เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die)

อัปเดตล่าสุด: 04/09/2560

ผู้ต้องหา

เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die)

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2555

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม

สารบัญ

เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ภาพยนตร์จากบทประพันธ์ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่อง The Tragedy of Macbeth ถูกสั่งแบนจากกระทรวงวัฒนธรรม เพราะมีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ผู้สร้างจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย หรือ Shakespeare Must Die เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวซึ่งอ้างอิงเนื้อหาจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์เรื่อง โศกนาฏกรรมของแม็คเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น เรื่องราวตำนานการเมืองและไสยศาสตร์ที่แปลเป็นไทยตามต้นฉบับละคร โดยโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธถูกดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกันในสองโลก คือ โลกของโรงละคร-โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยฆาตกรรม และ โลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์ โหดเหี้ยม และบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกเพียงว่า ‘ท่านผู้นำ’ และภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัว เหตุการณ์ต่างๆ ในสองโลกแฝดนี้ส่องสะท้อนกันและกัน ค่อยๆ เริ่มซึมเข้าหากัน กระทั่งประสานงากันอย่างรุนแรงและโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานบังอาจแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์เช่นท่านผู้นำ โดยพวกเขาคิดที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนไทยเข้มแข็ง ผ่านสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และเป็นเรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนนี้ ด้วยเหตุที่ว่า มีคณะกรรมการพิจารณาให้ทุนบางท่านมีความกังวลต่อฉากที่ ‘เมฆเด็ด’ (แม็คเบ็ธ พระเอก / ผู้ร้าย) ลอบปลงพระชนม์พระราชาดังแคน ทีมงานผู้สร้างจึงต้องถ่ายทำฉากนี้มาให้คณะกรรมการพิจารณาว่า ไม่มีเนื้อหาและภาพที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112

 
เมื่อคณะกรรมการได้ชมฉากนี้จากภาพยนตร์ดิบที่กองถ่ายส่งให้พิจารณาอย่างละเอียดโดยไม่ได้ตัดต่อ ทุกฉาก (พร้อมเสียง) คณะกรรมการจึงเห็นพ้องว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อมนุษยชาติ เพราะเป็นเรื่องของ บาปบุญคุณโทษ และมิได้มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูงแต่อย่างใด จึงอนุมัติให้ทุนสนับสนุน ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท

มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และเป็นผู้ยื่นขอเรทติ้ง เป็นศิลปินอิสระ ผลงานที่เป็นที่รู้จักคือชุดภาพถ่าย Pink Man ที่มีภาพชายร่างท้วม สวมสูทสีชมพู และรถเข็นซูเปอร์มาร์เกต

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ อิ๋ง เค (Ing K) เป็นนักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดี

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 26 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย หรือ Shakespeare Must Die เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวซึ่งอ้างอิงเนื้อหาจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์เรื่อง The Tragedy of Macbeth ถูกกระทรวงวัฒนธรรมสั่งห้ามฉาย เพราะมีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1321/2555

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

 
3 เมษายน 2555
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ซึ่งมี พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง เป็นประธาน มีมติไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) โดยให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.2552 ข้อ 7(3) และตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
 
ในมติดังกล่าว มีกรรมการที่ลงนามเห็นชอบในมติ 4 ท่าน คือ พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง นายเขมชาติ เทพไชย นายวีระชัย ทรัพยวณิช และนายมานิตย์ ชัยมงคล ขณะที่กรรมการอีก 3 ท่านไม่ลงนามในมติด้วย ได้แก่ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายอนุชา ทีรคานนท์ และนายสามารถ จันทร์สูรย์
 
17 เมษายน 2555
ผู้สร้างภาพยนตร์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันหลังจากมีมติห้ามฉาย
 
และทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ยังได้รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 514 ชื่อ ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนมติห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ และเรียกร้องให้หยุดการแบนภาพยนตร์ไทย พร้อมมีการแสดงละครฉากหนึ่งในภาพยนตร์บริเวณประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนราชดำเนินนอกด้วย
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีกำหนดประชุมในวันที่ 25 เมษายน 2555 เพื่อพิจารณาคำอุทธรณ์และลงมติว่า จะยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ดังกล่าวในประเทศไทยหรือไม่
 
11 พฤษภาคม 2555
คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมี พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี และมีนางสุกุมล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธาน มีมติ 18 : 4 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ให้เรต "ห" ห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3
 
ในคำสั่งระบุว่า คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พิจารณาเห็นว่า เนื่อหาของภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" แม้จะดัดแปลงให้เป็นประเทศสมมติก็ตาม แต่ก็มีลักษณะที่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นสังคมไทย และบางฉากยังมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขเนื้อหาสาระบางส่วนที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ แต่ผู้อุทธรณ์แจ้งว่าเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงยืนยันไม่แก้ไข คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จึงมีมติยกอุทธรณ์ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
 

30 พฤษภาคม 2555

นาย มานิต ศรีวานิชภูมิ และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินการพิจารณาตรวจสิบและให้ความเป็นธรรมในกรณี

1. เนื้อหาฉากใดที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 เห็นว่ามีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ แล้วมีมติไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” เผยแพร่ในราชอาณาจักร

2. การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีมติห้ามภาพยนตร์ออก ฉายในราชอาณาจักร เป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ อย่างไร
 
9 สิงหาคม 2555
นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และน.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะที่ 3 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ที่ห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ในราชอาณาจักร และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากเงินทุนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,530,388.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
       
คำฟ้องระบุเหตุแห่งการฟ้องคดีว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” เผยแพร่ในประเทศไทย โดยอ้างว่ามีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ 2552 ข้อ 7 (3) นั้น ไม่เป็นไปตามข้อจำกัดในหลักการของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติไว้
       
ข้อเท็จจริงในสังคมไทยมีการเข่นฆ่าประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ทั้งเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และกรณีสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความรุนแรงของสังคมไทยที่มิอาจลืมเลือน หรือปกปิดไว้ได้แต่อย่างใด โดยคนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ดังนั้นภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย” จึงมิได้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีคนในชาติตามที่อ้าง
       
เนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีตอนใดตอนหนี่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่อ้าง เพราะเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละครเรื่อง “โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ” อันเป็นบทประพันธ์ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น การที่อ้างว่าไม่ให้ภาพยนตร์นี้ฉายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น คำว่า “รัฐ” ย่อมหมายถึงรัฐชาติ ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด ดังนั้น การกระหายเลือด การมักใหญ่ใฝ่สูง การงมงายในไสยศาสตร์ของตัวละครในภาพยนตร์ที่สถาปนาตนเองเป็นราชา ซึ่งเหมือนกับผู้นำประเทศต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ย่อมมิได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเกียรติภูมิของประเทศแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดมิได้หมายถึงประเทศชาติด้วย”
       
มานิต และสมานรัชฎ์ระบุด้วยว่า ตนต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวในกระบวนการผลิตภาพยนตร์จนเสร็จสิ้นอีก 2,250,000 บาท รวมถึงความเสียหายต่อชื่อเสียงค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์กับบุคคลอื่น แต่การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสองไม่ได้มีเจตจำนงแสวงหากำไร จึงไม่ติดใจที่จะเรียค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้องคดี
 

22 พฤศจิกายน 2555
ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ร่วมกับนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เข้า แจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เหตุถูกเว็บไซต์เถื่อนขโมยหนังของตนไปจำหน่ายและเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต ทาง

หลัง จากนั้น ทีมผู้สร้าง-ผู้กำกับและทีมทนายความจากหนังทั้งสองเรื่อง เดินทางต่อไปยัง “ศาลปกครอง” เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาคดีของหนังทั้งสองเรื่องโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายและผลกระทบอันจะเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี จากการที่มีผู้นำหนังทั้งสองเรื่องไปเผยแพร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังได้รับความเสียหาย สูญเสียรายได้ที่อาจจะได้รับจากการจัดฉายหลังศาลมีคำพิพากษา

23 พฤศจิกายน 2555
หลังยื่นหนังสือเร่งรัดคดีหนึ่งวัน ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้

15 มีนาคม 2556 
ผู้รายงานพิเศษในประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมและผู้รายงานพิเศษในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออกแห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ออกหนังสือถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวล ว่าการแบนภาพยนตร์ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ อาจถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของนายมานิต ศรีวานิชภูมิ และ น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ในการแสดงออกในทาางทางศิลปะและสิทธิที่ทั้งสองควรมีในการมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรม  และเสรีภาพที่ขาดไม่ได้สำหรับกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามขั้นตอนตามที่จำเป็น  ที่จะเรียกคืนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักพื้นฐานที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรา 15 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
 
ในหนังสือยังมีคำถามต่อรัฐบาลไทยว่าการออกคำสั่งห้ามฉายของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และการมีอยู่ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.25551 มาตรา 23 และ 29 นั้นเป็นการปฏิบัติตามมาตราฐานของสิทธิเสรีภาพหรือไม่อย่างไร และยังถามด้วยว่าศาลปกครองและคณะกรรการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีคำสั่งต่อกรณีนี้อย่างไร


29 เมษายน 2556

หลัง จากที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้พิจารณาตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จึงมีมติให้เสนอมาตรการและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้


1. ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทบทวนคำสั่งห้ามฉายภาพยยนตร์ โดยกำหนดอายุผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จัดอยู่ในประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุสิบแปดปีขึ้นไป


2. จัดทำข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราช บัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการ แสดงออกตามรัฐธรรมนูญ

15 พฤษภาคม 2556
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมติ เห็นชอบตามตวามเห็นของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งให้ตัดฉากที่นำไปสู่การห้ามฉาย คือ ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทุกคนทราบกันดี เพียงฉากเดียวไม่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้นการสั่งห้ามฉายโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลได้ว่าภาพใดหรือฉากใดที่จำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อื่น
หรือความมั่นคงของรัฐ เป็นการกระทำที่ละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของผู้สร้างภาพยนตร์

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่จนขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการปกป้องเสรีภาพของประชาชน

แต่เนื่องจากนายมานิต ศรีวานิชภูมิ และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ ผู้ร้อง ได้ฟ้องคดีคณะกรรมการภาพยร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่สาม ต่อศาลปกครองแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจใช้อำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 ประกอบ เห็นควรยุติเรื่อง 

18 มิถุนายน 2556
คณะผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ในกรุงเจนีวา มีหนังสือตอบกลับไปยังผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ สรุปความได้ว่า กฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพบางอย่างทางความคิดเห็นและการแสดงออก  ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่คุกคามต่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน  กฎหมายนี้ไม่กัดกร่อนสิทธิต่อเสรีภาพ และการแสดงออกของสาธารณชนชาวไทยแต่ประการใด  สื่อมวลชนไทยเป็นสุขในเสรีภาพที่สูงมาก  ความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้รับการเผยแพร่ออกอากาศอย่างกว้างขวาง 
 
การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้น  ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและหน้าที่พิเศษต่างๆ  ดังนั้นจึงต้องมีข้อจำกัดบางประการ   การคุ้มครองความมั่นคงของชาติ  หรือความสงบเรียบร้อยนั้น  เป็นพื้นฐานที่มีน้ำหนักในการกำหนดข้อจำกัดดังกล่าว  ข้อยกเว้นนี้คือรากฐานที่มาของมาตรา 26 (7) ของกฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 คำสั่งแบนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น  เพราะเนื้อหาของหนังเรื่องนี้อาจก่อให้เกิดการแตกสามัคคีในสังคม  จึงเป็นสิ่งที่คุกคามความมั่นคงของชาติ คำสั่งนี้ออกโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน คำสั่งแบนจึงเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานทั่วไปของสากลโลกแล้ว
 
 
5 กรกฎาคม 2560
 
ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปศาลปกครองในนัดพิจารณาคดีครั้งแรก โดยผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลปกครอง และได้อ่านด้วยวาจาต่อศาลด้วย
 
คำแถลงตามที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย สรุปความได้ว่า ข้าพเจ้าจำใจต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง  ทั้งที่ซาบซึ้งดีเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือชะตากรรมของภาพยนตร์ไทยนั้น ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนพร้อมจะทำ ในอุตสาหกรรมที่ผู้เปี่ยมอิทธิพลที่มีอยู่ไม่กี่คนนั้นมีอำนาจล้นฟ้า และคนอื่นๆ ที่เหลือล้วนไร้อำนาจในการต่อรองโดยสิ้นเชิง
 
กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ไม่มีความเที่ยงธรรมและเสมอภาคในทางปฏิบัติ สามารถรวบรัดตัดตอนได้ตามอำเภอใจ กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงทางการเมือง เพราะในขั้นตอนการแถลงข่าวห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมแถลงข่าวด้วยตนเอง การกลับมติคำสั่งห้ามฉายดังกล่าวจะกระทำมิได้ หากมิใช่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าปลัดกระทรวงวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
 
การอนุญาตให้ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ออกฉาย อาจกระทบต่อความรู้สึกของนักการเมือง ณ เวลานั้น เนื่องด้วยเนื้อหาภาพยนตร์ได้สะท้อนชะตากรรมความโลภของผู้นำประเทศ ซึ่งเป็นบทประพันธ์อมตะของกวีของโลกชาวอังกฤษที่เขียนไว้เมื่อกว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้น อย่างไม่ต้องสงสัย
 
สิทธิในการประกอบวิชาชีพและสิทธิในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งคุ้มครองสื่ออื่นๆ ในประเทศไทย ยกเว้นภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยไร้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรี และยังมีผลกระทบเชิงลบด้านการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีกด้วย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยขาดความมั่นคงในวิชาชีพและการลงทุน ตราบใดที่คนนิรนาม 7 คน ในห้องมืด ยังมีสิทธิตัดสินชะตากรรมของภาพยนตร์ที่ผู้สร้างได้ทุ่มเทเวลา ทรัพย์สินและกำลังใจ มาเป็นเวลาหลายปี ตราบนั้น ความคล่องตัวทางความคิดและความมั่นใจในการลงทุน ย่อมจะเกิดมิได้ ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ขาดหลักประกันและการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เฉกเช่นที่อาชีพอื่นได้รับ
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ นายทุนจึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนกับบทภาพยนตร์ที่ “แตกต่าง” จากที่เคยเห็นมา หรือที่มีความคิดแปลกใหม่ สิ่งนี้ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไม่กล้าคิด ไม่กล้าสร้างสรรค์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ไทย “ไม่ไปไหนเสียที” เพราะต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องไร้สาระ ไม่สามารถสำรวจปัญหาหรือด้านมืดของสังคมไทย ไม่สามารถแตะต้องเนื้อเรื่องและแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของตนเอง
 
ศิลปะ รวมทั้งภาพยนตร์ ที่มีต้นกำเนิดจากโจทย์และขอบเขตข้อจำกัดที่รัฐตั้งธงไว้ให้ล่วงหน้า – คือศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น – เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิต สัจธรรมนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ ศิลปะที่ไร้ชีวิตนั้นขายไม่ออก เนื่องจากว่ามันไม่สามารถสัมผัสชีวิตจิตใจของผู้ชม ไม่จุดประกายให้เกิดการสนทนาถกความที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเป็น การรู้จักวิเคราะห์ปัญหา เพราะศิลปะที่ตาย ไม่สามารถให้แรงบันดาลใจและกำลังใจต่อผู้ชม 
 
ศิลปะแท้นั้นอยู่ไม่ได้ และเกิดไม่ได้ หากไม่มีเสรีภาพ และศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิตและขายไม่ออก
 
แทนที่จะห้ามฉายภาพยนตร์ที่กรรมการเซ็นเซอร์เห็นว่าเป็นพิษภัยต่อสังคมหรือสร้างความแตกแยก ประเทศไทยควรให้โอกาสทุกฝ่ายสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนและมุมมองของตน หากว่าประเทศไทยมีศรัทธาในประชาชนและมีความกล้าหาญเช่นนี้  ผู้ชมในประเทศไทยก็จะได้รับชมทุกมุมมองและรสนิยม ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย หากว่าเรามัวแต่แบนความคิดของกันและกัน เราก็ไม่มีวันเข้าอกเข้าใจกันและกัน
 
ข้าพเจ้าไม่ได้ทำหนังเชคสเปียร์เพื่อความโก้เก๋ เพราะเห่อฝรั่ง การแปลเชคสเปียร์เป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายความสามารถถึงที่สุด หาใช่สิ่งที่ใครจะลุกขึ้นมาทำกันง่ายๆ ด้วยคึกคะนอง เพียงเพื่อจะด่านักการเมือง เชคสเปียร์เป็นกวีเอกของโลกคนหนึ่ง ผลงานของเชคสเปียร์คือมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ข้าพเจ้าใคร่ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด คนไทยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกอันล้ำค่านี้? มรดกที่คนชาติอื่นๆ ทั่วโลกเขาได้รับคุณประโยชน์กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว จะมีอีกกี่ครั้งที่จะมีคนไทยลุกขึ้นมาสร้างหนังจากละครเชคสเปียร์? เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และอาจเป็นเรื่องสุดท้าย
           
รัฐไทยมองสื่อและศิลปะทุกแขนงผ่านแก้วผลึกแห่งโฆษณาชวนเชื่อและการจัดระเบียบสังคม เพราะรัฐเชื่อว่าคนเราสามารถจัดระเบียบสังคมให้ประชาชนเป็นคนดี  โดยการให้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีงาม และเก็บกดทุกแบบอย่างที่ดูชั่วร้ายอุจาดบาดตา นี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการภาพยนตร์เห็นว่า ‘แม็คเบ็ธ’ ฉบับของข้าพเจ้า  “มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ” และ “ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ” คนเหล่านี้ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเราสามารถเรียนรู้จากแบบอย่างที่ไม่ดี: ชายที่น่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง แต่สูญเสียทุกสิ่งเป็นเครื่องสังเวยความโลภ  ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตของตน  
 
เมืองไทยหลงทางเพราะเรากักขังจินตนาการของเราไว้ในคุกใต้ดิน มัดตรึงด้วยโซ่ตรวน แผ่นดินใดที่ไร้ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นเสรี แผ่นดินนั้นย่อมไม่มีทางและไม่มีวันที่จะเป็นไท
 
11 สิงหาคม 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครอง โดยศาลปกครองอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ยืนยันคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย
 

คำพิพากษา

 
สรุปคำพิพากษาศาลปกครอง
 
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดี ได้พิจารณาภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายแล้วเห็นว่า มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เช่น เนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดง มีการจับผู้กำกับละครแขวนคอ และทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งเข้าลักษณะของภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 16(7) ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จึงเชิญผู้สร้างเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ผู้สร้างแจ้งว่า ไม่ขอแก้ไขภาพยนตร์เนื่องจากเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 
 
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "สามัคคี" หมายความว่า ความพร้อมเพียงกัน ความปรองดองกัน ที่พร้อมเพียงกันทำ ที่ร่วมมือร่วมในกันทำ คำว่า "แตก" หมายความว่า แยกออกจากส่วนรวม ทำให้แยกออกจากส่วนรวม คุมไว้ไม่อยู่ คำว่า "ชาติ" หมายความว่า ประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ จึงพออนุมานความหมายของคำว่า "การแตกความสามัคคีของคนในชาติ" ได้ว่า หมายถึง การทำให้ประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ เกิดความไม่พร้อมเพียงกัน เกิดความรู้สึกแตกแยกกัน 
 
เมื่อพิจารณาสรุปเรื่องย่อ บทคัดย่อ ประกอบการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ปรากฏว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวตำนานแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ที่ได้แรงบันดาลใจและบทเกือบทั้งหมดจากต้นฉบับละคร "โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ" (The tragedy of Macbeth) ของวิลเลียม เชคสเปียร์ แต่ดัดแปลงให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทย ดำเนินเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ระหว่างการแสดงในโรงละครกับเหตุการณ์ในโลกภายนอกของประเทศแห่งหนึ่ง
 
ภาพยนตร์จบลงด้วยความรุนแรง โดยละครในโรงละครจบลงด้วยการตายของตัวละคร แต่โลกภายนอกบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย กลุ่มบุคคลที่คลั่งไคล้ "ท่านผู้นำ" โกรธแค้นที่มีการแสดงละครล้อเลียนท่านผู้นำได้วิ่งกรูเข้าไปทำร้ายนักแสดง และผู้คนที่กำลังนั่งดูละคน ทำร้ายผู้กำกับละคร แล้วจับแขวนคอทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็กพับ ท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมากส่งเสียงเชียร์
 
แม้ในภาพยนตร์จะเป็นประเทศสมมติก็ตาม แต่มีเนื้อหาหลายฉากหลายตอนสื่อให้เห็นว่า เป็นสภาพสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น คนดูละครแต่งตัวสื่อถึงลักษณะของคนไทย ผู้ประท้วงชูแผ่นป้ายเป็นภาษาไทย รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่า ฉากหนึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
 
แม้ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง นำประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตที่มีความขัดแย้งมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายร้อยปีจนคนไทยในปัจจุบันไม่อาจสืบสาวได้ว่า บุคคลในประวัติศาสตร์เป็นใคร เกี่ยวข้องกับญาติพี่น้องของตนอย่างไร จึงไม่อาจก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังได้ ต่างภาพยนตร์เรื่องนี้นำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ และมีความยาวในฉากนั้นถึง 2 นาทีเศษ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต หรือผู้ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังจนอาจเกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติได้
 
ผู้ถูกฟ้องคดีได้เสนอให้แก้ไขตัดทอนบางฉากแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดียืนยันที่จะไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งที่สามารถทำได้โดยที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของเรื่อง 
 
คำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สั่งให้ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักร จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีคำสั่งยืน คำสั่งดังกล่าวก็จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
 
ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้แจ้งให้แก้ไขตัดทอน โดยระบุว่า ให้ตัดทอนเนื้อหาตอนหรือฉากใด  ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจทราบว่า ต้องแก้ไขมากน้อยเพียงใด ศาลเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ด้วย และได้ให้เหตุผลยืนยันว่า ต้องการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และในหนังสืออุทธรณ์มีการยอมรับว่า ได้ถกเถียงกันอย่างมากถึงฉาก 6 ตุลาฯ และฉากที่มีการใช้สีแดงแล้ว แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทราบและเข้าใจแล้วว่า ฉากหรือเนื้อหาส่วนใดบ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติและประสงค์ให้ตัดทอน  จึงถือได้ว่า ได้แจ้งให้แก้ไขตัดทอนก่อนสั่งไม่อนุญาตให้ฉายตามขั้นตอนแล้ว
 
ที่ผู้ฟ้องคดีต่อสู้ว่า คำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลปกครองเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดคดีนี้ ระบุว่า สิทธิเสรีภาพย่อมถูกจำกัดได้ด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย บางฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเกียรติภูมิของประเทศไทย ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
 
ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า มีภาพยนตร์ที่นำเสนอเหตุการณ์ทำนองเดียวกันแต่ได้รับอนุญาตให้ฉายได้ เช่น เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง และมหาลัยสยองขวัญ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ศาลเห็นว่า แม้ฉากบางฉากของภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีความคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องย่อมมีข้อเท็จจริงแตกต่างกันออกไป อันเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ที่จะตรวจพิจารณา และแยกประเภท ภาพยนตร์ที่กล่าวอ้างมาไม่ปรากฏหลักฐานว่า ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ อันจะทำให้รับฟังได้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา