ร่าง พ.ร.บ.กัญชา: ส่องมาตรการควบคุมกัญชาหลังถูกปลดจากบัญชียาเสพติด

เป็นเวลากว่า 180 วัน หรือ 6 เดือนแล้ว ที่ประเทศไทยต้องเจอกับภาวะ “สูญญากาศทางกฎหมาย” ในการควบคุมกัญชา เพราะนับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กัญชาก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายไม่ต่างจากพืชผักผลไม้ตามท้องตลาด

แม้ว่าหลังมีการปลดล็อกกัญชา กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศถึงสามครั้งเพื่อให้มีแนวทางกำกับควบคุมการใช้กัญชา แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ครอบคลุมกับสถานการณ์ จนเกิดกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชา รวมถึงมีเยาวชนที่เข้าถึงและมีการเสพกัญชากันอย่างโจ่งแจ้ง

เพื่อรับมือกับปัญหา มีผู้เสนอแนวทางการรับมือไว้อย่างน้อยสองแนวทาง ได้แก่ หนึ่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขยอมถอยหนึ่งก้าว ออกประกาศกำหนดให้ช่อดอกของกัญชาหรือบางส่วนของกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดชั่วคราวจนกว่าสภาจะให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่รอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนแนวทรงที่สอง คือ ให้สภาเดินหน้าให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพื่อให้มีกลไกและมาตรการควบคุมกัญชาเป็นการเฉพาะ เช่น การควบคุมการปลูก การขาย รวมไปถึงการใช้บริโภคเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับอันตราย 

ทั้งนี้ เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ กลายเป็นจุดตัดว่า รัฐบาลควรถอยหลัง หรือ รัฐสภาควรเดินหน้า เราจึงอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีมาตรการควบคุมกัญชาอย่างไร ก่อนที่รัฐสภาหรือรัฐบาลจะตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือมีแนวทางอื่นในการควบคุมกัญชา

ปลูกกัญชาใช้เองต้องจดแจ้ง แต่ปลูกเชิงพาณิชย์ต้องขออนุญาต

หนึ่งในหัวใจสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา คือ การให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย โดยการปลูกกัญชาจะแบ่งออกเป็นการปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน กับ การปลูกใช้เชิงพาณิชย์

สำหรับการปลูกในเชิงพาณิชน์ ถูกกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาตรา 15 ที่ระบุว่า ผู้ประสงค์จะเพาะปลูกกัญชาต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยการเพาะปลูกนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา หรือ วิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในพชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

โดยผู้ที่ขอใบอนุญาตปลูกกัญชาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 50,000 บาทต่อฉบับ ซึ่งใบอนุญาตแต่ละใบจะมีอายุประมาณ 3 ปี ทั้งนี้ หากผู้ใดปลูกกัญชาโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ถึง 3 ปี หรือต้องโทษปรับไม่เกิน 100,000 ถึง300,000 บาท หรือ ต้องโทษทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา มาตรา 20/5 ยังกำหนดให้ผู้ที่ขออนุญาตปลูกกัญชามีหน้าที่จัดสถานที่ปลูกกัญาให้ปลอดภัยจากบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องและมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีผู้ได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา หรือการใช้กัญชาในทางที่ผิด 

หากผู้ขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาไม่สามารถดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดได้ ให้เลขาธิการ อย. มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตการเพาะปลูกกัญชา

ส่วนในกรณีการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือน ถูกกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาตรา 18 ที่กำหนดให้หนึ่งครัวเรือนปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 15 ต้น เว้นแต่เป็นสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมอพื้นบ้าน หรือหน่วยงานของรัฐ สามารถปลูกได้มากกว่า 15 ต้น แต่ต้องเป็นไปเพื่อใช้ปรุงยาเพื่อรักษาโรคให้กับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่อยู่ในการดูแลของตน โดยให้จดแจ้งกับ เลขาธิการ อย. และเมื่อได้รับใบจดแจ้งแล้วจึงดำเนินการปลูกได้

อีกทั้ง ตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กำหนดให้ใบจดแจ้งมีอายุ 1 ปี ดังนั้น ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนต้องทำการจดแจ้งใหม่ทุกปี และหากผู้ใดฝ่าฝืนปลูกกัญชาในครัวเรือนเกินกว่าที่กำหนดหรือฝ่าฝืนปลูกกัญชาโดยไม่ได้รับการจดแจ้ง จะต้องรับโทษปรับเป็นจำนวนไม่เกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาตรา 20/6 ได้กำหนดหน้าที่สำหรับผู้จดแจ้งไว้ด้วยว่า ห้ามขายกัญชาที่ได้มาจากการเพาะปลูกในครัวเรือน และการเพาะปลูกกัญชาต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าถึงและนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด หากฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการที่กฎหมายกำหนดจะถูกสั่งเพิกถอนใบจดแจ้ง

อย่างไรก็ดี เมื่อนำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกกัญชาตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาเปรียบเทียบกับมาตรการของต่างประเทศ จะพบความแตกต่างอยู่อย่างน้อยสองประเด็น ได้แก่

หนึ่ง จำนวนการเพาะปลูก ตามร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของไทย อนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 15 ต้นต่อครัวเรือน ซึ่งจำนวนดังกล่าวมากว่าประเทศอื่นๆ ที่มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ถึง 2-3 เท่า อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และอุรุกวัย จะกำหนดจำนวนการเพาะปลูกกัญชาไว้ไม่เกิน 4-6 ต้น 

สอง การจัดสถานที่ในการเพาะปลูก ตามร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มีการกำหนดเรื่องต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าถึงและนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด แต่กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ต่างกับในสหรัฐอเมริกา รัฐโคโลราโด ที่กำหนดให้สถานที่ปลูกกัญชาต้องมีรั้วรอบขอบชิดไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับ แคนาดาที่มีการกำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยไม่ให้ผู้อื่นทราบว่ามีการปลูกกัญชา ด้วยการติดตั้งรั้วสูง มีประตูล็อค มีการติดตั้งระบบเตือนภัย เป็นต้น

ห้ามขายออนไลน์-ห้ามขายในที่สาธารณะ-ห้ามขายเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา มาตรา 15 กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขายกัญชาหรือสารสกัดกัญชาต้องขอใบอนุญาตเช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์ แต่ค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตจะอยู่ที่ 5,000 บาท ถ้าหากผู้ใดขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

โดยมาตรการสำคัญในการควบคุมการขายกัญชาจะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ หมวดที่ 10 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด

มาตรา 37 กำหนดว่า ห้ามขายกัญชา หรือสารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี หรือ สตรีมีครรภ์ หรือ สตรีที่ให้นมบุตร หรือ บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือมีโทษปรับไม่เกิน 60,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37/1 กำหนดว่า ห้ามขายกัญชา หรือสารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา ผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ห้ามขายช่อดอกผ่านออนไลน์ ห้ามขายในลักษณะของการ ‘เร่ขาย’ ช่อดอกหรือยาง อีกทั้งยังห้ามแจก แถม พร้อมกับสินค้าหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมถึง ห้ามแสดงราคาหรือส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจให้บริโภคช่ดอกหรือยางของกัญชา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37/2 กำหนดว่า ห้ามขายกัญชาในวัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, สถานศึกษา, หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก, สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก, สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ หากฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

นอกจากนี้ ในมาตรา 37/3 ยังกำหนดว่า ห้ามขายอาหารที่มีกัญชา/ กัญชงเป็นส่วนประกอบหรือวัตถุดิบในสถานศึกษา หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท

อย่างไรก็ดี เมื่อนำมาตรการควบคุมการขายกัญชาตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะพบความแตกต่างอยู่อย่างน้อยสองประเด็น ได้แก่

หนึ่ง การกำหนดสถานที่ขาย แม้ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของไทยจะมีการกำหนดสถานที่ห้ามขายอย่างศาสนสถาน สถานศึกษา หอพัก ฯลฯ แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศจะพบรายละเอียดที่ต่างกัน กล่าวคือ ในสหรัฐอเมริกา หรือ เนเธอแลนด์ จะมีการกำหนดว่า สถานที่ขายจะต้องตั้งห่างจากสถานศึกษาและที่สาธารณะไม่ต่ำกว่า 1,000 ฟุต (300 เมตร)

สอง การจำกัดปริมาณการซื้อขาย-ครอบครอง ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของไทย ยังไม่มีการกำหนดเรื่องปริมาณในการซื้อขายหรือครอบครองกัญชาไว้เลย ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดปริมาณการครอบครองไว้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไม่เกิน 1-2.5 ออนซ์ ไม่เกิน 30-75 กรัม

ให้ใช้กัญชาเพื่อรักษาสุขภาพ (และนันทนาการ) แต่ควบคุมการใช้ในที่สาธารณะ

หนึ่งในข้อวิจารณ์สำคัญเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ คือ ขอบเขตของการใช้กัญชา โดย พ.ร.บ.กัญชาฯ ได้กำหนดนิยามการบริโภคกัญชาไว้ อย่างน้อย 4 ลักษณะ ได้แก่ กิน เคี้ยว อม สูบ รวมไปถึงการนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือ ลักษณะใดๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า ตัวร่างกฎหมายอนุญาตให้คนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไปสามารถเสพกัญชาเข้าสู่ร่าวงกายได้ตามปกติ โดยไม่มีเงื่อนไขพิเศษ

แม้ใน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะพยายามจำกัดการใช้กัญชาในบ้านไว้ว่า ให้ใช้เพื่อ “ดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว” ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่การไม่จำกัดเงื่อนไขบุคคลที่ได้รับการอนุญาตในการปลูกหรือการซื้อขาย เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีอาการป่วยที่จำเป็นจะต้องใช้กัญชา หรือ มีใบสั่งจากแพทย์ ก็ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงหรือใช้กัญชาเพื่อนันทนาการหรือใช้เพื่อความสนุกสานหรือผ่อนคลายได้

ซึ่งข้อเท็จจริงข้างต้น ค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่ ศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคภูมิใจไทย และ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องนันทนาการ เพราะแม้ความจริงกฎหมายจะไม่ได้เขียนไว้ให้ทำได้ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามหรือสร้างเงื่อนไขในการจำกัดการใช้หรือเข้าถึง

นอกจากนี้ ตัวกฎหมายยังเปิดช่องรองรับการใช้กัญชาเพื่อนันนทนาการ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาตรา 37/5 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการกัญชาสามารถกำหนดให้มีเขตหรือสถานที่สูบกัญชาได้ ซึ่งอาจจะเปิดช่องให้มีร้านขายและเสพกัญชาในทีเดียวกัน เหมือนกันร้าน Coffee Shop ในประเทศเนเธอแลนด์

อย่างไรก็ดี การใช้กัญชาหรือการบริโภคกัญชา ไม่ว่าจะกิน เคี้ยว อม สูบ มีการกำหนดข้อห้ามเอาไว้ในหมวดที่ 10 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด ดังนี้

หนึ่ง มาตรา 37/4 ห้ามผู้ใดสูบกัญชา หรือสารสกัดในสถานที่สาธารณะ หรือ สถานที่ อย่างเช่น ศาสนสถาน สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ร้านขายยา สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนสาธารณะ สวนสนุก หรือ ร้านอาหาร ทั้งนี้ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องรับโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท

สอง มาตรา 37/7 ห้ามผู้ใดขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา หรือสารสกัด หรือ อาหารที่มีกัญชา โดยให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ในการควบคุม หรือ กำกับการจราจร มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดยานพาหนะ และสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่า มึนเมากัญชาหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าพบว่ามีผู้ใดกระทำความผิดข้างต้น ผู้นั้นจะต้องรับโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

เมื่อนำมาตรการการเสพหรือใช้กัญชาตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มาเปรียบเทียบกับมาตรการในต่างประเทศ จะพบว่ามีส่วนที่คล้ายกันอยู่ เช่น การกำหนดสถานที่ใช้การใช้หรือการสูบกัญชา รวมถึงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยจากผู้ที่ใช้กัญชา อย่างการห้ามขับขี่ยานพาหนะที่ผู้ขับขี่มีลักษณะมึนเมากัญชา

กล่าวโดยสรุป ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังเปิดช่องให้คนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป และไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงและบริโภคกัญชาได้อย่างกว้างขว้างซึ่งหมายรวมไปถึงการใช้เพื่อการนันทนาการ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้กัญชารักษาโรคในทางการแพทย์เท่านั้น