- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีมาตรา112, ฐานข้อมูลคดี
ธันย์ฐวุฒิ: นปช.ยูเอสเอ
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ธันย์ฐวุฒิ ใช้ชีวิตอยู่กับลูกชายวัย 10 ขวบ (อายุขณะถูกจับกุม) ตามลำพังที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีและเปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมาเพื่อรับงานโดยตรงทางด้านการพัฒนาเว็บไซต์ ที่บ้านของตัวเอง ธันย์ฐวุฒิ มองว่าตัวเองเป็นคนชั้นกลางที่ต้องทำมาหากินและไม่ค่อยสนใจติดตามการเมืองมากนัก
ธันย์ฐวุฒิ เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโลกไซเบอร์หลังการรัฐประหารในปี 2549 โดยเว็บไซต์แรกที่เขาสมัครเป็นสมาชิกคือห้องราชดำเนินของ เว็บไซต์ “พันทิป ดอทคอม” เป็นการโพสต์แสดงความเห็นเป็นครั้งคราว หลังจากว่างจากการทำงาน ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ตในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทางประชาธิปไตย
แม้ธันย์ฐวุฒิ จะชื่นชอบ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย แต่ก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองนักเพราะมีภาระต้องดูแลลูกชายคนเดียว ธันย์ฐวุฒิสังเกตเห็นจากการไปร่วมชุมนุมครั้งหนึ่งว่า ในจังหวัดนนทบุรีมีกลุ่มคนเสื้อแดงย่อยๆ หลายกลุ่มจึงทดลองทำเว็บไซต์ขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อรวบรวมมวลชนเสื้อแดงในจังหวัดนนทบุรีให้มาอยู่ในที่เดียวกันผ่านช่องทางโลกไซเบอร์ ชื่อว่า เรดนนท์ ดอทคอม หรือ www.rednont.com และทำให้ ธันย์ฐวุฒิ มีโอกาสได้รู้จักกับกลุ่มนักรบไซเบอร์แดงนนท์
หลังเหตุการณ์ เมษายน ปี2552 เว็บไซต์ เรดนนท์ ดอทคอมซึ่งมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในเมืองไทยถูกปิดลง ธันย์ฐวุฒิ จึงทำเว็บไซต์ขึ้นใหม่ซึ่งมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศเพื่อเคลื่อนไหวต่อและเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์เอง เช่น เว็บไซต์เรดไทย redthai [dot] org redthai [dot] net , dek-d [dot] org เป็นต้น และยังทำเว็บไซต์อีกหลายแห่งขึ้นเพื่อให้คนอื่นนำไปดูแล โดยในโลกไซเบอร์ธันย์ฐวุฒิใช้นามแฝงอันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เรดอีเกิ้ล (redeagle)
ชื่อของธันย์ฐวุฒิ เป็นรายชื่อหนึ่งที่ถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จัดอยู่ในผังล้มเจ้าด้วย
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
ธันย์ฐวุฒิ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com ซึ่งมีการโพสต์ข้อว่าจาบจ้วง และอาฆาตมาดร้าย ต่อสถาบันเบื้องสูง โดยถูกฟ้อง 3 กรรม ดังนี้
1. ถูกกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 จำเลยเป็นผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com อันมีลักษณะกล่าวให้ร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวปรากฏบนหน้าเว็บไซต์เป็นไฟล์ภาพที่มีข้อความอยู่ และปรากฏว่านำเข้าสู่ระบบโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า admin จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3)
2. ถูกกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 จำเลยเป็นผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com อันมีลักษณะกล่าวให้ร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวปรากฏบนหน้าเว็บไซต์เป็นไฟล์ภาพที่มีข้อความอยู่ และปรากฏว่านำเข้าสู่ระบบโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า admin จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550มาตรา 14(3)
3. ถูกกล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีผู้อื่นนำเข้าข้อความอันมีลักษณะให้ร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่จำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์ไม่ได้ลบข้อความดังกล่าวออก จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15
พฤติการณ์การจับกุม
1 เมษายน 2553
ขณะนั้นเป็นช่วงที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้นที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จำนวน 14 นาย นำโดย พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม พร้อมด้วยนายตำรวจชั้นประทวนอีก 10 นาย และสื่อมวลชนจำนวนมากนำหมายจับของศาลอาญา เลขที่ 767/2553 และหมายค้นเลขที่ 103/2553 ไปยังอาคารชุดแห่งหนึ่งในแขวงบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พบตัวผู้ต้องหาตามหมายจับและควบคุมตัวไว้
ผลการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดของกลาง 8 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์พีซี 2 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง ทัมฟ์ไดรฟ์ 4 ตัว เมมโมรี่การ์ด 3 ตัว แผ่นซีดีและดีวีดี 138 แผ่น สมุดเอกสารและเอกสาร
ขณะจับกุมผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังรับสารภาพในชั้นสอบสวน
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
1 ธันวาคม 2554
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายงานอ้างแหล่งข่าวไม่ระบุชื่อ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐว่าด้วยการ ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ (ล้มเจ้า) ว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีล้มเจ้าซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่ ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าชุดปฏิบัติการคดีพิเศษซึ่งมีพนักงานสอบสวนจำนวน 9 ชุดที่รับผิดชอบคดีจำนวน 32 คดี ให้เข้าปากคำกับพนักงานสอบสวนชุดใหม่ จากข่าวระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับพนักงานสอบสวนชุดเดิม และถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า การทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนชุดเดิมนั้นเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวน ที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากการสืบสวนคดีที่เกี่ยวพันกับการหมิ่นสถาบัน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาตามแผนผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีเพียงการอ้างถึงเครือข่าย แต่ผู้ร้องไม่ได้ระบุถึงข้อกล่าวหาว่าบุคคลตามผังล้มเจ้าได้ไปกระทำความผิด ในลักษณะใด ที่ใดบ้าง ทำให้พนักงานสอบสวนที่แบ่งออกเป็น 9 ชุดก่อนหน้านี้ต้องไปสอบสวนข้อเท็จจริง โดยตนต้องการให้รายงานผลการทำงานเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียกเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ พนักงานสอบสวน ซึ่งเบื้องต้นพนักงานสอบสวนชุดเดิมยังไม่สามารถชี้ถึงกรณีกระทำความผิดของคน กลุ่มนี้ได้
30 มีนาคม 2555 หนังสือพิมพ์มติชนเผยแพร่คำสัมภาษณ์ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งกล่าวถึงคดีผังล้มเจ้าซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานครบหมดทุกปาก แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ขั้นตอนต่อไปดีเอสไอจะเตรียมประชุมเพื่อสรุปปิดสำนวนคดีก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยทางดีเอสไอจะไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนได้ อย่างไรก็ตาม คดีหมิ่นเบื้องสูงที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลทางพนักงานสอบสวนจะยังดำเนินการ สืบสวนต่อไปแต่ยอมรับว่าทำการสืบสวนได้ยากเนื่องจากตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ และในส่วนคดีหมิ่นเบื้องสูง ส่วนมากจะปรากฏตามเว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต ทำให้การหาตัวผู้กระทำผิดได้ค่อนข้างลำบาก
แหล่งอ้างอิง
ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 55)
ประชาไท (อ้างอิงเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 55)
ศอฉ. แจกแผนผังเครือข่ายล้มเจ้า, เว็บไซต์ Siam Intelligent Unit วันที่ 27 เมษายน 2553 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)
ดีเอสไอเปิดศึกขัดแย้งทำคดีหมิ่นฯป่วน, เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 1 ธันวาคม 2554 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)
เปิดบัญชีคดีพิเศษ"ดีเอสไอ" 33 คดีเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง, เว็บไซต์มติชน วันที่ 3 มกราคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)
ดีเอสไอลั่นไม่สั่งฟ้องคดีแผนผังล้มเจ้า เหตุพยานหลักฐานไม่ชัดพอชี้ตัวผู้กระทำผิด, เว็บไซต์มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)
อนุญาตถอนอุทธรณ์ คดี112 ‘ธันย์ฐวุฒิ’ -เตรียมยื่นขออภัยโทษ, เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 12 กันยายน 2555 (อ้างอิงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555)
ตั้งแต่วันจับกุม จนถึงขณะนี้จำเลยยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการประกันตัว
1 เมษายน 2553
เจ้าหน้าที่เข้าค้นและจับกุมตัวจำเลย
24 มิถุนายน 2553
พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล
9 สิงหาคม 2553
ศาลนัดพร้อม ทั้งโจทก์และจำเลยมาศาล จำเลยยื่นคำให้การแถลงปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โจทก์แถลงต้องการสืบพยานทั้งหมด 12 ปาก จำเลยแถลงต้องการสืบพยานทั้งหมด 6 ปาก ศาลกำหนดให้วันสืบพยานโจทก์ 3 วันและให้วันสืบพยานจำเลย 2 วันติดต่อกัน
4 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์นัดแรก
พยานปากแรก โจทก์นำ พันตำรวจตรีพิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ พนักงานสืบสวนประจำกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าเบิกความ ยืนยันตรวจสอบพบข้อความตามฟ้องปรากฏในเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com จึงสืบสวนและดำเนินการจับกุมตัวจำเลย
พยานปากที่สอง โจทก์นำ พันตำรวจเอกนิธิธร จินตกานนท์ พนักงานสืบสวนสอบสวน ตำแหน่งผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี เข้าเบิกความ อธิบายถึงขั้นตอนการสืบสวน การหาหลักฐานทางอิเล็คโทรนิคส์เพื่อสืบมาถึงตัวจำเลย
9 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์นัดที่สอง
พยานโจทก์ปากที่สาม โจทก์นำพันตำรวจโทสัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสืบสวนสอบสวน เข้าเบิกความถึงขั้นตอนการประสานงานกับบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อขอข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ และอธิบายถึงการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน
10 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลย นัดแรก
พยานปากแรก จำเลยเบิกตัวเองเป็นพยาน ธันย์ฐวุฒิ ให้การปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้เป็น admin หรือผู้ดูแลเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com แต่ได้รับการว่างจ้างจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า woodside ให้รับหน้าที่ออกแบบโลโก้และพื้นหลังให้กับเว็บไซต์ดังกล่าว เนื่องจากตนเองมีอาชีพรับออกแบบเว็บไซต์อยู่แล้ว จึงเคยกดเข้าไปในลิงก์ที่ woodside ส่งมาให้เพียงหนึ่งครั้งแต่ไม่พบข้อความใดๆ ปรากฏ เหตุที่รับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ให้รับสารภาพ และตนเป็นห่วงลูก จึงรับสารภาพเฉพาะที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์และจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีผู้อื่นมาโพสต์ข้อความนั้นไม่ได้รับสารภาพ
พยานปากที่สอง จำเลยนำ นายจิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าเบิกความเป็นพยาน ยืนยันว่า หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ของโจทก์นั้นไม่สามารถระบุได้เพียงพอว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ norporchorusa [dot] com และ norporchorusa2 [dot] com และการที่จำเลยเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเว็บไซต์ได้
15 มีนาคม 2554
นายเอกวิโรจน์ มณีธนวรรณ และ นางสาวชรยา จิตต์ธรรมวงศ์ ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์ตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะกล่าวให้ร้ายพระมหากษัตริย์ 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ฐานเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีผู้อื่นนำเข้าข้อความอันมีลักษณะให้ร้ายพระมหากษัตริย์ ลงโทษจำคุก 3 ปี พิพากษาให้จำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 13 ปี
อนึ่ง ในวันดังกล่าวจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งด้วยหลักทรัพย์เงินสด 1,300,000 บาท ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
16 มีนาคม 2554
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
12 พฤษภาคม 2554
ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เป็นคดีในศาลอุทธรณ์ เลขดำที่ 2069/2554 และเลขแดงที่ 12005/2555 ลงวันที่เลขแดงเมื่อ 7 มิถุนายน 2555
ในช่วงเช้าธันย์ฐวุฒิได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า คำสั่งพระราชทานอภัยโทษของตนเองมาถึงแล้ว
เวลาประมาณ 15.45น. มีกลุ่มกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องนักโทษการเมือง นำโดย รศ.สุดา รังกุพันธุ์ จากกลุ่มปฎิญญาหน้าศาล ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ต้องขังคดี112 อีกคนหนึ่ง และ รศ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีนายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำนปช. มาร่วมต้อนรับด้วย
ธันย์ฐวุฒิได้รับการปล่อยตัวเวลา16.10 น. ผู้ที่มาต้อนรับต่างเข้าไปสวมกอดและแสดงความยินดีที่ธันย์ฐวุฒิได้รับอิสรภาพ ธันย์ฐวุฒิให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า คดีนี้ใช้เวลาทำเรื่่องขอพระราชทานอภัยโทษประมาณเจ็ดเดือน ต่อจากนี้ หวังว่านักโทษในคดี 112 ที่กำลังขอพระราชทานอภัยโทษจะได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว
ต่อมาในเวลา 17.00น. ครอบครัวของธันย์ฐวุฒิ ได้แก่ บิดา มารดา และบุตรชาย อายุ 13 ปี เดินทางมาถึงหน้าเรือนจำและสวมกอดกันด้วยความยินดี