เลือกตั้งใช้เทคโนโลยีล้ำแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่าเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และประชาชนมีส่วนร่วม

9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันจัดงานเสวนาหัวข้อ “สนทนาว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีกับการเลือกตั้ง” โดยการเสวนานี้นับเป็นการเสวนาครั้งที่สองในชุดงานเสวนาหัวข้อ Long Take Politics and Elections มีผู้ร่วมเสวนาสามคนคือ สติธร ธนานิธิโชค ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, เอกวีร์ มีสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก ไอลอว์ 

เนื้อหาหลักของงานเสวนามุ่งไปที่การมองหาความเป็นไปได้ของการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเลือกตั้งซึ่งข้อหนึ่งที่ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นสอดคล้องกันคือ จริงๆ แล้วก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการจัดการเลือกตั้งและการบริหารจัดการการเลือกตั้งอยู่บ้างแล้ว แต่คำถามสำคัญที่ควรจะต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนการพิจารณายกระดับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือกตั้ง คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้การเลือกตั้งเสรี (Free) และเป็นธรรม Fair จริงหรือไม่? และเราไว้วางใจผู้จัดการเลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน?

เอกวีย์: จะใช้เทคโนโลยีต้องตีโจทย์ก่อนว่าทำให้ Free และ Fair จริงไหม 

เอกวีย์กล่าวโดยสรุปได้ว่า หากพูดถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเลือกตั้ง หลายคนมักนึกถึงการใช้เทคโนโลยีในการลงคะแนนหรือรายงานผล แต่จริงๆ แล้วในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการการเลือกตั้งล้วนมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมาใช้อยู่แล้ว และเทคโนโลยีในความหมายแบบกว้างก็ไม่ได้หมายถึงแค่การนำเครื่องมือไฮเทคมาใช้ แต่หมายถึงการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปได้โดยสะดวกและง่ายขึ้น ทั้งวิธีการจัดหน่วยเลือกตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวกในหน่วย การออกแบบบัตรเลือกตั้งไปจนถึงอุปกรณ์อื่นๆ 

เอกวีย์ชี้ว่าคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ก่อนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเลือกตั้ง ไม่ได้อยู่ที่ว่าโปรแกรมหรือเทคโนโลยีประเภทไหนที่ควรนำมาใช้ แต่อยู่ที่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา หรือยิ่งทำให้การเลือกตั้งเสี่ยงที่จะเกิดปัญหามากขึ้น

ในกรณีของไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหลายๆ ส่วน เช่น การดึงรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร หรือการใช้แอปพลิเคชันไลน์ในการรายงานผล แต่ก็มีคำถามว่าเราสามารถเชื่อมั่นในเทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงองค์กรที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งสามารถใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน คำถามเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกนำมาพิจารณา 

นอกจากนั้นสิ่งที่ไม่ควรละเลยคือการเลือกตั้งต้องทำให้ง่าย หากนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องคำนึงเสมอว่าเทคโนโลยีต้องไม่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบกับความยุ่งยากจากระบบที่อาจซับซ้อนเกินไป และที่สำคัญต้องไม่ละเลยเรื่องความโปร่งใสและต้องเปิดให้องค์กรที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียตรวจสอบได้ และองค์กรดังกล่าวไม่ควรเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง 

สติธร: นวัตกรรมที่ก้าวหน้าก็ไร้ประโยชน์หากคน “ไม่ไว้วางใจ”

สติธรระบุว่า ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งคนจัดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหรือผู้สมัครเลือกตั้งก็มักนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกมองว่าเข้าถึงคนได้เยอะและราคาถูก ขณะเดียวกันนวัตกรรมแบบดั้งเดิมอย่างป้ายหาเสียงก็ยังคงถูกใช้โดยมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ป้ายหาเสียงในการเลือกตั้งหนนี้ที่หลายพรรคปรับมาใช้ป้ายขนาดกระทัดรัด รวมถึงอาจมีการปรับรูปแบบข้อความ วิธีการสื่อสารหรือตัวอักษรให้ดูทันสมัยมากขึ้น

ในการเลือกใช้นวัตกรรมตัวผู้ใช้ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ด้วยว่าจะทำให้กลุ่มเป้าหมายอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญได้อย่างไร โดยสติธรยกตัวอย่างว่าการใช้ป้ายหาเสียงที่ดูจะเป็นวิธีการสื่อสารแบบดั้งเดิมแต่ก็มีประโยชน์ในการสร้างภาพจำโดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่ผู้สมัครของพรรคเดียวกันไม่ได้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ 

สติธร เห็นว่า โจทก์สำคัญเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลือกตั้งไม่ได้อยู่ที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความไว้วางใจที่สังคมมีต่อผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการจัดการเลือกตั้งด้วย เพราะแม้ว่าในทุกวันนี้หลายๆ คนอาจไว้ใจทำธุรกรรมกับสถาบันทางการเงินต่างๆ ผ่านระบบเทคโนโลยี แต่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนว่าจะไว้ใจแอปพลิเคชันของสถาบันทางการเงินแห่งไหน ซึ่งต่างจากการใช้เทคโนโลยีในการเลือกตั้งที่จะต้องเป็นความไว้วางใจร่วมกันของทั้งสังคม ทั้งต่อตัวระบบและต่อตัวผู้ใช้ระบบด้วย เพราะสำหรับบางคนการใช้วิธีการแบบอนาล็อกอย่างการกาบัตรเลือกตั้ง กระดาษที่จับต้องได้ อาจมีความน่าไว้วางใจมากกว่าการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าข้อมูลที่ถูกส่งเข้าระบบตรงกับตัวเลือกที่ตัวเองกดลงคะแนนหรือไม่ 

ส่วนประเด็นที่ว่าผู้สร้างระบบใดน่าเชื่อถือกว่ากันระหว่างรัฐและเอกชน สติธรเห็นว่าโจทย์นี้ไม่สำคัญเท่ากับว่าท้ายที่สุดแล้วบุคคลที่สามหรือสาธารณะจะสามารถตรวจสอบได้มากแค่ไหน ทั้งการตรวจสอบในแง่ความโปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและความโปร่งใสของตัวระบบปฏิบัติการเอง เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะซับซ้อนหรือทันสมัยแค่ไหน ถ้าไม่สามารถรับประกันเรื่องพื้นฐานคือการเลือกตั้งที่ Free และ Fair ได้ ก็ไม่มีประโยชน์   

ยิ่งชีพ: ใช้เทคโนโลยีแบบไหนก็ได้ ที่สำคัญสาธารณะต้องเข้าถึงได้โดยสะดวก

ยิ่งชีพสะท้อนว่าจริงๆ แล้วในการเลือกตั้งปี 2562 กกต.นำเทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชัน Rapid Report มาใช้ ซึ่งเบื้องต้นสังคมเข้าใจว่าเป็นเทคโนโลยีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่การรายงานแบบเรียลไทม์ เพราะสุดท้ายคะแนนจากกรรมการประจำหน่วยจะไม่ได้ถูกส่งตรงไปสู่สื่อมวลชนโดยตรงแต่จะส่งไปยังตัวกลางอื่นอย่าง กกต.จังหวัดก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากการไหลเข้าของข้อมูลที่มีแพทเทิร์นแปลกๆ เช่น มีการส่งข้อมูลเข้ามาในเวลาที่คูหาน่าจะปิดไปนานแล้วอย่างกลางดึกหรือเช้าวันถัดไป การที่ข้อมูลถูกส่งเข้ามาในระบบล่าช้าอาจไม่ได้หมายถึงว่ามีการทุจริตแต่ก็ทำให้สังคมอดตั้งคำถามไม่ได้ ซึ่งหาก กกต.เปิดเผยข้อมูลรายหน่วยทั้งหมดให้สาธารณะชนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าถึงได้โดยสะดวก ก็จะช่วยคลายข้อสงสัยตรงนั้นได้แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีการเปิดเผยในลักษณะนั้น ที่ผ่านมามีผู้สมัครบางคนที่พยายามติดต่อขอข้อมูลก็ได้รับคำตอบว่าต้องเข้ามาถ่ายเอกสารเอาเอง

สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ที่ กกต.ประกาศแล้วว่าจะไม่มีการนำแอปพลิเคชันรายงานคะแนนแบบเรียลไทม์เข้ามาใช้ ยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อนำระบบ Rapid Report มาใช้แล้วทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กกต.ก็เลยตัดสินใจไม่ใช้ระบบดังกล่าวอีกแล้ว และจะใช้วิธีการรายงานผลผ่านแอพลิเคชันไลน์แทนซึ่งสำหรับยิ่งชีพถือว่ายอมรับได้ โดยมีข้อแม้ว่า กกต.ต้องเปิดเผยคะแนนรายหน่วยทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. ได้รับคำมั่นว่าจะให้มีการเปิดเผยภาพถ่ายคะแนนรายหน่วยทั้งหมด แต่เมื่อขอให้ กกต.ออกเป็นระเบียบเพื่อให้ทุกหน่วยเลือกตั้งปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันก็ยังไม่มีการตอบรับจาก กกต. เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องขอให้ประชาชนช่วยกันเข้ามาเป็นอาสาสมัครในแคมเปญโหวต 62 ที่จะรวบรวมภาพถ่ายคะแนนรายหน่วย ภายใต้แนวคิดถ้า กกต.ไม่เปิดเผยประชาชนจะเปิดเผยเอง 

ยิ่งชีพย้ำในตอนท้ายด้วยว่าในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะมีวันเลือกตั้งหลักแล้วยังมีวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตด้วย ซึ่งปัจจุบันกกต.นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้มีสิทธิสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้เขาอยากเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริงให้มากที่สุด เพราะบัตรเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจะถูกนำไปเก็บไว้ในสถานที่เก็บก่อนจะส่งมารวมเพื่อนับในวันเลือกตั้งจริง ซึ่งไม่มีใครรู้ได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับบัตรเลือกตั้งหรือไม่ในช่วงระหว่างวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจนถึงเวลานับคะแนนหลังปิดหีบในวันเลือกตั้งใหญ่