กองทัพเรือ vs สำนักข่าวภูเก็ตหวาน

อัปเดตล่าสุด: 03/12/2559

ผู้ต้องหา

บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

กองทัพเรือ มอบอำนาจให้ น.อ. พัลลภ โกมโลทก เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นภาคภาษาอังกฤษในจังหวัดภูเก็ต ถูกกองทัพเรือแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาท และ คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ที่อ้างว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ในการสู้คดี จำเลยต่อสู้ว่ารายงานที่เผยแพร่เป็นรายงานที่ภูเก็ตหวานอ้างอิงมาจากรายงานของรอยเตอร์ การลงข่าวดังกล่าว ก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เมื่อมีเจตนาจะสร้างความเสื่อมเสียแก่กองทัพเรือ นอกจากนี้เมื่อกองทัพเรือออกมาชี้แจงเรื่องรายงาน ภูเก็ตหวานก็นำคำชี้แจงของกองทัพเรือมาเผยแพร่ด้วย

 

สารบัญ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จำเลยที่ 1 บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จำกัด 
บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ เป็นผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ข่าวภูเก็ตหวาน (Phuketwan) โดยมี อลัน มอริสัน เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทและดำรงตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจ
 
บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ ก่อตั้งในปี 2547 โดยเริ่มแรก บริษัทรับทำนิตยสารให้กับโรงแรมลากูนา หลังจากนั้น 1 มกราคม 2551 บริษัทได้เปิดตัวเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษภูเก็ตหวาน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวแห่งแรกของเกาะภูเก็ต 
 
ภูเก็ตหวานทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร แรงงาน รวมถึงข่าวอาชญากรรม และการคอร์รัปชันด้วย โดยหวังว่าข่าวสารที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเป็นส่วรหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต
 
จำเลยที่ 2 อลัน มอริสัน 
อลันเป็นสื่อมวลชนชาวออสเตรเลีย อายุ 65 ปี (ขณะดำเนินคดี)
 
ในอดีตอลันเคยทำงานกับสื่อต่างประเทศมามากมาย เช่น ดิ เอจ (The Age) หนังสือพิมพ์ของประเทศออสเตรเลีย และ ซีเอ็นเอ็น ฮ่องกง
 
อลันเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2545 และทำงานเป็นนักข่าวให้กับภูเก็ตกัซเซ็ท (Phuket Gazette) ซึ่งเป็นสื่อแห่งเดียวของเกาะภูเก็ตในขณะนั้น 
 
ต่อมา ปี 2547 อลัน ก่อตั้งบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย และเปิดตัวเว็บไซต์ภูเก็ตหวานซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ ในปี 2551 เพื่อให้ภูเก็ตมีสื่อเพิ่มขึ้นและเพิ่มตัวเลือกในการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภค
 
ปัจจุบันอลันเป็นผู้สื่อข่าวให้กับเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน
 
จำเลยที่ 3 ชุติมา สีดาเสถียร 
ชุติมาเป็นผู้สื่อข่าวของภูเก็ตหวาน มาตั้งแต่ปี 2552 ขณะดำเนินคดี ชุติมา อายุ 31 ปี
 
ชุติมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ จังหวัดภูเก็ต และปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
ปัจจุบัน ชุติมา กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก คณะศิลปศาสตร์ สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
 
ชุติมาเป็นผู้สื่อข่าวที่มีความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ โดยหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของชุติมาคือเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา 
 
นอกจากนี้ ชุติมายังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วย

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 จำเลยทั้งสามร่วมกันใส่ความกองทัพเรือซึ่งเป็นผู้เสียหาย โดยนำบทความภาษาอังกฤษซึ่งใช้หัวเรื่องว่า “Thai Military Profiting from Trade in Boatpeople, Says Special Report” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “รายงานพิเศษระบุว่ากองทัพเรือไทยได้รับประโยชน์จากการค้าผู้อพยพทางเรือ” และมีเนื้อหาตอนหนึ่งซึ่งอ้างอิงมาจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า “The Thai naval forces usually earn about 2,000 baht per Rohingya for spotting a boat or turning a blind eye, said the smuggler, who works in the southern Thai region of Phang Nga (north of Phuket) and deals directly with the navy and police.” ซึ่งมีความหมายในทำนองว่า กองทัพเรือไทยได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบเข้าเมืองทางทะเลของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นความเท็จ และเป็นการให้ร้ายต่อกองทัพเรือ ส่งผลให้กองทัพเรือเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกิดความเสียหาย
  
จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำบทความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยตีพิมพ์บทความดังกล่าวลงในเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน และเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปรับทราบผ่านทางเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน

พฤติการณ์การจับกุม

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับไปให้อลันและชุติมาที่สำนักงานของภูเก็ตหวาน และนัดหมายให้ทั้งคู่ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรวิชิต จ.ภูเก็ต

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

17 เมษายน 2557

วันนัดส่งฟ้อง

อลันและชุติมาเดินทางมาถึงศาลจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เวลา 9.00 น. เมื่อมาถึงที่ศาลมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศมารออยู่ประมาณ 15 – 20 คน ทันทีที่อลันและชุติมาเดินทางมาถึง ผู้สื่อข่าวต่างกรูเข้ามาเพื่อถ่ายรูปและสัมภาษณ์ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลเข้ามาแจ้งกับบรรดาผู้สื่อข่าวว่า ห้ามถ่ายรูปก่อนได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งลงมาแจ้งว่าให้ถ่ายได้แต่ห้ามถ่ายติดสัญลักษณ์หรือป้ายชื่อศาล ชุติมาและอลันให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสรุปความได้ดังนี้

ชุติมาเปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจที่ถูกดำเนินคดี เพราะทางภูเก็ตหวานและทางกองทัพเรือเคยทำงานร่วมกันมาก่อนและมีความสัมพันธ์ที่ดี นอกจากนี้การใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) มาฟ้องควบคู่กับการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ก็เป็นการใช้กฎหมายผิดเจตนารมณ์ เพราะพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกร่างขึ้นมาเพื่อจัดการกับความผิดต่อตัวระบบคอมพิวเตอร์หรือความผิดทางเทคนิค ไม่ได้ถูกร่างขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมเนื้อหา

นอกจากนี้ โทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็มีความรุนแรงมากกว่าโทษฐานหมิ่นประมาท การนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาใช้จึงถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อ ชุติมากล่าวด้วยว่า นอกจากภูเก็ตหวานแล้ว สื่อไทยฉบับอื่นๆ เช่น เอเอสทีวีเมเนเจอร์ ทีนิวส์ และไทยโพสต์ก็อ้างอิงรายงานของรอยเตอร์ส แต่มีเพียงภูเก็ตหวานที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี  ส่วนรอยเตอร์ส แม้กองทัพเรือจะแจ้งความดำเนินคดีเช่นเดียวกับภูเก็ตหวาน แต่กลับไม่มีความคืบหน้า

อลันให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากทราบว่าถูกดำเนินคดีก็พูดคุยกับรอยเตอร์สมาโดยตลอด แต่นับจากเดือนธันวาคม 2556เป็นต้นมาการติดต่อระหว่างภูเก็ตหวานกับรอยเตอร์สก็ขาดไป สำหรับการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ รู้สึกเสียใจและแปลกใจ เพราะกองทัพเรือเป็นหน่วยงานที่มีศักดิ์ศรี แต่กลับมาใช้กฎหมายที่มีปัญหาอย่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว อันเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

อลันเล่าว่าทำงานในฐานะสื่อมาหลายปีทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศแต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีแม้แต่ครั้งเดียว ที่ผ่านมาหากมีปัญหาก็จะใช้วิธีโทรศัพท์พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง  อลันตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพเรือคงไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการดำเนินคดีครั้งนี้  และคนที่ผลักดันให้มีการดำเนินคดีครั้งนี้คงเป็นบุคลากรของกองทัพเรือเพียงไม่กี่คน

หลังเสร็จสิ้นการให้สัมภาษณ์ อลันและชุติมาเดินเข้าสู่ศาลโดยมีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งเดินตามเข้าไปด้วย เมื่อเข้าไปด้านใน เจ้าหน้าที่ศาลคนหนึ่งเดินมาพูดคุยให้คำแนะนำเรื่องวิธีการยื่นคำร้องขอประกันตัว ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จากสถานทูตออสเตรเลียก็เดินทางมาถึงศาลและพูดคุยกับอลัน

เวลาประมาณ 10.30 น. ซึ่งช้ากว่าเวลานัดหมายหนึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการเดินทางมาที่ศาลเพื่อทำการส่งตัวจำเลยฟ้องต่อศาลแทนอัยการ อลันและชุติมาถูกนำตัวลงไปยังชั้นใต้ดินของศาลเพื่อควบคุมตัวระหว่างรอคำสั่งศาลเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว หลักทรัพย์ที่ทีมงานกฎหมายของทั้งสองใช้ยื่นเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสลากออมสินมูลค่ารวม 200,000 บาท ซึ่งเป็นของศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนอันดามัน

เนื่องจากอลันเป็นชาวต่างชาติ ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวนอกจากจะต้องยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้วยังต้องให้เจ้าบ้านของอาคารที่อลันเช่าอยู่มารับรองภูมิลำเนาในราชอาณาจักรของอลันด้วย เวลาประมาณ 11.30 น. เจ้าบ้านเดินทางมาถึงและพูดคุยกับทนายจำเลยเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องเซ็นรับรอง เจ้าบ้านของอลันกังวลว่าการเซ็นเอกสารดังกล่าวอาจมีผลเสียต่อตนเองหากอลันหลบหนี ทนายต้องอธิบายอยู่ครู่ใหญ่ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการรับรองถิ่นที่อยู่ของอลันเท่านั้น ไม่มีพันธะผูกพันใดๆ กับตัวเจ้าบ้านในทุกกรณี แม้แต่กรณีที่อลันหลบหนี เมื่อทนายอธิบายอย่างละเอียดเจ้าบ้านก็ยินยอมเซ็นเอกสารให้ เมื่อเจ้าบ้านเซ็นเอกสารแล้วทนายจำเลยก็ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยระหว่างต่อสู้คดีทันที   

หลังจากยื่นเอกสารก็ถึงเวลาพักเที่ยง เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับทนายจำเลยว่าคำสั่งศาลจะออกมาช่วงบ่าย อลันและชุติมาจึงต้องรอฟังคำสั่งในห้องควบคุมตัวชั่วคราวต่อไป เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์ที่ต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพ-ภูเก็ตด้วยเครื่องบินภายในวันเดียวกันแสดงความกังวลใจเพราะกลัวว่าจะต้องรอฟังคำสั่งศาลนานจนพลาดเที่ยวบิน ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สตัดสินใจโทรไปเลื่อนเที่ยวบินเพราะกลัวเดินทางกลับไม่ทัน ต่อมาเวลา 15.30 ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง และกำหนดวันนัดพร้อมประชุมคดีที่ศาลจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 26พฤษภาคม 2557 เวลา 9.00 น.

ตามคำฟ้องระบุว่าจำเลยทำผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 และทำความผิดฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 3 และ 14 นอกจากนี้ หากศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยทำผิดจริงก็ให้จำเลยพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาคำพิพากษาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 332 ด้วย  

หลังได้รับการปล่อยตัว ชุติมาให้สัมภาษณ์กับว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับการประกันตัวออกมาและได้รับอิสรภาพหลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลากว่าห้าชั่วโมง ชุติมากล่าวด้วยว่า ไม่รู้สึกกังวลกับการที่จะต้องถูกคุมขัง เนื่องจากเตรียมใจไว้แล้ว มันป็นเรื่องของหลักการที่จะไม่ใช้เงินส่วนตัวประกันตัวเอง เพื่อให้สังคมเห็นว่าคดีนี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ แม้ว่าการถูกฟ้องจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดอยู่บ้างก็ตาม สำหรับทิศทางในอนาคต จะเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อสู้คดีต่อไป สำหรับผลกระทบของคดีต่อการทำหน้าที่สื่อนั้น ชุติมาเปิดเผยว่ามีผลกระทบพอสมควร เพราะการเตรียมคดี ทำให้ไม่สามารถทุ่มให้กับงานได้เต็มทื่

 

 

หมายเลขคดีดำ

2161/2557

ศาล

ศาลจังหวัดภูเก็ต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

Thai navy sues Phuketwan journalists over Rohingya trafficking report, เว็บไซต์ CNN, 23 ธันวาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 7 มกราคม 2557)
 
อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร, Thai Military Profiting from Trade in Boatpeople, Says Special Report, เว็บไซต์ Phuketwan, 17 กรกฎาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 7 มกราคม 2557)
 
[Thailand] Drop defamation, computer crimes charges against Phuket journalists, เว็บไซต์ SEAPA, 19 ธันวาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 7 มกราคม 2557)
 
ยูเอ็นจี้ไทยถอนฟ้องเว็บไซต์, เว็บไซต์ข่าวสด, 27 ธันวาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 7 มกราคม 2557)
 
อัยการเลื่อนอ่านคำสั่งฟ้องนักข่าวภูเก็ตหวานไป 17 เม.ย., เว็บไซต์ประชาไทย, 12 มีนาคม 2557 (เข้าถึงเมื่อ 12 มีนาคม 2557)  
 
Thailand Trafficking Downgrade Likely to be Maintained, Says Phuketwan Editor เว็บไซต์ Phuketwan, วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 (เข้าถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557)

17 กรกฎาคม 2556

เว็บไซต์ภูเก็ตหวานเผยแพร่ข่าวซึ่งอ้างมาจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กองทัพเรือมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์ จากขบวนการค้ามนุษย์ รายงานฉบับนี้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากการเดินทางและสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า กองทัพจะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อหัว หากปล่อยให้ขบวนการค้ามนุษย์นำชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งได้โดยไม่ทำการจับกุม

16 ธันวาคม 2556

กองทัพเรือมอบอำนาจให้ น.อ. พัลลภ โกมโลทก แจ้่งความดำเนินคดี อลัน มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ Phuketwan กับพวกคือ ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าว ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ตามหมายเรียกที่ออกโดยสถานีตำรวจภูธรวิชิต อ.เมือง จังหวัดภูเก็ต ผู้ต้องหาทั้งสองต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่  24  ธันวาคม 2556 เวลา 13.00 น. ตามหมายเรียก

18 ธันวาคม 2556

เว็บไซต์ ภูเก็ตหวาน ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ถูกดำเนินคดี ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า กองทัพเรือเป็นผู้จุดประกายให้ สำนักข่าว ภูเก็ตหวาน สนใจประเด็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา เมื่อครั้งที่กองทัพเรือถูกกล่าวหาว่าปฎิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างโหดร้าย  ภูเก็ตหวานก็เป็นผู้ออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่การกระทำของกองทัพเรือแต่เป็นการกระทำของทหารหน่วยอื่น

ภูเก็ตหวานและกองทัพเรือทำงานร่วมกันด้วยดีมาโดยตลอด การดำเนินคดีครั้งนี้จึงเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะรายงานที่นำไปสู่การฟ้องร้องไม่ใช่รายงานของภูเก็ตหวาน แต่เป็นรายงานที่จัดทำโดยสำนักข่าวต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างรอยเตอร์

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ภูเก็ตหวาน ตั้งคำถามว่าเหตุใดกองทัพเรือจึงเลือกที่จะดำเนินคดีกับบุคลากรของเว็บไซต์แทนที่จะใช้วิธีโทรศัพท์มาพูดคุยหรือจัดแถลงข่าว 

19 ธันวาคม 2556

สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์ ประนามการดำเนินคดีครั้งนี้ว่า เป็นการใช้วิธีการแบบอันธพาล คุกคามสื่อขนาดเล็กอย่าง ภูเก็ตหวาน เพื่อปิดปากสื่อที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างแหลมคม SEAPA ชี้ว่าแนวทางที่กองทัพเรือควรจะทำคือการยอมให้มีการตรวจสอบที่โปร่งใสว่าบุคลากรมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนค้ามนุษย์จริงหรือไม่  

27 ธันวาคม 2556

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ออกแถลงการณ์ระบุว่า การลงโทษจำคุกในความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทไม่เคยเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับมาตรฐานของนานาประเทศ และยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของสื่อด้วย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนฟ้องอลัน และ ชุติมา สีดาเสถียร เพื่อยืนยันความเป็นอิสระของสื่อภายในประเทศ

10 มีนาคม 2557

อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้อง (เลื่อนไปวันที่ 17 เมษายน 2557)

 

11 มีนาคม 2557

พันธมิตรสื่อ งานบันเทิงและงานศิลปะ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานสำหรับผู้ที่ทำงานในวงการสื่อ และศิลปะการบันเทิงในออสเตรเลีย ชุมนุมหน้าสถานทูตไทยในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อนายอลัน มอร์ริสัน และน.ส.ชุติมา สีดาเสถียร

4 เมษายน 2557

อลัน และ ชุติมา พร้อมทีมทนาย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เรื่องการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ละเมิดสิทธิการนำเสนอข่าว 
 
คำร้องเรียนสรุปได้ว่า การดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 14(1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากพ.ร.บ.นี้บัญญํติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่การบังคับใช้กฎหมายนี้ที่ผ่านมาเป็นไปในลักษณะความผิดฐานหมิ่นประมาทเสียมาก
 
ในกรณีของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน การใช้กฎหมายนี้ดำเนินคดีเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อ เนื่องจากความผิดตามกฎหมายนี้มีโทษจำคุกและปรับสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดา และไม่สามารถยอมความได้ จึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ให้ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าในการบังคับใช้กฎหมายนี้ 
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้รับคำร้องเรียนดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อตรวจสอบต่อไป
 
17 เมษายน 2557
 
อัยการนัดส่งตัวฟ้องที่ศาลจังหวัดภูเก็ต
 
22 พฤษภาคม 2557
 
อลันและชุติมา พร้อมทีมกฎหมายเดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เพื่อให้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชน และตรวจสอบว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในทางตัวบทและการบังคับใช้หรือไม่ โดยมีสุนีย์ ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นผู้รับเรื่อง
 
26 พฤษภาคม 2557
 
นัดพร้อม จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ 18 มีนาคม และสืบพยานจำเลย วันที่ 19 – 20 มีนาคม 2558
 
7 กรกฎาคม 2557
 
ชุติมา และ อลัน เจรจากับกองทัพเรือ โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นคนกลาง 
 
อลัน กล่าวในที่ประชุมว่า เนื่องจากถูกศาลระงับวีซ่า ประกอบกับหนังสือเดินทางถูกยึด ตั้งแต่เดือนธันวาคม อลันจึงไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ และ เว็บไซดต์ภูเก็ตหวานจะปิดตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์2558 หรือหนึ่งเดือนก่อนการพิจารณาคดี 
 
อลันกล่าวต่อไปว่า ไม่บ่อยนักที่ทหารจะดำเนินคดีกับสื่อ องค์การพัฒนาเอกชนบางส่วน เชื่อว่า การดำเนินคดีครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปิดกั้นการรายงานปัญหาโรฮิงญา
 
ด้านชุติมา จำเลยในคดีอีกคนหนึ่งพยายามอธิบายว่า คำว่า Thai naval forces ในบทความไม่ได้หมายถึงกองทัพเรือแต่หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธกลุ่มอื่นด้วย นอกจากนี้ ในต้นฉบับภาษาอังกฤษก็ไม่ได้กล่าวถึงกองทัพเรือ แต่ทางตำรวจและอัยการกลับกล่าวหาว่า มีการกล่าวถึงกองทัพเรือถึงสามครั้ง
 
ที่มา Phuket Wan
 
10 กันยายน 2557
 
ศาลจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยคดีภูเก็ตหวานใหม่เป็นวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2558 จากที่นัดไว้เดิมวันที่ 18 – 20 มีนาคม 2558 เนื่องจากมีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงเห็นควรเลื่อนวันนัดออกไปก่อน
 
 
21 ตุลาคม 2557
 
กองทัพเรือภาคที่สาม แจ้งกับสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ของดการให้ข่าวของทัพเรือภาคที่สาม ต่อภูเก็ตหวาน ตลอดจนห้ามผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวานเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ เพราะมีข้อพิพาทและคดีความกันอยู่  เนื่องจากการเผยแพร่ข่าวของภูเก็ตหวานก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทัพเรือไทยในกรณีของชาวโรฮิงยา

ทั้งนี้กองทัพเรือภาคที่สามได้ทำหนังสือแจ้งไปยังประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตและประธานชมรมผู้สื่อข่าวภูเก็ตแล้ว

 6 ตุลาคม 2557

คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม มีหนังสือเลขที่ ยธ 0402/6492 เรื่อง แจ้งผลการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรม ถึงชุติมาว่า

คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม มีมติไม่อนุมัติเงินหรือค่าใช้จ่ายกองทุนยุติธรรม เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราว

คณะกรรมการเห็นว่า คดีนี้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาล และชุติมาในฐานะประกอบอาชีพเป็นสื่อมวลชนควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนเผยแพร่

การที่ชุติมาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเหตุให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย ถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสนับสนุนหลักทรัพย์เพื่อใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยตัวชั่วคราว จึงไม่อนุมัติเงินหรือค่าใช้จ่ายตามคำขอ  

23 มกราคม 2558

ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ยื่นหนังสือต่อตัวแทน คสช.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้กองทัพเรือถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ฟ้องไว้กับศาลจังหวัดภูเก็ต  โดยเนื้อหาของหนังสือระบุว่า 

คดีนี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็น เพื่อให้สังคมรับรู้ ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

การที่กองทัพเรือฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวานจึงไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมแต่อย่างใด

30 มิถุนายน 2558 
สมาคมนักเขียนสากล (PEN) ออกแถลงการณ์ว่า การดำเนินคดีอาญากับนักข่าวภูเก็ตหวาน 2 ราย เป็นความพยายามในการขัดขวางการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า แม้การส่งฟ้องในคดีนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเรือน แต่ยังมีความเคลื่อนไหวคดีตลอดเวลาภายใต้รัฐบาลทหารซึ่งยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 และเข้มงวดกับการใช้เสรีภาพของภาคประชาสังคมและปัจเจกบุคคลในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
 
9 กรกฎาคม 2558
องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ 8 กลุ่ม ได้แก่ ฮิวแมนไรท์วอช, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH), สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA), สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรัมเอเชีย), กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights), คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) และ องค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (OMCT) ส่งจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้รัฐบาลทบทวนและถอนฟ้อง อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร กรณีนำเสนอข่าวการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา 
 
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า นักข่าวภูเก็ตหวานทั้ง 2 คนถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว และการดำเนินคดีกับนักข่าวทั้ง 2 คนในข้อหาหมิ่นประมาทและละเมิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็เป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
นอกจากนี้ องค์กรสิทธิทั้ง 8 องค์กรยังเสนอแนะว่า ประเทศว่าไทยควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา เพราะมีบทลงโทษรุนแรงเกินความผิดที่เกิดขึ้นจริง และชี้แจงว่า หลักการที่นานาประเทศใช้คือการเปิดให้มีการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นต่อการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐได้ ยกเว้นในกรณีที่มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง จดหมายยังระบุด้วยว่า การใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีนักข่าวภูเก็ตหวาน สร้างความวิตกว่าจะมีการตีความกฎหมายมาตรานี้ไปเพื่อใช้ในการปราบปรามเสรีภาพสื่อ

 

14 กรกฎาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดสืบพยานคดีภูเก็ตหวาน วันนี้ สืบพยานโจทก์ทั้งหมด 4 ปาก ในห้องพิจารณาคดี มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) รวมทั้งผู้สื่อข่าว เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 30 คน จนล้นออกมานอกห้องพิจารณาคดี เนื่องจากห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็กมาก บรรจุคนได้ประมาณ 20 คน ก่อนหน้าศาลขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลกล่าวกับผู้สังเกตการณ์ว่า ห้ามจดบันทึก ห้ามถ่ายภาพในห้องพิจารณาคดี และห้ามนำข้อความที่อยู่ในระหว่างการสืบพยานออกไปเผยแพร่ พร้อมทั้งให้ผู้สังเกตการณ์ทุกคนเซ็นชื่อลงในใบรายชื่อที่ทางศาลเตรียมไว้
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนเริ่มพิจารณาคดี ทนายจำเลยขอร้องเรื่องการนำเสนอข่าว และขอให้ศาลอนุญาตให้มีการจดบันทึก ศาลได้ตอบคำถามเรื่องการจดบันทึกว่า ผู้สังเกตการณ์สามารถจดบันทึกได้ แต่ข้อความที่เผยแพร่จะต้องเป็นความจริงตรงกับที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี เมื่อชี้แจงเสร็จแล้วจึงเริ่มการสืบพยาน
 
พยานโจทก์ปากที่ 1 น.อ.พัลลพ โกมโลทก ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือเข้าแจ้งความดำเนินคดี
 
พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 มีการตรวจพบข่าวบนเว็บไซต์ภูเก็ตหวานระบุว่า กองทัพเรือ ซึ่งในข่าวใช้คำว่า naval forces เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการค้าผู้อพยพทางเรือ

พยานเบิกความว่า พยานทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับข่าวที่พาดพิงกองทัพเรือ จากการตรวจสอบพยานพบว่า อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดังกล่าว กองทัพเรือจึงมอบอำนาจให้พยานไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสอง รวมทั้งบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย ข้อหาหมิ่นประมาท และการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
พยานเบิกความอีกว่า ภายหลังการแจ้งความดำเนินคดี มีเจรจากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ 2-3 ครั้ง แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

หลังจากเสร็จสิ้นการเบิกความ ทนายจำเลยถามค้านต่อทันที
พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า พยานประจำอยู่ที่กองทัพเรือภาคที่ 3 ขึ้นตรงกับกองทัพเรือ และพยานได้รับมอบจาก พ.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือในเวลานั้นเข้าแจ้งความดำเนินคดี
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ว่า ข้อความที่เป็นพาดหัวข่าวแปลว่า กองทัพไทย ไม่ใช่ กองทัพเรือ และคำว่า Thai naval forces แปลว่า กองกำลังทางเรือ ทนายจำเลยถามต่อไปว่า กองกำลังทางเรือมีหน่วยงานอื่นร่วมด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าเป็นกองกำลังทางเรือของหน่วยงานอื่นจะใช้คำว่า marine time forces
 
ทนายจำเลยถามว่า ข่าวที่จำเลยใช้อ้างอิงมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งสำนักข่าวอื่นก็แปลแล้วนำมาลงเช่นกัน เหตุใดพยานจึงแจ้งความดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวานที่เดียว พยานตอบว่า พยานตรวจสอบจากสำนักข่าวอื่นแล้วไม่พบ สำหรับสำนักข่าวรอยเตอร์สก็มีการฟ้องร้องเช่นกัน แต่คดียังอยู่ที่สำนักงานอัยการ เพราะตัวผู้กระทำผิดอยู่ในต่างประเทศ

พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า ตัวพยานไม่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แต่พยานไม่ได้ตีความเอง กองทัพเรือได้ส่งให้ผู้เชียวชาญด้านภาษาต่างประเทศตรวจสอบแล้ว

พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า มีหน่วยงานทางเรือที่สังกัดหน่วยงานอื่นๆ ออกลาดตระเวนด้วย แต่เป็นลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ไม่ใช่การออกลาดตระเวนร่วมกัน
หลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ อัยการถามติงต่อทันที

พยานเบิกความว่า ในส่วนของการมอบอำนาจ พยานไม่ได้ส่งหนังสือคำสั่งกองทัพเรือต่อพนักงานสอบสวน แต่ส่งเฉพาะข่าวกับหนังสือมอบอำนาจ สำหรับคำสั่งแต่งตั้งผู้กระทำการแทนผู้บังคับบัญชาการกองทัพเรืออยู่ท้ายหนังสือมอบอำนาจ
 
พยานโจทก์ปากที่ 2 ร.ต.ท.จรัญญู เครือแวงมนต์ เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

พยานเบิกความว่า พยานได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนให้ตรวจสอบเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน พยานตรวจสอบจากโดเมนพบว่า ผู้จดโดเมนคือ อลัน มอริสัน นอกจากนี้ ที่บทความยังปรากฏชื่อของผู้เขียนบทความ คือ อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร พยานได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าวก่อน ตุลาคม 2556
 
ทนายจำเลยถามค้าน
พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า ไม่มีการยึดคอมพิวเตอร์ของจำเลยมาตรวจสอบ และไม่ได้ตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้โพสต์บทความดังกล่าวลงบนเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน พยานตรวจได้แค่ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์
 
ทนายจำเลยถามว่า ถ้ามีคนทราบรหัสผ่านของผู้ใช้งานก็สามารถเข้าไปโพสต์ข้อความได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า โดเมนของเว็บไซต์ภูเก็ตหวานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ข้อมูลและที่อยู่ผู้จดทะเบียนเว็บไซต์ระบุว่าอยู่ในไทย

พยานระบุว่า พยานยังไม่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนเพียงแต่ส่งรายงานการตรวจสอบไปให้เท่านั้น
เสร็จสิ้นการถามค้านพยานปากที่ 2 ศาลให้พักเที่ยง และทำการสืบพยานปากต่อไปในช่วงบ่าย
 
พยานปากที่ 3 ร.ต.อ. อนุรักษ์ กลางณรงค์ พนักงานสอบสวน
 
พยานเบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความจาก น.อ.พัลลภ โกมโลทก ก่อนที่พยานจะถูกโยกย้ายไปอยู่ที่ สภ.ฉลอง จ.ภูเก็ต โดยพยานสอบคำให้การ น.อ.พัลลภ ไว้เพียงปากเดียว
 
ทนายจำเลยถามค้าน
พยานตอบทนายจำเลยว่า พยานเป็นเจ้าของสำนวนคนแรก แต่ย้ายไปประจำที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เมื่อช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2556
 
พยานไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ และพยานไม่ได้ถาม น.อ.พัลลภ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ว่าเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษหรือคอมพิวเตอร์หรือไม่
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า ตนไม่ได้ทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้แปลข่าว และไม่ได้สอบปากคำผู้ตรวจสอบเว็บไซต์
 
พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.สานิช หนูคง สถานีตำรวจภูธรวิชิต พนักงานสอบสวนที่รับสำนวนต่อจาก ร.ต.อ.อนุรักษ์ กลางณรงค์ และสรุปสำนวนสั่งฟ้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
 
พยานเบิกความว่า ตอนนี้พยานทำงานอยู่ที่ สภ.ถลาง ในตำแหน่งพนักงานสอบสวน แต่ขณะเกิดเหตุทำงานอยู่ที่ สภ.วิชิต
 
พยานเบิกความว่า พยานรับสำนวนจากหัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.วิชิต และพยานเป็นผู้สอบปากคำจำเลยทั้งสาม โดยทั้งสามให้การปฏิเสธ
 
ทนายจำเลยถามค้าน พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า พยานเป็นเพียงผู้สอบปากคำจำเลยทั้งสามเท่านั้น แต่ไม่ได้ตรวจสอบการแปลในเอกสารของ น.อ.พัลลภ ว่ามีการแปลถูกต้องแล้วหรือไม่  และพยานก็ไม่ ได้ตรวจสอบว่าข้อความที่ปรากฏบนเว็บไซต์ www.phuketwan.com จะตรงกับข่าวของรอยเตอร์หรือไม่ และพยานก็ไม่ได้สอบคำให้การ ร.ต.อ.อนุรักษ์
 
 
15 กรกฎาคม 2558
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดสืบพยานคดีภูเก็ตหวาน โดยเป็นการสืบพยานจำเลย 3 ปาก ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.45 น.วันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศรวมทั้งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 25 คน ก่อนหน้าศาลขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลได้ให้ผู้สังเกตการณ์ทุกคนเซ็นชื่อลงในใบรายชื่อที่ทางศาลเตรียมไว้เช่นเดียวกับในวันแรก
 
ในการสืบพยานจำเลยวันนี้ อัยการไม่เข้ามาร่วมในการพิจารณาคดีตลอดทั้งวัน
 
พยานจำเลยปากที่ 1 บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย (จำเลยที่ 1) โดยมี อลัน มอริสัน (จำเลยที่ 2) เป็นกรรมการบริหาร ขึ้นให้การเป็นพยาน
 
เนื่องจากพยานปากนี้ เป็นชาวต่างชาติและไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จึงต้องใช้ล่ามแปลภาษา ฝ่ายทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ต้องการล่ามที่พยานนำมาเอง ศาลอนุญาต ทั้งนี้ มีล่ามของศาลนั่งฟังอยู่ตลอดกระบวนการพิจารณาคดี
พยานเบิกความถึง บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จดทะเบียนในปีพ.ศ. 2547 เพื่อผลิตเอกสารข่าว เช่น ทำนิตยสารให้กับโรงแรมลากกูนา จังหวัดภูเก็ต โดยบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย นำเสนอข่าวสารโดยใช้ชื่อว่า สำนักข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอข่าวเป็นเว็บไซต์
 
เว็ปไซต์ ภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก และมีคนไทยที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงต้องการให้คนเหล่านี้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
 
อลันเบิกความต่อว่า ภูเก็ตหวานมีนักข่าว 5 คน รวมตัวเขาแล้ว นอกจากนี้ อลันก็เคยทำข่าวเกี่ยวกับกองทัพเรือมาหลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. 2551 ได้ทำข่าวเกี่ยวกับกองทัพเรือที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากการที่เรือล่มไปในทะเล
และข้อความตามฟ้องเป็นข้อความที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานอ้างอิงมาโดยตรงจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ทั้งนี้ พยานให้การกับพนักงานสอบสวนเมื่อเดือนธันวาคม 2556 โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
ทั้งนี้อลัน เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ รับเขียนข่าวให้กับสำนักข่าว CNN และสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ เป็นบางครั้ง โดยเข้าทำงานโดยมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง
 
จากนั้นอลัน เบิกความว่า ในข่าวที่ถูกฟ้องมีการอ้างถึงคำว่า Thai naval forces ซึ่งหมายถึงกองกำลังทางเรือ ไม่ใช่กองทัพเรือ
 
เว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ทำข่าวเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาเป็นเวลานานแล้ว และยังทำข่าวเรื่องอื่นๆ ด้วย ข่าวที่ปรากฏบนเว็บไซต์ภูเก็ตหวานมีทั้งที่นักข่าวภูเก็ตหวานเป็นผู้เขียนเอง และตีพิมพ์ข่าวของสำนักข่าวอื่นด้วย
 
และการนำเสนอข่าวของอลันจะเน้นการนำเสนอข่าวเฉพาะที่เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะเท่านั้น เพื่อบอกให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบข้อมูลเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา อลันยังกล่าวด้วยว่า ข่าวที่ตีพิมพ์ทุกข่าวในเว็บไซต์ภูเก็ตหวานก็เพื่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น   ก่อนการตีพิมพ์ข่าวที่ถูกฟ้อง อลันพยายามตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ แล้ว แต่ไม่สำเร็จ โดยชุติมา นักข่าวของภูเก็ตหวานโทรศัพท์ไปหาทางกองทัพเรือภาคที่ 3 แต่ไม่มีผู้รับสาย
 
อลันเบิกความต่อว่า  อีก 3 วันต่อมา เว็บไซต์ภูเก็ตหวานตีพิมพ์ข่าวที่กองทัพเรือออกมาปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่กองทัพเรือได้รับเงินจากการค้าผู้อพยพทางเรือ โดยข่าวนั้นได้มาจากข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทัพเรือที่ออกมาชี้แจงหลังจากเกิดเรื่องขึ้น
 
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วิชิต โทรมาหา ชุติมา จำเลยที่ 3 และนำหมายเรียกมาที่สำนักงานของภูเก็ตหวาน ในชั้นสอบสวน อลันยอมรับว่าตนเป็นผู้เขียนพาดหัวข่าว ส่วนเนื้อข่าวที่ถูกฟ้องร้องเป็นข้อความที่อ้างอิงมาจากรอยเตอร์ส
 
โดยหลังจากที่มีข่าวว่าอลันถูกแจ้งความด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีองค์กรระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐต้องการให้กองทัพเรือถอนฟ้องการดำเนินคดีกับภูเก็ตหวาน  
 
อลันเบิกความถึงเรื่องการ ทำงานเป็นนักข่าวมานานแล้ว และได้รับรางวัล Walkley National Awards จากประเทศออสเตรเลีย ในปี 2526 ด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลจาก Society of Publisher in Asia โดยได้รับร่วมกับชุติมาด้วย
และเบิกความว่า  ชุติมา สีดาเสถียร จำเลยที่ 3 เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสที่สุดของภูเก็ตหวาน หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ชุติมาเคยเขียนข่าวที่กองทัพเรือพยายามช่วยเหลือหมู่บ้านชาวยิปซีและข่าวอื่นๆ ที่เป็นเชิงบวกของกองทัพเรือด้วย
จบการนำสืบจากทนายจำเลย ไม่มีการถามค้าน เนื่องจากอัยการไม่มาศาล เสร็จสิ้นการสืบพยานปากที่ 1 และปากที่ 2 ศาลขอพัก 15 นาที และจึงเริ่มสืบพยานจำเลยปากที่ 3
 
พยานจำเลยปากที่ 3 ชุติมา สีดาเสถียร จำเลยที่ 3 และผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน
 
ชุติมาเบิกความว่า เป็นลูกจ้างของอลัน มอริสัน  ทำหน้าที่เป็นนักข่าว โดยเป็นนักข่าวที่ผ่านการอบรมของกรมประชาสัมพันธ์   ตนเป็นผู้นำข้อความที่ถูกฟ้องมาอ้างอิง โดยนำมาจากข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ก่อนการนำมาอ้างอิง ได้โทรหา พลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ เป็นผู้บังคับบัญชาการกองทัพเรือภาค 3 พยานโทรไป 4-5 ครั้ง แต่ไม่มีใครรับสาย หลังจากนั้น 3 วัน กองทัพเรือที่กรุงเทพแจ้งว่า กองทัพเรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว หลังจากนั้น ภูเก็ตหวานก็นำข่าวที่ได้รับจากกองทัพเรือมาตีพิมพ์ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ในการนำเสนอข่าวให้กับผู้ถูกพาดพิงทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นการทำงานตามหลักจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว
 
ชุติมาเบิกความต่อว่า ตามสำนวนของตำรวจ คำว่า “ลงบทความ” ที่เคยให้การไว้  ตนตั้งใจจะสื่อความว่าหมายว่า เป็นผู้เขียนข่าวเองแต่ไม่ได้เป็นผู้นำบทความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
และได้เข้ายื่นเรื่องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยใจความสำคัญในหนังสือร้องเรียนระบุว่า การใช้
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ดำเนินคดีร่วมกับความผิดฐานหมิ่นประมาทออนไลน์ เป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อ เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้มุ่งใช้กับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น แฮคเกอร์ นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศก็ให้ความสนใจกับคดีของภูเก็ตหวาน เพราะภูเก็ตหวานเป็นสื่อเล็กๆ เท่านั้น โดยมีแถลงการณ์ออกมามากมาย และในวันนี้ซึ่งมีสืบพยานก็มีผู้สังเกตการณ์คดีเป็นจำนวนมาก
 
โดยการนำเสนอข่าวของภูเก็ตหวานเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ชุติมาเบิกความเพิ่มว่า ตัวเองมีความสนใจในเรื่องของผู้อพยพและคนไร้รัฐ เนื่องจากเรื่องราวเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้หาข้อมูลยากมาก นอกจากนี้ พยานยังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “บทชาติพันธุ์วรรณนาชาวโรฮิงญาในบริบทสังคม วัฒนธรรม และการเมืองไทย-เอเชีย” และ ในปี 2551 เคยได้รับรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนดีเด่น ทั้งนี้ก่อนการลงข่าวที่ถูกฟ้อง ได้โทรไปหากองทัพเรือ กอ.รมน. ตำรวจน้ำ และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข่าวก่อนลงข่าว
 
ทนายจำเลยนำสืบเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีการถามค้านจากอัยการ เนื่องจากอัยการไม่มาศาล
 
เสร็จการสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 เสร็จตั้งแต่ครึ่งวันบ่าย ศาลถามทนายจำเลยว่าพร้อมสืบพยานปากอื่นต่อหรือไม่ ทนายตอบว่า พยานปากที่เหลือจะมาศาลในวันพรุ่งนี้ ศาลกำชับให้มาให้ครบทุกปาก
 
16 กรกฎาคม 2558
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดสืบพยานคดีภูเก็ตหวาน โดยเป็นการสืบพยานจำเลย 4 ปาก วันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศรวมทั้งผู้สื่อข่าว เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 25 คน ก่อนหน้าศาลขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลได้ให้ผู้สังเกตการณ์ทุกคนเซ็นชื่อลงในใบรายชื่อที่ทางศาลเตรียมไว้เช่นเดียวกับในวันแรก
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 4 น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
น.พ.นิรันดร์ เบิกความว่า ได้รับหนังสือร้องเรียน เรื่องการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ละเมิดสิทธิการนำเสนอข่าว จากจำเลยในวันที่ 4 เมษายน 2557 โดยจำเลยที่ 2 และ 3 อ้างว่า ข้อความที่ถูกฟ้องเป็นการอ้างอิงมาจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส
 
จากนั้น เบิกความถึง จุดประสงค์ของจำเลยที่มาร้องกับคณะกรรมการสิทธิคือ หนึ่ง เพื่อรักษาเสรีภาพสื่อและเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สอง จำเลยต้องการนำเสนอสิ่งที่สื่อต่างประเทศนำเสนอ สาม จำเลยเป็นผู้สื่อข่าวในประเทศ จำเป็นต้องนำเสนอความคิดเห็นของสื่อต่างประเทศให้คนในประเทศทราบ โดยตนได้เชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุป โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
น.พ.นิรันดร์ เบิกความด้วยว่า เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ การปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากการทำงานเก็บข้อมูลของพยานพบว่า มีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาละเมิดเสรีภาพการแสดงออก มีการนำกฎหมายมาใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เช่น การนำมาใช้คู่กับกฎหมายหมิ่นประมาท และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112   ทั้งนี้หลังจากจำเลยมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ แล้ว ตนมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย โดยคดีนี้มีปัญหาคือ การตีความภาษาอังกฤษคำว่า “Thai Naval Forces” ซึ่งจำเลยยืนยันว่า ไม่ได้หมายถึงแค่กองทัพเรืออย่างเดียว แต่หมายรวมถึงกองกำลังทางน้ำของหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ พยานเรียกทั้งคู่มาไกล่เกลี่ยกัน 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และประเทศไทยต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีที่ไทยให้สัตยาบรรณไว้กับต่างประเทศ
 
ทนายจำเลยนำสืบเสร็จแล้ว แต่อัยการไม่มาศาล จึงไม่มีการถามค้าน
 
 
พยานจำเลยปากที่ 5 สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
สาวิตรีเบิกความว่า ตนรับราชการเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสอนเรื่องกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ วิชากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ
 
โดยจากการศึกษาและทำวิจัยเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พบว่า มีหลายมาตราที่กำหนดไว้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 14(1) ที่ใช้กันอย่างสับสน ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะเอาผิดการปลอมแปลงฐานหมิ่นประมาท แต่จะเอาผิดฐานการปลอมแปลงเอกสารออนไลน์หรือการนำเอกสารเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เช่น Phishing
 
และเบิกความว่า ปัญหาของมาตรา 14(1) คือ การใช้มาตรา 14(1) ร่วมกับหมิ่นประมาทออนไลน์จะทำให้อัตราโทษที่เกิดจากสื่ออนไลน์มีสูงกว่าสื่อออฟไลน์อื่นๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) เป็นคดีอาญาไม่สามารถยอมความได้
ทนายจำเลยนำสืบเสร็จแล้ว แต่อัยการไม่มาศาล จึงไม่มีการถามค้าน
 
 
พยานจำเลยปากที่ 6 สรณันท์ จิวะสุรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)
 
มาเบิกความว่า ตนเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งทำหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานโดยตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)  ได้รับการมอบหมายโดยตรงจากรัฐมนตรีไอซีทีให้ศึกษาและปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
 และที่ผ่านมา ได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องและรับฟังความคิดเห็น ทราบว่ามีปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ไม่ทราบเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)
 
พยานจำเลยปากที่ 7 อับดุล การัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย
 
อับดุล การัม เบิกความว่า ตนเป็นชาวโรฮิงญา ถือสัญชาติพม่า เดิมอยู่ที่รัฐอาระกัน ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
 
โดยเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานสมาคมชาวโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย ภายใต้สังกัดมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติภาพ เขาเบิกความเพิ่มว่า มีชาวโรฮิงญาที่เดือดร้อนจากประเทศพม่าเดินทางเข้ามาในไทยจำนวนมาก มีหลายคนที่ไม่เข้าใจภาษาไทย ตนจึงไปเป็นล่ามให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ค่ายชาวโรฮิงญาที่สะเดาและปาดังเบซาร์
 
ทั้งนี้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาเดินทางมาแบบรวมกลุ่มทางเรือ โดยมาขึ้นฝั่งที่ระยอง พังงา ภูเก็ต สตูล เมื่อมาเข้าฝั่งไทย มีคนจับชาวโรฮิงญามาอยู่ที่เกาะ ให้น้ำ ให้อาหาร และเรียกนายหน้ามาแล้วจึงขายให้นายหน้า ถ้าโรฮิงญาคนไหนมีญาติมาไถ่ตัวไปก็จะเป็นอิสระ
 
พยานจำเลยปากที่ 8 วัณณสาส์น นุ่นสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลภาษาต่างประเทศ
 
เบิกความถึงเรื่องที่ตนสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน
 
และ จากพาดหัวข่าว “Thai Military Profiting from Trade in Boatpeople, Says Special Report” แปลว่า รายงานพิเศษ เจ้าหน้าที่ทางทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากผู้อพยพทางเรือ ส่วนข้อความตามฟ้องที่ระบุว่า “The Thai naval forces usually earn about 2,000 baht per Rohingya for spotting a boat or turning a blind eye, said the smuggler, who works in the southern Thai region of Phang Nga (north of Phuket) and deals directly with the navy and police.” แปลว่า เจ้าหน้าที่ทางเรือมักได้รับเงินราว 2000 บาท จากชาวโรฮิงญา 1 คน จากการพบเห็นเรือหรือทำเป็นไม่เห็น กล่าวโดยผู้ลักลอบที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ของพังงา และติดต่อโดยตรงกับทหารเรือและตำรวจ
 
1 กันยายน 2558

นัดฟังคำพิพากษา

เวลาประมาณ 9.15 น. ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ในห้องพิจารณาคดี 4  มีตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลีย องค์กรระหว่างประเทศ เช่น Human Right Watch และ International Commission of Jurist และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

ศาลอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยคำพิพากษาสามารถแยกได้เป็น 3 ประเด็น

1. ประเด็นอำนาจการฟ้องคดี ศาลเห็นว่ากองทัพเรือมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ เพราะถ้อยคำตามฟ้องได้แก่ "Naval Forces" แม้จะไม่ได้หมายถึงกองทัพเรือซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Royal Thai Navy" แต่คำว่า "Naval Forces" หมายถึงกองกำลังทางน้ำ ซึ่งกองทัพเรือก็ถือเป็นกองกำลังทางน้ำ กองทัพเรือประเภทหนึ่ง ตัวอักษร "s" หลังคำว่า "Naval Force" ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าผู้เขียนพูดถึงกองกำลังทางน้ำหลายหน่วยงาน ซึ่งอาจรวมกองทัพเรือด้วย กองทัพเรือจึงมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์คดีนี้

2. ประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ข้อความตามฟ้องในคดีนี้เป็นข้อความที่จำเลยนำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับและสามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สจะตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นความจริงก่อนเผยแพร่ การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ส ไม่ได้เขียนเอง จึงไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

3. ประเด็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฎว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างมาจากรอยเตอร์สเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว

จึงพิพากษายกฟ้อง

หลังศาลมีคำพิพากษา อลันและชุติมาต่างแสดงความยินดีกับผลคำพิพากษา อลันกล่าวว่า เขารู้สึกดีมากและถือว่าวันนี้เป็นวันที่ดีวันหนึ่งสำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย ขณะที่ชุติมากล่าวว่า คำพิพากษาคดีนี้แสดงให้เห็นว่า ศาลยึดหลักความจริงและเสรีภาพของสื่อ คำพิพากษาคดีนี้ จึงไม่เพียงเป็นผลดีกับจำเลยในคดีนี้หากแต่เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีสำหรับคดีอื่นๆด้วย

15 มกราคม 2559

ก่อนหน้านี้ อัยการยื่นขอขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งศาลอนุญาต จนมาถึงวันที่ 15 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นวันครบระยะเวลาที่อัยการจะต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาครั้งสุดท้าย แต่อัยการไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา คดีจึงสิ้นสุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ประเด็นแรก โจทก์และผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าผู้เสียหายเป็นหน่วยงานรัฐได้มอบอำนาจให้น.อ.พัลลภ โกมลทก เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีนี้ ซึ่ง
 
น.อ.พัลลภ เบิกความต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับข้อความในพาดหัวข่าว ติดใจดำเนินคดีนี้เนื้อในของข่าวเท่านั้น น.อ.พัลลภเบิกความว่า กองทัพเรือในภาษาอังกฤษ คือ The Royal Thai Navy ดังนั้น คำว่า Naval Forces ที่ปรากฏในเนื้อข่าวนั้น จึงไม่ได้หมายถึงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แต่หมายถึงกองกำลังทางน้ำ ซึ่งอาจเป็นกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ และกอ.รมน.ในส่วนที่ตรวจตราทางน้ำด้วย และคำว่า Forces มี s ซึ่งแปลว่ามีหลายหน่วยงาน ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าคำว่า Naval Forces รวมถึงกองทัพเรือด้วย ผู้รับมอบอำนาจของกองทัพเรือจึงมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ได้
 
ส่วนที่จำเลยได้โต้แย้งว่าการแปลข้อความของกองทัพเรือนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งได้โต้แย้งไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ฝ่ายจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญ จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา มาเบิกความว่า Naval Forces นั้นแปลว่าเจ้าหน้าที่ทางเรือ การแปลข้อความที่แตกต่างกันนี้ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วในประเด็นอำนาจฟ้องของโจกท์
 
ประเด็นที่สอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่
ในคดีนี้จำเลยนำข้อความมาจากรายงานของสำนักข่าว Reuters ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทั่วโลกและสามารตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าว Reuters ตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว เนื้อหาที่จำเลยตีพิมพ์ในข่าวก็ระบุว่าเป็นการรายงานโดยสำนักข่าว Reuters ไม่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่จำเลยทั้งสามเขียนขึ้นเอง ทั้งเนื้อหาข่าวตามฟ้องก็เป็นข้อความเดียวกับที่ปรากฏในข่าวของสำนักข่าว Reuters ทั้งย่อหน้า การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328
 
ประเด็นที่สาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่
คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การนำข้อความจากสำนักข่าว Reuters เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฏว่าข้อความใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน และไม่เป็นความผิดตามหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญมาตรา 328
 
พิพากษายกฟ้อง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

ชัย ราชวัตร: วิจารณ์นายก

ศิริพร: 212เว็บบอร์ด