เวทีนโยบายความหลากหลายทางเพศ หลายพรรคย้ำ ผลักดัน #สมรสเท่าเทียม รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น. ภาคีองค์กรด้านสิทธิและความหลากหลายทางเพศกว่า 33 องค์กร รวมตัวกันในนาม คณะทำงานเครือข่ายสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 (LGBTIQNA+ Civil Rights Network for Political Party Policy 2023) ร่วมจัดเวที “สิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566” ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่ให้ประชาชนนำเสนอประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและนำเสนอนโยบายสาธารณะต่อพรรคการเมือง เพื่อยกระดับสิทธิของของประชาชนเพศหลากหลายในหกด้าน อันได้แก่ 1) ด้านกฎหมาย 2) ด้านสุขภาพ 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านการจ้างงาน 5) ด้านสวัสดิการภาครัฐ และ 6) ด้านการสื่อสารเพื่อคุ้มครองประชาชนเพศหลากหลาย 

ในงานนี้ มีตัวแทนจาก 12 พรรคการเมืองกว่า ที่ลงสนามชิงชัยในการเลือกตั้งที่ 2566 เข้าร่วมเวทีเพื่อรับฟังเสียงและข้อเสนอจากภาคประชาชน และนำเสนอนโนบายเพื่อแสดงจุดยืนของพรรคในด้านการสนับสนุน คุ้มครอง และจัดสรรทรัพยากรเพื่อประชาชนเพศหลากหลายในฐานะพลเมืองให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองหญิงชาย โดยมีภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานคำสัญญาของพรรคการเมืองที่จะทำให้นโยบายถูกนำไปปฏิบัติจริง

เปิดข้อเสนอภาคประชาชน เรียกร้องพรรคการเมืองผลักดันนโยบายหกด้าน

คณะทำงานเครือข่ายสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 ร่วมกันจัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อจัดทำนโยบายและมาตรการคุ้มครองสิทธิประชาชนเพศหลากหลายหกด้าน ดังนี้

(*อ่านรายละเอียดเต็มได้ในไฟล์แนบ)

หนึ่ง ด้านกฎหมาย เช่น 

  • สมรสเท่าเทียม : เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรส โดยให้ใช้ภาษาที่เป็นกลางครอบคลุมบุคคลทุกเพศกำเนิด ทุกวิถีทางเพศ และทุกอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อให้บุคคลสามารถจดทะเบียนสมรส เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ผลักดันร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ : บุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาที่หลากหลาย มีสิทธิการกำหนดตัวตน (Self-Determination) ในการระบุเพศสภาพตามเจตจำนงได้ด้วยตนเอง มีการรับรองบุคคลนอนไบนารี่ (Non-Binary) ในกฎหมายด้วยการมี Gender X การมี Gender X ในกฎหมาย ให้หมายถึง บุคคลที่ระบุเพศเป็น Non-Binary และบุคคลที่ไม่ระบุเพศ หมายรวมถึง บุคคลที่ไม่ต้องการระบุเพศว่าตนเป็นหญิงหรือเป็นชาย โดยอาจใช้คำกลางเช่น “นาม” นำหน้าชื่อ หรือไม่ระบุคำนำหน้านามบุคคล
  • ยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี คุ้มครอง Sex Workers : ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้าประเวณี พ.ศ.2539 และคุ้มครองพนักงานบริการในฐานะลูกจ้าง ในสถานบริการให้เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ เหมือนภาคแรงงานทั่วไป โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนเฉพาะ

สอง ด้านสุขภาพและสาธารณสุข เช่น 

  • บริการเพื่อรับฮอร์โมนและศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ : คนข้ามเพศเข้าถึงบริการรับฮอร์โมนและศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศในสถานบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาลของรัฐได้อย่างทั่วถึง มีมาตรฐาน ปราศจากการเลือกปฏิบัติ อยู่ในการคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • การรับบริการทางการแพทย์ ในกลุ่มบุคคลที่มีเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน (Intersex) : บุคคลที่มีเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน (Intersex) เช่น คนที่ถูกระบุตอนเกิดว่าเป็นหญิงแต่มีอัณฑะตกค้างในช่องท้อง ต้องได้รับสิทธิบริการทางการแพทย์ ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์ หรือ ผ่าตัดอัณฑะออก หรือรับฮอร์โมนทดแทนเนื่องจากผ่าตัดอัณฑะออกจากช่องท้อง

สาม ด้านการศึกษา เช่น

  • มีหลักสูตรการเรียนการสอน (SRHR: สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์) , SOGIESC, (CSE: เพศวิถีศึกษารอบด้าน), Intersectionality, Human Rights และ Child Rights ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย โรงเรียน รวมถึงผู้เรียนในทุกช่วงวัย
  • มีนโยบายและกลไกปกป้องคุ้มครอง รวมถึงมีแนวทางในการป้องกัน รับมือ และติดตามเยียวยาเด็กที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง SOGIESC
  • สนับสนุนให้แบบเรียนมีเนื้อหารายวิชาเกี่ยวกับเพศหลากหลาย

สี่ ด้านการจ้างงานและสถานที่ทำงาน เช่น

  • สร้างความเข้าใจ หยุดตีตรา ล้อเลียน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอดส์ (HIV) หยุดการตรวจหาเชื้อดังกล่าวในการตรวจสุขภาพของหน่วยงาน บริษัท และการสมัครงาน
  • มีนโยบายและสวัสดิการให้แก่พนักงานกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการลาหยุดเพื่อการเข้าสู่กระบวนการด้านสุขภาพเพื่อการข้ามเพศให้เป็นมาตรฐานของสิทธิแรงงานไม่ต่างจากสิทธิการลาบวช หรือการลาคลอด
  • หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ บริษัทเอกชน มีมาตรการหรือนโยบายชัดเจนและปฏิบัติได้จริงในการคุ้มครอง ห้ามการเลือกปฏิบัติ กีดกันด้วยเหตุแห่งเพศในการทำงานและจ้างงาน

ห้า ด้านสวัสดิการของรัฐ เช่น 

  • ผู้พิการ : กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติในการให้บริการแก่ผู้พิการในหน่วยงานราชการ เช่น มีล่ามภาษามือ หรือเจ้าหน้าที่เฉพาะในให้บริการกับผู้พิการได้อย่างเป็นมิตร
  • ผู้สูงอายุ : ประชาชนเพศหลากหลายสูงวัยและผู้พิการต้องได้รับบำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน ต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย
  • เด็ก นักเรียน นักศึกษา : เด็ก เยาวชน นักเรียน และนักศึกษาต้องการการศึกษาฟรีอย่างมีคุณภาพจนถึงระดับปริญญาตรี 
  • คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ : สิทธิทุกประการที่บุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยได้รับ บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับเสมอกัน

หก ด้านสื่อ เช่น 

  • มีนโยบาย หรือแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศต่อบุคลากรในพรรคอันเป็นตัวแทนของประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อลดความเข้าใจผิด อคติทางเพศอันจะนำมาสู่การกำหนดนโยบายพรรคที่อยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนของผูั้มีความหลากหลายทางเพศ และสามารถสื่อสารสาธารณะได้อย่างเข้าใจ
  • สนับสนุนและผลักดันการทำงานเพื่อปรับปรุงจริยธรรม จรรยาบรรณของสื่อวิทยุ โทรศัพท์ สื่ออินเตอร์เน็ต ให้เคารพความหลากหลายทางเพศ ไม่ตอกย้ำภาพมายาคติ ผลิตซ้ำอคติด้วยเหตุแห่งเพศและสร้างให้เกิดความเกลียดชัง
  • มีนโยบายและการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสื่อ เพื่อใช้เป็นแนวทางของพรรค หรือเป็นมาตรการเชิงนโยบายต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านสื่อสารมวลชน กรณีที่เกิดองค์กรสื่อ ยังตอกย้ำภาพเหมารวม อคติทางเพศ หรือส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ความรุนแรง

เช็คเสียงตัวแทน 12 พรรคการเมือง หลายพรรคย้ำ ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม – รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ

โดยในงานครั้งนี้ มีพรรคการเมืองกว่า 12 พรรคที่จะลงสนามชิงชัยในการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ เข้าร่วมเวทีเพื่อรับฟังเสียงของประชาชน และนำเสนอนโนบายเพื่อแสดงจุดยืนของพรรคในด้านการสนับสนุน คุ้มครอง และจัดสรรทรัพยากรเพื่อประชาชนเพศหลากหลายในฐานะพลเมืองให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองหญิงชาย โดยมีภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในคำสัญญาใจของพรรคการเมืองที่จะทำให้นโยบายถูกนำไปปฏิบัติจริง 

โดยในภาพรวม หลายพรรคการเมืองชูนโยบายผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่มีโอกาสเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 แล้ว แต่ยังพิจารณาไม่เสร็จทำให้หลายพรรคการเมืองชูว่าจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อในสภาชุดหน้า นอกจากนี้ หลายพรรคการเมือง ยังชูนโยบายผลักดันร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ส่วนในรายละเอียดประเด็นอื่นๆ แต่ละพรรคนำเสนอนโยบายแตกต่างกันไป โดยตัวแทนแต่ละพรรคการเมือง แสดงจุดยืนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ ดังนี้

พรรคก้าวไกล : ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลยืนยันในสิทธิมนุษยชนของประชาชนเพศหลากหลาย โดยนโยบายที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้เป็นกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้าคือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รวมถึงการผลักดันให้พนักงานบริการ (sex workers) เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย และยกเลิก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อคุ้มครองพนักงานบริการได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการภายใต้กฎหมายแรงงาน ป้องกันการถูกกดขี่ รวมถึงจะผลักดันกฎหมายอื่นๆ เกี่ยวข้องกับการรองรับอัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้า นอกจากนี้ยังต้องการปฏิรูปโครงสร้างระบบสุขภาพเพื่อพัฒนาความเท่าเทียมในทุกมิติ

พรรคชาติพัฒนากล้า : วรนัยน์ วาณิชกะ ให้คำสัญญาที่จะผลักดัน ร่างพ.ร.บ.สมรมเท่าเทียม ให้เป็นกฎหมาย รวมถึงการผลักดันกฎหมายคำนำหน้าชื่อให้เกิดขึ้นจริงสำคัญทุกคน การเลือกปฏิบัติในที่ทำงานด้วยเหตุแห่งเพศ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนที่ต้องการจะให้มีการแก้ไขกฎหมายที่วางอยู่บนฐานคิดศีลธรรมอันดี ให้เป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าอบรมเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และลดการตีตราต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

พรรคชาติไทยพัฒนา : อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา เน้นจุดยืนของการให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มีศักยภาพที่จะพัฒนาประเทศพร้อมกัน โดยการส่งเสริมกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ สนับสนุนพลังความหลากหลายทางเพศเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รวมถึงทางพรรคจะผลักดันร่างพรบ.สมรสเท่าเทียม และกฎหมายที่รับรองอัตลักษณ์ทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

พรรคไทยสร้างไทย : ภาคิน เจริญนนทสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยมีการเก็บข้อมูลและตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางพรรคจึงต้องการจะขยายพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีโอกาส มีที่ยืน โดยการสนับสนุนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนหนึ่งคือมาจากการผลักดันร่างพรบ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษี สร้างโอกาสในการทำงาน ลดความเหลื่อมล้ำได้ทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังย้ำถึงจุดยืนที่จะผลักดันให้พนักงานบริการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเต็มรูปแบบเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพในการทำงาน สำหรับสวัสดิการในการข้ามเพศ ทางพรรคมีแผนที่จะผลักดันให้สวัสดิการกระบวนการข้ามเพศเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

พรรคประชาธิปัตย์ : แทนคุณ จิตต์อิสระ ระบุจุดยืนของพรรค ที่จะผลักดันต่อเนื่องร่างพ.ร.บ.สมรมเท่าเทียม พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และปรับแก้พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น มีการยกเลิกพ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวรณี และดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของพนักงานบริการ ลดการตีตราของสังคม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเสนอกฎหมายส่งเสริมสิทธิอื่นๆ ที่ยังไม่เคยมีการเสนอในสังคม เช่น พ.ร.บ.กองทุน SME เพื่อพัฒนาผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อส่งเสริมผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีต้นทุนไปต่อยอดสร้างตัวได้

พรรคเพื่อชาติ : ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช แสดงจุดยืนที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และการหนุนเสริมให้ LGBT ได้เข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการยกระดับกฎหมาย พร้อมจะผลักดันกฎหมายที่สะท้อนความต้องการของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การเลือกระบุคำนำหน้านาม การแก้กฎกระทรวงศึกษาธิการให้นักเรียนแต่งตัวตามเพศสภาพได้ รวมถึงการผลักดันให้การข้ามเพศเป็นสวัสดิการ

พรรคเพื่อไทย : ชานันท์ ยอดหงษ์ พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับปัญหาปากท้องของคนทุกกลุ่มอัตลักษณ์ นโยบายที่ทำมาแล้วคือ การสนับสนุนผ้าอนามัยฟรี เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังแสดงจุดยืนที่จะผลักดันร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต่อไป ส่วนมิติเรื่องสิทธิแรงงาน ทางพรรคตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมดังกล่าว และต้องการที่จะผลักดันให้ขยายเวลาให้ผู้มีบุตรได้ลาคลอดและลาไปเลี้ยงดูบุตร (รวมถึงบุตรบุญธรรม) ในระยะเวลาที่เหมาะสมมากขึ้น ส่วนมิติเรื่องของสุขภาพ จะผลักดันให้การข้ามเพศเป็นสวัสดิการใน สปสช.

พรรคภูมิใจไทย : ณัฏฐ์ มงคลนาวิน กล่าวว่า สิ่งแรกคือการผลักดันเมื่อได้เข้าสภา คือการดึงร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมขึ้นมาให้พิจารณาเป็นวาระ 2 ต่อเนื่อง และเรื่องต่อไปคือเรื่องการผลักดันกฎหมายคำนำหน้าชื่อให้เกิดขึ้นจริงสำคัญทุกคน

พรรครวมไทยสร้างชาติ : พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ กล่าวว่า กฎหมายที่อยากจะเพิ่มเติมคือเรื่องของการอุ้มบุญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ.ร.บ.คู่ชีวิตยังขาดอยู่ สิ่งนี้จะสร้างโอกาสในการส่งเสริมเรื่องการมีบุตร นอกจากนี้ ยังได้ย้ำจุดยืนที่จะส่งเสริมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกับเพศชาย-หญิง 

พรรคสามัญชน : ณิชกานต์ รักษ์วงฤทธิ์ กล่าวว่า พรรคสามัญชนมีนโยบายส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งสี่ด้าน ด้านแรกยุติการเลือกปฏิบัติ ด้วยการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทางเพศ เช่น พ.ร.บ.การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศบนหลักการ sogiesc เราต้องการกฎหมายที่รับรองคำนำหน้านาม ด้านที่สองคือการผลักดัน พรบ.สมรสเท่าเทียม ด้านที่สามคือด้านนโยบายสาธารณสุข โดยให้การข้ามเพศเป็นสวัสดิการ และด้านการสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยการจัดการระบบที่สร้างความเกลียดกลัว

พรรคเสมอภาค : ฐิติพร ฌานวังศะ กล่าวว่า พรรคมีแผนส่งเสริมสิทธิสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศใน 3 ด้าน ด้านแรกคือการให้ทางเลือกแก่ประชาชนในการเลือกเพศตามเจตจำนงได้ สอง ด้านการศึกษา เราจะปรับปรุงหลักสูตรสุขศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านความหลากหลายเพศ เพื่อลดการรังแก เหยียดหยาม และเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และด้านสุดท้ายคือนโนยบายสาธารณสุข  ด้วยการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต สำหรับคนข้ามเพศให้เป็นไปตามมาตรฐานและเปิดโอกาสให้พื้นที่ห่างไกล

รรคเปลี่ยนอนาคต : ภิญโญ รู้ธรรม แสดงจุดยืนที่จะปกป้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศจากการถูกคุกคามและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ด้วยการหนุนเสริมกลไกในการรายงานพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง กีดกัน ลดทอนคุณค่า ต่อประชาชนเพศหลากหลายที่อาจเกิดขึ้นในภายในโรงเรียน

รับชมเวทีสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 ย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊กเพจประชาไท https://fb.watch/jB5xZohTNR/