ประยุทธ์-ชวน ตัวตึงใช้เทคนิคยุบสภาก่อนครบวาระ ชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง

“การยุบสภา” เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารที่ใช้ถ่วงดุลอำนาจกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในระบบรัฐสภา เมื่อมีการยุบสภา สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะพ้นวาระก่อนครบกำหนด อันถือเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยยุติความขัดแย้งทางการเมืองผ่านการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในการเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม การยุบสภาบางครั้งจุดประสงค์ที่แท้จริงอาจไม่ใช่เพราะต้องการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่อาจแฝงเล่ห์กลเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองบางอย่างโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย

 

รัฐธรรมนูญ 60 เปิดช่องให้ยุบสภาไปก่อน วันเลือกตั้งตามมาทีหลัง

อำนาจการยุบสภาถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับถาวรตั้งแต่ปี 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยหลักการเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ในทางปฏิบัติการยุบสภาต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ถวายคำแนะนำ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ผลของการยุบสภานอกจากจะทำให้สภาผู้แทนราษฎรทำงานต่อไม่ได้แล้ว คณะรัฐมนตรีเองก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามาแทน

รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน บัญญัติเรื่องยุบสภาไว้ในมาตรา 103  “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”

หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปีก่อน ๆ จะพบความแตกต่างในรายละเอียดบางอย่าง อาทิ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (มาตรา108) มีเนื้อความบัญญัติในวรรคสองว่า “การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกําหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เปนการเลือกตั้งทั่วไป…” หมายความว่า หากมีการยุบสภาก็ต้องประกาศวันเลือกตั้งพร้อมกันทันที ทำให้เมื่อมีการยุบสภาในช่วงที่ยังบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น คือ การยุบสภาครั้งที่ 13 และ การยุบสภาครั้งที่ 14 ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งว่าเป็นวันที่เท่าไรลงในพระราชกฤษฎีกายุบสภาด้วย

ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีการติดเงื่อนไขนี้ไว้ ทำให้แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภา แล้ว แต่เราได้รู้วันเลือกตั้งใหม่ก็ตอนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันให้ทราบหลังจากวันที่มีการยุบสภา เหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้เช่นนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้งปี 2557 เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ สุดท้ายจึงนำไปสู่การแก้ไขบทบัญญัติเรื่องยุบสภาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ถอดความเดิมเรื่องเงื่อนไขต้องประกาศวันเลือกตั้งทันทีออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขัดขวางปิดคูหาเลือกตั้ง และเพิ่มความใหม่ตามมาตรา 104 กล่าวคือ กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หากเกิดเหตุจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพื่อไม่ให้ต้องถกเถียงกันอีกว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้หรือไม่อย่างที่เคยเกิดขึ้น (อ้างอิง พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  (นิติพิศวง Ep.18 ยุบสภาฯ แล้วนะจ๊ะ, 20 มีนาคม 2566)

 

ยุบสภาแล้วนักการเมืองต่อเวลาหาพรรคใหม่สังกัด แถมเวลาหาเสียงเพิ่มขึ้น

การยุบสภาครั้งล่าสุดให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อ “คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว…”  ตามข้อเท็จจริง “โดยเร็ว” ที่ว่านี้เป็นเพียงแค่สามวันก่อนครบกำหนดวาระของสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าการยุบสภาจวนจะครบวาระขนาดนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะเมื่อมีการยุบสภาแล้ว จะส่งผลให้กรอบระยะเวลาตามกฎหมายบางประเด็นเปลี่ยนแปลงไป (อ่านเพิ่มเติม https://ilaw.or.th/node/6429)

การยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ถูกกังขาว่าเป็นการยื้อเวลาให้กับตัวเองและพรรคพวก เนื่องจากหากอยู่จนครบวาระการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดเร็วที่สุดคือ ไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แต่การยุบสภาทำให้วันเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีก อีกทั้งเมื่อพิจารณาบริบทประกอบกับสถานะทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนที่จะประกาศยุบสภา ความสัมพันธ์ที่มีต่อพรรคแกนนำรัฐบาลค่อนข้างระส่ำระส่ายโดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐที่ส่งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นทั้งหัวหน้าพรรค หรือสมาชิกพรรค จนสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้เปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งก่อตั้งได้ไม่นาน และฐานทัพยังไม่แน่นพอที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ จึงทำให้เกิดความน่าสงสัยว่าการใช้อำนาจยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ทำไปเพื่อหวังผลทางการเมืองดึงเวลาให้ฐานทัพใหม่ตัวเองได้ก่อร่างสร้างตัวหรือไม่  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปิดโอกาสให้นักการเมืองได้มีเวลาย้ายพรรค และมีเวลาหาเสียงเพิ่มขึ้นจากเงื่อนไขเวลาที่แปรเปลี่ยนจากเดิม โดยสรุปออกมาในแต่ละประเด็นได้ ดังนี้

1. นักการเมืองมีเวลาย้ายพรรคเพิ่มขึ้น จากเดิมต้องย้ายพรรคก่อน 90 วัน พอมีการยุบสภาระยะเวลานี้ลดลงเหลือ 30 วัน ดังนั้น เมื่อวันเลือกตั้งใหม่กำหนดแน่ชัดแล้วคือ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผู้สมัคร ส.ส. ก็มีเวลาย้ายพรรคถึงวันที่ 14 เมษายน 2566 (เดิมต้องย้ายภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566)

2. กรอบเวลาหาเสียง 180 วันเป็นอันยกเลิก การคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจึงคำนวณตั้งแต่วันที่ยุบสภาเพื่อแจ้งต่อ กกต. ดังนั้นจึงเป็นผลดีต่อผู้สมัคร ส.ส. เพราะกรอบเวลาที่อยู่ภายใต้กำกับการหาเสียงนั้นสั้นลง ภาระในการแจ้งค่าใช้จ่ายต่อ กกต. ก็ลดลงตามไป

กรอบเวลาตามกฎหมายที่เปลี่ยนด้วยผลจากการยุบสภาก็กลายเป็นเทคนิคให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้คุมเกม เนื่องจากเหตุผลประการหนึ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติสังกัดใหม่เป็นพรรคใหม่ที่ยังต้องสะสมขุมกำลัง กรอบเวลาสังกัดพรรคการเมืองจึงเป็นตัวการสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักการเมืองย้ายขั้วย้ายข้างมาเป็นกำลังให้ตนได้อย่างไร้กังวล แถมด้วยเวลาหาเสียงที่เพิ่มขึ้น

 

ย้อนดูชนวนเหตุยุบสภา

ประวัติศาสตร์การยุบสภาในไทยจำนวน 14 ครั้ง ก่อนหน้าประกอบไปด้วยเหตุต่างๆ มากมายซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากวิกฤติการณ์การเมืองในขณะนั้น แต่น้อยครั้งที่จะมีการยุบสภาตอนรัฐบาลอยู่จนใกล้จะครบวาระ โดยสาเหตุที่ทำให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นมีดังนี้

  1. ฝ่ายบริหารเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ไม่ผ่านการออกกฎหมายสำคัญ
  2. ส.ส. และ ส.ว. ทำงานร่วมกันไม่ได้
  3. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  4. เพื่อเร่งให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น
  5. ชิงความได้เปรียบทางการเมือง ช่วงรัฐบาลกำลังได้รับความนิยม เป็นต้น
  6. จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศไม่ได้
  7. รัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาดอย่างร้ายแรง
  8. ประชาชนมีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

 

ครั้งที่รัฐบาลวันเลือกตั้งของสภาชุดนี้วันที่
สภา
ครบ
อายุ
วันที่ยุบสภารัฐธรรมนูญหลักเกณฑ์กำหนด
วันเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
1พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา  11 ก.ย. 248110 ธ.ค. 2475ภายใน 90 วัน
นับแต่
พ.ร.ฎ.ยุบสภา
ประกาศใช้
2ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  15 ต.ค. 2488
3ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช26 ม.ค. 251825 ม.ค. 252212 ม.ค. 25192517อายุสภาสิ้นสุด:
ภายใน 60 วัน
นับแต่อายุสิ้นสุด (ม.121)
ยุบสภา:
ภายใน 90 วัน (ม.122)
4พลเอก เปรม ติณสูลานนท์22 เม.ย. 252221 เม.ย. 252619 มี.ค. 25262521อายุสภาสิ้นสุด:
ภายใน 60 วัน
นับแต่อายุสิ้นสุด (ม.100)
ยุบสภา:
ภายใน 90 วัน (ม.101)
518 เม.ย. 252617 เม.ย. 25302 พ.ค. 2529
627 ก.ค. 252926 ก.ค. 253329 เม.ย. 2531
7อานันท์ ปันยารชุน22 มี.ค. 253521 มี.ค. 253930 มิ.ย. 25352534อายุสภาสิ้นสุด:
ภายใน 60 วัน
นับแต่อายุสิ้นสุด (ม.111)
ยุบสภา:
ภายใน 90 วัน (ม.112)
8ชวน หลีกภัย13 ก.ย. 253512 ก.ย. 253919 พ.ค. 2538
9บรรหาร ศิลปอาชา2 ก.ค. 25381 ก.ค. 254228 ก.ย. 2539
10ชวน หลีกภัย17 พ.ย. 253916 พ.ย. 25439 พ.ย. 2543 (7 วันก่อนสภาครบอายุ)2540อายุสภาสิ้นสุด:
ภายใน 45 วัน
นับแต่อายุสิ้นสุด (ม.115)
ยุบสภา:
ภายใน 60 วัน (ม.112)
11ทักษิณ ชินวัตร6 ก.พ. 25485 ก.พ. 255224 ก.พ. 2549
12อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ23 ธ.ค. 255022 ธ.ค. 255410 พ.ค. 25542550อายุสภาสิ้นสุด:
ภายใน 45 วัน
นับแต่อายุสิ้นสุด (ม.107)
ยุบสภา:
ไม่น้อยกว่า 45 วัน
แต่ไม่เกิน 60 วัน (ม.108)
13ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร3 ก.ค. 25542 ก.ค. 25589 ธ.ค. 2556
14พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา24 มี.ค. 256223 มี.ค. 256220 มี.ค. 2566 (3 วันก่อนสภาครบอายุ) อายุสภาสิ้นสุด:
ภายใน 45 วัน
นับแต่อายุสิ้นสุด (ม.102)
ยุบสภา:
ต้องกำหนด
วันเลือกตั้ง
ไม่น้อยกว่า 45 วัน
แต่ไม่เกิน 60 วัน (ม.103)

ตลอดสี่ปีของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่สามารถเป็นชนวนเหตุให้ยุบสภาได้อยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่การเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ รวมถึงมีการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาอยู่เป็นระยะ จนกระทั่งปีสุดท้ายก็ยังเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.พากันไม่เข้าประชุม ทำสภาล่ม จนสาธารณชนมองว่าสภาชุดนี้ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังยื้อเวลาจนเกือบจะครบกำหนดวาระสภา สร้างความน่าสลดใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเห็นสภาผู้ทรงเกียรติไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญให้แก่ประเทศชาติอยู่หลายเดือน มิหนำซ้ำ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยมาตอบกระทู้ถามสดต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเองซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจที่จะรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม การยุบสภาตอนใกล้ครบวาระเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2543 โดยสาเหตุสืบเนื่องมาจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลบริหารล้มเหลว ทำให้ ส.ส.ลาออกย้ายพรรคกันเป็นจำนวนมากเพื่อกดดัน แต่รัฐบาลก็สามารถดึงเชิงลากยาวยุบสภาก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎรก่อนเพียงหนึ่งอาทิตย์ (9 พ.ย. 2543) แม้ผลสุดท้ายความพยายามยืดเวลาของรัฐบาลชวนจะไม่ส่งผลอะไรต่อการเลือกตั้งครั้งถัดมา นอกจากความพ่ายแพ้ให้กับพรรคไทยรักไทยที่ได้ที่นั่งไปมากถึง 248 เสียง แต่หากมองเทียบกับรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตทางการเมืองจะมีจุดจบเป็นอย่างไร แต่การยุบสภาใกล้ๆ กำหนดวาระ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไร้เสถียรภาพนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความดื้อแพ่งของตัวผู้นำที่ไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจ และสร้างความคลุมเครือโดยใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างไร้จิตสำนึกที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่โดยเร็วอย่างแท้จริง

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์