำเลยทั้งสิบ เนื่องจากในวันดังกล่าว มีผู้ร่วมชุมนุมหลายคนขึ้นไปบนเวทีปราศรัย

ด.ต.สรกฤชตอบคำถามทนายความจำเลยว่า นายจอนได้อ่านแถลงการณ์ด้านนอกอาคารรัฐสภาให้ประธานสนช.หยุดการพิจารณาร่างกฎหมาย หากไม่หยุดพิจารณา กลุ่มผู้ชุมนุมจะชุมนุมคัดค้านต่อไป หมายความว่า จะมาชุมนุมคัดค้านในวันอื่น มิใช่ชุมนุมคัดค้านในวันดังกล่าว และตนเชื่อว่าผู้ชุมนุมน่าจะได้เตรียมบันไดใส่รถบรรทุกมาก่อนแล้ว เนื่องจากแม้ตนจะไม่เห็นผู้ชุมนุมยกบันไดออกมาจากรถบรรทุกดังกล่าว แต่บริเวณดังกล่าวก็ไม่มีที่ใดจะใช้เก็บบันไดได้ และผู้ชุมนุมได้ถือบันไดออกมาจากบริเวณที่รถบรรทุกจอดอยู่นั่นเอง

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 19 : ด.ต.วรวุฒิ สารจัน ผู้บังคับหมู่ช่วยราชการงานสืบสวน สน. ดุสิต

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ด.ต.วรวุฒิ สารจัน เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 ผู้ชุมนุมมาถึงหน้ารัฐสภาประมาณ 7.30 น. มีผู้ปราศรัยคัดค้านการออกกฎหมายของสนช.และเรียกร้องให้สนช. ลาออกบนรถเวทีติดเครื่องเสียง

ด.ต.วรวุฒิ เบิกความว่า ประมาณ 9.10 น. รถเวทีเคลื่อนมายังประตูทางเข้ารัฐสภา ซึ่งปิดแล้ว ผู้ชุมนุมใช้โซ่คล้องประตูทางเข้า ตนเห็นนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) นายสาวิทย์ แก้วหวาน (จำเลยที่สอง) นายพิชิต ชัยมงคล (จำเลยที่สี่) และจำเลยที่เจ็ดถึงสิบ ขึ้นปราศรัยบนรถเวที นายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) เป็นโฆษก เวลา 11.15 น. ผู้ชุมนุมใช้เหล็กวางครอบเหล็กแหลมและนำบันไดไม้ไผ่ประมาณสิบอันวางพาดรั้วเพื่อใช้ปีน ตนถ่ายภาพนายจอน นายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง (จำเลยที่เก้า) และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ (จำเลยที่สิบ) ขณะปีนข้ามรั้วไว้ ส่วนนายอำนาจปราศรัยอยู่บนเวที ขณะเดียวกันมีบุคคลพูดว่า "พวกเราจะบุกเข้าไปมั้ย เข้าไม่เข้า" ผู้พูดเป็นหนึ่งในจำเลยแต่ไม่ทราบว่าใคร

ด.ต.วรวุฒิ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมที่เข้าไปในห้องโถงรัฐสภามีจำเลยที่หนึ่งถึงหกและแปดถึงสิบอยู่ด้วย ตนทราบจากเจ้าตัวว่านายศิริชัย (จำเลยที่สาม) ไม่มีอำนาจควบคุมมวลชน มวลชนเป็นของนายจอน  เมื่อนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน สนช. แถลงข่าวยุติการประชุมผู้ชุมนุมทยอยเดินออกจากรัฐสภา จากนั้นนายจอน นายสาวิทย์ นายศิริชัย นายอำนาจ และน.ส.สุภิญญาขึ้นเวทีแจ้งข่าวแก่ผู้ชุมนุมโดยใชัเวลาไม่นาน

ด.ต.วรวุฒิ เบิกความว่า ระหว่างที่ผู้ชุมนุมและจำเลยปีนรั้วไม่มีการสั่งการ ไม่มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่หรือทำลายทรัพย์สินของรัฐสภาและไม่ได้ขัดขวางการเข้าออกของสมาชิกสนช.

ด.ต.วรวุฒิ เบิกความตอบโจทย์ถามติงว่า บนรถเวทีมีเหล็กครอบพร้อมบันได คาดว่าน่าจะมีการเตรียมการมาก่อน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 20 : ด.ต.อนวัช  ชัยหมื่น  ตำรวจผู้บันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างเกิดเหตุ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ด.ต.อนวัช ชัยหมื่น เบิกความว่า ในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปหาข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาคัดค้านการออกกฏหมาย โดยถ่ายภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง  ก่อนหน้านี้ตนเคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้มาก่อน จึงมักรู้จักกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมรัฐสภา ปกติการชุมนุมมักจะมีแกนนำ ซึ่งทำหน้าที่ปราศรัย ยื่นหนังสือ และเจรจา  ตนทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการคัดค้านการออกกฏหมายและต้องการให้สมาชิกสภานิติบัญญัติลาออก โดยกลุ่มผู้ชมนุมในวันเกิดเหตุประกอบด้วยผู้ที่ทำงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มสลัมสี่ภาค กลุ่มคณะกรรมการประสานงานพัฒนาเอกชน ซึ่งมาในนามขององค์กรภาคประชาชน           

ด.ต.อนวัชกล่าวว่า เวลา 7.00 น. ตนแต่งกายนอกเครื่องแบบและพกวิทยุสื่อสารและกล้องวีดีโอ  อยู่ที่ประตูทางเข้าออกรัฐสภา เห็นผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งอยู่รัฐสภาและฝั่งสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งขณะนั้นประตูรัฐสภายังไม่ปิด   รถบรรทุกหกล้อซึ่งเป็นเวทีปราศรัยอยู่ทางฝั่งสวนสัตว์ดุสิต ตนถ่ายวีดีโอตอนที่นายพิชิต ชัยมงคล (จำเลยที่สี่) และนายอำนาจ พละมี(จำเลยที่เจ็ด) ซึ่งเป็นโฆษก ขึ้นไปปราศรัยบนรถหกล้อ และมีคนอื่นสลับหมุนเวียนกันไป รวมทั้งนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) นายสาวิทย์ แก้วหวาน (จำเลยที่สอง) นายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่สาม) นายอนิรุทธิ์ ขาวสนิท (จำเลยที่ห้า) และ นายไพโรจน์ พลเพชร (จำเลยที่แปด) เนื้อหาการปราศรัยเป็นการคัดค้านไม่ให้ออกกฎหมาย ซึ่งตนได้บันทึกวีดีโอภาพขณะมีการปราศรัย

ด.ต.อนวัชกล่าวต่อว่า เวลาประมาน 9.00 น. รถบรรทุกที่เป็นเวทีปราศรัยได้เคลื่อนที่มาจอดหน้าทางเข้ารัฐสภา ขณะนั้นประตูทางเข้ารัฐสภาปิดอยู่และยังไม่มีการประชุมสมาชิกสภา  แต่มีสภาชิกสภาเริ่มเข้ามาที่รัฐสภาโดยเข้าประตูฝั่งพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ตามเข้าไปทางที่ประตูนั้น  นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนนำโซ่ไปคล้องที่ประตูรัฐสภา ซึ่งเป็นประตูรั้วใหญ่ใช้สำหรับเข้าออกรัฐสภาทำให้ช้าราชการไม่สามารถเข้าออกได้ จึงต้องใช้ประตูทางเข้าออกฝั่งพระที่นั่งฯ แทน

ด.ต.อนวัชเบิกความว่า จนเวลา 11.00 น. ตนเห็นผู้ชุมนุมถือบันไดไม้ใผ่ประมาณสิบอันมาพาดบริเวณรั้วของรัฐสภา รวมทั้งมีเหล็กครอบปลายแหลมของรั้วด้วย จากนั้นมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ปีนเข้าไปในรัฐสภา  แต่การปีนรั้วของผู้ชุมนุมนั้นจำเลยทั้งสิบไม่ได้สั่งให้ผู้ชุมุนมปีน    ตนเห็นนายจอนซึ่งตนเคยเห็นหน้า  และนายไพโรจน์ซึ่งตนรู้จัก ปีนเข้าไปด้วย หลังจากผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภาแล้วก็ตรงไปยังอาคารรัฐสภา ตนก็ปีนตามเพื่อไปถ่ายวีดีโอต่อ  พอไปถึงก็เห็นว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปในห้องโถงหน้าห้องประชุมแล้วและ ผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งยืนรอนอกประตูกระจกซึ่งตะโกนโห่ร้อง  ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมในห้องโถงนั่งเป็นระเบียบ ในกลุ่มนี้ตนเห็นนายจอน นายไพโรจน์ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง (จำเลยที่เก้า) นายศิริชัย และนายสาวิทย์  แต่การเข้าไปของผู้ชุมนุมไม่มีการทำลายทรัพย์สินราชการและทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น  จากนั้น ตนเห็นพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง เจรจากับนายจอนและนายไพโรจน์ โดยต้องการให้ยุติการประชุมสภา  เมื่อตนทราบว่า นายมีชัยแถลงข่าวยุติการประชุม  กลุ่มผู้ชุมนุมจึงทยอยออกจากรัฐสภา โดยเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นคนเปิดประตูให้ซึ่งตนก็เดินตามผู้ชุมนุมออกไป  ต่อมาประมาณ 15.00 น. การชุมนุมจึงยกเลิก และไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น  

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 21 : ร.ต.อ.พงศธร เจริญชัยประกิจ ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัยผู้ชุมนุม

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ร.ต.อ.พงศธร เจริญชัยประกิจ เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายให้ถอดเทปคำปราศรัยของการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ในการถอดเทป ตนจะถอดข้อความเสียงที่จับใจความได้ทุกคำพูดโดยไม่มีการตัด มีการนำภาพจำเลยทั้งสิบมาประกอบการถอดเทปของตนด้วย

ในการถอดเทป หากมีความสงสัยเกี่ยวกับจำเลยแต่ละคน ตนจะประสานงานไปยังผู้บันทึกภาพโดยเรียกให้มาดูและยืนยัน ในกรณีที่ปรากฏเสียงแต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นจำเลยคนใดตนจะระบุเพียงว่าเป็นผู้ปราศรัย แต่ถ้าเป็นกรณีที่จำเลยคนใดพูดต่อเนื่องแม้ไม่ปรากฏภาพก็จะระบุว่าเป็นจำเลยคนดังกล่าว

ร.ต.อ.พงศธร กล่าวว่า ที่ตนถอดเทปว่าตำรวจเป็นคนปิดประตูรัฐสภานั้นเป็นการถอดข้อความตามเสียงที่ปรากฏในภาพเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรตนไม่ทราบ ตามที่ถอดเทป กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวมาปิดประตูทางเข้าพระที่นั่งอภิเษกดุสิตประมาณ 09.45 น. ตามเอกสารหมายจ.36 และ จ.37 แผ่นแรก ที่ระบุว่าผู้ชุมนุมนำรถมาขวางประตูนั้น เป็นถ้อยคำที่ร.ต.อ.พงศธรระบุไว้เองไม่ใช่ข้อความที่ปรากฎตามข่าว  ร.ต.อ.พงศธรยังกล่าวอีกว่า ตนจำไม่ได้ว่าระหว่างถอดเทปมีถ้อยคำหยาบคายหรือไม่ จำได้ไม่ว่ามีการพูดยุยงหรือมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ และจำไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาอะไรแก่จำเลยบ้าง สำหรับคำถามที่ว่าการถอดเทปภาพและเสียงไม่สามารถระบุว่าใครคือแกนนำใช่หรือไม่ ร.ต.อ.พงศธรขอไม่ตอบ

ร.ต.อ.พงศธร เบิกความว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในวันเดียวกันและสถานที่เดียวกัน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 22 : พ.ต.อ. สุรพงษ์ ชัยจันทร์ ผู้กำกับการศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตนไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ  แต่รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา จึงส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปสังเกตการณ์ พร้อมบันทึกภาพและเสียง ภายหลังผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งกลับมาว่า มีการปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาและผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในห้องประชุมบนอาคารรัฐสภา

จากนั้นมีตำรวจ สน.ดุสิตเข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาผู้ชุมนุมทยอยกันออกมาด้านนอกรัฐสภา เพราะบรรลุวัตถุประสงค์คือสนช.ยุติการประชุมพิจารณากฎหมาย

พ.ต.อ.สุรพงษ์ เบิกความว่า แกนนำในการชุมนุมคือผู้ปราศรัย รวมทั้งเป็นตัวแทนเจรจาและยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ในวันเกิดเหตุตนพบว่าจำเลยที่ หนึ่ง สาม หก แปด เก้า และ สิบเป็นแกนนำ การชุมนุมวันดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของคนหลายกลุ่มที่เดือดร้อนจากการออกกฎหมายของสนช.

พ.ต.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ภาพที่ผู้ใต้บังคับบัญชาถ่ายมาไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สั่งการให้ผู้ชุมนุมปีนรัฐสภา และผู้ใดนำอุปกรณ์การปีนรั้วมาหรือสั่งให้นำบันไดไปพาดรั้วรัฐสภา ผู้ที่ขึ้นปราศรัยไม่ได้มีลักษณะเป็นหัวหน้าสั่งการ ไม่มีการมั่วสุม ก่อความวุ่นวายหรือใช้ความรุนแรง

พ.ต.อ.สุรพงษ์ เบิกความว่า การชุมนุมน่าจะมีการนัดหมายและเตรียมอุปกรณ์มาก่อน ผู้เป็นแกนนำดูได้จากพฤติการณ์ในการชุมนุม เช่น การขึ้นไปปราศรัยบนเวที การยื่นข้อเรียกร้อง และการเป็นตัวแทนในการเจรจา

 

สืบพยานโจทย์ปากที่ 23 : นายทองเบิ้ม ชูวงศ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภา

นายทองเบิ้ม ชูวงศ์ เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2550 วันเกิดเหตุตนมาประจำการที่ประตูสองตั้งแต่เวลาประมาณ7.00 น. ซึ่งประตูเปิดแล้ว และมีตำรวจมาประจำในบริเวณรัฐสภาแล้ว  เวลา 8.00 น. มีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามรัฐสภาประมาณ 400-500 คน โดยต่างถือป้ายข้อความประท้วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และใช้รถหกล้อเป็นเวทีปราศรัย ทางฝ่ายรักษาความปลอดภัยไม่มีการเตรียมรับมือกับผู้ชุมนุมมาก่อน

นายทองเบื้มกล่าวว่า เวลาประมาณ 9.30 น. ฝ่ายรักษาความปลอดภัยปิดประตูทางเข้าออกฝั่งถนนอู่ทองในขณะที่รถหกล้อเคลื่อนเข้ามา โดยมีตำรวจยืนรักษาการณ์อยู่ที่รั้วด้านนอก แต่ไม่ทราบว่าตำรวจได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้รถหกล้อเข้ามาจอดที่บริเวณประตูรัฐสภาหรือไม่ หลังปิดประตู เจ้าหน้าที่ลั่นดาลและคล้องโซ่

นายทองเบิ้มเบิกความว่า ผู้ชุมนุมได้นำโซ่มาคล้องทับที่ประตูเพื่อมิให้คนเข้าหรือออกได้ จากนั้นผู้ชุมนุมนำเหล็กมาครอบปลายรั้วที่มีลักษณะแหลมคม นำบันไดไม้มาพาด และพยายามปีนเข้าไป  เมื่อเข้ามาภายในรั้วรัฐสภาแล้ว ผู้ชุมนุมวิ่งกรูกันเข้าไปที่บริเวณชั้นสองของอาคารหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ห้องประชุมรัฐสภา

นายทองเบิ้มเบิกความว่า ตนตามผู้ชุมนุมขึ้นไปบริเวณชั้นสองของอาคารหนึ่งเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.  ตนทราบว่านายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) ได้ขึ้นปราศรัยยั่วยุขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังปีนรั้ว แต่ไม่ได้ยินว่ามีการสั่งให้บุกรัฐสภา  เท่าที่ทราบ ตำรวจไม่ได้จับกุมผู้ชุมนุม และไม่พบว่าผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินหรือทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่

นายทองเบิ้มกล่าวว่า เมื่อตามผู้ชุมนุมขึ้นไปที่หน้าห้องประชุมก็ทราบว่าสนช.ยังประชุมอยู่ เพราะได้ยินเสียงจากลำโพง ผู้ชุมนุมไม่ได้พยายามบุกเข้าไปในห้องประชุม ในครั้งแรกมีการส่งเสียงโห่ฮา แต่สักครู่หนึ่งก็นั่งลงเรียบร้อย เห็นว่ามีสมาชิกสนช.บางท่านเดินเข้ามาเจรจา แต่ไม่ทราบว่าเป็นใครและก็ไม่ทราบว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาร่วมเจรจาด้วยหรือไม่

นายทองเบิ้มเบิกความว่าจำนายจอน อึ้งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) ได้ เพราะนายจอนเคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา  ตนไม่ทราบว่านายจอนจะเข้ามาอย่างไร แต่เห็นว่านายจอนกำลังถือโทรโข่งปราศรัยอยู่ในรัฐสภา

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 24 : นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี เบิกความว่า วันเกิดเหตุ เป็นวันที่มีการประชุม ตนมารัฐสภาเวลาประมาณ 9.00 น. เข้ารัฐสภาทางประตู 2 เห็นคนส่วนหนึ่งยืนอยู่ข้างหน้า ฝั่งราชวิถีมีคนเยอะ และมีคนนั่งหน้าสวนสัตว์ดุสิต ตนไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการชุมนุม ตอนที่เข้ารัฐสภามายังไม่เห็นรถกระจายเสียง ก่อนหน้านี้ไม่มีการชุมนุมต่อต้านการประชุมมาก่อน

นายจุฑาธวัช เล่าว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11.00 น. ขณะกำลังประชุมได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย เห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยล็อคกลอนปะตู จึงเดินอ้อมไปดู เห็นกลุ่มคนนั่งและเดินไปมาส่งเสียงด่า เห็นนายจอน อึ๊งภากรณ์ นายศิริชัย ไม้งามและนายสาวิทย์ แก้วหวาน ทั้งสามคนข้างหน้าทางเข้าห้องประชุม เชื่อว่าทั้งสามน่าจะเป็นแกนนำเพราะปราศรัยบนเวทีและมีคนเชื่อฟัง สมัยเรียนรู้จักกับนายจอนอยู่ในกลุ่มเด็กดีและไม่เคยมีประวัติในการสนับสนุนความรุนแรง

นายจุฑาธวัช เบิกความว่า ตนไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเข้ามาข้างในได้อย่างไร แต่วิเคราะห์แล้วว่า รปภ.ปิดประตูแล้วผู้ชุมนุมปีนเข้ามากันเอง ผู้ชุมนุมไม่ได้บุกเข้ามาในห้องประชุม การบุกเข้ามาถึงหน้าห้องประชุมทำให้ในห้องประชุมไม่สามารถประชุมต่อได้ เพราะเสียงดังเข้าไปข้างใน แต่หลังจากที่ผู้ชุมนุมกลับไปแล้ว ก็ยังมีการประชุมต่อไปอีก ไม่ได้มีใครมาขวางหรือก้าวก่าย

นายจุฑาธวัช ให้การว่า ตอนที่นางสาวพจนีย์ รองประธานสภาฯ ถามความเห็นที่ประชุมว่าจะพักการประชุมดีหรือไม่ ตนได้ออกจากห้องไปดูเหตุการณ์ข้างนอกแล้ว และไม่ทราบว่ามีการเลื่อนประชุมไปตอนบ่ายโมง ซึ่งไม่เกินเวลาบ่ายโมง ผู้ชุมนุมก็กลับไปแล้ว เพราะตอนนั้นอยู่ในห้องอาหาร พอเข้าไปในห้องประชุม ประธานมีชัยก็สั่งเลิกประชุมแล้ว ตอนขับรถออกไปจากรัฐสภา ผู้ชุมนุมก็เดินออกไปก่อนแล้ว ตนไม่เห็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุม

นายจุฑาธวัช ให้การด้วยว่า การบุกรุกเข้าไปในที่เขตพระราชฐานและไม่มีรัฐธรรมนูญไหนรับรอง ในการพิจารณากฎหมายไม่มีกำหนดว่าจะต้องเสร็จภายในวันที่ 12 ธันวาคม

นายจุฑาธวัช เบิกความต่อว่า วาระการประชุมที่พิจารณากฎหมาย 33 ฉบับ ไม่ใช่ว่าจะต้องเสร็จภายวันที่ 12 ธันวาคม 2550 หากวันนั้นมีการประชุมก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณาให้เสร็จ 33 ฉบับในวันเดียว ถ้าพิจารณาไม่เสร็จก็สามารถประชุมต่อครั้งหน้าได้ ขั้นตอนการผ่านกฎหมายในสมัยที่พยานเป็นสมาชิกสนช.นั้น คนที่เสนอกฎหมายจะมาชี้แจง มีการตั้งกรรมาธิการ ถ้ามีการคัดค้านก็ต้องพิจารณาใหม่ การผ่านกฎหมายต้องใช้เวลา หนึ่งวันไม่เสร็จ เพราะต้องมีคนไม่เห็นด้วยและต้องชี้แจง

นายจุฑาธวัช ให้การว่า ในยุคประชาธิปไตยการออกกฎหมายมีขั้นตอนหลายระดับ หลังผ่าน ส.ส.ต้องมี ส.ว.อีก ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นกรรมาธิการได้ด้วย ถ้ามีความเห็นแย้งต้องสงวนคำแปรญัตติซึ่งอาจจะมาจากประชาชน ต้องให้ระยะเวลาพอสมควร แต่ในยุคของสนช.ไม่มีกระบวนการเหล่านี้ สมัยสนช.ไม่มีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียน การประชุมรัฐสภาก่อนหน้านี้มีการถ่ายทอดสด แต่สมัย สนช. ไม่มี เป็นเรื่องปกติที่ประชาชน เอ็นจีโอ จะสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย การพิจารณากฎหมายในสภาสนช. สมาชิกไม่ได้เห็นด้วยทุกคน มีการลงคะแนน

นายจุฑาธวัช เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุกำหนดวันเลือกตั้งแล้วเป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2550 การทำหน้าที่ของสนช.เป็นการทำหน้าที่รักษาการตามรัฐธรรมนูญ ต้องทำหน้าที่สมาชิกสภาจนกว่าจะเลือกตั้ง สนช.มีหน้าที่ต้องออกกฎหมาย จะออกหรือไม่ก็แล้วแต่ในสภา หน้าที่ของสนช.ยุติลงเมื่อมีการเลือกตั้ง จำเลยทั้งสิบที่เป็นหัวหน้าเอ็นจีโอคัดค้านกฎหมาย 11 ฉบับ ที่สภาพิจารณาก่อนจะหมดวาระ

นายจุฑาธวัช เล่าว่า มีสมาชิกสนช. เช่น นายสมชาย แสวงการ นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ มีความเห็นสอดคล้องให้พักการพิจารณากฎหมายที่ถูกคัดค้านไว้ก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อน ที่ประชุมสภาไม่เคยมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคัดค้านกฎหมาย สนช.คนอื่นๆ ก็ไม่เคยได้รับข้อมูลเช่นนี้ การยุติการประชุมอยู่ภายใต้อำนาจของนางสาวพจนีย์ รองประธานสภาฯ

นายจุฑาธวัช ให้การว่า กฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้าน ภายหลังก็ไม่มีมติจากสนช.อีก และหลังเกิดเหตุคดีนี้มีสมาชิกบางท่านลาออกจากการเป็นสมาชิกสนช. เช่น นายสุริชัย หวันแก้ว หลังจากนั้นก็ขอลาออกอีก 27 คน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 25 : นายยรรยง รักษาคม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภา

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายยรรยง ให้การว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นผู้อำนวยการกลุ่มงานเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ดูแลรักษาและควบคุมวิทยุรวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารเกี่ยวกับงานรักษาความปลอดภัยอื่นๆ วันเกิดเหตุ ประมาณเก้าโมงเช้าออกมายืนดูที่บริเวณริมรั้วด้านในรัฐสภาก็เห็นผู้ชุมนุมประมาณสามร้อยถึงสี่ร้อยคน รถไม่สามารถผ่านได้ บนเวทีมีการร้องเพลงปลุกใจ ได้ยินคำว่า “สู้ไม่สู้และบุกไม่บุก”  หลังจากคำพูดนั้นเห็น ผู้ชุมนุมบางคนปีนรั้ว บางคนมุดรั้ว รั้วรัฐสภาสูงสองเมตรและมีเหล็กแหลม ผู้ชุมนุมใช้บันไดไม้ไผ่พาดรั้ว และนำรางเหล็กมาครอบ อุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้บริเวณรัฐสภา

นายยรรยง เล่าว่า เมื่อผู้ชุมนุมเข้ามาแล้วตนพยายามห้ามปรามแต่ไม่ได้จับ เนื่องจากผู้ชุมนุมมีทั้งเด็ก ผู้หญิงและคนชรา ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากเจ้าหน้าที่มีน้อย ผู้ชุมนุมที่ปีนเข้ามาวิ่งไปที่อาคารรัฐสภาแต่ตนไม่ได้ตามไปเพียงแต่ยืนรักษาการณ์อยู่ที่บริเวณริมรั้ว โดยปกติผู้มาติดต่อราชการจะต้องขออนุญาตและติดบัตร การเข้ามาโดยไม่ขออนุญาตถือว่าผิดระเบียบ บริเวณรัฐสภาเป็นเขตพระราชฐาน

นายยรรยง ตอบคำถามทนายจำเลยว่า งานของตนรวมถึงการดูแลระบบกล้องวงจรปิดด้วย แต่ตนไม่ได้เปิดดูภาพผู้ชุมนุมย้อนหลังแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนไม่เตยขอวีดีโอไป ตนได้ยินเพลงปลุกใจที่ผู้ชุมนุมนำมาร้อง ได้ยินเครื่องขยายเสียงว่า “สู้ไม่สู้” และผู้ชุมนุมตอบว่า “สู้” และ “บุกไม่บุก” และตอบว่า “บุก” เนื้อเพลงที่มีคำว่าสู้และการใช้คำว่าบุกเป็นการยั่วยุผู้ชุมนุมแต่นอกจากสองคำนี้แล้วตนเห็นว่าเนื้อหาการปราศรัยอื่นๆไม่ได้มีลักษณะที่เป็นการยั่วยุแต่อย่างใด

นายยรรยง กล่าวว่า ขณะผู้ชุมนุมบุกเข้ามาไม่เห็นเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม ไม่เห็นการยึดบันไดไม้ไผ่และเหล็กครอบ ตนเห็น เจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นผู้ปิดประตูรั้ว นำโซ่มาคล้องและนำกุญแจมาล็อคโซ่ ส่วนประตูเล็กถูกปิดแต่ไม่ได้ใช้โซ่คล้อง คนยังเข้าออกได้ถ้าเจ้าหน้าที่อนุญาต นักข่าวและสมาชิก สนช.ผ่านเข้าออกได้

นายยรรยง เล่าด้วยว่า ช่วงที่มีการปีนตนเตือนให้ระวังเหล็กแหลมแทงเพราะกลัวเกิดอันตราย ทั้งนี้เมื่อผู้ชุมนุมปีนเข้ามาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำการจับกุมแต่อย่างใด หลังการเจรจาผู้ชุมนุมเดินออกมากันเองโดยสงบไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแต่อย่างใด

นายยรรยงตอบคำถาม ว่าบันไดของผู้ชุมนุมมีลักษณะคล้ายบันไดของพนักงานองค์การโทรศัพท์ ในวันเกิดเหตุไม่เห็นรถขององค์การโทรศัพท์ บริเวณโดยรอบไม่น่าจะมีการทิ้งบันได้ไว้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นบันไดของผู้ชุมนุม การชุมนุมที่หน้ารัฐสภาปกติไม่มีการปีนรั้วแต่ครั้งนี้มีการปีนรั้วจึงไม่ใช่ตามปกติ  

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 26 : นายสุชนา ศรีสิยวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอาคารสถานที่

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายสุชนา เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ตนมาทำงานประมาณ 7.00 น. ต่อมาเวลา 11.30 น.ตนได้รับแจ้งว่า มีผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในอาคารรัฐสภาจึงรีบรุดไปที่หน้าห้องประชุมรัฐสภา เมื่อไปถึงได้ก็ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนถ้อยคำหยาบคาย หลังผู้ชุมนุมเดินออกไปตนจึงตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าตัวล็อค   สแตนเลสใต้ประตูทางเข้าได้รับความเสียหายแต่สามารถซ่อมแซมได้ เหตุแห่งความเสียหายน่าจะเกิดจากคนดันประตู

นายสุชนา เบิกความว่า วันเกิดเหตุไม่ได้มีการเตรียมการเป็นพิเศษ ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ขัดขวางตนในการเข้ามาทำงาน และไม่มีทรัพย์สินเสียหาย ตนจึงไม่ได้ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ต่อมาตนก็ให้การกับพนักงานสืบสวนไปในทางเดียวกัน สำหรับสลักประตูที่หลุดตนไม่ยืนยันว่าเกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่

นายสุชนา เบิกความว่า เคยมีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้ามาในหน้ารัฐสภาแล้วแต่ไม่เคยมีผู้ชุมนุมกลุ่มใดเข้าไปในบริเวณตัวอาคาร

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 27 : นายชาติชาย เนื่องนิยม  ผู้อำนวยการกลุ่มงานอาคารสถานที่

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายชาติชาย เนื่องนิยม เบิกความว่า วันเกิดเหตุตนมาทำงานประมาณ 7.00 น. ขณะนั้นผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่ทางฝั่งสวนสัตว์ดุสิต ต่อมาเมื่อตนอยู่ที่บริเวณพระบรมรูปรัชกาลที่7ก็เห็นผู้ชุมนุมและรถบรรทุกหกล้อเข้ามาบริเวณรัฐสภา เจ้าหน้าที่จึงปิดประตูไม่ให้เข้า

นายชาติชายเวลา 8.30 น. ประตูรัฐสภาทั้งสามบานปิดลง มีการประสานให้เปิดประตูที่ติดกับสำนักพระราชวังเพื่อให้สมาชิกสนช.และเจ้าหน้าที่ใช้เข้าออก ต่อมาตนไปรับตำรวจมาจากประตูดังกล่าว ตำรวจหกสิบนายมาถึงตนเมื่อผู้ชุมนุมเข้ามาในรัฐสภาแล้ว ตนจึงได้นำกำลังตำรวจขึ้นไปที่ห้องประชุมชั้นสอง เมื่อมาถึงหน้าห้องประชุมตน เห็นว่าผู้ชุมนุมนั่งลงแล้วและมีเสียงตะโกนว่า “หากไม่ยุติการประชุม จะเข้าไปในบริเวณห้องประชุม”แต่ไม่ทราบว่าใครพูด

ในช่วงเกิดเหตุการณ์ ไม่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ตนทราบภายหลังว่ามีเจ้าหน้าที่สองคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ทราบสาเหตุ

นายชาติชาย เบิกความว่า ตนไม่ได้รายงานคำพูดที่ว่า หากสนช.ไม่ยุติการประชุมจะบุกเข้าไป ทั้งนี้ ตนไม่แน่ใจว่าได้ให้การถึงประโยคดังกล่าวไว้กับพนักงานสอบสวนหรือไม่ เมื่อขึ้นไปถึงบริเวณห้องโถงก็เห็นว่าผู้ชุมนุมนั่งกันอย่างสงบ ตนเห็นพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมืองเจรจากับผู้ชุมนุมแต่ไม่ทราบว่าคุยอะไรกัน

นายชาติชาย กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาไม่ได้กำชับหรือสั่งการอะไรเป็นพิเศษ

 

สืบพยานปากโจทย์ที่ 28 : นายปรีชา ชัยนาเคน ตำรวจรัฐสภา

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายปรีชาให้การว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรักษาความปลอดภัยบริเวณรัฐสภาและรอบห้องประชุมอาคารหนึ่ง วันเกิดเหตุไปถึงรัฐสภาเวลา 8.00 น. เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 50-100 คน อยู่ทางฝั่งสวนสัตว์ดุสิตยังไม่ได้ข้ามมายังฝั่งรัฐสภา การจราจรเป็นไปโดยปกติ

นายปรีชา เล่าว่า เวลาสิบนาฬิกาเศษได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้ามาในบริเวณรัฐสภา เมื่อมองออกไปภายนอกอาคารรัฐสภา เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมปีนรั้วข้ามมา จึงเห็นว่าสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ตนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยกันปิดประตูและใช้ตัวดันเพราะไม่มีกุญแจ กลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งเข้ามาที่ประตูประมาณ 50 คน ดันประตูกันอยู่ประมาณสิบนาที แต่ไม่สามารถต้านทานกลุ่มผู้ชุมนุมได้ กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณหน้าห้องประชุมได้ ตนได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนจากการถูกประตูกระแทกถลอก

นายปรีชา กล่าวว่า ตอนนั้นไม่เห็นแกนนำการชุมนุม ต่อมาทราบว่าพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ได้เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงยุติการชุมนุมและสลายตัวออกไปจากบริเวณอาคารรัฐสภา

นายปรีชา กล่าวต่อว่า หลังเหตุการณ์ ได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลวชิระ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่แขนและถูกผู้ชุมนุมใช้เท้าถีบบริเวณช่วงขาด้านซ้าย แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนถีบ

­­นายปรีชาตอบคำถามทนายความว่า ตนสามารถเข้าไปในรัฐสภาได้โดยสะดวก ตอนที่ไปรับนางสาวพจนีย์ประตูทางถนนราชวิถียังไม่มีกลุ่มชุมนุม ตนไม่ทราบว่าวันที่เกิดเหตุจะมีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา ตนไม่ได้ยินเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมบอกว่า “หากไม่ยุติการประชุมจะบุกเข้าไปในห้องประชุม” และไม่มีผู้ใดสั่งการให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ตนทราบว่าผู้ชุมนุมมาเรียกร้องเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชะลอการพิจารณากฎหมายเนื่องจากใกล้มีการเลือกตั้งแล้วควรให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณากฎหมาย

นายปรีชา เบิกความด้วยว่า ตามรายงานของแพทย์ไม่ได้ระบุว่ามีแผลถลอก รวมทั้งไม่มีบาดแผลบริเวณหน้าขาด้านซ้าย

นายปรีชา ตอบคำถามทนายความว่า หากผู้ชุมนุมจะเข้าไปยังบริเวณห้องประชุมก็สามารถเข้าไปได้ ตอนที่ดันประตูกันอยู่นั้นประตูไม่ได้ลงกลอน ตนและพวกดันประตูอยู่สองคน กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ห่างประมาณห้าเมตร มีประมาณ 50-60 คน แต่คนที่มาดันประตูกับตนมีประมาณสี่ถึงห้าคนและมีเสียงจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “ให้ดันเข้าไป ดันเข้าไป” ผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณหน้าห้องประชุมสิบนาที จึงนั่งลงและอยู่ในความสงบ เหตุที่ผู้ชุมนุมปีนประตูรั้วเข้ามาเพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูรั้ว ไม่มีทรัพย์สินเสียหาย นอกจากตนที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะนั้นมีสื่อมวลชนอยู่บริเวณหน้าห้องประชุม ห้องประชุมเป็นห้องเก็บเสียง

นายปรีชาให้การด้วยว่า บริเวณห้องอาหารไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามารับประทานอาหารได้เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและต้องแลกบัตร ประชาชนที่จะเข้ารับฟังการประชุมสภาจะต้องได้รับอนุญาต ในวันเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีใครติดบัตรอนุญาต ตามความเข้าใจของตนเหตุที่ผู้ชุมนุมไม่เข้าไปในห้องประชุมเนื่องจากผู้ชุมนุมไม่รู้ว่าห้องประชุมอยู่ตรงไหน

 

สืบพยานปากที่ 29 : พ.ต.อ.พรเทพ สุตปัญญา ตำรวจควบคุมฝูงชน

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พ.ต.อ.พรเทพ สุตปัญญา เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 เวลา 6.00 น. ตนได้นำตำรวจหนึ่งกองร้อย แบ่งกำลังเป็นสองหมวด รักษาการบริเวณหน้ารัฐสภา ส่วนตนได้รับมอบหมายให้นำกำลังหมวดที่สามไปรักษาการณ์บริเวณประตูราชวิถี ต่อมาเริ่มมีผู้ชุมนุมเข้ามาในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบ แกนนำไม่ได้พูดยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนุม มีเพียงการใช้โทรโข่งเพื่อแจ้งข่าวให้ผู้ชุมนุมทราบ และไม่มีการใช้ยานพาหนะหรือเวทีปราศรัย

พ.ต.อ.พรเทพ กล่าวว่า เวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชวิถีได้รวมตัวกันมากขึ้นและพยามดันตำรวจเพื่อจะเข้าไปบริเวณรัฐสภาเวลา 11.00 น. ตนได้รับทราบทางวิทยุสื่อสารตำรวจว่ามีผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณรัฐสภาด้านหน้า ตนสามารถมองผ่านประตูด้านถนนราชวิถี มองเห็นผู้ชุมนุมวิ่งตรงเข้าไปในรัฐสภา กระทั่งเวลา 12.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมฝั่งถนนราชวิถีได้ยุติการชุมนุมและทยอยกลับ ตนไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำและไม่รู้จักจำเลยทั้งสิบในคดี

พ.ต.อ.พรเทพกล่าวว่า ตนไม่ได้รับแจ้งเหตุจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ได้รับแจ้งว่าเหตุการณ์สงบเรียบร้อยดี

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 30 : นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมในวันเกิดเหตุ

น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช เบิกความว่า ตนเป็นสมาชิกสนช. ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานสนช.คนที่สอง หน้าที่ของสนช.มีสามอย่างคือ พิจารณาร่างกฎหมาย ควบคุมดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน และถอดถอนแต่งตั้งสภาผู้ทรงคุณวุฒิ

น.ส.พจนีย์ เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 เป็นวันประชุมสภา ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการชุมนุมมาก่อน เมื่อตนมาถึงก็มีการชุมนุมหน้ารัฐสภาแล้ว กำหนดการประชุมเวลา 10.00 น. แต่สมาชิกสนช.ไม่สามารถเข้ามาได้ เพราะมีการชุมนุมจึงเลื่อนไปจนกว่าสมาชิกจะมากันครบ ในวันนั้นมีสมาชิกมาประชุม 176 คน การประชุมเริ่ม 10.30 น. จากนั้นได้รับรายงานว่าผู้ชุมนุมขึ้นมาชั้นสองหน้าห้องประชุม ในที่ประชุมได้หารือเรื่องความปลอดภัย นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกท่านหนึ่ง บอกว่าน่าจะเลื่อนการประชุมออกไป เพราะกลัวจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีเสียงเล็ดลอดเข้ามา แม้ไม่ดังมาก แต่ก็ทำให้สมาชิกปั่นป่วน กังวลเรื่องความปลอดภัย ทั้งนายมีชัย ประธานสภา ก็มีบันทึกแสดงความห่วงใยมา  ต่อมานายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ก็เสนอว่า ดูจากสถานการณ์ข้างนอกแล้วน่าจะเลื่อนการประชุมออกไปก่อน ตนจึงขอความเห็นจากที่ประชุม เมื่อไม่มีใครขัดข้องตนก็สั่งเลื่อน ขณะนั้นเวลาประมาณ 11.50 น.

น.ส.พจนีย์ กล่าวว่า ตามปกติแล้วจะมีคณะกรรมาธิการพิจารณาว่ามีเรื่องใดเร่งด่วน ตนเห็นว่าวิธีการของผู้ชุมนุมเป็นการบุกรุกเข้ามา รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามาในสถานที่ราชการหรือเขตพระราชฐาน ความรู้สึกของตนต่อการชุมนุม ตอนเช้าเข้ามาในรัฐสภาไม่สะดวก เพราะไม่สามารถขับรถเข้ามาได้ ระหว่างประชุมก็กังวล เพราะเป็นการบุกรุกและมีเสียงรบกวน เป็นห่วงความปลอดภัยของสมาชิกและทรัพย์สินรัฐสภา

น.ส.พจนีย์ เบิกความว่า ตนคิดว่ารัฐประหาร 2549 เป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับได้ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองกำลังวิกฤต แม้รัฐธรรมนูญจะไม่อนุญาตให้ทำ สนช.จำเป็นต้องมีเพื่ออกกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อย จะต้องมีสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้ครบ สนช.แต่งตั้งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร นักวิชาการ สัดส่วนสมาชิกที่มาจากภาคประชาชน เช่น ดารา สื่อมวลชน ผู้นำแรงงาน ผู้นำศาสนา เมื่อรวมๆ แล้วก็มีจำนวนที่ใกล้เคียงกับข้าราชการ

น.ส.พจนีย์ กล่าวต่อว่า กฎหมายส่วนใหญ่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีและสนช. กฎหมายที่เสนอโดยสนช.หลายฉบับที่เคยผ่านก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตนไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมคัดค้านกฎหมายอะไร ด้วยเหตุผลใด เพราะไม่ใช่คนจัดระเบียบ ไม่ใช่กรรมาธิการ และไม่มีการสรุปว่ามีความเห็นอื่นที่อาจขัดแย้งมาประกอบกับร่างฯ  อีกทั้งตนก็ไม่ได้รับแจกเอกสารจากผู้ชุมนุม และไม่ทราบว่ามีสมาชิกสนช.คนใดได้รับเอกสารจากผู้ชุมนุมหรือไม่

น.ส.พจนีย์ เบิกความว่า สมาชิกสนช.มาลงชื่อเข้าประชุม แล้วหลังจากนั้นจะอยู่ประชุมจนจบหรือไม่ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตน ตนเพียงทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเท่านั้น การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่ต้องเสร็จภายในวันนั้น ค้างไปพิจารณาในการประชุมนัดต่อไปได้ ไม่มีการเร่งรัด แต่พิจารณาตามระเบียบวาระ

น.ส.พจนีย์ เบิกความว่า ตนรู้จักนายจอนและนางสาวสารี ซึ่งไม่เคยได้ยินว่ามีประวัติใช้ความรุนแรงมาก่อน ตามความเห็นของตน ถ้าไม่มีการปีนเข้าไปในสภา การชุมนุมในวันนั้นก็จะเป็นการแสดงความคิดเห็น เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่แน่ว่าถ้ามีตัวแทนสนช.ออกไปเจรจากับผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาแล้ว จะไม่มีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปีนรัฐสภาเข้ามา

น.ส.พจนีย์ เบิกความต่อว่า วันนั้นตนไม่เห็นพฤติกรรมของผู้ชุมนุมเลย เพราะเดินออกทางด้านหลังห้องประชุม ขณะอยู่ในห้องประชุมก็ได้ยินเสียงดังจากข้างนอก ซึ่งไม่ทราบว่าพูดอะไรหรือเสียงใคร สภาวะที่บ้านเมืองวิกฤต ไม่ได้มีกฎหมายให้ประชาชนห้ามแสดงความคิดเห็น ในสมัยสนช.เองก็มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ซึ่งประชาชนจะเข้ามาร่วมได้ก็เมื่อมีสมาชิกสนช.เชิญเข้ามา

น.ส.พจนีย์ เบิกความว่า ในเอกสารขอลาออกของนายสุริชัย หวันแก้ว ได้ระบุว่า การประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายของสนช.มีความเร่งรีบ ซึ่งเป็นข้อสังเกตของนายสุริชัยเอง ส่วนสมาชิกสนช.คนอื่นๆ จะว่าอย่างไรตนไม่ทราบ

น.ส.พจนีย์ เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า การชุมนุมโดยสงบสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่วันนั้นผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในสภา จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีตรงไหนในแอกสารลาออกของนายสุริชัยที่บอกว่าสนช.พิจารณากฎหมายไม่รอบคอบ มีแต่เหตุผลว่ากำลังจะมีการเลือกตั้ง 

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 31 : พล.ต.ต. วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ตำรวจผู้ควบคุมฝูงชน

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล เบิกความว่า ประมาณ 6.00 น. มีผู้ชุมนุมที่ถนนอู่ทองในไม่มาก ต่อมามีรถเวทีเข้ามาจอดตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิต ตนเห็นจำเลยทั้งสิบขึ้นปราศรัย โดยมีจำเลยที่ เจ็ด ปราศรัยเป็นหลัก ต่อมาประมาณ 9.00 น.รถเวทีเคลื่อนมาปิดประตูรัฐสภาขณะที่กลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาก็นำรถกระบะมาปิดประตูราชวิถีไม่ให้สมาชิกสนช.เข้าประชุม รัฐสภาจึงประสานให้สมาชิกสนช.เข้าทางประตูช้างต้น ตนเคลื่อนกำลังมาบริเวณประตูช้างต้น และเจรจาจนผู้ชุมนุมยอมให้สมาชิกสนช.เข้าประตู

พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ กล่าวว่า เวลา11.15 น. มีคนปีนรั้วรัฐสภาและวิ่งขึ้นไปที่ชั้นสองของรัฐสภา ตนตามขึ้นไปด้วย เมื่อไปถึง พบผู้ชุมนุมประมาณ 20 – 30 คนนั่งอยู่หน้าห้องประชุมโดยมีตำรวจยืนล้อม ตนกับเจ้าหน้าที่สภากล่าวกับผู้ชุมนุมว่าการเข้ามาเป็นการบุกรุกและทำให้กลอนประตูกระจกเสียหาย ตนแจ้งเหตุแก่พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งภายหลังเดินทางมาเจรจากับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมต้องการให้ สนช.ยุติการประชุมและไม่ยอมออกจากรัฐสภาจนสนช.ยุติการประชุม จึงยอมออกไป

พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ กล่าวว่า ตนทราบจากฝ่ายสืบสวนว่าผู้ชุมนุมเตรียมบันไดมาเพื่อปีนรัฐสภาแต่ไม่คิดว่าจะมีการปีนจึงวางกำลังไว้ไม่มาก เข้าใจว่าตำรวจไม่จับผู้ชุมนุมที่ปีนเข้ามา เพราะไม่กล้าผลักผู้ชุมนุมขณะปีน ที่ตนไม่สั่งการให้จับผู้ชุมนุมเป็นเพราะการจับกุมต้องประสานกับตำรวจท้องที่ก่อน

พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ เบิกความว่า พนักงานสืบสวนบันทึกเสียงการชุมนุมไว้แล้วตนไม่ทราบว่าปราศรัยเรื่องอะไร ยังไม่ได้ตรวจสอบเทปบันทึกเสียง แต่เชื่อว่ามีคำพูดยั่วยุให้บุกรัฐสภา

พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ เห็นว่า ผู้ชุมนุมต้องการยื่นข้อเรียกร้อง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่สภาออกมารับข้อเรียกร้องและประตูปิดอยู่ จึงต้องปีนเข้าไป เมื่อเข้าไปที่ห้องโถงผู้ชุมนุมก็นั่งกันเรียบร้อย ไม่มีทีท่าว่าจะเข้าไปในห้องประชุม ผู้ชุมนุมและจำเลยในคดีนี้ไม่เคยมีประวัติใช้ความรุนแรง

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 32  : ด.ต.ประดิษฐ์ อดใจ ผู้บันทึกวีดีโอเทปการชุมนุม

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

ด.ต.ประดิษฐ์ อดใจ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนช่วยราชการอยู่ที่กองกำกับการสืบสวนนครบาลหนึ่ง มีหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม ในวันเกิดเหตุตนได้รับมอบหมายให้ถ่ายวีดีโอการชุมนุมโดยตนมาถึงที่เกิดเหตุประมาณ6.00น.

ด.ต.ประดิษฐ์ เบิกความว่า จำเลยทั้งสิบในคดีเป็นแกนนำและขึ้นไปปราศรัยบนรถหกล้อซึ่งใช้เป็นเวที ตนเคยเห็นจำเลยทั้งสิบในการชุมนุมครั้งก่อนๆ ที่บอกว่าเป็นแกนนำเพราะมีหน้าที่หลักคือการปราศรัยและควบคุมผู้ชุมนุม หลังผู้ชุมนุมฟังคำปราศรัยของจำเลยทั้งสิบก็มีอาการคึกคะนอง

ด.ต.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ขณะที่ผู้ชุมนุมปีนรั้วตนบันทึกภาพไว้ด้วย ตนเห็นผู้ชุมนุมนำเหล็กครอบและบันไดไม้ไผ่มาจากชั้นล่างของรถที่ใช้เป็นเวที ส่วนตัวเชื่อว่าเหล็กครอบไม่น่าจะหาซื้อได้ทั่วไปแต่เป็นการสั่งทำ ด.ต.ประดิษฐ์จำไม่ได้ว่าปีนตามผู้ชุมนุมเข้าไปด้วยหรือไม่ และจำไม่ได้ว่าหลังผู้ชุมนุมปีนเข้าไปเหตุการณ์เป็นอย่างไร หลังบันทึกวีดีโอเสร็จตนส่งมอบเทปให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการต่อไป

ด.ต.ประดิษฐ์ เบิกความว่า ไม่มีผู้ชุมนุมขัดขวางการทำงานของตน ขณะที่มีการปีนรั้วตำรวจที่อยู่นอกรั้วก็ไม่ได้ห้ามปราม ในชั้นสอบสวน ตนจำไม่ได้ว่าให้การเรื่องบันไดว่าอย่างไร ในเทปที่ตนบันทึกมีเสียงแกนนำพูดว่าเข้าไปแต่ไม่แน่ใจว่ามีคำว่าบุกหรือไม่ เพลงที่ใช้ในการชุมนุมเป็นเพลงที่ขับร้องตามงานชุมนุมทั่วไปไม่มีเนื้อหาปลุกระดม วันเกิดเหตุ นายอนิรุทธิ์ ขาวสนิท (จำเลยที่ห้า) ไม่ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที ที่ตนกล่าวว่าจำเลยทั้งสิบขึ้นปราศรัยในการเบิกความข้างต้นเป็นเพราะตนจำเหตุการณ์ไม่ได้และตนก็จำไม่ได้ว่านายนัสเซอร์ ยีหมะ (จำเลยที่หก) ขึ้นปราศรัยด้วยหรือไม่ ด.ต.ประดิษฐ์ยืนยันว่าตนเห็นบันไดอยู่ใต้รถบรรทุกที่ใช้เป็นเวทีแต่ไม่แน่ใจว่าบันทึกภาพไว้ด้วยหรือไม่  

ด.ต. ประดิษฐ์ กล่าวว่า ที่นายอำนาจ พละมี (จำเลยที่เจ็ด) ประกาศกับผู้ชุมนุมว่า “เจ้าหน้าที่รัฐสภาบอกว่า เรียนเชิญพี่น้องประชาชนเจ้าของรัฐสภาเข้าไปเยี่ยมชมการทำงาน” นั้น ตนเข้าใจว่าให้ผู้ชุมนุมเข้าไป แม้นายนัสเซอร์และนางสาวสารี (จำเลยที่เก้า) จะไม่ขึ้นปราศรัยแต่ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทในการชุมนุมเช่นเป็นผู้เข้าร่วมการเจรจา ไม่ได้เป็นแค่ผู้ชุมนุมทั่วไป 

 

 

การสืบพยานจำเลย

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง : นายจอน อึ๊งภากรณ์  จำเลยที่หนึ่ง

นายจอน เบิกความว่า ตนทำงานพัฒนาสังคมมาตั้งแต่ พ.ศ.2520 กป.อพช.หรือคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เกิดขึ้นจากความต้องการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะเล็งเห็นบทบาทของเอ็นจีโอที่ทำงานพัฒนาชุมชนในชนบท กป.อพช. เกิดจากการรวมตัวกัน 300-400 องค์กร มีกลไกลระดับภาค ตนได้รับเลือกจากสมัชชาให้เป็นประธานกป.อพช.ในปี 2550

นายจอน กล่าวว่า ช่วงปี 2549 มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ฝ่ายรัฐประหารแต่งตั้งสภานิติบัญญัติ (สนช.) ให้อำนาจออกกฎหมายแทนรัฐสภา กป.อพช.ประชุมร่วมกันเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน อันตรายมาก มีลักษณะสถาปนาอำนาจของทหาร ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีร่างกฎหมายฉบับอื่นมีปัญหา เช่น ร่างพ.ร.บ.การจัดการน้ำ  ที่ให้อำนาจรัฐจัดการเรื่องน้ำ เอาอำนาจออกจากชุมชน และร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร ที่มีแนวโน้มให้ภาคธุรกิจมีบทบาทมากกว่าเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะกระทบความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายเล็ก ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่อาจกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้ค่าเล่าเรียนจะสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบนักเรียนนักศึกษา และร่างกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น รวมแล้ว มีกฎหมายที่กป.อพช.คัดค้าน 11 ฉบับ

นายจอนกล่าวว่า กระบวนการออกกฎหมายมีปัญหา คือ 1.สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2.ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชน 3.สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่มีงานประจำ ทำให้มีเวลาศึกษากฎหมายจำกัด 4. สนช.มีสภาเดียว ไม่มีสภาอื่นมาถ่วงดุลอำนาจ และสนช.พิจารณากฎหมายอย่างลวกๆ ทำให้เกิดปัญหามาก ในหนึ่งวัน สนช.พิจารณาผ่านกฎหมายถึง 20-30 ฉบับ ในเวลาต่อมามีกฎหมาย 191 ฉบับที่ผ่านสนช. แล้วศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นโมฆะ เพราะสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม

นายจอนเล่าว่า เมื่อกป.อพช.มีมติว่าจะคัดค้านโดยสิ้นเชิง จึงทำหนังสือและเข้าพบนายสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ บอกว่า จำเป็นต้องออกกฎหมายนี้ เพราะฝ่ายทหารขอให้ออก

นายจอน เบิกความด้วยว่า เคยจัดสัมมนา เคยพยายามยื่นหนังสือถึงประธานสนช. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และวิปฯสนช. ขอให้ยุติการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยตอนนั้นกำหนดวันเลือกตั้งไว้แล้ว คือวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จึงเห็นว่าสนช.ไม่มีความจำเป็นและไม่มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมายในช่วงนั้น ควรรอให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ออกกฎหมาย ซึ่งไม่เคยได้รับคำตอบรับจากสนช.เลย จึงกำหนดกันว่าจะแสดงออกโดยการชุมนุมหน้ารัฐสภาต่อเนื่องเป็นช่วงๆ

นายจอน เบิกความว่า ในการชุมนุม มอบหมายให้เลขาฯ กป.อพช. คือนางสุนทรี เซ่งกิ่ง เป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกับรองเลขาฯ คือนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ การชุมนุมนี้ผู้ชุมนุมมาโดยความสมัครใจ ตั้งใจว่าถ้าสนช.ประกาศว่าจะยกเลิกการพิจารณากฎหมาย ก็จะยกเลิกการชุมนุม ถ้าสภาไม่สนใจก็จะชุมนุมไปเรื่อยๆ การชุมนุมจัดโดย กป.อพช. ส่วนคนที่ขึ้นเวทีมาจากเครือข่ายต่างๆ นักวิชาการ หรือคนมีความรู้ ไม่ต้องเป็นแกนนำ บนเวทีไม่มีการสั่งการใดๆ การชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสนช.

นายจอน เล่าต่อว่า การชุมนุมวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เป็นการชุมนุมครั้งที่สาม ตั้งใจว่าจะเริ่มชุมนุมเช้าและเลิกตอนเย็น ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตระเตรียมใดๆ ตอนแรกไม่ได้คิดขึ้นพูดบนเวที แต่ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นพูด ไม่มีการพูดคุยกันว่าจะบุกเข้าไป ช่วงนั้นประตูรัฐสภาปิดหมด เท่าที่ทราบเจ้าหน้าที่รัฐสภาปิดประตูเอง พอเวลา 11.00 น. มีคนมาบอกว่า มีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา พอทราบเรื่องก็ไปดู เห็นว่ามีบันไดไม้ไผ่พาดอยู่กับรั้วสองถึงสามจุด มีคนกำลังปีนเข้าไปอยู่ เห็นคนประมาณสิบกว่าคนอยู่ด้านในกำลังวิ่งเข้าไปบริเวณชั้นสอง อาคารรัฐสภา และเห็นเจ้าหน้าที่รัฐสภาพยายามห้าม ตอนนั้นความรู้สึกแรกคือ ถ้าเขากล้าทำ ตนก็ต้องกล้า เพราะเป็นผู้นำควรต้องแสดงออก อีกความรู้สึกหนึ่งคือ ถ้าคนที่ปีนเข้าไปเกิดอะไรขึ้น ตนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย จึงจำเป็นต้องเข้าไปดูแลความเรียบร้อย แต่ขณะตนปีนไม่มีการขัดขวางหรือจับกุมจากเจ้าหน้าที่

ทนายความถามว่า ขณะนั้นคิดหรือไม่ว่าผิดกฎหมาย นายจอนตอบว่า คิดว่าอาจจะผิดกฎหมาย ทราบว่าอาจจะถูกจับได้ เจตนาตอนนั้นคิดว่าเป็นรูปแบบการประท้วง ไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดร้ายแรง ไม่ได้คุยกันมาก่อน ตนไม่ได้ประกาศหรือหารือกับใครว่าจะปีนเข้าไป รถกระจายเสียงก็ไม่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปเช่นกัน หากตำรวจจับก็ยินดีให้จับ

นายจอน เล่าต่อว่า ตลอดทางไม่มีการใช้กำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ พอไปถึงโถงหน้าห้องประชุม พบว่ามีคนอยู่ก่อนแล้ว ประมาณ 30-50 คน เห็นจำเลยที่แปด บอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลง ตนเองก็ตะโกนบอกผู้ชุมนุมให้นั่งลงด้วย สักพักหนึ่ง นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ก็ออกมาพูดคุย จากนั้นพลตำรวจโทอัศวิน ขวัญเมือง มาประสานงานให้ พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมในตอนนั้น ไม่มีท่าทีคุกคามสนช.แต่อย่างใด ไม่มีใครตั้งใจรบกวนจนประชุมไม่ได้เพราะถ้ามีก็คงจะมีการบุกเข้าไปในห้องประชุมแล้ว

นายจอน เบิกความว่า ถ้าสนช.ยังไม่เลิกพิจารณากฎหมาย 11 ฉบับที่เรียกร้อง ตั้งใจว่าจะนั่งอยู่ตรงนั้นไปเรื่อยๆ เชื่อว่าถ้านั่งไปเรื่อยๆ ก็คงถูกจับแน่ๆ และก็ยินดีให้จับ จะไม่ขัดขืนแต่ไม่ร่วมมือ จะอุ้มก็อุ้มไป เพราะเป็นการแสดงด้วยความชัดเจนว่าเรารับไม่ได้ที่สนช.จะพิจารณากฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและประชาธิปไตย หากจะถูกดำเนินคดีก็ยินดี

นายจอน เบิกความว่า นั่งกันอยู่ประมาณ 30 นาที พล.ต.ท.อัศวินก็กลับมาบอกว่า สภาเลื่อนการประชุมออกไปแล้ว ยืนยันว่าจะมีการแถลงข่าว เมื่อสนช.ยุติการประชุมพิจารณากฎหมายแล้ว เราก็ยินดีที่จะออกจากห้องโถง พอลงไปข้างล่าง ตนก็ประกาศว่า เราได้ชัยชนะแล้ว วันนั้นไม่มีการแจ้งจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาว่าการบุกรุกสภาอาจมีความผิด ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีทรัพย์สินเสียหาย

นายจอน เบิกความว่า หลังวันเกิดเหตุสนช.มีการประชุมพิจารณากฎหมายอีก ในที่สุดก็ได้ผ่านพ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ประชาชนร่วมกันคัดค้าน และยังประชุมไปจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ซึ่งกป.อพช.ก็มาคัดค้านอีกเช่นกัน แต่สนช.ยังคงดำเนินการประชุมต่อไป

นายจอน ตอบคำถามอัยการถามค้านว่า รูปถ่ายขณะยืนอยู่หน้ารัฐสภา ขณะอยู่บนเวที ขณะกำลังปีนบันได ขณะเดินออกจากรัฐสภา เป็นรูปตัวเองเกือบทั้งหมด มีบางส่วนที่น่าจะใช่ ไม่มีใครมอบหมายให้ตนเข้าไปพูดกับพลตำรวจโทอัศวิน แต่พลตำรวจโทอัศวินตรงเข้ามาคุยด้วย เพราะเข้าใจว่าตนเป็นผู้นำ

นายจอนกล่าวว่า วันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นคนปิดประตูก่อน ผู้ชุมนุมเอาโซ่ไปคล้องทีหลัง การที่ไม่สามารถเข้าออกรัฐสภาได้ ไม่ใช่การกระทำของผู้ชุมนุม อัยการถามว่า ถ้าไม่มีการเตรียมบันไดกับเหล็กครอบรั้ว จะปีนเข้าไปหรือไม่ นายจอนตอบว่า คงไม่สะดวกในการปีน อัยการถามอีกว่า ใครเป็นคนเตรียมบันไดกับเหล็กครอบ นายจอนตอบว่า ไม่ทราบ อัยการถามต่อว่า ถ้าใครไม่พอใจกฎหมาย ก็ปีนเข้ามานั่งสุมหน้าห้องประชุมได้ใช่หรือไม่ นายจอนตอบว่า โดยทั่วไปไม่สมควร กรณีนี้เป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ถ้าเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็จะไม่ทำแบบนี้

อัยการถามว่า คนที่มาชุมนุม คือตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ นายจอนตอบว่า ไม่บังอาจเรียกว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ แต่เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ

ทนายความถามว่า พยานรับว่าได้ปีนเข้าไปจริง แล้วพยานรับสารภาพข้อหาบุกรุกหรือไม่ นายจอนตอบว่า ตนไม่ได้รับสารภาพตามข้อหาใดๆ เพราะการจะมีความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่ล่วงล้ำเข้าไปในรัฐสภาหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา ทนายความถามว่า พยานไม่มีเจตนากระทำผิด ใช่หรือไม่ นายจอนตอบว่า มีเจตนาผดุงประชาธิปไตยให้คงอยู่ ไม่ต้องการให้สภาที่มาจากการแต่งตั้งออกกฎหมาย ทนายความถามว่า ตั้งใจว่าจะยึดพื้นที่เพื่อรบกวนให้สนช.ทำงานไม่ได้หรือไม่ นายจอนตอบว่า ตั้งใจแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย ไม่ตั้งใจจะไปรบกวนการครอบครองทรัพย์สินหรือยึดพื้นที่

 

สืบพยานจำเลยปากที่สอง : สุภิญญา กลางณรงค์ จำเลยที่สิบ

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ให้การว่าตนเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตนได้รับข่าวจากเมล์กรุ๊ป ว่ามีการชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านการออกกฎหมายของ สนช.   ตนตั้งใจว่าจะไปร่วมแสดงเจตจำนงสนับสนุนในการชุมนุมตอนเช้า การที่ตนไปร่วมชุมนุมนั้นไม่ได้มีการนัดแนะกันไว้ ตนไปเข้าร่วมการชมนุมคนเดียว ตนคิดว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เพราะได้แจ้งจุดประสงค์ล่วงหน้า และปราศจากอาวุธ 

น.ส.สุภิญญา เบิกความว่า เวลาประมาณ 9.00 น. ตนไปถึงหน้ารัฐสภา ได้ทักทายผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนที่รู้จัก ผู้ชุมนุมที่มาในวันนี้เป็นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน  จากนั้นโฆษกบนเวทีเชิญให้ขึ้นปราศรัยบนรถหกล้อ ตนพูดปราศรัยในฐานะผู้ที่มีความรู้และสามารถให้ข้อมูลด้านกฎหมายสื่อไม่ใช่ในฐานะแกนนำ   เนื้อหาที่ตนปราศรัยมีเนื้อว่าเหตุผลจึงคัดค้านกฎหมายด้านสื่อ ที่จะส่งผลเสียอย่างมากหากพิจารณาไม่รอบคอบ  ตนไม่คิดว่าการที่ตนขึ้นปราศรัยจะเป็นการโน้มน้าวผู้ชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมมีวิจารณญาณ สามารถตัดสินใจเองได้

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า หลังจากปราศรัย ตนก็ลงจากเวทีแล้วมาคุยกับคนรู้จักต่อ และเริ่มรู้สึกถึงความตึงเครียด เพราะไม่มีตัวแทนจาก สนช. มาเจรจากับผู้ชุมนุม  ต่อมาตนเห็นผู้ชุมนุมปีนรั้ว ซึ่งตนไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของบันไดไม้ไผ่และใครเป็นคนเอามาพาดกับรั้วรัฐสภา ขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล  ตนทราบว่ารัฐสภาเป็นเขตพระราชฐาน แต่คิดว่าเป็นการใช้สิทธิของประชาชนในการแสดงออก และเป็นการแสดงพลังของประชาชน  ตอนนั้นค่อนข้างชุลมุน มีทั้งปีนทั้งลอด  ตนจึงปีนตามเข้าไป โดยต้องการให้สนช.มารับเรื่องและให้ความสนใจ  ตนจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนเริ่มนำปีน ซึ่งตนเห็นนายจอนปีนจริงแต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนเริ่ม  ตนเชื่อว่าการปีนเข้าไปเป็นการแสดงออกโดยสันติวิธี ซึ่งอาจจะผิดแต่ไม่ร้ายแรง   

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในรัฐสภาค่อนข้างชุลมุน ผู้ชุมนุมวิ่งขึ้นชั้นสองไปหน้าห้องประชุม ตนตามผู้ชุมนุมคนอื่นไปแต่ไม่ได้เข้าไปที่โถงหน้าห้องประชุม แต่ก็มองไปเห็นผู้ชุมนุมทั้งนั่งทั้งยืนอยู่หน้าห้องประชุม พอเห็นว่าสมาชิกสนช.ออกมาคุยกับผู้ชุมนุม ก็เลยนั่งรออยู่ด้านนอก บรรยากาศตอนนั้นก็สงบลงเพราะว่ามีการเจรจาแล้ว 

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า หลังจากนั้นมีการแถลงงดประชุมจาก สนช. ตนเดินตามผู้ชุมนุมคนอื่นออกไปข้างนอกรัฐสภา  ตัวแทนผู้ชุมนุมที่ไปเจรจาก็ออกมาชี้แจงด้านนอกรัฐสภา  และยุติการชุมนุม  ซึ่งการชุมนุมในวันนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ เพราะไม่มีการปะทะ ไม่ใครบาดเจ็บ และไม่มีทรัพย์สินเสียหาย  แต่ในวันต่อมา สนช. ก็ยังประชุมต่อเหมือนเดิม ซึ่งตนไม่ทราบและไม่ได้เข้าร่วม

 

 

สืบพยานจำเลยปากที่สาม : นางสาวสารี อ๋องสมหวัง จำเลยที่เก้า  

นางสาวสารีเบิกความว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำงานประสานงานกับภาครัฐและเอกชน รณรงค์และผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องประเด็นสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและยกระดับกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องให้ศาลสั่งระงับการแปรรูปการไฟฟ้าและปตท. ระงับขึ้นค่าทางด่วน ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรียกร้องไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดวันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ผลักดันให้เกิดหลักการประกันสุขภาพแห่งชาติ

นางสาวสารีกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุได้รับอีเมล์แจ้งข่าวการชุมนุมว่า การชุมนุมมีจุดประสงค์เพื่อบอกแก่สาธารณะว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังจะพิจารณากฎหมายหลายฉบับ หากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ จะมีกฎหมายสามฉบับที่ก่อผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ กฎหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฎหมายการแปรรูปมหาวิทยาลัย และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงเห็นความจำเป็นที่ตนเองจะต้องมาเข้าร่วมการชุมนุม

ในวันเกิดเหตุ นางสาวสารีมาถึงที่ชุมนุมเวลา 8.00 น. พบว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มีเครื่องเสียงประกอบการชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจต่อผู้ชุมนุมและต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมา แต่ไม่มีการพูดปลุกระดม มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 800 คน ผู้ชุมนุมบางส่วนแจกจ่ายแถลงการณ์แก่ผู้ที่เดินผ่านไปมา ส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นมาจากหลายภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากการผ่านกฎหมายของสนช. เช่น นักศึกษา เกษตรกร แรงงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น เมื่อเดินทางไปถึงหน้าอาคารรัฐสภาก็พบว่าประตูถูกปิดไว้ ไม่มีตัวแทนของสนช.เดินมาพบปะกับผู้ชุมนุมเพื่อสอบถามหรือรับเรื่องแต่ประการใด ทำให้บรรยากาศตึงเครียด กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าสนช.ไม่มีความชอบธรรมที่จะพิจารณากฎหมายต่อไป จึงมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภา

นางสารีกล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนริเริ่มการปีน แต่ปีนหลังมีผู้เริ่มปีนเข้าไปก่อน เนื่องจากตนได้เสนอคัดค้านการออกกฎหมายของสนช.ที่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงเห็นว่าตนเองจำเป็นต้องปีนเข้าไปด้วยโดยถือว่าเป็นหน้าที่ มิฉะนั้นจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้น หลังการปีนเข้าไปไม่พบเห็นการทำลายทรัพย์สินของราชการ ตนรู้จักผู้ที่ปีนเข้าไปบางคน เมื่อเข้าไปถึงบริเวณหน้าห้องประชุมสภาก็ไม่มีการก่อความวุ่นวาย เห็นผู้ชุมนุมนั่งเรียบร้อย จนเมื่อเจรจากับตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าประธานสนช.ตัดสินใจยุติการประชุมสภา ผู้ชุมนุมก็สลายตัวไป

นางสาวสารีตอบคำถามอัยการถามค้านว่า ขณะปีนข้ามรั้วรัฐสภา มีผู้ปราศรัยบนเวที ไม่มีใครปราศรัยให้ผู้ชุมนุมปีนรั้ว แต่การปีนรั้วเป็นการตัดสินใจของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง

ในการนัดชุมนุม อาจริเริ่มโดยเครือข่ายฯ กป.อพช. ครั้งนี้เริ่มต้นที่การยื่นหนังสือต่อ สนช. เป็นการร่วมมือกันทำงาน จึงไม่ได้หมายความว่าต้องมีใครมีอำนาจสั่งการ ไม่มีใครสามารถชักจูงโน้มน้าวผู้ชุมนุมได้ ไม่ทราบว่ารถบรรทุกหกล้อ บันได และเหล็กแหลมรูปตัวยที่ใช้ครอบรั้วนั้นผู้ใดนำมา ทราบว่ารัฐสภาเป็นเขตพระราชฐาน

สารีกล่าวว่า การปีนรัฐสภาสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย แต่ทำไปเพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ ซึ่งก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เมื่อพล.ต.อ.อัศวินออกมาบอกว่าสนช.ยุติการประชุม ทุกคนก็พากันออกจากห้องโถง ส่วนการที่สนช.ยุติการประชุม น่าจะเป็นการตัดสินใจของสนช.เอง ไม่ใช่เพราะมีการชุมนุม หากไม่มีการชุมนุมก็ไม่ทราบว่าจะยุติการประชุมหรือไม่

 

สืบพยานจำเลยปากที่สี่ : นายศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่สาม

นายศิริชัย เบิกความว่า ตนเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ตนและสหภาพแรงงานต่อสู้คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ปี 2539 ในปี 2547 ที่แปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นรูปแบบของบริษัท ซึ่งต่อมาศาลปกครองตัดสินให้เปลี่ยนกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามเดิม การแปรรูปการไฟฟ้าถือว่าเป็นนโยบายที่เสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย

นายศิริชัย กล่าวว่า เมื่อปี 2550 สนช. ผ่านกฎหมายหนึ่งฉบับคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ กำหนดว่าสามารถแยกส่วนเฉพาะธุรกิจที่มีกำไรให้แปรรูปได้ เก็บเฉพาะส่วนที่ขาดทุนไว้ ตนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้รับฟังและแสดงความไม่เห็นด้วย จนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปรับฟังอีก กรรมการส่วนใหญ่มาเซ็นชื่อแล้วไม่เข้าประชุม ตนเห็นว่ากฎหมายนี้ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและถามผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับเร่งกฎหมายให้ผ่านไปโดยเร็ว ตนทราบว่ามีกลุ่มที่คัดค้านกฎหมาย 11 ฉบับ จึงเข้าร่วมด้วย เคยยื่นหนังสือคัดค้านหลายครั้ง แต่สนช. ไม่สนใจ

นายศิริชัย เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุ มีการประชุมของสหภาพแรงงานฯ ระหว่างนั้นได้รับแจ้งว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ขอความร่วมมือมา จึงพักการประชุม ตนและพวกรวม 20 คน จึงไปที่หน้ารัฐสภาโดยไปถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ตนได้รับเชิญขึ้นเวทีให้แสดงความเห็นเรื่องกฎหมายที่คัดค้าน คือ กฎหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พูดประมาณสิบนาทีก็ลงจากเวที กำลังจะเดินทางกลับการไฟฟ้าฯ ก็ทราบว่ามีผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา พรรคพวกที่มาด้วยก็ขอให้ตนเข้าไปเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย เมื่อเข้าไปถึงโถงหน้าห้องประชุม ตนได้ขอร้องให้ทุกคนอยู่ในความสงบและให้นั่งลง ต่อมามีตำรวจสันติบาลมาเชิญให้ไปคุยกับพลตำรวจโทอัศวิน ขวัญเมือง ตนบอกไปว่า ไม่ใช่แกนนำ หลังจากนั้น สนช.พักการประชุม ผู้ชุมนุมก็ถอยกลับมาที่หน้ารัฐสภา ตนและคนอื่นๆ ขึ้นเวทีแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบและเดินทางกลับด้วยความสงบ การชุมนุมครั้งหลังจากนั้นตนไม่ได้มาเข้าร่วม

นายศิริชัยตอบคำถามอัยการ ยอมรับว่าคนในภาพถ่ายทั้งหมดคือตน แต่ไม่ได้เป็นแกนนำหรือตัวตั้งตัวตีในช่วงที่ชุมนุมคัดค้าน ไม่เคยเข้าร่วมกับ กป.อพช.มาก่อน และในฐานะที่ตนประธานสหภาพฯ มีหน้าที่โดยตรงในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย ทำความเข้าใจกับสังคม แต่ไม่ใช่เตรียมการเพื่อก่อการร้าย วันนั้นเห็นผู้ชุมนุมปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปและผู้ที่ปีนรั้วไม่ใช่คณะกรรมการ กฟผ. ขณะนั้นบนเวทีปราศรัยไม่มีอะไร ตนปีนตามเข้าไปเพื่อจะไปดูความเรียบร้อยไม่อยากให้ใครใช้ความรุนแรง ไม่อยากให้วัตถุประสงค์ที่มาชุมนุมโดยสันติเสียหาย เพราะตนรู้จักผู้ชุมนุมสายแรงงานหลายคน ตลอดชีวิตที่ต่อสู้มาไม่เคยใช้ความรุนแรง และไม่ทราบมาก่อนว่าวันนั้นจะมีการปีนเข้าไป

นายศิริชัยกล่าวว่าจำเป็นต้องใช้มวลชนจำนวนมากเข้าไปเพื่อยื่นหนังสือ เพราะทำขนาดนี้แล้วสนช.ก็ยังออกกฎหมาย ตนไม่ได้ยินเสียงด่าทอ ไม่ทราบว่ามีการยื่นหนังสือหรือไม่ และไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมนั่งรออะไร คิดว่าคงไม่มีวิธีอื่นแล้ว ผู้ชุมนุมก็เลยนั่งอยู่อย่างนั้น อัยการถามต่อว่า การมานั่งหน้าห้องประชุมเป็นสาเหตุให้สนช.งดการประชุม ใช่หรือไม่ นายศิริชัยตอบว่า ที่เห็นก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าเจตนาเป็นอย่างไร

 

สืบพยานจำเลยที่ห้า : นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่สอง

นายสาวิทย์ แก้วหวาน พนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เคยได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สรส.เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 12 ธันวาคม 2550 เพราะประเด็นของการชุมนุมตรงตามเจตนารมณ์ของสรส. ที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสรส.เคยยื่นจดหมายคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาหลายครั้งแล้วแต่ไม่มีการตอบสนองจากสนช.

นายสาวิทย์เบิกความว่า วันเกิดเหตุมาถึงที่ชุมนุมประมาณ 8 โมงเช้า ได้ขึ้นปราศรัยหนึ่งครั้ง และมีคนอื่นหมุนเวียนกันปราศรัยให้ข้อมูลอื่นๆ แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที ผู้ที่ถือโทรโข่ง และผู้แทนการเจรจาหรือยื่นหนังสือเป็นเพียงตัวแทน แต่ไม่ได้มีอำนาจสั่งการ และจำเลยคนอื่นๆ ก็ไม่ได้มีอำนาจสั่งการด้วย ส่วนตนเป็นเพียงผู้ประสานงาน นายสาวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว แต่มิได้ให้สัมภาษณ์ในฐานะแกนนำ และตนเข้าใจว่านางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ จำเลยที่10 ของคดี ไม่ได้มีบทบาทอะไรในการชุมนุมครั้งนี้เป็นพิเศษ ทราบเพียงว่ามาร่วมชุมนุมเพราะสนช.จะพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสุภิญญาในวันดังกล่าวเช่นกัน

นายสาวิทย์เบิกความว่า เห็นรถเครื่องเสียงจอดอยู่ที่บริเวณทางเข้าสวนสัตว์ดุสิตและตรงข้ามประตูรัฐสภา แต่ไม่ทราบว่าใครขับมาจอดไว้ ในช่วงสายการจราจรก็เริ่มชะลอตัวและติดขัด รถเครื่องเสียงถูกย้ายไปจอดไว้บริเวณหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา นายสาวิทย์ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกให้หรือไม่ ส่วนประตูรัฐสภาได้ถูกปิดไปแล้ว ก่อนจะเลื่อนรถก็มีคนปราศรัยเรียกร้องให้สนช.ยุติการพิจารณากฎหมายอยู่บริเวณท้ายรถแล้ว

ในวันเกิดเหตุมีผู้มาชุมนุมมาก เพราะมีการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ องค์กรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวจึงมาชุมนุมในวันเดียวกัน โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากมีคนของสนช.ออกมารับหนังสือ เหตุการณ์ปีนรัฐสภาคงไม่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผู้ชุมนุมปีนรัฐสภา มีตำรวจของรัฐสภาพยายามห้ามปราม แต่ผู้ชุมนุมก็สามารถปีนเข้าไปได้ ตนเห็นคนปีนเข้าไปรัฐสภาก็รู้สึกเป็นห่วง จึงปีนตามเข้าไปเพื่อดูแลความเรียบร้อย ตนจำไม่ได้ว่ามีผู้ปราศรัย ยุยง หรือห้ามปรามการปีนรั้วรัฐสภาหรือไม่เพราะมัวแต่มองผู้ชุมนุมที่ปีนรั้ว จำได้ว่าว่ามีคนวิ่งเข้าไปในรัฐสภา

นายสาวิทย์กล่าวว่า การจะบอกว่าการชุมนุมนั้นเกิดขึ้นโดยสงบหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา เชื่อว่าหากผู้ชุมนุมต้องการบุกเข้าไปยุติการประชุมของสนช.ก็สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ทำ การชุมนุมนี้ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบเพราะไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สิน เมื่อตนเข้ามาในรัฐสภาก็ถือโทรโข่งและเรียกร้องให้สนช.ยุติการทำหน้าที่ ส่วนที่ใช้คำว่า “สนช.ออกไป” เป็นเพราะเป็นคำที่สั้นและเปล่งเสียงตามได้ง่าย

นายสาวิทย์เบิกความว่า เมื่อเข้าไปถึงบริเวณทางเข้าห้องโถงก็พบว่าเจ้าหน้าที่ปิดประตูกระจกแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็เปิดประตูให้ตนเข้าไป นายสาวิทย์ไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกประตูกระจกพยายามฝ่าเข้าไป เห็นผู้ชุมนุมเข้ามานั่งในบริเวณห้องโถงของรัฐสภา สนช.บางท่านก็ออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุม และพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง มาพูดคุยถึงเจตนารมณ์ของการชุมนุม  ต่อมาก็ได้ทราบว่ามีการยุติการประชุม ผู้ชุมนุมทยอยเดินออกจากรัฐสภา มีการปราศรัยชี้แจงท่าทีของสนช.ต่อผู้ชุมนุมพร้อมแจ้งว่า หากสนช.นำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจกลับมาพิจารณาอีกทางสรส.ก็จะมาชุมนุมใหม่

 

สืบพยานจำเลยปากที่หก : นายอำนาจ พละมี จำเลยที่เจ็ด

นายอำนาจ พละมี เบิกความว่า ตนเป็นคณะกรรมการฝ่ายการเมืองของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย(สรส.) ในสมัยสนช. รัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจซึ่งมีปัญหา เพราะคณะรัฐมนตรีจะออกกฤษฎีกายกเลิกหรือแบ่งขายรัฐวิสาหกิจใดก็ได้ สรส.ไม่เห็นด้วยที่สนช.เร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาร่วมชุมนุม ตนมาร่วมชุมนุมเพราะเห็นว่าการออกกฎหมายของสนช.ส่อไปในทางมิชอบเนื่องจากมีการผ่านกฎหมายทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบหลายครั้ง

นายอำนาจ เล่าว่า วันเกิดเหตุตนมาถึงบริเวณหน้ารัฐสภาประมาณ 8.00 น. เห็นว่ารถวิ่งเข้าออกรัฐสภาได้ตามปกติ ผู้ชุมนุมไม่ได้ขัดขวางสมาชิกสนช.ในการเข้าประชุม หลังเดินทักทายคนที่รู้จักตนขึ้นไปทักทายผู้ชุมนุมผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ทราบว่าใครนำรถเวทีมา ต่อมามีตำรวจมาประสานให้ย้ายรถไปจอดฝั่งหน้ารัฐสภาเพราะกลัวรถติด ตนขอให้ตำรวจติดต่อกับเจ้าของรถเนื่องจากตนไม่มีอำนาจสั่งการ

นายอำนาจ เบิกความว่า ตนอยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลาแต่มิได้ยุยงให้คนปีน เพียงแต่ดำเนินรายการเชิญผู้ศึกษาประเด็นต่างๆ ขึ้นมาให้ความรู้ เชิญชวนให้คนร้องเพลง มีคนอื่นๆ อีกหลายคนที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภาเพราะอะไร ส่วนตัวมองว่าเพราะรู้สึกกดดันเนื่องจากผู้ชุมนุมมาตั้งแต่เช้าจนเที่ยงแต่ไม่มีตัวแทนสนช.มารับเรื่อง ตนไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการปีน

นายอำนาจ กล่าวว่า ระหว่างการชุมนุมมีการใช้ถ้อยคำปลุกใจเช่นคำว่าสู้ไม่สู้ หมายถึงสู้กับความไม่ถูกต้อง สู้ด้วยการชุมนุมโดยสันติ ที่เลือกใช้คำว่าสู้เพราะเห็นว่าเป็นคำที่สามารถดึงความสนใจของผู้ชุมนุมให้มาอยู่ที่เวทีได้ คำว่าสู้ไม่ได้ปลุกให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

ในวีดิทัศน์มีภาพนายอำนาจรับกระดาษจากบุคคลหนึ่งก่อนประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “เจ้าหน้าที่เชิญคนไทยเจ้าของสภาผู้เสียภาษีเข้าไปเยี่ยมชมการทำงาน” นายอำนาจชี้แจงว่า ภาพนี้เกิดขึ้นหลังผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในสภาจำนวนหนึ่งแล้ว มีคนนำกระดาษมีข้อความมาให้ประกาศ ตนจึงประกาศให้ผู้ชุมนุมรับทราบพร้อมทั้งร้องขอผู้ชุมนุมไม่ให้ปีนรั้ว ตนอยู่ด้านนอกไม่ทราบความเป็นไปด้านในรัฐสภา คิดว่าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเหตุการณ์ข้างในเรียบร้อยแล้วจึงอยากให้ผู้ชุมนุมเข้าออกผ่านประตูแทนการปีน

นายอำนาจ เบิกความว่า ตลอดเวลาที่มีผู้เข้าไปในรัฐสภาตนไม่ได้ตามเข้าไปเพราะต้องอยู่ดูแลผู้ชุมนุมบนเวที ตนออกจากที่ชุมนุมประมาณ14.00น.เพื่อไปพบแพทย์ วันเกิดเหตุมีนักวิชาการหลายท่านขึ้นมาพูดบนเวทีแต่ไม่ได้ถูกคุกคามโดยกฎหมาย ผู้ที่ขึ้นมาพูดบนเวทีไม่ได้หมายความว่าเป็นแกนนำ

นายอำนาจ ตอบคำถามอัยการว่า ช่วงที่คนเริ่มปีนตนก็อึ้งไปพักใหญ่ ตนไม่ได้เป็นผู้สั่งการ ตนเป็นผู้ปราศรัยได้แต่ใช้เครื่องขยายเสียงสื่อสารกับผู้ชุมนุมเท่านั้นไม่มีอำนาจไปสั่งใคร ทุกคนต่างมีดุลยพินิจของตนเอง เชื่อว่าการปีนสภาไม่น่าจะเกิดใ

สภาที่มาจากการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่ออัยการถามเรื่องการใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต นายอำนาจตอบว่า ตนไม่ทราบว่าจะต้องไปขออนุญาตใคร

ทนายความถามว่าหลังเกิดเหตุนายอำนาจได้ไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาและใส่เสื้อสีส้มอีกหรือไม่ นายอำนาจกล่าวว่าใช่ ทนายจึงกล่าวว่า ไม่อาจยืนยันได้ว่าภาพถ่ายที่อัยการนำมาให้ดูทั้งหมดเป็นภาพวันเกิดเหตุทั้งหมด เพราะภายหลังนายอำนาจได้เดินทางมาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน ใส่เสื้อตัวเดียวกัน และเวทีก็มักมีลักษณะคล้ายๆกัน

นายอำนาจเบิกความว่า เจ้าหน้าที่น่าจะเป็นคนปิดประตู เพราะผู้ชุมนุมน่าจะเลือกเดินเข้ารัฐสภาทางประตูมากกว่าจะปิดประตูแล้วปีนเข้าไปในภายหลัง การปีนกินระยะเวลาประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีการปีนอีก หากประตูรัฐสภาเปิดอยู่ผู้ชุมนุมคงไม่ปีนแต่คงจะเดินเข้าไป

 

สืบพยานจำเลยปากที่เจ็ด : นายนัสเซอร์ ยีหมะ จำเลยที่หก

นายนัสเซอร์ ยีหมะ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนทำงานกับกลุ่มเพื่อนประชาชน ให้คำแนะนำกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในโครงการต่างๆของรัฐ นอกจากนี้ ตนยังทำงานในประเด็นหนี้สินเกษตรกรด้วย   

การชุมนุมครั้งนี้ตนมาคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเห็นว่ามีเนื้อหาเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจกับนักการเมือง ไม่ใช่เกษตรกร ตนทราบข่าวการชุมนุมครั้งนี้จากการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ 

นายนัสเซอร์ เบิกความว่า เมื่อตนมาถึงตอน 8.00น.ก็เห็นรถเวทีจอดอยู่ฝั่งสวนสัตว์ดุสิตและมีคนปราศรัยอยู่ ครั้งนี้ตนเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมธรรมดาไม่มีหน้าที่ใด 

ประมาณ 11.00 น. ตนทราบว่ามีการปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา คิดว่าผู้ชุมนุมปีนเข้าไปเพราะกฎหมายที่จะออกส่งผลกระทบต่อประชาชนมากแต่ไม่มีตัวแทนสนช.ออกมารับเรื่อง ตนก็ปีนเข้าตามไปด้วย หลังจากนั่งในห้องโถงได้ครู่หนึ่งมีเจ้าหน้าที่มาคุยกับนายจอนแต่ตนจำไม่ได้ว่าเป็นใคร หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่คนนั้นก็หายไป ผู้ชุมนุมทยอยกันเดินออก ตนจึงเดินตามมาโดยไม่ทราบเหตุผล พอออกมาข้างนอกจึงทราบว่า สนช.ยุติการประชุมแล้ว ตนจึงกลับบ้าน

นายนัสเซอร์เบิกความว่า ปรกติผู้ที่เข้าไปในสภาต้องแลกบัตรแต่วันเกิดเหตุประตูถูกปิดและไม่มีตัวแทนสนช.มารับเรื่อง จึงต้องปีนเข้าไป ทั้งนี้ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาจะปีนเข้าไปเพื่อกดดันสมาชิกสนช. ตนเองก็ปีนเข้าไปโดยสมัครใจ ไม่มีใครบังคับ ส่วนสนช.จะยุติการประชุมเพราะอะไรตนไม่ทราบ

 

สืบพยานจำเลยปากที่แปด : นายพิชิต ชัยมงคล  จำเลยที่สี่ 

นายพิชิตไชยมงคล เบิกความว่า ตนเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) หลังจบการศึกษาได้มาทำงานกับกลุ่มเพื่อนประชาชนโดยให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และงานช่วยเหลือสังคมต่างๆ รวมถึงเคยทำงานกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก่อนวันเกิดเหตุ ตนได้เคยไปร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาก่อน

นายพิชิตเบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตนมาถึงที่ชุมนุมประมาณ 8.30 น. ก็เห็นนายอำนาจ พละมีกำลัง ปราศรัยอยู่บนเวที และนายอำนาจได้เรียกตนให้ขึ้นไปบนเวทีด้วย ตนได้พูดจาทักทายผู้ชุมนุม และสังเกตว่ามีกลุ่มนักศึกษามาร่วมชุมนุมด้วย

นายพิชิตให้การต่อว่า รถเครื่องเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต แต่หลังจากนั้นรถก็เคลื่อนไปจอดบริเวณรัฐสภา โดยตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ขอให้ย้ายรถและได้อำนวยความสะดวกในการย้ายให้ด้วย เวลาประมาณ 11.00 น. ตนเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา และลอดช่องว่างระหว่างลูกกรงเข้าไปในรัฐสภา ตนจึงปีนตามเข้าไปเพื่อต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยกับสนช. โดยการปีนถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  ตนเข้าไปอยู่บริเวณหน้าห้องโถง จากนั้นตนได้ช่วยประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาให้ลำเลียงอาหารมาให้กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ต้องรับประทานอาหารโดยมีกลุ่มนักศึกษาประมาณ 6-7 คน โดยกลุ่มนักศึกษาเดินออกทางถนนอู่ทองใน ตนไม่ทราบสถานการณ์ข้างในรัฐสภาว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่มีเสียงเล็ดลอดจากบริเวณห้องโถงออกมาด้านนอกเพราะมีกระจกกั้นอยู่ เวลาต่อมามีคนบอกตนว่ามีการเจรจากันเรียบร้อยแล้ว และกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยกันออกมาจากอาคารรัฐสภา และยังมีการปราศรัยอีกพักหนึ่งจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไป ในชั้นสืบสวน ตนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

นายพิชิตเบิกความว่า การปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาของตนเป็นไปด้วยความสมัครใจและไม่ได้ปีนเพื่อกดดัน สนช. ตอนที่ตนปราศรัยบนเวทีตนไม่ได้ปราศรัยคำว่า สนช. ออกไปแต่ตนยอมรับว่าได้ใช้โทรโข่งพูดกับผู้ชุมนุมตอนที่อยู่บริเวณทางเข้าห้องโถงรัฐสภา ตนไม่แน่ใจว่าการชุมนุมสิ้นสุดตอนกี่โมงและไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด สนช.ตัดสินใจยุติการประชุม

 

สืบพยานจำเลยปากที่เก้า : นายอนิรุทธิ์ ขาวสนิท เกษตรกร จำเลยที่ห้า
นาย อนิรุทธิ์ ขาวสนิท เบิกความว่า ตนได้ร่วมกับเพื่อนใน จ.เพชรบุรีจัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร วันที่ 27พฤศจิกายน 2550 ตนทราบจากประธานกลุ่มฯว่า สนช.จะออกกฎหมายซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกร จึงตกลงไปร่วมชุมนุมคัดค้าน วันที่12 ธันวาคม ตนกับสมาชิกในกลุ่มฯมาร่วมชุมนุมโดยรถที่ทางกลุ่มจัดให้ โดยปกตินาย กิต ผ่องพักตร์จะทำหน้าที่ดูแลสมาชิก แต่วันนั้นนายกิตมาช้า ตนเลยรับหน้าที่ดูแลสมาชิกแทน

ประมาณ 7.00 น. ตนเห็นตำรวจยกแผงเหล็กหน้าประตูรัฐสภาเพื่อให้รถเวทีเข้าไปจอด  ขณะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐสภาปิดประตูทางเข้าแล้ว บนรถเวมีการปราศรัยคัดค้านการออกกฎหมาย มีคนเชิญตนขึ้นไปปราศรัยชี้แจงด้วยแต่ตนไม่ทราบว่าผู้ใดนำชื่อของตนไปแจ้งกับทางเวที

นายอนิรุทธิ์กล่าวว่า ในที่ชุมนุมตนรู้จักนายนัสเซอร์คนเดียวเพราะทำงานเรื่องหนี้สินเกษตรกรเหมือนกัน ระหว่างการชุมนุมไม่มีตัวแทนสนช.ออกมารับเรื่อง ตนรู้สึกว่าสนช. ดูถูกผู้ชุมนุมและดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อมีผู้ชุมนุมปีนรั้วรัฐสภา ตนปีนตามเข้าไปในรัฐสภาโดยไม่ทราบว่ารัฐสภาเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐาน

ที่หน้าห้องประชุมตนเห็นเจ้าหน้าที่พยายามควบคุมผู้ชุมนุม ฝ่ายผู้ชุมนุมก็พยายามควบคุมกันเอง ตนเห็นนายจอนคุยกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และคาดว่าคงจะเจรจากันรู้เรื่อง เพราะหลังจากนั้นผู้ชุมนุมทยอยกันออกไป เมื่อออกไปด้านนอกมีคนเรียกตนและคนอื่นๆขึ้นเวทีอีกครั้ง มีการประกาศว่า สนช.หยุดการพิจารณาการออกกฎหมายแล้ว ผู้ชุมุนุมจีงแยกย้ายกันไป

 

สืบพยานจำเลยปากที่สิบ : นายไพโรจน์ พลเพชร จำเลยที่แปด

นายไพโรจน์ พลเพชร เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ เป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

นายไพโรจน์เบิกความว่า การแต่งตั้ง สนช. โดยคณะรัฐประหาร เป็นการล้มล้างคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติที่มาจากประชาชน การปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. เป็นการทำหน้าที่ชั่วคราว สนช.ต้องพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สามฉบับ ซึ่งได้ผ่านแล้ว โดยหลักแล้ว สนช.ต้องออกกฎหมายโดยรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่สนช.เร่งรัดออกกฎหมาย 11 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มมากกว่าประชาชนทั่วไป

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การผ่านร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นการรับรองฐานะของกอ.รมน. ให้ทหารมีบทบาททั้งในสภาวะที่บ้านเมืองปกติ ให้ออกกฎโดยได้รับยกเว้นการตรวจสอบจากศาล ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ในฐานะประธานสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน วันที่ 18 ตุลาคม 2550 เคยทำหนังสือเสนอต่อ สนช. ซึ่งนายอัมมาร สยามวาลาเป็นคนออกมารับหนังสือ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ทำหนังสือถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรคืบหน้า สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรโดยที่มีสมาชิกร่วมประชุมเพียง 108 คน น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 125 คนตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดคำถามเรื่องความชอบธรรม

นายไพโรจน์ เบิกความด้วยว่า วันที่ 13, 19, 20 และ 21 ธันวาคม สนช.ผ่านกฎหมาย 76 ฉบับ แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาร่างกฎหมายกระทำโดยขาดความรอบคอบ แม้สนช.จะมีอำนาจในการออกกฎหมายแต่ก็ควรมีมโนสำนึกว่าการเร่งรัดออกกฎหมายขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบไม่ชอบทำนองคลองธรรม

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ยังมีร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบอีกสามฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และร่างพ.ร.บ.สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งกระทบต่อสิทธิในการศึกษาของประชาชน  ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ มีการนำกลไกตลาดเข้ามาใช้บริหารจัดการน้ำ โดยให้สัมปทานเอกชน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ

นายไพโรจน์ เบิกความว่า ในระหว่างการชุมนุม คนที่ทำงานคัดค้านกฎหมายฉบับต่างๆจะผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยให้ข้อมูล ผู้ที่ขึ้นพูดไม่จำเป็นต้องเป็นแกนนำ แต่ตนไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัย การชุมนุมเป็นไปโดยปกติธรรมดา มีการใช้เครื่องขยายเสียง สมาชิกสนช.สามารถเดินทางเข้าสภาได้ตามปกติ ในช่วงแรกผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ฝั่งสวนสัตว์ดุสิต ต่อมาจึงย้ายมาฝั่งรัฐสภา เมื่อเวลาผ่านไปจึงเห็นว่ามีคนปีน ไม่สามารถระบุได้ว่ามีคนปีนกี่คน ตนก็ร่วมปีนด้วย

นายไพโรจน์ เบิกความว่า ทุกคนตัดสินใจปีนรัฐสภาด้วยตนเอง ไม่มีใครสามารถสั่งใครได้ การปีนเป็นการแสดงออกถึงการคัดค้านโดยสันติวิธี เมื่อปีนเข้าไปแล้วผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ สาเหตุที่มีการปีนน่าจะเป็นเพราะสนช.ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ชุมนุม หลังเข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภาแล้วผู้ชุมนุมก็ไปนั่งกันอยู่ที่บริเวณห้องโถงโดยสงบ และไม่มีการผลักดันประตู

นายไพโรจน์เบิกความว่า เมื่อผู้ชุมนุมเข้าไปในรัฐสภาแล้ว มีสมาชิกสนช.บางท่านและ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ออกมาพบปะกับผู้ชุมนุมเพื่อสอบถามความต้องการของผู้ชุมนุม ฝ่ายผู้ชุมนุมได้มอบเอกสารชี้แจงการคัดค้านกฎหมาย 11 ฉบับและขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไป ต่อมาก็มีการแจ้งว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช.ได้ประกาศให้งดการประชุม ตนจึงเดินออกมาพร้อมกับผู้ชุมนุมด้วยความเรียบร้อย เมื่อสื่อสารกับสนช.แล้วผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ยึดสถานที่ราชการ

นายไพโรจน์เบิกความถึงคำพิพากษาที่สำคัญเกี่ยวกับการชุมนุม คดีแรกคือคดีการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์เซียที่ อำเภอจะนะ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ขาดไม่ได้ตามระบอบประชาธิปไตย คดีที่สองคือคดีที่นายรัชฏะ วัฒนศักดิ์และพวกรวม 12 คน ถูกฟ้อง ศาลชี้ว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ศาลจึงยกฟ้อง ทั้งสองคดีศาลนำเอาหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในดุลพินิจด้วย แม้บริบทคดีเหล่านี้จะไม่ใช่การปีน แต่ในคำพิพากษาได้บอกว่าถ้าการชุมนุมกระทำเพื่อมุ่งสื่อสารไม่มุ่งทำลายหรือทำร้ายก็เป็นสิ่งที่ทำได้

นายไพโรจน์เบิกความว่า หากเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะให้โอกาสประชาชนในการเข้าพบเพื่อเจรจา เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการและอาจจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆ

นายไพโรจน์ ตอบคำถามอัยการ ว่า การชุมนุมวันที่ 19 กับ 20 ธันวาคม ตนไปร่วมด้วย เป็นการชุมนุมด้านหน้ารัฐสภาแต่มิได้เข้าไปในอาคาร เพราะวันที่ 12 ธันวาคม ได้ยื่นเอกสารไว้แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไป การชุมนุมวันอื่นๆ ไม่มีการปิดกั้นการติดต่อระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้มีอำนาจในสภา แต่ในวันที่ 12 ประตูถูกปิด การปีนจึงดูจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำให้ผู้ชุมนุมสามารถสื่อสารข้อเรียกไปถึงสมาชิก สนช.ได้ หากสนช.ส่งคนมารับเรื่องในวันดังกล่าวก็จะไม่มีการปีนเข้าไป

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การเข้าไปนั่งด้านในเป็นเพียงการไปยื่นข้อเสนอ สนช.จะพักการประชุมเพราะพวกตนเข้าไปหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้ หากทางสนช.พิจารณากฎหมายต่อก็จะนั่งประท้วงต่อไป หากเจ้าหน้าที่จะจับกุม ตนก็จะยอมให้จับแต่โดยดี การชุมนุมวันนั้นนัดหมายกันมา แต่การปีนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าโดยที่ไม่ได้นัดหมาย

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 11 : นาย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายประวิตร โรจนพฤกษ์ เป็นนักข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น รับผิดชอบข่าวการเมือง และสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ประมาณ 10.00 น. ทำข่าวอยู่หน้ารัฐสภาซึ่งมีผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณด้านนอกรัฐสภาเพื่อคัดค้านสนช.ที่เร่งรีบผ่านกฎหมายทั้งที่ใกล้หมดวาระ ในกลุ่มผู้ชุมนุม ตนรู้จักกับจำเลยที่หนึ่ง จำเลยที่สาม จำเลยที่แปด จำเลยที่เก้า และจำเลยที่สิบ เพราะเป็นแหล่งข่าวของตน ส่วนตัวเห็นว่า จำเลยทั้งสิบเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

นายประวิตรกล่าวว่า ระหว่างการปราศรัย ผู้ปราศรัยพูดถึงความไม่ชอบธรรมในการออกกฎหมายของสนช. ที่ผ่านกฎหมายโดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ผู้ปราศรัยจึงต้องควบคุมสถานการณ์ด้วย อย่างไรก็ดีตนไม่ทราบว่าใครปราศรัยบ้าง ในวันเกิดเหตุ รัฐสภาเปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าออกได้เป็นกรณีพิเศษ และมีประชุมของสนช.ตามปกติ

เวลาประมาณ 11.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมใช้บันไดพาดรั้วและปีนข้ามรั้วเข้าไปในรัฐสภา หลังจากนั้นผู้ชุมนุมขึ้นไปที่โถงหน้าห้องประชุม ช่วงแรกผู้ชุมนุมยืนหน้าห้องประชุม ตนไม่แน่ใจว่าบุคคลที่ขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลงใช่จำเลยที่หนึ่งหรือไม่ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้ามามีอาการไม่พอใจสนช. แต่ก็ชุมนุมกันอย่างสงบ ท่าทีของผู้ชุมนุมขณะเจรจากับสนช.ก็เป็นไปโดยสงบเช่นกัน ขณะเจรจานั้น การประชุมของสนช.ยังดำเนินไป ต่อมาจึงมีคำสั่งพักการประชุม

นายประวิตรเบิกความว่าในฐานะนักข่าวก็จะเลือกแหล่งข่าวที่มีลักษณะเป็นแกนนำ หรือเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจปัญหา โดยอาจพิจารณาว่า ใครขึ้นเวทีปราศรัยและเป็นผู้ที่ผู้ชุมนุมรู้จักหรือเชื่อถือ

นายประวิตรเบิกความว่า การที่ผู้ชุมนุมปีนรั้วรัฐสภาถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาใช้ความรุนแรง เพราะผู้ชุมนุมสามารถบุกเข้าไปในห้องประชุมรัฐสภาได้แต่ไม่ทำและไม่ได้ทำร้ายผู้ใด เมื่ออัยการถามว่า การกระทำของผู้ชุมนุม(ปีน)เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประวิตรตอบว่าก้ำกึ่ง

 

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 12 : นาย วันชัย พุทธทอง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายวันชัย พุทธทอง เบิกความว่า ตนเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันเกิดเหตุตนไปถึงรัฐสภาเพื่อทำข่าวประมาณ 9.00 – 10.00 น. เมื่อไปถึงพบว่ามีคนชุมนุมกันอยู่ด้านนอกรัฐสภาส่วนรถเวทีจอดอยู่หน้าทางเข้ารัฐสภา ขณะนั้นประตูรัฐสภาปิดอยู่ 

บนเวที มีผู้ปราศรัยหลายคน ตนไม่ได้ยินการพูดยั่วยุให้ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนตัวคิดว่าผู้ปราศรัยเป็นเพียงตัวแทนขององค์กรมิใช่แกนนำเพราะไม่มีใครประกาศว่าตนเป็นแกนนำ เนื้อหาการปราศรัยที่จำได้คือขอให้ สนช. หยุดการพิจารณากฎหมาย

นายวันชัย เบิกความว่า ประมาณ 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา  ตนเข้าใจว่า ผู้ชุมนุมต้องการยื่นข้อเรียกร้อง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมารับเรื่องจึงปีนเข้าไป เมื่อเห็นผู้ชุนนุมปีนรั้วรัฐสภาตนจึงปีนตามเข้าไปเพราะประตูทางเข้ารัฐสภาปิดและไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณนั้น

นายวันชัยกล่าวว่า ไม่มีการทำร้ายหน้าเจ้าหน้าที่และไม่มีการจับผู้ชุมนุมในวันนั้น หลังผู้ชุมนุมเข้ามาในรัฐสภาตนได้ยินพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมืองแจ้งผู้ชุมนุมว่านายมีชัย ประธานสนช.จะงดการประชุมในวันนั้น หลังจากทราบเรื่อง ผู้ชุมนุมก็ทยอยเดินออกจากรัฐสภาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาเป็นผู้เปิดประตูให้

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 13 : รศ.จรัญ โฆษณานันท์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

รศ.จรัญ โฆษณานันท์ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนวิชานิติปรัชญา อาชญวิทยา และสิทธิมนุษยชน โดยทั่วไปการทำรัฐประหาร ถือว่า ผิดศีลธรรมและกฎหมาย ละเมิดต่อหลักนิติธรรมชัดแจ้ง การทำรัฐประหารบางครั้งมีความชอบธรรม ถ้า หนึ่ง เป็นการล้มล้างรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  สอง ผู้ก่อการได้รับการยอมรับจากประชาชน  สาม นำมาซึ่งการเลือกตั้งโดยเร็ว  สี่ ส่งผ่านอำนาจไปให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง รัฐประหาร 2549 เป็นการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรม เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

รศ.จรัญ เบิกความว่า รัฐธรรมนูญ 2540 และ2550 กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การถือว่าผู้ทำรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์รวมทั้งคำสั่งมีสถานะเป็นกฎหมาย ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยคือประชาชน แนวคิดนี้ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน คำพิพากษาที่อ้างเรื่องรัฏฐาธิปัตย์สะท้อนความเชื่อของตุลาการ เมื่อศาลไม่มีจุดยืนทางประชาธิปไตยก็กระทบต่อความยุติธรรม

รศ.จรัญ กล่าวว่า ก่อนการเลือกตั้ง มีการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสนช.ทั้งในเรื่องความชอบธรรม การเร่งรัดพิจารณากฎหมายและการพิจารณากฎหมายโดยที่องค์ประชุมไม่ครบ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำพิพากษาว่าการออกกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบ

รศ.จรัญ ให้ความเห็นว่า การที่จำเลยปีนรั้วเข้าไปนั่งหน้าห้องประชุม เพื่อเรียกร้องให้สนช.หยุดการพิจารณากฎหมาย เป็นการดื้อแพ่งหรืออารยขัดขืน เป็นรูปแบบของการคัดค้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมโดยสันติวิธีที่มีมานานแล้ว กล่าวคือบุคคลจะละเมิดกฎหมายที่เมื่อพิจารณาโดยมโนสำนึกแล้วเห็นว่าไม่เป็นธรรม การดื้อแพ่งจะต้องทำโดยเปิดเผยและไม่ใช้ความรุนแรง

รศ.จรัญ กล่าวว่า ในอดีต การดื้อแพ่งที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น คนผิวดำที่นั่งบนรถเมล์ของคนผิวขาว การดื้อแพ่งของมหาตมะ คานธี การดื้อแพ่งเป็นการกระทำที่ยอมรับได้ เป็นการขยายบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง ในทางสากลกระบวนการยุติธรรมมักจะประนีประนอมกับคนที่ดื้อแพ่ง

รศ.จรัญ เบิกความว่า คดีนี้ เข้าองค์ประกอบการดื้อแพ่ง ไม่เข้าข่ายอาชญากรรม การดื้อแพ่งต้องดูความเป็นมา ดูประวัติ นายจอน ทำงานต่อสู้มานาน การดื้อแพ่งที่เป็นธรรม ต้องใช้วิธีการที่เป็นทางการก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็อาจใช้การดื้อแพ่ง

อัยการถามว่า ความเป็นธรรมเป็นความคิดของแต่ละคน ใช่หรือไม่ รศ.จรัญตอบว่า ไม่เชิง ความเป็นธรรมมีหลักที่ชัดเจนคือ สิทธิมนุษยชน การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนคือความเป็นธรรม อัยการถามว่า การแสดงออกมีข้อจำกัด ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือไม่ รศ.จรัญตอบว่า ต้องอยู่ภายใต้ความยุติธรรม และต้องเพื่อประโยชน์ของสังคม ไม่ใช่เพื่อรักษาอำนาจของบางกลุ่มไว้ ความสงบเรียบร้อยเป็นความหมายที่กว้างเกินไป

อัยการถามว่า การดื้อแพ่งที่ชอบธรรม ขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละคนหรือไม่ รศ.จรัญตอบว่า มีเกณฑ์อยู่ ในทางสากล การมองกฎหมาย ต้องมองอย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านสังคม ศีลธรรม เศรษฐกิจ ให้รอบด้าน เช่น คนละเมิดกฎหมายนี้มีความผิด แต่ต้องมองว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนี้ มีเหตุจูงใจอะไร มีอะไรเกิดขึ้นก่อน คดีนี้อาจมองได้ว่ากลุ่มคนที่บุกเข้าไปในรัฐสภา เข้าไปด้วยความจำเป็น การที่คนเดินเข้าไปอาจไม่ใช่การบุกรุก ถ้าดูแต่ตัวหนังสือในกฎหมายก็ผิด

อัยการถามว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่ รศ.จรัญตอบว่า ขึ้นอยู่กับศาลจะวินิจฉัย แต่ดื้อแพ่งกับอนาธิปไตยไม่เหมือนกัน

รศ.จรัญ เบิกความว่า ประเทศไทยเคยมีกรณีกลุ่มสมัชชาคนจนปีนทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อัยการสั่งไม่ฟ้อง กรณีเขื่อนราษีไศล ศาลก็สั่งรอลงอาญา ต้องมองประโยชน์สาธารณะ ฟ้องแล้วไม่เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดความแตกร้าวมากขึ้น ก็ไม่ควรฟ้อง ต้องมองความยุติธรรมให้ใหญ่กว่าตัวกฎหมาย เพราะบางทีกฎหมายกับความยุติธรรมอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของความยุติธรรม กฎหมายอาจจะไม่ดีก็ได้

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 14 : นาย โคทม อารียา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายโคทม อารียา เบิกความว่า ก่อนช่วงเวลาเกิดเหตุ ตนเป็นสมาชิกสนช. เนื่องจากมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ตนจึงยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกสนช.โดยให้มีผลในวันที่ 23 ธันวาคม2550 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วสนช.ควรยุติบทบาท

นายโคทม เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุตนมาถึงรัฐสภาประมาณ 9.00 น. พบว่ามีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณหน้ารัฐสภา หลังเข้าประชุมไปครู่หนึ่ง ตนออกจากที่ประชุมมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมนอกรัฐสภา ทั้งนี้เป็นการออกมาโดยส่วนตัวไม่ใช่มาเพราะได้รับมอบหมายให้มารับข้อเสนอจากผู้ชุมนุมแต่ตนจำไม่ได้ว่าคุยกับใครบ้าง

นายโคทม กล่าวว่า หลังกลับเข้าไปในสภา ตนปรึกษากับพล.อ.จรัญ กุลละวณิชย์ รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง เพื่อดูความเป็นไปได้ที่จะมีการรับฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุม รวมทั้งเสนอให้ตัวแทนของผู้ชุมนุมเข้ามาฟังการประชุมสนช.ด้วย พล.อ.จรัลไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ตนจึงนั่งประชุมต่อไป เมื่อมีคนแจ้งว่าผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณห้องโถงหน้าห้องประชุมแล้ว บรรยากาศในห้องประชุมไม่ได้ตื่นตระหนก ตนไม่รู้สึกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้ามาทำร้ายใคร

ส่วนตัว นายโคทมเห็นว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสันติ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จะเข้ามาบริเวณรัฐสภาก็นั่งลงไม่ก่อความวุ่นวาย

นายโคทม อารียา ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้านว่า เท่าที่จำได้มี กฎหมายความมั่นคงภายในซึ่งตนกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหารบกเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง รวมทั้งการที่ไม่สามารถนำคดีเข้าสู่ศาลปกครองได้ ส่วนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีผลเสียกับนักศึกษาที่มีฐานะยากจนเพราะต้องเสียค่าหน่วยกิตสูงขึ้น ทั้งนี้ตนเห็นเหมือนผู้ชุมนุมว่า สนช.ไม่ควรเร่งออกกกฎหมายใกล้กับวันเลือกตั้งทั่วไป

นายโคทม เบิกความว่า ตนรู้จักจำเลยในคดีหลายคนได้แก่นายจอน อึ๊งภากรณ์ นาย สาวิทย์ แก้วหวาน นายไพโรจน์ พลเพชร น.ส.สารี อ๋องสมหวังและ  น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ จำเลยทั้งหมดเป็นผู้มีผลงานด้านสังคมเป็นจำนวนมาก  ในวันเกิดเหตุไม่มีผู้ชุมนุมคนใดขัดขวางตนขณะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภา

นายโคทม เบิกความว่า การชุมนุมนอกรัฐสภา เป็นไปโดยสงบ แม้ผู้ชุมนุมปีนเข้ามาด้านในซึ่งเป็นการละเมิดต่อสถานที่แต่ก็ไม่มีการพกพาอาวุธและนั่งลงโดยสงบจึงถือว่ายังอยู่ในขอบเขตของการชุมนุมโดยสงบ การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีการที่ผู้ชุมนุมเข้ามาที่หน้าห้องประชุมรัฐสภาน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้สนช.ยุติการประชุมในวันดังกล่าว

นายโคทม กล่าวว่า หากไม่มีการชุมนุมไม่น่าจะมีการยกเลิกการประชุม เชื่อว่าการประกาศยุติการประชุมน่าจะเกิดขึ้นหลังประธานสนช.หารือกับที่ประชุมแล้ว

 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 15 : นาย สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายสมชาย หอมลออ เบิกความว่า ตนเคยเป็นทนายความและเคยทำงานด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชนก่อนที่จะมาเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 

นายสมชาย เบิกความว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อคัดค้านการพิจารณากฎหมายของสนช.ซึ่งเป็นสภาที่เกิดจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร โดยส่วนตัวเชื่อว่าองค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานที่มาคัดค้านการพิจารณากฎหมายครั้งนี้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใดเป็นพิเศษ ในส่วนของจำเลย ตนเคยพบนายจอน อึ๊งภากรณ์ (จำเลยที่หนึ่ง) ในการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งพบว่านายจอนเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี นอกจากนี้จำเลยคนอื่นๆ ก็มีประวัติเป็นคนทำงานเพื่อสังคมและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองใด

นายสมชาย เบิกความว่า ตนเคยแสดงความเห็นคัดค้านการพิจารณากฎหมายของสนช.มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากฎหมายบางฉบับที่มีลักษณะส่งเสริมอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่น ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคง ในส่วนของคดีนี้ ในช่วงที่จำเลยทั้งสิบทำการชุมนุม สนช.มักพิจารณากฎหมายอย่างเร่งรีบและไม่ครบองค์ประชุม ทั้งนี้หลังมีการกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกา สนช.ก็ผ่านกฎหมายอย่างเร่งรีบคือผ่านสามวาระรวดทั้งที่กฎหมายหลายฉบับมีเนื้อหากระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นธรรมดาจะมีองค์การภาคประชาชนมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกกฎหมายของสนช. การชุมนุมถือเป็นการแสดงความเห็นรูปแบบหนึ่ง นายสมชายกล่าวว่าการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาหรือการส่งตัวแทนเข้าไปในรัฐสภาถือเป็นเรื่องปกติ

นายสมชายกล่าวว่า การชุมนุมอันเป็นเหตุแห่งคดีนี้ตนไม่ได้เข้าร่วมแต่ก็ติดตามข่าวผ่านทางสื่อ นายสมชาย ยกตัวอย่างว่าในสหรัฐอเมริกาเคยเกิดคดีคล้ายๆ กัน คนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในอาคารของรัฐบาลเพื่อหนีอากาศหนาว ต่อมาถูกจับดำเนินคดีแต่ศาลไม่ลงโทษ ให้เหตุผลว่าคนเหล่านั้นไม่มีเจตนาบุกรุกเพียงแค่ต้องการหนีหนาว ดังนั้นคดีนี้จึงต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ชุมนุมเข้าไปในรัฐสภาด้วยเจตนาใด

นายสมชาย เบิกความว่า การทำความผิดคดีนี้ต่างจากความผิดทางอาญาทั่วไปเพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำที่เกิดในยุคเปลี่ยนผ่านด้วยคือเปลี่ยนจากสภาที่มาจากการแต่งตั้งไปสู่สภาที่มาจากการเลือกตั้ง  จริงอยู่สนช.ยังมีอำนาจในการพิจารณากฎหมาย แต่โดยหลักแล้วสนช.ควรผลักดันกฎหมายหรือกระบวนการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการพิจารณากฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนควรให้เป็นหน้าที่ของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

นายสมชาย เบิกความว่า ผู้ชุมนุมแม้มีความหลากหลายแต่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติ ขณะนั้นสนช.มีอำนาจตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะพิจารณากฎหมายแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาถือเป็นสถานที่ราชการตามหลักแล้วการจะเข้าไปต้องมีการขออนุญาตก่อน ผู้ชุมนุมสามารถส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาสนช.ได้

นายสมชาย เบิกความว่า คดีทางการเมืองคือคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำความผิดทางอาญาโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง จริงอยู่ที่สนช.มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายแต่สนช.ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมด้วย   

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 16 : นายณรงค์ โชควัฒนา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

นายณรงค์ โชควัฒนา เบิกความว่า ตนทำธุรกิจส่งออกสินค้า ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสนช. ในที่ประชุม ตนคัดค้านพ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้นเพราะการนำสาธารณูปโภคไปเป็นของเอกชนทำให้ประชาชนจะได้รับความเสียหาย เพราะค่าบริการจะแพงขึ้น

นายณรงค์ กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจควรเชิญนายศิริชัย ไม้งาม มาให้ข้อมูลเพราะเป็นตัวแทนของภาครัฐวิสาหกิจ แต่กลับไม่มีการเชิญ

นายณรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่สนช.ใกล้หมดหน้าที่มีการเร่งพิจารณากฎหมายเป็นพิเศษ หลายฉบับในวันเดียว อาจทำให้ไม่รอบคอบ ควรรอให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณามากกว่า ตนจำได้ว่ามีผู้ลาออกในวันเกิดเหตุ แต่จำไม่ได้ว่าใครบ้าง

นายณรงค์ เล่าว่า วันเกิดเหตุเห็นผู้ชุมนุมนั่งอยู่ที่ห้องโถงหน้าห้องประชุมอย่างสงบ ตนเดินผ่านไปเข้าห้องประชุมโดยไม่มีใครขัดขวาง เหตุการณ์ถือว่าปกติไม่มีเรื่องใดๆ เกิดขึ้น เมื่อตอนเดินเข้าไปในอาคารรัฐสภาก็ไม่มีผู้ใดขัดขวาง

นายณรงค์ ตอบคำถามอัยการว่า สมาชิกสนช.แต่งตั้งมาจากคนหลายกลุ่ม ในวันเกิดเหตุสนช.ยังมีหน้าที่ออกกฎหมายอยู่ สมาชิกสนช.น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากประชาชนมีข้อเรียกร้องก็จะมีตัวแทนทำหนังสือมาถึงสนช. ตนไม่เห็นเหตุการณ์ที่มีการกดดันของผู้ชุมนุม

นายณรงค์ เข้าใจว่า การออกกฎหมายของสนช.ไม่ชอบเป็นเพราะทำด้วยความเร่งรีบและมีองค์ประชุมไม่ครบ 

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 17 : นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ให้การว่า ตนเป็นสมาชิกววุฒิสภา ของกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2549 และครั้งที่ 2 คือปี 2553 เหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมเรียกร้องคัดค้านการทำหน้าที่ของสนช. เป็นช่วงที่สภาดังกล่าวใกล้หมดวาระแล้ว แต่สนช.กำลังจะผ่านกฎหมายสำคัญๆ 13 ฉบับ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมุนมพยายามสื่อสารกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอกฎหมายทั้ง 13 ฉบับ แต่สนช.ไม่ยอมรับฟังคำทักท้วงของกลุ่มประชาชน ทำให้มีกลุ่มประชาชนไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือแต่ไม่สามารถเข้าไปยื่นหนังสือได้ จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา

น.ส.รสนา ให้การอีกว่า สนช.เป็นสภาชั่วคราวที่มาจัดให้ประเทศเข้าสู่ระบบในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงต้องฟังเสียงประชาชน การรีบออกกฎหมายจำนวนมาก อาจทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ตนเคยถูกเชิญให้ไปแสดงความเห็นกับกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ความเห็นของตนขัดแย้งกับสนช.จึงไม่ถูกเชิญอีก แสดงให้เห็นว่าสนช.ไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนโดยทั่วไป กฎหมายเมื่อออกมาแล้วจะยกเลิกได้ยากมาก

น.ส.รสนา ให้การต่อว่า ผู้ชุมนุมพยายามสื่อสานกับสนช.ให้ยับยั้งกฎหมายเหล่านั้นก่อน แต่ไม่ได้การตอบรับ เป็นเรื่องที่เห็นว่าขัดต่อหลักนิติธรรม แม้บุคคลเหล่านี้จะปีนเข้าไปในรัฐสภาก็สืบเนื่องมาจากรัฐสภาปิดประตูไม่ให้ประชาชนเข้าไป การปีนเข้าไปในรัฐสภานั้นไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ผู้ที่ปีนรั้วไม่มีอาวุธไปทำร้ายใคร หรือทำลายทรัพย์สินของราชการ ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ บุคคลเหล่านี้มีบทบาทต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะมาโดยตลอด และการกระทำครั้งนี้ก็ได้พยามยามปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ ตนเห็นว่าการเข้าไปของกลุ่มผู้ชุมนุนั้นมีเหตุอันสมควร

น.ส.รสนา ตอบอัยการถามค้านว่า ตั้งแต่เป็น ส.ว. มีการชุมนุมหน้ารัฐสภาหลายครั้ง ส่วนมากไม่มีการปีนรั้ว แต่มีเมื่อปี 2552 มีกลุ่ม นปช. บุกเข้ามาและยึดอาวุธของ รปภ. ตนไม่แน่ใจว่ากลุ่ม นปช.ถูกดำเนินคดีหรือไม่ และการประชุมในห้องรัฐสภาจะไม่ได้ยินเสียงจากข้างนอก แต่ถ้ามีเหตุการณ์ข้างนอกเกิดขึ้นจะมีคนมาแจ้ง ตนรู้ว่าการเข้าออกรัฐสภาต้องรับได้อนุญาต แต่การไม่อนุญาตโดยไม่มีเหตุผลก็ทำให้ปัญหาลุกลามขึ้น รัฐสภาจะอ้างระเบียบชั้นรองมากมาร้องว่าประชาชนทำผิดกฎหมายบุกรุกปิดกั้นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เมื่อมีผู้มาร้องเรียนเรื่องต่างๆ แสดงว่าบุคคลนั้นๆ ได้รับความเดือดร้อน

น.ส.รสนา เบิกความด้วยว่า สมาชิกสนช.จำนวนมากเป็นข้าราชการและทหาร ต้องทำงานประจำทำให้ไม่มีเวลามาประชุม และทำให้การออกกฎหมายมีประโยชน์ทับซ้อน สนช.อ้างว่าต้องออกกฎหมายแก้ปัญหาการทุจริต เช่น กฎหมายของปปช.,สตง. ก็กลับตกไปเพราะประชุมไม่ครบองค์ประชุม บทบัญญัติของพ.ร.บ.ความมั่นคง ตามมาตรา 23 ที่ตัดอำนาจศาลปกครองไม่ให้ตรวจสอบกฎที่อาจขัดต่อกฎหมาย หากเป็นสมัยที่มีสองสภาตามปกติมาตรานี้คงไม่ผ่าน

น.ส.รสนา เล่าว่า สนช.ออกพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานฯ เพื่อต่อสู้กับกลุ่มประชาชนที่คัดค้านการแปรรูปปตท. กฎหมายออกวันที่ 10 ธันวาคม มีผลบังคับวันที่ 11 ธันวาคม และวันที่ 14 ธันวาคม ศาลปกครองมีคำพิพากษาอ้างกฎหมายใหม่ไม่เพิกถอนการแปรรูปพลังงาน ทำให้ปตท.ผูกขาด ค่าก๊าซค่าน้ำมันจึงแพงขึ้น สนช.ยังออกกฎหมายสกัดกั้นคดีที่ประชาชนฟ้องฝ่ายบริหารจากการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

นางสาวรสนา เบิกความว่า ตนทราบว่ามีกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. 200 กว่าฉบับยังไม่ถูกเพิกถอนโดยศาลรัฐธรรมนูญและฉบับมีปัญหา เช่น พรบ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการพนักงานรัฐวิสาหกิจ กฎหมายเกี่ยวกับพลังงาน และพรบ.เกี่ยวกับความมั่นคง

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 18 : นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)

น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า วันที่ 12 ธันวาคม ตนไม่ได้ร่วมชุมนุม แต่รับรู้และเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุม ตนรู้จักจำเลยหลายคน รู้ว่าเป็นคนทำงานเพื่อสังคม การมาชุมนุมเรียกร้องถือเป็นการเมืองภาคประชาชน เป็นธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย

น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า การออกกฎหมายของสนช.ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากสนช.เป็นองค์กรที่เกิดจากการรัฐประหาร ไม่มีความชอบธรรมในการออกกฎหมาย  ตนเห็นว่าเมื่อมีการชุมนุมเรียกร้อง สนช.ต้องออกมารับฟัง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การไม่ออกมาถือเป็นการละเมิดต่อหน้าที่รัฐ

น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า จำเลยทั้งสิบต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสนช. จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิการดื้อแพ่ง  ตนเห็นว่ายังไม่ใช่การกระทำที่เกินเลย ยังอยู่ในกรอบของความสงบ ไม่ใช่การปลุกระดม ยุงยงให้ก่ออาชญากรรม  ถ้าสนช.ออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมตั้งแต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้วิธีการดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืน  ตนเห็นว่าการปีนรั้วเข้าไปเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าซึ่งเกิดขึ้นเพราะรัฐไม่เปิดโอกาสหรือไม่รับฟังความเห็นของประชาชน

น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า รัฐมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมาย ในการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน บางครั้งนโยบายและกฎหมายก็มีโอกาสละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนจึงต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายและนโยบายของรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันประโยชน์ของประชาชน

น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า ตนเห็นด้วยในเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุม ที่คัดค้านกฎหมาย 11 ฉบับ เนื่องจากกฎหมายเหล่านั้นมีปัญหาเพราะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจทางการเมืองและละเมิดต่อสิทธิของประชาชน ตนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และการแต่งตั้งสนช.โดยกลุ่มรัฐประหาร

น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ  ในสมัยที่ตนเป็นสมาชิกวุฒิสภา หากมีประชาชนเข้ามาร้องเรียนเรื่องต่างๆ จะมีตัวแทนซึ่งเป็นกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภาออกไปรับข้อร้องเรียนหรือเชิญเข้ามาแสดงความเห็น ไม่มีการห้ามปรามไม่ให้เข้ามาในรัฐสภา  สนช.มีคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมเช่นกันแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้ชุมนุมในครั้งนี้ได้ 

 

สืบพยานจำเลยปากที่ 19 : ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ เบิกความว่า ตนรับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การัฐประหารถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หากคณะผู้ก่อการกระทำไม่สำเร็จก็จะกลายเป็นกบฏ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะการกระทำที่มิชอบของผู้มีอำนาจก็มีกระบวนการยุติธรรมที่สามารถเข้ามาจัดการได้ คณะผู้ก่อการเองก็รู้ว่าการกระทำของตนผิดกฎหมาย จึงตรากฎหมายเพื่อล้างมลทินให้กับการกระทำของตน

ดร.กิตติศักดิเบิกความว่า สนช. แต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร อันเป็นองค์กรชั่วคราวมิใช่ผู้แทน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สนช. จึงสามารถพิจารณากฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้ ส่วนกฎหมายสำคัญๆที่ไม่เร่งด่วน ก็ควรต้องรอให้ผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นผู้มาทำหน้าที่พิจารณา ความชอบธรรมของสนช.จะผูกพันอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ คณะรัฐประหารประกาศยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน สนช.ที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะผู้ก่อการจึงมีพันธะผูกพันที่จะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมไปโดยปริยาย ในระยะแรก สนช.ดูจะทำงานกันอย่างแข็งขัน แต่ต่อมาการทำหน้าที่ของสนช.หลายคนเริ่มจะหย่อนยาน มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม

ดร.กิตติศักดิเบิกความว่า การที่สนช.ผ่านกฎหมายโดยมีสมาชิกเข้าร่วมการประชุมไม่ครบองค์ประชุมซึ่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งรีบออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยไม่เปิดรับฟังความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางก่อน การพิจารณาที่เป็นไปอย่างรวดเร็วขาดการมีส่วนร่วม กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาไปในทางที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำดังกล่าวของสนช. มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งทำหนังสือถึงรัฐบาลและสนช.ว่าไม่ควรเร่งรีบออกกฎหมายนี้ ตนก็ร่วมคัดค้านเช่นกัน

ดร.กิตติศักดิ์เบิกความว่า การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิโดยชอบที่รับรองไว้ในมาตรา 63และมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ 50 การชุมนุมคัดค้านการตรากฎหมายของสนช.ที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเป็นการชุมนุมที่ชอบธรรม ทำได้และเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ กล่าวคือเมื่อเห็นบุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญบุคคลย่อมมีหน้าที่ขัดขวางให้การกระทำนั้นสิ้นผลไป จำเลยคดีนี้ไม่ได้มีเจตนาจะละเมิดกฎหมาย แต่ทำไปเพื่อต้องการที่จะปกป้องกฎหมายเพราะ สนช.ประชุมพิจารณากฎหมายโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ดร.กิตติศักดิ์เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม ตนและผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือคัดค้านกันมาก่อนแล้วแต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากฝ่ายผู้มีอำนาจ ตนและผู้ชุมนุมจึงต้องออกมาคัดค้านที่บริเวณรัฐสภาเพื่อปกป้องการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและขัดขวางการยึดอำนาจโดยมิชอบอย่างซึ่งหน้า การปีนรัฐสภาจึงถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะใช้เพื่อสื่อสารปัญหาไปสู่สาธารณะ ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการบุกรุกแต่เป็นการบุกรุกเพื่อขัดขวางการกระทำและคุ้มครองสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองยิ่งกว่าคือหลักการของรัฐธรรมนูญ

ดร. กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในคดีนี้จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักว่ารัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองสิ่งใดมากกว่ากัน พื้นที่หรือกระบวนการตรากฎหมาย หากมุ่งคุ้มครองกระบวนการตรากฎหมายมากกว่า การรบกวนหรือละเมิดต่อพื้นที่เพื่อคุ้มครองกระบวนการออกกฎหมายก็จะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจะเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายย่อยเพื่อคุ้มครองกฎหมายใหญ่

ดร.กิตติศักดิ์ ตอบคำถามอัยการถามค้านว่า การที่สนช.ผ่านกฎหมายโดยมีสมาชิกเข้าร่วมการประชุมไม่ครบองค์ประชุมสามารถดูข้อมูลดังกล่าวได้จากบันทึกการลงมติ ในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่ามีสมาชิกสนช.มาประชุมครบองค์หรือไม่ และไม่ทราบด้วยว่าในวันเกิดเหตุมีการชุมนุม แต่การชุมนุมไม่ได้มาเพื่อคัดค้านการกระทำในวันดังกล่าวเพียงอย่างเดียว ความไม่ชอบที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณากฎหมายจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้มาชุมนุมคัดค้านเป็นประเด็นสาธารณะ 

ดร.กิตติศักดิ์ ตอบคำถามอัยการถามค้านว่า ระหว่างการพิจารณา ประชาชนไม่มีอำนาจที่จะคัดค้านในทางกฎหมาย จะคัดค้านได้ต่อเมื่อร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบมีผลบังคับใช้แล้วไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วการชุมนุมสาธารณะมักจะกระทบกฎหมายบ้านเมืองอยู่บ้าง แต่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหากจุดประสงค์ของการชุมนุมเป็นไปเพื่อพิทักษ์สิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองยิ่งกว่าและกระทบกระเทือนกฎหมายอื่นในสัดส่วนที่เข้าใจได้

ดร.กิตติศักดิ์เบิกความว่า การส่งเสียงดังของผู้ชุมนุมไม่ถือเป็นการรบกวนการประชุมของสนช. เพราะตนเคยเข้าไปร่วมประชุมในห้องประชุมรัฐสภา ห้องประชุมเป็นห้องเก็บเสียงหากปิดประตูจะไม่มีเสียงเล็ดลอดเข้ามา หรือถ้าเข้ามาได้ก็จะเบามากและไม่สามารถจะรบกวนการประชุมได้ การปิดกั้นขัดขวางไม่ให้สมาชิกสนช.เข้าประชุม เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการประท้วง ไม่ถือว่ามีเจตนาละเมิดกฎหมาย แต่อาจถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุได้

หมายเลขคดีดำ

อ.4383/2553

ศาล

ศาลฎีกา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดูในบทความ เรื่อง จาก “ชุมนุม” สู่ “มั่วสุม- ก่อความวุ่นวาย-ใช้กำลังประทุษร้าย”

ดูคำพิพากษาศาลอาญา คดีปีนสภา สนช. ฉบับเต็มได้ที่

ขณะศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา สุภิญญา กลางณรงค์ จำเลยที่ 10 ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.กสทช. มาตรา 7 ข. ระบุ คุณสมบัติของกรรมการ กสทช. ว่า "ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดใด เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท" หลังสุภิญญาถูกคำพิพากษาว่า มีความผิดในคดีนี้ จึงทำให้เธอต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว

 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

12 ธันวาคม 2550

เวลาประมาณ 7.00 น. องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน6 องค์กร ประกอบด้วยคณะกรรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่ายพันธมิตรองค์กรประชาชน กว่า 500 คน นำโดย นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานกป.อพช. ปักหลักชุมนุมกันอยู่หน้าบริเวณรัฐสภา โดยประจายกำลังกันเป็นสามส่วนไปปิดล้อม 3 ประตูและนำโซ่ไปคล้องประตูเข้าออกของรัฐสภา เพื่อไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าประชม และกดดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยุติบทบาทในการพิจารณากฎหมายหลายฉบับเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จุดยืนในการชุมนุม คือ จะกดดันจนกว่าที่ประชุม สนช.จะยุติการพิจารณากฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางสนช. ได้แก้ไขโดยให้สนช.และเจ้าหน้าที่รัฐสภาเดินเข้าประตูทางพระที่นั่งวิมารเมฆแทน 
 
เวลาประมาณ 11.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุม ประมาณ 100 คนรวมทั้งแกนนำ ปีนบันไดข้ามเข้าไปในบริเวณรัฐสภา และพากันวิ่งกรูขึ้นไปยังชั้น 2 ของอาคารรัฐสภา ไปยังปากทางเข้าห้องประชุมซึ่งขณะนั้น สนช. กำลังประชุมกันอยู่ โดยตลอดทางได้ตะโกนขับไล่สนช. รวมทั้งประกาศว่า "ประชาชนยึดสภาแล้ว" หลังจากผู้ชุมนุมมานั่งปิดล้อมอยู่หน้าทางเข้าห้องประชุม นายจอน อึ๊งภากรณ์ได้แถลงข่าวว่า ภาคประชาชนประสบความสำเร็จในการยุติการพิจารณากฎหมายของสนช.แล้ว 
 
เวลาประมาณ 12.30 พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง เดินทางเมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ภายในอาคารรัฐสภา เพื่อสอบถามถึงท่าทีและข้อเรียกร้อง ก่อนจะนำไปหารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก่อนจะเดินกลับมาพบกับผู้ชุมนุมและแจ้งว่านายมีชัย จะยุติการประชุมในวันนี้ นายไพโรจน์ พลเพชรเสรอให้นายมีชัยแถลงข่าวอย่างเป็นทางการก่อน 
 
เวลาประมาณ 13.15 นายมีชัย ฤชุพันธู์ แถลงข่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้สนช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภา ดังนั้นสนช.ไม่มีทางเลือกต้องทำหน้าที่ต่อไป แต่วันนี้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในรัฐสภา ถือว่าน่าเสียใจที่ไม่ได้ใช้กลไกในระบบประชาธิปไตยมาพูดคุยกัน จึงยืนยันว่าวันนี้จะไม่มีการประชุมขอให้ทุกคนกลับบ้านได้
 
หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงตั้งแถวกันเดินออกจากบริเวณอาคารรัฐสภา โดนกลุ่มผู้ชุมนุมต่างโห่ร้องแสดงความดีใจ นายจอน อึ๊งภากรณ์ เปิดแถลงข่าวบนเวทีประกาศชัยชนะของภาคประชาชน และยืนยันว่าหากสนช.ยังคงจะประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายต่อ ก็จะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อกดดันให้สนช.ลาออก จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุมในเวลาประมาณ 14.00 น.
 
 
22 มกราคม 2551
 
จำเลยทั้ง 10 คนเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
 
แกนนำกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีพร้อมด้วยคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาเครือข่ายองค์กรณ์ประชาชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินคดีเอาผิดกับ 10 แกนนำที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนจากเหตุการณ์การชุมนุมปืนรั้วบุกเข้าไปในในอาคารรัฐสภา โดยระบุว่าการออกหมายเรียกและดำเนินคดีกล่าวโทษของตำรวจนครบาลต่อบุคคลทั้ง 10 คน นั้นไม่มีความชอบธรรมทั้งที่ทั้งหมดเสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองออกหมายเรียกแจ้งข้อหาฉกรรจ์ ทั้งที่เป็นการชุมนุมที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพยายามหยุดยั้งไม่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรมต่อความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น แกนนำทั้ง 10 คนไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจึงไม่จำเป็นต้องรับโทษ
 
 
18 มีนาคม 2551 
 
พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 821 หน้า แผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ จำนวน 9 แผ่น พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องยื่นต่ออัยการ
 
 
30 ธันวาคม 2553
 
นายธงชัย รุ่งเจริญวิวัฒนา พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 
 
ในวันเดียวกันนี้ จำเลยทั้ง 10 คน ได้นัดหมายมาพร้อมกันที่ศาลอาญาตั้งแต่เมื่อเวลา 9.00 น.เพื่อยื่นขอประกันตัวต่อศาล โดยมีญาติ และผู้มาให้กำลังใจกว่า 30 คน ในจำนวนนี้มีนางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาให้กำลังใจและเตรียมพร้อมมาเป็นนายประกันด้วย
 
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.) หนึ่งในทีมทนายฝ่ายจำเลย ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การจำเลยแล้ว จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 54 เวลา 09.00 น.
 
21 กุมภาพันธ์ 2555
เริ่มต้นการสืบพยานโจทก์ รวม 24 ปาก ประกอบด้วย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าหน้าที่วุฒิสภา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ กำหนดนัดสืบพยานโจทก์มีตั้งแต่วันที่ 21-24, 28-29 กุมภาพันธ์ และ 1-2, 13-16 มีนาคม 2555 แต่เนื่องจากกระบวนการสืบพยานใช้เวลานาน จึงเพิ่มวันนัดเป็นวันที่ 22 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2556 (เว้นวันจันทร์)
 
19 กุมภาพันธ์ 2556
เริ่มต้นการสืบพยานจำเลย รวม 24 ปาก ประกอบด้วย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สื่อมวลชนในเหตุการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนักสันติวิธี ทั้งนี้ กำหนดนัดสืบพยานจำเลยมีตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึง 14 มีนาคม 2556 (เว้นวันจันทร์)
 
28 กุมภาพันธ์ 2556
ศาลยกเลิกการสืบพยานจำเลยทั้งภาคเช้าและบ่าย
 
22 มีนาคม 2556
ทนายความจำเลยยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี มีใจความสรุปได้ดังนี้
 
จำเลยทั้งสิบมีเจตนามุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกกระทบกระเทือนจากร่างกฎหมายที่จะผ่านการพิจารณาของสถานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร่งรีบและปราศจากความรอบคอบ มิได้มีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอาคารรัฐสภาหรือสร้างความวุ่นวาย เหตุที่ต้องเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา เพราะในวันดังกล่าวไม่มีตัวแทนสนช. ออกมารับข้อเรียกร้อง ซึ่งแตกต่างไปจากการทำหน้าที่ของรัฐสภาตามปกติ ที่จะมีการเชิญประชาชนมาร่วมพูดคุยหากมีประชาชนมาร้องเรียนหรือมาเสนอความเห็น 
 
เหตุของคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมอยู่ในภาวะไม่ปกติ เนื่องจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง มีการแต่งตั้งสถานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทำหน้าที่แทนสองสภา อันกระทบกระเทือนต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและการออกกฎหมาย 
 
สนช. ไม่ได้มาการเลือกตั้งของประชาชน สมาชิกส่วนหนึ่งเป็นทหารหรือข้าราชการ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน และองค์ประชุมก็ไม่ครบ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์การออกกฎหมายการจัดสรรทรัพยากรป่าไม้ ผ่านการพิจารณาออกมาได้ทั้งที่ไม่ครบองค์ประชุม สนช. กระทำอย่างเร่งรีบ เร่งออกกฎหมาย 11 ฉบับ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน อันการกระทำที่ปราศจากความรอบคอบ และอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่ม เมื่อ สนช. กระทำการอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่จะคัดค้าน
 
การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพื่อป้องกันต่อผลอันกระทบเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสิบเชื่อว่าเป็นสิทธิที่ตนสามารถทำได้โดยสุจริต และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องทำหน้าที่ยับยั้งการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย การเข้าไปในอาคารรัฐสภาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หน่วยงานของรัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ดังนั้น ในการที่ศาลจะพิจารณาการกระทำของจำเลยในคดีนี้ จึงไม่อาจพิจารณาอย่างแยกส่วนโดยละเลยไม่มองบริบทสังคมในขณะนั้นได้
 
หลังจากที่ผู้ชุมนุมเข้าไปในห้องโถงอาคารรัฐสภาแล้ว ก็มิได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะเข้าไปยังห้องประชุมเพื่อขัดขวางการประชุมของ สนช. แต่อย่างใด ทั้งนี้การกระทำของจำเลยมิได้รบกวนการทำงานของ สนช.  สนช.ยังสามาถดำเนินการประชุมต่อไปได้ เนื่องจากเป็นห้องเก็บเสียง และจำเลยก็นั่งอยู่จนกระทั่งตัวแทนของ สนช. ออกมาเจรจาและรับข้อเรียกร้อง อันแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปเพื่อคุ้มครองกระบวนการขั้นตอนในการตรากฎหมาย ตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบกฎหมายหรือสร้างแบบอย่างในการละเมิดกฎหมาย แต่กลับเป็นการพัฒนาขั้นตอนการพิจารณากฎหมายอันเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว
 
เกี่ยวกับการใช้กำลังประทุษร้าย มีผู้มาเบิกความต่อศาลว่าถูกผู้ชุมนุมทำร้าย แต่ทั้งนี้จะพบว่ามีความขัดแย้งกับภาพบันทึกจากล้องวงจรปิดที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมทำร้ายผู้ใด ทั้งนี้จำเลยก็ไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือแสดงท่าทีข่มขู่ และไม่มีท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐภาและเจ้าที่ตำรวจ
 
ไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำยั่วยุ และก็ไม่ปรากฏสิ่งใดบ่งบอกว่าจะมีการวางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ หรือการกระทำในลักษณะการสั่งการภายในกลุ่ม ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยคนใดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้สั่งการให้ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภา โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าการปีนของผู้ชุมนุมเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบ
 
การกระทำของจำเลยทั้งสิบไม่เข้าองค์ประกอบการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมาย เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและจำเลยทั้งสิบถือเป็นหน้าที่พลเมืองที่มุ่งรักษาประโยชน์สาธารณะ หาได้มีเถยจิตเป็ยอาชญากรไม่ ขอศาลได้โปรดพิจารณายกฟ้องเพื่อปกป้องและดำรงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
 
 
28 มีนาคม 2556
ศาลอ่านคำพิพากษาว่าจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด และแปด มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215วรรคสาม จำเลยที่ห้า หก เก้า สิบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคหนึ่ง จำเลยที่หนึ่งถึงหก และแปดถึงสิบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 364 365 ให้ลงโทษจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด แปด ฐานกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 215 วรรคสาม จำคุกสองปี ปรับ9,000บาท จำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ ฐานกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 365 (1) และ (2) จำคุกหนึ่งปี ปรับ 9,000 บาท
 
เนื่องจากจำเลยทั้งสิบให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด และแปด เหลือโทษจำคุกหนึ่งปี สี่เดือน ปรับ6,000บาท จำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ เหลือโทษจำคุกแปดเดือน ปรับ6,000บาท
 
เนื่องจากไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ จึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลาสองปี
 
26 พฤศจิกายน 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
 
จำเลยทั้งสิบมาศาล ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสิบคน 
 
6 มีนาคม 2558
 
จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในจำเลยแจ้งว่า อัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว 

15 มีนาคม 2560

ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยทั้งสิบมาศาลพร้อมทนายความ อัยการมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย 3 คน และมีผู้สังเกตการณ์และนักข่าวมาร่วมฟังคำพิพากษากว่า 50 คน จนต้องยืนเต็มห้องพิจารณาคดีที่ 710 

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และเห็นด้วยกับคำพิพากษาศษลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1-4, 7, 8 มีความผิดฐานเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 วรรค 3 จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 มีความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 วรรค 1 จำเลยที่ 1-6, 8-10 มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 365 (1) (2) ด้วย อันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสิบไม่เคยต้องโทษมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงอายุ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา แล้ว เห็นว่า พฤติกรรมและการกระทำยังไม่ร้ายแรงนัก จึงเห็นสมควรรอการกำหนดโทษจำเลยทั้งสิบไว้ 2 ปี
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2549 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายเฉกเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก วันที่ 11 ตุลาคม 2549 มีการแต่งตั้งสมาชิกสนช. วันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญระบุให้สนช.ทำหน้าที่เสมือนสมาชิกรัฐสภาไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก

วันที่ 12 ธันวาคม 2550 มีกลุ่มบุคคลประมาณ 500 ภายใต้ชื่อคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มาชุมนุมคัดค้านการพิจารณากฎหมาย สิบเอ็ดฉบับที่บริเวณหน้ารัฐสภา โดยใช้รถหกล้อติดเครื่องเสียงเป็นเวทีปราศรัยและมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ สลับกันขึ้นปราศรัย โดยมีจำเลยที่เจ็ดเป็นผู้ดำเนินรายการทำหน้าที่เชิญตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ขึ้นมากล่าวปราศรัยชี้แจง มีจำเลยที่หนึ่งถึงห้า เก้า และสิบ ขึ้นพูดปราศรัย เวลา11.00 น.เศษมีการนำบันไดไม้ไผ่มาพาด และนำเหล็กมาครอบปลายแหลมของรั้ว ผู้ชุมนุมปีนข้ามไปประมาณหนึ่งร้อยคนเศษ โดยจำเลยที่หนึ่งถึงหก และแปดถึงสิบก็ปีนข้ามไปด้วย ผู้ชุมนุมผลักประตูกระจกเพื่อเข้าไปในโถงอาคารรัฐสภา จำเลยที่หนึ่งถึงหกและแปดถึงเก้า เข้าไปอยู่ในห้องโถงด้วย ส่วนจำเลยที่สิบไม่ได้เข้าไป จำเลยที่สี่พูดโทรโข่งคำว่า “สนช.” และผู้ชุมนุมกล่าวคำว่า “ออกไป” สลับกันไปหลายครั้ง ต่อมาพลตำรวจโท อัศวิน ขวัญเมืองเข้ามาเจรจากับจำเลยที่หนึ่งและแปด หลังจากนั้นนายมีชัย ฤชุพันธุ์จึงประกาศยุติการประชุม       

ศาลพิเคราะห์ว่า ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสิบมาร่วมชุมนุม มีคนขึ้นปราศรัยบนเวที มีคำปราศรัยว่าสนช.ได้ปิดตัวลงเรียบร้อย มีผู้ชุมนุมถือป้ายเขียนว่า ปิดสนช.โดยสันติ แม้การใช้คำพูดของผู้ชุมนุมจะกระทบต่อสนช.โดยตรง แต่ก็ถือเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีพยานโจทก์ปากใดสามารถยืนยันได้ว่า จำเลยพูดยุยงหรือสั่งการให้ผู้ชุมนุมปีน แม้ปรากฏว่าจำเลยที่เจ็ด ประกาศว่า “เจ้าหน้าที่เชิญคนไทยเจ้าของสภาผู้เสียภาษีเข้าไปเยี่ยมชมการทำงาน "ก็เป็นการพูดหลังจากที่ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปแล้ว จึงไม่ใช่สาเหตุโดยตรง โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยทั้งสิบเกี่ยวข้องกับการตระเตรียมบันไดไม่ไผ่และเหล็กครอบ การปีนรั้วรัฐสภาเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตามความเห็นส่วนตัวของผู้ชุมนุมแต่ละคนเท่านั้น ดังทีเห็นว่าผู้ชุมนุมบางคนก็ไม่ได้ปีนเข้าไป จำเลยทั้งสิบไม่มีความผิดในข้อหาดังกล่าว

ในความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้ามีหน้าที่สั่งการ และความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 215 วรรค 3 และมาตรา365 (1)(2) หลักฐานที่โจทก์นำมาแสดงมีภาพถ่ายที่ผู้ชุมนุมนำโซ่ไปคล้องประตู มีภาพผู้ชุมนุมวิ่งมาที่ประตูกระจกและผลักดันประตูกระจก ยื้อกับเจ้าหน้าที่ โจทก์มีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภา อยู่ในจุดเกิดเหตุมาเบิกความ คำเบิกความของพยานโจทก์สอดคล้องต้องกันมีเหตุผล และสอดคล้องกับภาพที่ปรากฏ เชื่อว่าเป็นความจริง 

แม้การชุมนุมจะเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 แต่การใช้เสรีภาพก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดที่ผู้ชุมนุมจะกระทำการใดๆ ก็ได้ โดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ผู้ชุมนุมต้องอยู่ในความสงบ โดยเฉพาะบริเวณรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ราชการ เป็นสถานที่ออกกฎหมาย เป็นทำการของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยอันควรให้ความเคารพ แม้ไม่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงแต่การปีน การผลักดัน และการเข้าไปนั่งเต็มบริเวณโถงหน้าห้องประชุม เห็นได้ชัดเจนว่าเกิดความวุ่นวายแล้ว การผลักประตูกระจกเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว 

การเข้าสถานที่ราชการอย่างรัฐสภา ต้องได้รับอนุญาต และมีการแลกบัตร ติดบัตรอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสิบเป็นการละเมิดสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตอนแรกการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ แต่หลังจากมีเหตุชุลมุนวุ่นวายก็ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น จำเลยทั้งสิบเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมจึงมีความผิดฐานมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา215

จำเลยที่หนึ่ง รับว่าตัวเองเป็นผู้นำ ขึ้นกล่าวปราศรัย บอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลง แถลงข่าว เป็นตัวแทนการเจรจา และขึ้นประกาศชัยชนะ 

จำเลยที่สอง ใช้โทรโข่งพูดคำว่า “สนช.” และผู้ชุมนุมรับว่า “ออกไป” ร่วมแถลงข่าว และปราศรัยบนเวทีอย่างยาวนาน

จำเลยที่สาม ขึ้นเวทีปราศรัย มีคนขอให้เข้าไปช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยของผู้ชุมนุม เป็นผู้พูดขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลง และร่วมประกาศชัยชนะ

จำเลยที่สี่ พูดด้วยโทรโข่ง พูดโทรโข่งให้ผู้ชุมนุมตั้งแถวเดินออก 

จำเลยที่เจ็ด ปราศรัยชี้แจงวัตถุประสงค์ของการชุมนุม เป็นผู้ดำเนินรายการเชิญคนขึ้นกล่าวปราศรัย หากไม่มีผู้ใดมาปราศรัยก็จะพาผู้ชุมนุมร้องเพลงหรือทำกิจกรรม

จำเลยที่แปด เป็นผู้บอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลง เป็นตัวแทนในการเจรจา ร่วมในการแถลงข่าว

แม้จำเลยทั้งสิบจะต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นแกนนำ แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด และแปด มีบทบาทมากกว่าผู้ชุมนุมทั่วไป รับฟังได้ว่า เป็นผู้กระทำเป็นหัวหน้า มีหน้าที่สั่งการ ตามมาตรา 215 วรรค 3 และการปีนเข้าไป และไปนั่งบริเวณโถงรัฐสภาย่อมถือได้ว่ามีเจตนาร่วมกับผู้ชุมนุมไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 362 364 เมื่อปรากฏว่ามีการใช้กำลังผลักดัน ผู้ชุมนุมที่ปีนรั้วเข้าไปมีจำนวนมากว่า 100 คน จึงเป็นการบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดเกินกว่า 2 คนขึ้นไป 

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเป็นต้องเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องในรัฐสภา ซึ่งพยายามทุกวิถีทางแล้ว และหากปล่อยให้กฎหมายผ่านจะกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ศาลพิเคราะห์ว่า ในการพิจารณาออกกฎหมายแต่ละฉบับ ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพียงแค่การมาชุมนุมแสดงจุดยืนให้เป็นที่ประจักษ์ก็น่าจะเพียงพอให้สนช.และสาธารณชนรับรู้ข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว แต่จะเห็นด้วยหรือไม่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกสนช.ที่จะละเมิดมิได้ การใช้สิทธิของผู้ชุมนุมต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วยเช่นกัน การมาชุมนุมหน้ารัฐสภาก็เพียงพอแล้ว ไม่มีเหตุต้องเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องหน้าห้องประชุม การปีนรั้วเข้าไปเพื่อให้สนช.ยอมตามความเห็นของตนให้จงได้ เป็นการใช้สิทธิเกินเลยกว่าเสรีภาพในการชุมนุม 

ไม่ปรากฏเหตุการกระทำใดที่ส่อว่าสนช.จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากจำเลยเห็นว่าสนช.กระทำการดังกล่าว ก็ต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่ใช่กระทำโดยใช้กำลังและมวลชนโดยพละการ ที่จำเลยกล่าวอ้างถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสนช.อันไม่ชอบธรรม ศาลเห็นว่าช่วงเวลาเกิดเหตุยังไม่มีการเลือกตั้ง และบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สนช.มีอำนาจพิจารณากฎหมายต่อไป ส่วนปัญหาอื่นๆ เช่น มีความชอบธรรมหรือไม่ ครบองค์ประชุมหรือไม่ มีศาลรัฐธรรมนูญมีทำหน้าที่พิจารณาประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การออกกฎหมายหลายฉบับของสนช.เป็นโมฆะเพราะไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องเข้าไปในรัฐสภา ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันสมควร จำเลยทั้งสิบจึงมีความผิด 

จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด และแปด มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215วรรคสาม จำเลยที่ห้า หก เก้า สิบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคหนึ่ง จำเลยที่หนึ่งถึงหก และแปดถึงสิบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 364 365 ให้ลงโทษจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด แปด ฐานกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 215 วรรคสาม จำคุกสองปี ปรับ9,000บาท จำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ ฐานกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 365 (1) และ (2) จำคุกหนึ่งปี ปรับ9,000บาท

เนื่องจากจำเลยทั้งสิบให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ด และแปด เหลือโทษจำคุกหนึ่งปี สี่เดือน ปรับ6,000บาท จำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ เหลือโทษจำคุกแปดเดือน ปรับ6,000บาท

เนื่องจากไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ จึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลาสองปี

 

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มีการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาออกกฎหมาย โดยก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังคงประชุมเพื่อออกกฎหมายอยู่ จำเลยทั้งสิบและประชาชนจึงชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงเจตนาว่าไม่เห็นด้วยกับการเร่งพิจารณากฎหมาย ควรให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา และเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยับยั้งการพิจารณากฎหมาย 11 ฉบับ ทั้งนี้ การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ จึงอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ

ต่อมามีเหตุบานปลายเนื่องจากมีการปิดประตูรัฐสภา ไม่ให้ประชาชนเข้าไปแสดงออกได้ เมื่อการแสดงออกถูกปิดกั้น ผู้ชุมนุมบางส่วนปีนรั้วเข้าด้านในและนั่งอยู่บริเวณโถงหน้าห้องประชุม ขณะที่บางส่วนยังอยู่ด้านนอก หลัง พล.ต.ท.อัศวินมาเจรจาและรับข้อคัดค้านของประชาชนไปเสนอผู้เกี่ยวข้อง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้สั่งยุติการประชุม จากนั้นผู้ชุมนุมก็ออกจากอาคารรัฐสภาอย่างเป็นระเบียบ และไม่ปรากฏว่ารัฐสภาได้รับความเสียหาย

ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ศาลพิเคราะห์ว่า ความผิดฐานนี้ผู้กระทำต้องมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่มูลเหตุจูงใจในการชุมนุมครั้งนี้ก็เพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าไม่ควรเร่งออกกฎหมายที่สำคัญและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสิบจึงขาดเจตนาที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงไม่ถือเป็นความผิด

และเมื่อพิจารณาว่าจำเลยทั้งสิบไม่มีเจตนาจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว ประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสิบเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้สั่งการหรือไม่  จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีก

ส่วนความผิดฐานบุกรุก ศาลพิเคราะห์ว่า การเข้าไปในอาคารรัฐสภาของจำเลยเป็นการเข้าไปเพื่อเสนอข้อเรียกร้องซึ่งถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้การเข้าไปในอาคารรัฐสภาจะไม่เป็นไปตามระเบียบการรักษาความปลอดภัย แต่ก็ไม่ใช่การเข้าไปเพื่อถือการครอบครอง หรือรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของรัฐสภาโดยปกติสุข เพราะเจ้าหน้าที่และสมาชิกรัฐสภายังสามารถทำงานได้ตามปกติ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาขับไล่ให้ผู้ชุมนุมออกจากอาคารรัฐสภา แต่เมื่อการประชุมยุติผู้ชุมนุมก็เดินออกมาเอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

 

สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา

ประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า การยื่นฎีกาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคนที่นำคำฎีกามายื่นต่อศาลและมาขอขยายระยะเวลาไม่ใช่อัยการโจทก์ในคดีนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้เรียงผู้พิมพ์เอกสารจะไม่ใช่คนเดียวกับที่ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาลฎีกา ก็ยังฟังไม่ได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่โจทก์ เพราะเมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีนี้ ย่อมไม่ได้หมายถึงอัยการคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ โจทก์คดีนี้ยื่นฎีกาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้
 
ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยมีความผิด โดยศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยทั้งสิบกับผู้ชุมนุมรวมตัวกันตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเจตนาชุมนุมไม่ให้สนช.ผ่านร่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วย มีการปราศรัยปลุกเร้าให้ประชาชนเข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภา และเมื่อเจ้าหน้าที่ปิดประตูทางเข้า ผู้ชุมนุมก็เอาเหล็กมาครอบรั้วและใช้บันไดปีนข้ามไป แสดงให้เห็นว่า มีการเตรียมการจะเข้าไปในอาคารรัฐสภาแต่ต้น 
 
เมื่อเข้าไปในอาคารรัฐสภาแล้ว พยานโจทก์เบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งมาที่ประตูกระจก พยายามยื้อกับเจ้าหน้าที่รัฐสภา เพื่อผลักประตูกระจกเข้าไปข้างใน แม้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 63 จะรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นตามมาตรา 28 วรรค 1 ด้วย การที่ผู้ชุมนุมใช้โซ่คล้องประตูรัฐสภา ล็อกกุญแจ และใช้บันไดพาดปีนเข้ามา เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเข้าไปในอาคารรัฐสภา เมื่อมีผู้ปีนเข้าไปก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ห้ามปรามผู้ชุมนุม แต่ก็ปีนตามเข้าไปในห้องโถงด้วย ถือได้ว่า จำเลยมีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีเหตุอันสมควร
 
การแสดงออกซึ่งจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย สามารถทำได้โดยไม่ต้องเข้าไปในอาคารรัฐสภา การกระทำของจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า จะทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 215 และเมื่อมีการใช้กำลัง มีเจ้าหน้าที่เบิกความว่าถูกถีบ จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย มีความผิดตามมาตรา 365 (1) (2) 
 
ปัญหาว่า จำเลยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการหรือไม่ พบว่า จำเลยที่ 1 รับผิดชอบจัดหาคนมาพูดบนเวที เมื่อมีผู้ชุมนุมปีนรั่วเข้าไป จำเลยที่ 1 รู้สึกเป็นห่วงจึงปีนตามเข้าไปดูแล, จำเลยที่ 8 เป็นผู้บอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลงและอยู่ในวงเจรจา เป็นคนยื่นเอกสารข้อเรียกร้องให้ พ.ต.ต.อัศวิน ขวัญเมือง, จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า "สนช. ออกไป" เมื่อออกมาด้านนอกแล้วเป็นผู้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว, จำเลยที่ 3 มีตัวแทนผู้ชุมนุมมาขอร้องให้ไปควบคุมผู้ชุมนุมให้สงบเรียบร้อย เมื่อออกมานอกรัฐสภา จำเลยที่ 2 ก็ขึ้นเวทีแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบ, จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้โทรโข่งบอกให้ผู้ชุมนุมเดินออกอย่างเป็นระเบียบ, จำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการปราศรัย ศาลจึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1-4, 7 และ 8 เป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามมาตรา 215 วรรค 3 
 
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1-4, 7, 8 มีความผิดฐานเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 วรรค 3 จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 มีความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 วรรค 1 จำเลยที่ 1-6, 8-10 มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 365 (1) (2) ด้วยอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท 
 
ศาลฎีกาพิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสิบ มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสิบไม่เคยต้องโทษมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงอายุ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา แล้ว เห็นว่า พฤติกรรมและการกระทำยังไม่ร้ายแรงนัก จึงเห็นสมควรรอการกำหนดโทษจำเลยทั้งสิบไว้ 2 ปี

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา