เลือกตั้ง 66: ช่วย กกต. จับโกง ลุ้นสินบนนำจับโกงสูงสุด 1 ล้านบาท

“สินบนนำจับ” เป็นหนึ่งในแรงจูงใจให้ประชาชนช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่างการช่วยตำรวจสอดส่องผู้ขับขี่บนฟุตบาทผิดกฎหมายจราจร ไปจนถึงการเปิดโปงการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากจะเป็นแรงจูงใจแล้วยังเป็นการตอบแทนความยากลำบากและความเสี่ยงในการเสาะแสวงข้อมูลการทุจริต ในทำนองเดียวกันกับการเลือกตั้งที่ลำพังสายตาของกกต.คงไม่กว้างขวางพอที่จะตรวจสอบการทุจริตได้ทั่วประเทศ จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากประชาชนในการให้ข้อมูลเพื่อติดตามการทุจริตเลือกตั้งได้อย่างทันท่วงที โดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง 2562 (ระเบียบสินบนจับโกงเลือกตั้ง)

ระเบียบฉบับนี้กำหนดให้กกต.จัดงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่และตอบแทนประชาชนที่ให้ข้อมูลหรือให้เบาะแสจับโกงเลือกตั้ง โดยวางหลักการเช่นเดียวกับระเบียบกกต.ว่าด้วยการคุ้มครองพยานคดีเลือกตั้งที่การดำเนินการที่เกี่ยวข้องและการจ่ายเงินต้องเป็นความลับและคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ให้ข้อมูล

จ่ายเงินอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ตรวจทุจริต วางสินบนนำจับแก่ประชาชน 2 ระดับ

ระเบียบสินบนจับโกงเลือกตั้งกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจับโกง เช่น ค่าเดินทางค่าใช้จ่ายการแฝงตัวเพื่อแสวงหาข้อมูล หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ และอีกส่วนคือ การจัดสรรค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ช่วยจับโกงการเลือกตั้งในสองระดับ คือ หนึ่ง ในหมวด 3 ว่าด้วยการจัดสรรค่าใช่จ่ายให้แก่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร กำหนดให้ค่าตอบแทนประชาชนที่ให้ข่าวในอัตราข่าวละ 5,000 บาท ตีความได้ว่า เป็นข่าวโดยทั่วไปเพื่อประกอบการติดตามการทุจริตจับโกงต่อไป และสอง ในหมวด 4 ว่าด้วยการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ในส่วนนี้ประชาชนที่ให้ข้อมูลจะต้องมาให้เบาะแสการโกงเลือกตั้งด้วยตัวเองต่อพนักงานสืบสวนและไต่สวน หรือผู้ที่กกต.มอบหมายหรือสำนักงานกกต.จังหวัด ผู้ให้ข้อมูลส่วนนี้จะมีสิทธิได้สินบนจับโกงต่อเมื่อผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสใช้ความพยายามในการแสวงหาข้อมูลที่นำมาแจ้งต่อกกต. ซึ่งจะต้องเป็นสาระสำคัญในการเอาผิดการทุจริตการเลือกตั้ง หากไม่มีข้อมูลดังกล่าวแล้วจะไม่สามารถทราบถึงการทุจริตได้ อันก่อให้เกิดผลดังนี้

  1. กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว
  2. ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครหรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  3. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
  4. กกต. สั่งให้ออกเสียงประชามติใหม่

คำสั่งทั้งสี่ข้อจะทำให้ผู้ให้ข้อมูลมีสิทธิได้รับรางวัลลดหลั่นกันไป หากเข้าข่ายได้รับรางวัลมากกว่าหนึ่งกรณีผู้ชี้เบาะแสมีสิทธิได้รับรางวัลในอัตราสูงสุดอัตราเดียว สำหรับอัตรารางวัลของการชี้เบาะแส ให้ข้อมูลคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมืองจะได้รับรางวัลดังนี้

กรณีมีผู้ชี้เบาะแสได้รับรางวัลหลายคนในเรื่องเดียวกัน ให้คณะกรรมการพิจารณารางวัลให้ตามสมควร คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะมีเลขาธิการกกต. เป็นประธาน รองเลขาธิการกกต.ที่ได้รับมอบหมายและผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาให้รางวัลเรื่องใดแล้วให้ดำเนินการรายงานให้กกต.พิจารณา โดยจะเห็นชอบตามทั้งหมด เห็นชอบบางส่วน ไม่เห็นชอบ หรือให้รางวัลมากกว่าที่คณะกรรมการฯ เสนอมาก็ได้

ระเบียบฉบับนี้กำหนดยกเว้นการมอบรางวัลพยานคดีเลือกตั้งให้แก่ ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือผู้ที่มีหน้าที่ในการสืบสวนหรือไต่สวน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกกต. และผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงในเขตเลือกตั้งที่มีการชี้เบาะแส

ฮาวทูจับโกงแบบมัดตัวคนผิดและมัดใจ กกต.

ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการกกต. ระบุว่า ที่ผ่านกกต.มีการดำเนินคดีเอาผิดผู้ทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก และมีคำพิพากษาแล้ว แต่ยอมรับว่า ยังมีพวกที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทันอยู่ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินคดีเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ พยานหลักฐานไม่ชัดเจนหนักแน่นพอที่จะเอาผิดผู้ทุจริตเลือกตั้งได้ บางครั้งประชาชนโทรศัพท์แจ้งเบาะแสการทุจริตเข้ามา แต่เมื่อกกต.สั่งการให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วไปตรวจสอบก็ไม่เจอเหตุดังกล่าวแล้ว ดังนั้นการจับทุจริตเลือกตั้งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากผู้แจ้งข้อมูลมีภาพหรือวิดีโอประกอบในการเอาผิดผู้กระทำการดังกล่าว ในความเป็นจริงการได้มาซึ่งภาพหรือวิดีโอสำหรับประชาชนทั่วไปแล้วเป็นเรื่องยากลำบากเพราะเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และพื้นที่ดังกล่าวอาจตกอยู่ภายใต้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งส่งผลสร้างความหวาดกลัว ความเป็นกังวลต่อประชาชนที่ต้องการชี้เบาะแสการโกงเหล่านี้

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านมาเคยมีประชาชนจับโกงเลือกตั้งชนิดมาทั้งภาพและเสียงระหว่างการจ่ายเงินซื้อเสียง นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่และการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ซื้อเสียง โดยเป็นเหตุระหว่างการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 4 จังหวัดลำปาง ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งมีประชาชนยื่นคำร้องต่อกกต.ว่า วัฒนา สิทธิวัง ผู้ชนะเลือกตั้งจากพรรคพลังประชารัฐและ “เกี๋ยงมา” ประชาชนในพื้นที่กระทำผิดมาตรา 73(1) ของกฎหมายเลือกตั้ง กระทำการซื้อเสียงเลือกตั้ง กล่าวหาว่า วัฒนาสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้เกี๋ยงมาทำการซื้อเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต 4 ของจังหวัดลำปาง ข้อเท็จจริงโดยสรุปดังนี้

  • วันที่ 17 มิถุนายน 2563 ผู้ร้องเจอกับสมาชิกพรรคเสรีรวมไทยที่ตลาดนัดล้อมแรด มีการพูดคุยเรื่องความนิยมของพรรคและแลกเบอร์โทรศัพท์กันไว้
  • วันที่ 18 มิถุนายน 2563 แม่ของผู้ร้องบอกว่า ให้ไปส่งที่ป่าช้าย่าจันเพื่อรับเงินซื้อเสียง ผู้ร้องเลยโทรปรึกษากับสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ได้รับคำแนะนำให้ถ่ายวิดีโอไว้ แต่เมื่อไปถึงไม่พบการแจกเงิน
  • วันที่ 19 มิถุนายน 2563 ผู้ร้องเชื่อว่า เกี๋ยงมาจะมาแจกเงินซื้อเสียงที่บ้านจึงตั้งโทรศัพท์ถ่ายวิดีโอรอ เมื่อเกี๋ยงมา มาถึงยื่นเงินแบงค์ร้อยเย็บติดกันเป็นชุด ชุดละ 300 บาท จำนวนสองชุดและกล่าวว่า ฝากให้แม่ด้วย ผู้ร้องถามว่า เบอร์อะไร เกี๋ยงมาตอบว่า เบอร์ 1 

ในทางการไต่สวนวัฒนาปฏิเสธว่า ไม่ได้รับรู้การกระทำดังกล่าวและไม่เคยรู้จักกับเกี๋ยงมามาก่อน ด้านเกี๋ยงมาสู้ว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินซื้อเสียงเลือกตั้ง แต่เป็นการจ่ายเงินค่าอาหารสำหรับน้องชายที่กำลังป่วยและการบอกว่า เบอร์ 1 ก็เพราะเข้าใจว่า ผู้ร้องถามว่า จะเลือกเบอร์ใดจึงตอบไปว่า เบอร์ 1 และไม่เคยนัดหมายให้แม่ของผู้ร้องไปที่ป่าช้าย่าจัน ขณะที่แม่ของผู้ร้องให้การตรงกันข้ามบอกว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าอาหาร เนื่องจากมีจำนวนเกินกว่าที่ตกลงกันไว้เดิมคือ 300 บาท และก่อนหน้านี้เกี๋ยงมา เคยมาถามจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบ้านของเธอและเคยให้เลขประจำตัวบัตรประชาชนของเธอและลูกชาย (ผู้ร้อง) ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินซื้อเสียงจูงใจให้ลงคะแนนแก่วัฒนา ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.จึงมีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนวัฒนาที่ชนะเลือกตั้งซ่อมและดำเนินคดีอาญากับเกี๋ยงมา ท้ายสุดเขตการเลือกตั้งนี้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยมีเดชทวี ศรีวิชัย จากพรรคเสรีรวมไทยเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน