กกต.แจงวิธีคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง หลังสมชัยท้วงนิยาม “จำนวนราษฎร”

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 13.00 น. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแถลงข่าวกรณีเตรียมการการเลือกตั้ง 2566 ระบุว่า ไทม์ไลน์การแบ่งเขตการเลือกตั้งคือ 

  • วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดจัดทำรูปแบบเขตเลือกตั้งสามรูปแบบ 
  • วันที่ 4 – 13 กุมภาพันธ์ 2566 นำรูปแบบการเลือกตั้งปิดประกาศให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น 
  • วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้อำนวยการรวบรวมความเห็น ทำความเห็นรูปแบบการเลือกตั้งและส่งให้ กกต.พิจารณา 

โดยขั้นตอนสุดท้ายคือ ระหว่างวันที่ 20 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ที่ประชุม กกต. พิจารณาเลือกรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามเขตที่แบ่งใหม่ทั้ง 400 เขต

ยันทำถูกยกนิยาม “จำนวนราษฎร” กฤษฎีกาเทศบาลแม่สอด

วันที่ 31 มกราคม 2566 สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งและประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายพรรคเสรีรวมไทยตั้งคำถามถึงกรณีที่กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งจากการคำนวณราษฎรรวมบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยเป็นค่าฐานในการหาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อส.ส.หนึ่งคน สมชัยมีความเห็นว่า กกต.จะต้องคำนวณโดยใช้จำนวนบุคคลที่มีสัญชาติไทยเป็นค่าฐานเท่านั้น ซึ่งหากไม่นับรวมบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยจะทำให้จำนวนที่นั่งในหกจังหวัดเปลี่ยนแปลงไป หากยังไม่ชัดเจนในนิยามของคำว่า “จำนวนราษฎร” อาจเป็นปัญหาและส่งผลต่อจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรในรัฐสภาในอนาคต กล่าวคือ ทั้งหกจังหวัดมีจำนวนส.ส.รวม 40 คน หรือร้อยละแปด ซึ่งหากเกิดปัญหาจะทำให้ไม่สามารถเรียกประชุมสภาตามมาตรา 84 ของรัฐธรรมนูญได้

ด้านปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้งระบุว่า นิยาม “จำนวนราษฎร” ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิการเลือกตั้งและไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง การประกาศของกรมการปกครองจนถึงปี 2557 ยังประกาศจำนวนราษฎรรวมแบ่งเป็นเพศกำเนิดชายและหญิงเท่านั้น ต่อมาปี 2558 เป็นปีแรกที่สำนักทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรโดยแยกเพศกำเนิดชายและหญิงของผู้ที่มีสัญชาติไทย และผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย ปฏิบัติเรื่อยมาจนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ประกาศเช่นนี้

ประกอบกับมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) กรณีอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีข้อพิจารณาว่า การยกสถานะอำเภอแม่สอดเป็นเทศบาล ซึ่งมีเกณฑ์ราษฎรขั้นต่ำ 50,000คน หากนับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยจะมีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ยกฐานะเทศบาล ปัญหาคือ จะรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การคิดจำนวนราษฎรต้องคิดรวมบุคคลที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะต้องคำนึงถึงคนที่มีสิทธิใช้บริการและมีหน้าที่ในการเสียภาษีอากรในการคิดค่าธรรมเนียม ในการให้บริการต่างๆ กล่าวคือ ผู้ไม่มีสัญชาติไทยอาจได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างจากผู้มีสัญชาติแต่การคิดจำนวนราษฎรต้องคิดรวมทั้งหมด ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะว่า แม้ผู้มีสัญชาติไทยก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับ กกต. และเป็นสิ่งที่ กกต. ทำมาตลอด

หลายฝ่ายติงแบ่งเขตเลือกตั้ง 2562 ไม่ชอบธรรม แต่ กกต.ยันถูกกฎหมาย

ในการเลือกตั้ง 2562 การแบ่งเขตการเลือกตั้งภายใต้ระบอบคสช. เป็นที่กังขาเรื่องการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่คสช.ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต. จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา   การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. กกต. แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็น และประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย

กรณีจังหวัดนครราชสีมา ในการเลือกตั้งปี 2562 มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. ลดลงจาก 15 เหลือ 14 ที่นั่ง การแบ่งเขตเลือกตั้งรอบนี้ กกต. ใช้รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ได้ผ่านความคิดเห็นจากประชาชน แม้กฎหมายเลือกตั้งจะกำหนดให้การแบ่งเขตให้รวมเป็นอำเภอหรือจะแยกก็ให้คำนึงถึงสภาพชุมชนเดียวกัน แต่อำเภอเมืองนครราชสีมาก็ถูกแบ่งออกเป็นเขตเลือกตั้งถึงสี่เขต มติชนรายงานกรณีของจังหวัดสุโขทัย เขตที่สองที่มีการรวมอำเภอทุ่งเสลี่ยมและอำเภอบ้านด่านลานหอย มาเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ทั้งที่ไม่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อถึงกัน ส่วนที่พอติดกันเป็นพื้นที่บนเขาแคบๆ เพียงไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น ทั้งที่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 ระบุเกณฑ์การแบ่งเขตให้คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันและความสะดวกในการเดินทางด้วย

วันที่ 12 มกราคม 2566 ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ พรรคก้าวไกลอภิปรายในประเด็นนี้ไว้ด้วยว่า ปัจจุบันประชาชนมีความสับสนว่า เขตเลือกตั้งหนึ่งๆ มีขอบเขตอย่างไรบ้าง กรณีของกระบี่ที่เมื่อสอบถาม กกต.จังหวัดได้รับคำตอบว่า ยังไม่ชัดเจนต้องรอพรรคการเมืองบอกมาก่อนจึงสงสัยว่า สรุปแล้วการแบ่งเขตขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือ?   ขณะที่สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทยระบุว่า ทุกครั้งที่ผ่านมาการแบ่งเขตก็มีการเอาเปรียบกัน ฝ่ายรัฐบาลหรือคนที่มีอำนาจรัฐมักจะใช้โอกาสนี้แบ่งเขตเพื่อให้ตนเองได้เปรียบ 

อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวครั้งนี้ กกต.ยืนยันว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งปี 2562 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย “ท่านกล่าวหาว่า แบ่งเขตเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ผมไปดูที่เกิดเหตุที่จังหวัดสุโขทัย ดำเนินการถูกต้อง ความกว้างไม่ใช่เส้นก๋วยเตี๋ยวกว้างเป็นกิโล เพราะฉะนั้นท่านสามารถกล่าวหาได้ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่เราทำตามกฎหมาย”