“นโยบายก็ดีนะ แต่มีตังเท่าไหร่?” ชวนรู้จัก พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ม.57 เจ้าปัญหา

พรรคการเมืองในสนาม #เลือกตั้ง66 ไม่ได้มีหน้าที่เพียงการแข่งขันนโยบายเพื่อเอาใจประชาชน แต่กฎหมายพรรคการเมืองยังระบุให้พรรคต้อง ‘ชี้แจง’ งบประมาณในแต่ละนโยบายที่หาเสียงกับประชาชนไว้ให้ กกต. เป็นผู้ตัดสินอีกด้วย

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 57 ระบุว่า ทุกนโยบายที่มีการใช้จ่ายเงิน ต้องทำเป็นรายการมาชี้แจงยัง กกต. ดังนี้

  1. วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ
  2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
  3. ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ในกรณีที่พรรคไม่ได้จัดทำรายการไว้ จะต้องให้ดำเนินการอย่างถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด หากพรรคการเมืองยังไม่ดำเนินการตามคำสั่ง กกต. มาตรา 121 กำหนด กกต. ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

พ.ร.ป. ฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อเตรียมการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผูกมัดหน้าที่ของพรรคการเมืองเพิ่มจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับเก่า และกลับมา ‘แผลงฤทธิ์’ ในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้อีกรอบ

นโยบายที่ถูกเพ่งเล็งด้วยมาตราดังกล่าว คือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ในส่วนนโยบาย Digital Wallet เพื่อประชาชน พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าจะอัดฉีดเงินจำนวน 10,000 บาทสู่ประชาชนในกระเป๋าเงินดิจิทัล กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างรุนแรงทันทีว่า “จะหาเงินมาแจกจากไหน” หรือ “ประชานิยมแบบนี้เข้าข่ายหลอกลวง ทำไม่ได้จริง”

วันที่ 21 เมษายน 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบนโยบายพรรคเพื่อไทยว่า ผิด พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 57 หรือไม่ เพราะสมาคมฯ มองว่า นโยบายนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ห้าแสนล้านบาท โดยพรรคเพื่อไทยจะใช้รายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้านบาทมาเติม แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีงบประมาณเหลืออยู่เพียงสองแสนล้านบาทเท่านั้น จึงเกินกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏ 

ข้อครหาครั้งนี้ นอกจากจะอิงความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 57 แล้ว ยังมีการโยงไปถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(5) ด้วยว่า อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 เมษายน 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลง ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ระบุว่า นโยบายดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายสัญญาว่าจะให้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะใช้เงินของแผ่นดิน เพียงแต่ต้องมีการชี้แจงตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลไปลงคะแนนอย่างครบถ้วน  

วันที่ 19 เมษายน 2566 กกต. ระบุว่าได้รับการชี้แจงรายละเอียดงบประมาณของแต่ละนโยบายครบทั้ง 70 พรรคการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเรียบเรียงเพื่อทำการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบต่อไป

จากการถกเถียงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแง่มุมหนึ่งของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 57 ว่า นโยบายที่มีความ ‘ใหม่’ และ ‘ท้าทาย’ อาจจะเกิดได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องคอยอธิบายให้ กกต. เข้าใจก่อน จนอาจทำให้ประชาชนที่รอเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายสูญเสียโอกาสที่จะตัดสินใจ

ดังนั้นกฎหมายที่สร้างมาเพื่อดักทางประชานิยม อาจจะกำลังดักใหม่ที่กำลังเกิดในประเทศนี้เสียแทน

หากในอนาคตหลังเลือกตั้ง 2566 ประเทศไทยยังมี พ.ร.ป. ฉบับนี้อยู่ ก็จะทำให้การเลือกตั้ง 2570 เป็นไปในลักษณะเดิม คือ ชุดนโยบายไปคอขวดอยู่ที่ กกต. พิจารณาความเหมาะสม ก่อนส่งถึงมือประชาชนให้ได้เห็นต่อไป

พ.ร.ป. ฉบับนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนใจ โดยสามารถอ่านสรุป พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4654