ทบทวน 3 ข้อเรียกร้องตะวันแบม ทำอย่างไร?

 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และอรวรรณ หรือแบม สองนักกิจกรรมรุ่นใหม่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ตั้งแต่เย็นวันที่ 16 มกราคม 2566 จากการยื่นขอเพิกถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และประกาศ “อดอาหาร และอดน้ำ” ในวันที่ 19 มกราคม 2566 จนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาจะบรรลุผล จนกระทั่งสุขภาพทรุดโทรมลงเข้าขั้นวิกฤต สำหรับข้อเรียกร้องของตัววันและแบมมีสามข้อ คือ

1) ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2) ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

3) พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พูดกันมากในช่วงสองปีหลัง ในพื้นที่การชุมนุม ในวงเสวนา ในชั้นศาล และในรัฐสภา ชวนทบทวนสามข้อเรียกร้องของตะวันและแบมว่าทำได้อย่างไร และใครเกี่ยวข้องบ้าง 

 ข้อ 1 ปฏิรูปศาล – ทำได้เมื่อฟ้าเปิดให้ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ส่วนระเบียบทางปฏิบัติแก้ได้เลย!

หัวข้อ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เป็นคำที่กว้างใหญ่และมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง เพราะกระบวนการยุติธรรมอาจเริ่มได้ตั้งแต่ชั้นกระบวนการออกกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมายระดับปฏิบัติทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ราชทัณฑ์ ผู้ที่รับผิดชอบคดีความอย่างพนักงานอัยการ และศาล ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็ทำงานในระบบราชการที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและเชื่องช้า การปฏิรูปให้ถึงรากถึงแก่นอาจมีอะไรต้องทำมากทั้งในระดับการออกกฎหมาย การกำหนดนโยบายของฝ่ายบริหาร รวมทั้งทัศนคติและวัฒนธรรมของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันก็พบ “ปมปัญหา” ที่สามารถแก้ไขในระดับโครงสร้างและอาจเกิดผลในทางปฏิบัติได้ด้วย

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่เขียนเรื่อง “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ของประชาชนไว้แบบ “สั้น” เมื่อเทียบกับฉบับปี 2540 และ 2550 แล้ว พบว่ามีเนื้อหาสำคัญหลายเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนเคยเขียน แต่ถูก “ตัดออก” ในรัฐธรรมนูญที่ คสช. ร่างขึ้น เช่น สิทธิของผู้ถูกคุมขังที่จะมีทนายความหรือญาติเข้าเยี่ยม สิทธิร้องขอต่อศาลให้ตรวจสอบการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอย่าง สิทธิการมีทนายความช่วยเหลือ ก็ถูกตัดออกจากการเป็นสิทธิของประชาชน แล้วเขียนใหม่เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ต้องจัดให้กับ “ผู้ยากไร้” เท่านั้น

สำหรับโครงสร้างที่จะรับรองความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ก็เคยเขียนรับรองหลักการที่สำคัญไว้หลายประกัน เช่น ตุลาการต้องนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ การห้ามสั่งย้ายผู้พิพากษา การห้ามตุลาการที่มีลำดับสูงกว่าแทรกแซงการทำคำพิพากษา แต่หลักการเหล่านี้ไม่ได้ถูกรับรองแล้วในรัฐธรรมนูญ 2560

ในเดือนมิถุนายน 2564 หลายพรรคการเมืองเคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประเด็นมากถึง 13 ร่าง แต่ข้อเสนอเดียวที่ตรงกันมากที่สุด คือ ข้อเสนอเรื่องการเขียนรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเสียใหม่ เป็นข้อเสนอที่ตรงกันในร่างสามฉบับ จากสามพรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ โดยเนื้อหาคล้ายคลึงกันทั้งสามฉบับต้องการให้นำสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมแบบฉบับปี 2540 กลับมาเขียนใหม่ แม้ข้อเสนอนี้จะดูเหมือนว่า เห็นตรงกันทุกฝ่ายแล้วและได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ร่างทั้งสามฉบับ “ตกไป” เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่เพียงพอ

 ดังนั้น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในหลายๆ ประเด็น เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนและรับรองความเป็นอิสระของตุลาการ สามารถทำได้หากมีเสียงของ ส.ส. มากพอที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญ และเนื่องจาก ส.ว. ชุดของ คสช. กำลังจะ “หมดอายุ” ในปี 2567 หลังจากนั้นโอกาสที่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นก็ไม่ได้ไกลเกินไป

สำหรับประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 และคดีสำคัญทางการเมือง ยังคงเป็นข้อเสนอสำคัญที่สืบเนื่องมาจากบรรยากาศที่มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีจำนวนมาก และทุกคดีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีบนบัลลังก์จะแจ้งให้ทราบว่า การทำคำพิพากษหรือคำสั่งใดๆ ต้องผ่านการปรึกษากับผู้บริหารศาลมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตาม “ระเบียบการรายงานคดีสำคัญฯ” ที่ลงนามประกาศโดยประธานศาลฎีกา เมื่อปี 2562 เป็นกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนไว้อย่างเป็นทางการว่า ในคดีมาตรา 112 ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อนทุกครั้ง ทุกคดี 

ระเบียบฉบับดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งภายในศาลมาแล้ว เมื่อคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเองบนบัลลังก์ในปี 2562 พร้อมเผยแพร่แถลงการณ์ส่วนตัว เล่าถึงปัญหาการถูกแทรกแซงดุลพินิจในการตัดสินคดีโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค ซึ่งคณากรได้กล่าวถึงปัญหาของระเบียบฉบับนี้ด้วย

ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับดังกล่าวมีเหตุผลในการใช้งานเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเกิดความสม่ำเสมอในการพิพากษาคดีที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ขณะเดียวกันกรณีที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การปฏิบัติเช่นนี้เป็นเหตุให้หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาถูกกระทบกระเทือน ซึ่งประธานศาลฎีกาสามารถนำรายละเอียดมาทบทวนเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าวในอนาคต หรือยกเลิกระเบียบฉบับนี้ก็ได้ เป็นกระบวนการที่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น 

ข้อ 2 ตำรวจไม่เร่งคดีเพิ่มได้ แต่ต้องจบที่ออกกฎหมายยกเลิกความผิด

 ข้อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง เป็นข้อเรียกร้องที่มีความชอบธรรม ปฏิบัติได้จริง และเหมาะสมกับยุคสมัยมากที่สุด เพราะช่วงเวลานี้มีการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองโดยสุจริต สงบและปราศจากอาวุธ มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะใช้กฎหมาย “ทุกมาตรา” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นับเป็นเวลาประมาณสองปี จนถึง 14 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 217 คน ใน 236 คดี  เป็นสถิติที่ทำให้ปี 2563-2565 คือช่วงเวลาที่มีผู้ถูกตั้งข้อหา “มาตรา 112” มากที่สุดในประวัติศาสตร์  ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 มีคนอยู่ในเรือนจำด้วยมาตรา 112 อย่างน้อยแปดคน

 จากสถานการณ์โควิด และสถานการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกประกาศใช้มาเพื่อให้อำนาจแก่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกข้อกำหนดอะไรก็ได้ ทั้งการห้ามชุมนุม การคุมสื่อ การจำกัดพฤติกรรมประชาชน และด้วยความพิเศษของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อมีอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ในมือก็ออกข้อกำหนดสั่งห้ามการชุมนุม และใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายสำคัญที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของกลุ่มคนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนี้ จนมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว อย่างน้อย 1,445 คน ใน 623 คดี

นอกจากนี้แล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐานยุยงปลุกปั่น, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ฐานอั้งยี่ และซ่องโจร, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ฐานดูหมิ่นโดยการโฆษณา และข้อหาต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า 71 มาตราก็ถูกยกขึ้นมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นสวนทางรัฐบาล และเมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” ก็กลายเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่เป็นคดีความจำนวนมาก

การบังคับใช้กฎหมายกับการแสดงออกของประชาชน มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์บ้านเมืองและวิธีคิดของผู้มีอำนาจรัฐ ในช่วงที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะตำรวจก็จะใช้นโยบายการดำเนินคดีแบบ “กวาดต้อน” ตีความการแสดงออกต่างๆ ให้เข้าข่ายความผิดในข้อหาอย่างใดอย่างหนึ่งให้มากที่สุด และ “เร่งรัด” ให้ผู้ต้องหาต้องถูกดำเนินคดีจำนวนมากๆ โดยเร็ว โดยหวังผลทางการเมืองสร้างภาระให้กับผู้ที่แสดงออกมากกว่าการจะหวังเอาผิดเพื่อรักษากฎหมายบ้านเมือง ดังเช่น ที่เคยปรากฏเอกสารจากนายทหารของ คสช. ว่า “การแจ้งความดำเนินคดีซ้ำนั้น ควรที่จะมุ่งหวังเพียงเพื่อเพิ่มความกดดันและสร้างความยุ่งยากสับสนให้กับแกนนำฯ มากกว่าที่จะมุ่งหวังเพื่อควบคุมตัวแกนนำไปขังไว้ในเรือนจำ” ซึ่งกรณีมีแนวนโยบายจากฝ่ายบริหารเช่นนี้ถ้าหากรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางเป็น “ไม่ดำเนินคดี” กับผู้ชุมนุม และให้ตำรวจไม่ต้องเร่งรัดในการตั้งข้อหาดำเนินคดี ก็สามารถบรรเทาปัญหาของคดีทางการเมืองลงไปได้มาก

แต่เมื่อคดีความบางส่วนส่งฟ้องต่อศาลแล้ว คดีก็ต้องดำเนินไปตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายเขียนไว้ อำนาจทางการเมืองหรืออำนาจอื่นๆ จะมาแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาโดยตรงไม่ได้ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติยังสามารถออกกฎหมายเพื่อทำให้คดีความจากมูลเหตุการแสดงออกทางการเมืองเหล่านี้ยุติลง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ สองแนวทาง

1) การออกกฎหมายใหม่ เพื่อยกเลิกข้อหาความผิดที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น หากรัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 ก็จะมีผลให้คดีความที่กำลังดำเนินอยู่ในทุกขั้นตอนเป็นอันยุติลง เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้เอาผิดกับผู้ต้องหาได้อีกต่อไป หากมีคนกำลังถูกคุมขังอยู่ก็จะได้รับการปล่อยตัวทันที

2) การออกกฎหมายยกเว้นความผิด หรือ การนิรโทษกรรม หมายถึงการยกเว้นไม่เอาผิดกับความผิดที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เพราะเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองผ่านพ้นไปแล้วการดำเนินคดีต่อการแสดงออกทางการเมืองต่อไปมีแต่จะสร้างความขัดแย้งโดยไม่เป็นประโยชน์กับใคร ซึ่งการนิรโทษกรรมเป็น “ข้อยกเว้น” ในทางกฎหมายที่ประเทศไทยนำมาใช้บ่อยถึง 23 ครั้งแล้ว แต่เมื่อการเสนอในปี 2556 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 หลังจากนั้นการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงกลายเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สองแนวคิดนี้ก็ถูกนำเสนอขึ้นมาอีกครั้ง

ตามปกติแล้วกระบวนการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จะใช้เวลาตั้งแต่การเสนอจนถึงวันประกาศใช้ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี แต่ถ้าหากมีกฎหมายที่มาจากความเห็นร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ก็สามารถเร่งรัดให้เสร็จได้ในระยะเวลาอย่างเร็วที่สุดสองถึงสามดือน

ข้อ 3 ยกเลิก 112-116 พรรคการเมืองเสนอได้ทันที ความหวังอยู่ที่การประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบาย เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 เป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานในการเลือกตั้งที่ประชาชนสามารถเรียกร้องให้พรรคการเมืองมีนโยบายใดนโยบายหนึ่งได้ และความเป็นไปได้ที่ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะบรรลุผล คือ มีแรงกดดันจากประชาชนให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายดังกล่าว

โดยข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และกฎหมายสำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับแกนนำการชุมนุม คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 225 ราย และมาตรา 116 อย่างน้อย 128 ราย

สำหรับปัญหาของมาตรา 112 แบ่งออกเป็นสองมิติ มิติแรก คือ ปัญหาจากตัวบท เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ใครเป็นผู้ริเริ่มคดีก็ได้จึงนำไปสู่การฟ้องกลั่นแกล้งกัน และกฎหมายยังมีอัตราโทษสูงเมื่อเปรียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาหรือความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในต่างประเทศ อีกทั้ง กฎหมายยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนและไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามปกติในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกลายเป็นความผิด

ปัญหามิติที่สองของมาตรา 112 คือปัญหาการบังคับใช้ โดยพบว่า มีการนำกฎหมายนี้มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง แม้การกระทำดังกล่าวจะไม่เข้าข่ายตามองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้ง กระบวนการยุติธรรมยังกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ประกันตัวกับนักกิจกรรมทางการเมือง การวางเงื่อนไขในการประกันตัวไม่ให้ออกไปเคลื่อนไหวอีก เป็นต้น

ส่วนปัญหาของมาตรา 116 ก็แบ่งออกเป็นสองมิติอีกเช่นเดียวกัน ปัญหามิติแรกคือปัญหาจากตัวบทที่ขาดความชัดเจนแน่นอนต้องอาศัยการตีความ ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 116 (2) ที่กำหนดให้การกระทำในลักษณะที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ซึ่งคำว่า ‘ความปั่นป่วน’ ‘กระด้างกระเดื่อง’ หรือ ‘ก่อความไม่สงบ’ ล้วนเป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยที่เปิดช่องให้รัฐตีความและใช้ตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ส่วนปัญหามิติที่สองของมาตรา 116 คือ การบังคับใช้ โดยพบว่า มีการนำมาใช้จัดการกับกลุ่มที่แสดงออกในเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และการใช้ข้อหาหนักจึงเป็นการสร้างภาระให้กับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มีต้นทุนในการเคลื่อนไหวสูงขึ้น และเพิ่มภาระให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวที่สูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับความเป็นไปได้ในการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 สามารถกระทำได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ โดยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่อสภา และต้องอาศัยเสียงข้างมากของ ส.ส. ในการลงมติเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

ที่ผ่านมา การเสนอยกเลิกเคยทำมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรก ในปี 2555 ประชาชนเคยเข้าชื่อกันมากกว่า 10,000 คนเพื่อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วครั้งหนึ่ง แต่วันที่ 11 ตุลาคม 2555 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น มีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอ

ส่วนครั้งที่สอง ในปี 2564 พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ถูกโต้แย้งโดยสำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติข้อความสำคัญคือ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จนสุดท้ายก็ไม่ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณา

นอกจากนี้ ในปี 2564 ภาคประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการชวนประชาชนใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อเสนอยกเลิกมาตรา 112 ในนามกลุ่ม “คณะราษฎรยกเลิก112” หรือ ครย.112 แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัด อย่างเช่น การถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปิดกั้นเว็บไซต์ http://www.no112.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้ง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังสร้างความคลุมเครือในการตีความว่า การเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 ส่วนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 116 ที่ผ่านมา ในปี 2564 พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการพิจารณาในสภา ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนฯ หมดวาระก่อนพิจารณาร่างกฎหมายหรือมีการยุบสภาก่อนพิจารณากฎหมาย ก็ยังสามารถนำกลับมาพิจารณาต่อในสมัยหน้าได้ หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ร้องขอต่อสภาชุดใหม่ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าวต่อได้

อย่างไรก็ดี แนวทางการยกเลิกกฎหมายในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 112 หรือ Lèse-majesté เป็นเรื่องปกติในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ หรือ ประเทศญี่ปุ่น ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ไม่มีกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้เป็นการเฉพาะแต่ให้ใช้กฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรม 

เช่นเดียวกับการยกเลิกกฎหมายในลักษณะเดียวกับกับมาตรา 116 หรือ Sedition Act หากไปสำรวจกฎหมายยุยงปลุกปั่นในกลุ่มประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพของจักรวรรดิอังกฤษ อย่าง ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศมาเลเซีย จะพบว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยกเลิกและแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อพิทักษ์รักษาคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

You May Also Like
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
อ่าน

สรุปคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนมีนาคม 2567

เดือนมีนาคม 2567 มีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยหกคดี รวมแล้วมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 134 คดีจากทั้งหมด 301 คดี