การชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์

อัปเดตล่าสุด: 21/12/2559

ผู้ต้องหา

บุญรอด สายวงศ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ชูเกียรติ ชโลธร พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา ๑๐

สารบัญ

27 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ชุมนุมหน้ารัฐสภาขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยแก้ไขปัญหาถูกเลิกจ้าง นอกจากไม่ได้รับการตอบรับแล้วยังถูกสลายการชุมนุมด้วยเครื่องส่งเสียงรบกวน (LRAD) ต่อมาแกนนำสามคนถูกแจ้งข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวายตามมาตรา 215, 216

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จำเลยที่ 1 บุญรอด สายวงศ์ เป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ณ วันฟ้องคดี อายุ 34 ปี

จำเลยที่ 2 สุนทร บุญยอด เป็นเจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน  ณ วันฟ้องคดี อายุ 50 ปี
 
จำเลยที่ 3 จิตรา เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ณ วันฟ้องคดี อายุ 37 ปี
 
จิตรา คชเดช ได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ในปี 2549
 
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 เธอไปออกทีวีรายการกรองสถานการณ์ ในหัวข้อ “ทำท้อง ทำแท้ง” โดยใส่เสื้อยืดสีดำสกรีนข้อความ“ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” เพื่อสนับสนุน นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ซึ่งเคยต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์
 
วันที่ 28 เมษายน 2551 ทางผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ข่าวว่าจิตรา ใส่เสื้อตัวดังกล่าว และระบุว่าจิตราเป็นแนวร่วมโค่นล้มคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นแนวร่วมกับนปก. รวมถึงประกาศให้ร่วมกันต่อต้านสินค้าจากบริษัทไทรอัมพ์ ทำให้ทางบริษัทนายจ้าง ขออำนาจศาลเพื่อเลิกจ้างคุณจิตรา โดยให้เหตุผลว่า ก่อให้เกิดความแตกแยก จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียง ซึ่งต่อมาศาลแรงงานมีคำสั่งให้เลิกจ้างจิตรา ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อจิตวิญญาณประชาชาติ และจากเหตุที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว คนงานบริษัทไทรอัมพ์จึงออกมาประท้วงเพราะเห็นว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ไม่เป็นธรรม หลังจากถูกให้ออกจากงานจิตราดำรงตำแหน่งในฐานะที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน
 
วันที่ 6 มีนาคม 2554 ในวาระการเฉลิมฉอง 100 ปี วันสตรีสากล (ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี) ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำลังร่วมประกาศเจตนารมณ์ "ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน" ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  จิตราพร้อมทั้งเพื่อนแรงงานร่วมกันชูป้ายประท้วงกลางห้องประชุม เขียนว่า "ดีแต่พูด" ภายหลังข้อความดังกล่าวกลายมาเป็นวลีฮิตที่ใช้ในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของอภิสิทธิ์
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 27 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและประชาชน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างพนักงานของบริษัท บอดี้ แฟชั่น ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ หลังจากที่เคยยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาก่อนหน้านั้น แต่ในวันดังกล่าวไม่มีตัวแทนของรัฐบาลออกมารับข้อเรียกร้อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณหน้ารัฐสภาใช้เครื่องขยายเสียงรบกวนระยะไกล หรือ LRAD (Long Range Acoustic Device) กับผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมหลายคนได้รับบาดเจ็บทางโสตประสาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับแกนนำการชุมนุม 3 คน คือ นางสาวบุญรอด สายวงศ์ นายสุนทร บุญยอด และนางสาวจิตรา คชเดช ในข้อหาชุมนุมมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 และฐานเดินขบวนกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

18 พฤศจิกายน 2552 

บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพฯ พร้อมด้วยสมพร มูสิกะ ทนายความจากสภาทนายความ เข้ามอบตัวตามหมายจับกับ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต

เบื้องต้นทั้งสองคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอประกันตัวโดยมี ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และ ดร.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ตำแหน่งราชการยื่นประกันตัวให้ โดยมีสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ประมาณ 100 คน เดินทางมาให้กำลังใจกับแกนนำที่เข้ามอบตัว 

 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

 
ประเด็นที่โจทก์นำสืบ

1. การชุมนุมของจำเลยเป็นไปโดยไม่สงบ และสร้างความเดือดร้อนกับทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไป

  • ผู้ชุมนุมแม้มีจำนวนเพียง 300-400 คน แต่ก็ปิดถนน ทำให้การจราจรติดขัด ประชาชนที่จำเป็นต้องสัญจรไปมาเดือดร้อน สถานที่ราชการหลายแห่งตั้งอยู่บนเส้นทางเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมและระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมก็ปิดทางเข้าออกของรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐเดือดร้อนไม่สามารถเดินทางเข้าทำงานได้ตามปกติ
  • การชุมนุมเกิดขึ้นโดยไม่สงบ เพราะผู้ชุมนุมใช้เครื่องเสียงก่อให้เกิดความรำคาญกับทั้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสถานที่ราชการและประชาชนที่บริเวณใกล้เคียง

2. การชุมนุมมีลักษณะข่มขู่หรือขืนใจเจ้าพนักงานของรัฐ โดยระดมคนจำนวนมากมากดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องลงมารับข้อเรียกร้องหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตน เมื่อทราบว่านายกรัฐมนตรีไม่อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลก็เคลื่อนขบวนไปกดดันต่อที่หน้ารัฐสภา เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ลงมารับข้อเรียกร้องก็กดดันด้วยการชุมนุมต่อไปไม่ยอมเลิก

3. จำเลยทั้งสามเป็นผู้นำและผู้มีอำนาจสั่งการในการชุมนุม เห็นได้จากการขึ้นเวทีปราศรัยชักนำให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด การที่จำเลยมีชื่ออยู่ในใบปลิวที่แจกจ่ายระหว่างการชุมนุม รวมทั้งเป็นผู้เจรจาติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นที่จำเลยนำสืบ
 
1. การชุมนุมของจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เห็นได้จากการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมตลอดเส้นทางการเคลื่อนขบวน
 
2. การชุมนุมของจำเลยไม่มีเจตนาสร้างความเดือดร้อนต่อสาธารณะ
  • จำเลยไม่มีเจตนาปิดถนน แต่เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนถึงหลักพัน จึงล้นลงมาบนผิวจราจร
  • ผู้ที่ปิดเส้นทางการจราจรและนำแผงเหล็กมากั้นถนนคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • แม้การสัญจรทางถนนในบริเวณที่ชุมนุมจะไม่สะดวก แต่ผู้ใช้ถนนก็ยังใช้เส้นทางอื่นโดยรอบได้ การชุมนุมของจำเลยเริ่มขึ้นหลังเวลาเข้างานจึงไม่น่ากระทบกับการเข้าทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในสถานที่ราชการต่างๆ เป้าหมายของการชุมนุมคือมายื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีและมีความพยายามที่จะจำกัดระยะเวลาการชุมนุมให้สั้นที่สุด เมื่อไม่สามารถยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรงก็มีความพยายามที่จะประสานบุคคลอื่นเพื่อยื่นหนังสือแทน หลังบรรลุเป้าหมายก็เดินทางกลับทันทีโดยไม่มีการชุมนุมยืดเยื้อ
  • จำเลยมาชุมนุมเพราะต้องการร้องขอความเป็นธรรมและขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีเจตนาจะข่มขู่หรือคุกคามนายกรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่รัฐ การปราศรัยก็ไม่มีการพูดปลุกระดมมีแต่การร้องขอความเป็นธรรม และไม่มีการกำหนดเส้นตายใดๆ
3. จำเลยทั้งสามไม่ใช่แกนนำและไม่มีอำนาจสั่งการชุมนุม จำเลยที่หนึ่งแม้จะเป็นเลขาธิการของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจเพราะตามข้อบังคับของสหภาพฯ นโยบายหรือการตัดสินใจใดๆ ต้องอาศัยมติของที่ประชุมสหภาพ จำเลยที่สองมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างรับเงินเดือนของสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทยเท่านั้น และในวันเกิดเหตุ จำเลยที่สองก็ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาหรือการยื่นหนังสือ จำเลยที่สามเป็นที่ปรึกษาของสหภาพมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างรับเงินเดือนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เท่านั้นจึงไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ 
 
4. เหตุที่มีการดำเนินคดีนี้เพราะจำเลยมีปากเสียงกับพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เป็นการส่วนตัว พล.ต.ต.วิชัยจึงสั่งลูกน้องให้ดำเนินคดีกับจำเลย
 
 
บันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับย่อ
 
 
การสืบพยานโจทก์
 
23 สิงหาคม 2555 
 
 
 
24 สิงหาคม 2555
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง : ร.ต.ท.วีระชัย สังข์ศรี ผู้บันทึกภาพการชุมนุม รับราชการเป็นสารวัตรสืบสวนประจำสน.หลักสอง 
ร.ต.ท.วีระชัยเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นรองสารวัตรสืบสวนสน.ดุสิต รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามผู้ชุมนุม ให้ถ่ายภาพนิ่ง เสียง และภาพเคลื่อนไหว โดยวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้บังคับบัญชาแจ้งว่าจะมีผู้ชุมนุมจากบริษัทไทรอัมพ์มายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยานอยู่ในชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ตามถ่ายรูปมาตั้งแต่สนามม้านางเลิ้ง มีผู้ชุมนุมประมาณ 300-400 คน เต็มถนน ชูป้ายข้อความประท้วง ส่วนมากเป็นหญิง ไม่ทราบว่ามีอาวุธหรือไม่ มีรถปิ๊กอัพติดเครื่องขยายเสียงเพื่อให้เป็นเวทีปราศรัย เสียงดังได้ยินทั่ว ตอนแรกผู้ชุมนุมอยู่หน้าประตูสี่ ทำเนียบรัฐบาล ขณะนั้นปิดการจราจรตรงถนนพิษณุโลก แต่เปิดตรงป.ป.ช. พอผู้ชุมนุมมาถึงประตูสี่ก็ปิด เห็นนายสุนทร นางสาวจิตรา และนางสาวบุญรอดเป็นแกนนำ ทั้งสามขึ้นเวทีปราศรัย พูดเรื่องลูกจ้างบริษัทไทรอัมพ์ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พยานไม่ได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมเลย
 
ร.ต.ท. วีระชัยกล่าวว่า ดำเนินคดีนี้เพราะการชุมนุมทำให้วุ่นวาย มีการปิดถนนสี่ช่องทาง เปิดให้รถสวนสองช่วง ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมยื่นหนังสือได้หรือไม่ ผู้บังคับบัญชาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรื่องอย่างไรก็ไม่ทราบ คนงานถูกเลิกจ้างแล้วมานั่งเรียกร้องความเป็นธรรมบนถนนทำให้ประชาชนเดือดร้อน พยานเห็นว่าไม่เหมาะสม
 
ร.ต.ท.เบิกความว่า ผู้ชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นไปรัฐสภา หลังเคลื่อนขบวนไป ตำรวจก็เปิดเส้นทางจราจรปกติ ผู้ชุมนุมเคลื่อนสู่ถนนอู่ทองใน ปิดถนนตั้งแต่หัวโค้งสวนสัตว์ดุสิต เมื่อถึงหน้ารัฐสภา จำเลยทั้งสามก็สลับกันขึ้นปราศรัยเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและต้องการเข้าพบนายกรัฐมนตรี แผ่นป้ายที่ผู้ชุมนุมนำมาก็ปิดเส้นทางจราจร อย่างไรก็ดี ไม่มีการดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายกัน
 
ร.ต.ท. วีระชัยกล่าวว่า หน้ารัฐสภาใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงก่อนสลายตัวประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เคลียร์พื้นที่ให้เดินรถได้ตามปกติ ตอนแรกถ่ายสภาพการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล ตอนที่สองหน้ารัฐสภา ซึ่งปรากฏภาพของจำเลยทั้งสามคน
 
ตอบคำถามทนายความถามค้าน ร.ต.ท.วีระชัยให้การว่า ตามภาพที่ถ่ายได้นั้น ไม่เห็นจำเลยที่สามคือนางสาวจิตรา คชเดช ขึ้นเวทีปราศรัย นอกจากจำเลย มีผู้ชุมนุมหลายคนขึ้นปราศรัย ทุกคนพูดถึงความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมารับหนังสือด้วยตนเอง แต่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถออกมารับได้ เพราะติดประชุมที่รัฐสภา
 
ร.ต.ท.วีระชัยกล่าวว่า สองปีที่ดูแลเขตดุสิต บันทึกภาพการชุมนุมหน้ารัฐสภาหลายครั้ง ผู้ชุมนุมบางกลุ่มเท่านั้นที่ลงมาอยู่บนท้องถนน ไม่เสมอไปที่คนที่มาร้องเรียนต้องไปที่ประตูสี่ โดยปกติหากมีการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะจัดให้ผู้ชุมนุมไปยืนบนฟุตบาทหรือตรงปปช. ขึ้นอยู่กับจำนวนคนและระยะเวลา มีเจ้าหน้าที่จราจรมาอำนวยความสะดวก ตอนที่ขบวนคนงานมาถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่มีรถวิ่งแล้วเพราะรถตามหลังกลุ่มผู้ชุมนุมมา ตำรวจก็สั่งปิดถนน จัดให้รถเลี่ยงไปทางอื่น พอทราบว่ามีผู้ชุมนุมไม่ว่ามากหรือน้อย ตำรวจก็มักจะปิดถนนเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เนื่องจากอาจมีคนไม่พอใจแล้วขับรถชนผู้ชุมนุม
 
ศาลถามว่าใครสั่งปิดถนน ร.ต.ท.วีระชัยตอบว่า สารวัตรจราจร ผ่านการวิทยุติดต่อกันว่ามีการชุมนุม
 
ร.ต.ท.วีระชัยกล่าวว่า ไม่ทราบว่าแผงเหล็กตามภาพเป็นของสน.ดุสิต ปกติแล้วแผงเหล็กนี้ไม่ได้กั้นถนน ไม่ทราบว่าใครยกแผงเหล็กมากั้น เจ้าหน้าที่จะประสานกับฝ่ายจราจรตลอดว่าผู้ชุมนุมเดินปิดถนนมาหน้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่จราจรต้องปิดถนนเพื่อเตรียมรับผู้ชุมนุม ถ้ามีการประชุมสภา การจราจรสามารถปล่อยตามปกติได้ การเปิดเครื่องแอลแรดเป็นการเปิดเครื่องขยายเสียงเพื่อติดต่อกับคนงานไม่ใช่เพื่อสลายการชุมนุม พยานไม่ได้ยินเสียงจากแอลแรดรบกวน ไม่ทราบว่าเป็นเสียงจากเครื่องแอลแรด คิดว่าเป็นเสียงจากฝ่ายผู้ชุมนุม 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ สาม จ.ส.ต.ครรชิต คำสิงห์นอก ตำรวจรัฐสภา 
จ.ส.ต.ครรชิต เบิกความถึงลักษณะทั่วไปของทำเนียบรัฐบาลว่า ทำเนียบรัฐบาลมีทั้งหมดเก้าประตู สามป้อม ปกติการเดินทางเข้าออกของเจ้าหน้าที่ก็สามารถยื่นบัตรเข้าได้ทุกประตู ถ้าเป็นประชาชนที่ต้องการมาร้องทุกข์ก็มาที่ประตูสี่
 
ในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 พยานเข้าประจำการประตูสี่ตั้งแต่ 6.00-18.00 น. และทราบเหตุทางวิทยุศูนย์มัฆวานในเวลาประมาณ 9.00 น.ว่ามีผู้ชุมนุมซึ่งเป็นคนงานจากบริษัทไทรอัมพ์ จำนวนคนประมาณ 300-400 คน เคลื่อนขบวนมาตามถนนพิษณุโลกมุ่งหน้าไปสะพานชมัยมรุเชษฐ์ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม หลังได้รับแจ้งก็ออกมาดูและปิดประตูเองโดยที่ไม่มีใครสั่งการ เพราะกลัวว่าผู้ชุมนุมจะบุกเข้ามาและจะไม่ปลอดภัย เมื่อปิดประตูแล้วก็เอาแผงเหล็กกั้นด้านในแล้วก็ยืนอยู่แถวประตู เห็นนายสุนทร จำเลยที่สองขึ้นปราศรัยเรียกร้องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนอีกสองคนปราศรัยเรื่องอะไร จำไม่ได้ และจำไม่ได้ว่ามีการปราศรัยให้ปิดถนนหรือบุกทำเนียบหรือไม่ ไม่ได้เห็นผู้ชุมนุมทั้งหมดแต่เห็นว่าถือป้ายผ้าและปิดถนนสามช่องทาง อีกสองช่องให้รถผ่านได้ จำไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำอะไรบ้าง ทราบเพียงว่ามาขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและยื่นข้อเรียกร้อง ผู้ชุมนุมอยู่ตรงนั้นนานสองชั่วโมง หลังจากผู้ชุมนุมไปก็ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุมัฆวานว่าไม่มีอะไรแล้ว จึงเปิดประตูตามปกติ และรถก็วิ่งได้ตามปกติ
 
จ.ส.ต.ครรชิตตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า พยานประจำการมา 11 ปี เห็นการชุมนุมมาแล้วเกิน 100 ครั้ง ถ้าผู้ชุมนุมมาเยอะก็ต้องลงไปในผิวจราจร บางม็อบก็ปิดถนน บางม็อบก็ไม่ปิดถนน การชุมนุมครั้งนี้มีสาระสำคัญที่ปราศรัยคือ ผู้ใช้แรงงานได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ทำอาชีพโรงงานเย็บเสื้อผ้า ไม่มีการทะเลาะหรือดื่มสุรา ถ้าเทียบกับม็อบพันธมิตรหรือม็อบเสื้อแดง ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้สร้างความวุ่นวายน้อยกว่า โดยเฉพาะเรื่องการจราจร
 
จ.ส.ต.ครรชิต กล่าวว่า แผงเหล็กเป็นของตำรวจ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนนำมากั้น แต่ไม่เห็นผู้ชุมนุมแบกแผงเหล็กมาด้วย ถ้าผู้ชุมนุมมากันเยอะ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลการจราจรให้รถสามารถวิ่งสวนกันได้
 
จ.ส.ต.ครรชิตตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ตอนที่ได้รับแจ้งจากวิทยุ ไม่มีการแจ้งว่าใครเป็นผู้นำ แต่เหตุที่คิดว่าจำเลยที่สองเป็นแกนนำเนื่องจากเขาขึ้นปราศรัย แต่จำไม่ได้ว่านายสุนทรได้พูดยุยงให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่
 
จ.ส.ต.ครรชิตตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า การปิดประตูเป็นระบบรักษาความปลอดภัยเวลาที่มีม็อบมาอยู่แล้ว มิใช่ว่าได้รับแจ้งว่าผู้ชุมนุมมีทีท่าจะก่อความรุนแรง จึงต้องปิด
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่: พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1
(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)
พล.ต.ต.วิชัยเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลความเรียบร้อยของผู้ชุมนุมในเขตพื้นที่นครบาล 1 นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุดเจรจาต่อรองของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และเป็นคณะทำงานเกี่ยวกับการประสานงานการชุมนุมทั่วประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อมีการชุมนุม พล.ต.ต.วิชัย จะคอยดูแลความเรียบร้อยให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้ทำลายทรัพย์สินของราชการ หรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยจะต้องเจรจาต่อรองให้ผู้ชุมนุมทำตามกฎหมายทุกครั้ง และหากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม หรือทำผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินการทางกฎหมาย
 
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมของไทรอัมพ์ประมาณ 300-4–คนมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก จึงเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวและเจรจาต่อรองกับแกนนำ คือ จำเลยทั้งสาม เพื่อไม่ให้ปิดการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลก เนื่องจากจะทำให้กระทบต่อถนนพิษณุโลกและบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน สถานที่ราชการ และเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์ แต่จำเลยทั้งสามและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามและยังปิดช่องทางการจราจรมากขึ้น ทั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีเพียงประมาณสามร้อยคน สามารถอยู่บนฟุตบาทหรือปิดเพียงช่องการจราจรเดียวได้ แต่ผู้ชุมนุมปิดช่องการจราจรถึงสามช่องทางจากทั้งหมดห้าช่องทาง ทำให้จราจรจากสะพานชมัยมรุเชฐไปแยกมิสสักวันไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังปิดประตูทางเข้าออกประตู 3 และ 4 ของทำเนียบรัฐบาล ทำให้ข้าราชการไม่สามารถเดินทางเข้าไปทำงานได้ และยังปิดคอสะพานชมัยมรุเชษฐซึ่งเป็นช่องทางที่เดินไปยังประตู 1 และ 2 อีกด้วย การปิดถนนดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง เนื่องจากถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางหลัก มีผลทำให้ประชาชนไม่พอใจและทำการต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ผู้ชุมนุมปิดถนนเพื่อกดดันให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ออกมารับหนังสือร้องเรียนภายในเวลาไม่เกิน 12.00 น. ของวันนั้น ตามปกติแล้วการชุมนุมจะมีเจ้าหน้าที่จากทำเนียบรัฐบาลมารับหนังสือร้องเรียน แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้นายกมารับหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งในขณะนั้นนายกฯ ไปประชุมที่รัฐสภา ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องจากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมยังปราศรัยโจมตีการทำงานของผู้บริหารไทรอัมพ์
 
พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มาก แต่นั่งกระจายกัน โดยจงใจที่จะไม่ให้รถผ่านเส้นทางดังกล่าวได้ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่จำเลยทั้งสามพูดชี้นำตามเครื่องกระจายเสียง การชุมนุมครั้งนี้มีจำเลยทั้งสามเป็นแกนนำ แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมได้มาชุมนุมหลายครั้งแล้วแต่ไม่ได้มีการดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีการก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบกับสิทธิของผู้อื่น
พล.ต.ต.วิชัย เบิกความว่า เมื่อถึงเวลา 12.00 น.เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้แจ้งว่านายกฯ อยู่ที่รัฐสภา จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นแกนนำจึงนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังรัฐสภา โดยผู้ชุมนุมปิดถนนอู่ทองในทั้งหมดรวมทั้งประตู 1 และ 2 ของรัฐสภา และประตูเขาดินไม่ให้เข้าออกได้ด้วย ทั้งนี้ผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กที่เจ้าหน้าที่เก็บไว้บริเวณริมเขาดินวนามากั้นถนน การปิดถนนอู่ทองในทำให้มีผลกระทบถึงถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี และถนนสุโขทัย ซึ่งเชื่อมต่อกัน ก่อให้เกิดผลกระทบกับการจราจรเป็นวงกว้าง ถนนสายดังกล่าวยังเป็นเส้นทางเสด็จ การกระทำดังกล่าวเป็นก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย
 
พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า ได้พยายามเจรจากับแกนนำและผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้ปิดถนน แต่ไม่ได้สั่งให้มีการเลิกชุมนุมเนื่องจากเป็นสิทธิของผู้ชุมนุมที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญหากไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น
 
พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่าในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่นำแอลแรด มาเปิดใช้ในระดับเครื่องขยายเสียง ไม่ใช่ระดับการควบคุมฝูงชน หรือ สลายการชุมนุม
 
พล.ต.ต.วิชัยตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ติดใจจะดำเนินคดีกับจำเลย เพราะปิดถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภา แต่การปิดถนนบริเวณถนนพิษณุโลกพอจะอนุโลมได้ จำเลยทั้งสามเป็นแกนนำประกาศให้ปิดถนนอู่ทองใน โดยพิจารณาจากการเจรจา การติดต่อประสานว่า สามารถพูดคุยกับใครได้ ทั้งนี้พยานไม่เคยมีปากเสียงกับจำเลย
 
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ไม่ทราบคุณสมบัติของเครื่องแอลแรด แต่ได้ให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าสามารถใช้เป็นเครื่องขยายเสียงและควบคุมฝูงชนได้ โดยการใช้เครื่องในวันเกิดเหตุเป็นการใช้เพื่อการสื่อสาร ที่มีเสียงวี๊ดในบางช่วงเนื่องจากตัดสัญญาณไม่ให้เข้าไปรบกวนในรัฐสภา แต่ไม่ได้ใช้เพื่อสลายการชุมนุม เนื่องจากหากต้องการใช้ในลักษณะดังกล่าว เครื่องจะมีเสียงดังและต้องเปิดในระยะยาวมาก ทราบว่ามีผู้ชุมนุมไปร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯ ว่าได้รับผลกระทบการเครื่องดังกล่าวทำให้แก้วหูอักเสบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวจำนวนหลายร้อยคน ไม่มีผู้ใดได้รับผลกระทบดังกล่าว พล.ต.ต.วิชัย เข้าใจว่า เครื่องแอลแรดใช้ควบคุมฝูงชนในทางสากล ไม่ทราบว่าเป็นอาวุธสงครามหรือไม่ 
 
พล.ต.ต.วิชัยตอบคำถามค้านพยานจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 พูดให้ผู้ชุมนุมปิดการจราจร และตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ ๓ ว่า การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมไม่ขัดขวางสิทธิในการชุมนุมของผู้ชุมนุม 
 
พล.ต.ต.วิชัยตอบคำถามติงของอัยการว่า ผลรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ปรากฏว่าการใช้เครื่องแอลแรดของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า : พ.ต.ท. สมบัติ เหมมันต์ พนักงานสอบสวนสน.ดุสิต 
(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)
 
พ.ต.ท.สมบัติ เป็นพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต และเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ทั้งนี้พ.ต.ท.สมบัติ เบิกความรับรองเอกสารทั้งหมดในคดีนี้ โดยเป็นผู้จัดทำบันทึกตรวจที่เกิดเหตุ จัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ และเป็นผู้สอบปากคำ พันตำรวจตรีณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ ซึ่งเป็นผู้กล่าวโทษหรือผู้กล่าวหาในคดีนี้ โดยได้ไปขอแผ่นซีดีเหตุการณ์ชุมนุมจากช่อง 9 อสมท. จากนั้นจึงออกหมายจับจำเลยทั้งสาม 
 
จำเลยที่หนึ่งและสามขอมอบตัวและให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่มีเจตนาให้ประชาชนผู้ใช้ถนนเดือดร้อน ต่อมาจำเลยที่สองเข้ามอบตัวและให้การเช่นเดียวกัน พ.ต.ท.สมบัติยังได้สอบปากคำพยานคือ นายเก่งกิจ กิติเรีองลาภ (นักวิชาการด้านแรงงาน) ตามที่จำเลยที่สามขอความเป็นธรรม รวมถึงสอบปากคำ นายบุญยืน สุขใหม่ (นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน และผู้พิพากษาสมทบของศาลแรงงาน) ด้วย
 
พ.ต.ท.สมบัติ ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่หนึ่งว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 การมั่วสุมมากกว่า 10 คนขึ้นไปจะต้องมีเจตนากระทำผิดกฎหมาย แต่เจตนาของผู้ชุมนุมมีเพื่อจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องจากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การที่พยานมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้เพราะผู้ชุมนุมปิดถนนบริเวณหน้าทำเนียบและรัฐสภา เป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยทั้งสามก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนน้อย การปิดถนนจึงไม่เหมาะสม แต่ในการสอบสวน ไม่ได้สอบสวนถึงเหตุที่ผู้ชุมนุมลงไปอยู่บนถนน
 
พ.ต.ท.สมบัติ กล่าวว่า พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้สั่งให้พ.ต.ท.ณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ มากล่าวโทษ แต่ไม่ทราบว่าพล.ต.ต.วิชัยกับจำเลยทั้งสามมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนหรือไม่ 
 
พ.ต.ท.สมบัติ กล่าวว่า เมื่อถนนอู่ทองในถูกปิด ประชาชนสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นได้ และเมื่อมีชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจะมาอำนวยความสะดวกเสมอ ทั้งนี้ ไม่ทราบเกี่ยวกับการเปิดเครื่องแอลแร็ด (LRAD – เครื่องขยายเสียงความถี่สูงระยะไกล) ในวันเกิดเหตุ
 
พ.ต.ท.สมบัติกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้มาจากบริษัทไทรอัมพ์เท่านั้น แต่มาจากบริษัทเอนิออนและเวิร์ลเวลการ์เม้นท์ด้วย และตามแนวทางการสอบสวน คนงานไทรอัมพ์ถูกเลิกจ้างประมาณ 1,959 คน วัตถุประสงค์ที่มาชุมนุมเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากนายจ้าง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะปิดถนน ในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนออกันอยู่หน้าประตู 4 จนล้นไปถึงผิวถนน และในการชุมนุมทุกครั้ง จะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปอำนวยความสะดวกในการจราจรและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม
 
พ.ต.ท.สมบัติตอบคำถามติงของพนักงานอัยการว่า สอบสวนได้ความว่า จำเลยทั้งสามเป็นหัวหน้าในการชุมนุม และการที่รถติดในวันดังกล่าว ต่างจากการรถติดแบบทั่วไป มิใช่เพราะรถบนถนนมากตามธรรมชาติ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก :นายสิทธิชัย ซื่อสัตย์ดี พนักงานรักษาความปลอดภัย รัฐสภา
(ข้อมูลการสืบพยานปากนี้สรุปจากเอกสารของศาล เนื่องจากการสืบพยานนัดนี้ iLawไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง)
 
นายสิทธิชัย เบิกความว่า ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในรัฐสภา ในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมของบริษัทไทรอัมพ์ จำนวน300-400คน ทยอยเดินทางมาเพื่อปิดถนนอู่ทองในทั้งฝั่งขาไปและกลับ จึงออกไปดู เห็นรถยนต์เครื่องขยายเสียงที่ใช้เป็นเวทีปราศรัยจอดอยู่หน้ารั้ว ในขณะนั้น รถวิ่งผ่านไปมาบริเวณดังกล่าวไม่ได้แล้ว เห็นคนขึ้นปราศรัยจำนวนสามคน เป็นผู้หญิงสองและชายหนึ่งคน เนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับการที่คนงานไทรอัมพ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม และกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี
 
นายสิทธิชัยกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหญิงมากกว่าชาย มีวิธีการชุมนุมโดยจับกลุ่มกันอยู่บนท้องถนน และส่งเสียงปรบมือเชียร์ผู้ปราศรัย ตั้งแต่เวลา 12.00-15.00 น. ที่สุดแล้วนายกฯ ไม่ได้ออกมารับหนังสือ แต่ส่งตัวแทนออกมารับหนังสือและพูดคุย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายการชุมนุม 
 
นายสิทธิชัยตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ถนนราชวิถีนั้น การจราจรติดขัดเป็นปกติ และหากถนนถูกปิด ผู้ใช้ถนนสามารถเลี่ยงไปใช้ทางอื่นได้ ปกติจะมีผู้ชุมนุมมาชุมนุมหน้ารัฐสภาเป็นประจำ แต่จะปิดถนนหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเห็นว่า การที่ผู้ชุมนุมปิดถนนทำให้รถยนต์ติดขัดไม่น่าจะเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมควรใช้วิธีส่งตัวแทนมามอบหนังสือแทน หรือหากจะมีการชุมนุมก็ควรคาดการณ์ก่อนว่า พื้นที่นั้นจะเพียงพอกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ 
 
นายสิทธิชัยกล่าวว่า ปกติ ในบริเวณที่เกิดเหตุจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกให้ และการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้รบกวนการประชุมในรัฐสภาแต่อย่างใด
 
นายสิทธิชัย ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่สองว่า แม้ถนนอู่ทองในปิดแล้ว ยังมีตำรวจจราจรโบกรถให้ความสะดวกกับรถที่ผ่านไปมาอยู่ ประชาชนที่ต้องการเข้าไปในสวนสัตว์ก็สามารถซื้อบัตรและขับรถเข้าไปได้โดยใช้ประตูถนนราชวิถีและถนนพระราม 5 และในรัฐสภายังคงมีร้านอาหารสวัสดิการเปิดขายตามปกติ 
นายสิทธิชัยตอบคำถามติงของพนักงานอัยการว่า การชุมนุมไม่จำเป็นต้องปิดถนนอู่ทองใน เนื่องจากพื้นที่บริเวณฝั่งเขาดินมีพื้นที่มากแล้ว 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ หนึ่ง นางสาวจิตรา คชเดช จำเลยที่สาม 
นางสาวจิตรา คชเดช เบิกความว่า ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง พยานเป็นลูกจ้างของสหภาพ โดยเป็นที่ปรึกษาของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2551 เคยเป็นพนักงานของบริษัท และเป็นประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 
 
นางสาวจิตราเล่าว่า ในปี 2552 บริษัทมีลูกจ้างประมาณ 4,200 คน ตามประกาศลงวันที่ 29 มิถุนายน 2552 บริษัทเลิกจ้างคนงานจำนวน 1,959 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ บริษัทให้เหตุผลว่าต้องการปรับโครงสร้างเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ การเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 29 สิงหาคม 2552 ซึ่งสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน คนที่ถูกเลิกจ้างมีทั้งผู้หญิงท้อง ผู้หญิงแก่ และผู้หญิงพิการจำนวนมาก ด้านกรรมการสหภาพฯ ถูกเลิกจ้าง 13 คน จากทั้งหมด 20 คน
 
นางสาวจิตราเบิกความว่า สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ดำเนินการดังต่อไปนี้ หนึ่ง ทำหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างต่อบริษัทบอดี้แฟชั่น สอง ทำหนังสือร้องเรียนไปที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ สาม ทำหนังสือไปที่สำนักงานใหญ่ไทรอัมพ์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สี่ เดินขบวนไปร้องเรียนที่สถานทูตเยอรมัน เพราะเจ้าของบริษัทเป็นชาวเยอรมัน ห้า ยื่นหนังสือไปที่สหภาพยุโรป หก ยื่นหนังสือไปที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ช่วยตรวจสอบการลงทุนของบริษัท 
 
นางสาวจิตรากล่าวว่า การยื่นหนังสือแต่ละครั้ง จะนัดรวมตัวกันใกล้พื้นที่ที่จะไปแล้วเดินขบวนไป โดยมีคนงานมาร่วมเดินขบวนประมาณ 1,000-1,200 คน ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้ง 
 
นางสาวจิตราเบิกความว่า หลังการดำเนินการต่างๆ ก็ไม่คืบหน้า เมื่อการจ้างงานใกล้จะสิ้นสุดลง วันที่ 6 สิงหาคม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงเดินขบวนไปยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากนายกฯ เคยแถลงนโยบายชะลอการเลิกจ้างไว้ หลังจากยื่นหนังสือแล้วไม่มีการตอบรับ ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงประชุมกันว่า ต้องไปทวงถามถึงหนังสือที่ยื่น และประสานงานกับสหภาพแรงงานอื่นๆ ที่ต้องการไปร้องเรียนรัฐบาลเพื่อจะได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่
นางสาวจิตราเบิกความว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา เพราะคนงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว แต่ละคนเดินทางมาด้วยตัวเอง สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ได้ยื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการแรงงานที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. ซึ่งจำเลยได้เข้าไปด้วย แต่ที่หน้าทำเนียบไม่มีใครมารับหนังสือ จึงมีมติร่วมกับกลุ่มสหภาพอื่นๆ ว่าจะเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพราะตำรวจแจ้งว่าไม่มีฝ่ายการเมืองที่สำคัญอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ไปอยู่ที่รัฐสภากันหมด คนงานจึงเคลื่อนขบวนไปรัฐสภา โดยมีตำรวจโบกรถอำนวยความสะดวกให้ 
 
นางสาวจิตราเล่าว่า ตอนเดินขบวนออกจากหน้าทำเนียบฯ บนถนนฝั่งขวามือก็ยังมีรถวิ่ง ส่วนเลนที่ผู้ชุมนุมเดินก็ไม่มีรถสวนมา เข้าใจว่าตำรวจจัดการจราจรไว้ดีแล้ว พอมาถึงหน้ารัฐสภา ก็อยู่ตรงบริเวณประตูหนึ่ง เห็นว่ามีแผงเหล็กกั้นอยู่ก็เข้าใจว่าตำรวจกั้นพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม โดยตำรวจบอกว่า อยู่บริเวณประตูได้แต่ห้ามเข้าไปในประตูสองเพราะจะให้รถเข้าออก วันนั้นประตูใหญ่ปิด แต่ประตูเล็กเข้าออกได้ ผู้ชุมนุมไปถึงเกือบ 13.00 น. แต่พอไม่มีใครออกมารับหนังสือ ก็รอ มีการเชิญตัวแทนขององค์กรต่างๆ ขึ้นปราศรัย ร้องเพลง และเล่าเรื่องที่ถูกกระทำจากนายจ้าง ปัญหาที่องค์กรของตัวเองได้รับผลกระทบและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา
 
นางสาวจิตราเล่าต่อว่า ผู้ชุมนุมประสานนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน ซึ่งเป็นที่รู้จักของแรงงานให้ช่วยประสานนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน นายสถาพรแจ้งว่านายวิทยาจะออกมารับหนังสือ สหภาพก็ให้ตัวแทนขึ้นชี้แจงผู้ชุมนุมว่าจะยื่นหนังสือให้ประธานวิปฝ่ายค้านแทน ตำรวจก็ชักแถวเข้าไปภายในรัฐสภาแล้วเปิดเครื่องเสียง ตอนแรกเข้าใจว่าตำรวจปรับเสียงเครื่องเสียงไม่ดีจึงเกิดเสียงดังรบกวน ทำให้คุยกันไม่รู้เรื่อง มาทราบทีหลังว่าเครื่องเสียงนั้นคือเครื่องส่งเสียงความถี่สูงระยะไกล หรือ LRAD ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในสงคราม รัฐบาลซื้อมาเพื่อใช้สลายการชุมนุม ต่อมาตำรวจก็แถลงข่าวว่าการนำมาใช้กับผู้ชุมนุมไทรอัมพ์เป็นการทดลองใช้
 
นางสาวจิตราเบิกความต่อว่า ต่อมาขึ้นเวทีชี้แจงขอร้องให้ตำรวจหยุดเครื่องเสียง พอยื่นหนังสือเสร็จก็จะแยกย้ายกันกลับเลย จากนั้นตำรวจก็หยุดเครื่องเสียง แล้วให้ตัวแทนสิบคนแลกบัตรเข้าไปในรัฐสภา 
 
นางสาวจิตราเล่าว่า ระหว่างนั่งรอนายวิทยามารับหนังสือ พ.ต.ท.วิชัย สังข์ประไพเข้ามาในห้องแลกบัตรแล้วพูดว่า พวกคุณทำไมต้องมาวุ่นวายที่หน้ารัฐสภาด้วย จะมาทำไมที่นี่ จึงพูดว่า ทำไมตำรวจไม่จับนายจ้างเอนีออนที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ถ้าตำรวจทำตามกฎหมาย พวกเราก็ไม่มาที่นี่ จากนั้น พ.ต.ท.วิชัยก็บอกให้นายตำรวจที่มาด้วยสองนายว่า ให้จับฐานหมิ่นเจ้าพนักงาน แต่ตำรวจสองนายนั้นก็ไม่เข้ามาจับ พ.ต.ท.วิชัยจึงเดินเข้ามา ตัวแทนที่มาด้วยกันสองคนก็ลุกขึ้นบัง นายสถาพรที่อยู่ด้วยจึงห้าม พ.ต.ท.วิชัยก็ชี้หน้าแล้วพูดว่า "กูจะออกหมายจับพวกมึง พวกมึงเจอดีแน่" ก็ตอบไปว่า ขอให้ท่านปฏิบัติตามกฎหมาย
นางสาวจิตราเบิกความว่า หลังยื่นหนังสือกับนายวิทยาและนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เวลาประมาณ 17.00 น.ก็กลับมาชี้แจงต่อผู้ชุมนุม ไม่ถึงห้านาที ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกัน 
 
นางสาวจิตรากล่าวว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นลูกจ้างของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเลขาธิการของสหภาพ ไม่มีอำนาจสั่งการผู้ชุมนุม การชุมนุมและการเคลื่อนขบวนไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ที่กล่าวหาว่ามาก่อความวุ่นวายโดยการปิดถนนไม่เป็นความจริง เมื่อปิดถนนอู่ทองในก็สามารถใช้ถนนราชวิถีหรือใช้เส้นทางอื่นได้ ที่เคยไปยื่นหนังสือตามที่ต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดี คิดว่าที่ถูกดำเนินคดีก็เพราะ พ.ต.ท.วิชัย สังข์ประไพ ไม่พอใจอย่างมาก 
 
นางสาวจิตราตอบคำถามอัยการว่า การชุมนุมครั้งนี้นานประมาณสิบชั่วโมง มีการนัดหมายและประสานงานกันมาก่อน ระหว่างการชุมนุม ได้พูดคุยกับจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองบ้าง
 
นางสาวจิตราตอบคำถามทนายความว่า การชุมนุมกินระยะเวลานานเพราะไม่บรรลุเป้าหมาย คือไม่ได้ยื่นหนังสือ หากมีผู้มารับหนังสือ การชุมนุมก็จะยุติลงอย่างรวดเร็ว การชุมนุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ก็ใช้เวลาไม่นาน เมื่อมีผู้มารับหนังสือผู้ชุมนุมก็สลายตัวไป
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง: นางสาวบุญรอด สายวงศ์ จำเลยที่หนึ่ง เบิกความให้ตัวเอง
นางสาวบุญรอดเบิกความว่า ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง วันเกิดเหตุเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อถามความคืบหน้าของหนังสือที่ยื่นไว้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 โดยทำงานกับบริษัทบอดี้แฟชัน และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับองค์กรต่างๆ จัดการประชุมสมาชิกสหภาพ รวมทั้งดูแลแก้ปัญหากรณีเลิกจ้าง ผู้ชุมนุมนัดพบกันที่บ้านพิษณุโลกในเวลา 9.00 น. เมื่อมาถึงจุดนัดพบ เห็นว่ามีทั้งคนงานจากไทรอัมพ์ เอนี่ออน และเวิลด์เวลการ์เม้นท์รวมตัวอยู่แล้ว
นางสาวบุญรอดเบิกความว่า ก่อนชุมนุมประสานงานไปที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ 26 สิงหาคมว่า จะมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานไปชุมนุม ขณะผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่ที่บ้านพิษณุโลก มีตำรวจมาถามถึงเส้นทางที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวน และมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม เมื่อมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณที่เลยประตูสี่ออกไป มีตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นไว้ ต่อมาตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์
 
บุญรอดกล่าวว่า มีพนักงานไทรอัมพ์ประมาณ 1,200 คน แต่ละสายการผลิตจะมาร่วมชุมนุมสายละ 20 คน ทั้งหมด 57 สาย ถนนฝั่งสำนักงานก.พ.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลรถวิ่งสวนตามปกติ ไม่มีการปิดถนน มีเพียงฝั่งทำเนียบรัฐบาลเท่านั้นที่ปิดการจราจร ผู้ชุมนุมมาถึงประตูสี่ของทำเนียบรัฐบาลประมาณ 10.00 น. รอจน 12.00 น. ไม่มีผู้ใดออกมารับหนังสือ เมื่อประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลว่าเหตุใดจึงไม่มีคนมารับหนังสือ ทราบว่า ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไปร่วมประชุมกับทางสภา หากผู้ชุมนุมต้องการยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีควรจะไปที่รัฐสภา 
บุญรอดให้การว่า เนื้อหาที่ปราศรัยส่วนใหญ่พูดถึงความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของบรรษัทข้ามชาติ ไม่ได้ยุยงให้ผู้ชุมนุมไปประทุษร้ายผู้อื่นหรือก่อความวุ่นวาย 
 
นางสาวบุญรอดเบิกความว่า พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ มาขอให้พาผู้ชุมนุมขึ้นฟุตบาท พยานตอบว่าผู้ชุมนุมมาจากหลายองค์กร ไม่สามารถสั่งใครได้ ขอให้พล.ต.ต.วิชัย ช่วยประสานให้ทางรัฐบาลส่งตัวแทนมารับหนังสือ จะได้ยุติการชุมนุม พล.ต.ต.วิชัยตอบว่าไม่ได้สั่งให้เลิก เพียงแต่ขอให้ประสานให้ผู้ชุมนุมมายืนบริเวณทางเท้าเท่านั้น 
 
นางสาวบุญรอดตอบคำถามทนายจำเลยที่สามว่า จำเลยที่สามไม่ได้ร่วมขบวนการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย แต่ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือกับกรรมาธิการแรงงาน 
 
นางสาวบุญรอดกล่าวว่า หลังหารือระหว่างกลุ่มที่มาชุมนุมต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ได้ข้อสรุปว่าควรไปยื่นหนังสือหน้ารัฐสภา ทางผู้ชุมนุมจึงประสานไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ด้วย ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคม ไม่มีรถสวนมา เมื่อถึงหน้ารัฐสภาพบว่ามีแผงเหล็กกั้นอยู่ก่อนถึงประตูสอง รถยนต์สามารถเข้าออกทางประตูสอง หลังขบวนมาถึงรัฐสภา เจ้าหน้าที่จึงนำแผงเหล็กมาปิดท้ายขบวนที่ประตูหนึ่ง ผู้ชุมนุมประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาขอยื่นหนังสือกับนายกฯ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการประสานกลับมา จนเวลา 14.00 น. ผู้ชุมนุมหารือกันอีกครั้ง ข้อสรุปที่ได้คือจะเปลี่ยนไปยื่นหนังสือกับประธานวิปฝ่ายค้าน ตัวแทนผู้ชุมนุมได้รับอนุญาตให้เข้าไปในรัฐสภาประมาณ 14.30 น. ขณะรอในห้องประชุม พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพเดินเข้ามาถามทำนองว่า มาก่อความวุ่นวายทำไม จำเลยที่สามคือนางสาวจิตรา คชเดช ตอบว่าไม่ได้มาก่อความวุ่นวาย หากตำรวจไปจับนายจ้างที่ละเมิดกฎหมาย ก็คงไม่ต้องมาชุมนุม พล.ต.ต.วิชัยไม่พอใจพร้อมสั่งให้ตำรวจผู้ติดตามจับกุมจำเลยที่สามข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ตำรวจผู้ติดตามนิ่งเฉย พล.ต.ต.วิชัยจึงเดินมาหาจำเลยที่สามด้วยตนเอง ขณะนั้น นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ผู้อยู่ในที่เกิดเหตุได้ห้ามพล.ต.ต.วิชัยไม่ให้ทำการใดๆ พล.ต.ต.วิชัยจึงกล่าวขึ้นว่า "พวกมึงเจอดีแน่ กูจะไปออกหมายจับพวกมึง" 
 
นางสาวบุญรอดกล่าวว่า ขณะเจ้าหน้าที่เปิดเครื่องแอลแรด นางสาวบุญรอดอยู่นอกรัฐสภาโดยกำลังประสานงานกับประธานวิปรัฐบาลเพื่อขอยื่นหนังสือ เครื่องแอลแรดทำให้การประสานงานติดขัดเพราะมีเสียงรบกวน อย่างไรก็ตาม พยานทราบภายหลังว่า ตำรวจใช้เครื่องแอลแรด เนื่องจากพล.ต.ต.วิชัยให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ โดยคนงานห้าคนไปพบแพทย์เพราะรู้สึกอ่อนเพลียและหูอื้อ แพทย์วินิจฉัยว่าคนงานมีอาการหูอักเสบ พยานและตัวแทนคนงานยื่นหนังสือต่อนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ขณะพูดคุยกับประธานวิปฝ่ายค้าน เจ้าหน้าที่มาประสานว่า รมว.กระทรวงแรงงานรอพบอยู่ หลังหารือกับประธานวิปฝ่ายค้าน จึงไปพบกับ รมว.กระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือ วันเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่มาสั่งให้เลิกชุมนุม หนังสือที่ยื่นกับประธานวิปฝ่ายค้านและรมว.กระทรวงแรงงานเป็นฉบับเดียวกับที่จะนำมายื่นให้กับนายกรัฐมนตรี หลังยื่นหนังสือ จึงเลิกชุมนุมประมาณ 17.00 น. ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุมครองตามรัฐธรรมนูญ 2550 ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ผู้นำแผงเหล็กมาตั้งคือตำรวจ ส่วนป้ายผ้าเป็นของคนงานที่นำไปผูกไว้ภายหลัง 
 
29 พฤษภาคม 2556
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม นายสุนทร บุญยอด จำเลยที่สองเบิกความให้ตัวเอง
นายสุนทรปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
นายสุนทร เบิกความว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของสภาศูนย์กลางแรงงานฯ ตั้งแต่ปี 2551จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ และให้คำปรึกษากับสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงาน
 
นายสุนทร เบิกความเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาศูนย์กลางแรงงานฯ และกล่าวว่า ในช่วงระหว่างปี 2551- 2553 นายบรรจง บุญรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสภาศูนย์กลางแรงงานฯ
นายสุนทร เบิกความต่อเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องระหว่างสภาศูนย์กลางแรงงานฯ กับ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) (สหภาพแรงงาน เอนี่ออนฯ) และเล่าปัญหาของสหภาพแรงงานเอนี่ออนฯ โดยเบิกความว่า ปัญหาของสหภาพแรงงานเอนี่ออนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 คนงานทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง นายจ้างไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2550 นอกจากนี้ยังมีการปิดโรงงานชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 โดยอาศัยมาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ด้วย เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ทางสหภาพแรงงานเอนี่ออนฯ และสภาศูนย์กลางแรงงานฯ ทำหนังสือร้องเรียนไปยังพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ ทางสภาศูนย์กลางแรงงานฯ ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกฯ ต่อกรณีดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ด้วย ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2552 ทางบริษัทเอนี่ออนปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงาน 300 คน สภาศูนย์กลางแรงงานฯ จึงยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสองฉบับ และถึงนายกรัฐมนตรีหนึ่งฉบับ หลังยื่นหนังสือถึงพนักงานตรวจแรงงานชลบุรีก็มีคำสั่งให้บริษัทเอนี่ออนจ่ายเงินชดเชยแต่บริษัทก็ไม่ปฏิบัติตาม 
 
นายสุนทร เบิกความว่า ในวันที่ 27 สิงหาคม เช้าวันนัดหมาย เดินทางไปที่บ้านพิษณุโลกด้วยตนเอง เมื่อไปถึงพบกับสมาชิกสหภาพแรงงานเอนี่ออนฯ ประมาณ 300 คน ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำแรงงานจากกลุ่มอื่น เท่าที่ทราบคือ นายบรรจงซึ่งเป็นประธานสภาศูนย์กลางแรงงานฯ และ กันยาภรณ์ ซึ่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานเอนี่ออนเท่านั้น ไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าและไม่มีอำนาจใดๆ
 
นายสุนทรกล่าวต่อถึงการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมว่า เป็นการเดินเรียงแถวหน้ากระดานชิดซ้าย ความกว้างของขบวนกินพื้นที่ประมาณสองช่องทางจราจร ระยะทางของการเดินขบวนประมาณหนึ่งกิโลเมตร ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนก็มีตำรวจมาอำนวยความสะดวก โดยมาคอยกันรถให้ ผู้ชุมนุมไม่ได้ไปยุ่งกับการจราจร และแผงเหล็กที่อยู่บนถนนเป็นของตำรวจ
 
นายสุนทรเบิกความว่า หลังปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลประมาณหนึ่งชั่วโมง มีผู้มาประสานให้ขึ้นปราศรัยบนเวที จึงขึ้นไปเล่าความเดือดร้อนและชี้แจงจุดประสงค์ ไม่ได้พูดล้อเลียนตำรวจหรือพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพแต่อย่างใด เมื่อเวลาราว12.00 น. ทราบจากนายบรรจงว่าไม่มีผู้มีอำนาจอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีประชุมรัฐสภา จึงเดินไปหน้ารัฐสภาพร้อมกับผู้ชุมนุม การจราจรฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเป็นไปโดยปกติ ผู้ชุมนุมไม่ได้ปิดถนนหรือปิดกั้นการจราจร เจ้าหน้าที่รัฐสภานำโซ่มาคล้องประตู แต่คนที่ทำงานข้างในสามารถเข้าออกตามปกติ การจราจรจากบริเวณบ้านพิษณุโลกมายังบริเวณรัฐสภาเป็นปกติ รถเคลื่อนตัวได้
 
นายสุนทร เบิกความว่า ขณะขบวนเคลื่อนจากหน้าทำเนียบรัฐบาลไปยังหน้ารัฐสภา พยานมองไม่เห็นว่าใครเป็นผู้นำขบวนเพราะอยู่ด้านหลัง ขณะที่ขบวนเคลื่อนผ่านสี่แยกมิสกวัน ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกโดยกั้นรถให้ ขณะที่เดินก็มีรถสวนมาตามปกติ เมื่อประมาณ 13.00 น. ขบวนของผู้ชุมนุมมาถึงหน้ารัฐสภา พยานและผู้ชุมนุมจากบริษัทเอนี่ออนรวมตัวกันบริเวณประตูหนึ่งของรัฐสภา ตำรวจนำแผงเหล็กมาตีกรอบกั้นจัดเขตการชุมนุมให้กับผู้ชุมนุม แต่ประชาชนทั่วไปสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นในการสัญจรได้ สถานการณ์โดยทั่วไปถือว่าสงบ ไม่มีความวุ่นวาย
 
นายสุนทรกล่าวว่า เมื่ออยู่ที่หน้ารัฐสภา มีโอกาสขึ้นปราศรัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ปราศรัยชี้แจงในแนวทางเดียวกับที่ปราศรัยบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้พูดพาดพิงใครและไม่มีเรื่องขัดแย้งกับ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ 
 
นายสุนทรเบิกความถึงการใช้เครื่องแอลแรดกับผู้ชุมนุมว่า ทำให้ผู้ดำเนินรายการบนเวทีไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชุมนุมได้ ตำรวจเปิดเครื่องทั้งหมดสองครั้ง แต่ละครั้งกินเวลาประมาณห้าถึงสิบนาที 
 
นายสุนทรกล่าวว่าการชุมนุมยุติลงเมื่อเวลาประมาณ17.00 น. ผู้ชุมนุมสลายตัวหลังรับฟังการชี้แจงจากตัวแทนที่เข้าไปในรัฐสภา พยานเพิ่งทราบภายหลังว่าตัวแทนของสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์มีปากเสียงกับตำรวจ โดยผู้ที่เล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้ฟังคือนายบรรจง 
 
นายสุนทรตอบทนายจำเลยที่หนึ่งว่า ไม่เห็นจำเลยที่หนึ่งปราศรัยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่เห็นจำเลยทั้งสองขึ้นเวทีเพื่อขอให้ตำรวจยุติการใช้เครื่องเสียง ไม่ได้ยินว่ามีการพูดถึงเรื่องอื่นและไม่ได้ยินว่ามีการพูดปลุกระดม 
 
นายสุนทรตอบอัยการถามค้านเกี่ยวกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดชลบุรีว่า ตามคำสั่งการจ่ายเงินชดเชยจะมีกำหนด 30 วัน นับจากวันที่นายจ้างรับทราบคำสั่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่านายจ้างรับทราบคำสั่งเมื่อใด 
 
นายสุนทรตอบทนายความจำเลยที่หนึ่งถามติงว่า จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สี่ : นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวอิสระ พยานผู้เห็นเหตุการณ์
นายเทวฤทธิ์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและกำลังศึกษาระดับปริญญาโท ประเด็นที่สนใจคือนโยบายด้านสังคมและนโยบายแรงงาน พยานรู้จักจำเลยทั้งสามเพราะต้องหาข้อมูลมาทำวิทยานิพนธ์เรื่องนโยบายสวัสดิการและแรงงานของรัฐ
 
นายเทวฤทธิ์กล่าวว่ามารู้จักนายสุนทรในภายหลัง แต่รู้จักจำเลยที่สามและจำเลยที่หนึ่งมาก่อน เพราะเคยเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของแรงงานไทรอัมพ์ ในระหว่างที่เข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของคนงาน ก็บันทึกภาพและวีดีโอของกลุ่มคนงานที่ทำการประท้วงบริเวณหน้าโรงงานไว้ด้วยเป็นฐานข้อมูลส่วนตัว ภาพและวีดีโอบางส่วนทำเป็นข่าวส่งให้เว็บไซต์ประชาไท
 
นายเทวฤทธิ์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ผู้ชุมนุมเป็นคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากสามบริษัท ทราบว่าคนงานเคยมายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2552 แล้ว การเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้จึงมาติดตามความคืบหน้า ส่วนคนงานอีกสองบริษัทมาชุมนุมเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก มีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าร่วมการชุมนุมด้วย
นายเทวฤทธิ์เบิกความว่า ได้บันทึกภาพขณะที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไว้ด้วย หากประเมินจากความกว้างและความยาวของขบวนน่าจะมีผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน และได้ฟังการปราศรัย ประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาชี้แจงได้แก่ ปัญหาที่คนงานแต่ละโรงงานประสบจากการถูกเลิกจ้าง การไม่ได้รับเงินชดเชย รวมทั้งพูดถึงนโยบายชะลอการเลิกจ้างที่นายกฯ เคยแถลงไว้กับรัฐสภา การปราศรัยไม่มีลักษณะการขู่เข็ญหรือคุกคามบุคคลอื่น
 
นายเทวฤทธิ์เบิกความว่า ในตอนแรกไม่เห็นว่ามีการกั้นพื้นที่ เพิ่งมีการกั้นแผงเหล็กหลังขบวนผู้ชุมนุมมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล และมีตำรวจจราจรอำนวยความสะดวก ป้ายผ้าเป็นของคนงาน โดยนำมาผูกกับแผงเหล็กในภายหลัง
 
นายเทวฤทธิ์เบิกความว่าไม่มีบุคคลใดมารับหนังสือ ผู้ชุมนุมจึงตกลงจะเคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภา พยานตามผู้ชุมนุมไปพร้อมกับบันทึกภาพไว้ด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่าผู้ที่ปิดการจราจรคือตำรวจ ไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม นอกจากนี้ เมื่อผู้ชุมนุมมาถึงที่หน้ารัฐสภาทั้งหมดแล้ว ตำรวจก็นำแผงเหล็กมากั้นที่ท้ายขบวน ต่อมาผู้ชุมนุมจึงนำป้ายผ้าไปผูก
 
นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีเพียงร้อยละห้าที่เป็นผู้ชาย การปราศรัยที่หน้ารัฐสภามีเนื้อหาคล้ายคลึงกับการปราศรัยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่มีการพูดยุยงให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด แม้กระทั่งตอนที่ตำรวจเปิดเครื่องแอดแรด (LRAD) ก็ไม่มีการพูดให้ร้ายใคร อนึ่ง พยานบันทึกเสียงการปราศรัยไว้ด้วย
 
นายเทวฤทธิ์เบิกความถึงการใช้เครื่องแอลแรดของตำรวจว่า น่าจะเป็นการทดลองใช้ครั้งแรก เพราะลักษณะการปรับจูนเครื่องของตำรวจดูจะเป็นไปโดยขาดความชำนาญ และกล่าวถึงอานุภาพและการทำงานของเครื่องแอลแรดว่ามีผลเสียต่อระบบประสาท การใช้เครื่องแอลแรดในการควบคุมฝูงชนเป็นการกระทำที่ผิดหลักสากล เพราะผู้ชุมนุมไม่สามารถจะหลบเลี่ยงผลกระทบของเครื่อง โดยทั่วไปอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนจะต้องมีกฎหมายรับรอง แต่เครื่องแอลแรดยังไม่มีกฏหมายหรือข้อกำหนดรองรับเนื่องจากเพิ่งสั่งซื้อมา หลังจากการชุมนุม มีอาการหูอื้อ ภายหลังยังทราบว่า มีผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบร้ายแรงกว่าและต้องไปพบแพทย์ มีอาการหูอักเสบ
 
นายเทวฤทธิ์เบิกความต่อว่า แม้เส้นทางจะถูกปิด แต่ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นได้ ตำรวจท้องที่มีความชำนาญและสามารถอำนวยให้การจราจรเป็นไปโดยปกติ และไม่อาจเรียกว่าเป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
 
นายเทวฤทธิ์ตอบอัยการถามค้านว่า พยานอยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลา โดยช่วงที่อยู่ห่างจากเวทีปราศรัยมากที่สุดน่าจะอยู่ห่างไปประมาณ 120 เมตร ได้ยินผู้ชุมนุมปราศรัยและร้องเพลง เห็นจำเลยที่สามขึ้นเวทีที่หน้ารัฐสภาแต่ไม่ได้สั่งการใดๆ ทั้งสิ้น 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า: นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 
นายพงษ์ศักดิ์ เบิกความว่า ปี 2552 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ทราบว่ามีการเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์เกือบ 2,000 คน โดยนายจ้างให้เหตุผลว่า ต้องเลิกจ้างเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ฝ่ายคนงานไทรอัมพ์ต้องการทำงานต่อ และเห็นว่าสิ่งที่ได้รับจากการเลิกจ้างไม่เพียงพอ คนงานถือว่าตัวเองเป็นหุ้นส่วนและมีส่วนทำให้โรงงานเจริญก้าวหน้า
 
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ปกติการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างคนงานกับนายจ้างมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน การมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือหน้ารัฐสภาเป็นการกระตุ้นให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาให้เร็วยิ่งขึ้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ค่อนข้างเข้มแข็ง คนที่ไม่รู้จักอาจคิดว่าแข็งกร้าว แต่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ การชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์เป็นการชุมนุมโดยสงบ เวลามีการชุมนุม ฝ่ายรัฐก็จะไม่ขัดขวางและจะมีการประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกเพราะถือว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 
นายพงษ์ศักดิ์ตอบคำถามทนายความว่า ในบางกรณี การเลิกจ้างอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง กรณีของไทรอัมพ์ก็มีกรรมการของสหภาพที่ถูกเลิกจ้างด้วย การเลิกจ้างครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายชะลอการเลิกจ้าง ปัจจุบันคนงานไทรอัมพ์เกือบ 2,000 คนถูกเลิกจ้างและไม่ได้กลับไปทำงานอีก 
 
นายพงษ์ศักดิ์ตอบคำถามที่อัยการถามว่า ในกรณีนี้นายจ้างประกาศชัดเจนว่าจะปิดโรงงานบางส่วน และจ่ายเงินชดเชยค่าจ้าง ตามกฎหมายแล้ว ใช่หรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์ตอบว่า ใช่ แต่ถ้าลูกจ้างไม่พอใจ ก็สามารถใช้สิทธิร้องเรียนต่อรัฐผ่านการชุมนุมหรือการเจรจา อัยการถามว่า การที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร้องเรียนเป็นจำนวนมากมาย เป็นการกดดันพยานหรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์ตอบว่า คิดว่าเป็นช่องทางหนึ่ง ในฐานะที่เคยเป็นแรงงานมาก่อน ก็อำนวยความสะดวกตามที่เรียกร้อง อัยการถามว่า การที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากมาร้องเรียน ทำให้การดำเนินการเร็วขึ้นหรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์ตอบว่า ใช่
 
นายพงษ์ศักดิ์ตอยคำถามทนายความว่า นอกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แล้ว นายจ้างต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสหภาพฯ ที่ว่าด้วยการปิดโรงงาน หรือกฎหมายอื่นด้วย ฝ่ายนายจ้างได้รับการสนับสนุนจาก BOI จึงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำของ BOI ด้วย แต่ก็มีสหภาพแรงงานบางแห่งต่อสู้ว่าสิทธิของคนงานต้องได้มากกว่านี้
 
30 พฤษภาคม 2556 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หก: นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย(สภาศูนย์กลางแรงงานฯ) 
นายบรรจงเบิกความว่าปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัทสยามริคเก้น อินดัสเทรียล จำกัด เป็นประธานสหภาพแรงงานสยามริคเก้น และประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาศูนย์กลางแรงงานฯ ส่วนนายสุนทร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ในสภาศูนย์กลางแรงงานฯ
 
เมื่อปี 2551 สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และแมคคานิคส์ หรือสหภาพแรงงาน เอนี่ออนฯ มีปัญหากับบริษัทเอนี่ออนอิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง โดยสหภาพเอนี่ออนฯ เข้ามาร้องเรียนกับสภาศูนย์กลางแรงงานฯ ว่า นายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2552 บริษัทเอนี่ออนฯ ปิดกิจการ เลิกจ้างคนงานทั้งหมดกว่า 300 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนมาก ทางสหภาพแรงงานเอนี่ออนฯ จึงมาร้องเรียนให้สภาศูนย์กลางแรงงานฯ ช่วยเหลือ โดยยื่นเรื่องในระดับจังหวัด ระดับกระทรวง และเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม ในปีเดียวกัน คุณกัญญาพร ดวงเกิด รองประธานสหภาพเอนี่ออนฯ ประสานงานกับสหภาพไทรอัมพ์ เพื่อไปทวงถามหนังสือจากนายกฯ พยานจึงให้นายสุนทร ไปดูแลในฐานะตัวแทนสภาศูนย์กลางแรงงานฯ
 
นายบรรจงเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ไปที่ชุมนุมพร้อมกับคนงานเอนี่ออนและคนงานไทรอัมพ์ มีชุมนุมราวพันคน โดยนัดพบกันที่บ้านพิษณุโลก แล้วก็เคลื่อนขบวนโดยเดินเลาะริมฟุตบาทไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อทราบว่านายกฯ ไม่อยู่ที่ทำเนียบแต่อยู่ที่รัฐสภาจึงเคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภา ซึ่งตำรวจเป็นคนนำขบวนไปจนถึงหน้ารัฐสภา เมื่อไปถึงได้รวมตัวกันอยู่บริเวณตรงข้ามกับสวนสัตว์ดุสิต การจราจรบนถนนอู่ทองในมีสภาพปกติ สภาพการณ์ดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ต่อมา ร่วมกับตัวแทนจากสหภาพแรงงานอื่นที่มาร่วมชุมนุม เข้าไปในรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
 
นายบรรจงกล่าวว่า นายสุนทรไม่ใช่แกนนำ ไม่มีบทบาทในที่ชุมนุม และไม่ได้เข้าไปคุยกับรัฐมนตรี แต่อยู่กับผู้ชุมนุมด้านนอกรัฐสภา เรื่องที่นายสุนทรขึ้นไฮด์ปาร์กก็เป็นเรื่องความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ไม่ใช่หัวหน้าของกลุ่มที่ไปชุมนุม เพียงแต่เป็นตัวแทนของคนงานไปยื่นหนังสือ ทั้งสามคนไม่สามารถสั่งการให้คนงานเลิกชุมนุมได้ เพราะแต่ละบริษัทต่างก็มีตัวแทนของตัวเอง และเมื่อยื่นหนังสือเสร็จเรียบร้อยก็ประกาศให้คนงานเอนี่ออนฯ เลิกชุมนุม และกลุ่มสหภาพอื่นๆ ก็เลิกด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ของการมาชุมนุมในวันนั้น เพื่อขอให้นายกฯ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพราะคนงานเอนี่ออนฯ ยังไม่ได้รับค่าจ้าง และนายจ้างก็หนีออกนอกประเทศไปแล้ว
 
สืบพยานจำเลยปากที่เจ็ด: นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิ
นายปกป้องเบิกความว่าเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ในช่วงปี 2552 ทำงานที่ฟอรั่มเอเชีย มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ก่อนเกิดเหตุพยานเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโรงงานไทรอัมพ์ โดยฝ่ายลูกจ้างติดต่อให้ไปเป็นล่าม เนื่องจากนายจ้างเป็นชาวต่างชาติ เรื่องที่เจรจาในขณะนั้นคือเรื่องค่าจ้าง ทางสหภาพเสนอให้ขึ้นค่าจ้างและให้มีโบนัส แต่ทางนายจ้างไม่ยอมรับ
 
นายปกป้องเบิกความว่า ช่วงต้นปี 2552 คนงานไทรอัมพ์ประสบปัญหาเพราะบริษัทจะเลิกจ้างคนงานจำนวนมาก พนักงานจึงเคลื่อนไหวโดยยื่นข้อเสนอให้บริษัทยุติการเลิกจ้าง แต่การเจรจาไม่เป็นผล คนงานจึงไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 การยื่นหนังสือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายปกป้องกล่าวว่า หลังจากวันนั้นไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาล ทำให้สหภาพฯ ต้องไปติดตามข้อเรียกร้องในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 วันดังกล่าวมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 1,500 คน ต่อมาทราบว่านายกฯ อยู่ที่รัฐสภา ผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนไปที่นั่น ระหว่างที่เคลื่อนขบวนก็มีตำรวจมาช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งเข้าใจว่า ตำรวจปิดถนนเพื่อกำหนดเส้นทางเดินให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม และเมื่อถึงรัฐสภาก็ไม่มีใครมารับหนังสือจนกระทั่งมีการเปิดแอลแรด จากนั้นมี ส.ส.ฝ่ายค้านมาเชิญตัวแทนให้เข้าไปยื่นหนังสือ เมื่อยื่นหนังสือแล้ว ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับ
 
นายปกป้องเบิกความว่า ในฐานะผู้สังเกตการณ์ การมาชุมนุมครั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลช่วยแก้ไขความเดือดร้อน ไม่เห็นว่ามีการก่อความวุ่นวาย มีแต่การพูดคุยเรื่องปัญหาของผู้ชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงผู้หญิงและคนแก่ และการที่ตำรวจเปิดเครื่องส่งเสียงรบกวนเพื่อสลายการชุมนุม ก็เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม
 
11 กรกฎาคม 2556
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.35 น. มีกลุ่มคนงานและผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติมาฟังคำพิพากษาประมาณ 40 คน ทั้งนี้ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์ นายแพทย์ เหวง โตจิราการ สส พรรคเพื่อไทย และ นาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แวะเข้ามาในห้องพิจารณาคดีเพื่อเยี่ยมและกำลังใจบุคคลทั้งสามก่อนฟังคำพิพากษาด้วย หลังขึ้นบัลลังก์ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อนและเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ เวลา 9.40 น.  
 
ศาลพิเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้อง โจทก์นำสืบว่า คนงานที่มาชุมนุมมีจำนวนน้อย การปิดการจราจรเพียงช่องทางเดียวก็น่าจะเพียงพอ แต่ผู้ชุมนุมกลับปิดการจราจรถึงสามช่องทาง ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ นอกจากนี้ยังมีการปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาด้วย ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า การเลิกจ้างของนายจ้างบริษัทบอดี้แฟชั่นและบริษัทเอนี่ออนไม่เป็นธรรม คนงานจึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาให้ โดยเริ่มชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้มารับหนังสือ จึงเดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือ หลังยื่นหนังสือเรียบร้อย คนงานก็สลายตัวไป
 
จากคำเบิกความของพยานโจทก์ พ.ต.ท.ณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ทราบว่า จุดประสงค์ของการชุมนุมคือมายื่นหนังสือ เมื่อยื่นหนังสือเสร็จก็แยกย้ายกลับไป สอดคล้องกับคำเบิกความของร.ต.ท.วีระชัย สังข์ศรี ที่กล่าวว่า ทราบล่วงหน้าก่อนแล้วว่า จะมีคนงานมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และ ตำรวจก็เตรียมพร้อมรับมือกับการชุมนุมโดยนำแผงเหล็กมากั้น โดยเชื่อว่าแผงเหล็กเป็นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ก่อความวุ่นวายหรือทำร้ายร่างกายผู้ใด เมื่อยื่นหนังสือเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายในเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 เห็นว่ามีผู้ชุมนุมมีจำนวนมากกว่า 300 คน การปิดถนนเดินขบวนจึงน่าจะเกิดจากสภาพการชุมนุมในตอนนั้น นอกจากนี้ แม้จะมีการปิดถนนแต่ก็ยังมีช่องทางที่รถสามารถสัญจรได้
 
การเดินทางมายื่นหนังสือของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ครั้งนี้ เป็นการมาทวงถามความคืบหน้า เพราะก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า ส่วนการมาของสหภาพแรงงานเอนี่ออนก็เป็นการมาเพื่อร้องเรียนกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง  
 
การชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของคนงานที่ปิดถนนทำให้การจราจรติดขัด รถสัญจรไปมาไม่ได้ แม้จะเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำประทุษร้ายหรือทำให้เกิดความวุ่นวาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานเป็นหัวหน้าสั่งการในการกระทำความผิดตามมาตรา215วรรคสามหรือไม่ ส่วนความผิดตามมาตรา 216 เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดมาตรา215ของกฎหมายอาญาจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา216 
 
พิพากษายกฟ้อง

 

หมายเลขคดีดำ

อ.620/2554

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

2 แกนนำไทรอัมพ์ ได้ประกันตัว อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ใช้ตำแหน่งประกัน. ประชาไท วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

เทวฤทธิ์ มณีฉาย. เลิกจ้างไทรอัมพ์ 1,959 คน “แรงงานไม่ Sensitive… ไม่เข้าใจความเป็นนายจ้างจริงหรือ?”. ประชาไท วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

นักข่าวพลเมือง: คนงานไทรอัมพ์ฯ จี้แรงงานจังหวัดฯ ให้ บ.ไทรอัมพ์ฯ ใช้มาตรฐานแรงงานไทย และเคารพกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี 18. ประชาไท วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)
 

นักข่าวพลเมืองรายงาน : สหภาพไทรอัมพ์ฯ ยื่นหนังสือถึง EU ตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน. ประชาไท วันที่ 22 สิงหาคม 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

นักข่าวพลเมือง: อภิสิทธิ์เมินคนงานไทรอัมพ์-เอนี่ออน-เวิล์ลเวลล์ฯ ชุมนุมทวงสัญญา ตำรวจประเดิมใช้เครื่องเสียงความถี่สูงไล่ . ประชาไท วันที่ 29 สิงหาคม 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

ตร.ออกหมายจับ 3 แกนนำคนงานไทรอัมพ์ฯ ฐานชุมนุมปิดถนนหน้าทำเนียบฯ ก่อความวุ่นวาย ทำปชช.เดือดร้อน. ประชาไท วันที่ 28 สิงหาคม 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

“สนนท.” ชี้ “รัฐบาล” ละเมิดสิทธิ์ สลายการชุมนุมคนงาน แถมออกหมายจับข้อหา “ก่อความวุ่นวาย”. ประชาไท วันที่ 3 กันยายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

ร้องถอนหมายจับผู้นำสหภาพแรงงาน- กก.สิทธิ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร.. ประชาไท วันที่ 5 กันยายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องถอนหมายจับแกนนำสหภาพแรงงาน 3 คน พร้อมเรียกร้องตำรวจและรัฐบาลตรวจสอบการใช้ LRAD. (ผ่านประชาไท) วันที่ 16 กันยายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

ศาลยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับแรงงานไทรอัมพ์ กรณีชุมนุมร้อง รบ.แก้ปัญหาเลิกจ้าง. ประชาไท วันที่ 22 กันยายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

อัยการสั่งฟ้อง 3 แกนนำคนงาน ชุมนุมเกินสิบคนก่อความวุ่นวาย. ประชาไท วันที่ 27 มกราคม 2554 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555)

2 แกนนำไทรอัมพ์ขอเลื่อนส่งฟ้องคดีชุมนุมฯ เกิน10คน. ประชาไท วันที่ 15 มีนาคม 2553 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)
 

อัยการนัดสั่งคดีคนงานไทรอัมพ์ฯ "ชุมนุมเกิน 10 คน ก่อความวุ่นวาย" 23 ก.พ.. ประชาไท วันที่ 25 มกราคม 2553 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

อัยการเตรียมส่งฟ้อง 2 แกนนำไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมมั่วสุม. ประชาไท วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

3 นักสหภาพแรงงาน ขึ้นศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง. ประชาไท วันที่ 29 มีนาคม 2554 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องถอนหมายจับ 3 แกนนำแรงงาน. ประชาไท วันที่ 3 กันยายน 2552 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

สิทธิในการแสดงความคิดเห็น – ความรู้สึกประชาชาติ – ความมั่นคงของรัฐ : กรณีศึกษาคุณจิตรา คชเดช. lerners.in.th สร้าง: 24 มีนาคม 2552 18:18 · แก้ไข: 11 พฤษภาคม 2552  (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

100 วันสหภาพฯ ไทรอัมพ์เรียกร้องความเป็นธรรมที่กระทรวงแรงงาน. ประชาไท วันที่ 21 มกราคม 2553 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

จิตรา คชเดช: เบื้องหลังป้าย “ดีแต่พูด” ผ่ากลางวง ‘อภิสิทธิ์’.ประชาไท วันที่ 7 มีนาคม 2554 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

จิตรา คชเดช ต้นตำรับป้าย"ดีแต่พูด" มติชนออนไลน์ วันที่ 15 มิถุนายน 2554 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555)

 

 

29 มิถุนายน 2552

บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนี ยี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น ประกาศเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 1,959 คน โดยให้รถรับส่งนำพนักงานไปที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา และมอบซองจดหมายให้พนักงาน
 
โดยในซองจดหมาย นายจ้างแจ้งว่า  “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างกิจการและลดกำลังการเย็บที่โรงงานบางพลีประมาณ 50 % ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างกิจการทั่วโลก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ตลอดจนความต้องการโดยรวมของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ไทรอัมพ์จะต้องดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงนี้”
 
ขณะที่ฝ่ายสหภาพแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างครังนี้นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการจ้างที่กำหนดว่าการเลิกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน แต่ฝ่ายบริษัทนายจ้างอ้างว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ให้มีผลเมื่อพ้นวันที่ 27 สิงหาคม 2552 เข้าข่าย 60 วัน ถูกต้องตามข้อบังคับแล้ว ซึ่งคนงานไม่ต้องมาทำงานแต่จะได้รับค่าจ้างจนถึงวันดังกล่าว
 
9 กรกฏาคม 2552 
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคนงานหญิงทั้งหมดประมาณ 200 คน นำโดยบุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อปฐม เพชรมณี หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเรียกร้องให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เร่งเข้ามาดูแลเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เรื่องการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงสภาพการจ้างมีผลบังคับใช้ รวมถึงกรณีที่บริษัทได้รับมาตรฐานแรงงานไทย แต่กลับไม่เคารพสิทธิสหภาพแรงงาน
 
13 กรกฎาคม 2552
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริเวณถนนวิภาวดี รังสิต เพื่อเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนให้กับ บริษัท บอดี้ แฟชั่น และเรียกร้องให้บริษัทรับคนงานกลับเข้าทำงานมิเช่นนั้นขอให้ถอนการส่งเสริมการลงทุน
 
24 กรกฎาคม 2552 
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ประมาณ 2,000 คน รวมตัวกันที่บริเวณถนนราชดำริ และเดินทางไปที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย บริเวณถนนวิทยุ ปิดถนนบริเวณหน้าสถานทูต เพื่อเรียกร้องให้สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาดูแลคนงานที่ถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แล้ว แต่ไม่มีตัวแทนของสถานทูตออกมารับหนังสือ คนงานจึงใช้วิธีเผาข้อเรียกร้องบริเวณหน้าสถานทูตก่อนแยกย้ายกันกลับ
 
6 สิงหาคม 2552
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ 
 
1.ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติและให้ปฎิบัติตามกฏหมายพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518
 
2.ให้บริษัทฯ และรัฐบาลจ่ายสวัสดิการและค่าจ้างให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างจนกว่าข้อพิพาทกับบริษัทฯจะยุติ การแก้ปัญหาต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับสหภาพแรงงานฯ
 
3.รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนงานที่ทำงานในโรงงานว่าบริษัทฯจะไม่มีการเลิกจ้างอีกและไม่ใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับคนงาน
 
4.รัฐบาลต้องหยุดนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่น นโยบายการจ้างงานเหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานค่าจ้างราคาถูก การจ้างงานซับคอนแทรค หยุดเขตการค้าเสรีที่มีกฎระเบียบห้ามตั้งสหภาพแรงงานและยกเลิกสิทธิการนัดหยุดงาน
 
5.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานในโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก (BOI) และโรงงานที่ได้รับมาตรฐานแรงงานไทยและต้องยุติการสนับสนุนเรื่องไม่เก็บภาษีต่อบริษัทฯและหันมายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชน
 
6.รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือคนงานที่เป็นหนี้นอกระบบและในระบบและคนงานที่กำลังจะถูกอายัดค่าจ้างค่าชดเชยค่าล่วงเวลาจากกองบังคับคดี
 
21 สิงหาคม 2552 
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยประมาณ 30 คนเข้ายื่นหนังสือถึงคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลและหามาตรการยุติการเลิกจ้าง 1,959 คน ที่บริเวณหน้าอาคาร เคี่ยมหงวน 2 แยกสารสิน ถนนวิทยุ ซึ่งบริเวณชั้น 19 ของตึกเป็นที่ทำการของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย
 
ต่อมาคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เดินทางไปรณรงค์เรียกร้องสิทธิของตัวเองต่ออีกหลายหน่วยงาน เช่น สถานทูตเยอรมนีสถานทูตฟิลิปปินส์ สำนักงานใหญ่ของนายจ้างที่ฮ่องกง เดินทางไปรณรงค์ยังหก ประเทศในยุโรป คือ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ออสเตรีย และเดนมาร์ก
 
27 สิงหาคม 2552
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงาน อิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ พร้อมด้วยองค์กรเพื่อนมิตรอย่างสภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มประกายไฟ ฯลฯ ประมาณ 800 คน เดินขบวนไปทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจากนายกรัฐมนตรีต่อกรณีที่เคยยื่นข้อเรียกร้องไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552  และยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือตอบรับใดๆ เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่พ้นสภาพการเป็นคนงานจริงๆ ตามประกาศของนายจ้าง
 
เวลประมาณ 09.00 กลุ่มผู้ชุมนุมนัดกันบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลกและเดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีใครออกมารับหนังสือทวงถาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนไปยังหน้ารัฐสภา เมื่อผู้ชุมนุมไปปักหลักเรียกร้องบริเวณหน้ารัฐสภาก็ยังไม่มีผู้ใดออกมารับหนังสือทวงถาม แต่ผู้ชุมนุมยังไม่ได้บุกรุกเข้าไปในรัฐสภาแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การควบคุมของ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเครื่องแอลแรด (LRAD) หรือ Long Range Acoustic Device หรือเครื่องส่งเสียงรบกวนระยะไกล ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนประสาทสัมผัสทางการได้ยินมาใช้เพื่อสลายการชุมนุม โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าทำให้ผู้ชุมนุมมีอาการ เจ็บปวดแก้วหู โดยทั่วไปบางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน
 
หลังจากประสานงาน จิตรา คชเดช ขอให้ทางตำรวจยุติการเปิดเครื่องดังกล่าว แล้วชี้แจงว่า ทางผู้ชุมนุมด้านนอกได้รับการประสานจะให้เข้าไปพบกับวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฯฝ่ายค้านด้านในได้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ด้านในจึงยุติการเปิดเครื่องดังกล่าว จากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมได้โอกาสเข้าพบวิทยา บูรณศิริ และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งการพูดคุยผ่านไปด้วยดี จึงยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับบ้าน
 
28 สิงหาคม 2552 
พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ได้ออกหมายจับสุนทร บุญยอด, บุญรอด และจิตรา ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก กรณีทั้งสามคนเป็นแกนนำนำกลุ่มผู้ชุมนุมไทรอัมพ์ประมาณ 300-400 คน บุกปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ช่วยเหลือคนงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง แต่เนื่องจาก นายกฯ ติดภารกิจ ไม่มารับหนังสือด้วยตนเอง ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ ปิดถนนหน้าทำเนียบฯ และเมื่อทราบว่า นายกฯ ไปประชุมที่รัฐสภา ก็ได้รวมตัวกัน ปิดถนนด้านหน้ารัฐสภาอีกครั้ง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมถึงผู้ที่มาติดต่อราชการ
 
3 กันยายน 2552
ผู้ชุมนุมจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สภาศูนย์กลางแรงงาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ซึ่งส่วนใหญ่แต่งกายด้วยสีดำกว่า 300 คนร่วมชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ถอนหมายจับแกนนำแรงงานทั้งสามคน และขอให้มีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการสลายการชุมนุมที่ใช้เครื่องขยายเสียงระยะไกล โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยต่อกรณีการพยายามสลายการชุมนุม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการออกหมายจับที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการชุมนุมเรียกร้องของคนงาน ร่วมกันประณามการกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลยกเลิกการออกหมายจับแกนนำการชุมนุม และการใช้เครื่องมือไม่ว่าจะทันสมัยหรือล้าหลังทำร้ายประชาชนที่เรียกร้องอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิเสรีภาพ และเร่งดำเนินการให้ความเป็นธรรมตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบต่อการเลิกจ้างและวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ 
 
5 กันยายน 2552 
นักกิจกรรมและนักวิชาการกว่า 150 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์ ประนามการออกหมายจับผู้นำแรงงานทั้งสามคน โดยเห็นว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เนื่องจาก การชุมนุมที่เกิดขึ้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่มีความชอบธรรม เนื่องจากเป็นการชุมนุมของคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง เรียกร้องให้เพิกถอนหมายจับ ให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง และให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
16 กันยายน 2552 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลดุสิต ถอนหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ทั้งสามคนในทันที และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มีวัตถุประสงค์และข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใด เรียกร้องให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบการนำเครื่องเสียงระดับไกลดังกล่าวมาใช้ในการชุมนุมว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายประชาชนเพียงใด พร้อมทั้งดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าพนักงานที่นำเครื่องเสียงดังกล่าวมาใช้ เรียกร้องรัฐบาลให้มีนโยบายที่ชัดเจนห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เครื่องเสียงระดับไกลดังกล่าว เนื่องจากเป็นวิธีการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวด้านสุขภาพของผู้ชุมนุม และเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน 
 
13 ตุลาคม 2552 
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย (ซึ่งก่อนหน้านั้นปักหลักชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ) เดินทางมาที่พรรคประชาธิปัตย์เพื่อหวังจะยื่นหนังสือต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้พบ จึงเดินทางต่อไปยังกระทรวงแรงงานหวังเข้าพบไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ทั้งสองไม่อยู่ที่กระทรวง จึงยื่นหนังสือต่ออาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเริ่มปักหลักเรียกร้องความเป็นธรรมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานเพื่อรอจนกว่าผู้มีอำนาจจะแก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้าง
 
ปลายเดือนตุลาคม 2552
คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ที่ปักหลักอยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานเปิดตัว กางเกงในยี่ห้อ Try Arm ที่คนงานผลิตขึ้นเอง ด้วยความรู้ความสามารถและฝีมือการผลิตของอดีตคนงานฝ่ายต่างๆ ร่วมมือกัน นัยหนึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าคนงานเหล่านี้ยังเป็นแรงงานมีฝีมือไม่สมควรถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันก็เป็นการหารายได้ระหว่างรอความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
 
คนงานที่ถูกเลิกจ้างอาศัยพื้นที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานปักหลักรอฟังคำตอบ และผลิตชุดชั้นใน Try Arm อยู่ประมาณสี่เดือน ก่อนจะย้ายออกไปตั้งหลักเปิดเป็นโรงงาน Try Arm ผลิตสินค้าที่ด้วยฐานคิดที่ไม่เอาเปรียบผู้ผลิต ไม่เอาเปรียบแรงงาน ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
 
20 ตุลาคม 2552 
ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อเพิกถอนหมายจับแรงงานสหภาพไทรอัมพ์ฯ สองคน ซึ่งทีมทนายความและผู้ต้องหา รอฟังคำสั่งถึง 14.00 น. จากนั้นศาลมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายจับ จึงยกคำร้องของผู้ต้องหาทั้งสอง
 
18 พฤศจิกายน 2552 
บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพฯ พร้อมสมพร มูสิกะ ทนายความจากสภาทนายความ เข้ามอบตัวตามหมายจับกับ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต เบื้องต้นทั้งสองคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอประกันตัวโดยมีดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และดร.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ตำแหน่งราชการยื่นประกันตัวให้ โดยมีสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ประมาณ 100 คน เดินทางมาให้กำลังใจกับแกนนำที่เข้ามอบตัว 
 
25 มกราคม 2553
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ผู้รับผิดชอบคดี ได้ยื่นคำฟ้องต่อพนักงานอัยการ โดยอัยการนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553
 
23 กุมภาพันธ์ 2553 
พนักงานอัยการเตรียมตัวเพื่อทำการส่งฟ้องต่อศาล แต่ผู้ต้องหาทั้งสอง คือ จิตรา และบุญรอด ชี้แจงต่อพนักงานอัยการว่ายังไม่พร้อมดำเนินการประกันตัว เนื่องจากหลักฐานไม่พร้อม จึงขอเลื่อนการส่งตัวไปเป็นวันที่ 15 มีนาคม 2553
 
15 มีนาคม 2553 
ผู้ต้องหาร้องขอต่อพนักงานอัยการให้เลื่อนการส่งฟ้องคดีออกไป เนื่องจากพยานหลักฐานในการประกันตัวไม่พร้อม และได้ทราบว่าตำรวจจับผู้ต้องหาคดีเดียวกันได้ จึงขอให้ส่งฟ้องรวมกัน และขอเลื่อนเพื่อเตรียมพยานหลักฐานมายื่น ซึ่งพนักงานอัยการอนุญาตให้เลื่อนการสั่งฟ้องคดีออกไปเป็นวันที่ 27 เมษายน 2553
 
27 มกราคม 2554
พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจิตรา คชเดช, บุญรอด  สายวงศ์ และสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 โดยพนักงานอัยการได้ยกฟ้องข้อหากีดขวางทางจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 108 เนื่องจากข้อหานี้มีอายุความ 1 ปีจึงขาดอายุความแล้ว
 
พนักงานอัยการส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสามนำไปฝากขังที่ศาลอาญารัชดา  โดยมีอดีตคนงานบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ราว 40 คน มาให้กำลังใจ จำเลยทั้งสามได้รับการประกันตัวในชั้นศาลเวลาประมาณ 16.25 น. ด้วยหลักทรัพย์วงเงินคนละ 200,000 บาท โดย ดร.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายประกันจิตราและบุญรอด และ สุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นนายประกันให้สุนทร บุญยอด
 
29 มีนาคม 2554 
ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาที่ 707 วันนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยทั้งสามคนเดินทางมาศาล เพื่อประชุมคดีตรวจพยานหลักฐานในคดีหมายเลขดำที่ อ.620/2554 ซึ่งมีพนักงานอัยการ สนง.อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจ (Investment and Trade Commissioner) จากสถานทูตเบลเยียมประจำกรุงเทพฯ คือ ดาเนียล เดอ วาก เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมพร้อมทั้งจะติดตามเข้าร่วมการสังเกตการณ์การพิจารณาคดีสืบพยานนัดต่อไปด้วย
 
กำหนดการนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2554 โดยโจทก์ขอสืบพยานจำนวนสิบปาก และต่อเนื่องวันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2554 จะเป็นนัดสืบพยานจำเลย จำนวน 14 ปาก
 
15 พฤศจิกายน 2554
เนื่องจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศาลอาญาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยด้วย จึงประกาศปิดทำการในช่วงเวลาดังกล่าว 
 
22 พฤศจิกายน 2554
ศาลอาญาเปิดทำการหลังปิดเพราะเหตุอุทกภัย บุญรอด สายวงศ์ และจิตรา คชเดช จำเลยเดินทางมาศาล แต่สุนทร บุญรอด จำเลยอีกหนึ่งคน แจ้งว่าบ้านของตนยังถูกน้ำท่วมอยู่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ประกอบกับวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ถูกเลื่อนมาแล้ว ศาลจึงสั่งให้เลื่อนวันนัดสืบพยานในนัดนี้ และให้คู่ความหาวันนัดใหม่ร่วมกัน
 
22 กรกฎาคม 2555
ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนด้านเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ด้านเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม ด้านสถานการณ์นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินคดีกับสามนักกิจกรรมด้านแรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และแสดงความกังวลต่อการใช้เครื่อง LRAD
 
นอกจากนี้ยังตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ความสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และหลักการในการใช้เครื่อง LRAD พร้อมกระตุ้นให้รัฐบาลไทยมีมาตรการเพื่อรับรองเสรีภาพของจำเลยในคดีนี้ทั้งสามคน และรับรองความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีนี้ด้วย
 
 
23 สิงหาคม 2555
สืบพยานโจทก์ พ.ต.ต.ณัฐนิติ หลุ๊ดล๊ะ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.ณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
พ.ต.ท.ณัฐนิติ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่ที่สน.ดุสิต โดยวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ประมาณ 8.00 น. ได้รับแจ้งว่ามีผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่หน้าบ้านพิษณุโลกทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก จึงสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปหาข่าว และไปกำกับดูแลโดยเดินตามผู้ชุมนุมซึ่งมีประมาณ 300 กว่าคนที่เข้ามาบนถนนพิษณุโลก
 
แกนนำผู้ชุมนุมคือ สุนทร บุญยอด จิตรา คชเดช และบุญรอด สายวงศ์ ปราศรัยโดยใช้รถเครื่องขยายเสียงเรื่องยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้บริษัทไทรอัมพ์จ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พยานอยู่ในที่เกิดเหตุและสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาใช้กล้องดิจิตอลถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติกล่าวว่า เมื่อผู้ชุมนุมมาถึงประตูสี่ จำเลยสั่งผู้ชุมนุมให้ปิดถนนสามช่องทาง ทำให้ผู้สัญจรไม่สามารถผ่านได้และต้องปิดประตูทำเนียบ หลังปิดถนน จำเลยปราศรัยขอให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมารับหนังสือภายในเวลาถึง 12.00 น. แต่ถึงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีใครออกมารับหนังสือ จำเลยจึงประกาศให้ผู้ชุมนุมไปหน้ารัฐสภา ปิดถนนทุกช่องทางเมื่อเลี้ยวขวาที่แยกมิสกวัน แต่ยังไม่กีดขวางการจราจรเพราะมีเลนกลางออกไปลานพระบรมรูปทรงม้า
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติเห็นว่า จำเลยทั้งสามน่าจะมีสามัญสำนึกว่าการปิดถนนทำให้คนอื่นเดือดร้อน และควรใช้วิธีประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อยื่นหนังสือ และเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่สั่งให้ผู้ชุมนุมปิดถนนทำให้รถสัญจรไปมาไม่ได้ การปิดประตูรัฐสภาโดยยืนกันแน่นหน้ารัฐสภาทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเข้าออกไม่ได้ การปิดถนนตั้งแต่หน้าทำเนียบจนถึงหน้ารัฐสภาทำให้ประชาชนเดือดร้อนวุ่นวายเพราะไม่สามารถสัญจรไปมาได้ การนำรถเครื่องขยายเสียงมาก็ไม่น่าจะใช่วิธีการที่ถูกต้อง ทำให้ไม่สงบ เพราะเกิดเสียงดังรบกวน พยานและพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เจรจาขอให้เลิกชุมนุมตั้งแต่หน้าทำเนียบฯ แต่จำเลยทั้งสามไม่สนใจปราศรัยต่อเรื่อยๆ
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามอัยการที่ถามว่า ผู้ชุมนุมได้ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งพ.ต.ท.ณัฐนิติตอบว่า ไม่ใช่ และเห็นว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามทนายความจำเลยว่า พยานเป็นผู้กล่าวโทษ ไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ เห็นป้ายของผู้ชุมนุมพูดถึงความเดือดร้อนจากนายจ้าง ไม่มีข้อความชวนก่อความวุ่นวาย ปิดถนน หรือทำร้ายผู้อื่น การชุมนุมปิดถนนสามช่องทางจากห้าช่องทาง เหลืออีกสองช่องทางให้รถวิ่งสวนไปมาได้ ในการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่จราจรคอยอำนวยความสะดวก
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามทนายความจำเลยถามนำว่า เมื่อถนนบริเวณหน้าทำเนียบถูกปิด ผู้สัญจรยังสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นได้ และสาเหตุที่รถเข้าไปในรัฐสภาไม่ได้ เพราะประตูรัฐสภาปิดเพื่อกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไป และในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่สน.ดุสิต มีอีกหลายกลุ่มที่มาชุมนุมและปิดถนน ถ้าไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ก็ไม่ดำเนินคดี จำไม่ได้ว่า ได้ไปไต่สวนออกหมายจับจำเลยในคดีนี้หรือไม่
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามทนายความจำเลยว่า ไม่ทราบว่าแผงเหล็กกั้นที่ปรากฎในภาพนั้นเป็นแผงเหล็กเป็นของทางการหรือไม่ และไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้เอามากั้นให้ผู้ชุมนุมหรือไม่
พ.ต.ท.ณัฐนิติกล่าวว่า เพิ่งนำเครื่องแอลแรดมาใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมไทรอัมพ์เป็นครั้งแรก โดยเครื่องตั้งอยู่ในรัฐสภา ใช้ข่มขู่ไม่ให้คนงานบุกเข้ารัฐสภา ไม่ทราบว่าเครื่องแอลแรดส่งคลื่นรบกวนทำให้ผู้ชุมนุมสลายตัวได้ ไม่ได้เปิดความถี่สูง จึงไม่ได้ใช้เพื่อสลายการชุมนุม เป็นเพียงเครื่องขยายเสียงตอบโต้กัน ปกติแล้วการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ตามมาตรา 63 และเป็นเสรีภาพการแสดงออกตามมาตรา 45 รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามทนายถามนำว่า วันเกิดเหตุไม่ได้จับกุมตามพ.ร.บ.จราจรฯ เพราะมีตำรวจน้อย และไม่แน่ใจว่าการชุมนุมของคนงานไทรอัพม์ผิดกฎหมายหรือไม่ จึงให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานก่อน ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมประสานงานกับตำรวจและตำรวจก็ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามทนายถามนำว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้ขึ้นพูดปราศรัยหลายคน แต่เหตุที่ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามเพราะมีชื่อในเอกสาร และที่ไม่ดำเนินคดีกับคนอื่นเพราะไม่มีหลักฐานเป็นเอกสาร เมื่อทนายถามว่า ใช้เกณฑ์ใดพิจารณาว่าใครเป็นแกนนำการชุมนุม พยานตอบว่า พิจารณาจากการชักนำผู้ชุมนุมในการปราศรัย
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามทนายถามนำว่า การมีเสียงเจี๊ยวจ๊าวและเสียงดังจากเครื่องขยายเสียง จึงมองว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ และเบิกความว่า แทนที่จะใช้เครื่องขยายเสียง สามารถใช้โทรศัพท์สื่อสารได้
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติเบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ให้ไปแจ้งความ
 
พ.ต.ท.ณัฐนิติตอบคำถามอัยการถามติงว่า ที่พยานเคยให้การว่ารถไม่สามารถวิ่งสวนไปมาได้นั้นจริงหรือไม่ พยานเบิกความว่า รถสวนกันได้เพียงบางช่วง แต่สวนทางโดยตลอดสายไม่ได้ ถ้ามีคนอยู่บนถนนรถก็ต้องจอดให้อีกคันไปก่อน
 
28 สิงหาคม 2555
สืบพยานโจทก์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ผู้ดูแลความเรียบร้อยและเจรจาต่อรองในการชุมนุม

 

29 สิงหาคม 2555

สืบพยานโจทก์ 

 

28 พฤษภาคม 2556

สืบพยานจำเลย น.ส.จิตรา คชเดช จำเลยที่ 3 และ น.ส.บุญรอด สายวงษ์ จำเลยที่ 1

 

29 พฤษภาคม 2556

สืบพยานจำเลย นายสุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 และ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย พยานผู้เห็นเหตุการณ์


30 พฤษภาคม 2556

สืบพยานจำเลย นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย และ นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน พยานผู้เห็นเหตุการณ์

 
11 กรกฎาคม 2556
 
เวลา 9.40 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องนางสาวบุญรอด สายวงศ์ และพวกฐานเป็นหัวหน้าในการชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พิเคราะห์ว่า การชุมนุมของจำเลยแม้จะทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบ แต่จำเลยก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อความวุ่นวาย การนำแผงเหล็กมาตั้งบนผิวจราจรเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผู้ชุมนุม มิใช่เป็นการกระทำของผู้ชุมนุม ทั้งการที่ผู้ชุมนุมลงมาอยู่บนผิวจราจรจนผู้คนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ก็เป็นเพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก มิใช่เจตนาของผู้ชุมนุมที่จะปิดถนนเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับสาธารณะชน การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลจึงไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหัวหน้าสั่งการในการชุมนุมหรือไม่
 
12 พฤศจิกายน 2556
 
จิตรา คชเดช จำเลยที่3ในคดีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ้คส่วนตัว "Jittra Cotchadet" ว่า
"ข่าวดี!!
หลังจากศาลตัดสินยกฟ้องคดีจิตรา ข้อหามั่วสุมฯ หลังจากอัยการขอยื่นขยายเวลาอุทธรณ์มา 3 ครั้ง 90 วัน
วันนี้ทนายโทรมาแจ้งว่าอัยการไม่อุทธรณ์แล้ว ถือว่าคดีสิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ
ขอบคุณทนายความและทุกๆคนมากๆค่ะ"  

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา