เลือกตั้ง 66: จุดยืนมาตรา 112 ของพรรคการเมือง

ในการเลือกตั้ง 2566 มาตรา 112 กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงอย่างเปิดเผยบนเวทีดีเบทหลายเวที รวมถึงถูกนำไปบรรจุในนโยบายของพรรคการเมืองต่างจากในอดีตที่ทั้งพรรคการเมืองรวมถึงสื่อต่างเลือกที่จะไม่พูดถึงมาตรา 112 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากทำงานอย่างหนักของภาคประชาชนโดยเฉพาะการรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกมาตรา 112 ได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองในสภาบางส่วนมีปฏิกิริยาในทิศทางที่สร้างความหวังให้กับเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ตามในภาพรวมพรรคการเมืองหลักยังก้าวตามหลังภาคประชาชนอยู่หนึ่งก้าว เพราะขณะที่ภาคประชาชนอย่างคณะราษฎรยกเลิก 112 เตรียมยื่นร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ที่มีคนร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 200,000 คนต่อสภาชุดหน้า ข้อถกเถียงของพรรคการเมืองหลายๆพรรคยังคงไปไกลที่สุดแค่การแก้ไข โดยจุดยืนของพรรคการเมืองต่อมาตรา 112 อาจแบ่งได้ดังนี้ 

พรรคหนุนคสช. ไม่เห็นปัญหา ขอคงแบบเดิม

พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเห็นร่วมกันในประเด็นที่ว่า มาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหา ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์จากพรรคพลังประชารัฐมองว่า เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อใช้ในการหาเสียง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคจากพรรครวมไทยสร้างชาติเห็นว่า กรอบคิดของมาตรา 112 เป็นเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องสิทธิของการวิพากษ์วิจารณ์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไร เป็นประชาชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเอง ด้านศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย เห็นสอดคล้องกับพีระพันธุ์ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากมาตรา 112 และมาตรา 112 เป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นบทบัญญัติที่ปกป้องสถาบันจึงไม่สามารถแก้ไขได้

ประชาธิปัตย์คง 112 แต่แก้กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย

พรรคประชาธิปัตย์เห็นไปในทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทยเรื่องการคงไว้ซึ่งมาตรา 112 เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศ แต่ก็เสนอแนวทางการแก้ไข องอาจ คล้ามไพบูลย์เสนอแนวทางที่เคยใช้ในอดีตว่า มาตรา 112 ถูกใช้มาหลายรัฐบาล ในยุคของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะระหว่างปี 2551-2554 เป็นช่วงเวลาของการขับเคี่ยวอย่างหนักระหว่างสีต่างๆ และมีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดี การแก้ไขขณะนั้นคือ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ขึ้นมาทำให้สถานการณ์คลี่คลายพอสมควร ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า มาตรา 112 จำเป็นต้องคงไว้ เพราะเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ ซึ่งทุกประเทศเขามี โดยให้แก้เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย อย่าเอาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยใช้มาตรา 112 เพราะมันจะสร้างปัญหา 

ฝ่ายประชาธิปไตยเห็นควรแก้ แต่ต้องคุยในสภา

พรรคที่มีความเห็นในกลุ่มนี้ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทยและพรรคไทยสร้างไทย เริ่มจากพรรคก้าวไกล วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกจำนวน 5 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทหลายมาตรา ในส่วนของมาตรา 112 พรรคก้าวไกลเสนอให้นำออกจากประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงแล้วไปตั้งความผิดหมวดใหม่ รวมถึงเสนอให้ลดอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งให้เพิ่มบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ และเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษริเริ่มคดี อย่างไรก็ตามข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกลในครั้งนั้นก็ถูกตีตกไปเพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าอาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ แม้การเสนอแก้ไขกฎหมายข้างต้นจะตกไปแต่การแก้ไขมาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า กระบวนการแก้ไขมาตรา 112 จะเกิดขึ้นในสภา เป็นการถกเถียงเพื่อให้โทษลดลงและความสัมพันธ์ของสถาบันกับประชาชนดีขึ้น โดยการที่ไม่ได้เอาสถาบันมาทำร้ายคนอื่น หรือเยาวชนหนุ่มสาว

พรรคเพื่อไทยมองประเด็นมาตรา 112 เป็นสองส่วน คือ การแก้ไขที่การบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขที่ตัวบทกฎหมาย ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายขัตติยา สวัสดิผล ระบุว่า ปัญหาเร่งด่วนของมาตรา 112 อยู่ที่ปัญหาการบังคับใช้ ส่วนตัวบทหากจะมีการแก้ไขต้องมีการพูดคุยกันทุกภาคส่วนให้หาฉันทมติร่วมกันได้ ขณะที่พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดชยอมรับว่าปัญหาข้อกฎหมายของมาตรา 112 ได้แก่ประเด็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูงและประเด็นที่ผู้ร้องทุกข์คดีจะเป็นใครก็ได้ สำหรับการแก้ไขจำเป็นต้องทำในสภาเพราะเป็นประเด็นที่สังคมมีความเห็นแตกต่างกัน พรหมมินทร์ระบุด้วยว่าควรจะต้องดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วยพร้อมยกตัวอย่างคณะกรรมการกลั่นกรองที่เคยใช้ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยที่เมื่อมีคดีเข้าลักษณะการกลั่นแกล้งทางการเมืองก็จะให้ยุติการดำเนินคดี ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสองคนคือ เศรษฐา ทวีสินและแพทองธาร ชินวัตรเห็นในทำนองเดียวกันว่า ไม่ยกเลิกมาตรา 112 แต่ถกเถียงแก้ไขไม่ให้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง 

สำหรับพรรคเพื่อไทยมีตัวแทนที่พูดถึงประเด็นมาตรา 112 ในหลายวาระโอกาส เริ่มต้นช่วงปลายปี 2564 เรื่อยมา แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ออกเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการที่นำมาใช้หาเสียงว่าจะดำเนินการทางนิติบัญญัติอย่างไรกับมาตรานี้ โดยความเห็นที่มาจากตัวแทนของพรรคเพื่อไทย หลายโอกาสจะมีมาตรฐานขั้นต่ำอยู่ที่การเข้าใจปัญหา “การบังคับใช้” แต่ไม่ชัดเจนเรื่องการแก้ไขตัวบทกฎหมาย จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2566 เริ่มมีตัวแทนที่แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขทั้งตัวบทของมาตรา 112 และการบังคับใช้กฎหมาย 

โดยภาพรวมแล้วตัวแทนของพรรคเพื่อไทยแต่ละคนยังให้คำตอบที่สับสนและต้องอาศัยการตีความของผู้ฟัง เกี่ยวกับจุดยืนเรื่องมาตรา 112 โดยมีระดับแกนนำของพรรคที่แสดงออกชัดเจนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขตัวบทกฎหมายอยู่บ้าง เช่น พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย ที่กล่าวไว้ในเวทีมติชนย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 และแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่กล่าวไว้ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่กล่าวถึงปัญหาขอบเขตของมาตรา 112 บทกำหนดโทษ ผู้ริเริ่มคดี 

เห็นด้วยกับประเด็นที่ต้องแก้ในทางตัวบท

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กล่าวในเวทีมติชนย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ว่า มาตรา 112 ผมเห็นด้วยว่า การที่มีกฎหมายดูแลปกปักษ์รักษาประมุขของประเทศเป็นเรื่องจำเป็น ในกรอบของกฎหมายแน่นอนที่สุดช่วงเวลา สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โลกเปลี่ยนแปลงไปในสาระอาจจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องมากขึ้น ในกระบวนการเหล่านี้ในข้อเหล่านี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน กระบวนการที่แก้ไขโดยสันติวิธีต้องกลับเข้าไปในสภาและหารือกันในข้อไหนที่จะต้องแก้ 

เห็นด้วยในหลายประเด็นที่ทางผู้แทนของพรรคก้าวไกลเสนอมาว่า มันยังมีหลายๆจุดที่จะต้องแก้ ซึ่งอันนี้ต้องถกเถียงกันและหาทางออก ประเด็นสำคัญคือ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเรื่องของโทษ เรื่องของผู้ที่นำเสนอหรือเป็นผู้ฟ้อง-…ประการที่สองที่สำคัญคือ กระบวนการที่นำไปใช้กฎหมาย ผมยกตัวอย่างเมื่อสมัยที่ผมอยู่ในรัฐบาลไทยรักไทย เรื่องเหล่านี้ก็เกิดขึ้น แต่มันมีกระบวนการต่างๆ ที่คอยกลั่นกรองเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เฉพาะสำนักพระราชวัง มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งขึ้นแล้วก็พิจารณาเรื่องนี้ว่าจะเข้าข่ายอย่างไรหรือไม่ มีการกลั่นกรองและถกเถียงกัน ไม่อย่างนั้นถูกเลือกใช้ แม้กระทั่งกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข กำลังจะเป็นแคนดิเดตปลัดสาธารณสุข…แต่คณะกรรมการชุดนี้กลั่นกรองและในที่สุดปิดเรื่องนี้ 

“ดังนั้น เราเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าจะต้องมีการแก้ไข แต่การแก้ไขเนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากๆจึงต้องเข้ากระบวนการสภาและหารือกัน” 

ดูคลิปนาทีที่ 16.13-18.13

 แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยกเลิกม. 112 แน่นอน แต่ในส่วนตัวของพรรคเพื่อไทยคิดว่า เราต้องถกกันในสภา กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน กำหนดคนฟ้อง กำหนดบทลงโทษ ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง 

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวในรายการเปิดปากกับภาคภูมิเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ว่า มาตรา 112 อาจจะมีบางประเด็นเรื่องการบังคับใช้ ไม่ว่าใครจะใช้ก็ได้ใช้เป็นประโยชน์ด้านการเมือง ตรงนี้ต้องมาแก้ไขให้มันถูก แต่จุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดเจน เราไม่ยกเลิก 112 แต่ว่าเราก็จะมาดูที่ว่า ตรงไหนที่มีการแก้ไขแล้วเกิดความเป็นธรรม ไม่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ดูคลิป

เมื่อพิธีกรถามว่า พร้อมที่จะแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม เศรษฐาตอบว่า ใช่ครับ ดูคลิป 

ดูที่การบังคับใช้ แต่ไม่ใช่เวลาแก้ไข

ขัตติยา สวัสดิผล กล่าวในเวทีการกลับมาของมาตรา 112 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ระบุว่า สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ วิธีการบังคับใช้ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แล้วถ้าการแก้ไขมาตรา 112 เข้าไปอยู่ในสภา พรรคเพื่อไทยมองว่า ต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน 
อ่านรายละเอียด 

สุทิน คลังแสง กล่าวผ่านรายการเลือกตั้ง 66 ของสำนักข่าว Today เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ว่า ม.112 เรายอมรับว่า มีปัญหา ถ้าบอกว่า ไม่เห็นด้วยนี่คือ ไม่ให้เห็นด้วยว่าแก้ช่วงนี้ แต่ถ้าเป็นช่วงเมื่อสังคมมีความคิดตกผลึกอธิบายเรื่องนี้อย่างเข้าใจแท้แล้วเนี่ย เราอาจจะเห็นด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า บอกว่า 112 มีปัญหาแต่ว่ามันมีปัญหาด้านไหนต้องมาดูละเอียด โดยตัวบทของมันใช่หรือเปล่า หรือการบังคับใช้ เรามองว่า ปัญหา 112 มากที่สุดคือ บังคับใช้เพราะว่า คนมักไปเอา 112 กลั่นแกล้งกัน มาทำลายคู่แข่งทางการเมืองกันแล้วไปบิดตัวกฎหมายซะ คนเขาพูดนิดเดียวไปตีความไปไกลว่า หมิ่น เพราะฉะนั้นปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายที่มันไม่ถูกต้องตามตัวบท ถ้าจะแก้ก็คือ ต้องแก้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายก่อน

ในตัวบทถามว่า มีปัญหาไหม อาจจะมีปัญหาว่า บางเรื่องอาจจะต้องแก้เพื่อปิดช่องไม่ให้คนกลั่นแกล้งกัน ทีนี้จะแก้เมื่อไหร่ เราต้องยอมรับว่า วันนี้ปัญหาของประเทศมีเยอะ เราจะอะไรก่อน ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง หรือเอาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์เรียงลำดับมาให้ดี เรายังเห็นว่า ประเทศยังต้องสร้างบรรยากาศที่มันต้องเกิดความสามัคคีเพื่อจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ เรื่อง 112 บังเอิญว่า สังคมไทยมันคิดเป็นสองกลุ่ม คนรุ่นเก่าหน่อยอาจจะบอกไม่แก้ คนรุ่นใหม่บอกแก้ เมื่อมันเป็นกลุ่มความคิดที่เป็นก้อนใหญ่ทั้งสองข้างมันต้องระวัง ฉะนั้นถ้าแก้เสียตอนนี้ ความขัดแย้งปะทะกันสองกลุ่มปั๊บก็ไปทำลายบรรยากาศในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ประเทศไม่มีก็เจ๊งเลย เราถือว่า 112 เนี่ยถึงเวลาหนึ่งมันต้องแก้แต่เวลานั้นต้องให้คนไทยจูนความคิดให้มันใกล้เคียงกันอย่าให้เกิดความขัดแย้ง…ณ วันนี้อาจจะยังก่อน จะไปแก้กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย
ดูคลิป

ทั้งนี้ระหว่างการอภิปรายในญัตติด่วน #ตะวันแบม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ตอนหนึ่ง สุทินกล่าวว่า การเรียกร้องเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 และ 116 ผมคิดว่า เรื่องนี้ก็เป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุผล อะไรทำได้เราก็บอกว่าทำได้ อะไรที่มันทำได้แต่มันยังไม่ใช่เวลา มันจะต้องใช้วิธีการทำความเข้าใจกับคนในชาติ เราก็อธิบายกับเขาไป… “116 เราเห็นด้วย 112 เราเห็นด้วยแต่ใช้เวลานิดนึง จะปฏิรูปเรื่องนี้หรือยกเลิก แก้ไข ถ้าเป็นการยกเลิกแก้ไขเพื่อปกป้องสถาบันฯ ก็โอเค” แต่ระวังอย่าเปิดช่องให้คนนำสถาบันฯใช้ประโยชน์ทางการเมืองและกลั่นแกล้งกัน

ดูคลิปนาทีที่ 5:00:18-5:01:12

ดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไม่แก้มาตรา 112

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ว่า “ผมเห็นความจริงว่า ในสังคมนี้มีคนคิดแตกต่างกันและก็มีคนคิดว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวมีปัญหา อาจจะในเชิงเนื้อหาสาระหรือในเชิงการบังคับใช้ก็ตาม ผมว่า ความจริงนี้กับการแสดงออกเมื่อสักครู่ หรือหลายกรณีที่ผ่านมามันปฏิเสธไม่ได้ แต่ประเด็นก็คือว่า รัฐจะจัดการกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ผมเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ถูกตั้งคำถามเรื่องหลักนิติธรรม เช่น การกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป หรือการบังคับใช้แบบที่ใครก็ตามสามารถแจ้งความใครๆ ก็ได้ และมีการใช้บทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวกล่าวหาว่า ประชาชนคนใดกลุ่มใดมีความไม่จงรักภักดีมุ่งร้ายต่อสถาบัน…ผมจึงไม่อยากให้รัฐหรือผู้มีอำนาจยุคใดก็ตามใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ใช้ความแตกต่างทางความคิดดังกล่าว ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไปเผชิญหน้ากับสถาบันใดๆก็ตามโดยตรง และมันต้องมีวิธีการบังคับใช้ให้กฎหมายมาตรานี้ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครกลุ่มใดก็ตาม 

พิธีกรถามว่า อันนี้คือส่วนตัวหรือในนามพรรค ณัฐวุฒิตอบว่า ในนามพรรคเพื่อไทย พิธีกรถามว่า ว่าจะแก้มาตรา 112 ณัฐวุฒิตอบว่า ไม่ได้แก้แต่ว่าจะดูแลเรื่องการบังคับใช้ 

ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 112 ในเชิงเนื้อหา ณ ปัจจุบันแม้ผมบอกว่า เราเห็นคำถามเรื่องหลักนิติธรรมอยู่ชัดแจ้ง แต่ความเป็นจริงทางการเมืองในสังคมไทย คือ มาตรานี้มันทำให้สองฝ่ายทางความคิดยืนกันสุดโต่ง และยังไม่สามารถจะมีพื้นที่ในการพูดคุยกันโดยเหตุโดยผลได้ เพราะฉะนั้นดูเรื่องการบังคับใช้อย่าให้ถูกเอาไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่าถูกให้เอาไปทำร้ายและใส่ร้ายทำลายใคร และเมื่อสังคมมันตั้งหลักกันได้มากขึ้น เป็นไปได้ว่า ในสภาชุดหน้าอาจจะมีญัตติทำนองเหล่านี้และเปิดพื้นที่ปลอดภัยในตัวแทนประชาชนพูดคุยกันไม่ใช่ญัตติเรื่องแก้หรือไม่แก้ แต่หารือกันว่า เราจะบังคับใช้ จะดูเรื่องนี้กันอย่างไร ด้วยความเคารพ ผมไม่คิดว่า คนในเวทีนี้หรือพรรคการเมืองไหนจะมุ่งร้ายทำลายสถาบันฯ ในขณะเดียวกันผมก็เห็นว่า คนที่เขาห่วงใย คนที่เขาไม่มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นมีอยู่จริง แต่ถ้ามันสุดโต่งไป ผมว่า มันเป็นปัญหา ผมเห็นคนที่แสดงออกว่าจงรักภักดีมากกว่าใครๆหลายคนมีปัญหา สักคำว่า ทรงพระเจริญ อยู่บนอกสุดท้ายไปเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงอยู่ในคุก”

ดูคลิป

พรรคเสรีรวมไทย เป็นอีกพรรคที่เสนอระบบการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรรม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสเสนอแก้ไขด้วยการแยกองค์ประกอบความผิดเดิมออกจากกัน คือ การอาฆาตมาดร้ายและการดูหมิ่น หมิ่นประมาทออกจากกัน โดยการกระทำอาฆาตมาดร้ายเป็นมาตรา 111/1 ส่วนมาตรา 112 เป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยมีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี จากนี้ก็จะเป็นดุลพินิจผู้พิพากษาว่าจะให้แต่ละคนเท่าใด จะเป็น 10 วัน หรือจะ 1 ปี หรือ 2 ปีแต่ยังยืนยันว่า ยังต้องมีโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ แต่อัตราโทษแบบไหนถึงจะเหมาะสม ขณะที่สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทยแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางการกำหนดโทษในอัตราที่เหมาะสมของพรรคเสรีรวมไทย และมองว่า จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของคนหลากหลายคนรุ่นใหม่ และทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว

พรรคเล็กเห็นต่างกันสุดทางคุ้มครองเพิ่ม-ยกเลิก

พรรคเล็กสองพรรคอย่างสามัญชนและไทยภักดีวางจุดยืนที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ พรรคสามัญชนในเดือนพฤศจิกายน 2564 ระหว่างการรวบรวมรายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ของคณะราษฎรยกเลิก112 พรรคออกแถลงการณ์เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตราดังกล่าวตั้งคำถามเรื่องสถานะตามรัฐธรรมนูญของกษัตริย์ และมองว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต่างออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องยกเลิกมาตรา 112 ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่จะปูทางไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สวนทางกับพรรคไทยภักดีที่ต้องการขยายการคุ้มครองให้มากขึ้น พรรคดังกล่าวตั้งต้นมาจากการเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆแสดงจุดยืนต่อต้านข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในการเลือกตั้ง 2566 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคออกตัวสู้ศึกเลือกตั้งและรณรงค์ด้วยข้อความ “เพิ่มม. 112” แก้ไขขยายความคุ้มครองจากเดิมคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการในพระองค์ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด อดีตพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

รายละเอียดการให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนต่อมาตรา 112 ของพรรคการเมืองต่างๆ 

พรรคพลังประชารัฐ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 : “มาตรา 112 ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นคดีอาญาเป็นคดีที่อยู่ในหมวดความมั่นคง เขานำเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองเพื่อหาเสียง แต่พวกเราไม่คิดว่า เป็นการเมือง เราพยายามทำให้สงบเรียบร้อย ไม่อยากให้มีปัญหากับ 112 เพราะมันเป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว และสถาบันฯ หรือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ปัญหา…ไม่เห็นมีปัญหาเลย”

พรรครวมไทยสร้างชาติ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ : “ผมคิดว่า มาตรา 112 มันก็เหมือนกับทุกมาตรา คือมันเป็นตัวบทกฎหมายที่เขียนว่า บุคคลใดทำอะไรที่มันมีผลกระทบต่อความเสียหายของรัฐก็มีความผิดด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นฆ่าคนตาย ยาเสพติด ลักวิ่งชิงปล้น เผอิญมาตรา 112 มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นคดีบุคคลธรรมดาก็คือการหมิ่นประมาทนั่นเอง อย่างที่ผมเคยพูดหลังสุด ผมจะใช้สิทธิเสรีภาพผมไปวิพากษ์วิจารณ์ด่าพ่อล่อแม่ใครเขาไม่ได้ พ่อของแผ่นดินนะ ฉะนั้นมาตรา 112 มันเหมือนมาตรา 420 ของแพ่งแต่เพียงเขาจัดชั้นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความมั่นคงของรัฐเมื่อเป็นความมั่นคงของรัฐ ถ้าไปกระทบหรือใช้ในทางที่ไม่ถูกมันอาจจะกระทบความมั่นคงของรัฐ ซึ่งความมั่นคงของรัฐทุกประเทศยอมรับว่า เหนือสิ่งอื่นใด เพราะฉะนั้นมาตรา 112 มันถูกจัดอยู่หมวดความมั่นคงของรัฐเหมือนกับมาตราอื่นๆ เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ของมาตรา 112 มันคือเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ประการที่สอง สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เฉยๆไม่เคยไม่รังแกหรือรังควานใครแต่คุณไปยุ่งเอง…ที่สำคัญที่สุดสำหรับพรรคการเมืองและนักการเมือง สิ่งที่ประชาชนต้องการให้พรรคการเมืองทำหรือแก้ปัญหามันมีเรื่องร้อยแปดพันเก้ามากกว่ามานั่งถกเถียงเรื่องมาตรา 112 เพราะฉะนั้นผมคิดว่า มาตรา 112 ของผมมันไม่ใช่เรื่องหลักสำคัญอะไรที่ต้องมาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่สำคัญคือ ถ้าเราไม่กระทำผิดกฎหมาย เหมือนกฎหมายอื่นๆ เราก็ไม่มีความผิด”

พรรคภูมิใจไทย

ศุภชัย ใจสมุทร ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566: ภูมิใจไทยเรายืนยันว่า เราปกป้องสถาบันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นมาตรา 112 เป็นมาตราเดียวในประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นบทบัญญัติที่ปกป้องสถาบันเพราะฉะนั้นเราไม่เห็นด้วยในการที่จะต้องแก้ไขมาตรา 112 คนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คือ ผู้ที่กระทำแล้วเข้าองค์ประกอบพวกเราๆ ทั้งหลายมาตรา 112 ไม่มีผลกระทบ คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีผลกระทบหรอกครับ 

พรรคประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 : ผมเห็นว่า มาตรา 112 จำเป็นต้องคงไว้ เพราะเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ ซึ่งทุกประเทศเขามี ถ้าจะแก้ให้ไปแก้เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย อย่าเอาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยใช้มาตรา 112 เพราะมันจะสร้างปัญหา แต่ตัวบทคุ้มครองประมุขประเทศต้องมี 

องอาจ คล้ามไพบูลย์ อภิปรายในญัตติด่วน #ตะวันแบม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 : ข้อเรียกร้องเรื่องมาตรา 112 โดยเฉพาะการดำเนินคดี เขาเห็นว่า รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการทำให้ปัญหาหนักเป็นเบาได้ “ผมคิดว่า มาตรา 112 นั้นไม่ใช่เป็นมาตราที่ใช้ปัจจุบัน มาตรานี้ได้ถูกใช้มาหลายรัฐบาล ในยุคของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาของการขับเคี่ยวอย่างหนักระหว่างสีต่างๆ ปรากฏว่า มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดี แต่การแก้ไขขณะนั้นคือ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ขึ้นมาทำให้สถานการณ์คลี่คลายพอสมควร”

พรรคไทยสร้างไทย

ศิธา ทิวารี ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566: “มาตรา 112 เป็นมาตราที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราพูดกันอยู่ตลอดเวลาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่คนเรียกชื่อเล่นของมาตรา 112 ว่า เป็นคดีการเมืองตรงนี้คือการบังคับใช้กฎหมายที่คนเอาไปบังคับใช้นอกเหนือจากที่ควรจะเป็นคนที่ต้องการ ที่ผมบอกว่า มันแตกแยกทางความคิดตามอายุ คนที่อายุน้อยเขาก็รู้สึกว่า ทำไมถึงไม่พูด ทำไมถึงคุยไม่ได้ โดยที่ไม่ได้ไปก้าวล่วง จริงๆไม่ได้ไปผิด แต่บางครั้งในการตีความไปผิด จุดนี้ที่บอกว่า คนที่บอกว่าจะดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันฯ แล้วคุณไม่คุยกับเด็ก อีก 30 ปีคนเหล่านี้จะล้มหายตายจาก และเด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่มา ตอนนี้เด็กเปิดโอกาสที่จะคุย ขอพื้นที่พูดคุย ขอพื้นที่พูดคุยด้วยเหตุผล แต่เราไม่คุยกับเขาถึงเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า เด็กเขาไม่เคาะฝาโลงเราและบอกว่า ขออนุญาตคุยหน่อย เขาไม่ทำนะ เขาอยากทำอะไรเขาทำเลย คุยกันให้เข้าใจตั้งแต่วันนี้สถาบันจะอยู่ยั่งยืนสืบไป”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 : กฎหมาย 112 เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท แต่กลายเป็นว่า เวลาใครโดนโทษ 112 บอกว่า เป็นคดีการเมืองหมดเพราะมันบังคับใช้ไม่เป็นธรรม ถ้ากฎหมายมันไม่เป็นธรรมบังคับใช้เพื่อที่จะกำจัดฝั่งตรงข้ามมันคือตัวปัญหา นี่เสริมนะเห็นด้วยกับท่านเสรีฯ และมันต้องบังคับใช้ให้เป็นธรรม [พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เสนอเรื่องการแก้ไขโทษให้สมดุล] และอันที่สองวันนี้ถ้าเราไม่ฟังเลยกับคนที่มีความเห็นแตกต่าง ดิฉันคิดว่า เรากลายเราไปทำร้ายสถาบัน วันนี้คดี 112 ถูกไปใช้เป็นคดีการเมืองและก็ทำร้ายสถาบันอันเป็นที่เคารพรักสูงสุดของเรา การบังคับใช้การใช้อำนาจตรงนี้ผิด อันที่สองเรื่องการที่เราต้องรับฟังความเห็นของคนหลากหลายคนรุ่นใหม่และดูว่า เป็นยังไงทำความเข้าใจและอะไรที่ฟังได้ ไม่อย่างนั้นสถาบันจะกลายเป็นว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งดิฉันคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยในการที่จะให้ใช้เป็นเครื่องมือทำลายกัน

พรรคเสรีรวมไทย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ในเวทีถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112 : การแก้ไขมาตรา 112 ผมอยากแยกดูหมิ่นหมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้ายออกจากกัน เพราะว่าการกระทำอาฆาตมาดร้ายใกล้เคียงกับความผิดลอบปลงพระชนม์หรือประทุษร้าย ซึ่งมีโทษจำคุก ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต แต่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากแก้ไขการอาฆาตมาดร้ายออกจากมาตรา 112 ซึ่งอาจจะให้การอาฆาตมาดร้ายมีโทษจำคุก 3-15 ปี แบบมาตรา 112 ก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้การดูหมิ่น หมิ่นประมาทก็จะมีโทษลดลงมา ที่ยังต้องมีโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ ก็เพราะว่าพี่น้องประชาชนเองก็ยังได้รับการคุ้มครองจากการหมิ่นประมาทซึ่งมีอัตราโทษ ดังนั้นใครหมิ่นประมาทก็ต้องมีอัตราโทษเช่นกัน แต่อัตราโทษแบบไหนถึงจะเหมาะสม สำหรับแนวคิดของพรรคเสรีรวมไทย เสนอว่าให้ตัดอาฆาตมาดร้ายออกไป ไปเป็นมาตรา 111/1 ส่วนมาตรา 112 เป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยมีอัตราโทษไม่เกินสามปี จากนี้ก็จะเป็นดุลพินิจผู้พิพากษาว่าจะให้แต่ละคนเท่าใด จะเป็น 10 วัน หรือจะ 1 ปี หรือ 2 ปี

พรรคก้าวไกล

พริษฐ์ วัชรสินธุ ในเวทีมติชนย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 : ในมุมมองของพรรคก้าวไกลมองว่า มีทั้งหมดสามปัญหา ปัญหาที่หนึ่งคือ เรื่องการบังคับใช้ถึงแม้ว่า ตัวกฎหมายจะเขียนว่า เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่เราเห็นว่า เรื่องของการบังคับใช้ที่กฎหมายเหล่านี้มีการบังคับใช้ในกรณีที่ดูไม่น่าจะเป็นการหมิ่นประมาท ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ไม่กี่ปีที่แล้วมีคนถูกดำเนินคดีและตัดสินว่า ผิดจากการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ข้อเสนอพรรคก้าวไกลคือเขียนให้ชัดเจนในตัวบทกฎหมายเพื่อคุ้มครองการวิจารณ์โดยสุจริต…ปัญหาที่สองคือ ความหนักของโทษ หากเราเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เห็นว่า โทษจำคุก 3-15 ปีในกรณีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในประเทศไทยถือว่า สูงกว่ามาตรฐานสากล เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่สองของพรรคก้าวไกลคือ การลดเรื่องของโทษเหลือ 0-1 ปี จำคุก

ประเด็นที่สามเรื่องของการร้องทุกข์กล่าวโทษ ปัจจุบันกฎหมายมาตรา 112 ทำให้ใครสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ เราก็เกรงว่า สถานการณ์แบบนี้อาจจะเกิดปัญหาในหลายมิติ เช่น บางครั้งมันถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะเป็นปัญหา บางครั้งสมมติว่า เรามีนักการเมืองหรือข้าราชการที่อาจจะกระทำการทุจริต มีการนำชื่อของสถาบัน หรือตั้งชื่อโครงการว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติมาปกปิดหวังว่า พอนำชื่อมาแปะแบบนี้แล้วจะทำให้คนทั่วไปมีความหวาดกลัวที่จะเข้ามาตรวจสอบเพราะการมีอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 และถ้าเกิดว่า มีการเปิดโปงว่า โครงการเหล่านี้มีการทุจริต คนที่เสียหายจะเป็นชื่อเสียงของสถาบัน ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 : ผมคิดว่า มาตรา 112 มีปัญหาจริงและทุกพรรคที่อยู่บนนี้เคยมีคนเห็นด้วยว่า มีปัญหา ผมเป็นพรรคเดียวที่ต้องการจะแก้ ผมจะแก้ตั้งแต่กุมภาฯ 64…ในขณะเดียวกันที่อยู่ตรงนี้ก็มีคนที่อยากจะแก้ให้เพิ่มมากขึ้น ผมจะแก้ให้ลดโทษ ให้น้อยลง แต่มีคนจะแก้ให้หนักขึ้น เพราะฉะนั้นผมว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลอย่างเดียว แต่ทุกคนมีความต้องการที่จะแก้ไขเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนดีขึ้น คราวนี้ถ้าทุกคนแก้เข้าไปในสภาเราสามารถที่จะไปถกเถียง…วิธีไหนที่จะทำให้โทษลดลงและความสัมพันธ์ของสถาบันกับประชาชนดีขึ้นโดยการที่ไม่ได้เอาสถาบันมาทำร้ายคนอื่น เยาวชนหนุ่มสาว

พรรคเพื่อไทย

พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในเวทีมติชนย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 : มาตรา 112 ผมเห็นด้วยว่า การที่มีกฎหมายดูแลปกปักษ์รักษาประมุขของประเทศเป็นเรื่องจำเป็น ในกรอบของกฎหมายแน่นอนที่สุดช่วงเวลา สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โลกเปลี่ยนแปลงไปในสาระอาจจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องมากขึ้น ในกระบวนการเหล่านี้ในข้อเหล่านี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน กระบวนการที่แก้ไขโดยสันติวิธีต้องกลับเข้าไปในสภาและหารือกันในข้อไหนที่จะต้องแก้ เห็นด้วยในหลายประเด็นที่ทางผู้แทนของพรรคก้าวไกลเสนอมาว่า มันยังมีหลายๆจุดที่จะต้องแก้ ซึ่งอันนี้ต้องถกเถียงกันและหาทางออก ประเด็นสำคัญคือ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเรื่องของโทษ เรื่องของผู้ที่นำเสนอหรือเป็นผู้ฟ้อง-…ประการที่สองที่สำคัญคือ กระบวนการที่นำไปใช้กฎหมาย ผมยกตัวอย่างเมื่อสมัยที่ผมอยู่ในรัฐบาลไทยรักไทย เรื่องเหล่านี้ก็เกิดขึ้น แต่มันมีกระบวนการต่างๆ ที่คอยกลั่นกรองเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เฉพาะสำนักพระราชวัง มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งขึ้นแล้วก็พิจารณาเรื่องนี้ว่าจะเข้าข่ายอย่างไรหรือไม่ มีการกลั่นกรองและถกเถียงกัน ไม่อย่างนั้นถูกเลือกใช้ แม้กระทั่งกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข กำลังจะเป็นแคนดิเดตปลัดสาธารณสุข…แต่คณะกรรมการชุดนี้กลั่นกรองและในที่สุดปิดเรื่องนี้ 

“ดังนั้น เราเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าจะต้องมีการแก้ไข แต่การแก้ไขเนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากๆจึงต้องเข้ากระบวนการสภาและหารือกัน” 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 : “ผมเห็นความจริงว่า ในสังคมนี้มีคนคิดแตกต่างกันและมีคนคิดว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวมีปัญหา อาจจะในเชิงเนื้อหาสาระหรือในเชิงการบังคับใช้ก็ตาม ผมว่า ความจริงนี้กับการแสดงออกเมื่อสักครู่ หรือหลายกรณีที่ผ่านมามันปฏิเสธไม่ได้ แต่ประเด็นก็คือว่า รัฐจะจัดการกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไรบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ถูกตั้งคำถามเรื่องหลักนิติธรรม เช่น การกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป หรือการบังคับใช้แบบที่ใครก็ตามสามารถแจ้งความใครๆก็ได้ และมีการใช้บทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวกล่าวหาว่า ประชาชนกลุ่มใดมีความไม่จงรักภักดีมุ่งร้ายต่อสถาบัน ผมจึงไม่อยากให้รัฐหรือผู้มีอำนาจยุคใดก็ตามใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ใช้ความแตกต่างทางความคิดดังกล่าว ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไปเผชิญหน้ากับสถาบันใดๆก็ตามโดยตรงและมันต้องมีวิธีการบังคับใช้ให้กฎหมายมาตรานี้ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครกลุ่มใดก็ตาม ไม่ได้แก้แต่ว่าจะดูแลเรื่องการบังคับใช้ 

การแก้ไขมาตรา 112 ในเชิงเนื้อหา ณ ปัจจุบันแม้ผมบอกว่า เราเห็นคำถามเรื่องหลักนิติธรรมอยู่ชัดแจ้ง แต่ความเป็นจริงทางการเมืองในสังคมไทยคือ มาตรานี้มันทำให้สองฝ่ายทางความคิดยืนกันสุดโต่ง และยังไม่สามารถจะมีพื้นที่ในการพูดคุยกันโดยเหตุโดยผลได้ เพราะฉะนั้นดูเรื่องการบังคับใช้อย่าให้ถูกเอาไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่าให้เอาไปทำร้ายและใส่ร้ายทำลายใคร และเมื่อสังคมมันตั้งหลักกันได้มากขึ้น เป็นไปได้ว่า ในสภาชุดหน้าอาจจะมีญัตติทำนองเหล่านี้และเปิดพื้นที่ปลอดภัยในตัวแทนประชาชนพูดคุยกันไม่ใช่ญัตติเรื่องแก้หรือไม่แก้ แต่หารือกันว่า เราจะบังคับใช้ จะดูเรื่องนี้กันอย่างไร ด้วยความเคารพ ผมไม่คิดว่า คนในเวทีนี้หรือพรรคการเมืองไหนจะมุ่งร้ายทำลายสถาบันฯ ในขณะเดียวกันผมก็เห็นว่า คนที่เขาห่วงใย คนที่เขาไม่มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นมีอยู่จริง แต่ถ้ามันสุดโต่งไป ผมว่า มันมีปัญหา”

แพทองธาร ชินวัตรในเวทีเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566: พรรคเพื่อไทยไม่ยกเลิกม. 112 แน่นอน แต่ในส่วนตัวของพรรคเพื่อไทยคิดว่า เราต้องถกกันในสภา กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน กำหนดคนฟ้อง กำหนดบทลงโทษ ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เศรษฐา ทวีสินในรายการเปิดปากกับภาคภูมิเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 : มาตรา 112 อาจจะมีบางประเด็นเรื่องการบังคับใช้ ไม่ว่าใครจะใช้ก็ได้ใช้เป็นประโยชน์ด้านการเมือง ตรงนี้ต้องมาแก้ไขให้มันถูก แต่จุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดเจน เราไม่ยกเลิก 112 แต่ว่าเราก็จะมาดูที่สิว่า ตรงไหนที่มีการแก้ไขแล้วเกิดความเป็นธรรม ไม่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ พิธีกรถามว่า พร้อมที่จะแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม เศรษฐาตอบว่า ใช่ครับ

 

 

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย