ส.ว. เสียงไม่แตก โหวตปิดลับบันทึกประชุมกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ล่าสุดจัดงานสัมมนาการพีอาร์ออนไลน์

7 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภมีมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุม จำนวน 10 ครั้ง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ) ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย (ไม่ให้เปิดเผย) 129+10 = 137 เสียง ไม่เห็นด้วย (เห็นควรให้เปิดเผย) 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

โดยในเอกสารบันทึกข้อความที่อยู่ในวาระการประชุม ระบุเหตุผลที่ต้องปิดลับบันทึกการประชุม ดังนี้

  1. การประชุมแต่ละครั้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อบุคคลและเครือข่าย หากมีการเปิดเผยออกไปอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.
  2. การเปิดเผยอาจส่งผลกระทบต่อหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกมธ. ได้เชิญมาให้ข้อมูลเชิงลึก
  3. กมธ. มีความจำเป็นต้องบันทึกเป็นบันทึกการประชุมลับ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมและรักษาข้อมูลเชิงลึกไว้สำหรับการวิเคราะห์และประมวลผลในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
  4. การประชุมของกมธ. แต่ละครั้งจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายเฉพาะให้ความคุ้มครองไว้ไม่ต้องเปิดเผย คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้”

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าการประชุมของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ทุกครั้งที่จะถูก “ปิดลับ” จากเอกสารบันทึกข้อความ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 – สิงหาคม 2565 ได้มีการประชุมแบบเปิดเผยจำนวนห้าครั้ง และประชุมลับจำนวน 10 ครั้ง

การประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่วุฒิสภามีมติปิดลับบันทึกการประชุมกมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ย้อนกลับไปเมื่อการประชุมวุฒิสภา 7 มิถุนายน 2564, 1 พฤศจิกายน 2564 และ 20 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของกมธ. พิทักษ์สถาบันฯ เสียงไม่ได้ ไม่มีส.ว. ที่ลงมติเห็นควรให้เปิดเผย

กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ เกิดขึ้นจากข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 82 ที่กำหนดให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 30 คน ในจำนวนนี้ให้ประกอบด้วยบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการขึ้นทั้งหมด มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

จากเอกสารข่าวของกมธ. ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติตั้งกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  เป็น “ฉันทามติ” ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สำนึกในความสำคัญยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นตามข้อเสนอหรือญัตติของส.ว.รายใด โดยมีเป้าประสงค์ คือ สืบสานรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงและดำรงอยู่กับชาติไทยตลอดไป

กมธ. ดังกล่าว เมื่อแต่งตั้งครั้งแรกมีทั้งสิ้น 30 คน แต่จากข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของกมธ. ปรากฏรายชื่อทั้งหมด 32 คน โดยมีสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครองอำนาจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีการตั้งกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ เช่นกัน โดยกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. ประกอบไปด้วยกรรมาธิการจำนวน 31 คน โดยมีพลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยมีกรรมาธิการสี่คนที่อยู่ในชุดของ สนช.และยังอยู่ในชุดของวุฒิสภาต่อด้วย ได้แก่

  1. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม เป็นรองประธานกมธ.พิทักษ์ ชุดสนช. และต่อมาก็ได้เป็นที่ปรึกษากมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภา แต่ต่อมาสมเจตน์ได้ลาออกจากกมธ. พิทักษ์ฯ แล้ว และคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้ามาเป็นกมธ. แทน ทั้งนี้ คุณหญิงพรทิพย์ ไม่เคยเป็นกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. มาก่อน
  2. ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภา
  3. กิตติ วะสีนนท์ เป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ชุดสนช. และเป็นหนึ่งในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภาด้วยเช่นกัน
  4. ธีรยุทธ์ ตั้งบุญเกษม เป็นผู้ช่วยเลขานุการในกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ทั้งชุดสนช.และวุฒิสภา

ผลงานล่าสุดของกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ จากข้อมูลเฟซบุ๊กเพจวุฒิสภา อัพเดทงานของวุฒิสภาและกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ว่า เมื่อ 3-4 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร) กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะแนวทางด้านการสื่อสารในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเครือข่ายสุจริตไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Knight 410 Leader เรื่อง “ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร สร้างชุมชนด้วยปัญญาร่วมรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” 

ภายในงานสัมมนามีการอภิปรายเรียนรู้ในเรื่อง “สถาบันชาติและความมั่นคงในโลกปัจจุบันกับการเรียนรู้ในยุคสังคมออนไลน์” และเรื่อง “การสื่อสารแบบ proactive ในโลก Social Media” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย พันเอก วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ วจิตปภา สุพันธะ พัชนี เปลี่ยนเกิด และสุกัญญา โสเก่าข่า โดยมีการให้ความรู้ อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาผู้นำการสื่อสารในเรื่องที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มี Growth Mindset และการใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเป็นวิทยากร และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือเทคนิคในการสร้างชุมชนในรูปแบบเครือข่ายในสังคมออนไลน์ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม Workshop ในการออกแบบโครงสร้างผู้นำการสื่อสาร Knight 410 Teacher

อ่านโพสต์ต้นทางจากเพจวุฒิสภาได้ที่ 

https://www.facebook.com/SenateThailand/posts/445249781098335

https://www.facebook.com/SenateThailand/posts/446448460978467