เลือกตั้ง66: ส่องเขตสูสีเลือกตั้ง 62 ใช้เพียงไม่กี่คะแนนเปลี่ยนสมการจัดตั้งรัฐบาลได้

การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในประเทศไทยใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดาหรือกล่าวอย่างง่าย ก็คือใครได้คะแนนมากที่สุดในเขตก็เข้าป้ายได้เก้าอี้ ส.ส. ไปครอง โดยผู้ชนะไม่จำเป็นจะได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ดังนั้นคะแนนก็อาจจะกระจายไปอยู่กับผู้สมัครหลายคน ทำให้ผลสุดท้ายผู้ชนะอาจจะ “เฉือน” อันดับสองไปไม่มาก

ในสถานการณ์การเมืองที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดเจน หากเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นเกิดขึ้นในหลายเขตเลือกตั้ง ก็อาจจะกระทบกับการกำหนดว่าขั้วใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะคะแนนจำนวนไม่มากที่เฉือนกันในแต่ละเขตรวมกันก็สามารถเปลี่ยนผลให้ขั้วการเมืองเปลี่ยน

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ผลการเลือกตั้งสุดท้ายทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐประหารสามารถสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ โดยมี ส.ส.ในมือมากกว่ากลุ่มพรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ไปเพียงสามที่นั่ง หากพิจารณาผลการเลือกตั้งรายเขต จะพบว่ามีเขตเลือกตั้งจำนวนหลักร้อยเขตที่ผู้ชนะเฉือนอันดับสองไปไม่กี่คะแนน 

ดังนั้นหากมีประชาชนออกไปลงคะแนนมากขึ้นหรือมีการหาเสียงเปลี่ยนใจคนจำนวนเพียงไม่มากก็อาจจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในเขตเหล่านี้ได้ และชื่อของนายกรัฐมนตรีในสี่ปีที่ผ่านมาก็อาจจะไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 เขตสูสีเหล่านี้ก็จะยิ่งทวีสำคัญมากยิ่งขึ้น จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับเขตจะสามารถเปลี่ยนผลการจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนหลักแสนหรือหลักล้าน แต่ใช้เพียงหลักสิบหรือหลักร้อยก็เปลี่ยนที่นั่งในสภาได้

 

พบ 104 เขตเบียดกันไม่ถึง 5%

ในการเลือกตั้งระดับประเทศจะมีเขตเลือกตั้งหรือจังหวัดจำนวนหนึ่งเป็น “เขตปลอดภัย” หรือ “เขตนอนมา” คือเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าผู้ชนะจะเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองใด ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่มีลักษณะทางประชากร เชื้อชาติ หรือเศรษฐกิจ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองนั้นอยู่แล้ว จนทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองอื่นจะสอดแทรกนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ในประเทศไทยเขตเลือกตั้งในลักษณะนี้ส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดที่มี “บ้านใหญ่” ที่ครองอำนาจอยู่ในพื้นที่มานาน พร้อมเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำให้มีโอกาสชนะสูง

แต่บางเขตเลือกตั้งหรือจังหวัดอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้มี “เจ้าของ” อย่างชัดเจน แต่สามารถเปลี่ยนมือได้ตามกระแสการเมือง ความนิยมในตัวผู้สมัครบางคน อิทธิพลทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการแยกสลายของขั้วอำนาจเดิมที่อยู่ในพื้นที่จนทำให้เกิดการแข่งขันใหม่ หาก “เขตสูสี” เหล่านี้หากมีจำนวนมากก็จะกลายเป็นสมรภูมิหลักที่พรรคการเมืองต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะการแพ้ชนะในเขตเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้เป็นเสียงข้างมาก

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขต หากใช้เกณฑ์พิจารณา “เขตสูสี” คือ เขตเลือกตั้งที่ผู้ชนะได้คะแนนห่างจากอันดับสองไม่เกินร้อยละห้าจากผู้มาลงคะแนนทั้งหมดในเขตนั้น ๆ พบว่ามีเขตเลือกตั้งมากถึง 104 เขตทั่วประเทศที่คะแนนเบียดกัน โดยมีส่วนต่างคะแนนตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักพัน เช่น ที่จังหวัดนครปฐม เขต 1 ผู้ชนะจากพรรคประชาธิปัตย์เอาชนะผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ไปเพียงสี่คะแนน หรือที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 ที่เกิดการ “ล้มยักษ์” เมื่อผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเฉือนชนะ เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ไปเพียง 106 คะแนนเท่านั้น

ในจำนวน 104 เขตสูสี สามารถแบ่งผู้ชนะรายพรรค คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 34 เขตเท่ากัน รองลงมาคือพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 15 เขต พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 10 เขต และพรรคภูมิใจไทย จำนวนเก้าเขต เป็นต้น โดยพื้นที่เหล่านี้ผู้ชนะเฉือนอันดับสองไม่ถึงร้อยละห้า 

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนเขตสูสีต่อจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตทั้งหมดของพรรค จะพบว่าพรรคอนาคตใหม่หรือที่ปัจจุบันอยู่ในนามพรรคก้าวไกล มีพื้นที่ที่พรรคต้อง “รักษา” เอาไว้ให้ได้เพราะมีความเสี่ยงที่จะเสียให้พรรคอื่นมากที่สุด เพราะในการเลือกตั้ง 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ที่นั่งแบบเขต 31 ที่นั่ง แต่ในนั้นกว่าครึ่งหรือ 15 เขต เป็นพื้นที่ที่ผู้ชนะเอาชนะอันสองได้อย่างหวุดหวิด

 

จัดตั้งรัฐบาลปี 2562 ที่นั่ง ส.ส.ห่างคาบเส้น

ผลที่นั่งสุดท้ายในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2562 คือฝ่าย คสช. และผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ โดยมีพรรคการเมืองหลักคือพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา สามารถส่งให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ด้วยเสียง ส.ส. มากกว่ากึ่งหนึ่งแบบคาบเส้น คือ 253 ที่นั่ง พร้อมกับเสียง ส.ว. แต่งตั้งที่ลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ให้กับผู้แต่งตั้งตนเอง ในขณะที่พรรคฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอด คสช. ได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเพื่อชาติ ได้ที่นั่งรวมกัน 247 ที่นั่ง

เมื่อมองย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งเขตสูสีในปี 2562 หากสามารถเปลี่ยนคะแนนเพียงแค่สามเขตเลือกตั้ง ก็สามารถพลิกผลการเลือกตั้งทำให้พรรคฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. สามารถมีเสียงข้างมากในสภา ส.ส. ได้ แม้ว่า ส.ว.จะดึงดันลงคะแนนเลือกคณะรัฐประหารให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยซึ่งจะทำให้การบริหารประเทศยากขึ้นได้

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง การได้ที่นั่ง ส.ส.โดยชนะแบบคาบเส้นหรือเกิน 250 ที่นั่งนิดหน่อยของพรรคฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ก็อาจถูกกลไกรัฐธรรมนูญจัดการลดที่นั่งลงได้ ดังที่ได้เกิดปรากฏการณ์ เช่น การใช้พลังดูดดึง ส.ส.ฝ่ายค้านไปเติมให้ฝ่ายรัฐบาลจนที่นั่งในสภาห่างกัน หรือการใช้กลไกศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามดังที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นการจะจัดการกับคณะรัฐประหารจะใช้เสียง ส.ส.มากกว่าเพียงครึ่งหนึ่งแบบคาบเส้นไม่พอ แต่ต้องการที่นั่งให้มากกว่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้กลไกเหล่านี้ทำงานจนพลเอกประยุทธ์และพวกพ้องกลับมาได้อีกครั้ง

จำนวน 300 ที่นั่ง โดยจะเป็นตัวเลขปลอดภัยในการเอาชนะพลเอกประยุทธ์และพวกพ้อง แม้จะยังไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ ขณะเดียวการตัวเลข 300 ที่นั่งอาจจะฟังดูต้องใช้จากประชาชนจำนวนหลายล้านเสียง แต่ในทางตัวเลขสามารถเป็นไปได้ด้วยคะแนนเสียงเพียงหลักแสนเท่านั้น 

 

ถ้าเปลี่ยน 37 เขตสูสีได้ อาจทำให้ฝ่ายต่อต้าน คสช.พลิกเป็นรัฐบาล

เพราะหากเจาะดูในพื้นที่เขตสูสีทั้ง 104 เขต สามารถแบ่งเป็นเขตของพรรคฝ่ายรัฐบาลจำนวน 55 เขต และเขตของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 49 เขต และหากตัดเขตที่พรรคฝ่ายเดียวกันแข่งกันเองออกไป คือ ลำดับที่หนึ่งและลำดับที่สองในเขตนั้นมาจากพรรคฝ่ายเดียวกัน จำนวนเขตที่ผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้านเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสองเป็นรองผู้สมัครจากพรรคฝ่ายรัฐบาลไม่ถึงร้อยละห้า คือ 37 เขต ซึ่งมีผลต่างของคะแนนรวมกันเพียง 93,464 เสียง

หมายความว่า ถ้าพรรคฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้ง 2562 สามารถรักษาที่นั่งในเขตสูสีที่เป็นของตนเองได้ทั้งหมด จะต้องเปลี่ยนใจคนหรือกระตุ้นให้คนออกไปเลือกตั้งเพิ่มใน 37 เขต รวมทั้งหมด 93,464 เสียง ก็จะได้เสียงเพิ่มขึ้นมาเป็น 284 ที่นั่งทันที

จำนวนเขตที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเอาชนะอันดับสองได้ไม่ถึงร้อยละห้าแบ่งตามการชนะฝ่ายเดียวกันหรืออีกฝ่าย

พรรคการเมืองชนะอีกฝ่ายชนะฝ่ายเดียวกันรวมเขตสูสี
ฝ่ายรัฐบาล371855
ฝ่ายค้าน371249

แน่นอนว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงขั้นต่ำที่ยากจะเกิดขึ้นในความเป็นจริง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้ง 2562 นั้นใกล้เคียงมากเพียงใด หากมีคนออกมาเลือกตั้งมากขึ้นเพียงเล็กน้อยในบางเขต ก็อาจจะเปลี่ยนผลแพ้ชนะในเขตนั้นได้ทันที แต่หากมีคนออกมาเลือกตั้งมากขึ้นในหลายเขต คะแนนเสียงเหล่านั้นก็จะส่งผลต่อที่นั่งในสภาของพรรคการเมืองและโฉมหน้าของรัฐบาลอีกด้วย

โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งจะมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 400 เขตจาก 350 เขต ด้วยเขตเลือกตั้งที่เล็กลง ในหลายเขตที่คะแนนเคยสูสีก็จะยิ่งสูสีมากขึ้น หนึ่งคะแนนเสียงที่ออกไปคูหาก็ยิ่งมีค่าและอาจเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้