เปิดเหตุผล ประยุทธ์ครบ 8 ปีจะรอดหรือไม่รอด

30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วหรือไม่ ตามคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ในระยะเวลาหนึ่งเดือนกว่าที่ศาลสั่งพลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เป็นการชั่วคราว มีการตีความแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อสถานะของประยุทธ์กันไปในทางต่างๆ เพื่ออธิบายว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงรอดหรือไม่รอดจากการเป็นนายกฯ

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมพลเอกประยุทธ์จะรอดหรือไม่รอดจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงจะ “รอด” เป็นนายกฯ ต่อได้

1) การเป็นนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ถูกนับ

หากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า พลเอกประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี พลเอกประยุทธ์ก็ยังคงเดินหน้าเป็นนายกฯ ต่อไปได้ โดยศาลอาจเห็นเป็นสามแนวทาง ดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง คือ การนับอายุตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคือวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะทำให้พลเอกประยุทธ์ จะสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกประมาณ 2 ปี 7 เดือน แนวทางการตีความนี้ตรงกับความเห็นของมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด แม้ว่าความเห็นครั้งนี้ของมีชัยจะแตกต่างจากเดิมที่เคยเห็นว่าให้นับวาระนายกฯ รวมกับก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้

แนวทางที่สอง คือ การนับอายุตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ให้นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 คือเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งจะทำให้พลเอกประยุทธ์ สามารถเป็นนายกฯ ได้อีกประมาณ 4 ปี 9 เดือน

แนวทางที่สาม คือ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี แต่ในคำวินิจฉัยกลางอาจจะยังไม่ฟันธงว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดเมื่อไร

2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มีจากกลไก คสช.

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ถูกสังคมตั้งคำถามบ่อยครั้งถึงความเป็นอิสระ เนื่องจากที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากกลไกที่ คสช. ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างขึ้นมา โดยจะพบว่ามีตุลาการ 2 คน ได้รับการต่ออายุจาก คสช. อีก 2 คนมาจาก สนช. และ อีก 5 คนมาจาก ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. อีกที

นอกจากผลงานการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็ทำให้เห็นว่าแนวโน้มการพิจารณาคดีจะเป็นคุณกับฝ่ายรัฐบาล คสช. มากกว่าฝ่ายค้าน โดยเฉพาะในคดีของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมาทั้งสามคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ผ่านฉลุย

3) คำชี้แจง “นายกขาดตอน” ของประยุทธ์มีน้ำหนัก

พลเอกประยุทธ์ได้ยื่นเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหาให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนหนึ่งได้อธิบายการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตัวเองเป็นสามช่วง คือ

ช่วงที่ 1 ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ช่วงที่ 2 อยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง

ช่วงที่ 3 ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน

ในคำชี้แจงของพลเอกประยุทธ์พยายามชี้ให้เห็นว่า การนับอายุการดำรงตำแหน่งจากปี 2557 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว  2557 สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ส่งผลให้ความเป็นนายกฯ ครั้งแรก “ขาดตอน” ทำให้ไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรก นอกจากนี้การเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่หลังการเลือกตั้งปี 2562

ทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงจะ “ไม่รอด” อดเป็นนายกฯ ต่อได้

1) กฎหมายชัดห้ามเป็นนายกเกิน 8 ปี

รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติชัดเจนในมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” กล่าวคือ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ มากี่ครั้ง และไม่ว่าจะดำรงต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม แต่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของทุกคนต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ตลอดชีวิต

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ว่าต้องไม่เกิน 8 ปี ในมาตรา 171 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้”  การเขียนเช่นนี้ทำให้เกิดช่องโหว่ว่า ถ้าหากไม่ได้เป็นนายกฯ ติดต่อกันหรือมีการเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง จะทำให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ใหม่ อีกเป็นระยะเวลา 8 ปี ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 

2) หลักฐานชัดเจนเป็นนายกฯ ตั้งแต่ 2557

ข้อเท็จจริงชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งชัดเจน แม้จะมีการอ้างเหตุผลว่าการเป็นนายกฯ ในครั้งนั้นเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แต่เมื่อดูที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ก็ระบุชัดเจนว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่เคยปฏิบัติหน้าที่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ เมื่อพลเอกประยุทธ์เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 ได้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2562 ประยุทธ์อ้างว่าได้ยื่นไปบัญชีทรัพย์สินไปเป็นหลักฐานแล้ว แต่ ปปช. กลับปฏิเสธที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายว่า ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งเดิม ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลใหม่ ซึ่งหมายความว่าการไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของประยุทธ์เป็นครั้งที่สองนี้เป็นเครื่องยืนยันแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

3) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญรับเอง ต้องนับเวลาก่อน รธน. 60 เข้าไปด้วย

ในบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 ซึ่ง กรธ.ได้ให้ความเห็นและอธิบายเจตนารมณ์ของระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไว้  โดยในการประชุม มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานฯ ได้ถามขึ้นว่าผู้ที่เป็นนายกฯ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้จะนับรวมเวลาเข้าไปด้วยหรือไม่ โดยสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคนที่หนึ่ง ตอบว่าควรให้นับเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ “รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย” โดยไม่ได้มีคนใดคัดค้านความเห็นของสุพจน์ จึงถือได้ว่าเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องการให้นับเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เข้าไปด้วย

นอกจากนี้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังระบุเช่นเดียวกันว่า “..การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนด ข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว” ทั้งนี้ในเอกสารคำอธิบาย ยังระบุด้วยว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอานาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”