เลือกตั้ง 66: ส่องรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์พรรคหลัก ใครย้ายใครอยู่?

เลือกตั้งปี 2566 มาพร้อมกับสโลแกน “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ทำให้ครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่เราสนับสนุนหรือมีนโยบายที่ตรงใจ โดยคะแนนของใบที่เลือกพรรคจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดความนิยมของพรรคการเมืองนั้น และส่งผลต่อจำนวนที่นั่งของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) โดยตรง จึงอยากชวนมาส่องรายชื่อผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ปี 2566 ของแต่ละพรรคว่าเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง 

 

จัดบัญชี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ต้องหลากหลายและมีความเสมอภาคระหว่างเพศ 

ปัจจุบันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีจำนวน 500 คน โดยมี ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ในทางหลักการ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มักถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญตามแต่ละสาขาต่างกันออกไปและเน้นการทำหน้าที่ในสภามากกว่าการลงพื้นที่ สำหรับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 90 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ก็ต่อเมื่อพรรคทำการส่งผู้สมัครแบบเขตก่อน ทั้งในการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคการเมืองจะต้องให้สมาชิกของพรรคมีส่วนร่วมในการพิจารณาและคำนึงถึงสัดส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงให้ความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง โดยพรรคจะต้องไม่ส่งรายชื่อที่ซ้ำกับผู้สมัครที่ลงแบบแบ่งเขตหรือซ้ำกับพรรคอื่น 

 

เทียบผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคหลักจากเลือกตั้ง 62 ถึงเลือกตั้ง 66

พรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงถึง 7.8 ล้านคะแนนเสียง และได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในสภาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 136 คน ซึ่งเป็น ส.ส.เขตทั้งหมด แต่เพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากได้ ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมี โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากสูตรคำนวณในปี 2562 ทั้งนี้ การเลือกตั้งปี 2566 เพื่อไทยได้มีการประเมินจำนวนที่นั่งตนเองในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ไว้ถึง 50 ที่นั่ง ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของการเรียงลำดับปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทย คือ การที่พรรคจัดสรรแกนนำแนวหน้าของพรรคที่มีทั้งในลำดับต้นและข้ามไปท้ายสุดตั้งแต่ 91-100 ของบัญชีรายชื่อ เช่น ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ลำดับที่ 100), พิชัย นริพทะพันธ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย (ลำดับที่ 96), พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครของพรรค (ลำดับที่ 98)  ซึ่งแต่ละคนถูกวางตัวไว้เป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีของเพื่อไทย

หากเทียบรายชื่อผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อปี 2562 และบัญชีรายชื่อปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย จากข้อมูลจะพบว่ามีผู้สมัครเดิมซึ่งเป็นระดับแกนนำและมีบทบาทสำคัญของพรรค แกนนำกลุ่มการเมืองที่ย้ายพรรคมาจากพรรคอื่นและผู้สมัครหน้าใหม่ผสมผสานกันโดยแบ่งออกมาคร่าวๆ ได้ ดังนี้

  • อดีตผู้สมัครในปี 2562 จำนวน 37 คน ที่ปรากฏชื่อลงเป็นผู้สมัครอีกครั้งในปี 2566 โดยมีทั้งผู้สมัครที่เคยลงปาร์ตี้ลิสต์ตั้งแต่รอบก่อน เช่น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, เฉลิม อยู่บำรุง, ชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยทั้งในปี 2562 และปี 2566 เป็นต้น และยังปรากฎรายชื่อของอดีต ส.ส.เขตรอบที่แล้วในนามพรรคเพื่อไทยที่ในรอบนี้กลับมาลงเป็นปาร์ตี้ลิสต์ เช่น สุทิน คลังแสง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดเชียงราย เป็นต้น  
  • ผู้สมัครที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขตใหม่ เช่น ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช
  • อดีตผู้สมัครและอดีต ส.ส.ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น โดยมีจำนวนผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เดิมจากพรรคไทยรักษาชาติมากที่สุด เช่น ขัตติยา สวัสดิผล, จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น รองลงมาคือย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีจากพรรคชาติไทยพัฒนา และจากอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคประชาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ 
  • ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง เช่น ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ  

ในบรรดาผู้สมัคร ส.ส. เดิมในบัญชีรายชื่อปี 2562 ของเพื่อไทยก็มีย้ายพรรคกันออกไปบ้าง นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ที่ออกไปก่อร่างสร้างตัวใหม่เป็น “พรรคไทยสร้างไทย” พร้อมด้วยผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เดิมย้ายตามไปไม่น้อย เช่น โภคิน พลกุล, ต่อพงษ์ ไชยสาส์น, ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ เป็นต้น และมีอดีตผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่ไปก่อตั้งพรรคเองอีกคือ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ในนาม “พรรคเสมอภาค” มาลงสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ที่เปลี่ยนไปลงศึกเลือกตั้งแบบแบ่งเขตปี 2566 ให้พรรคแทน เช่น ภัทร ภมรมนตรี (เดิมปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 86) เป็นว่าที่ผู้สมัครเขตดินแดง-พญาไท กรุงเทพมหานคร, นิยม ประสงค์ชัยกุล (เดิมปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 56) เป็นว่าที่ผู้สมัครนนทบุรีเขต 1 

 

พรรคก้าวไกล

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนรวม 6.2 ล้านเสียง จึงได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากถึง 50 ที่นั่ง โดยเลือกตั้งรอบนี้จากอนาคตใหม่สู่พรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 92 คน นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ และลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 โดยพิธากล่าวว่า ก้าวไกลมีหลักการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคตามจากคุณค่าและเป้าหมายที่พรรคเชื่อ จึงมีส่วนประกอบทั้งนักต่อสู้ทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ท้องถิ่น กระจายอำนาจ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล ศิลปิน เป็นต้น  ทั้งนี้สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ก้าวไกลประเมินที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์เบื้องต้นไว้ที่ 25-26 ที่นั่ง

จากข้อมูล เมื่อเทียบกับบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ที่ได้เข้าสู่สภา  อย่างที่ทราบกันดีว่าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในขณะนั้นจำนวน 11 คน เช่น พรรณิการ์ วานิช, ปิยบุตร แสงกนกกุล พ้นสมาชิกสภาพและไม่สามารถร่วมตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ รวมถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่โดนตัดสิทธิไปก่อนหน้า ส่วน ส.ส.ที่ไม่โดนตัดสิทธิต้องหาพรรคสังกัดใหม่จึงเป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน โดยจะพบว่าการจัดสรรลำดับบัญชีรายชื่อจากอนาคตใหม่สู่ก้าวไกลผู้สมัครเดิมของพรรคมีการกระจายลำดับสลับกับผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้งรวมถึงผู้สมัครที่ย้ายพรรคอื่นเข้ามาผสมกันไป  โดยสรุปออกมาคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เดิม เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม เป็นต้น 
  • อดีต ส.ส.เขต ปี 2562 เช่น ทองแดง เบ็ญจะปัก อดีต ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร และกลับกันอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ปี 2562 ย้ายกลับไปลงเขตคือ ธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตกรุงเทพมหานคร 
  • ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น ได้แก่ พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาธิปัตย์  และณรงเดช อุฬารกุล จากพรรคเพื่อชาติ
  • ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง เช่น ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, เซีย จำปาทอง นักกิจกรรมเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคี เป็นต้น 

นอกจากนี้มีอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ไม่ลงสมัครในรอบนี้ ได้แก่ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่ทำหน้าที่ในสภาอย่างโดดเด่น แต่ในครั้งนี้กลับไปทำงานเบื้องหลังให้พรรคและหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับพรรคได้เข้ามาทำงานแทน อีกทั้งยังมีอดีต ส.ส.งูเห่า แห่ย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทย เช่น คารม พลพรกลาง และวิรัช พันธุมะพล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่น่าสนใจของบัญชีรายชื่อของก้าวไกลรอบนี้ คือการคัดเลือกผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่ชัดว่าเน้นไปที่การให้บุคลากรหน้าใหม่ๆ หลากหลายสาขาที่สะท้อนถึงนโยบายพรรคแล้วกระจายลำดับ ส.ส.หน้าเดิมสลับกันไป จากที่เคยอยู่ลำดับต้นก็เปลี่ยนมาอยู่กลางๆ บ้าง ซึ่งก็มีผู้สมัครบางคนที่เข้าใจยอมรับและมีบางคนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมในการจัดลำดับครั้งนี้ ต่อมา พิธา หัวหน้าพรรค จึงได้ออกมา ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า “เมื่อมีลำดับอาจมีคนไม่พอใจบ้างหรือรู้สึกไม่ดี แต่เชื่อว่าวัฒนธรรมแบบพรรคก้าวไกลทุกคนอาจรู้สึกแต่ไม่มีใครทิ้งพรรค … การที่เราเลือกลำดับปาร์ตี้ลิสต์แล้วไปเป็นรัฐบาล ปาร์ตี้ลิสต์จะขยับขึ้นและการเป็นรัฐบาลมีหลายตำแหน่งจะมีที่ในการทำงานที่ท่านถนัดในแต่ละพื้นที่แน่นอน โดยหากมีบางคนลาออกจาก ส.ส. ไปรับตำแหน่งในรัฐบาล คนลำดับถัดมาจะได้เลื่อนขึ้นมา อย่างที่บอกการเลือกตั้งไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียวมีครั้งที่ 2-3 ต่อ เราต้องดูการทำงานต่อเนื่อง ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อแท้ หรือถอดใจ ให้สู้ต่อไปกับพรรคก้าวไกล” 

 

พรรคพลังประชารัฐ 

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนรวม 8.4 ล้านเสียง ได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 18 ที่นั่ง และยังได้อานิสงส์จากผลการเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่ที่ทำให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มอีกหนึ่งคน อีกทั้งด้วยเหตุที่พลังประชารัฐรวมเสียงได้จัดตั้งรัฐบาลส่งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ สำเร็จ จึงมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์บางคนที่ลาออกไปหลังจากได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี และมีกรณีที่พ้นจากตำแหน่งด้วยคดีทางการเมือง รวมถึงลาออกไปด้วยเหตุผลอื่น จึงทำให้สภาผู้แทนฯ จากการเลือกตั้งปี 2562 ปาร์ตี้ลิสต์ของพลังประชารัฐเลื่อนถึงลำดับที่ 35

สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 พลเอกประวิตรได้ให้สัมภาษณ์ ประเมินที่นั่งเซฟโซนในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ไว้ 10 ที่นั่ง โดยก่อนหน้าสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เคยตั้งเป้าไว้ที่ 20 ที่นั่งและระบุว่า การจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์ยึดการจัดเรียงด้วยหัวหน้าพรรค เลขา และตามคณะกรรมการบริหารพรรค สิ่งที่น่าสนใจของปาร์ตี้ลิสต์พลังประชารัฐรอบนี้คือ การที่ “พลเอกประวิตร” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก โดยเป็นทั้งปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกฯ โดยให้เหตุผลว่า อยากจะมั่นใจว่าถ้าตนได้เป็นนายกฯ จะเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกของประชาชนอย่างแท้จริง

จากข้อมูล เมื่อเปรียบเทียบกับบัญชีรายชื่อเมื่อปี 2562 ที่ได้เข้าสู่สภาและบัญชีรายชื่อปี 2566 พบว่ารายชื่อลำดับต้นๆ มีทั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เดิมและผู้สมัครจากพรรคอื่นที่มีบทบาทหลักในการปกป้องพรรคทั้งในสภาและต่อหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง โดยสรุปออกมาคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เดิม เช่น สันติ พร้อมพัฒน์, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, วิรัช รัตนเศรษฐ เป็นต้น
  • อดีตผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์และเขตที่ย้ายจากพรรคอื่น เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคประชาชนปฏิรูป, นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ จากพรรคประชาธิปัตย์, มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ , เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จากพรรคไทยรักษาชาติ เป็นต้น 
  • ผู้สมัครหน้าใหม่ เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ,  พิม อัศวเหม, สกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอดีตปาร์ตี้ลิสต์ปี 2562 ลำดับต้นๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตาดีอย่าง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน  ที่ไม่มีชื่อลงในรอบนี้โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ในพรรค รวมถึงมีระดับแกนนำจำนวนไม่น้อยที่ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่  เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ย้ายไปพรรคเพื่อไทย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย และธนกร วังบุญคงชนะ ที่ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ อีกทั้งยังมีอดีตปาร์ตี้ลิสต์ที่รอบนี้ย้ายไปลงเขตคือ อรรถกร ศิริลัทธยากร

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ 

พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคการเมืองใหม่แต่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองเก่าที่ส่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายก คู่กับพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่หนึ่งและเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ซึ่งหากเปิดบัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ จะพบว่า 10 ลำดับแรกส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองที่ทำงานมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ในรัฐบาลชุดล่าสุด เช่น สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก นอกจากนี้รวมไทยสร้างชาติประเมินที่นั่งเซฟโซนในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ไว้ 15 ที่นั่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ โดยสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ เช่น สุชาติ ชมกลิ่น อดีต ส.ส.จังหวัดชลบุรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน , พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่น เอกณัฐ พร้อมพันธ์ อดีตโฆษก กปปส., จุติ ไกรฤกษ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 

ทั้งนี้ มีชื่อผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่น่าสนใจ เช่น  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่า กทม. และผู้สมัครที่มาจากพรรคอื่น เช่น วินท์ สุธีรชัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และชัชวาลล์ คงอุดม อดีตหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

พรรคประชาธิปัตย์ 

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนรวม 3.9 ล้านเสียงส่งผลให้ได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 19 ที่นั่ง สถานการณ์ของประชาธิปัตย์เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลและโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งค้านกับที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นเคยแสดงจุดยืนไว้ว่าจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ส่งผลให้อภิสิทธิ์ลาออกจากการเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 จึงมีการเลื่อนลำดับขึ้นมาแทน นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นอีก โดยเป็นผลมาจากการคำนวณคะแนนการเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่ รวมถึงส.ส.ที่ลาออกหลังจากรับตำแหน่งรัฐมนตรี หรือลาออกด้วยเหตุผลอื่นๆ จึงทำให้ลำดับปาร์ตี้ลิสต์เลื่อนไปถึงลำดับที่ 36

สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ตั้งที่นั่งเซฟโซนไว้ 15 ที่นั่ง แม้จะมีคนสำคัญของพรรคย้ายสังกัดออกไปเยอะ โดยสิ่งที่น่าสนใจในการจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์ของประชาธิปัตย์นั้นเป็นธรรมเนียมตั้งแต่อดีตยึดหลักอาวุโสหรือลำดับการเข้าเป็นสมาชิกพรรค และเป็น ส.ส.ที่ทำงานให้พรรคทั้งในสภาและพื้นที่ อีกทั้งในระเบียบข้อบังคับพรรคได้กำหนดเอาไว้ว่า ทุกๆ ห้าลำดับของ ‘สส.ปาร์ตี้ลิสต์’ จะต้องมี ‘สัดส่วนผู้หญิง’ รวมอยู่ด้วยซึ่งครั้งนี้ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค เผยว่า พรรคจัดสรรบัญชีรายชื่อเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ นอกเหนือจากหัวหน้าพรรคและอดีตรัฐมนตรี เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ นักสื่อสารมวลชน ตัวแทนผู้พิการ เป็นต้น 

เมื่อเทียบรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ได้เข้าสภาเมื่อปี 2562 กับบัญชีรายชื่อปี 2566 พบว่ามี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เดิมที่ยังคงลงสมัครอยู่ในลำดับต้นๆ และมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เดิมที่อันดับเลื่อนขึ้นมาเสียส่วนใหญ่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์มีผู้สมัครเดิมย้ายออกจากพรรคมากพอสมควร โดยสรุปออกมาคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเดิม เช่น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แคนดิเดตนายกฯ ปี 2566, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นต้น
  • อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น เช่น วทันยา บุนนาค จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น
  • ผู้สมัครหน้าใหม่ เช่น สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. เป็นต้น 

นอกจากนี้ ในบรรดา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เมื่อปี 2562 ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคแต่รอบนี้ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น เช่น กรณ์ จาติกวณิช ย้ายไปพรรคชาติพัฒนากล้า จุติ ไกรฤกษ์, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ, อภิชัย เตชะอุบล ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น และอดีตผู้สมัครที่สละสิทธิ์ไม่ลงในรอบนี้ เช่น เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค, เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นต้น

 

พรรคภูมิใจไทย

การเลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทยได้คะแนนรวม 3.7 ล้านเสียงส่งผลให้ได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 12 ที่นั่ง และได้เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลจึงทำให้มี ส.ส.ที่ออกไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีบ้าง หรือด้วยสาเหตุอื่นๆ ซึ่งทำให้ลำดับปาร์ตี้ลิสต์เลื่อนไปถึงลำดับที่ 17 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ภูมิใจไทยไม่ได้ประเมินที่นั่งเซฟโซนในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ไว้ 

จากข้อมูล เมื่อเทียบกับรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เดิมที่ได้เข้าสภาเมื่อปี 2562 กับบัญชีรายชื่อปี 2566 พบว่ามีอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ผู้สมัครหน้าใหม่ และผู้สมัครที่ย้ายพรรคมาผสมผสานสลับลำดับที่นั่งกัน โดยสรุปออกมาคร่าวๆ ได้ดังนี้ 

  • อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเดิม เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ ปี 2562 และปี 2566, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, ศุภชัย ใจสมุทร เป็นต้น
  • อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น เช่น นันทนา สงฆ์ประชา ย้ายมาจากพรรคประชาภิวัตน์, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ, วิรัช พันธุมะผล และเกษมสันต์ มีทิพย์ ย้ายมาจากพรรคก้าวไกล เป็นต้น
  • ผู้สมัครหน้าใหม่ เช่น ชนม์ทิดา อัศวเหม, ชลัฐ รัฐกิจประการ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ในบรรดา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เมื่อปี 2562 ที่ในรอบนี้ย้ายไปลงเป็นผู้สมัครแบบแบ่งเขต เช่น เพชรดาว โต๊ะมีนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี, กรวีร์ ปริศนานันทกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง แม้ภูมิใจไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นพรรคใหญ่แต่รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของภูมิใจไทยอาจไม่โดดเด่นหากเทียบกับพรรคอื่น ซึ่งเป็นเพราะพรรคให้ความสำคัญไปที่ ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเน้นการลงพื้นที่และเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตในแต่ละจังหวัดภายใต้การดำเนินการสองกลยุทธ์หลัก คือ พลังดูด และนโยบายที่ทำได้จริง

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ