ถอดบทปาฐกถาว่าด้วยสถานะของ “รัฐธรรมนูญ” ในมุมประวัติศาสตร์กฎหมายและรัฐศาสตร์

10 ธันวาคม 2565 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรมเสวนา Pridi Talks หัวข้อ “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแชร์มุมมองต่อสถานะของรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้มองเห็นเส้นทางสู่ “รัฐธรรมนูญประชาชน” ในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

ความไม่เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคือ การต้องช่วยกันขบคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่เชิงหลักการหรือตัวกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร

“เป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญประการหนึ่ง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเป้าหมายของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คือการทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งถ้าผมพูดถึงการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ก็คงเป็นเรื่องทื่ทุกท่านทราบอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผมจะพูดในวันนี้นั้นเป็นอีกด้านหนึ่ง คือ การไม่เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับคนที่ต้องการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะต้องช่วยกันขบคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ”

“สมมติฐานของผมในวันนี้ คือ รัฐธรรมนูญของไทยเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงในเชิงหลักการหรือตัวกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ว่าในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุดอย่างที่เขียนไว้ ถ้าพิจารณาในบทบาทของรัฐธรรมนูญต่อระบบกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญก็เป็นเหมือนกับโครงสร้างของกฎหมายทั้งปวง ถ้าเปรียบเทียบระบบกฎหมายกับบ้าน รัฐธรรมนูญก็เปรียบเสมือนโครงสร้างบ้าน”

“สำหรับประเทศไทย ถ้าดูในภาพรวมหรือประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญไทย เราจะพบว่า ตอนที่เราสร้างบ้านใหม่ขึ้นมา หรือปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เรายังไม่มีโครงสร้างบ้านที่แข็งแรง โครงสร้างบ้านที่เราสร้างขึ้นมาหรือสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่เราคิดและทำกันเกือบจะลำดับสุดท้ายของสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการปฏิรูปกฎหมาย เราค่อยมาคิดว่าจะทำยังไงให้บ้านมีโครงสร้างที่แข็งแรง ในตอนที่บ้านหลังนั้นสร้างเกือบเสร็จทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว”

การจัดการอำนาจรัฐ และรับรองสิทธิประชาชน ทำให้เป็นกฎหมายสูงสุด

“ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ‘มันเป็นกฎหมายสูงสุด’ แต่นักกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกคนทราบดีว่า ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้น เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองคุณค่าสูงสุดของระบบกฎหมายทั้งหมดสองเรื่องด้วยกัน หนึ่ง คือ เรื่องการจัดสรรจัดการอำนาจอธิปไตยและอำนาจรัฐต่างๆ สอง คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญจึงถือว่าเป็นสัญญาประชาคมที่สำคัญที่สุด เป็นการจัดสรรอำนาจของประชาชนและองค์กรที่ใช้อำนาจแทนประชาชน”

“ในสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญมีความเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลก มีผลใช้บังคับในปี ค.ศ. 1789 สิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่ต้องถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นคุณค่าสูงสุดที่องค์กรของรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งการทางเมืองของรัฐไม่ว่าจะประธานาธิบดีหรือสมาชิกสภาทั้งหลายต้องให้ความเคารพ และประชาชนเองก็ตระหนักถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ คุณค่าต่างๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญจะแตะต้องไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สิทธิในการถือครองอาวุธปืน ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริการับรองไว้ประการหนึ่ง คนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาเห็นปัญหาถึงการใช้ความรุนแรงโดยอาวุธปืน แต่เนื่องด้วยเป็นสิทธิในทางรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นสิทธิที่จะแก้ไขไม่ได้ หากไม่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

“กรณีของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับประเทศไทยมากในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปกฎหมายในญี่ปุ่นเริ่มต้นจากการปฏิรูปรัฐธรรมนูญก่อน แม้ว่าก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นอาจจะมีกฎหมายสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ เช่น จีน แต่ในช่วงที่ตะวันตกเข้ามาและทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าทายที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ญี่ปุ่นก็ตัดสินใจที่จะเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายตามแนวทางของตะวันตก”

“สิ่งแรกที่ญี่ปุ่นทำ คือ การก่อตั้งรัฐธรรมนูญฉบับเมจิ มีผลใช้บังคับเมื่อปี ค.ศ. 1889 เป็นโครงสร้างบ้านที่แข็งแกร่งมาก แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่ได้เรียกว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านที่มั่นคงมากให้กับญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญเมจิเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงรักษาอำนาจให้กับจักรพรรดิ มีความพยายามประนีประนอมระหว่างเจ้า ประชาชน และกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมญี่ปุ่น ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่ดีที่ทำให้ผู้คนในภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศและระบบกฎหมาย”

“หลังจากญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญในปี 1889 แล้ว กฎหมายฉบับอื่นของญี่ปุ่นก็ตามมา กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาก็ได้รับการแก้ไขให้เดินตามแนวทางของตะวันตก ระบบศึกษากฎหมายของญี่ปุ่นก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาที่มีการจัดทำกฎหมายลายลักษณ์อักษรต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นค่อนข้างมีความหลากหลายของสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงทำให้คนจากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมายตั้งแต่แรก ดังนั้น จึงถือได้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เป็นโครงสร้างบ้านที่แข็งแรง ซึ่งทำให้ส่วนต่างๆ ของบ้าน คือกฎหมายสาขาอื่นเกิดขึ้นตามมา และประกอบเข้าด้วยกันเป็นบ้านที่มีความแข็งแรงและสวยงามจนถึงปัจจุบัน“

40 ปีแรกของการปฏิรูปกฎหมาย ไม่มีโครงสร้างบ้าน ไม่มีรัฐธรรมนูญ

“ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายไทยตามอิทธิพลตะวันตก เกิดขึ้นครั้งแรกในตอนที่มีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 กระทรวงยุติธรรมจัดตึ้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 แต่ก่อนจะมีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ได้มีความพยายามในการนำเสนอให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นมาในประเทศไทย มีผู้ที่เสนอให้สร้างระบบกฎหมายสมัยใหม่ ด้วยการสร้างโครงสร้างบ้านที่แข็งแรงไว้ก่อนแล้ว คนที่เสนอก็คือกลุ่มเจ้ากลุ่มขุนนาง ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตก คนสำคัญก็คือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะ โดยเสนอไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 แต่สุดท้ายแล้ว ข้อเสนอนั้นก็ตกไป ไม่ได้รับการยอมรับจากรัชกาลที่ 5 หรือคนที่มีอำนาจปกครองในขณะนั้น”

“จากนั้นใน พ.ศ. 2440 ประเทศไทยก็มีการจัดตั้งระบบศึกษากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรก เพราะแม้ว่าในอดีตจะมีการใช้กฎหมายพระธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลผสมผสานจากฮินดูโบราณและแนวความคิดของพุทธ แต่เราไม่เคยมีการเรียนการสอนกฎหมาย แม้กระทั่งการเรียนการสอนกฎหมายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่แล้วในปี พ.ศ. 2440 อยู่ๆ เราก็สร้างระบบการศึกษากฎหมายตามแบบตะวันตกขึ้นมาทันที โดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของกฎหมายอังกฤษเป็นหลัก มีพระองค์เจ้ารพีฯ ซึ่งถูกส่งไปเรียนที่ออกฟอร์ดและกลับมาดูแลกระทรวงยุติธรรม ท่านเป็นผู้นิยมชมชอบในกฎหมายอังกฤษ หลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายจึงค่อนข้างเอนเอียงไปในแนวทางของกฎหมายอังกฤษ”

“ประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของเรา ใช้บังคับในปี พ.ศ. 2451 ซึ่งคือกฎหมายลักษะอาญา ร.ศ. 127 รัฐบาลไทยตัดสินใจที่จะสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตกด้วยการเริ่มต้นการปฏิรูปกฎหมายอาญาก่อน ในทางหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ในอีกทางหนึ่ง เรายังคงไม่มีรัฐธรรมนูญ เราตัดสินใจไม่สร้างรัฐธรรมนูญ เราไม่สร้างโครงสร้างบ้าน ไม่สร้างกฎหมายพื้นฐานที่แข็งแรง แต่เราเริ่มสร้างกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายฉบับแรกแทน”

“เราเพิ่งมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อเช้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มีฉบับชั่วคราวและฉบับถาวรตามมาในปีเดียวกัน ถ้าเรานับเวลาตั้งแต่จุดแรกของการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก คือการก่อตั้งกระทรวงยุติธรรม เราต้องรอเวลาประมาณ 40 ปี เราถึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เรามีระบบศึกษากฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2440 แต่เราต้องรอเวลาถึง 30 ปี จึงจะได้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเพื่อใช้ศึกษา”

วิชารัฐธรรมนูญ เรียนเพื่อให้รู้ ไม่ได้เรียนเพื่อใช้

“เมื่อมองเรื่องนี้ผ่านทั้งมุมของประวัติศาสตร์และสังคมวิทยากฎหมายแล้ว เราจะพบว่า สาเหตุที่หลักการความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกบังคับใช้ในทางปฏิบัตินั้นมีข้อบ่งชี้อยู่หลายอย่าง ประการแรกคือรัฐธรรมนูญของเราไม่ได้ถูกใช้เป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานของระบบกฎหมายมาตั้งแต่แรกเริ่ม เราสร้างบ้านโดยปราศจากโครงสร้างของบ้านที่แข็งแรงมาตั้งแต่ต้น เมื่อสร้างบ้านไปจนใกล้จะเสร็จแล้ว เราค่อยมาคิดว่ากันจะปรับโครงสร้างบ้านยังไง ปรับแล้วปรับอีก ไม่เคยแข็งแรงสักครั้ง”

“เราเคยมีช่วงเวลาที่โครงสร้างบ้านของเราแข็งแรงแต่สุดท้ายก็ถูกรื้อ แล้วก็พยายามสร้างโครงสร้างบ้านใหม่ ดังนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ถือว่าเป็นกฎหมายพื้นฐาน ไม่ได้เป็นฐานรากของกฎหมายทุกสาขาหรือกฎหมายทั้งปวงมาตั้งแต่ต้น อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำมาสู่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องประกอบกัน คือ ในระบบการศึกษากฎหมายของไทยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร อาจจะมีเรื่องของลัทธิการเมืองอยู่บ้าง แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในเวลานั้น หลายคนคงคิดว่าเข้าใจได้ เพราะเรายังคงปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ในช่วงเวลานั้น แต่นั่นคือที่มาในทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้เป็นคุณค่าสูงสุดตั้งแต่แรก”

“วิชารัฐธรรมนูญ ได้รับการสอนอย่างจริงจังและมีการทดสอบวัดความรู้เป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2477 ถ้านับดูโรงเรียนกฎหมายที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 แล้ว กว่าเราจะได้เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังและมีการทดสอบ ก็ต้องรอเปลี่ยนแปลงการปกครองและการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477”

“ผมกำลังจะชี้ว่าในระบบการศึกษากฎหมาย รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นวิชาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่แรก เมื่อมีการปรับหลักสูตร รัฐธรรมนูญกลายมาเป็นหนึ่งในวิชาบังคับของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ วิชารัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในวิชาที่ต้องมีในหลักสูตร แต่ไม่ได้มีความสำคัญมากแต่อย่างใด เพียงแต่เรียนเพื่อให้รู้ว่าได้เรียนแล้ว เพื่อให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีโครงสร้าง มีองค์กรทางรัฐธรรมนูญอย่างไร มีกลไกในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างกับการเรียนการสอนวิชารัฐธรรมนูญในต่างประเทศ ที่จะค่อนข้างให้ความสำคัญและมีหน่วยกิตค่อนข้างมาก”

รัฐธรรมนูญที่ความสูงสุดแปรผันตามการใช้งาน

“อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุด คือการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อให้เขียนไว้ว่าเป็นกฎหมายสูงสุด แต่คณะปฏิวัติก็ยังพยายามหาสาเหตุในการทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอยู่ร่ำไป เพราะฉะนั้น การเขียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แล้วกับฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ต้องบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สลับซับซ้อนที่สุดที่เราเคยเห็นมา”

“สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในที่นี้ คือ รัฐธรรมนูญของไทยจะเป็นกฎหมายสูงสุด เฉพาะเมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิทางการเมือง ปลดนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อไรก็ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องถูกใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกฎหมายไม่สูงสุดทันที”

“อย่างเช่น เรื่องสิทธิในทางอาญา บุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำถามคือว่า หลักการเหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้รับการบังคับหรือคุ้มครองแค่ไหนในทางปฏิบัติ คำตอบทุกคนตระหนักดีอยู่แล้ว คุณค่าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับการปกป้องหรือคุ้มครอง ดังนั้น รัฐธรรมนูญของเรา จึงมีความสูงสุดในบางวาระโอกาสและไม่เป็นกฎหมายสูงสุดในอีกหลายๆ วาระโอกาส”

เจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมรับนับถือรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงกระดาษ

“เมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นสูงสุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือทัศนคติและความเชื่อของนักกฎหมาย รวมถึงประชาชนทั่วไปจะมองว่ารัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงในนามหรือเชิงรูปแบบเท่านั้น และกฎหมายรัฐธรรมนูญจะถูกใช้แบบเลือกปฏิบัติในเรื่องต่างๆ สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นเพียงหลักการนามธรรม เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่รับรองคุณค่าสูงสุดอันเกี่ยวกับกับสิทธิเสรีภาพ”

“ตัวอย่างเช่น กรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่มาควบคุมการชุมนุม พวกเขาทราบดีว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่พวกเขาไม่ได้ให้ความสนใจในตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด กลับกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐสนใจแต่กฎหมายในลำดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเขียนลำดับปฏิบัติการและขั้นตอนอย่างไร ถ้าตรงไหนที่สามารถตีความได้ ก็พยายามตีความไปในทางที่ตัวเองมีอำนาจและเป็นไปเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

“ดังนั้นแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ก็ไม่ได้เป็นคุณค่าสูงสุดอย่างที่ควรจะเป็น หรือว่าประชาชนเห็นรัฐธรรมนูญถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า เห็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้ยอมรับนับถือว่าหลักการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นหลักการคุณค่าสูงสุด มันทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจและไม่เชื่อมั่นต่อสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงหลักการสวยหรูบนกระดาษแผ่นหนึ่ง เป็นนามธรรม และไม่สามารถบังคับได้จริงในทางปฏิบัติ”

วัฒนธรรม ทัศนคติ และความเชื่อ เพื่อความมั่นใจของประชาชน

“ถ้าสังเกตเราจะพบว่า หน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเทศไทยนั้นไม่ใช่หน้าที่หลัก แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เราจะพบว่าการปฏิญาณตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ต้องปฏิญาณขั้นแรกเลยคือการต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ขณะที่เรามีคำขวัญหรือค่านิยม คือ ชาติ ศาสน์ พระมหากษัตริย์ เป็นสามคำที่มีความสำคัญมาก แต่สามคำนี้ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญหรอกหรือ? มันอยู่ในรัฐธรรมนูญหมดเลยต่างหาก เพราะมันเขียนสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ดังนั้น ความจริงแล้ว การปฏิญาณของตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือฉบับประชาธิปไตย”

“สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือเราไม่ควรจะสนใจเพียงแต่กระบวนการในการสร้างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเรามีกระบวนการที่ใกล้เคียงกับอุดมคติที่สุดในปี พ.ศ. 2540 แต่สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกแล้ว และไม่ได้มีความหมายอะไร ความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญก็ยังคงเป็นหลักการที่เป็นนามธรรมอยู่ แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้ คือการสร้างวัฒนธรรม ทัศนคติ และความเชื่อ ในหมู่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บังคับหลักการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้เขารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง”

รัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยการต่อสู้มาตลอด

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์นั้น ต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงพื้นที่ของการต่อสู้ต่อรองเงื่อนไขทางสังคมและการเมือง

“ถ้าเราจะเข้าใจรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 อาจจะต้องเริ่มตั้งต้นว่าเราจะจดจำเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นแบบใด เป็นการปฏิวัติจริงหรือไม่ ถ้าใครพูดแบบนี้ก็เตรียมรถทัวร์ลงได้ ก็สมัยนี้เขาบอกว่าเป็นการปฏิวัติ แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นการปฏิวัติ ก็มักจะมีงานวิชาการใหม่ๆ ที่ออกมาท้าทายและตั้งคำถามอยู่ทั้งสองด้าน ซึ่งจนตอนนี้ก็ยังไม่จบ ยังเป็นซึ่งสิ่งที่ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แม้แต่ขณะนี้ที่ผมสอนหนังสืออยู่ เรื่องของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็ยังไม่จบ ยังเป็นเรื่องราวที่มีต่อมาเรื่อยๆ”

“ในมุมของผม ถ้าใช้ภาษาอังกฤษ ก็อาจจะเรียกรัฐธรรมนูญได้ว่าเป็น Great Compromise (การประนีประนอมครั้งยิ่งใหญ่) โดยเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญเอง ผมยังไม่เคยเชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ แต่ปัญหาของเราคือ เราเชื่อว่ามันจะมีฉบับสมบูรณ์ เมื่อเราเชื่อว่ามันจะมีฉบับสมบูรณ์ เราก็จะคิดแก้ไขมันตลอดเวลา ทั้งฝ่ายที่ต้องการแก้กลับ และฝ่ายที่ต้องการจะแก้ไปข้างหน้า คำถามคือรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มันมีจริงไหม หรือรัฐธรรมนูญมันควรจะเป็นพื้นที่ที่เกิดการต่อสู้ต่อรอง คำว่า Compromise แปลว่า ข้อตกลงร่วมกันบางประการ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องต่อสู้กันต่อไป ดังนั้น สำหรับผมแล้ว รัฐธรรมนูญนั้นเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ”

“สิ่งที่เราเรียกว่า Great Compromise หรือการประนีประนอมอันยิ่งใหญ่นั้น คือ มันเป็นข้อตกลง แต่ใช่ว่าจะเป็น Happy Ending หรือ Happy Ever After เสมอไป แต่มันคือจุดตั้งต้นของการผจญภัยของสังคม เป็น Compromise ที่ Contested (ต่อรองได้) เป็นการประนีประนอมที่เต็มไปด้วยการปะทะต่อสู้ต่อรองกันตลอดเวลา เราจะเห็นข้อเท็จจริงนี้ได้จากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีเหตุการณ์ต่อเนื่องตามมาหลายเหตุ ตั้งแต่การยุบสภา การรัฐประหารเงียบ การเรียกอำนาจคืนของพระยาพหลฯ หลังจากนั้นมีกบฎวรเดช มีการปราบกบฎวรเดช ทุกอย่างเกิดขึ้นภายใน 1 ปี จนกระทั่งมาถึงปรากฎการณ์การทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 สิ่งเหล่านี้คือ Contested Compromise (การประนีประนอมที่ต่อรองได้) รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของการลงหลักปักฐาน แต่ก็เต็มไปด้วยการต่อสู้ต่อรองมาตลอด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันทำให้ชีวิตทางการเมืองของแต่ละฝ่ายมีภารกิจของตนเอง”  

เราไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง

“ผมยังเชื่อว่าเรายังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง มันเป็นอะไรที่เป็นความฝันมาก รัฐธรรมนูญโดยปกติเป็นสิ่งที่สู้กันไปสู้กันมา มันอาจจะไม่ใช่วงจรอุบาทว์ แต่เป็นเรื่องของแต่ละฝ่ายที่มีจุดยืนและภารกิจที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าทรัพยากรทางอำนาจไม่เท่ากัน ดังนั้น เรื่องที่ต้องระวังในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คือ ประชาชน ซึ่งแทบจะต้องระมัดระวังมากกว่ารัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ เราห้ามลืมว่าเผด็จการอ้างคำว่าประชาชนแทบจะบ่อยกว่าหรือไม่แพ้ประชาธิปไตย ไม่มีเผด็จการที่ไหนที่ไม่อ้างประชาชน เผด็จการคือการปกครองที่อ้างถึงประชาชนตลอดเวลา อ้างว่าทำเพื่อประชาชนได้ดีกว่าประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้าเราหล่นไปอยู่ในกับดักของคำว่าประชาชน บางทีเราก็จะหล่นอยู่ในกับดักของเผด็จการได้ด้วย สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง”

“เหตุผลที่ผมบอกว่าเราไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงนั้น เป็นเพราะเรามีหลายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับประชาชนเยอะจริง แต่เงื่อนไขของผม คือทุกฉบับมีข้อจำกัดทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก หลายคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนี้ ก็คือคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ทั้งนั้น มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่มีความสุขกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัย งานวิจัยหลายเรื่องวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เยอะมาก บางทีถูกนำไปปรับใช้ จนนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เสียด้วยซ้ำ แต่เรื่องเหล่านี้ก็เป็นปกติในสังคมประชาธิปไตย”

“ไม่เคยหรอกที่จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อต้องการให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น ไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ชี้หรือต้องการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 มีเพียงแต่ความต้องการผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มีความลึกซึ้งขึ้น ขยายความกว้างขึ้น ดังนั้นแล้ว จึงไม่เคยมีอนุสาวรีย์ฉบับ พ.ศ. 2540 เพราะสิ่งนี้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนต้องการไปให้ได้ไกลกว่านั้น เป็นเรื่องของจิตวิญญาณการต่อสู้  เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคณะราษฎรหรือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ทุกคนล้วนต้องการให้ไปไกลกว่านั้น ทุกคนคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ผมไม่คิดว่าทุกคนจะต้องการสร้างอนุสาวรีย์ เพราะมันเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว”

‘เพื่อประชาชน’ คำที่ต้องตั้งคำถามและระมัดระวังอยู่เสมอ

“รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีข้อจำกัด อย่างไรก็ดี เหมือนที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก พูดเอาไว้ รัฐธรรมนูญนั้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจและการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเสมอ สิ่งที่เราต้องการพูดคือคำว่าประชาชน แต่เมื่อเราพูดถึงประชาชน เราจำเป็นต้องอ้างหลักการคำนี้อย่างน้อย 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งก็คือว่า ประชาชนในฐานะผู้แสดงหรือตัวกระทำการทางการเมือง (Political Actor) สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ การที่ประชาชนจะลุกขึ้นต่อสู้ได้นั้นมีกระบวนการที่ยาวนาน ไม่ใช่ว่าประชาชนโดยอัตโนมัติจะเป็นสิ่งที่ออกมาสู้เพื่อตัวเอง ในทางรัฐศาสตร์ มีเหตุผลหลายร้อยแบบที่จะทำให้ประชาชนสู้หรือไม่สู้”

“หากมองให้ลึกซึ้งขึ้นไปถึงทฤษฎี Game Theory ประชาชนที่ไม่สู้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่คิด เขาเพียงแต่คำนวณต้นทุน กำไร และประโยชน์ ว่าเขาจะต้องลงทุนอีกเท่าไรในการสู้ หรือเขาจะสูญเสียอะไร ไม่มีหรอก คำว่าไม่มีอะไรจะเสีย เขามีอะไรให้เสียเยอะ แต่หน้าที่ของการต่อสู้ มันไม่ใช่แค่ปลุกเร้าให้ประชาชนออกมาต่อสู้ อีกสิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ประชาชนที่เขาออกมาสู้นั้น ต้นทุนเขาถูกลง การเคลื่อนไหวหลายอย่างๆ มันทำให้ต้นทุนของเขาถูกลง”

“ส่วนอีกด้านหนึ่งของคำว่าประชาชน นอกจากจะเป็นประชาชนที่เราเข้าใจกันแล้ว มันยังมีประชาชนที่เป็นเสมือนสิ่งสำคัญหรือแนวคิดกว้างๆ ที่มักถูกใช้ในการอ้างอิง ทุกฝ่ายก็ล้วนทำเพื่อประชาชนทั้งนั้น คำว่าประชาธิปไตยที่ชอบใช้กัน ก็คือประชาธิปไตยในฐานะการปกครองประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน คำนี้เป็นคำที่ทุกคนชอบพูด คำถามคือทุกคนตั้งคำถามกับคำๆ นี้มากแค่ไหน”

“เผด็จการคือพวกที่ชอบใช้คำนี้ แต่เขาไปเน้นคำว่าเพื่อประชาชน ใครก็ตามที่พูดคำว่าเพื่อประชาชนล้วนต้องถูกตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะเผด็จการนั้นพูดคำนี้บ่อย เงื่อนไขสำคัญจึงเป็นการตั้งคำถามจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญเป็นการปกครองประชาชน โดยประชาชน คำว่า โดยประชาชน เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตย ส่วนเพื่อประชาชนนั้นให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ใครๆ ก็พูดทั้งนั้น”

‘คอนสติติวชั่น’ รากเหง้าของการจำกัดอำนาจและมีเงื่อนไข

“ผมคิดว่าเรามีกับดักสำคัญในการร่ำเรียนในประเทศนี้ เพราะเราชอบคิดว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมาย แต่ในทางรัฐศาสตร์ เราจะคิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นกฎหมาย เพราะหากเราคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย เราก็จะพบอุตสาหกรรมการเขียนและแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ มิติทางกฎหมายเป็นเพียงส่วนเดียวของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นคำที่กว้างกว่านั้น รัฐธรรมนูญโดยตัวของมันเอง ถ้าไม่ได้ใช้ทฤษฎีอำนาจสถาปนาของประชาชน รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าจะมีประชาธิปไตย ประเทศที่หมกหมุ่นกับรัฐธรรมนูญ มีหลายประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ใช้รัฐธรรมนูญในการกดหัวประชาชน บางประเทศก็เกิดปัญหาว่ารัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากเสียจนใช้รัฐธรรมนูญจัดการทุกคนที่เห็นต่าง เราจึงต้องระมัดระวังในสิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่ามองรัฐธรรมนูญว่าเป็นเพียงผลผลิต วัตถุ หรือตัวบทอย่างเดียว”

“ในประเทศไทย ถ้าย้อนกลับไป ในเหตุการณ์คำกล่าวบังคมทูล ร.ศ.103 ที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทูลถึงรัชกาลที่ 5 ผมคิดว่าเราอาจจะต้องเลิกใช้คำว่ารัฐธรรมนูญ แต่เปลี่ยนไปใช้คำว่า ‘คอนสติติวชั่น’ ในความหมายนั้น ความสำคัญของคำกล่าวบังคมทูลนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของการตั้งคำถามบางอย่างเพื่อหาจุดลงตัวของการจำกัดอำนาจ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้าเราตั้งหลักของคำว่ารัฐธรรมนูญ โดยการมองว่ารัฐธรรมนูญคือที่มาของทุกอำนาจ สิ่งที่ต้องระวังคือใครจะควบคุมสิ่งนี้ได้ แต่ถ้าเรามีอีกด้านหนึ่ง คืออย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อจำกัดอำนาจ โดยเฉพาะคำว่า ‘คอนสติติวชั่นนอล’ ซึ่งหมายถึง การจำกัดอำนาจและมีเงื่อนไขเสมอ”

“ทุกคนบอกว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ในประเทศเขา ถ้าใช้คำว่า ‘คอนสติติวชั่นนอล’ เมื่อไร มันแปลว่า เดี๋ยวก่อน คุยกันก่อน ตกลงกันให้ได้ก่อน สิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประเพณีที่ท่องกันมาตั้งแต่สมัยปริญญาตรี ความจริงแล้วคือ เอ๊ะ ไม่มีใครหรอกที่จะจิ้มได้ เรื่องทุกเรื่องต้องผ่านการตกลง ไม่มีใครที่มีอำนาจสูงสุด ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้หลักการบางอย่างที่ตกลงกันมานานแล้ว ไม่มีใครอยู่ดีๆ จะสามารถตั้งกฎตั้งเกณฑ์ขึ้นมาได้เอง”

“คำว่า ‘คอนสติติวชั่นนอล’ มีความสำคัญ ปัญหาคือเราชอบพูดแต่คำว่า ‘คอนสติติวชั่น’ เราไม่ค่อยขยายไปหาคำว่า ‘คอนสติติวชั่นนอล’ (Constitutional) และ ‘‘คอนสติติวชั่นนอลลิซึ่ม’ (Constitutionalism) ซึ่งเป็นคำที่พยายามใช้ในช่วง พ.ศ. 2540 แต่ช่วงหลังก็ลืมๆ กันไปว่าเงื่อนไขในการมีองค์กรอิสระต่างๆ นั้นมีไว้เพื่อกำกับอำนาจกันไปกันมา ไม่ใช่มีไว้เพื่อเป็นองค์กรสูงสุด องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ทุกอย่างต้องวนและกลับมาหาประชาชน เพราะมันมีความหมายแบบนั้น แต่ไม่ได้มีความหมายในตัวเอง มันมีความหมายในการใช้เพื่อตกลงกันว่า จะไม่มีใครมีอำนาจสูงสุดเหนือไปกว่าสถาบันอื่น แม้กระทั่งประชาชนเอง ประชาชนก็ใช้อำนาจผ่านสถาบันต่างๆ”

“คำว่า ‘คอนสติติวชั่นนอล’ ที่มีการพูดถึงตั้งแต่เหตุการณ์กล่าวบังคมทูลเรื่อยมา จนถึงความใฝ่ฝันที่เราจะมี ‘คอนสติติวชั่น’ ที่จะออกมาเป็นตัวกฎหมายให้ได้ในปี พ.ศ. 2475  แต่ ‘คอนสติติวชั่นนอล’ นี้ไม่เคยสมบูรณ์แน่นอน เพราะสุดท้ายแล้ว แม้กระทั่งในปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงอำนาจที่แบ่งกัน ต่อให้สถาปนาอำนาจของประชาชนขึ้นในตัวรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2475 ก็ยังมีการแบ่งกัน ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจเพื่อใช้และคานกัน ส่วนหนึ่งที่เกิดความขัดแย้งก็เพราะไม่พอใจว่าอำนาจที่มีอยู่ไม่เพียงพอ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ”

“อย่าลืมว่าถ้าเราไล่เรียงกันมาในความหมายของคำว่า ‘คอนสติติวชั่น’ นั้นมีอคติเสมอ แม้กระทั่งในตอนเขียนคำกล่าวบังคมทูล ‘คอนสติติวชั่น’ ในสมัยนั้นก็ยังไม่มีสภา หรือแม้แต่ตอนที่เรามี ‘คอนสติติวชั่น’ เป็นกฎหมายแล้ว สภาในตอนนั้นก็ยังไม่ใช่สภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์อยู่ดี ต้องมีข้อจำกัดเกิดขึ้นอยู่เสมอ เป็นเรื่องปกติ แต่เป็นข้อจำกัดที่ท้าท้ายให้เราได้ขยายความเป็นประชาธิปไตยให้สูงขึ้น”

ทุกอย่างต้องตกลงกัน คือ หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ

“ขบวนการของคนรุ่นใหม่ต่างๆ ในช่วงสองสามปีหลังมานี้ ก็กลับไปหารากเหง้าของคำว่า ‘คอนสติติวชั่น’ การเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญของพวกเขา โดยเฉพาะการที่พวกเขาถูกดำเนินคดีมากมาย ก็คือการย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคำว่า ‘คอนสติติวชั่น’ ว่าจะจำกัดอำนาจอย่างไร พวกเขาออกมาเพราะรู้สึกว่าในช่วงที่พวกเขาเริ่มมีชีวิตทางการเมือง คือเริ่มรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มันมีอำนาจบางอย่างที่มันเกินเลย จนกระทั่งจำเป็นจะต้องมีการจำกัดและการตกลงซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า ‘คอนสติติวชั่นนอล’”

“พวกเขาไม่ได้เรียกร้องว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญเป็นอะไรก็ได้ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องว่าพวกเขาจะเป็นประชาชนที่ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น สิ่งที่พวกเขาตั้งคำถามนั้น ง่ายที่สุด คือ ทุกอย่างต้องตกลงกัน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของทางที่จะไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่เราพูดกันทุกครั้งว่ารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน หากแต่เป็นเรื่องของการพูดคุยกัน อย่างเท่าๆ กันของทุกฝ่าย และก็หาทางจัดสรรตกลงกันว่าอำนาจที่มีในสังคม จะแบ่งกันใช้และคานกันอย่างไร”