เลือกตั้ง 66: กกต. มีอำนาจแก้บัตรเลือกตั้งได้ เคยทำแล้ว และต้องทำต่อ

ข้อมูลที่อยู่บัตรเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ แต่เหมือนว่าบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 2566 จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศออกมาแล้วว่าจะใช้ “บัตรโหล” ที่ไม่ระบุข้อมูลผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสนเมื่อเดินเข้าคูหาเพราะผู้สมัคร ส.ส. เขตและพรรคการเมืองอาจจะมีเบอร์ไม่เหมือนกัน

แต่หาก กกต. อยากจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ก็สามารถแก้ไขบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตให้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น ชื่อนามสกุลของผู้สมัคร พรรคการเมืองที่สังกัด เพราะมีกฎหมายและระเบียบที่เปิดช่องไว้ รวมถึงที่ในการเลือกตั้งครั้งก่อน กกต. ก็เคยแก้ไขบัตรเลือกตั้งมาแล้วหลังจากที่เจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์

บัตรโหล คน-พรรคเบอร์ไม่เหมือนกันพาประชาชนสับสน

ในการเลือกตั้งก่อนการรัฐประหาร 2557 มีการใช้ “บัตรโหล” ในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือบัตรที่มีเพียงตัวเลขผู้สมัครและช่องทำเครื่องหมายที่หน้าตาเหมือนกันในทุกเขต เนื่องจากคนและพรรคใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดอย่างแปลกประหลาดให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตมีเบอร์ไม่เหมือนกันแม้จะมาจากพรรคเดียวกัน และเมื่อมีการแก้ไขให้ระบบเลือกตั้งกลับมาเป็นบัตรสองใบ ก็ให้เบอร์ของผู้สมัคร ส.ส.เขต ไม่เหมือนกับเบอร์พรรคหรือผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ความสับสนเรื่องเบอร์ยังถูกทำให้เลวร้ายลงเมื่อ กกต. ประกาศว่าจะใช้รูปแบบบัตรโหลในการเลือกตั้ง 2566 ทำให้ประชาชนที่ไปใช้สิทธิจะต้องแยกจำเบอร์ของทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองเข้าไปในคูหาเพื่อให้สามารถลงคะแนนได้ถูกต้อง บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่เป็นบัตรโหลเช่นนี้ทำให้ถูกพรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การสร้างความภาระโดยไม่จำเป็นนี้อาจจะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ตนเองต้องการ

อย่างไรก็ตาม แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ก็ออกมาชี้แจงว่าข้อดีของบัตรโหลที่ใช้เลือก ส.ส.เขต คือแตกต่างชัดเจนกับบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ประหยัดงบประมาณในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และง่ายต่อการบริหารจัดการบัตรเลือกตั้ง อีกทั้งยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย เลขาธิการ กกต. ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาก็มีการใช้บัตรโหลในการเลือกตั้งทุกครั้ง ยกเว้นในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้ “บัตรพิเศษ”

แต่ข้ออ้างของ กกต. ไม่ได้สำคัญไปกว่าการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณก็ดี หรือการจัดการที่มีปัญหาก็ดี เป็นปัญหาที่ กกต. ต้องไปบริหารในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งในการทบทวนบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นและแก้ไขในคราวนี้ อีกทั้งความแตกต่างของบัตรเลือกตั้งสามารถทำได้ด้วยสีบัตรที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้วตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 130 ที่ระบุว่าใช้สีเป็นตัวระบุความแตกต่างของบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึง “องค์ประกอบภายใน” อย่างที่แสวงอ้าง

นอกจากนี้ กกต. ยังต้องพิจารณาด้วยว่าการใช้บัตรโหลในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้สามารถทำได้เพราะเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส. เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ง่ายต่อประชาชนในการจดจำพรรคการเมืองในการหาเสียง แต่ในการเลือกตั้ง 2566 เบอร์ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อจะไม่เหมือนกัน ถ้าบัตรเลือกตั้งแบ่งเขตเป็นบัตรโหลก็อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนนได้

กกต. มีอำนาจแก้ไขบัตรเลือกตั้ง และเคยทำมาแล้ว

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ระบบ “พรรคเดียวกันคนละเบอร์” ต้องมาเจอกับ “บัตรโหล” เพราะเคยใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มาแล้ว ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2565 ที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการจังหวัด สภาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้หมายเลขต่างกันแม้ว่าจะมาจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน แต่ประชาชนก็ยังได้รับบัตรโหลเมื่อเข้าคูหา

ดังนั้นหาก กกต. ต้องการแก้ไขบัตรเลือกตั้งให้ง่ายและสะดวกต่อการลงคะแนนก็สามารถทำได้ มาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 กำหนดให้บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะ “ต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น” โดยเป็นเพียงรูปแบบขั้นต่ำเท่านั้น เช่นเดียวกับระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 133 ก็ระบุลักษณะของบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไว้โดยใช้คำว่า “อย่างน้อย” ต้องมีหมายเลขผู้สมัครและช่องทำเครื่องหมาย กฎหมายและระเบียบเหล่านี้ที่ กกต. มีอยู่ในมือยังเปิดช่องให้สามารถแก้ไขเพิ่มข้อมูลผู้สมัครเข้าไปในบัตรเลือกตั้งได้

ที่ผ่านมา กกต. ก็เคยมีการแก้ไขรูปแบบบัตรเลือกตั้งตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว การเลือกตั้งทั่วไป 2562 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยต้องเจอปรากฏการณ์ ส.ส. พรรคเดียวกัน “คนละเบอร์” และที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นคือมีบัตรเพียงใบเดียวที่เลือกทั้งคนทั้งพรรค ทำให้การกาบัตรให้ถูกต้องมีความสำคัญมาก ในคราวแรก กกต. เปิดเผยบัตรเลือกตั้งออกมาเป็น “บัตรโหล” ไม่มีชื่อคนและพรรค มีแต่หมายเลขและช่องให้ลงคะแนนเท่านั้น แต่ท้ายที่สุด จากการเผชิญแรงกดดันจากหลายฝ่าย กกต. ก็ต้องยอมเปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือกตั้งเป็น “บัตรพิเศษ” ให้มีทั้งหมายเลขผู้สมัคร โลโก้พรรคการเมือง และชื่อพรรคการเมือง และจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง

โดยปกติแล้ว กกต. จะเริ่มพิมพ์บัตรเลือกตั้งหลังจากปิดรับสมัคร ส.ส. ซึ่งมีเดดไลน์วันที่ 7 เมษายน 2566 นอกจากมาตรการปลายเหตุอย่างการติดแผ่นไวนิลข้อมูลผู้สมัครที่มองเห็นได้จากคูหาดังที่เลขาธิการ กกต. ระบุแล้ว กกต. ยังมีเวลาในการออกแบบบัตรเลือกตั้งใหม่ที่ใส่ข้อมูลผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนได้