9 ปี รีแคป เหตุเกิดในเดือนพฤษภา

22 พฤษภาคม 2566 คือวันครบรอบเก้าปีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น หลังยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารที่มี “อำนาจพิเศษ” ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา ระหว่างนั้นพล.อ.ประยุทธ์ก็แต่งตั้งกลุ่มบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดฉากทำประชามติที่ปิดกั้น ผลักดันมาตรา 272 ที่กำหนดให้ 250 ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมตรี

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. จะถูกประกาศใช้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมลงจากอำนาจ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ประชาชนในนามกลุ่มคนอยากเลือกออกมาชุมนุมเพื่อทวงถามถึงคำสัญญาเรื่องการจัดเลือกตั้งโดยการชุมนุมครั้งใหญ่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 วันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร ซึ่งจบลงโดยที่ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดี ล่วงมาถึงปี 2562 มีการจัดการเลือกตั้ง แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแต่สุดท้ายผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเป็น พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ โดยมี “ตัวช่วย” สำคัญคือสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส.จากพรรคการเมืองขนาด “หนึ่งเสียง” ที่ได้เข้าสภาเพราะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สถานการณ์การเมืองที่เริ่มเปิดมากขึ้นหลังการเลือกตั้งดำรงอยู่เพียงปีเศษก็กลับมาปิดอีกครั้งเพราะในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศโดยอ้างเหตุเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลและตัว พล.อ.ประยุทธ์ยังทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งภายหลังเรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ก็นำเสนอ 3 ข้อเรียกร้องหลัก คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เริ่มตอบโต้ผู้ชุมนุมอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การเมืองบนท้องถนนที่คุกรุ่นตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 2564 เริ่มลดดีกรีความเข้มข้นลงในปี 2565 ซึ่งอาจมีปัจจัยทั้งตัวนักกิจกรรมเองที่มีกำหนดต้องเข้ารับการพิจารณาคดีโดยศาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางคนก็ติดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวด เช่น ถูกห้ามออกจากเคหะสถานหรือถูกติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองในภาพใหญ่ก็เดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

22 พฤษภาคม 2565 วันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งผลที่ออกมาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งลงสมัครในนามอิสระชนะการเลือกตั้งอย่าง “ถล่มทลาย” ขณะที่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลก็ชนะการเลือกตั้งรวมกันถึง 33 เขต จาก 50 เขต ก่อนที่ในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นห้วงเวลาของการเลือกตั้งใหญ่ ผลการเลือกตั้งกลับกลายเป็นพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย สองพรรคร่วมฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่หนึ่งและสองตามลำดับ

 

22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารเริ่มต้น “ระบอบคสช.”

การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสามวาระรวดโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในช่วงปลายปี 2556 ก่อให้เกิดการชุมนุมคัดค้าน แม้ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะประกาศว่าหาก ส.ว.ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวทางรัฐบาลก็จะปล่อยไปให้ตกไปไม่นำกลับมาพิจารณาซ้ำ แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไปโดยเปลี่ยนจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังดำเนินต่อไป ในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มี ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณลาออกมานำการเคลื่อนไหวบนถนนอย่างเต็มตัว พร้อมเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 กลุ่มกปปส.ยกระดับการเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ Shut Down Bangkok นำผู้ชุมนุมปิดสถานที่สำคัญๆในกรุงเทพ เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และในการจัดเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.บางส่วนได้ไปปิดคูหาเลือกตั้งบางคูหาจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้พร้อมกันทั่วประเทศ ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในเวลาต่อมา

หน้าหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเหตุการณ์การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 

หลังกลุ่ม กปปส.ออกมาชุมนุม กลุ่ม นปช.ซึ่งมีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับกลุ่ม กปปส.และสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยได้จัดการชุมนุมที่ถนนอักษะเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ระหว่างที่การชุมนุมของทั้งสองฝ่ายดำเนินไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยอ้างเหตุเพื่อให้ผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย (กปปส. และ นปช.) ยุติการเผชิญหน้า และเข้าสู่การเจรจาหาทางออกให้บ้านเมืองอย่างสงบสันติ จากนั้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์เรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสภา และตัวแทนผู้ชุมนุมทั้งกลุ่ม กปปส.และ นปช.เข้าประชุมเพื่อหาทางออก ก่อนที่จะประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

หลังการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษ โดยเฉพาะอำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกประกาศคำสั่งต่างๆเพื่อบริหารราชการแผ่นดินรวมอย่างน้อย 556 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นมีประกาศและคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างน้อย 421 คน นับถึงเดือนธันวาคม 2561 มีผลบังคับใช้

สิ่งที่ทำให้การรัฐประหารของ คสช. แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนหน้า คือ การวางโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจในคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจทางการเมืองต่อหลังการเลือกตั้ง โครงสร้างที่สำคัญได้แก่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านการออกเสียงประชามติภายใต้บริบททางการเมืองที่ผู้ออกมารณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน โดยมีมาตราที่สำคัญ ได้แก่ มาตรา 272 ที่ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีนับจากมีรัฐสภาชุดแรก เป็นการออกเสียงร่วมกันของ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกตั้งกับ ส.ว.ที่ คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง รวมถึงการออกแบบระบบการเลือกตั้งและสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เอื้อให้เกิดระบบการเมืองแบบหลายพรรค ต่อมาเป็นปัจจัยให้พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ก่อนการเลือกตั้ง 62 อย่างพรรคพลังประชารัฐที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จแม้จะมีจำนวน ส.ส.เป็นอันดับที่สองรองจากพรรคเพื่อไทยและ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจนถึงปี 2566   

 

พฤษภาคม 2558: ชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารจุดกำเนิดนักกิจกรรมที่ผันตัวเข้าสภา

หลัง คสช. ยึดอำนาจมีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ ทว่าก็ถูกคสช.ใช้กฎหมายและอำนาจพิเศษของคณะรัฐประหารกดปราบจนทำให้ความเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. เริ่มสงบลงไป หนึ่งปีผ่านไปในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีกลุ่มนักกิจกรรมนัดหมายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยเริ่มการชุมนุมในเวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งก่อนหน้านั้นมีตำรวจเข้ามาควบคุมพื้นที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์ฯ แล้ว ระหว่างที่นักกิจกรรมเริ่มเข้าพื้นที่และแสดงออกตำรวจก็เข้าล้อมและจับกุมตัวผู้ชุมนุมสลับกับการตรึงพื้นที่เป็นระยะจนท้ายที่สุดในเวลาประมาณ 19.30 น. ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมไปควบคุมที่ สน.ปทุมวันอย่างน้อย 30 คน 

การชุมนุมดูนาฬิการำลึก 1 ปี การรัฐประหารที่หอศิลป์ฯ 22 พฤษภาคม 2558

เช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ผู้ชุมนุมอย่างน้อย 30 คนที่ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัวโดยมีเก้าคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัจจัยที่ทำให้การชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2558 สมควรถูกนับเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของ “เหตุเกิดในเดือนพฤษภา” เป็นเพราะการชุมนุมและการจับกุมนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นได้ทำให้นักกิจกรรม เช่น รังสิมันต์ โรม ลูกเกดชลธิชา ปกรณ์ อารีกุล และเพื่อนๆ อีกสี่คนที่ถูกดำเนินคดีตัดสินใจทำ “อารยขัดขืน” ประกาศไม่ยอมรับข้อหาที่ใช้ดำเนินคดี และไม่เข้ารายงานตัวตามนัด ทั้งยังได้ร่วมกับนักกิจกรรมอีกเจ็ดคนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกันจากการชุมนุมในโอกาสครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารที่ขอนแก่น ก่อนที่นักกิจกรรมรวม 14 คน จะถูกจับและถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในค่ำวันที่ 26 มิถุนายนและถูกส่งเข้าเรือนจำในช่วงดึกวันเดียวกัน เมื่อศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังทั้ง 14 คน และทั้งหมดแถลงไม่ใช้สิทธิในการประกันตัว

นักกิจกรรมทั้ง 14 คน ถูกคุมขังเป็นเวลา 12 วันจึงได้รับการปล่อยตัว หลังถูกปล่อยตัวบางส่วนยุติบทบาทการเคลื่อนไหวขณะที่บางส่วนยังคงทำกิจกรรมต่อไป ลูกเกด ชลธิชา, รังสิมันต์ โรม และนักกิจกรรมอีกส่วนหนึ่งรวมถึงคนที่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีร่วมกับ 14 นักศึกษารวมตัวกันเคลื่อนไหวในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ Vote No ร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 รวมถึงการรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งในปี 2561

ล่วงมาถึงการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 มีอดีตนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมต่อต้าน  คสช.สามารถชนะการเลือกตั้งเข้าไปทำงานในสภาได้ เช่น รังสิมันต์ โรม เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2562 ก่อนที่ในปี 2566 นักกิจกรรมรวมถึงทนายความที่เคยว่าความให้นักกิจกรรมในยุค คสช. ก็ชนะการเลือกตั้งและได้เข้าสภา เช่น ลูกเกด ชลธิชา เป็นว่าที่ ส.ส.ปทุมธานี, ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ จำเลยคดีฉีกบัตรประชามติและคดีการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งในยุค คสช.เป็นว่าที่ ส.ส. กทม. และ พุธิตา ชัยอนันต์ นักกิจกรรมที่ถูกจับหน้าหอศิลป์ฯเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ ขณะที่อดีตทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ และ วีรนันท์ ฮวดศรี ก็ได้เป็นว่าที่ ส.ส.กทม.และว่าที่ ส.ส.ขอนแก่น ตามลำดับ

 

พฤษภาคม 2561: คนอยากเลือกตั้ง ทวงสัญญา “4 ปีแล้วนะไอ้สัส”

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 ประชาชนกลุ่มหนึ่งเริ่มออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 โดยเรียกตัวเองว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนับเป็นการจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพครั้งแรกๆ หลังจากประเทศอยู่ในช่วงถวายความอาลัย และเพิ่งมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่เก้า ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมอย่างหลากหลาย ทั้งคนที่เคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังการรัฐประหาร 2557 เช่น ลูกเกด ชลธิชา รังสิมันต์ โรม และนิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นอกจากนั้นก็มีนักกิจกรรมคนอื่นๆ เช่น เอกชัย หงส์กังวาน ทนายอานนท์ นำภา และ โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา เป็นต้น กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมครั้งแรกที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันที่ 27 มกราคม 2561 หลังจากนั้นก็มีการนัดจัดการชุมนุมในสถานที่อื่นๆ ตามมา เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถนนราชดำเนินใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การชุมนุมเดินเท้าไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก รวมถึงการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปหน้าทำเนียบรัฐบาล นอกจากที่กรุงเทพก็มีการจัดการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งในต่างจังหวัดด้วยคือที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และที่ลานหน้าห้างเซ็นทรัลพัทยา โดยมีข้อเรียกร้องเพียงให้จัดการเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญ 2560

ภาพการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2561 ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การชุมนุมครั้งสำคัญของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งคือการชุมนุมในโอกาสครบรอบสี่ปีการรัฐประหารระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤษภาคม 2561 โดยทางกลุ่มนัดรวมตัวค้างคืนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 21 พฤษภาคม จากนั้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เช้าวันที่ 22 พฤษภาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งนำกำลังปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็สกัดขบวนผู้ชุมนุมที่พยายามเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนไม่สามารถเคลื่อนไปไหนได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกส่วนก็ได้พยายามรวมตัวเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลแต่สุดท้ายก็ถูกตำรวจสกัดขบวนที่บริเวณใกล้ที่ทำการสหประชาชาติ ผู้ชุมนุมจึงได้ขออ่านแถลงการณ์ที่ตั้งใจจะนำไปยื่นให้นายกรัฐมนตรีผ่านเครื่องขยายเสียงจากนั้นจึงมอบตัวกับตำรวจ ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่างก็ประกาศยุติการชุมนุมโดยยินดีให้ตำรวจควบคุมตัวแต่ขอให้ปล่อยผู้ร่วมชุมนุมไป การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เป็นครั้งที่เจ้าหน้าที่กำลังเข้มข้นที่สุดต่างจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ ตามมาด้วยการปิดล้อมและเข้าจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก

รังสิมันต์ โรม หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกจับในการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เล่าให้ฟังในภายหลังว่า ตัวเขามาตกผลึกเรื่องการเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นนักกิจกรรมไปผลักดันความเปลี่ยนแปลงด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งระหว่างที่ถูกคุมขังในห้องขังของตำรวจครั้งนี้เอง 

ดูรายละเอียดการตั้งข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีในชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง

 

พฤษภาคม 2564: การชุมนุมเรียกร้องแค่สิทธิประกันตัว

รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสภาพไปในเดือนกรกฎาคม 2562 หลัง พล.อ.ประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง 2562 ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำเข้าถวายสัตย์ต่อรัชกาลที่สิบ โดยที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ก็แปรสภาพเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่เข้าสู่อำนาจตามกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่มีอำนาจพิเศษเช่นสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้นดูจะเปิดขึ้นมาบ้างเมื่อไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษมากดปราบการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล มีเพียงการใช้กฎหมายปกติ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กฎหมายจราจร หรือกฎหมายอาญา ขณะที่สถานการณ์การเมืองบนท้องถนนก็เริ่มคุกรุ่นขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามสภาวะการเมืองเปิดก็คงอยู่ไม่นานนักเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศพร้อมออกข้อกำหนด “ห้ามการชุมนุม” ในลักษณะมั่วสุมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคมาบังคับใช้ 

การชุมนุมของราษมัม หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 1 พฤษภาคม 2564

ในช่วงหลังเดือนมิถุนายน 2563 ผู้ชุมนุมเริ่มยกระดับการชุมนุมใหญ่ ก่อนจะเริ่มมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย และต่อมาข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็กลายเป็นข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมราษฎรร่วมกับข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และข้อเรียกร้องเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อกระแสการชุมนุมพุ่งสูงและมีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่าจะบังคับใช้กฎหมาย “ทุกฉบับทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุม ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างเป็นระบบนักกิจกรรม เช่น ทนายอานนท์ นำภา, รุ้ง ปนัสยา และพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 ต่างทยอยถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ระหว่างถูกคุมขัง นักกิจกรรม เช่น พริษฐ์ และปนัสยา อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว  

ระหว่างที่มีจำเลยคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังก็ได้มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เป็นระยะเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมยืนหยุดขังตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ตามกระแสการชุมนุมเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมางวดเข้าในช่วงปลายเดือนเมษายนต่อต้นเดือนพฤษภาคมเมื่อมีรายงานว่า สุขภาพของพริษฐ์กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตจากการอดอาหาร เช่น ในวันที่ 29 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าไปชุมนุมหน้าทางขึ้นศาลอาญาเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้พริษฐ์รวมถึงผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ สำหรับการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 ได้แก่ การชุมนุมของกลุ่มราษมัม ซึ่งเป็นการรวมตัวของแม่จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น ไปร่วมกันยืนถือรูปลูกของตัวเองที่หน้าเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที นอกจากนั้นก็มีการชุมนุมคาราวาน Redem ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่เป็นการชุมนุมในลักษณะคาราวาน ไปหน้าศาลอาญา โดยระหว่างทางมีการใช้เครื่องเสียงประกาศชื่อผู้พิพากษาชนาธิป ภรรยาและลูก ที่อยู่ของผู้พิพากษาชนาธิป รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาคนดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นผู้ออกคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวของพริษฐ์และจำเลยคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ 

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการชุมนุมรูปแบบคาราวานในวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นับเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองของสถาบันตุลาการได้เป็นอย่างดี

 

พฤษภาคม 2565: ชัชชาติแลนด์สไลด์ เปลี่ยนบรรยากาศการเมืองของคนกรุง

ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2565 ต้องนับย้อนไปถึงวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญจากพรรคเพื่อไทยไปด้วยคะแนน 1,256,349 ต่อ 1,077,899 คะแนน เมื่อ คสช. ยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 มรว.สุขุมพันธุ์ยังคงดำรงตำแหน่งเรื่อยมากระทั่งในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 50/2559 สั่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อให้บริษัทเอกชนชนะการประมูลโครงการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มูลค่า 39.5 ล้านบาท จากนั้นในเดือนตุลาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 64/2559 สั่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรที่อยู่ระหว่างถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่า กทม.ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

ป้ายหาเสียงช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากทม 22 พฤษภาคม 2565
 

ในเดือนมีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบแปดปีการรัฐประหาร 2557 โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าที่น่าสนใจ ได้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ลงสมัครในนามอิสระ, พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนการเลือกตั้งลงสมัครในนามอิสระ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล, สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่ากทม.สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน สมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ และน.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยลงสมัครในนามพรรค เป็นต้น

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าชัชชาติซึ่งหาเสียงด้วยแคมเปญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นด้วยคะแนน 1,386,769 คะแนน คิดเป็น 51.8% นำห่างอันดับสอง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ 254,723 คะแนน หรือคิดเป็น 9.5% 

 

พฤษภาคม 2566: ชัยชนะยกแรกของพรรคร่วมฝ่ายค้าน กับทางวิบากและประวัติศาสตร์ที่รอการเขียน

สภาชุดที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 จะครบวาระสี่ปีในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 23 มีนาคม 2566 และสภาผู้แทนราษฎรได้ปิดสมัยประชุมสมัยสุดท้ายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นเพียงสามวันในวันที่ 20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศยุบสภาโดยอ้างเหตุว่า

“สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”

บรรยากาศการปราศรัยใหญ่พรรคก้าวไกล ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง 12 พฤษภาคม 2566 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นกับรัฐบาลเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค แต่ไม่ได้ลงสมัครเป็นส.ส. ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลเดิมก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง การเดินเกมทางการเมืองของทั้งสองถือว่าต่างไปจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่เสนอเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพล.อ.ประวิตรก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง ในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำส่งแคนดิเดตนายกฯ ครบทั้งสามคนได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและบุตรีของทักษิณ ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอันดับสองเสนอชื่อหัวหน้าพรรค พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกเพียงคนเดียว

ป้ายหาเสียงพรรครวมไทยสร้างชาติที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายก

แม้ก่อนการเลือกตั้งจะมีการคาดการณ์กันว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้เสียงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ปรากฎว่าพรรคก้าวไกล ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด มี ส.ส.เขต 113 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน (จากคะแนนบัญชีรายชื่อ 14,233,895 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 152 คน อันดับสองได้แก่พรรคเพื่อไทย มี ส.ส.เขต 112 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 คน (จากคะแนนบัญชีรายชื่อ 10,865,836 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 141 คน อันดับสาม พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.เขต 67 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน (จากคะแนนบัญชีรายชื่อ 1,121,595 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 70 คน อันดับสี่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาล มี ส.ส.เขต 39 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนบัญชีรายชื่อ 530,017 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 40 คน และ อันดับห้า พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เสนอพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายก มี ส.ส.เขต 23 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 คน (จากคะแนนบัญชีรายชื่อ 4,673,691 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 36 คน

แม้ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะผลิกความคาดหมายและสร้างความหวังให้กับคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงออกจากระบอบการปกครองโดย คสช. แต่เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้ราบรื่นนัก เบื้องต้นต้องรอดูว่าระหว่างรอ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง จำนวนส.ส.ของพรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคฝ่ายค้านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบหรือไม่ นอกจากนั้นก็ต้องดูว่าจะมีข้อร้องเรียนทั้งต่อตัวหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือต่อว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นที่ถูกนำมาพิจารณาให้คุณให้โทษหรือไม่ และที่สำคัญเมื่อไปถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องการเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภาเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น (จำนวนเต็ม 376 จาก 700 เสียง) พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจะสามารถรวบรวมเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาเพิ่มจนครบจำนวนที่ต้องการได้หรือไม่

ทั้งนี้ พิธาในฐานะหัวหน้าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ประกาศจะแถลง MOU รัฐบาลประชาชนที่จะทำกับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 วันครบรอบ 9 ปี การรัฐประหาร ซึ่งคงต้องจับตาดูต่อไปว่าหน้าประวัติศาสตร์การเมืองหลังจากนั้นจะถูกขีดเขียนไปในทิศทางใด 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์