คืนสุดท้ายเว็บล่ม! กกต. มีอำนาจขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ กฎหมายให้เวลาถึง 30 วันก่อนเลือกตั้ง

วันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตวันสุดท้าย และก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศว่าการลงทะเบียนในระบบออนไลน์สามารถทำได้ถึงเวลา 24.00 น. ทำให้มีประชาชนจำนวนมากที่ตั้งใจจะลงทะเบียนให้ทันตามกำหนดนี้ แต่พบข้อเท็จจริงว่า มีประชาชนจำนวนมากที่เข้าไปที่เว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. เพื่อลงทะเบียน แต่ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ หรือไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้สำเร็จ
จากการตรวจสอบพบว่า เว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมีปัญหาการเข้าถึงตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ในเวลาประมาณ 21.00 น. เป็นต้นมา และเมื่อใกล้เวลาปิดลงทะเบียน ก่อนเที่ยงคืนประมาณสิบนาที เว็บไซต์กกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางระบบในครั้งนี้จึงอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่อาจไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้
แต่เดิม กกต. กำหนดระยะเวลาเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ 25 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 ในขณะที่กำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าไว้เป็น 7 พฤษภาคม 2566 หรือหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งจริง แต่ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 188 ระบุเกี่ยวกับการกำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ว่า “ระยะเวลาการลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง โดยวันสุดท้ายของการลงทะเบียนต้องก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน”
หากนับถอยหลังจากวันเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 ไปสามสิบวัน วันสุดท้ายตามกฎหมายที่ กกต. สามารถเปิดให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจึงเป็นวันที่ 14 เมษายน 2566 ดังนั้น หาก กกต. จะขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น กกต. ก็สามารถทำได้ตามระเบียบที่เปิดช่องไว้
ทั้งนี้ สถิติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 พบว่ามีประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักรมากกว่า 2,100,000 คน โดยเฉพาะในวันสุดท้าย นับจนถึงเวลา 17.00 น. ก่อนที่เว็บไซต์จะเข้าไม่ได้ ก็มีประชาชนมาลงทะเบียนแล้วกว่า 500,000 คน จึงเชื่อว่าในช่วง 7 ชั่วโมงสุดท้ายน่าจะมีประชาชนอีกหลักแสนคนที่ต้องการจะลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย