เลือกตั้ง66: สำรวจจุดยืน ส.ว.เลือกนายกฯ โหวตตามเสียงข้างมากหรือตามใจตัวเอง

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุให้ในห้าปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้การเลือกตั้ง 2566 นี้ ส.ว. ทั้ง 250 คนยังมีบทบาทในการชี้เป็นชี้ตายผลการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม แม้ในการเลือกตั้งปี 2562 ส.ว.ทั้งหมดจะเคยโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วอย่างไม่แตกแถว แต่ปัจจุบันการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากตลอดสี่ปีที่ผ่านมา จนเริ่มมีข้อสังเกตว่า ส.ว. ชุดนี้อาจจะมีบางส่วนที่อาจหันเข้าหาเสียงข้างมาก ยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นและทำให้ ส.ว. กลุ่มที่ ‘มีธงในใจ’ อย่างไม่สนใจเสียงข้างมากมีน้อยลง

ด้วยเหตุนี้ ไอลอว์จึงรวบรวมคำให้สัมภาษณ์ของ ส.ว. จำนวนหนึ่งในช่วงใกล้การเลือกตั้ง เพื่อเป็นภาพสะท้อนของแนวคิด ส.ว. บางกลุ่มท่ามกลางคำถามถึงความเหนียวแน่นของกลุ่มผู้มีที่มาจาก คสช. และเพื่อเป็นการบันทึกไว้ว่าพวกเขาพูดเอาไว้อย่างไรบ้าง เนื่องจากยังไม่มีหลักประกันใดที่แน่นอนว่าหลังผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ส.ว. จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเสียงข้างมาก จะยังยืนยันในคำพูดเดิมของตน หรือจะไม่ลงคะแนนจนนำมาสู่สภาวะทางตันทางการเมืองต่อไป

ส.ว. กลุ่มที่หวาดกลัว ‘ผลไม้พิษ’ เมื่อเสียงข้างมากต้องผ่านข้อแม้ของ ส.ว.

“หากในรัฐสภา ส.ว. มีเสียงข้างมาก ก็ถูกต้องแล้วที่ใช้เสียง ส.ว. เป็นหลัก อย่ามาพูดว่า ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทั้งประเทศเขาทำประชามติมาให้ ส.ว. มาเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ก็ต้องเป็นไปตามนั้น”

คำพูดของ ส.ว. เสรี สุวรรณภานนท์ วันที่ 17 เมษายน 2566 บนเฟซบุ๊กส่วนตัว กลายเป็นภาพสะท้อนของ ส.ว. กลุ่มที่ “มีธงในใจ” ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องอิงไปกับผลการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้ก็ได้หากรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับความคิดของตนเอง

“คนที่ทำหน้าที่สำคัญในการตั้งรัฐบาล คือ ส.ว. พอ ส.ว. เป็นตัวตั้งแล้ว พรรคต่างๆ จะมองว่า ส.ว. เป็นกลุ่มใหญ่ เขาอยากเป็นรัฐบาลก็จะรวมตัวกันมาหา ส.ว. มาขอเสียง มาเจรจาเพื่อตั้งรัฐบาล เขาต้องรวมกันมาให้ได้ 250 ขึ้นไป … ถ้า ส.ว. ต้องเอาตามเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. แล้วแบบนั้นจะมี ส.ว. ไปทำไม”

วิธีคิดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ ส.ว. กลุ่มนี้ อ้างอิงจากคำพูดของเสรีในรายการ The Standard Now ‘เช็คเสียง ส.ว. เงื่อนไขโหวตนายกฯ 2 ป. หรือเสียงประชาชน?’ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 จับใจความได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบมาให้ ส.ว. เป็นเสียงส่วนมาก จึงควรมีสิทธิในการเป็นเจ้าภาพใหญ่กำหนดว่าใครควรจะได้รับเสียงทั้ง 250 ของ ส.ว. ไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจำนวนเสียงของ ส.ส. ในวิธีคิดของ ส.ว. กลุ่มนี้จึงแทบจะไร้ความหมาย

ส.ว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘อยากมีเรื่องคุย’ ของข่าวสดทีวี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ว่า ส.ว. เคารพเสียงของประชาชนแน่นอน แต่ ส.ส. ก็ควรเคารพเสียงของประชาชนที่ทำประชามติมาให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน การออกมาบอกให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดระงับหน้าที่และอำนาจของตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงระบุถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ ส.ว. ต้องการไว้ว่า

“ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว. จะพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นผู้ที่รัก เคารพ และเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เท่านั้น”

จุดนี้ ส.ว.กิตติศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ส.ว. ไม่ได้ต้องการที่จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เพียงอย่างเดียว หากทั้งแคนดิเดตไม่สามารถรวบรวมเสียงได้มากพอก็คงไม่สามารถโหวตให้ได้ ทว่ากิตติศักดิ์อธิบายถึงข้อแม้สำคัญของการได้รับเสียงจาก ส.ว. เพิ่มเติมว่า

“ส่วนถ้าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ปราศจากความเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส.ว. ไม่เลือกครับ”

ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการตอบโจทย์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ว่า ถึงแม้จะเริ่มมีกระแส ‘งดลงคะแนน’ กับ ‘ลงคะแนนให้เสียงข้างมาก’ จากฝั่ง ส.ว. บ้าง ตนก็ยืนยันที่จะใช้สิทธิลงคะแนน แต่ก็ไม่สามารถรับปากได้ว่าตนจะทำตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ได้หรือไม่

“เวลาเขาให้เราเลือกตัวบุคคล เราจะพูดแต่เชิงหลักการว่าเป็นใครก็ได้ นาย ก. นาง ข. ที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว ส.ว. จะไม่เลือกเป็นอื่น ผมว่ามันยังไม่ใช่”

สำหรับสาเหตุของแนวคิดนี้ ส.ว.คำนูณ ระบุว่า

“เพราะการเลือกตัวบุคคลก็ต้องดูบุคคล ดูพรรคการเมืองที่เข้ามาประกอบเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดูนโยบายแต่ละพรรคว่าเรารับได้หรือรับไม่ได้ประการใด และฟังคำอภิปรายก่อนขานชื่อเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน”

ในจุดนี้จึงหมายความว่า ส.ว.คำนูณ เป็นภาพสะท้อนของแนวคิดที่พ่วงการเลือกนายกรัฐมนตรีจากเสียงข้างมากโดยมีข้อแม้เข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย แปลว่าหาก ส.ว.เสรี จะพิจารณาความเหมาะสมของแคนดิเดตนายกฯ เองโดยไม่สนคะแนนเสียง ส.ว.คำนูณ คือ ส.ว. กลุ่มที่สนใจคะแนนเสียงข้างมากอยู่บ้าง แต่ก็ขอสงวนพื้นที่สำหรับการพิจารณาความเหมาะสมเอาไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

ส.ว. กลุ่มที่รอ “มติมหาชน” เพราะสารตั้งต้นให้เลือกรัฐบาลคือ ส.ส.

“ในอดีต ส.ว. ไม่แตกแถวเลย แต่ผมพูดกับคุณตรง ๆ เลยว่า ส.ว. แทบไม่มีความหมายอะไรเลยถ้า ส.ส. ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์”

ถ้อยคำสัมภาษณ์จาก วันชัย สอนศิริ ในรายการ The Standard Now ‘เช็คเสียง ส.ว. เงื่อนไขโหวตนายกฯ 2 ป. หรือเสียงประชาชน?’ เมื่อวันที่ 11 เมษายน สะท้อนภาพสภาวะ ‘แตกแถว’ ของ ส.ว. ในปัจจุบันได้ดี โดยเฉพาะสภาพสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไปจากการเลือกตั้ง 2562 

วันชัยระบุว่าการที่ ส.ว. 250 เสียงเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งก่อน เป็นเพราะมี ส.ส. เป็น ‘สารตั้งต้น’ ดังนั้นความตื่นตัวและสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้ ส.ว. เลือกพรรคการเมืองแรกที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. เป็นนายกฯ ได้เช่นเดียวกัน

ในลักษณะนี้ ส.ว.วันชัย และ ส.ว. ผู้ที่มีความคิดในลักษณะเดียวกัน จะเลือกใครหรือพรรคใดก็ตามที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏรได้ก่อนเป็นคนแรก เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดสภาวะทางตัน คือ เกรงว่าแม้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้สำเร็จ ก็จะต้องเจอสภาวะเสนอร่างงบประมาณแผ่นดินไม่ผ่านการลงมติ จนทำให้ประเทศเข้าสู่ความวุ่นวายในการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เกิน 251 เสียง แล้วเสนอชื่อคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยส่วนตัวผมโหวตให้อยู่แล้ว ถ้าเขาถึงผมก็เอา”

ลักษณะนี้จะคล้ายกับคำให้สัมภาษณ์ของ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการตอบโจทย์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ว่า ส.ว. หลายคนคงเลือกนายกฯ จากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ก่อน เพื่อให้การบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง 

ขณะเดียวกัน เจตน์ ศิรธรานนท์ ระบุในรายการเดียวกันว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียง 250 เสียงถ้วนเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตัวเขาจะไม่โหวตให้ เนื่องจากต้องพิจารณาความเหมาะสมมากกว่านี้ แต่หากได้มากกว่า 310 เสียง ไปจนถึง 367 เสียง เจตน์ก็จะไม่ขัดข้องในการลงคะแนน

“ถ้าเขาได้แค่ 250 เสียงถ้วนผมไม่โหวตให้ เพราะประเทศไทยไม่ใช่ที่ทดลองงานของใคร แต่ถ้าเขาแลนด์สไลด์ได้ 310 เสียง หรือได้มาจากการไปรวบรวมเสียงมาเกิน 376 เสียง เขาก็ได้อยู่แล้ว เราไม่ต้องโหวตก็ได้”

ในลักษณะนี้หมายความว่า เจตน์ก็ยังให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากในผลการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่บ้าง โดยคาดว่าจะไม่โหวตคัดค้าน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้คนใดคนหนึ่งหรือไม่ ระบุเพียงว่า ไม่ใช่ ส.ว. จะเพียงมีธงในใจเท่านั้นก็โหวตได้เลย แต่ต้องมีการเอามติของประชาชนเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย

วันที่ 11 เมษายน 2566 ในรายการ “เปิดปากกับภาคภูมิ” ทางไทยรัฐทีวี เสรี สุวรรณภานนท์ มีความคิดเห็นว่า ส.ว. ที่คิดเหมือนวันชัย มีจำนวนมาก ซึ่งวันชัยก็ระบุต่อไปว่า ในช่วงระยะเวลาที่ใกล้ครบวาระของวุฒิสภา สภาพการเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก ความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้มีเท่าที่ผ่านมา ดังนั้นจึงคาดเดาได้ว่า วันชัย และผู้ที่มีความคิดใกล้เคียงกันคงเลือกตามเสียงข้างมากของ ส.ส. เป็นหลัก 

ส.ว. กลุ่มรอผลการเลือกตั้ง สนใจกระแสตอบรับ และข้อถกเถียงเรื่องการไม่ลงคะแนน

พิศาล มาณวพัฒน์ ส.ว.ผู้เคยลงมติรับหลักการในการตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ระบุในรายการตอบโจทย์ วันที่ 12 เมษายน 2566 ว่า ส.ว. ไม่ควรมีอำนาจ แต่หากพิจารณาตามกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ตนยึดถือกฎหมายที่ระบุให้ ส.ว. ไม่ฝักฝ่ายหรือยอมตกอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใด และตัดสินใจเพื่อประชาชนไทยทุกคนเป็นหลัก

“ทุกครั้งที่มีการอภิปรายเพื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะโหวตอย่างไร ผมฟังอภิปรายทั้งฝั่งที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ฝั่ง ส.ส. หรือฝั่ง ส.ว. ทุกครั้ง และตัดสินใจด้วยความรู้สึกของตนเอง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ”

“สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้นที่ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้มีสิทธิเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมีสิทธิร่วมกับผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วผู้ที่แต่งตั้งกลับมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคนที่จะเลือกหรือไม่เลือกเขา ผมคิดว่าไม่ยุติธรรม ผมจะให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครับ”

ในรายการเดียวกัน คำนูณระบุว่า มี ส.ว. หลายคนปรึกษาตนเรื่องการไม่ลงเสียงให้แก่ผู้ใด จุดนี้ชี้ให้เห็นว่ามี ส.ว. จำนวนมากที่ยังไม่ตัดสินใจฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือมีความเห็นว่าจะลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คำนูณ เตือนว่า การไม่ใช้สิทธิของ ส.ว. ก็คือใช้สิทธิรูปแบบหนึ่งที่อาจจะทำให้เสียงของรัฐบาลใหม่ได้ไม่ถึง 376 เสียง 

ข้อสังเกตของคำนูณมีความน่าสนใจสูงมาก เนื่องจากหากประเทศไทยต้องกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีสภาผู้แทนราษฏรทำงานอย่างปกติ ส.ว. ก็ไม่ควรที่จะไม่ลงคะแนนเพียงเพราะไม่อยากฝักใฝ่กลุ่มการเมืองใดจนจะทำให้ไม่เกิดรัฐบาลเสียงข้างมากที่เข้มแข็งเพียงพอ เนื่องจากจะยิ่งทำให้ประเทศไทยวนเวียนอยู่ในขั้นตอนการหานายกฯ คนใหม่ และจะยิ่งขยายเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ รักษาการออกไปอีกเรื่อยๆ

ดังนั้นหาก ส.ว. ชุดนี้ตัดสินใจใช้สิทธิตามกติกาของบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการรับฟังเสียงข้างมากของประชาชน ก็จะยิ่งทำให้สังคมไทยพร้อมจะเดินหน้าต่อได้มากขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกันก็ยังคงมีส่วนที่ต้องจับตาเพิ่มอยู่บ้าง เนื่องจาก ส.ว. หลายคนที่แม้จะประกาศว่า ตนจะยอมรับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง 2566 แต่เสียงข้างมากดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้หมายถึงคะแนนเสียงของประชาชนในคูหา แต่อาจจะหมายถึงขั้นตอนการต่อรองทางการเมืองเพื่อรวบรวมเสียงของ ส.ส. ในสภาให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งก็ยังมีที่ว่างมากพอให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลได้อีกครั้งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ทำให้การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 ของประชาชนยังมีความสำคัญอยู่เป็นอย่างมากแม้ ส.ว. จำนวน 250 คนยังคงมีอำนาจเลือกนายกฯ เนื่องจากตัวเลขการออกไปใช้สิทธิและผลคะแนนของแต่ละพรรคเท่านั้น ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของ ส.ว. ส่วนใหญ่ให้ไม่กล้าละเมิดเสียงของประชาชน

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย