ยุทธภูมิ: พี่ฟ้องน้อง

อัปเดตล่าสุด: 15/05/2563

ผู้ต้องหา

ยุทธภูมิ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2555

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พี่ชายของนายยุทธภูมิ เป็นผู้พบเห็นการกระทำและเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวนพร้อมด้วยหลักฐาน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

ยุทธภูมิ ถูกกล่าวหาว่าพูดถ้อยคำหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขณะดูโทรทัศน์ในบ้าน และเขียนถ้อยคำหมิ่นฯลงบนแผ่นซีดีและแสดงต่อบุคคลที่สาม โดยคนที่กล่าวหาดำเนินคดีกับเขาเป็นพี่ชายที่อยู่บ้านเดียวกัน แต่มีจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน

ยุทธภูมิ เข้ามอบตัวต่อตำรวจเอง และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เพราะประจักษ์พยานโจทก์ เบิกความแตกต่างกับที่ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ถือเป็นข้อพิรุธและไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง ลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งก็เป็นได้  

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ยุทธภูมิ อายุ 35 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2552 จำเลยพูดคำหยาบคายขณะกำลังดูโทรทัศน์ซึ่งมีภาพข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนรถเข็น หลังจากนั้นประมาณ 5 วัน จำเลยใช้ปากกาเมจิกเขียนลงบนแผ่นซีดี “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว เนวินขอทักษิณ” ด้วยถ้อยคำหยาบคาย พี่ชายเห็นว่า คำเหล่านั้นเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง เหยียดหยามต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงฟ้องคดี

พฤติการณ์การจับกุม

จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การปฏิเสธ จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ประเด็นที่โจทก์นำสืบ

1.จำเลยเป็นคนเขียนคำหยาบคายลงบนแผ่นซีดี "หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว เนวินขอทักษิณ" โดยนายธนะวัฒน์ เห็นว่าจำเลยเป็นคนเขียน และจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ลายมือระบุว่า ลายที่อยู่บนแผ่นซีดี กับลายมือของจำเลย เป็นลายมือของคนคนเดียวกัน

2.ลายมือที่ปรากฏบนแผ่นซีดีของกลางกับตัวอย่างลายมือแบบหวัดของจำเลยมีคุณสมบัติการเขียน ได้แก่ ลายเส้น สัดส่วนตัวอักษร ช่องไฟ ที่เหมือนกัน จึงบ่งชี้ได้ว่าลายมือบนแผ่นซีดีของกลางกับลายมือของจำเลยเป็นลายมือของคนเดียวกัน

3.จำเลยมีความเห็นทางการเมืองฝักใฝ่ไปทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งยังเคยไปร่วมชุมนุมและมีของที่ระลึกจากที่ชุมนุมกลับบ้านมาด้วย


ประเด็นที่จำเลยนำสืบ
1.นายธนะวัฒน์มีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน โดยมีสาเหตุจากชีวิตส่วนตัวและเรื่องธุรกิจที่ทำร่วมกัน นายธนะวัฒน์ยังได้เบิกความว่า ถ้าไม่มีเรื่องทะเลาะกัน เขาก็ไม่คิดแจ้งความดำเนินคดีน้องชายตัวเอง ทั้งยังเคยพูดให้คนรอบข้างได้ยินว่า จำเลยเป็นคนไม่ดี ต้องเอาเข้าคุกให้ได้

2.จำเลยไม่ได้พูดและเขียนคำหยาบคายลงแผ่นซีดี เพราะจำเลยจงรักภักดีและเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งจำเลยก็ไม่ค่อยพูดคุยกับนายธนะวัฒน์นัก เพราะไม่ลงรอยกันมานาน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกันและพูดคุยกันเรื่องการเมือง

3.ในการเเขียนตัวอย่างลายมือครั้งที่สอง ซึ่งเป็นลายมือแบบหวัดของจำเลย พนักงานสอบสวนได้นำแผ่นซีดีของกลางให้จำเลยดูระหว่างเขียน และบอกให้เขียนให้เหมือน

4.จำเลยไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองฝักใฝ่ไปทางกลุ่มคนเสื้อแดง เคยไปที่ชุมนุมเพียงเพื่อซื้อของที่ระลึกมาแจกลูกค้าเท่านั้น


บันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับย่อ

การสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 นายธนะวัฒน์ ม. พี่ชายของจำเลย ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 

นายธนะวัฒน์ ม. อายุ 37 ปี อาชีพค้าขาย เป็นพี่ชายของจำเลย เป็นผู้แจ้งความจำเลยที่กองบังคับการปราบปราม (กองปราบฯ) ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2552
นายธนะวัฒน์ร่วมกับจำเลยทำธุรกิจผลิตและขายส่งน้ำยาล้างรถ อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านที่มีคน 6 คน คือ นายธนะวัฒน์  จำเลย ภรรยาของจำเลย อดีตภรรยาของตน นายสมปองซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง และแม่ยายของตน

นายธนะวัฒน์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 น. เขาและจำเลยโต้เถียงกันเรื่องการชุมนุม ซึ่งขณะนั้นมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่วัดไผ่เขียว ระหว่างที่โต้เถียงกันก็เปิดโทรทัศน์ไปด้วย ซึ่งขณะนั้นเป็นรายการข่าวทั่วไป ไม่ใช่ช่องทีวีการเมือง โดยเปิดไว้อย่างไม่ตั้งใจดู ในโทรทัศน์ปรากฏภาพในหลวงทรงประทับบนรถเข็น มีข่าวว่าท่านทรงไม่สบาย พยานเบิกความว่าจำเลยบ่นขึ้นมาประมาณว่า “xxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxx” (พยานกล่าวต่อมาว่าเป็นคำสาปแช่ง

อัยการกล่าวว่า พยานพูดทำนอง “ประมาณว่า” ไม่ได้ ให้ยืนยันให้ชัดเจนว่าจำเลยพูดว่าอย่างไร นายธนะวัฒน์จึงยืนยันว่าจำเลยพูดว่า “xxxxxxxxxx” ซึ่งขณะที่นายยุทธภูมิพูด นายธนะวัฒน์ยืนอยู่ห่างออกไปประมาณ ห้าเมตร พยานเบิกความว่าขณะพูดจำเลยมองภาพในหลวงในโทรทัศน์ ขณะเกิดเหตุ มีพยาน จำเลย และนายสมปองอยู่ที่บ้าน แต่นายสมปองอยู่ในห้องชั้นบนของบ้านไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อได้ยินจำเลยพูดแล้วก็รู้สึกไม่ดี ไม่พอใจ แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร ตอนนั้นยังไม่คิดไปแจ้งความเพราะอย่างไรก็สายเลือดเดียวกัน พยานตักเตือนจำเลยไปว่าการพูดแบบนี้ไม่ดี จากนั้นก็ไม่ได้มีปากเสียงกันเรื่องนี้อีก พยานไม่ได้ไปแจ้งความและไม่คิดจะไปแจ้งความ

หลังวันเกิดเหตุ พยานและจำเลยไม่ได้ถกเถียงกันเรื่องการเมืองและสถาบันฯ อีก มีแต่ทะเลาะกันเรื่องสัตว์เลี้ยง คือ สุนัขของจำเลยกับสุนัขของตนมักกัดกัน จำเลยชอบยุสุนัขทั้งสองตัวให้กัดกัน

นายธนะวัฒน์เล่าว่า หลังจากการโต้เถียงหน้าทีวีประมาณ 4-5 วัน เช้าวันหนึ่งเวลาประมาณ 10.00 น. พยาน จำเลย และนายสมปองอยู่ที่บ้าน พยานกับจำเลยอยู่ชั้นล่างของบ้าน ไม่รู้ว่านายสมปองอยู่บริเวณใด อยู่ๆ จำเลยก็เขียนข้อความลงบนแผ่นซีดี ไม่รู้ว่าแผ่นซีดีนั้นมาจากไหน ไม่รู้ว่าใครเอามา ไม่รู้ว่าจำเลยหยิบซีดีมาจากไหน ซีดีแผ่นนั้นมีข้อความบนแผ่นว่า “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว” พยานยืนอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 4-5 เมตร เห็นจำเลยโยนแผ่นซีดีลงบนโต๊ะของตัวเอง พยานไม่เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความอะไรลงบนแผ่นซีดี เห็นแค่ว่าจำเลยใช้ปากกาเคมีเขียน จากนั้นก็โยนลงบนโต๊ะทำงานที่จำเลยนั่งอยู่ หลังกินข้าวเสร็จจึงเดินมาดู ก็เจอข้อความ “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว เนวินขอทักษิณ” และมีปากกาเคมีเขียน “วงเล็บ” ตรงคำว่า พระเจ้าอยู่หัว และข้อความข้างท้ายคำว่า “XXX” (พยานระบุว่าเป็นคำหยาบคาย) ซึ่งพยานรู้สึกไม่ดีที่ไปใส่วงเล็บคำว่า พระเจ้าอยู่หัว และเขียนคำหยาบคาบไว้ข้างท้าย เพราะเป็นการดูหมิ่นในหลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรทำไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหน

อัยการถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าจำเลยเป็นคนเขียน นายธนะวัฒน์ตอบว่า เห็นจำเลยเขียนและจำลายมือของจำเลยได้
นายธนะวัฒน์เบิกความต่อว่า ที่รู้สึกว่าเป็นการทำเกินเหตุเพราะได้ตักเตือนจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ก็ยังไม่หยุด  ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะไปแจ้งความ ก็เลยปล่อยแผ่นซีดีไว้ตรงนั้นแล้วลืมมันไป ผ่านไปประมาณเดือนเศษ ภรรยาของพยานไปเห็นซีดีแผ่นนั้นแล้วนำมาให้พยาน นายธนะวัฒน์ก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะแจ้งความดีหรือไม่เพราะจำเลยเป็นน้องชาย จึงเก็บแผ่นซีดีนั้นไว้กับตัว และคิดว่าถ้าเกิดปัญหาเรื่องหมิ่นฯ อีกก็จะไปแจ้งความ ถ้าไม่มีก็แล้วๆ ไป

นายธนะวัฒน์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้น พยานกับจำเลยก็มีปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง ต่อมา นายธนะวัฒน์ย้ายออกจากบ้านเพราะทะเลาะกับจำเลยอย่างรุนแรงถึงขั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นคนอารมณ์ร้อน มักเมาสุราแล้วกร่าง และไม่เคารพพี่ชาย

นายธนะวัฒน์ เล่าว่า หลังจากย้ายออก ก็ได้รับข่าวคราวของจำเลยผ่านนายสมเดช ที่เป็นทั้งเพื่อนของตนและจำเลย จึงทราบว่า จำเลยมีพฤติกรรมนินทาให้ร้ายพยานว่าเป็นคนโกง ชอบเอาเปรียบ ซึ่งไม่เป็นความจริง  พอย้ายออกมา นายธนะวัฒน์ก็ทำน้ำยาล้างรถขายเหมือนกับตอนที่ทำงานกับจำเลย แต่ขายไม่ค่อยดี จำเลยจึงชวนกลับไปอยู่บ้านเดียวกันเหมือนเดิม ตอนย้ายกลับไป พยานก็มักอยู่แต่ในห้อง เพราะรู้ว่าไม่ค่อยถูกกัน หลังย้ายกลับไปได้ประมาณ 2 เดือน วันหนึ่งจำเลยเมาสุราแล้วพาสุนัขมาเคาะที่ประตูห้องเพื่อให้มากัดสุนัขของตน พยานรำคาญมากเพราะต่างคนต่างอยู่กันแล้วทำไมเขาจึงยังไม่หยุดมารบกวน เมื่อทนไม่ไหวจึงใช้เท้าถีบประตูออกไปและผลักจำเลยที่หน้าอกไปที่บันได แต่ไม่ได้ทำให้ตกหรือล้ม  จำเลยไม่พอใจหยิบมีดดาบยาวๆ ออกมาขู่ ท้าทายให้มาต่อยกัน หลังจากนั้นประมาณ ห้า วัน มารู้ทีหลังว่าจำเลยไปแจ้งความในข้อหาพยายามทำร้ายร่างกายจากการที่ตนผลัก โดยจำเลยนำใบแจ้งความมาให้ดู ซึ่งตนสอบถามไปกับตำรวจ ตำรวจตอบว่าเป็นเพียงการลงบันทึกประจำวัน ภายหลังมาก็ยังทะเลาะกันอีก ตนจึงเตรียมจะย้ายออกจากบ้านอีกครั้ง

นายธนะวัฒน์เบิกความว่า หลังจากย้ายออกจากบ้านประมาณ หนึ่ง เดือน พยานคิดว่าเมื่อเขาทำผิดโดยการเอามีดดาบจะมาทำร้ายตน แล้วยังไปแจ้งความกล่าวหาตนอีก แสดงว่าคนคนนี้ไม่สำนึก เมื่อก่อนก็มีคดียักยอกแล้วยังกลับมาเป็นคนแบบนี้ อีกทั้งตนก็มีซีดีเป็นหลักฐาน จึงนำซีดีที่เก็บไว้ไปแจ้งความ โดยแจ้งความที่สน.ทุ่งสองห้องและสน.บางเขนก่อน แต่ตำรวจไม่รับแจ้งโดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้และไม่มีสาระอะไร นายธนะวัฒน์จึงไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามและมอบซีดีต่อไว้เป็นหลักฐาน

อัยการถามว่า จากคำให้การที่พยานให้ไว้กับตำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 พยานบอกว่าจำเลยพูดว่า “xxxxxxxxxxx” เป็นเหมือนการแช่ง ซึ่งถ้อยคำต่างกับที่เบิกความต่อหน้าศาล ขอให้พยานยืนยันคำพูดของจำเลยว่าจำเลยพูดคำใด นายธนะวัฒน์ยืนยันว่า จำเลยพูดว่า “xxx” ดังที่เคยให้การไว้กับตำรวจ

อัยการถามว่า ที่พยานแจ้งความก็เพราะจำเลยกล่าวหาพยานว่าโกง ใช่หรือไม่  นายธนะวัฒน์ตอบว่า ไม่ใช่ แต่เพราะจำเลยไม่สำนึกผิด ไม่คิดปรับปรุงตัว และพระมหากษัตริย์ท่านก็อยู่ของท่านดีๆ ไม่ได้ทำอะไรให้จำเลยเดือดร้อน แต่จำเลยกลับพูดไม่ดีต่อสถาบันฯ

อัยการถามว่า ก่อนหน้าที่พยานจะแจ้งความก็ไม่ได้ถกเถียงหรือทะเลาะกันเรื่องการเมืองอีกใช่หรือไม่ นายธนะวัฒน์ตอบว่า จำเลยไม่สำนึกถึงการเป็นคนดี คือการทำตัวให้เหมาะสม เคารพผู้ใหญ่ เคารพพี่ชาย

อัยการถามว่า มูลเหตุจูงใจคือพยานโกรธที่จำเลยไม่ให้ความเคารพยำเกรงตนเอง ไม่เกี่ยวกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์ฯ เลยใช่หรือไม่ อัยการถามต่อว่า เหตุที่พยานมาแจ้งความคือการกระทำที่จำเลยทำต่อตัวพยานหรือต่อสถาบันกษัตริย์ฯ นายธนะวัฒน์ตอบว่า ทั้งต่อตนและสถาบันกษัตริย์ฯ

อัยการถามว่า พยานมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยหรือไม่  นายธนะวัฒน์ตอบว่า ไม่มีสาเหตุโกรธเคือง ศาลพูดขึ้นมาว่าจากที่เบิกความมาจะไม่มีสาเหตุโกรธเคืองได้อย่างไร นายธนะวัฒน์จึงตอบว่า ตนไม่ได้โกรธเคืองน้องชาย แต่ไม่พอใจในพฤติกรรมของเขาที่ทำกับบุคคลที่ตนเคารพ

อัยการถามว่า ถ้าจำเลยไม่ทำพฤติกรรมอย่างนั้น พยานจะแจ้งความหรือไม่  นายธนะวัฒน์ตอบว่า ต่อให้จำเลยมาทำร้ายตนปางตาย ตนก็แจ้งความไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐาน อัยการกล่าวว่า พยานตอบไม่ตรงคำถาม และถามใหม่ด้วยคำถามเดิม นายธนะวัฒน์จึงตอบว่า ไม่ ถ้าไม่ทำผิดจริงก็จะไม่แจ้งความ เพราะตนกับจำเลยก็เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน


เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่โต้เถียงหน้าโทรทัศน์ นายธนะวัฒน์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ช่วงที่ได้ยินจำเลยพูดข้อความตามฟ้อง พยานมองหน้าจำเลยหรือไม่ นายธนะวัฒน์ ตอบว่า ตนมองหน้าจำเลยอยู่ ทนายถามว่าตอนที่พูด จำเลยคุยโทรศัพท์อยู่หรือไม่ นายธนะวัฒน์ ตอบว่าจำเลยไม่ได้คุยโทรศัพท์ ทนายถามย้ำว่า ตอนนั้นพยานมองหน้าจำเลยอยู่หรือไม่ ครั้งนี้นายธนะวัฒน์ปฏิเสธว่าไม่ได้มองหน้าจำเลย แต่ทั้งสองมองทีวีด้วยกัน จำเลยนั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่โต๊ะทำงาน พยานเดินไปเดินมาอยู่ในบริเวณเดียวกันและมองทีวีไปด้วย ขณะที่จำเลยพูดถ้อยคำตามฟ้อง พยานไม่ได้มองหน้าจำเลย

ทนายถาม อ้างถึงข้อมูลที่นายธนะวัฒน์ไปให้ปากคำกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เกี่ยวกับคำพูดตามฟ้อง ซึ่งในชั้นสอบสวน พยานให้การกับพนักงานสอบสวนอย่างหนึ่ง แต่เมื่อให้ปากคำกับกสม.ให้ข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นายธนะวัฒน์ ชี้แจงว่า ที่พูดถึงข้อความตามฟ้องไม่เหมือนกันเป็น เพราะจำคำพูดของจำเลยไม่ได้ชัดเจน แต่ทราบว่าที่จำเลยพูดเป็นคำแช่ง

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง: นางสาวกระลำภักษ์ แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญจากราชบัณฑิตยสถาน

นางสาวกระลำภักษ์ แพรกทอง นักวรรณศิลป์ชำนาญการ เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะตำรวจ ส่งสำเนาเอกสารที่มีภาพแผ่นซีดีของกลางมาให้ราชบัณฑิตยสถานตรวจและ ให้ความเห็นเรื่องการใช้เครื่องหมายวงเล็บ ซึ่งทางราชบัณฑิตยสถานได้ทำเอกสารชี้แจงวิธีการใช้ส่งกลับมาให้
สำหรับข้อความที่ปรากฎบนแผ่นซีดีจะเป็นคำหยาบหรือไม่ไม่สามารถตอบได้เพราะคำนั้นไม่มีในพจนานุกรม จึงต้องดูบริบทแวดล้อมของการใช้ประกอบเช่นดูอารมณ์ของผู้พูดว่าพูดด้วยความคึกคะนองหรือพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ส่วนความหมายของการใช้วงเล็บก็บอกไม่ได้เพราะเป็นการใช้ผิดหลักภาษา

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม: นางสาวจงกล คงถิ่น ภรรยาจำเลย

นางสาวจงกล คงถิ่น ภรรยาของจำเลยเบิกความว่า ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุตามฟ้องทั้งสองกรรม ทราบเพียงว่าจำเลยและนายธนะวัฒน์ทะเลาะกันบ่อย เรื่องที่ทะเลาะกันก็มีเรื่องธุรกิจและเรื่องสุนัขแต่ไม่เคยได้ยินว่าทะเลาะกันเรื่องการเมือง เท่าที่ทราบนายธนะวัฒน์นิยมคนเสื้อเหลืองแต่ยุทธภูมิไม่ฝักใฝ่การเมือง เพียงแต่ไปซื้อของที่ระลึกเสื้อแดงในช่วงที่มีการชุมนุมที่วัดใผ่เขียวครั้งเดียวเท่านั้น

นางสาวจงกลเบิกความถึงความสัมพันธ์ของสองพี่น้องว่า เมื่อทั้งสองอยู่บ้านเดียวกันทั้งคู่ก็ไม่สุงสิงหรือมีปฏิสัมพันธ์กันและไม่เคยดูทีวีด้วยกัน และมักทะเลาะกันเพราะเรื่องสุนัขและเรื่องแนวทางการดำเนินชีวิต บางครั้งทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นจะใช้กำลังกัน ครั้งหนึ่งหลังทะเลาะกันจำเลยเคยไปลงบันทึกประจำวันไว้กับตำรวจด้วย ฝ่ายนายธนะวัฒน์ก็เคยเปรยว่าจำเลยเป็นคนไม่ดีควรไปอยู่ในคุก ส่วนที่นายธนะวัฒน์ย้ายออกจากบ้านไปก็น่าจะเป็นเพราะมีปากเสียงกับน้องชาย  

สืบพยานโจทก์ปากที่ สี่: นายพงษ์ศักดิ์ รัตนสุวรรณ เพื่อนบ้านของจำเลย
 

นายพงษ์ศักดิ์ รัตนสุวรรณ เบิกความว่า ตนเป็นเพื่อนของจำเลย ส่วนนายธนะวัฒน์ ตนรู้จักแต่ไม่เคยพูดคุย ตนมักจะเข้าไปในบ้านของจำเลยเป็นประจำเพื่อเข้าไปพูดคุยและดื่มเหล้ากับจำเลย  ตนคลุกคลีกับคนบ้านนี้มาประมาณห้าปีแล้ว
ตนพอจะทราบว่า จำเลยกับพี่ชายไม่ค่อยถูกกันและไม่ค่อยพูดคุยกัน ตนไม่ทราบว่าจำเลยและพี่ชายฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด และไม่เคยได้ยินทั้งสองคนนี้โต้เถียงกันเรื่องการเมืองหรือเรื่องสถาบันฯ เท่าที่ทราบ ทั้งสองคนมักทะเลาะกันเรื่องสุนัขและการศึกษา นอกจากนี้ทั้งสองก็ทะเลาะกันเรื่องธุรกิจ แต่ก็ไม่เคยเห็นทะเลาะกันรุนแรงจนถึงขั้นไปแจ้งความ

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า:  ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐณิชา วงศาสุข  ผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือ
 

ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐณิชา วงศาสุข เบิกความว่า ตนเป็นผู้พิสูจน์ลายมือของผู้เขียนข้อความในคดีนี้  โดยพนักงานสอบสวน ส่งแผ่นซีดี “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว” หนึ่งแผ่น พร้อมเอกสารของกลางและเอกสารตัวอย่างลายมือของจำเลยมาให้ นอกจากนี้ก็มีแผ่นซีดีที่ไม่ใช่ซีดีของกลาง แต่เป็นตัวอย่างลายมือที่เขียนบนแผ่นซีดีส่งมาด้วย

ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐณิชา เบิกความถึงขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ลายมือว่า ตนได้รับมอบหมายให้ตรวจลายมือข้อความบนแผ่นซีดี เพื่อเปรียบเทียบว่าเป็นลายมือเขียนของบุคคลเดียวกันหรือไม่ โดยตรวจเปรียบเทียบคุณสมบัติของการเขียนจากเอกสารตัวอย่างกับของกลาง คุณสมบัติดังกล่าวคือคุณภาพของลายเส้น สัดส่วนของตัวอักษร ช่องไฟ โดยใช้กล้องกำลังขยายสูง จากการตรวจพบว่า ตัวอักษรในเอกสารมีลักษณะการเขียนเหมือนกับของกลาง

ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐณิชา เบิกความต่อว่า ในตอนแรก ลายมือตามเอกสารตัวอย่างเขียนบรรจงกว่าบนแผ่นซีดีของกลางจึงไม่อาจลงความเห็นว่า เป็นลายมือของคนเดียวกัน จึงได้ขอให้พนักงานสอบสวนส่งลายมือเขียนที่เขียนข้อความเดียวกัน ปากกาชนิดเดียวกัน และเขียนแบบหวัด มาตรวจ  ต่อมาพนักงานสอบสวนจากกองปราบปรามส่งเอกสารลายมือเขียนของจำเลยในแผ่นกระดาษ เป็นลักษณะเขียนแบบหวัดมาให้ตรวจ จึงตรวจโดยใช้หลักเกณฑ์การตรวจพิสูจน์เหมือนกับครั้งแรก

ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐณิชา เบิกความว่า น้ำหนักในการเขียนของแต่ละคนจะแตกต่างกันแต่ในคดีนี้ไม่ได้ตรวจน้ำหนักการกดของการเขียนตัวอักษร เพราะข้อความที่เขียนลงบนแผ่นซีดีซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็ง เรียบ และลื่น การตรวจความหนักเบาจึงทำได้ยาก  ในคดีนี้จึงตรวจดูลักษณะของตัวอักษร และลักษณะการเขียนเป็นหลัก หลังการตรวจพิสูจน์ คณะตรวจพิสูจน์ลงความเห็นว่า เป็นลายมือของคนคนเดียวกัน

สืบพยานโจทก์ปากที่หก: พ.ต.ท.วรทัศน์ วัฒนชัยนันท์ พนักงานสอบสวน
 

พ.ต.ท.วรทัศน์ วัฒนชัยนันท์ เบิกความว่า 6 พฤษภาคม 2553 นายธนะวัฒน์มาแจ้งความดำเนินคดีจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ด้วยการเขียนคำหยาบลงแผ่นซีดี นายธนะวัฒน์ให้การว่าเดือนสิงหาคม 2552 ขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ที่มีข่าวในหลวงทรงพระประชวร นายยุทธภูมิก็สบถออกมาในทำนองสาปแช่งและเขียนคำหยาบลงบนแผ่นซีดีที่มีข้อความ “พระเจ้าอยู่หัว” แล้วโยนให้นายธนะวัฒน์

พ.ต.ท.วรทัศน์เบิกความว่า ต่อมาได้สอบถามนายธนะวัฒน์ถึงหลักฐานอื่นๆ จึงได้ตัวอย่างลายมือมาเป็นหลักฐาน จากนั้นตนส่งตัวอย่างลายมือ ซีดีของกลาง และสมุดที่เป็นเล่มที่มีลายมือของนายยุทธภูมิให้กองพิสูจน์หลักฐาน  นอกจากนี้ก็ส่งแผ่นซีดีให้ราชบัณฑิตยสถานแปลความเครื่องหมายวงเล็บ และคำที่ไม่เหมาะสมบนแผ่นซีดีด้วย

พ.ต.ท.วรทัศน์กล่าวว่า ได้ส่งหลักฐานลายมือไปตรวจพิสูจน์สองครั้ง เนื่องจากครั้งแรกพนักงานตรวจพิสูจน์ยังไม่ลงความเห็นว่าเป็นลายมือคนเดียวกัน แต่ในรายงานได้แนะนำว่าให้ส่งตัวอย่างลายมือที่เขียนแบบหวัดในข้อความเดียวกันมาให้อีก ตนจึงส่งเอกสารไปให้ตรวจพิสูจน์อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ ตนเห็นว่าหลักฐานอื่นๆ เพียงพอแล้ว ลายมือบนซีดีของกลางกับตัวอย่างลายมือก็มีความคล้ายคลึงกัน อีกทั้งพี่ชายก็ไม่น่ากลั่นแกล้งน้องชาย จึงขออนุมัติจากผู้บัญชาการตามระเบียบ เรียกจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาและให้เขียนตัวอย่างลายมือเพื่อส่งตรวจพิสูจน์ครั้งที่สอง ซึ่งจำเลยเขียนด้วยความสมัครใจ ตนไม่ได้บังคับให้เขียน และไม่ได้บอกให้เขียนให้เหมือนกับลายมือของกลาง หลังแจ้งข้อหา จำเลยให้การปฏิเสธ

การสืบพยานจำเลย

พยานจำเลยปากที่หนึ่ง: นาย ยุทธิภูมิ ม. จำเลยเบิกความให้ตนเอง
 

นายยุทธภูมิเบิกความว่า นายธนะวัฒน์เป็นพี่ชายของตน ก่อนเกิดเหตุ ได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวทำน้ำยาล้างรถร่วมกัน โดยนายยุทธภูมิรับหน้าที่เป็นคนส่งสินค้าและทำงานด้านการขาย ส่วนนายธนะวัฒน์รับผิดชอบเป็นผู้จัดเตรียมสินค้า และจัดการงานเอกสาร เมื่อส่งของ เก็บเงินจากลูกค้าแล้วจะนำเงินมาให้นายธนะวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้นำเงินไปฝากธนาคารและมีอำนาจในการเบิกจ่าย

นายยุทธภูมิเบิกความว่า เริ่มมีปัญหากับนายธนะวัฒน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 นายธนะวัฒน์ด่าตนว่าโง่จึงโต้เถียงกัน ทำให้ตนโมโหจึงขว้างแก้วสุราลงพื้น  หลังเหตุการณ์นั้น นายธนะวัฒน์จึงเริ่มมองหาบ้านเช่า  โดยย้ายออกไปเดือนสิงหาคม 2551 พร้อมกับทิ้งธุรกิจเอาไว้  และเริ่มผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน    

นายยุทธภูมิกล่าวว่า หลังจากนายธนะวัฒน์ย้ายออกไปสองเดือน ก็ขอกลับมาอยู่กับตนอีก เมื่อนายธนะวัฒน์กลับมา ก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่กินข้าวร่วมกัน ในส่วนของการทำงาน ตนทำงานเอกสารอยู่ที่ชั้นล่าง ส่วนนายธนะวัฒน์ทำงานในห้องนอนของตัวเอง ช่วงเย็นตนมักดื่มสุราที่หน้าบ้าน ส่วนธนะวัฒน์มักร้องเพลงอยู่ในห้อง

นายยุทธภูมิเล่าว่า  ตอนเย็นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ขณะที่นายยุทธภูมิดื่มสุรากับเพื่อนที่บ้าน สุนัขของนายยุทธภูมิวิ่งขึ้นไปหน้าห้องของพี่ชายพร้อมกับเห่า พี่ชายโกรธเพราะคิดว่านายยุทธภูมิใช้ให้สุนัขขึ้นไปเห่า จึงบันดาลโทสะ ถือมีดมาไล่แทง

ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 เวลา 20.00 น. ขณะที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยว สุนัขของนายยุทธภูมิและของนายธนะวัฒน์ กัดกัน นายธนะวัฒน์เอาไม้ไล่ตีสุนัขของนายยุทธภูมิพร้อมกล่าวหาว่า ทุกครั้งที่กลับบ้านสุนัขจะต้องกัดกัน นายธนะวัฒน์เอาไม้ตีหมาและตีนายยุทธภูมิ นายยุทธภูมิทนไม่ไหวจึงไปลงบันทึกประจำวันไว้กับเจ้าพนักงานตำรวจ  หลังจากนั้นหนึ่งเดือน นายธนะวัฒน์ก็ย้ายออก

นายยุทธภูมิเบิกความว่า เคยเห็นซีดีของกลางในตู้จดหมาย ซึ่งรู้เพียงว่าเป็นซีดีการเมือง แต่ไม่ทราบว่ามาจากไหนและใครนำมา จึงนำมาเก็บไว้ที่โต๊ะชั้นล่าง โดยตอนนั้นยังไม่มีข้อความลายมือใดๆ บนแผ่นซีดี หลังจากนั้นก็ไม่สนใจอีก โต๊ะที่วางก็เป็นโต๊ะส่วนกลาง  ต่อมา 19 พฤศจิกายน 2553 พนักงานสอบสวนได้เรียกไป และแจ้งข้อว่า นายธนะวัฒน์มากล่าวโทษว่า ตนกระทำการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ  ต่อมา พนักงานสอบสวน สั่งให้เขียนข้อความเดียวกับที่ปรากฏบนแผ่นซีดีซ้ำๆ กัน พร้อมแจ้งว่าจะส่งลายมือนี้ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน หลังเขียนเสร็จตำรวจบอกให้กลับบ้าน

นายยุทธภูมิเบิกความว่า ตนถูกเรียกไปเขียนข้อความอีกครั้ง เจ้าพนักงานนำซีดีของกลางมาวางให้ดู และให้เขียนคำที่ปรากฏบนแผ่นซีดี โดยย้ำให้เขียนตัวหนังสือขนาดเท่าๆ กัน ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปและให้เขียนแบบหวัด พนักงานสอบสวนยังบอกด้วยว่า หากครั้งนี้ลายมือมีปัญหา จะให้ไปเขียนต่อหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน  นายยุทธภูมิให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นคนเขียนข้อความนี้ลงแผ่นซีดี

นายยุทธภูมิเบิกความว่าไม่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับคนเสื้อแดง เคยแต่ไปซื้อของที่ระลึกของคนเสื้อแดงเพียงครั้งเดียวเพื่อนำไปแจกลูกค้า  นายยุทธภูมิยืนยันว่ามีความจงรักภักดี โดยมักจะเก็บภาพพระเจ้าอยู่หัวจากหนังสือพิมพ์มาติดข้างฝาบ้านทุกครั้ง  

พยานจำเลยปากที่สอง: นายสงบ โพธิ์ด้วง ผู้เช่าบ้านร่วมกับจำเลยและผู้กล่าวหา
 

นายสงบเบิกความว่า รู้จักกับทั้งจำเลยและนายธนะวัฒน์ เนื่องจากห้องพักของตนอยู่ในบ้านหลังเดียวกับทั้งสอง

นายสงบเบิกความยืนยันว่า จำเลยไม่ใช่คนที่มีนิสัยก้าวร้าว ส่วนตัวเชื่อว่าจำเลยจะไม่ทำร้ายนายธนะวัฒน์ แต่ไม่กล้ายืนยันว่านายธนะวัฒน์จะไม่ทำร้ายจำเลย  ตนเคยเห็นจำเลยและนายธนะวัฒน์คุยกันเรื่องธุรกิจ แต่นอกจากเรื่องนี้ สองพี่น้องมักไม่ค่อยคุยกัน และไม่เคยดูโทรทัศน์ด้วยกัน  

นายสงบกล่าวว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกทั้งที่บ้านของจำเลยก็ติดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ข้างฝาบ้าน และในวันที่ 5 ธันวาคม ตนยังเคยร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรกับนายยุทธภูมิด้วย

นายสงบเบิกความว่า ที่บ้านจำเลยมีโทรทัศน์ขนาด 21 นิ้ว ตั้งอยู่ใกล้โต๊ะทำงานของจำเลย จึงสามารถมองเห็นจากโต๊ะทำงานได้ไม่ยากนัก  โดยส่วนใหญ่นายธนะวัฒน์จะอยู่บ้าน ส่วนจำเลยมักออกไปส่งของข้างนอก

นายสงบเบิกความว่า ไม่เคยเห็นของที่ระลึกเกี่ยวกับการเมืองที่บ้านของจำเลย ส่วนแผ่นซีดีของกลางก็ไม่เคยเห็นมาก่อนและไม่เคยเห็นที่บ้านจำเลยด้วย นายสงบกล่าวว่าไม่เคยเห็นจำเลยทะเลาะกับนายธนะวัฒน์เรื่องการเมืองหรือเรื่องสถาบันฯ ทราบแต่ว่าทะเลาะกันเพราะสุนัข

พยานจำเลยปากที่สาม : นางอ่อน สุทธสนธ์ มารดาของจำเลยและผู้กล่าวหา
 

นางอ่อน สุทธสนธ์ อายุ 67 ปี อาชีพทำสวน เป็นมารดาของนายยุทธภูมิ จำเลย และนายธนะวัฒน์ ผู้กล่าวหา
นางอ่อนเบิกความว่า มีลูกสามคน จำเลยเป็นลูกคนเล็ก ส่วนนายธนะวัฒน์เป็นลูกคนกลาง ตอนเด็กๆ ทั้งสองรักกัน แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น ก็เริ่มมีปัญหาให้ทะเลาะกัน ก่อนมีคดีนี้ ลูกทั้งสองทะเลาะกันมาก่อน หลังมีการฟ้องคดีนี้ นางอ่อนไปหานายธนะวัฒน์เพื่อสอบถามว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น ทำไมจึงมีหมายจับมาถึงจำเลย นายธนะวัฒน์ตอบว่า จำเลยเป็นคนไม่ดี ต้องเอาเข้าคุกให้ได้ นายธนะวัฒน์บอกด้วยว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนางอ่อน อย่ามายุ่ง เมื่อขอให้นายธนะวัฒน์ถอนฟ้อง นายธนะวัฒน์ตอบว่าคดีนี้ถอนฟ้องไม่ได้

นางอ่อนเบิกความว่า นายธนะวัฒน์ฝากจดหมายฉบับหนึ่งมาให้จำเลยด้วย จดหมายมีความว่า หากจำเลยหาเงินมาให้ห้าหมื่นบาท จะไม่ฟ้องคดีเพิ่ม ซึ่งจำเลยไม่มีเงิน
นางอ่อนเบิกความว่า ที่บ้านของจำเลยมีภาพในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ประดับไว้ ไม่เคยเห็นเครื่องประดับหรือของใช้ของคนเสื้อแดงทั้งที่บ้านและในรถของจำเลย

นางอ่อนเบิกความว่า เคารพรักสถาบันกษัตริย์มากและสอนลูกของตนให้เคารพรักด้วย ตนเคยพาลูกไปจุดเทียนชัยถวายพระพร ไม่เคยได้ยินจำเลยพูดจาว่าร้ายในหลวงหรือพระบรมวงศานุวงศ์ ในช่วงวันสำคัญเช่นวันพ่อและวันแม่ เมื่อจำเลยกลับมาหาตนที่ต่างจังหวัด ตนและจำเลยจะไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า  และร่วมจุดเทียนถวายพระพรในตอนกลางคืน ตนสอนจำเลยเสมอ ว่าในหลวงเป็นผู้มีบุญ ใครพูดจาว่าร้ายย่อมถูกกรรมตามสนอง ทั้งนี้ตนไม่เชื่อว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง
อัยการถามค้านว่า นายธนะวัฒน์และจำเลยเกิดจากบิดาคนเดียวกันใช่หรือไม่ นางอ่อนรับว่าใช่ จากนั้นอัยการถามว่า ที่เบิกความต่อทนายว่านายธนะวัฒน์มีนิสัยชอบเอาเปรียบจำเลย นางอ่อนยังรักนายธนะวัฒน์หรือไม่ นางอ่อนรับว่าตนรักลูกทั้งสอง และภาวนาให้ลูกทั้งสองได้ดี

อัยการถามว่า เป็นเพราะนายธนะวัฒน์มีความจงรักภักดีมาก จึงโกรธที่จำเลยพูดไม่ดีต่อพระเจ้าหัวจนต้องนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษใช่หรือไม่ นางอ่อนเบิกความว่า นายธนะวัฒน์เป็นคนจงรักภักดี แต่ก็ไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้มาก เช่นไม่เคยมีความกระตือรือร้นอยากได้ภาพในหลวงขณะที่จำเลยมักเก็บภาพไว้เสมอ ตนเชื่อว่านายธนะวัฒน์ไม่ได้ฟ้องจำเลยเพราะรักพระเจ้าอยู่หัวมาก แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นการปรักปรำกันมากกว่า
 

หมายเลขคดีดำ

อ.3434/2555

ศาล

อาญา รัชดาภิเษก

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

สารสนเทศศาลอาญา เว็บไซด์ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อ 10 เมษายน 2556)

6 พฤษภาคม 2553

พี่ชายของยุทธภูมิ เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปราม ว่าน้องชายพูดจาดูหมิ่นกษัตริย์ และเขียนข้อความดูหมิ่นกษัตริย์ แล้วนำแผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) เข้ามอบให้พนักงานสอบสวน

19 พฤศจิกายน 2553

จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน

19 กันยายน 2555

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 เป็นจำนวน 2 กรรม และขอให้ศาลสั่งริบซีดีของกลางด้วย

ศาลสอบถามแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธและแถลงว่าจะตั้งทนายความเอง ศาลกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 

ในวันเดียวกันจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้ฉโนดที่ดิน 2 ฉบับ และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทยยื่นประกัน แต่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว อ้างเหตุว่าพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนี

24 กันยายน 2555

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว หลังจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น อ้างเหตุว่า จำเลยถูกฟ้องในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวดว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง หากได้รับการปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว

26 มีนาคม 2556 

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ไม่ให้ประกันนายยุทธภูมิ ม.โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีร้ายแรง ปล่อยไปเกรงจะหลบหนี จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อ้างตัวเป็นนายประกัน

20 สิงหาคม 2556

นัดสืบพยานวันแรก พยานโจทก์เบิกความสามปาก ได้แก่

– นายธนะวัฒน์ ม. ผู้กล่าวหา 

– น.ส.กระลำภักษ์ แพรกทอง นักวรรณศิลป์ชำนาญการจากราชบัณฑิตยสถาน

– น.ส.จงกล ภรรยาจำเลย

21 สิงหาคม 2556

นัดสืบพยานวันที่สอง พยานโจทก์เบิกความสามปาก ได้แก่

– นายพงษ์ศักดิ์ รัตนสุวรรณ เพื่อนบ้านจำเลยและผุ้กล่าวหา

– ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐณิชา วงศาสุข เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน

– พ.ต.ท.วรทัศน์ วัฒนชัยนันท์ พนักงานสอบสวน

22 สิงหาคม 2556

นัดสืบพยานวันที่สาม พยานจำเลยเบิกความสามปาก ได้แก่

– นายยุทธภูมิ ม. จำเลย

– นายสงบ โพธิ์ด้วง ผู้เช่าบ้านร่วมกับจำเลยและผู้กล่าวหา

– นางอ่อน มารดาจำเลยและผู้กล่าวหา

หลังสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 กันยายน 2556

23 สิงหาคม 2556

เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา ตัวแทนทางกฎหมายของยุทธภูมิ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอฟังคำพิพากษา อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ให้เหตุผลว่า เคยไม่ให้ประกันตัวและให้เหตุผลไว้แล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงจึงให้ยกคำร้อง"  

 
13 กันยายน 2556
 
นัดฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ห้อง 909
 
ศาลพิพากษายกฟ้องแต่ให้ริบแผ่นซีดีของกลางไปทำลายเสีย
 
28 พฤศจิกายน 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญารัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องจำเลย 

หลังศา่ลอ่านคำพิพากษา ยุทธภูมิกล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ศาลให้ความยุติธรรม ขอขอบคุณศาล และขอบคุณพี่น้องและเพื่อนที่มาให้กำลังใจ ในวันนี้นอกจากจะมีญาติของยุทธภูมิที่มาสังเกตการณ์แล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล รวมทั้งผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวมอยู่ด้วย

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้องหรือไม่  เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ จึงมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขประเทศ เฉกเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย ในทำนองเดียวกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยทั่วไปในเรื่องการดูหมิ่นประมาทและการหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา  ในประเด็นตามฟ้อง หากมีบุคคลดูข่าวที่ปรากฏภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่บนรถเข็น แล้วกล่าวถ้อยคำว่า  “XXXX” ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร  ผู้พูดย่อมเจตนาเสมือนเป็นการสาปแช่งให้สวรรคตเร็วๆ ซึ่งเป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ต่อประชาชนที่มีความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งคำพูดดังกล่าวยังแสดงออกถึงเจตนาผู้พูดได้ว่าเป็นการจาบจ้วงและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112

ส่วนการเขียนคำว่า "XXX"  บนแผ่นซีดีที่มีข้อความว่า หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว และเขียนเครื่องหมายวงเล็บ ระหว่างคำว่าพระเจ้าอยู่หัว ย่อมแสดงให้เห็นหรือพิจารณาได้ว่า ผู้เขียนมีเจตนาใช้ถ้อยคำดังกล่าวเชื่อมโยงหรือขยายถ้อยคำในเครื่องหมายวงเล็บ ทำให้ผู้พบหรือผู้อ่านเข้าใจได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวXXX  ซึ่งเป็นคำเรียกอวัยวะเพศชาย ซึ่งความรับรู้ทางวัฒนธรรมและสังคมไทย ถือว่าเป็นของต่ำ และเป็นถ้อยคำหยาบคาย หากมีการนำถ้อยคำดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับบุคคลย่อมถือเป็นถ้อยคำที่แสดงความหยาบคาย จาบจ้วง ดูหมิ่นและเหยียดหยาม การนำพระมหากษัตริย์ไปเปรียบเทียบกับถ้อยคำดังกล่าว ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และถูกเกลียดชัง โดยมีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสื่อมศรัทธา และเกิดความรู้สึกไม่เคารพ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นกัน

สำหรับคดีนี้ โจทก์มีนายธนะวัฒน์เพียงปากเดียว เบิกความเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ก่อนที่พยานปากนี้จะกล่าวโทษจำเลยต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความต่อศาล พยานกับจำเลยมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรงหลายครั้ง ถึงขั้นจะใช้อาวุธมีดทำร้ายร่างกายกัน จนกระทั่งจำเลยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง อีกทั้งพยานก็ต้องออกจากบ้านที่อาศัยร่วมกับจำเลย จึงถือว่าพยานกับจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกันอย่างรุนแรง การรับฟังประจักษ์พยานปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

ในชั้นสอบส่วน พยานให้การว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2552 เวลา สิบ นาฬิกา ขณะที่พยานและจำเลยนั่งดูโทรทัศน์ช่องเสื้อแดงทางเคเบิลทีวี จำเลยหยิบแผ่นซีดีมาจะเขียนข้อความตามฟ้อง ขณะเดียวกันก็มีข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับรถเข็น จำเลยพูดว่า "XXXX" และโยนแผ่นซีดีมาให้พยานดู เมื่อจำเลยเผลอจึงเก็บซีดีซ่อนไว้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวแตกต่างกับคำเบิกความของพยานในสาระสำคัญว่า จำเลยเขียนข้อความที่ไม่สมควรบนแผ่นซีดี ภายหลังจากที่จำเลยกล่าวถ้อยคำที่ไม่สมควรเป็นเวลาประมาณ ห้าวัน ครั้งแรกที่เห็นแผ่นซีดีที่มีข้อความตามฟ้อง พยานเพียงแต่ดูและวางไว้ที่เดิมโดยไม่ได้เก็บไว้ ต่อมาอีกเดือนเศษ นางสาวไพลิน ภรรยาของพยานเห็น จึงนำแผ่นซีดีมาให้ พยานจึงเก็บแผ่นซีดีไว้ ซึ่งข้อเท็จจริงส่วนนี้ โจทก์ไม่ได้นำนางสาวไพลินมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง ตามคำเบิกความของประจักษ์พยาน

แม้พยานจะเบิกความต่อศาลภายหลังให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลานานกว่าสามปีก็ตาม แต่คำเบิกความหากจะคลาดเคลื่อน ก็น่าจะเป็นเพียงความคลาดเคลื่อนในรายละเอียด ไม่ใช่แตกต่างในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ หากมีการกระทำผิดจริง เชื่อว่าพยานก็น่าจำเหตุการณ์ต่างๆได้ การที่ประจักษ์พยานโจทก์ เบิกความแตกต่างกับที่ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเช่นนี้ ถือเป็นข้อพิรุธและไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง ลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งก็เป็นได้ 

ส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน ลงความเห็นว่า ลายมือของจำเลยมีคุณสมบัติการเขียนเหมือนกับลายมือที่ปรากฎบนแผ่นซีดี เป็นลายมือคนคนเดียวกันนั้น แม้ความคิดเห็นตามหลักวิชาการของพยานผู้เชี่ยวชาญจะเป็นพยานที่ศาลรับฟังได้ แต่มิใช่ว่า ศาลจะต้องเชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นเสมอไป คำพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีน้ำหนักหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามรูปเรื่องและอาศัยพยานหลักฐานอื่นประกอบด้วย เมื่อคดีนี้ตัวอักษรเขียนด้วยปากกาเคมีเส้นใหญ่ ยากที่จะพิสูจน์ถึงความหนักเบาของลายเส้นและรูปน้ำหนักของการเขียนโดยแท้จริง แม้จะปรากฏคุณสมบัติของการเขียนเป็นอย่างเดียวกัน แต่ตัวอักษรที่ปรากฏบนแผ่นซีดี ก็มีลักษณะในการเขียนทำนองเดียวกับลายมือของประจักษ์พยานโจทก์ที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ด้วย ความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญจึงยังไม่อาจรับฟังได้โดยสนิทใจ

ประกอบกับจำเลยและมารดาของจำเลยเบิกความยืนยันว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตามแผ่นซีดีพยานวัตถุหมายวจ.1 เป็นทรัพย์ที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ พิพากษายกฟ้องแต่ให้ริบแผ่นซีดีของกลางไปทำลายเสีย

 

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องจำเลย เหตุเพราะพยานหลักฐานโจทก์อ่อนและมีความน่าสงสัย ทั้งผู้กล่าวโทษที่เป็นประจักษ์พยานโจทก์เพียงปากเดียวก็เคยมีเรื่องขัดแย้งกับจำเลยมาก่อน

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา